ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สมดุลโลก-สมดุลใจ : สมดุลธรรม

    ลำดับตอนที่ #2 : Chapter I : แง่มุมชวนสงสัย ในเรื่องกรรม [เด็ดดอกไม้ สะเทือนดวงดาว?]

    • อัปเดตล่าสุด 29 เม.ย. 50



    Chapter I : แง่มุมชวนสงสัย  ในเรื่องกรรม [เด็ดดอกไม้  สะเทือนดวงดาว?]



     

                สิ่งที่เราจะนำมาศึกษากันในวันนี้  คือเรื่องของ  "กฎแห่งกรรม"  หรือที่อาตมาตั้งชื่อเป็นอัตโนมัตว่า  "สมดุลโลก-สมดุลใจ"  และบทสรุปของกฎแห่งกรรม  ที่อาตมาให้ชื่อว่า  "สมดุลธรรม"  โดยมุ่งหมายให้พวกเราได้แก้ข้อสงสัยในเรื่องของกฎแห่งกรรม  ในชีวิตประจำวัน

                   

                    ในเมื่อเราได้มีโอกาสเกิดเป็นชาวพุทธ  ในประเทศไทย  ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  ศาสนาพุทธ...  ซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวไทย  ที่บรรพบุรุษของเรา  ได้เอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าปกป้องรักษาไว้  เพื่อเป็นมรดกตกทอดสืบต่อมาจนถึงพวกเรา  จึงถือได้ว่าเราเป็นผู้มีบุญ  คือมีโอกาสได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  จากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก  จากครอบครัว  สังคม  สถานศึกษาคือโรงเรียนต่างๆ  รวมทั้งวัดวาอารามที่อยู่ในละแวกบ้านใกล้เคียง

                   

                    แต่ตลอดมา  ก็ยังมีปัญหาบางประการ  ที่เรายังหาคำตอบที่ลงใจหรือยอมรับไม่ได้  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องของ  "กฎแห่งกรรม"  ที่มีปรากฏในชีวิตประจำวันของพวกเรา  แม้ว่าในทางพระพุทธศาสนา  จะมีคำตอบสำหรับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว  แต่บางกรณี  เมื่อเกิดความสงสัยขึ้น  หันไปถามใครก็ไม่ได้รับคำตอบที่ลงใจสักที

                    ยกตัวอย่างเช่น  สมัยที่เราเป็นนักเรียน  เราได้เรียนเรื่องของ "องคุลิมาล"  องคุลิมาลเป็นใคร  องคุลิมาลเป็นมหาโจรใจโหดร้าย  ซึ่งฆ่าคนไปไม่น้อยกว่า  ๑,๐๐๐ คน  แล้วองคุลิมาลฆ่าคนเหล่านั้นไปเพื่ออะไร...  ก็เพื่อให้ตนนั้นได้มีโอกาสเล่าเรียน  วิชาพิเศษสุดยอดบางอย่างจากอาจารย์  ที่เป็นเช่นนั้น  ก็เพราะอาจารย์ขององคุลิมาลหูเบา  หลงเชื่อบรรดาศิษย์คนอื่นๆ  ที่มีใจริษยาต่อองคิลิมาล  โดยกล่าวหาว่าองคุลิมาล  อกตัญญู  คิดร้ายต่ออาจารย์  อาจารย์จึงคิดอุบายกำจัดองคุลิมาล  โดยตั้งเงื่อนไขว่า  ถ้าองคุลิมาลอยากจะเรียนวิชาพิเศษสูงสุด  จะต้องไปฆ่าคนให้ครบ  ๑,๐๐๐  คน  แน่นอน...  การฆ่าคนตั้ง  ๑,๐๐๐  คนนั้น  เป็นเรื่องโหดร้าย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เป็นการฆ่าคนเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยเฉพาะ  ไม่ใช่เพื่อป้องกันตัว  หรือปกป้องประโยชน์ของสังคมบ้านเมือง  องคุลิมาลฆ่าคน ๑,๐๐๐  คน  เพื่อให้ตนเองได้เรียนวิชาพิเศษสูงสุด  ถามว่ายุติธรรมหรือไม่?

