|
พล.ต.ต.นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์
ความเครียดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนไม่มากก็น้อย ความเครียดอาจจะเกิดจากปฏิกิริยาในตัวเราเอง เช่น ปวดท้องอึขณะที่ขับรถติดในชั่วโมงเร่งด่วน หรือความเครียดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น หุ้นตก สูญเสียเงิน ถูกโกงแชร์ เป็นนายกโดนปฎิวัติ ฯลฯ
ความเครียดขนาดน้อยๆ เป็นเรื่องปกติ ไม่มีปัญหา แต่อาจจะมีประโยชน์ที่ทำให้เราพยายามเอาชนะมัน ทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย เช่น เครียดเพราะกลัวสอบเอ็นทรานซ์ไม่ได้จึงทำให้ขยันเรียน แต่ความเครียดถ้ามีขนาดมากก็มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ความเครียดอาจจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้เป็นหวัดง่าย เริมกำเริบ หรือในบางคนอาจจะเกิดโรคจู๋หมดน้ำยา หรือถึงขนาดฆ่าตัวตาย
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความเครียด แนะนำหลักการลดความเครียดไว้หลายอย่าง
ขั้นแรกหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียด เขาให้คำนิยามของสาเหตุความเครียดไว้ว่า "มันคือภาวะที่บีบคั้นที่เกินความสามารถของเราที่จะตอบสนองได้"
ความสามารถในการตอบสนองต่อความเครียดขึ้นกับพันธุกรรม บุคลิกภาพ ประสบการณ์ของชีวิตของเรา เช่น คนบางคนอาจจะเครียดเมื่อต้องขึ้นไปร้องเพลงบนเวที แต่บางคนชอบมากเนื่องจากมีพันธุกรรมหรือบุคลิกของความไม่ขี้อายชอบแสดงออก บางคนเข้าใกล้หมาแล้วเครียดมาก เนื่องจากมีประสบการณ์โดนหมากัดตอนที่ยังเด็ก
สาเหตุของความเครียดหลายอย่างมันเห็นได้เข้าใจได้เด่นชัด เช่น พ่อหรือแม่เสียชีวิต ลูกไม่สบาย แฟนเลิกร้าง กิ๊กเลิกรา หางานทำ ไม่ได้ ถูกไล่ออกจากงาน หาเงินไม่พอใช้ เป็นหนี้พนันบอล ฯลฯ แต่ความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ไม่ควรมองข้าม เช่น ต้องขับรถฝ่าจราจรไปส่งหรือรับลูกที่โรงเรียนทุกวัน เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี คอมฯ มีปัญหาแฮงค์บ่อยทำให้ต้นฉบับหาย น้ำมันราคาแพง ความเครียด เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถ้าเป็นอยู่นานๆ ก็สามารถสร้างความเสียหาย ให้กับชีวิตร่างกายหรือสุขภาพของเราได้มาก เพราะมันกระตุ้นร่างกายเราให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดตลอดเวลาทำให้เกิดโรคขึ้น เช่น ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ แล้วตามมาด้วยอัมพาตอัมพฤกษ์
กลวิธีคลายเครียดที่ผู้รู้แนะนำไว้และคุณสามารถเลือกเอาไปใช้ได้มีหลายอย่างคือ
