คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : ความเชื่อ ศาสนา ศรัทธา และพวกนอกรีต
CH1
ความเชื่อ ศาสนา ศรัทธา และพวกนอกรีต
จั่วหัวมาก็เสี่ยงโดนแบนเลยนะครับ เรื่องศาสนาและความเชื่อนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงถือเป็นเรื่องที่พูดคุยได้ยากพอๆ กับเรื่องการเมืองเลยทีเดียว ถึงอย่างนั้นผมไม่ได้จะโจมตีศาสนาใด เราจะพูดกันอย่างปลอดภัยในหัวข้อนี้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการกดรีพอร์ตโดยที่ยังไม่ได้อ่านเนื้อหาทั้งหมด ผมขอความกรุณาอ่านย่อหน้าสุดท้ายเพียงไม่กี่บรรทัดก่อนทำการรีพอร์ต ขอบคุณมากครับ
ศาสนาคืออะไร คุณถือศาสนาอะไรอยู่ ? และมีความเห็นอย่างไรกับคนที่ไม่ได้ถือศาสนาเดียวกันกับคุณ พวกเขาเป็นคนบาปหรือไม่ เป็นคนนอกรีตหรือเปล่า หรือเป็นเพียงคนที่มีความเห็นต่าง และคุณมีความรู้สึกอย่างไรหากคนหนึ่งกล่าวว่า " ผมไม่นับถือศาสนาอะไรเลย " ?
เราเริ่มจากการสำรวจตนเองก่อนว่าเรารู้สึกอย่างไรกับคนรอบตัว ตอบตนเองอย่างซื่อสัตย์และมองให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิมอีกสักนิด เดิมทีศาสนานั้นเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ คุณลองนึกภาพดูสิว่ามีมนุษย์มากมายเท่าไหร่อยู่บนโลกใบนี้ หากทุกคนลืมตาขึ้นมาพร้อมกับอิสระภาพเต็มกำมือ ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ไม่มีแนวทางอะไรบอกเลยว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร ดังนั้นศาสนาดูจะเป็นคู่มือการใช้ชีวิตที่ดีบนโลกไร้ขอบเขตใบนี้ นี่ผมกำลังพูดถึงยุคสมัยที่เก่าแก่ไร้การเมืองการปกครองนะครับ ในยุคที่บ้านเมืองไร้ซึ่งกฎหมาย เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้คนอยู่อย่างสงบ คุณนึกภาพออกไหมว่าทำไมเราจึงต้องมีศาสนา ? เรื่องมันเริ่มตั้งแต่ตอนนั้นและยาวนานมาถึงวันนี้ "ตอนนี้คุณนับถือศาสนาอะไรอยู่ ?"
พวกนอกรีตคืออะไร ?
ในยุคที่ศาสนากลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่แน่นหนา เป็นเหมือนกฎการใช้ชีวิต และผู้ที่ไม่อยู่ในกฎนั้นจะเป็นพวกนอกรีตขึ้นมาทันที นี่เป็นชุดความคิดที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โลก เราสามารถพบเห็นภาพความรุนแรงที่เกิดจากความเห็นต่างทางศาสนาใด้ในภาพประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ผิดหรอกครับจนถึงปัจจุน กลับมาที่คำถามว่าอะไรคือ 'นอกรีต' มันดูเป็นคำเรียกเฉพาะที่กว้างเหลือเกิน หากการนอกรีตคือการไม่อยู่ในศาสนาใดหนึ่ง เพราะหากเราถือศาสนาหนึ่งเป็นอย่างดี เราก็เป็นคนนอกรีตของศาสนาอื่นอยู่วันยังค่ำ ดังนั้นก็กว่าวได้ว่า 'ทุกคนนอกตรีตอย่างเท่าเทียม'
เรายังจำเป็นต้องมีศาสนาอยู่ไหม ?
จำเป็นหรือไม่ มีเพียงคุณเท่านั้นที่ตอบได้ ศาสนานั้นคือความเชื่อ และกล่าวให้เจาะจงกว่านั้นคือความเชื่อส่วนบุคคล นั้นหมายความว่าไม่มีใครสามารถก้าวก่ายในสิทธิความเชื่อของผู้อื่นได้ หากทุกคนนับถือศาสนาของตนเองโดยยึดหลักว่าศาสนานั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ความเห็นต่างทางศาสนาก็จะไม่สร้างปัญหามากมายเช่นที่เป็นมา นึกภาพออกไหมครับ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเป็นเพราะการปิดกั้นและไม่ยอมรับในความเชื่อที่แตกต่าง การบังคับ ชักจูงให้คนเชื่อเหมือนตน เราจึงมีประวัติศาสตร์การเข่นค่าล้างพันธ์หรือเผาคนนอกรีตทั้งเป็น เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจสำหรับใครหลายคน
คลั่งศาสนาผิดไหม ?