                   

                    แต่ปัญหาค้างใจมันอยู่ตรงที่ว่า  เขาบอกว่า...   สุดท้าย  องคุลิมาลได้บวชเป็นพระภิกษุและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว  วิบากกรรมของการฆ่าคนพันกว่าคนก็กลายเป็น  อโหสิกรรม  ยกเลิกกันไป  ส่วนที่เหลืออยู่  ก็เป็นเพียงเศษกรรม  คือเวลาที่พระภิกษุองคิลิมาลจาริกเข้าไปในหมู่บ้าน  หรือออกไปบิณฑบาต  มักจะถูกไม้บ้าง  ก้อนหินบ้าง  ที่ชาวบ้านขว้างปา  นก  หนู  อะไรต่างๆ ลอยไปกระทบศีรษะจนหัวแตกเลือดอาบอยู่บ่อยๆ

                    แต่ปัญหาก็คือ  แล้วท่านล่ะ  คิดว่ามันยุติธรรมหรือไม่  ที่เหยื่อขององคุลิมาลต้องมาตายฟรี  เพราะถึงแม้องคุลิมาลจะได้เข่นฆ่าล้างผลาญชีวิตคนไปกว่าพันคน  แต่พอได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  กรรมทั้งหลายก็กลายเป็นอโหสิกรรม  เหลือเศษกรรมเพียงแค่หัวแตกเท่านั้นเอง

                    ถ้าเช่นนั้นท่านลองพิจารณากรณีนี้เป็นตัวอย่าง  ใครจำกรณีฆาตกรรมที่จังหวัดสงขลาได้บ้าง  ที่นายศักดิ์  ปากรอ  จับเอาพ่อ-แม่-ลูก  ครอบครัวบุญทวี  แขนคอกับราวบันได  ห้อยโตงเตง    ศพ  ถามว่า...  ถ้าวันนี้  นายศักดิ์  ปากรอ  เดินออกมาจากคุกที่คุมขัง  แล้วบอกว่า  "บัดนี้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมเป็นพรอรหันต์แล้ว  ฉะนั้น  ข้าพเจ้าจึงไม่สมควรต้องติดคุกหรือถูกประหารเพื่อชดใช้หนีกรรมเหล่านั้น"  ถามใจของพวกเราดูว่า  เราจะยอมไหม?  ที่จะปล่อยให้นายศักดิ์  ปากรอ  ลอยนวลไปโดยไม่ต้องชดใช้ผลกรรม  เราจะยอมไหม?  ไม่ยอม...  ใครจะไปยอม  ในเมื่อความรู้สึกของเรามันคัดค้านอยู่ว่า  มันเป็นไปไม่ได้  เรายอมไม่ได้  ต่อให้เอ็งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม  แต่นั่นเป็นความสุขเฉพาะตัวของเอ็ง  แต่ไม่ได้เกี่ยวกับข้าสักหน่อย  ยิ่งถ้าเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้าย  ที่ถูกนายศักดิ์  ปากรอ  ฆ่านั้น  เป็นพ่อ-แม่-พี่-น้อง  ของเราล่ะ  เราจะยอมหรือ  เราคงไม่ยอมแน่ๆ

                    เรื่องคาใจอย่างนี้  จะหาคนตอบคำถาม  หรือแก้ข้อสงสัยให้จะแจ้ง  จนเกิดความลงใจหายสงสัยนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่าย  ซึ่งอาตมาจะตอบอย่างไรนั้น  ขออุบไว้ก่อน  เพื่อจุดประเด็นความสงสัยใคร่รู้ให้ท่านได้ติดตามต่อไป

                    ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ  และน่าสงสัยด้วย  เช่นที่เขาบอกว่า  "ถ้าเราโชคดีได้ทำบุญ  กับนาบุญดีๆ  ดังเช่น  อริยบุคคลผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว  แม้ตักบาตรถวายข้าวเปล่าเพียงทัพพีเดียวกับท่าน  ก็ส่งผลให้ร่ำรวยมหาศาล  ไม่รู้กี่ร้อยชาติ"  แล้วยุติธรรมหรือ! จริงหรือ!  เป็นไปได้อย่างไร  ตักบาติเพียงทัพพีเดียว  แล้วส่งผลให้ร่ำรวยมโหฬาร  เกิดชาติไหนก็เป็นคนรวย  มันเป็นไปได้อย่างไร

                    สมัยที่อาตมภาพยังไม่ได้บวช  ยังไม่มีความเข้าใจ  ก็เคยคิดปรามาสว่า  สังสัยพระพุทธเจ้าคงจะห่วง  กลัวว่าสาวกของท่านจะอดอยาก  ก็เลยแต่งเรื่องหลอกให้คนมาทำบุญ  แต่ที่จริงไม่ใช่  มันเป็นเรื่องจริง  มันมีกฎเกณฑ์เหตุผลอยู่เบื้องหลัง  ซึ่งสามารถอธิบายให้เกิดความชัดเจนได้  ขอให้รอฟังก่อน  ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร

              นอกจากนี้  ในชีวิตจริงของเรา  เราก็พบเรื่องราวต่างๆ  ประเภทที่ว่า  คนบางคนตั้งใจทำความดีมาตลอดชีวิต  แต่ชีวิตก็ยังเหลวแหลกเอาดีไม่ได้  ทำอะไรก็ไม่ขึ้น  แต่ทำไมคนบางคน  ทั้งชีวิตทำแต่เรื่องเลวๆ  เรื่องชั่วๆ  แต่ชีวิตมันกลับเจริญขึ้นทุกวัน  มันขัดกับความรู้สึก  ไหนบอกว่าทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า !  ถามจริงๆ เถอะ  ที่ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว  มันได้ดีอย่างไร  มันได้ชั่วอย่างไร  ธรรมชาติของมันเป็นเช่นไร  หรือว่ามีท่านสุวรรณกับสุวาน  คอยจดบัญชีทองคำและบัญชีหนังหมา  ว่าถ้าเราทำดีอย่างนี้จะได้ดีอย่างนี้  เราทำชั่วอย่างนี้  จะได้ชั่วอย่างนี้  ลองนึกดูสิว่า  ที่เขาบอกว่า  เจตนาคือกรรม  ถ้าเราทำดี  ก็คือมีเจตนาดีเป็นหลักใช่ไหม  ถ้าทำชั่วก็คือมีเจตนาชั่วเป็นหลักใช่ไหม  แล้วันหนึ่งๆ  เราคิดดี  หรือมีเจตนาดีกี่ครั้ง  เราคิดชั่ว  หรือมีเจตนาชั่วกี่ครั้ง  ถามว่า...  จะต้องมีท่านสุวรรณกับสุวานอีกสักกี่คน  ถึงจะนั่งจดบัญชีบุญบัญชีบาปของเรา  ที่เราสร้างขึ้นในหนึ่งวันไหว  นี่เพียงแค่เราคนเดียวนะ

                    อีกประการหนึ่ง  เปรียบเหมือนกับการเรียนหนังสือ  การที่เราสามารถอ่านหนังสือต่างๆ  ได้  ครูจะสอนให้เรารู้จักหลักภาษาไทย  คือรู้จักพยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์  ตัวสะกด  อีกทั้งการเขียน  การผสม  และการอ่านออกเสียงต่าง ๆ  จึงทำให้เราสามารถอ่านตัวหนังสือ  เป็นคำต่างๆ ได้  แม้จะไม่เคยเห็นคำนั้นมาก่อนเลยก็ตาม

                    ท่านเห็นคำนี้ไหม  อ่านว่าอย่างไร  (สวัสดี)  อ่านว่า  สะ-หวัด-ดี  ใช่ไหม?  ท่านอ่านออกเสียงได้เพราะอะไร?  เพราะเคยเรียนก.ไก่  ข.ไข่  มาก่อน  เรียนสระพยัญชนะต่างๆ  มาก่อน  จึงสามารถอ่านออกเสียงว่า "สะ-หวัด-ดี"  แต่ถ้าสมมุติว่าท่านต้องเรียนหนังสือโดยไม่เรียน  ก.ไก่  ข.ไข่  ไม่เรียนสระพยัญชนะ  แต่ใช้วิธีจำตัวหนังสือเอา  อันนี้ (อาทิตย์)  อ่านว่า  อา-ทิด  นำ  จำไว้  คำนี้ (สวัสดี)  อ่านว่า  สะ-หวัด-ดี  ใช้วิธีจำเอา  ถามว่านานแค่ไหนจึงจะสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยออก  นานเท่าใดจึงจะอ่านคล่อง  โดยเฉพาะถ้าต้องเรียนโดยวิธีจำภาพเอา  ไม่ได้เรียน  ก.ไก่  ข.ไข่  แม้ตลอดชีวิต  ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอ่านหนังสือออกหรือไม่?

