ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    งานศึกษาและวิจัยจากทั่วโลกที่น่าสนใจ

    ลำดับตอนที่ #116 : จับกิ้งกือเป็นแรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.09K
      5
      25 มิ.ย. 51

    จับกิ้งกือเป็นแรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์


    :

    ดินที่ไหนมีกิ้งกือ ต้นไม้งอกงามดีนักแล นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเกณฑ์มาเป็นแรงงงาน

    กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ :  หลังความสำเร็จในระดับโลกจากการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู ติดอันดับ 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก นักวิจัยจากจุฬาฯ เตรียมต่อยอด วิจัยกิ้งกือเป็นโรงงานมีชีวิต ผลิตปุ๋ยชีวภาพจากธรรมชาติ

     ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จากหน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ นำกิ้งกือไปพัฒนาเป็นปุ๋ยอินทรีย์แบบใหม่ โดยให้กิ้งกือทำงานเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาย่อยอินทรีย์สารในดิน

     “จากการตรวจสอบพบว่า มูลของกิ้งกือที่มีลักษณะคล้ายยาลูกกลอนนั้น มีธาตุอาหารเหมือนปุ๋ยทุกประการ และเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ใส่ให้ต้นไม้บริเวณที่บรรดากิ้งกืออาศัยอยู่แล้ว จึงมองเห็นแนวทางที่จะนำกระบวนการมาทำปุ๋ยชีวภาพ” ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว

     งานวิจัยปุ๋ยธรรมชาติจากกิ้งกือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยกิ้งกือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งอาจจะต้องเริ่มทดลองจากปุ๋ยสูตรใดสูตรหนึ่งก่อน และขยายให้ครอบคลุมปุ๋ยหลากหลายสูตร นักวิจัยมั่นใจว่า หากทำได้สำเร็จจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเรื่องของสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้คนทั่วไป

     หน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ดำเนินโครงการวิจัยกิ้งกือ-ไส้เดือนเป็นปีที่ 3 แล้ว ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ สำรวจชนิดและสายพันธุ์ของกิ้งกือในประเทศไทยที่คาดว่า มีมากกว่า 500 สายพันธุ์ รวมถึงการค้นพบกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่มังกรสีชมพู และยังมีอีก 7-8 สายพันธุ์ที่รอการประกาศ

     ปัจจุบัน งานวิจัยอยู่ระหว่างการวางแผนงาน รวบรวมนักวิจัยในโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ ศ.ดร.สมศักดิ์คาดว่าจะเริ่มทำวิจัยการประยุกต์กิ้งกือทำปุ๋ยแบบใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ปีนี้ ด้วยงบประมาณในหลักล้านบาท และคาดว่าจะเห็นปุ๋ยรูปแบบใหม่ในช่วงปี 2552

     "กิ้งกือเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่หลายคนอาจขยะแขยงรูปร่างที่น่าเกลียดของมัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิ้งกือหรือไส้เดือน ล้วนเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ช่วยพรวนหน้าดิน เป็นปุ๋ยธรรมชาติให้แก่ต้นไม้ใบหญ้า ทั้งเขตป่าและเขตบ้าน" นักวิจัยกิ้งกือกล่าวทิ้งท้าย

    ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×