ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเทคนิคการเป็นนักเขียนออนไลน์

    ลำดับตอนที่ #32 : - ความเห็นส่วนตัว: รวมทีมเขียนนิยาย จะแต่งได้ง่ายขึ้นจริงหรือ ? -

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 480
      7
      20 ส.ค. 56

    ความเห็นส่วนตัว: รวมทีมเขียนนิยาย จะแต่งได้ง่ายขึ้นจริงหรือ ?

     

    เจอค่อนข้างมากกับมือใหม่หลายคน ที่คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถในการแต่งนิยายจนจบได้ เลยพยายามจะหาคนอื่นเพื่อมารวมทีมกันแต่งนิยายเรื่องใหม่จนจบกันให้ได้ แต่... มันจะเป็นไปดั่งที่หวังแน่หรือ ? ลองมาดูกันว่ามีอะไรจะทำให้เกิดปัญหาได้บ้างกับการที่จะรวมทีมแต่งนิยาย

    ต้องการคิดแค่ไอเดีย แต่เวลาแต่งจะให้คนอื่นทำ – เจอค่อนข้างมากกับการที่มือใหม่หลายคนคิดว่าตัวเองมีไอเดียที่ดีแต่ไม่มีฝีมือพอในการแต่งนิยายเลยจะให้คนอื่นมาช่วยเขียนส่วนการดำเนินเรื่องให้ตัวเอง โดยจุดนี้ต้องขอถาม ทำไมถึงคิดว่าคนอื่นจะมาช่วยเขียนให้ตัวเอง ? ในเมื่อเขาสามารถเขียนนิยายได้ การจะหาไอเดียมาเขียนไม่น่าจะใช่ปัญหาของคนผู้นั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะการจะหาไอเดียมาเขียนไม่ใช่เรื่องที่ยาก หากเป็นการเขียนจริงและหาไอเดียสนับสนุนมาต่อยอดไอเดียหลักเพื่อให้สามารถเขียนได้จริงต่างหากจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า การที่คิดว่าตัวเองคิดแค่ไอเดียส่วนคนอื่นจะเขียนให้คือสิ่งที่ผิดมาแต่ต้น ความสัมพันธ์แบบนี้คือรูปแบบของเจ้านาย-ลูกน้อง อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่ากรณีนี้จะเป็นไปไม่ได้แต่อย่างใดหากอีกฝ่ายได้รับผลตอบแทนที่คิดว่าคุ้มค่ากับความพยายามของเขา

    บอกว่าเป็นคู่หู แต่แท้จริงทำแบบอีกฝ่ายเป็นเหมือนลูกน้อง – เวลาหลายคนจะหาคนมาร่วมทีม หลายคนมักจะบอกว่าอีกฝ่ายเป็นคู่หู แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่ตัวเองทำต่อคนอื่นกลับเป็นเพียงลูกน้องเพียงเท่านั้น เพราะเป็นคู่หูคือการที่ให้อีกฝ่ายเท่าเทียมกับเรา แต่หลายคนกลับไม่ได้ปฏิบัติหรือต้องการให้อีกฝ่ายทำเช่นนั้น หากต้องการให้อีกฝ่ายช่วยแต่สิ่งที่ตนเองไม่ชอบ ไม่ถนัด และไม่อยากทำเพียงเท่านั้น ส่วนที่ถนัดและอยากจะทำก็จะเก็บไว้ทำเพียงคนเดียว ซึ่งรูปแบบนี้คือลูกน้องไม่ใช่คู่หู เพราะอีกฝ่ายไม่จำเป็นว่าจะต้องถนัดหรืออยากทำสิ่งที่ตรงข้ามกับเรา เป็นไปได้สูงที่เขาเก่งและอยากทำเรื่องเดียวกับเรา การหวังว่าจะให้อีกฝ่ายมากลบช่องโหว่หรือจุดอ่อนของเรา คือความสัมพันธ์แบบเจ้านาย-ลูกน้อง ไม่ใช่แบบคู่หู ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้จะทำให้ความทุ่มเทต่อการร่วมแต่งของอีกฝ่ายลดลงไปได้ อย่างไรก็ตามรูปแบบคู่หูแม้จะดูดีกว่ารูปแบบเจ้านาย-ลูกน้อง แต่ก็ใช่รูปแบบความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เพราะความสัมพันธ์แบบนี้จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งที่ค่อนข้างง่าย ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือรูปแบบ หรือผู้แต่ง-ผู้ให้คำปรึกษา ทว่าแบบนั้นอาจจะไม่เข้าข่ายการรวมทีมให้มาช่วยกันแต่งได้ เพราะแค่ให้คนอื่นอ่านแล้วขอความคิดเห็นจากคนผู้นั้นกลับมาก็ได้รูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้แล้ว

    บอกว่ามาให้ช่วย แต่ไม่คิดไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายจะได้อะไร หากคิดเพียงแค่ตนเองจะได้อะไร – เป็นเรื่องที่เจอบ่อยเวลาที่มือใหม่พยายามจะหาคนอื่นมาช่วยแต่ง หากความสัมพันธ์ฉันท์คู่หู หรือผู้แต่ง-ผู้ให้คำปรึกษา จะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ เพราะความสำเร็จของนิยายคือความสำเร็จของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน แต่หากมี ความสัมพันธ์แบบเจ้านาย-ลูกน้องเมื่อไหร่จะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที เพราะถึงจะได้ชื่อว่าร่วมเขียน แต่ในใจก็คงไม่คิดเช่นนั้น เพราะการถูกปฏิบัติแบบลูกน้องจะทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกว่าผลงานเป็นของตนเอง อีกทั้งสิ่งที่ตนเองทำก็ยังลงทุนลงแรงมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งหากคิดในมุมกลับ ถ้าเขาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ก็จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของเรื่องแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นเพียงแค่ลงทุนลงแรงเพิ่มอีกนิดหน่อยก็จะได้ผลประโยชน์จากเรื่องที่ลงแรงเขียนอย่างเทียบกว่าไม่ได้ แล้วแบบนี้อีกฝ่ายจะมาช่วยเราทำไม ? ดังนั้นเราจึงต้องคิดว่าผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับต้องมากกว่าสภาพปรกติที่เขาจะลงแรงทำเอง ไม่เช่นนั้นก็คงยากที่จะหาคนมาช่วย

