งานช้าง
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ กษัตริย์องสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกสำคัญแตกโรงหนีเข้าป่าทางเมืองพิมาย
ผู้เข้าชมรวม
511
ผู้เข้าชมเดือนนี้
4
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
งานช้าง
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ กษัตริย์องสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกสำคัญแตกโรงหนีเข้าป่าทางเมืองพิมาย พระองค์จึงโปรดให้ทหารออกติดตาม จนกระทั่งถึงเขตที่ชุมชนชาวกูย (กวย) อาศัยอยู่ ชาวกวยกลุ่มนี้มีความชำนาญในการคล้องช้างและจัลช้างเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดก็สามารถติดตามช้างเผือกจนพบ และนำกลับสู่กรุงศรีอยุธยา ความดีความชอบในครั้งนั้นส่งผลให้หัวหน้าชาวกูยที่เป็นคณะติดตามช้าง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ พร้อมกับโปรดยกเมืองให้ และหนึ่งในหัวหน้าชาวกูยก็คือ "เชียงปุม" ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงสุรินทร์ภักดี" และต่อมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง" ผู้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดสุรินทร์
จากอดีตจนถึงปัจจุบันลูกหลานชาวกูยยังคงสืบทอดมรดกอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษ นั่นคือการคล้องช้าง และการเลี้ยงช้างเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัว ทำให้ชาวกูยแห่งเมืองสุรินทร์ มีความผูกพันธ์แนบแน่นกับสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นามว่า "ช้าง" เป็นเวลาช้านาน
ปี 2498 ถือว่าเป็นปีแห่งการชุมนุมช้างของชาวกูยอย่างไม่ได้ตั้งใจก็ว่าได้ ซึ่งการชุมนุมช้างในครั้งนั้นเกิดจากข่าวที่ว่าจะมีเฮลิคอปเตอร์มาลงที่บ้านตากลาง ชาวบ้านจึงพากันไปดูโดยการใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทาง พอมาถึงจุดที่เฮลิคอปเตอร์ลงจอด ปรากฏว่าช้างที่ไปรวมกันนั้นนับได้ 300 เชือก ทำให้คนที่มากับเฮลิคอปเตอร์ตกใจและแปลกใจมากกว่าชาวบ้านเสียอีก
ภาพการชุมนุมช้างที่บ้านตากลาง เมื่อปี 2498 (ภาพ:นายพนัส ธรรมประทีป)
เหตุการณ์ชุมนุมชุมนุมช้างครั้งนั้น ทำให้คนที่ทราบข่าวต่างพากันสนใจเป็นจำนวนมาก และในปี 2503 อำเภอท่าตูม ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านช้าง ได้มีการฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ นายวินัย สุวรรณประกาศ ซึ่งเป็นนายอำเภอในขณะนั้น ได้เชิญชวนให้ชาวกูยเลี้ยงช้างทั้งหลาย ได้นำช้างของตนออกมาจัดแสดงให้ ประชาชนได้ชมกัน เนื่องจากไม่สามารถไปคล้องช้างตามแนงชายแดนได้ด้วยปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
การแสดงในครั้งนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะมีคล้องช้างให้ดูแล้ว ยังมีขบวนแห่ช้าง การแข่งขันวิ่งช้าง และในกลางคืนก็มีมหรสพต่าง ๆ ซึ่งใครจะคาดคิดว่า จากงานเฉลิมฉลองของอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางภาคอีสาน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 จะกลายมาเป็นงานประเพณีของชาติที่โด่งดังไปทั่วโลก
ในสมัยโบราณในแถบพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ มีช้างอาศัยอยู่มากมาย ขณะเดียวกัน จังหวัดสุรินทร์ก็มีชาวพื้นเมืองที่มีความชำนาญในการจับช้างป่ามาฝึกหัดทำงาน เรียกว่า พวก "ส่วย" ชาวส่วยเป็นชาวพื้นเมืองที่กล่าวกันว่า เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ได้อพยพ มาจากเมืองอัตขันแสนแป ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองจำปาศักดิ์ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวปัจจุบัน ชาวพื้นเมืองเหล่านี้เป็นเผ่าที่ชอบเลี้ยงช้าง เป็นผู้ริเริ่มในการจับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้งาน และเป็นพาหนะเดินทางขนส่งในท้องถิ่น การไปจับช้างในป่าลึกโดยใช้ช้างต่อ เรียกว่า "โพนช้าง" ที่หมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ชาวส่วยกลุ่มนี้ได้เข้าไปอยู่บนเนิน เขตรอยต่อระหว่างดงสายทอและดงรูดินใกล้ๆ กับบริเวณที่ลำน้ำชี้ (ชีน้อย) อันเป็นลำน้ำที่แบ่งเขต ระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ และลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน โดยสภาพพื้นที่ดังกล่าวในอดีตได้ ตัดขาดจากโลกภายนอกเกือบสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้การผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นจึงมีน้อย ชาวส่วยเกือบ ทั้งหมดในเขตพื้นที่นี้ ยังมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของตนเองอยู่ โดยเฉพาะ การเลี้ยงช้าง เป็นอาชีพหลักที่สำคัญที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในสมัยโบราณ ซึ่งไม่อาจสืบค้นได้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยใด โดยชาวส่วยเหล่านี้จะพากันออกไปจับช้างในเขตประเทศกัมพูชามาฝึกให้สามารถใช้งานได้ แล้วขายให้กับพ่อค้าจากภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อนำไปลากไม้ในป่า จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เกิดเหตุพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา การเดินทางไปจับช้างจึงยุติลง และในที่สุด ก็ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางส่วนได้หันมาฝึกช้างจากการเป็น สัตว์ใช้งานมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่นเดียวกับแมวและสุนัข และฝึกสอนให้แสดงกิริยาอาการต่างๆ เลียน แบบมนุษย์ เพื่อจะได้นำไปแสดงในที่ต่างๆ แทนการขายไปทั้งตัว จนกระทั่งทางจังหวัดสุรินทร์ และองค์การ ส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ชื่อในขณะนั้น) ได้มองเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมการแสดงของช้าง เป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์และของประเทศไทยขึ้น โดยจัดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา แต่ก่อนที่จะมีงานช้างซึ่งถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้จัดติดต่อกันมาเกือบ ๔๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว นายท้าว ศาลางาม หมอช้างระดับครู ขาใหญ่แห่งหมู่บ้านกระเบื้องใหญ่ อำเภอ ชุมพลบุรี ได้เล่าถึงความเป็นมาของงานช้างว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น มีข่าวลือว่า จะมีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาลงที่หมู่บ้านตาง หรือหมู่บ้านช้างในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ชาวบ้านนานๆ จะได้เห็นยวดยานพาหนะประเภทรถยนต์ และเครื่อง บินผ่านไปในเขตพื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของตน จึงแตกตื่นไปทั่วตำบล มีการชักชวนกันไปดูเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเนื่องจากชาวบ้านในตำบลกระโพ เกือบทุกหมู่บ้านมีอาชีพสำคัญคือการเลี้ยงช้าง และออกจับช้างป่ามาฝึกขาย จึงมีช้างเกือบทุกครัวเรือน เป็นพาหนะและสินทรัพย์ที่สำคัญของชาวบ้าน แถบนั้น การเดินทางไปดูเฮลิคอปเตอร์ในครั้งนั้น จึงใช้ช้างเป็นพาหนะ เมื่อไปถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์แล้ว ปรากฏว่ามีช้างจำนวนมากมาย รวมกันแล้วประมาณ ๓๐๐ เชือก สร้างความตื่นเต้นประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบ เห็นเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นายวินัย สุวรรณกาศ นายอำเภอท่าตูม สมัยนั้น ได้ให้นำ ช้างเหล่านี้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมแสดงในงานฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ณ บริเวณสนามบิน เก่าท่าตูม คือ บริเวณโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ในปัจจุบัน การแสดงครั้งนั้นได้จัดขึ้นในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ มีการเดินขบวนพาเหรดของช้าง การแสดงการคล้องช้าง และการแข่งขันช้างวิ่งเร็ว มีช้างเข้าร่วมในการแสดงประมาณ ๖๐ เชือก จากการแสดงคราวนั้นทำให้มีการประชาสัมพันธ์แพร่ภาพ ทางโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เผยแพร่ไปทั่ว ทำให้เกิดความสนใจทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทางองค์การส่งเสริม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ชื่อของ
ททท.ในสมัยนั้น) จึงเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยว่า การแสดงของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ในครั้งนั้น นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากของจังหวัด และประชาชนทั่วไปก็ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่มีโอกาสหาชมได้น้อย จึงเห็นสมควรที่จะเผยแพร่งานแสดงของช้างไปสู่วง กว้าง โดยเสนอให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีของจังหวัด และให้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีการกำหนดวันให้แน่นอนตามปฏิทินทางสุริยคติ และจัดรูปแบบงานให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาในการโฆษณาเชิญชวนไปยังต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว ของประเทศให้แพร่หลายไปด้วย ดังนั้น ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ จังหวัดสุรินทร์จึงได้ร่วมกับองค์การ ส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงของช้างขึ้น เป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงจัดที่อำเภอท่าตูม ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๕๒ กิโลเมตร จากผลการจัดงานแสดงของช้างดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศอย่างกว้าง ขวาง ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ให้งานแสดงของช้างเป็นงานประจำปีของชาติ และคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๕ เป็นต้นมา งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์จึงกลายเป็นงานประจำปีของชาติ และเป็นงานประเพณี ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาจังหวัดสุรินทร์จนกระทั่งปัจจุบัน
กำหนดการ: กำหนดให้มีขึ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์ สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
