ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สรุปย่อวิชาต่างๆ

    ลำดับตอนที่ #11 : นาฏศิลป์-ศิวนาฏราช (Natarajar) ท่ารำแม่แบบ 108 ทาาของอินเดีย

    • อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 56


    ตำนานการฟ้อนรำของอินเดีย

               ประเทศอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอารยธรรมเก่าแก่ และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณกาลโดยเฉพาะการละครรุ่งเรืองมากประกอบกับชนชาติอินเดียนับถือ และเชื่อมั่นในศาสนาพระผู้เป็นเจ้าตลอดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การละครมาจากการสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าได้แก่ พระศิวะ (พระอิศวร)พระวิษณุ  (พระนารายณ์ )   และพระพรหม    ฝ่ายพระพุทธศาสนาเป็นพระรัตนตรัย    พระพุทธเจ้า พระธรรมอันสูงสุด พระสงฆ์

     

     ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรผู้เป็นเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมากยุคนี้ถือว่าพระอิศวรทรงเป็นนาฏราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในสวรรค์และในเมืองมนุษย์ โดยมีเรื่องราวเล่าขานไว้ดังนี้

     

              ในกาลครั้งหนึ่ง  ที่ป่าตาระกะ เป็นสถานที่อุดมด้วยพืชผลนานาชนิด มีความสงบร่มรื่น    สวยงาม บรรดาฤาษีทั้งชายและหญิงต่างพากันไปตั้งอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่กันเป็นจำนวนมาก ต่อมาบรรดาฤาษีเหล่านั้นได้ประพฤติผิดเทวบัญญัติมักมากไปด้วยกามราคะต่างกระทำผิดในทางพรหมจรรย์กันวุ่นวาย

     

                ร้อนถึงพระอิศวรเมื่อทรงทราบเหตุดังนี้จึงชวนพระนารายณ์ลงไปปราบ พญาอนันตนาคราชซึ่งเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ก็ขอตามเสด็จไปด้วย ในการเสด็จลงไปปราบเหตุอันวุ่นวายในครั้งนี้พระอิศวรทรงแปลงร่างเป็นดาบสหนุ่มรูปงาม ส่วนพระนารายณ์ทรงแปลงร่างเป็นดาบสสินีสาว มี       สิริโฉมงดงามยิ่งนัก แล้วทั้งสองพระองค์ก็เสด็จมายังบริเวณป่าตาระกะและตรงเข้าไปยังบริเวณอาศรมของฤาษีซึ่งกำลังเพลิดเพลินด้วยโลกีย์อยู่นั้น     บรรดาฤาษีหญิงทั้งปวงแลเห็นดาบสหนุ่มรูปงามเดินเข้ามาต่างก็เกิดอารมณ์รักพากันรุมล้อมพูดจายั่วยวนต่างๆ ส่วนพวกฤาษีชายแลเห็นดาบสสินีสาวสวย  ต่างเข้ารุมล้อมเกี้ยวพาราสี จึงทำให้เกิดความหึงหวงกันทั้งสองฝ่าย ถึงกับใส่อารมณ์ทุบตบตีกันชุลมุน วุ่นวาย และประหัตประหารกันเองจนได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส พระอิศวรและพระนารายณ์ต่างกลายร่างกลับคืนตามเดิมพร้อมทั้งกล่าวสั่งสอนให้รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี

     

                ในขณะนั้นได้มียักษ์ค่อมตนหนึ่ง  ชื่อ มุยะละคะ (หรืออสูรมูลาคนี) ได้เข้ามาขัดขวางพยายามจะช่วยเหลือเหล่าบรรดาฤาษีพวกนั้น พระอิศวรจึงลงโทษโดยเอาพระบาทเหยียบยักษ์ตนนั้นไว้ แล้วแสดงท่าทางการร่ายรำด้วยความงดงาม อย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาในโลก เสร็จแล้วพระผู้เป็นเจ้าทั้งสองต่างก็เสด็จกลับ

     