              การศึกษาในเรื่องของกฎแห่งกรรมที่แล้วมาก็เช่นกัน  เราหาความรู้เกี่ยวกับกฎแห่งกรรม  โดยวิธีดูกรณีตัวอย่าง  คือดูว่า  คนๆ  นี้  ทำความชั่วอย่างนี้  จึงได้ผลอย่างนี้  คนๆ  นั้น  ทำความเลวอย่างนั้นเวลาที่จะตาย  มันมีอาการทุรนทุรายอย่างนั้นอย่างนี้  คนๆ นี้  มันเชือดไก่ทุกเช้า  เวลาที่จะตายก็มีอาการเหมือนไก่ที่กำลังถูกเชือด  ด้วยการตามดู  และรู้เห็นอยู่เช่นนั้น  เราถึงจะเริ่มกลัว  เราถึงจะเริ่มหวาดระแวงว่ากรรม  และผลของกรรมนั้นมีจริง  แต่ขอถามว่า  ทำไมมันถึงได้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น?

              ในช่วงชีวิตของเรา  เราไม่สามารถที่จะติดตามดูกรรม  และผลของกรรมที่เกิดขึ้นในทุกกรณี  เช่นเขาทำเหตุคือกรรมอะไร  แล้วสุดท้ายเขาได้รับผล  คือวิบากของกรรมนั้น  มากน้อย  หรือหนักเบาอย่างไร

                    ฉะนั้น  สิ่งที่เราจะศึกษากันในวันนี้ก็คือเรื่อง  "อะไร  คือ  ก.ไก่  ข.ไข่  ของกฎแห่งกรรม"  โดยจะเริ่มจากพื้นฐาน  คือ  พยัญชนะ  สระ  ตัวสะกด  วรรณยุกต์  แล้วจึงไปถึงหลักเกณฑ์ของการผสมสระและพยัญชนะ  เรียกว่าจนกว่าเราจะสามารถอ่านออก  คือสามารถวิเคราห์  พฤติกรรมของกฎแห่งกรรมได้

                     ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสำคัญที่เราจะมาพูดกันในสวันนี้เรื่องของ "กรรม"  กรรม  คือ  การกระทำ  กระทำด้วยกายด้วยวาจา  ด้วยใจ  เมื่อเรานำเอาประสบการณ์ตรง  ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเรา  มาศึกษาวิเคราะห์ดู  เราจะพบว่า  การกระทำของเราส่วนใหญ่นั้น  เริ่มต้นมาจากการ  "คิด"  ก่อน  เพราะมีการคิด  จึงส่งผลให้เกิดการ  "กระทำ"  ขึ้น  นี่เป็นมาตรฐานอันดับแรกๆ

    คิด  ------------>  ทำ

                    ปกติการที่เราจะมาพูดคุยกัน  ก็มีความตั้งใจเกิดขึ้นก่อนแล้วว่า  อ้อ!  วันนี้นะเราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของ  "กรรม"  คือการกระทำ...  หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ  นี่  ก็คือ  มีการคิด  แล้วจึงมีการกระทำ  คือเราตั้งใจมาฟังธรรม  ก็พากันมาฟังธรรมกันที่วัด  ที่ธรรมสถาน  อย่างนี้เป็นต้น  เราจะคุยกับเพื่อน  เราก็ต่อโทรศัพท์ไปหาเพื่อนแล้วก็คุยกัน  นั่นคือมีความตั้งใจ  หรือเจตนาเกิดขึ้นมาในใจของเราแล้ว  เราจึงได้มีการกระทำทางกาย  ทางวาจาต่างๆ  เช่นหมุน  หรือกดหมายเลขโทรศัพท์  ไปคุยกับเพื่อน  นี่คือการกระทำโดยทั่วไป  ซึ่งมีการตั้งเจตนาเกิดขึ้นมาจากใจ  แล้วจึงส่งผลไปสู่การกระทำ 

    ไม่คิด  ------------>  ทำ

                    อีกกรณีหนึ่งคือ  "ไม่คิด"  แต่ก็มีการกระทำเกิดขึ้น  เป็นอย่างไร?  ก็คือการกระทำที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา  ยกตัวอย่างเช่น  เราไปเที่ยวกัน  หลังจากรับประทานข้าวกลางวัน  เราก็รับประทานกล้วย  แล้วโยนเปลือกกล้วยทิ้งเอาไว้แถวนั้น  จากนั้นเราก็ไม่ได้กลับไปที่สถานทีท่องเที่ยวแห่งนั้นอีกเลย 

                   