จดบันทึกประจำวัน • จดบันทึกประจำวันสักหนึ่งสัปดาห์ ให้สังเกตดูว่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดที่เราตอบสนองทางกาย ใจ หรืออารมณ์ในทางลบ และให้จดวันเวลาของเหตุการณ์ไว้ด้วย เขียนบรรยายเหตุการณ์เอาไว้ย่อๆ เราอยู่ในเหตุการณ์ตรงไหน มีใครเกี่ยวข้องบ้าง อะไรเป็นสาเหตุของความเครียด และบรรยายถึงการตอบสนองของเราต่อความเครียดนั้นด้วย อาการทางกายของเราเป็นอย่างไร เช่น หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อแตก ความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร เราพูดอะไร หรือทำอะไรลงไปบ้าง เสร็จแล้วให้คะแนนความเครียดของเราจาก 1 ถึง 5 (น้อยไปมาก)
• จดบันทึกรายการของสิ่งหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่บีบคั้นเราให้ใช้เวลาและพลังงานกับมันในหนึ่งสัปดาห์ว่ามีอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น การงานที่เราทำอยู่ งานอาสาสมัคร ขับรถพาลูกไปเรียนพิเศษ ดูแลพ่อหรือแม่ที่แก่เฒ่า เสร็จแล้วให้คะแนนความมากน้อยของความเครียดที่ เราประสบจาก 1 ถึง 5 เหมือนข้างบน
หลังจากนั้นเราก็มานั่งพิจารณาสิ่งที่เราจดบันทึกไว้ พิจารณาสิ่งที่เราคิดว่าทำให้เราเครียดมากๆ แล้วเลือกขึ้นมาอย่างหนึ่งเพื่อทำการวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคที่ใช้แก้ปัญหาดังนี้ ี้ ปรับปรุงทักษะการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทักษะนี้สามารถทำให้คุณเก่งในการแยกแยะเป้าหมาย และให้ความสำคัญก่อนหลัง ของสิ่งที่เราต้องทำซึ่งจะช่วยลดความเครียดในชีวิตได้ ให้ใช้ทักษะต่างๆ ดังต่อไปนี้ช่วยลด ความเครียด
- สร้างความคาดหมายที่เป็นไปได้จริงและขีดเส้นตายให้กับงานที่เราจะทำและทำการตรวจสอบความก้าวหน้าเป็นประจำ
- จัดระเบียบบนโต๊ะทำงาน กำจัดกระดาษที่ไม่มีความสลักสำคัญโดยการโยนมันทิ้งไป
- เขียนรายการแม่บทของสิ่งที่เราต้องทำก่อนหลังประจำวันแล้วทำตามนั้น
- ตลอดทั้งวันที่ทำงานหมั่นเช็ครายการ แม่บทที่เราทำไว้ ว่าเราได้ทำเสร็จไปตามลำดับก่อนหลังที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า
- หัดใช้สมุดนัดที่เขาเรียกว่าแพลนเนอร์เพื่อจดบันทึกสิ่งที่เราวางแผนจะทำล่วงหน้า เป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี หรือเขียนรายการแม่บทตามที่กล่าวข้างบนนั้นเป็นรายการที่ต้องทำก่อน-หลังประจำวัน ลงบนแพลนเนอร์ด้วย แล้วทำไปตามนั้น และทำการประเมินผลประจำวัน จะเกิดผลดี ไม่เกิดความยุ่งยาก สับสน ผิดนัด ใช้แพลนเนอร์เก็บเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของคนสำคัญหรือลูกค้าเพื่อความสะดวกใน การค้นหาติดต่อ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ผิดพลาดเสียเวลาน้อยลง มีเวลาทำงาน อย่างอื่นหรือรื่นเริงมากขึ้น
- สำหรับการทำงานหรือโครงการที่มีความสำคัญมากให้กันเวลาที่ห้ามใครมารบกวนไว้ต่างหากเพื่อ การทำงานที่ต่อเนื่องและเป็น ความลับ
หลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายหมดไฟในการทำงาน ถ้าคุณมีความรู้สึกหมดไฟ ไม่อยากทำงาน หรือเครียดมากเป็นเวลานานเป็นสัปดาห์ ความรู้สึกนี้จะมีผลต่อความสัมพันธ์ในทางอาชีพและในชีวิตส่วนตัวหรือในการทำมาหากินของคุณได้