การแสดงของช้างมีด้วยกันทั้งหมด ๘ ฉาก อาทิเช่น ชุดโขลงช้าง พิธีเซ่นผีปะกำ การโพน ช้าง และการฝึกช้างป่า ช้างทำงาน และการละเล่นของช้าง ประเพณีวัฒนธรรมของส่วยหรือชนชาวกุย ขบวนช้างแห่นาค ช้างแข่งขันกีฬา ช้างเตะตะกร้อ ช้างชกมวย การประกวดช้างสวยงาม และการแสดง ของช้างอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากการแสดงของช้างแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการ การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การประกวดของดีเมืองสุรินทร์ การออกสลากกาชาด การออกร้านงานช้างแฟร์ ทำให้ผู้ร่วมงานครั้งนี้ สนุกสนานถ้วนหน้ากัน การแสดงของช้างเริ่มด้วยฉากแรกชื่อว่า "จ่าโขลง" แสดงให้เห็นถึงชีวิตของช้างป่าตาม ธรรมชาติซึ่งอยู่รวมกัน การแสดงครั้งนี้ก็จะปล่อยช้างออกมาบริเวณสนามแสดงช้างหลายสิบเชือก โดยไม่มี ควาญช้างบังคับ เพื่อให้สมจริงสมจังกับการเป็นช้างป่า เมื่อมีช้างป่าชาวบ้านก็มีความต้องการที่จะจับช้าง มาเลี้ยงไว้ใช้งาน แต่การจับช้างของชาวบ้านไม่ใช่อยู่ๆ ก็จับมาเลย ต้องมีการทำพิธีกันเสียก่อน ฉากต่อมา จึงมีชื่อชุดว่า "กวย" ฉากนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านต้องทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ผีปะกำ ก่อนออกไปคล้องช้าง ตามความเชื่อที่ว่า ช้างแต่ละเชือกมีผีปะกำดูแลอยู่ ดังนั้นหน้าบ้านของคนเลี้ยงช้างทุกบ้านจะมีศาลปะกำ เพื่อไว้เป็นที่เก็บเชือกปะกำและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้ โดยแสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีอย่างโบราณ ด้วยการให้หมอเฒ่า หรือปะกำหลวงมา แสดงให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปด้วย แต่น่าเสียดายที่ผู้ชมกับผู้แสดงอยู่ห่างกันมาก ทำให้ไม่เห็นรายละเอียด บางอย่างอย่างใกล้ชิด เช่น การสวด สีหน้า ท่าทางของผู้ประกอบพิธี เมื่อเสร็จพิธีดังกล่าวชาวบ้านก็จะออก ไปคล้องช้างกัน การเข้าไปคล้องช้างในป่าจะกินเวลานานถึง ๒ - ๓ เดือน ฉะนั้นผู้ที่คล้องช้างจึงต้องเป็นผู้ชาย และผู้ที่คล้องช้างได้ก็จะเป็นที่ยอมรับนับถือในความเป็นชายเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เป็นที่หมายปอง แก่บรรดาสาวๆ และที่สำคัญช้างเชือกหนึ่งมีราคาไม่ใช่น้อย ดังนั้น การคล้องช้างได้ถือเป็นการยกฐานะของ คนที่คล้องช้างได้ไปในตัว ฉากต่อมาชื่อชุดว่า "จากป่าสู่บ้าน" เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการคล้องช้าง ผู้ชำนาญ จะคล้องช้างที่เป็นแม่ลูกอ่อน เพราะถ้าหากคล้องลูกช้างได้ก็เหมือนกับได้ตัวแม่ด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า แม่ช้างจะเป็นห่วงลูกน้อยทำให้ไม่ยอมไปไหน การแสดงฉากนี้คนดูก็จะลุ้นอยากให้คนคล้องช้างได้ หลายคน ก็ลุ้นให้ช้างหลุดรอดไปได้ ซึ่งคนดูทุกคนจะตื่นเต้นสนุกสนาน การแสดงฉากนี้ดูเหมือนว่าจะคล้องช้างไม่ได้เสียมากกว่า เพราะช้างที่แสดงเป็นช้างบ้านที่ฉลาด ได้รับการฝึกฝนมาแล้วจึงรู้วิธีหลบหลีกเป็นอย่างดี คนที่ลุ้นให้ช้างรอดก็โล่งใจกันเป็นแถว "สร้างบ้าน แปงเมือง" เป็นการแสดงในฉากต่อมา โดยนำช้างออกมาแสดงความสามารถทั้ง การใช้งาน เช่น การลากซุง และการแสดงตามคำสั่งต่างๆ ซึ่งก็น่ารัก น่าเอ็นดู เพราะช้างตัวใหญ่อุ้ยอ้าย การที่จะต้องมาแสดงท่าทางเลียนแบบของคน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นลูกช้างไต่ราวการให้ช้างนั่ง บนถังในท่านั่งเหมือนคนหรือเดินสองขาเหมือนคน