                    เราลืมไปแล้วว่า  เราได้เคยไปทานข้าวกลางวัน    สถานที่แห่งนั้นและได้โยนเปลือกกล้วยทิ้งเอาไว้  ซึ่งเปลือกกล้วยอันนั้นนั่นแหละ  ได้มีคุณยายแก่ๆ  เดินมา  เผลอเหยียบเปลือกกล้วยนั้น  จนลื่นหกล้มหัวฟาดพื้นตาย...  ตลอดชีวิตของเรา  เราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีคนตายเพราะเหลือกกล้วยที่เราได้โยนทิ้งไว้  ถามว่า  เรามีเจตนาอยากให้ใครตายไหม?  ในขณะที่เราโยนเปลือกกล้วยอันนั้นทิ้ง  แน่นอน  เราย่อม  ไม่มีเจตนา  แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  มีคนตายเพราะการกระทำของเรา  เนื่องจากเปลือกกล้วยอันที่เราโยนทิ้งไว้  นี่ก็เรียกว่า  แม้ไม่มีเจตนา  ไม่ได้มีการรับรู้เสียด้วยซ้ำไป  จิตไม่ได้สั่นสะเทือนเพราะการรับรู้เรื่องนี้เลย  แต่ก็ส่งผล  คือการตายของคนอื่น

                    นึกถึงว่า  ถ้าเราขับรถชนคนตายโดยไม่เจตนา  อยู่ๆ  เขาก็วิ่งตัดหน้ารถ  โดยที่เราห้ามล้อไม่ทัน  โครม...  ตาย...  เราไม่ได้คิดอยากจะให้เขาตาย  เราไม่อยากที่จะฆ่าเขา  เราไม่อยากเห็นอะไรที่เลวร้ายเช่นนั้น  แต่มันก็เกิดขึ้น  คือ  "คนคนหนึ่ง ต้องตายไป"  ถามว่า...  เราจะต้องเดือดร้อนไหมกับการตายของคนๆ  นั้น  แน่นอน...  เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นย่อมมีผลตามมา  คือเราจะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล  เสียค่าปรับสินไหม  ค่าทำศพอะไรต่างๆ  มากมาย  และเผลอๆ  จะต้องติดคุกติดตะรางด้วย  นั่นแหละ  ถามว่า...  มีเจตนาไหมล่ะ!  แม้ไม่มีเจตนา  แต่ก็มีการกระทำเกิดขึ้น  นี่ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของกรรม  ในความหมายของการกระทำที่เกิดขึ้นในโลกนี้

                    กรณีที่    คิดแต่ไม่ทำ

    คิด  ------------>  ไม่ทำ

                    อันนี้มีไหม?  มี...  วันหนึ่ง ๆ  เราคิดไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเรื่อง  เจตนาในใจของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ  นานา  เมื่อเช้านี้นอนคิดเรื่องอะไรหนอ  เรื่องเก่าๆ  เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว  สมัยเมื่อยังเป็นหนุ่ม  ตามจีบสาว  อะไรต่าง ๆ  จิตมีความสุขร่าเริงมาก  ทั้งๆ  ที่เรื่องนั้นก็จบไปนานแล้ว  วันหนึ่งๆ  เราคิดถึงเรื่องอะไรต่างๆ  มากมาย  บางทีก็ขุดเอาเรื่องเก่า ๆ  เน่า ๆ  มาคิด  เรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว  แต่ยังมีอิทธิพลทำให้จิตของเรา  เศร้าหมอง  ไม่สดใส  เพราะปรุงแต่งเจตนาไปในทางอกุศล

                    มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น    หัวข้อนี้  หนึ่ง  มีการคิด  แล้วก็ทำ  นี่เป็นข้อที่หนึ่ง,  สอง  แม้ไม่ได้คิด  แต่มีการกระทำเกิดขึ้น,  สาม  มีการคิดมีเจตนาเกิดขึ้น  แต่ไม่มีการกระทำที่ส่งผลไปกระทบภายนอก  แล้วถ้าอาตมา  ขีพเส้นผ่าลงมาตรงกลาง