คำถามนี้ก็มีเพียงคุณเท่านั้นที่ตอบได้ การบังคับ ชักจูงให้คนเชื่อในศาสนาใดหนึ่งนั้นไม่เพียงเกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย แถมยังเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ยากเลย ถ้าคุณสงสัยละก็ลองนึกถึงสิ่งเหล่านี้ ข่าวของเด็กวัยรุ่นหรือชาวต่างชาตินำสิ่งที่มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปไปทำเป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรืออื่นๆ ข่าวทำนองนี้สร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายคน ความไม่พอใจนั้นเกิดจากอะไร ? เราจะย้อนกลับไปที่คำถาม 'พวกนอกรีตคืออะไร' ใช่ครับ เพราะคนเหล่านั้นเข้าข่ายพวกนอกรีต หรือก็คือไม่มีความเชื่อที่สอดคล้องกับศาสนาใดหนึ่ง เขาจึงกระทำการเหล่านั้นไปโดยไม่คำนึงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องผิด คำถามคือ แล้วความจริงแล้วเขาทำผิดไหม ? ลองคิดแบบนี้นะครับ หากมีหมู่บ้านหนึ่งนับถือช้อนส้อมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเรามองว่าช้อนส้อมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งเอาไว้ใช้ตักอาหารเข้าปากต่างหาก แบบนี้เราผิดไหม ? คำตอบว่า ผิดหรือไม่ จึงอยู่ที่บุคคลว่าจะมีความเห็นอย่างไร ดังนั้นผมจึงกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าศาสนานั้นคือความเชื่อส่วนบุคคล
เราต้องปกป้องความเชื่อของตนเอง
don't lose what you believe ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญครับ เราต้องปกป้องความเชื่อของตนเอง เพียงแต่ว่าความเชื่อนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น 'ความเชื่อ' เราต้องยอมรับก่อนว่า 'ความเชื่อ' นั้นไม่ใช่ความจริงแท้ที่พิสูจน์ได้แบบ 100% แต่เรามีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และการปกป้องความเชื่อของตนเองไม่ผิดเพราะมันคือหนึ่งในตัวตนของเรา เพียงแต่การปกป้องความเชื่อของตนเองนั้นอาจระรานความเชื่อผู้อื่นได้ในบางครั้ง เช่นการเหยียดหยามผู้มีความเห็นต่างทางความเชื่อว่าพวกเขานอกรีต หรือความรู้สึกว่าผู้เห็นต่างทางความเชื่อเป็นผู้เหยียดหยามในความเชื่อของเรา ผมจะยกกรณีเดิมนะครับ หากเราสวดมนต์ไหว้พระ กราบพระพุทธรูป นี่คือความเชื่อของเรา แต่กับคนที่ไม่เชื่อเขามองเห็นเป็นเพียงรูปปั้น หิน ดิน ทราย สำริด หรือทองคำ สุดแล้วแต่จะมองเห็นได้ มันก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในเวลาที่เราพบเห็นคนเหล่านั้นไม่ให้ความเคารพในสิ่งที่เราเคารพ บางครั้งเกิดภาพการทำลายสิ่งที่เรากราบไหว้บูชาและทำให้เราโกรธเคือง ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจกระทำหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ผมอยากให้ย้อนคิดสักนิดว่าความเชื่อของเรานั้นคืออะไร เรายังคงมีความเชื่อนั้นอยู่ในตัวเราหรือไม่ เราได้สูญเสียศรัทธาและความเชื่อไปจากใจเราหรือเปล่า ? หากคิดแบบนี้ไม่ว่าจะเกิดการกระทำที่กล่าวมาสักกี่ครั้ง ความเชื่อของเราก็จะยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นผมบอกได้เพียงแค่ว่า เรามีสิทธิ์ปกป้องความเชื่อของเราเอง และเป็นสิ่งที่ควรทำเสียด้วย และจะเป็นการดีหากเรายังให้เสรีแก่ผู้อื่น ที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อในความเชื่อของเราก็ได้
อิสระทางความเชื่อ
มนุษย์ทุกคนนั้นเกิดมาพร้อมอิสระมากมาย บ้างเท่าเทียมกัน บ้างก็ไม่เท่าเทียม แต่อย่างน้อยๆ ผมคนหนึ่งที่อยากให้มนุษย์ทุกคนมีอิสระทางความเชื่ออย่างแท้จริง บนโลกใบนี้มีความต่างตั้งมากมาย คนเราทุกคนเกิดมาหน้าตาแตกต่างกัน สีผม ดวงตา สีผิว ภาษาและเชื้อชาติก็ต่างกันออกไป เรามีความต่างมากมายบนโลกใบนี้ แล้วเหตุใดจึงต้องจำกัดความต่างทางความเชื่อให้มีเพียง 1 หรือ 2 หากเราเคารพซึ่งความเชื่อของผู้อื่น ไม่ก้าวก่ายกันและกัน ไม่ตราหน้าว่าผู้อื่นนั้นนอกรีต ให้อิสระทางความเชื่อของกันและกันอย่างเท่าเทียม มันคงเป็นอีกหนึ่งความแตกต่างที่สวยงาม ความขัดแย้งอาจลดลงได้ หรืออาจไม่ได้เลยเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ แต่อย่างน้อยๆ หากเริ่มที่ตัวเราก่อน ความขัดแย้งที่จะเกิดจากเราเป็นต้นเหตุก็จะทุเลาลงได้ ในครั้งต่อๆ ไปหากเราพบเจอคนที่เข้าข่าย 'นอกรีต' คนเหล่านั้นอาจเป็นเพียงบุคคลที่มีความเห็นต่างทางความเชื่อกับเราเพียงเท่านั้น
และสุดท้ายนี้ ผมได้แต่หวังว่าทุกคนจะได้รับอิสระภาพทางความเชื่อ และเคารพซึ่งความแตกต่างทางความเชื่อของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม
ความคิดเห็น