ในขณะที่การแสดงของช้างดำเนินอยู่ ก็จะมีเด็กๆ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายแต่งกายชุดพื้นบ้าน มาแสดงการละเล่นของเด็กในสมัยก่อนที่มักจะหาของเล่นจากวัสดุในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเดินกะลา ล้อไม้ ม้าก้านกล้วย เดินโทงเทง ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน แต่ที่น่าชมและชอบใจของคนดูทั้งสนามก็คงจะเป็นช้างชกมวย ไม่ใช่ช้างชกกับช้าง แต่เป็น การชกของช้างกับคน โดยเขาจะใส่นวมที่งวงช้างเพื่อให้ชกแทนการใช้มืออย่างคน การชกเป็นไปอย่างดุเดือด เพราะแต่ละหมัด (งวง) ของช้างหนักหน่วง จนทำให้คนต้องลงไปนอนให้กรรมการนับหลายครั้ง และก็ปรากฏ ว่าช้างชนะน็อคไปตามระเบียบ ด้วยหมัดฮุคอย่างรุนแรง เป็นที่สนุกสนานเฮฮาของคนดู หลังจากการแสดงอันแสนรู้ของช้างผ่านไปแล้ว ก็เป็นการแสดงของคนในชื่อชุดว่า "ประเพณี" เป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวสุรินทร์ คือ การแสดงเรือมอันเร และการแห่บั้งไฟ การแสดงเรือมอันเร ประกอบด้วยดนตรีพื้นบ้าน คือ กันตรึม การรำคล้ายกับการรำลาว กระทบไม้ การแห่บั้งไฟเป็นประเพณีของชาวอีสานที่แห่บูชาพญาแถนเพื่อขอฝน ขบวนแห่ในวันนั้นมีการจัด ไว้อย่างสวยงาม มีผู้ร่วมขบวนนับร้อย ทุกคนล้วนแต่งกายสีสันสดใสด้วยผ้าพื้นเมือง ฝีมือการทอ ของชาวบ้านเอง การบวชนาค เป็นอีกฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของช้าง เพราะคหบดีในสมัย ก่อนนิยมใช้ช้างร่วมแห่นำในขบวนแห่นาค และการแห่นาคที่จังหวัดสุรินทร์จะต่างจากที่อื่นตรงที่นิยมให้มี การรำมวยไทยนำหน้าขบวนแห่นาค และมีวงมโหรีอยู่บนหลังช้าง ปิดขบวนด้วยระนาด ฆ้อง ปี่ และตะโพน เมื่อบวชนาคแล้วต้องมีการฉลองพระใหม่ ก็ได้มีการแสดงชื่อชุดว่า "ฉลองพระ" ซึ่งสมัย ก่อนการฉลองพระเป็นการแข่งขันและเล่นเกมของคน แต่ต่อมาใช้ช้างเล่นแทน ซึ่งก็ให้ความสนุกสนานไม่ แพ้คนเล่นเอง การแข่งขันของช้างมีหลายเกม คือ ช้างวิ่งแข่ง ช้างเตะฟุตบอล ช้างเก็บของ สิ่งเหล่านี้จะ แสดงให้เห็นว่าช้างเชือกไหนฉลาดและเชื่อฟังคำสั่งของควาญช้าง โดยเฉพาะเขาวางน้ำอัดลม แตงโม กระติ๊บข้าว กล้วย ช้างบางเชือกก็เก็บของเหล่านี้ให้ควาญช้างทั้งหมด แต่ก็มีบางเชือกเก็บเข้าปากตัวเอง เพราะของที่เก็บไม่ว่าจะเป็นกล้วยหรือแตงโม ล้วนแต่เป็นของโปรดของช้างทั้งนั้น ซึ่งก็สร้างความครื้นเครง ให้กับคนดูพอสมควรในความเจ้าเล่ห์ของช้างบางเชือก ที่สนุกสนานที่สุดเห็นจะเป็นตอนช้างเตะฟุตบอล ซึ่งแบ่งช้างออกเป็น ๒ ทีม มีฟุตบอล ขนาดใหญ่ เหมาะสมกับตัวของช้างมาเตะกันจริงๆ เกมการแข่งขันจะดูวุ่นวาย เพราะช้างบางตัวขี้โกงใช้ งวงอุ้มลูกฟุตบอล แทนที่จะเตะฟุตบอล สร้างความขบขันให้กับคนดูเป็นอย่างมาก และการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาก็มาถึงในฉากที่ชื่อว่า "บารมีปกเกล้า" ฉากนี้แสดงให้เห็น ถึงขบวนพยุหยาตราทัพ อันเป็นแสนยานุภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ในอดีต ซึ่งมีช้างเป็นกำลังสำคัญในการแสดงแสนยานุภาพนั้น ฉากนี้นับเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วย ผู้แสดงนับพัน การแต่งกายก็สมจริง ทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง (หนังสือพิมพ์แนวหน้า, ๒๒ พ.ย. ๒๕๓๔, ชื่น ศรีสวัสดิ์ : ๒๕๓๗, สถาบันไทยคดีศึกษา : ๒๕๒๘)
ผลงานอื่นๆ ของ 77777777 ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ 77777777
ความคิดเห็น