ความอัดอั้นตันใจที่มากล้น ความรู้สึกเมินเฉยต่อการงาน ความหงุดหงิดรำคาญใจเป็นเวลายาวนาน ความขุนเคืองใจ และมีความโน้มเอียงที่จะโต้เถียงเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้บ่งถึงอาการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งจำเป็นต้อง ได้รับการจัดการเยียวยาให้มันดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเขาแนะนำกลยุทธในการต่อสู้ดังนี้
- ดูแลตัวเองให้สุขภาพดี กินอาหารให้ครบห้าหมู่ กินให้ครบทุกมื้อรวมทั้งอาหารเช้า กินในขนาดที่พอประมาณ (ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม) นอนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอให้พอเหมาะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกายของท่านแข็งแรง สามารถสู้กับความเครียดทางกายและใจได้ดี
- สร้างสัมพันธไมตรีกับเพื่อนในที่ทำงานและนอกที่ทำงาน หาเพื่อนสนิทที่เราสามารถบ่นเรื่องคับข้องใจปรับทุกข์เรื่องการงานให้ฟังได้ ทำให้มีหนทางในการแก้ปัญหาที่ก่อความเครียดของเราได้ หลีกเลี่ยงการคบค้ากับคนที่เรามีความรู้สึกไม่ดี คนไม่จริงใจ ไม่เป็นกัลยาณมิตรเพราะจะยิ่งจะตอกย้ำความรู้สึกย่ำแย่ให้มากขึ้น ในมงคลสูตรก็กล่าวไว้ให้คบคนดี หลีกหนีคนพาล มองหากัลยาณมิตร
- รู้จักลาพักผ่อน ลาพักร้อน วาเคชั่น บางคนอาจจะลาไปปฏิบัติธรรมฝึกวิปัสสนากรรมฐาน หรือปลีกวิเวก สำหรับคนที่ทำได้มันจะทำให้คลายเครียดลงได้มาก แน่นอน และสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ลาได้ไม่มากก็อาจจะมีการเบรคพักคลายเครียดชั่วครู่ในเวลาทำงานก็จะช่วยได้บ้าง
- ในบางกรณีจำเป็นต้องฝึกการปฏิเสธ หัด "Say No" กับเพื่อนที่มาชวนไปทำโน่นทำนี้ที่ทำให้เราเครียด เช่น เป็นสาวเป็นแส้เที่ยวแร่ไปตามที่อโคจรไปนั่งตามผับตามบาร์ ดื่มเหล้าสูบยาซึ่งเป็นท่าทีเชิญชวนให้ หนุ่มเหน้าเข้ามาโอภาปราศรัยอยากได้ปลื้ม
- หัดยับยั้งชั่งใจไม่โต้เถียงกับใครๆ โดยไม่เลือก พยายามใจเย็น มีสติ สัมปชัญญะ เถียงเฉพาะเรื่องที่มีความสลักสำคัญจริง (ไม่ใช่เรื่องทักษิณออกไป) แต่ที่ดีที่สุดคือหุบปากไม่เถียงกับใครเลย ทุกครั้งที่เถียงกันจะมีการหลั่งของฮอร์โมนความเครียดความดันเลือดพุ่งขึ้นทุกที
- ทางออกของความเครียดที่ควรหัดมีไว้คือ การอ่านหนังสือที่เราชอบ ทำงานอดิเรกที่เรารัก ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่เราสนุก ทำให้รู้สึกชื่นมื่นเพราะเอนดอร์ฟิน (สารสร้างสุข) หลั่งออกมา
ถ้าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีผลดีต่อคุณ ก็จำเป็นต้องหาที่พึ่ง เช่น เข้าหาปรึกษาพระที่เราเคารพนับถือ เอาธรรมะเข้าข่ม หรือใช้มืออาชีพอย่างนักจิตวิทยา หรือให้จิตแพทย์ช่วยก็จะดีที่สุด อย่าลืมว่าความเครียดอาจจะทำให้ถึงตายได้ อย่าปล่อยให้มันเรื้อรังนะค่ะ | |
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น