    กระทบใจ<--- ๑. คิด  |  แล้วทำ ---> กระทบโลก

                         ๒.ไม่คิด  | แล้วทำ --->กระทบโลก

                                         กระทบใจ<--- ๓.คิด  |  แล้วไม่ทำ

                    อะไรเกิดขึ้น  เกิดการแยกเป็น    ข้าง  ข้างขวามีการกระทำเกิดขึ้น    ครั้ง  แน่นอนเมื่อมีการกระทำ  ไม่ว่าจะด้วยกายกรรมหรือวจีกรรมก็ดี  ด้วยกายหรือด้วยปาก  เช่นพูดจาดี  มีความไพเราะอ่อนหวาน  หรือพูดจาไม่สุภาพ  ไปด่าว่าบุพพการีของขาวบ้านเข้า  หรือกระทำด้วยกาย  ไปทุบตี  ฆ่าฟัน  ลักขโมย  ผิดประเวณี  ดื่มสุรายาเมา  อะไรต่าง ๆ  ที่เป็นการกระทำทางกาย  วาจานั้น  ย่อมส่งผลไปกระทบกับโลก  หรือสิ่งแวดล้อมภายนอกของเรา

                    แต่อีกซีกหนึ่งนั้น  มีการคิดเกิดขึ้น    ครั้ง  เมื่อเรามีการคิด  คนอื่นเดือดร้อนกับการคิดของเราไหม?           ตราบใดที่ยังไม่มีการกระทำออกไป  ยังไม่ได้พูดออกไป  การคิดของเราจะส่งผลไปกระทบใคร  ก็ส่งผลกระทบแต่กับ  "ใจ"  ของเรานั่นเอง

                    ฉะนั้นเมื่อมีแต่การคิด  ก็กระทบแต่ใจของตนเอง  ต่อเมื่อมีการกระทำเกิดขึ้น  จึงจะกระทบโลก...  กระทบต่อสิ่งแวดล้อม...  นี่แหละคือที่มาของ  "สมดุลโลก  สมดุลใจ"  คือการแยกคิด  แทนที่จะมองทุกอย่างโดยรวมเข้าด้วยกันแล้วสับสนปนเปจนแยกไม่ออก  เรากลับนำมาแยกคิดพิจารณาในแต่ละเรื่องให้ชัดเจน  นี่คือ  "วิภัชวาท"  การจำแนกแยกแยะแล้วพิจารณาหาเหตุผล  ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

                   

                    ในซีกขวา  มีการกระทำเกิดขึ้น    ครั้ง  ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม  แน่นอน  การกระทำทางกายและวาจาของเราใดๆ  ก็ตามย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโลกและสิ่งแวดล้อม

                    ท่านเคยได้ยินสำนวนที่ว่า  "เด็ดดอกไม้  สะเทือนดวงดาว"  บ้างไหม  มันต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงกันหมด  มันอาจจะสั่นสะเทือนไปถึงในอีกหลายล้านปีข้างหน้า  ซึ่งอาจจะส่งผลน้อยมาก  เสียจนไม่รู้สึกว่ามันสะเทือน  แต่มันก็ส่งผล  เพราะในธรรมชาติ  คือโลกแห่งสิ่งปรุงแต่งนี้  ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามหลัก  "ปัจจยาการ"  มีความเป็นเหตุเป็นปัจจัย  เชื่อมโยงถึงกันหมด  ในกรณีนี้  โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือสั่นสะเทือน  เพราะการกระทำของเรา

                    นี่คือที่มาของทฤษฎี  "สมดุลโลก"  ซึ่งทฤษฎีนี้ไม่เคยมีมาก่อน  แต่พระภาสกรเป็นคนค้นพบ  เราว่า  ทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมานี้  จะสามารถตอบคำถาม  คือสิ่งที่เราสงสัยได้ไหม

                    อีกซีกหนึ่งคือซีกซ้าย  เมื่อใจของเรามีเจตนาการคิดนึกปรุงแต่ง  สิ่งที่เกิดขึ้น  คือความสั่นสะเทือนที่มีต่อใจของเราเอง  ทำให้ใจของเราสดใสบ้าง  เศร้าหมองบ้าง  ผันแปรไป  ใจของเราที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น  มีอิทธิพล  อย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของเรา  ปรากฏการณ์ ในซีกนี้  อาตมาจะใช้  ทฤษฎี  "สมดุลใจ"  ที่อาตมาค้นพบ  แล้วนำมาอธิบายเช่นเดียวกัน



     

                    "สมดุลโลก"  และ  "สมดุลใจ…"


    ๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙

    *** นี่แค่เริ่มเรียกน้ำย่อยนะครับ  ยังน่าสนใจมากถึงขนาดนี้***
    ยังไม่ได้เข้าทฤษฎีเลย  หุหุ
    เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วรู้สึกยังไง
    ก็ช่วยออกความคิดเห็นด้วยนะครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×