ลำดับตอนที่ #2
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : { จุดเริ่มต้นของแฟนตาซี }
แฟนตาซี
แฟนตาซี (อังกฤษ: Fantasy) เป็นงานวรรณศิลป์ประเภทหนึ่งที่มีเค้าโครงหรือเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์และเรื่องเหนือจริง มักมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยุคกลางของยุโรป หรือมีลักษณะที่แสดงถึงยุคเดียวกันนั้น เช่นสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง เครื่องแต่งกาย หรือเทคโนโลยี โลกแห่งแฟนตาซีมักยอมรับสภาวะเหนือจริงและเวทมนตร์ต่างๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติ ความแตกต่างระหว่างแฟนตาซี กับนิยายวิทยาศาสตร์หรือนิยายสยองขวัญ คือลักษณะของเทคโนโลยีและวิธีการนำเสนอเกี่ยวกับความตาย งานแฟนตาซีประกอบด้วยผลงานประพันธ์ของนักเขียน ศิลปิน นักดนตรี หรือนักสร้างภาพยนตร์มากมาย นับแต่อดีตกาลประหนึ่งปกรณัมหรือตำนานลี้ลับ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันที่เผยแพร่แก่ผู้คนจำนวนมาก
Dobrynya ผู้ช่วย Zabana จากมังกรหนึ่งในเทพนิยายและเทพปกรณัมซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวรรณกรรมแฟนตาซี
งานแฟนตาซีชิ้นแรกที่พบเห็นเป็นหลักฐานอาจได้แก่ มหากาพย์กิลกาเมช (the Epic of Gilgamesh) แต่งานแฟนตาซีเก่าแก่มีอยู่มากมายเช่น มหากาพย์โอดิสซีย์ ตำนานเบวูล์ฟ มหาภารตะ พันหนึ่งราตรี รามายณะ จนกระทั่งถึง ตำนานกษัตริย์อาเธอร์ และมหากาพย์ต่างๆ มากมายในยุคกลาง ที่เกี่ยวข้องกับวีรบุรุษ วีรสตรี ปีศาจอันน่าสะพรึงกลัว และดินแดนลี้ลับ ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง กล่าวไปแล้ว ประวัติศาสตร์ของแฟนตาซีกับประวัติศาสตร์วรรณกรรมก็มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันมาก
งานบางชิ้นมีความคาบเกี่ยวกันอย่างใกล้ชิด ไม่ชัดเจนว่าเป็นงานแฟนตาซี หรืองานประเภทอื่น ซึ่งขึ้นกับจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ถึงความเป็นไปได้ในเรื่องเหนือจริง เช่น เรื่อง A Midsummer Night's Dream หรือ Sir Gawain and the Green Knight ทำให้จุดเริ่มต้นแท้จริงของวรรณกรรมแฟนตาซีไม่อาจระบุชี้ชัดลงไปได้
สำหรับวรรณกรรมแฟนตาซียุคใหม่ อาจเริ่มจากผลงานของจอร์จ แมคโดนัลด์ นักประพันธ์ชาวสก๊อตผู้เขียนเรื่อง The Princess and the Goblin และ Phantastes ซึ่งเรื่องหลังนี้นับว่าเป็นงานแฟนตาซีสำหรับผู้ใหญ่เรื่องแรกของโลก แมคโดนัลด์เป็นแรงบันดาลใจสำคัญยิ่งต่อ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน และ ซี. เอส. ลิวอิส นักประพันธ์งานแฟนตาซีอีกผู้หนึ่งในยุคเดียวกันนี้คือ วิลเลียม มอร์ริส กวีชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงที่ได้แต่งนวนิยายไว้มากมาย รวมถึงเรื่อง The Well at the World's End
ถึงกระนั้น วรรณกรรมแฟนตาซีก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้อ่านกว้างขวางนัก เอ็ดเวิร์ด พลังเคทท์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ลอร์ดดันเซนี (Lord Dunsany) เป็นผู้ริเริ่มงานเขียนแนวนวนิยายและเรื่องสั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มของความนิยมที่เข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น นักเขียนงานแฟนตาซีแนวนี้ในยุคนั้นได้แก่ เอช. ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด รุดยาร์ด คิปลิง และเอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ รวมถึง อับราฮัม เมอร์ริทท์ ต่างพากันสร้างผลงานแฟนตาซีในแขนงที่เรียกกันว่า "Lost World" ซึ่งเป็นวรรณกรรมแฟนตาซีแขนงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผลงานวรรณกรรมแฟนตาซีสำหรับเด็กระดับคลาสสิคได้เผยแพร่ในยุคนั้นหลายเรื่อง เช่น ปีเตอร์ แพน และ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งานแฟนตาซีแขนง "Juvenile" (แฟนตาซีสำหรับเด็ก) จะเป็นที่นิยมและยอมรับมากกว่าวรรณกรรมแฟนตาซีสำหรับผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้เหล่านักเขียนจึงพากันสร้างผลงานออกมาเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบต่องานแฟนตาซีทั้งหมดที่สร้างขึ้นในยุคนั้น ไม่เว้นแม้แต่ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ล้วนถูกจัดกลุ่มไปว่าเป็น วรรณกรรมเยาวชน กันทั้งนั้น