    หากให้คิดไอเดียร่วมกัน จะเลือกยังไงว่าจะใช้ไปเดียของใคร – เกิดได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ซึ่งหลายเรื่องไม่มีผิดมีถูก และไม่มีทางรู้ได้ว่าไอเดียใครน่าสนใจมากที่สุดจนกว่าจะลงมือเขียนจริง อีกทั้งแม้จะรู้ว่าไอเดียของเราเหมาะสมและดีที่สุดแต่มือใหม่หลายคนก็ไม่อาจสื่อหรือนำเสนอออกมาได้ว่าที่คิดอยู่ในใจนั้นมันดีและเหมาะสมอย่างไร ทำให้ยากที่จะตัดสินได้ว่าไอเดียของใครดีกว่าของใคร โดยจะยิ่งมีปัญหามากขึ้นหากผู้ที่เสนอไอเดียมีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของและทุ่มเทกับนิยายที่แต่งมาก เพราะคนผู้นั้นย่อมอยากจะให้ไอเดียของตนเองมีอยู่ในเรื่องมากขึ้นอย่างแน่นอน การถูกปฏิเสธจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ง่าย กลับกันหากมีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของและทุ่มเทให้กับนิยายที่ต่ำก็จะทำให้คนผู้นั้นผละจากนิยายที่กำลังแต่งได้ง่ายดายมากขึ้น ซึ่งการจะให้แต่ละฝ่ายสามารถเสนอไอเดียได้อย่างสมน้ำสมเนื้อและเหมาะสมได้มากที่สุดก็สมควรที่ทุกคนต้องสนิทชิดเชื้อที่มากในระดับหนึ่ง หากไม่เช่นนั้นแล้วความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ง่าย โดยแม้จะไม่แสดงออกมาแต่เพียงแค่เกิดขึ้นในใจก็จะทำให้คนผู้นั้นผละจากเรื่องที่แต่งได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

    หากร่วมกันเขียน จะทำยังไงให้สำนวนการเขียนนั้นเหมือนกัน – อาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่สนว่าสำนวนของทั้งเรื่องจะต้องเหมือนกัน (ซึ่งอาจทำให้คนอ่านสะดุด และสนพ.มีโอกาสไม่รับตีพิมพ์ได้สูง) ทว่าหากสนใจในเรื่องนี้ เรื่องการเกลาสำนวนของแต่ละคนให้เหมือนกันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากอย่างแน่นอน เพราะผู้ที่ทำเช่นนั้นได้ต้องมีฝีมือในระดับหนึ่ง และถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีเทคนิคการเขียนที่แตกต่างและมีฝีมือที่ห่างชั้นกันมากก็จะทำให้การเกลาสำนวนเป็นไปได้อย่างยากเย็นยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ฝ่ายที่มีฝีมือสูงกว่าจะต้องเป็นผู้ลงมาเกลาสำนวนทั้งหมดแทน ซึ่งอาจทำให้คนผู้นั้นมองว่าเป็นผู้ที่เขียนนิยายทั้งหมดโดยตัวเองได้ อันอาจจะทำให้ความรู้สึกไม่เท่าเทียมในผลประโยชน์ที่ได้รับจากนิยายที่ร่วมกันแต่งเกิดขึ้นตามอย่างแน่นอน

    จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้การร่วมทีมแต่งนิยายกัน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ง่ายอย่างที่เข้าใจกันอีกต่อไป เพราะการร่วมทีมต้องการใช้ความสามารถและฝีมือในการเขียนนิยายรวมถึงการจัดการอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเขียนนิยายเพียงคนเดียวเสียอีก หลายคนหวังว่าเพื่อนร่วมทีมคือลูกน้องคือผู้ที่จะมาอุดช่องโหว่ให้กับตนเอง แต่แท้จริงแล้ว ฝ่ายเราเองต่างหากที่อาจจะต้องใช้ฝีมือที่มีไปอุดช่องโหว่ให้กับผู้อื่น ดังนั้นความสามารถที่มีของเราจึงต้องมากกว่าตอนที่เขียนคนเดียวเสียอีก ยังไม่รวมถึงความสามารถในการควบคุมคนเพื่อให้ร่วมงานไปอย่างลุล่วงได้

    ด้วยเหตุนี้ หากต้องการจะให้คนมาช่วยในสิ่งที่เป็นจุดด้อยของเรา บางทีการรวมทีมแต่งนิยายอาจจะไม่ใช้ทางออกที่ถูกต้อง แค่หาคนมาเป็นที่ปรึกษาและขอคำแนะนำจากโดยไม่ต้องผูกมัดอีกฝ่ายให้ร่วมแต่งไปกับเราจนจบน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า

    สรุป: อย่าหวังว่าการร่วมทีมกันแต่งจะทำให้แต่งนิยายได้ง่ายขึ้น บางทีอาจจะทำให้แต่งได้ยากขึ้นอย่างนึกไม่ถึงแทนเอาได้

    ................

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×