            พญาอนันตนาคราชที่ได้ตามเสด็จมาในคราวนั้น ได้เห็นการร่ายรำของพระอิศวรเกิดความประทับใจชื่นชมใคร่อยากจะเห็นพระอิศวรทรงฟ้อนรำอีก  จึงได้กราบทูลปรึกษาพระนารายณ์ และพระนารายณ์ได้ทรงแนะนำให้พญาอนันตนาคราชไปบำเพ็ญตบะ ถ้าเป็นที่พอพระทัยพระอิศวรก็จะเสด็จมาประทานพรให้ พญาอนันตนาคราชจึงไปนั่งบำเพ็ญตบะที่เขาไกรลาศ ซึ่งเป็นสถานที่ที่        พระอิศวรประทับอยู่   และเพ่งกระแสจิตอย่างแน่วแน่   จนในที่สุดพระอิศวรก็ได้เสด็จลงมา   พญา-อนันตนาคราชจึงกราบทูลความประสงค์แก่พระอิศวร พระองค์จึงได้ประทานพรให้และแสดงท่าทางการร่ายรำต่างๆ   เหมือนครั้งก่อนตามที่พญาอนันตนาคราชทูลขอ   (ซึ่งในปัจจุบันสถานที่นั้นอยู่ที่เมืองจิทัมพรัม แคว้นมัทราษฏร์ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ซึ่งต่อมาราว พ.ศ.1800 ชาวอินเดียได้สร้างเทวสถาน  และได้สลักรูปท่ารำต่างๆ ของพระอิศวรครบ 108 ท่า เรียกว่า "เทวรูปปางนาฏราช"    ไว้   ที่นั้น)                   

     

            ต่อมาพระอิศวรทรงมีประสงค์ ที่จะให้เหล่าบรรดาเทวดานางฟ้าทั้งหลาย ได้เห็นการร่ายรำของพระองค์ จึงประกาศให้ประชุม   เทวสภา  เชิญพระพรหม พระนารายณ์ เทวดานางฟ้า ฤาษี           และคนธรรพ์มาประชุมพร้อมกัน  แล้วพระอิศวรก็แสดงการร่ายรำท่ามกลางที่ประชุมเทวสภาด้วยท่าทางอันสง่าสวยงามเป็นที่นิยมยินดีโดยทั่วกัน และในครั้งนั้นพระนารถฤาษีซึ่งอยู่ในที่นั้นได้จดบันทึกสร้างเป็นตำราการฟ้อนรำขึ้น  ต่อมาพระพรหมได้มีเทวบัญชาแก่พระภรตฤาษี ให้สร้างโรงละครและจัดการแสดงละครขึ้น เมื่อพระภรตฤาษีรับเทวบัญชาแล้ว จึงได้ไปขอร้องให้พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างโรงละครให้ ส่วนพระภรตฤาษีเป็นผู้บัญญัติวิธีการแสดงละครโดยแต่งเป็นโศลกบรรยายท่ารำต่างๆ ของพระอิศวรทั้ง 108 ท่า  ให้รำเบิกโรงด้วยลีลาท่ารำตามโศลกที่ขับเป็นทำนองตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วจับเรื่องใหญ่แสดงเรื่องกวนน้ำอมฤต  ซึ่งตำราการแสดงละครของพระภรตฤาษีนี้มีชื่อว่า นาฏยศาสตร์  บางที่ก็เรียกว่า            ภรตศาสตร์ ตามชื่อของท่านผู้แต่ง (พระภรตฤาษีผู้รจนานาฏยศาสตร์ คนไทยนับถือเป็นปฐมาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์)     

              ศิวนาฏราช (Nataraja) เป็นปางหนึ่งของพระศิวะ เป็นบรมครูของศิลปะการร่ายรำหรือนาฏยศาสตร์ของอินเดีย ความเชื่อว่าการเต้นรำของพระศิวะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของการสร้างโลกและมนุษย์ ศิวนาฏราชจะปรากฏในท่าย่างสามขุม (ตรีวิกรม) ซึ่งเป็น 1 ใน 108 ท่าที่ออกแบบโดยพระศิวะ โดยมีสัญลักษณ์ที่พระกรขวาถือกลองคือการสร้างโลก พระกรซ้ายมีเปลวเพลิงล้อมเป็นกรอบคือการสิ้นสุดที่ไฟจะเผาผลาญโลก พระศิวะได้ทรงพนันกับพระอุมาว่าโลกที่สร้างใหม่แข็งแรงหรือไม่ โดยพระศิวะทรงยืนขาเดียวบนก้อนหินโดยที่ขาต้องไม่ตก ในขณะที่พญานาคแกว่งลำตัววิดน้ำในมหาสมุทรให้สะเทือน พระศิวะทรงชนะ พระองค์ทรงสร้างโลกใหม่ด้วยการเต้นรำบนก้อนหินนั้น ในระหว่างที่ทรงเต้นรำเกิดเปลวไฟและน้ำหลั่งไหลจากพระวรกายกลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต

    นาฏราช (Nataraja) หรือพระศิวะในฐานะของบรมครูองค์แรกแห่งการร่ายรำ พระหัตถ์ขวาด้านบน ทรงถือกลองรูปร่างคล้ายๆ นาฬิกาทราย (เอวคอด) กลองเล็กๆ ใบนี้ให้จังหวะประกอบการฟ้อนรำของพระศิวะ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เสียงกลองเป็นสัญลักษณ์แทนธาตุแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในจักรวาล นั่นคือ กลองเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ทั้งมวล
       พระหัตถ์ซ้ายด้านบน ถืออัคนี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำลายล้าง โดยคำว่า ทำลายล้าง ในที่นี้ หมายถึง ล้างความชั่ว ล้างอวิชชา ให้หมดไป เพื่อเปิดทางการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ พระกรและพระหัตถ์คู่ซ้าย-ขวา ซึ่งแทนการสร้างสรรค์และการทำลายล้างนี้ กางออกไปในระดับเสมอกัน อันบ่งบอกถึงความหมายที่ว่า "มีเกิด ก็ย่อมมีดับ" นั่นเอง
       พระหัตถ์ขวาด้านล่างแบออก เรียกว่า ปางอภัย (abhaya pose) ซึ่งมีความหมายว่า "จงอย่าได้กลัวเลย" (do not fear) เพราะไม่มีภัยใดๆ จะมากล้ำกลาย ท่านี้บ่งว่าพระศิวะเป็นผู้ปกป้องอีกด้วย
       ส่วนพระกรซ้ายด้านล่างพาดขวางลำตัวระดับอก ในลักษณะคล้ายๆ งวงช้าง ซึ่งบางคนตีความว่า เป็นงวงของพระคเณศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ และเป็นบุตรของพระศิวะอีกต่างหาก ปลายนิ้วของพระกรที่เป็นงวงช้างนี้ชี้ไปที่พระบาทซ้ายที่ยกขึ้น มาจากพื้น ก็ตีความกันว่า พระบาทที่ยกขึ้นมานี้บ่งถึงการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร
    ส่วนพระบาทขวานั้นเหยียบอยู่บนอสูรมูลาคนี ซึ่งเป็นตัวแทนของอวิชชา เมื่ออวิชชาถูก 'เหยียบ' ไม่ให้โผล่ขึ้นมาบดบังความจริง ความรู้แจ้ง (วิชชา) ก็จะปรากฏขึ้นนั่นเอง
       วงกลมๆ ที่ล้อมพระศิวะอยู่ก็คือ ขอบเขตแห่งการร่ายรำ อันเป็นตัวแทนของจักรวาลทั้งมวล โดยมีขอบด้านนอกเป็นเปลวไฟ และมีขอบด้านในเป็นน้ำในมหาสมุทร พระศิวะในปางนาฏราชนี้ยังแสดงคู่ตรงกันข้ามกันเช่น กลอง = สร้าง vs ไฟ = ทำลาย แม้พระศิวะจะร่ายรำ ขยับมือ ขยับเท้าและแขนขาอย่างต่อเนื่อง แต่พระพักตร์กลับสงบนิ่งเฉย เหมือนไร้ความรู้สึก ซึ่งเป็นเสมือนการสอนว่า การเกิด-ดับของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่โดยตลอด พระเกศาของพระศิวะยาวสยาย ปลิวสะบัดยื่นออกไปทั้งซ้ายขวา เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ละทิ้งชีวิตทางโลก แต่ก็มีพระคงคาและพระจันทร์เสี้ยวอนเป็นสัญญลักษณ์แห่งเทพสตรีประดับอยู่ด้วย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×