ปี ค.ศ. 1923 ได้มีนิตยสารที่มุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับ นวนิยายแฟนตาซี โดยเฉพาะ ชื่อว่า Weird Tales หลังจากนั้นก็เกิดมีนิตยสารแนวนี้ขึ้นอีกมาก ฉบับที่มีชื่อเสียงคือ The Magazine of Fantasy and Science Fiction การเผยแพร่งานผ่านนิตยสารทำให้วรรณกรรมแฟนตาซีเผยแพร่สู่ผู้อ่านจำนวนมากขึ้น และเป็นที่นิยมอย่างสูงทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นิตยสารบางฉบับเริ่มจับแนวทางของนิยายวิทยาศาสตร์ด้วย ทำให้วรรณกรรมสองสาขานี้มีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกันมากกว่าสาขาอื่นๆ
เมื่อถึง ปี ค.ศ. 1950 วรรณกรรมแฟนตาซีแนว "ดาบและเวทมนตร์" ก็สามารถเข้าถึงผู้อ่านเป็นวงกว้าง ดังเห็นในความสำเร็จของ Conan the Barbarianของ โรเบิร์ต อี. โฮวาร์ด หรือ Fafhrd and the Gray Mouser ของ ฟริตซ์ ไลเบอร์ และแล้วก็เกิดวรรณกรรมแฟนตาซีแขนงใหม่ คือ "แฟนตาซีระดับสูง" (High Fantasy) เรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือผลงานของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ซึ่งส่งผลให้มีวรรณกรรมแฟนตาซีเกิดขึ้นสู่บรรณพิภพเป็นจำนวนมาก ผลงานอื่นๆ เช่น ตำนานแห่งนาร์เนีย ของ ซี. เอส. ลิวอิส และ พ่อมดแห่งเอิร์ธซี ของ เออร์ซูลา เค. เลอกวิน ทำให้ความนิยมในวรรณกรรมสาขานี้แข็งแกร่งมั่นคงยิ่งขึ้น
ความนิยมในวรรณกรรมแฟนตาซียังคงสืบเนื่องต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์หนังสือขายดีที่สุด จากเรื่อง แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ผลงานของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมแฟนตาซีก็เกิดขึ้นมากและประสบผลสำเร็จหลายเรื่อง เรื่องที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ภาพยนตร์ไตรภาคเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ของผู้กำกับภาพยนตร์ ปีเตอร์ แจ็คสัน
ประเภทของงานแฟนตาซี
วรรณกรรมแฟนตาซียุคใหม่แตกหน่อออกไปเป็นแขนงย่อยอีกมากมายที่ไม่อาจกำหนดขอบเขตได้แน่ชัด บางส่วนคาบเกี่ยวกับตำนาน หรือนิทานพื้นบ้าน โดยที่ตำนานหรือนิทานพื้นบ้านก็เป็นแนวเรื่องลักษณะเดียวกับแฟนตาซีเช่นกัน แต่แขนงของงานแฟนตาซีที่โดดเด่น ก็มีเช่น แฟนตาซีวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาคาบเกี่ยวกับนวนิยายวิทยาศาสตร์ ดาร์คแฟนตาซี ที่ก้ำกึ่งกับความเป็นนวนิยายสยองขวัญ นอกจากนี้ยังมี แฟนตาซีโรแมนติก แฟนตาซีเทพนิยาย แฟนตาซีฮีโร่ แฟนตาซีสำหรับเด็ก เป็นต้น ส่วนประเภทของงานแฟนตาซีที่นิยมกันแพร่หลายมากที่สุด คือแฟนตาซีแนวดาบและเวทมนตร์ กับแฟนตาซีระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโลกอื่น
ชุมชนและวัฒนธรรม
ผู้ทำงานสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น สำนักพิมพ์ บรรณาธิการ นักเขียน ศิลปิน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานแฟนตาซี มารวมตัวกันทุกปีในงานประชุมแฟนตาซีโลก (World Fantasy Convention) ซึ่งจะมีการมอบรางวัล World Fantasy Awards ในงานด้วย งานประชุมนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1975 และจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปีนับแต่นั้น โดยย้ายสถานที่ประชุมไปยังประเทศต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีงานประชุมด้านนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกมากมาย เช่น "Florida's FX Show" หรือ "MegaCon" ก็เป็นที่สนใจของเหล่านักอ่านนวนิยายแฟนตาซีและนวนิยายสยองขวัญ รวมถึงงานชุมนุมด้านอะนิเมะ เช่น "JACON" หรือ "Anime Expo" ก็มักมีการแสดงด้านแฟนตาซี แฟนตาซีวิทยาศาสตร์ หรือดาร์คแฟนตาซีอยู่ด้วยเสมอ ตัวอย่างเช่น เซลเลอร์มูน (แฟนตาซีวิทยาศาสตร์) xxxHolic (ดาร์คแฟนตาซี) หรือ Spirited Away (แฟนตาซี) งานประชุมเหล่านี้ยังก่อให้เกิดประเพณีใหม่ขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น คอสเพลย์ (การที่ผู้คนพากันแต่งกายและแต่งหน้าตามอย่างตัวละคร บางครั้งมีการรวมกลุ่มจัดการแสดงโชว์ด้วย) แฟนฟิกชั่น AMV และ โดจินชิ เป็นต้น
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น