ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเทคนิคการเป็นนักเขียนออนไลน์

    ลำดับตอนที่ #25 : - แนะ: การพูดและรับฟังคำวิจารณ์ที่ดี -

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 780
      4
      8 มิ.ย. 55

    – แนะ: การพูดและรับฟังคำวิจารณ์ที่ดี

     

    เป็นเรื่องปรกติ ที่การแสดงผลงานของตัวเองสู่ที่สาธารณะย่อมจะได้รับการวิจารณ์กลับมา ซึ่งสิ่งนี้หลายคนมักจะเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้เพื่อล่วงรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตนเองได้ แน่นอนว่าหลายคนก็ไม่ยอมรับคำวิจารณ์เนื่องจากคิดว่ามันเป็นการคุกคามผลงานตัวเอง กลับกันบางคนก็คิดว่าการวิจารณ์ล้วนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และควรรับฟังเอาไว้เสมอ แต่ทั้งสองอย่างล้วนแต่ผิดและถูกทั้งคู่ เพราะบางอย่างสมควรที่จะรับฟังไว้ แต่บางอย่างก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแม้จะเก็บมาคิดด้วยเช่นกัน

    สำหรับปัจจุบันในเว็บเด็กดีนี้ มีสำนักวิจารณ์เปิดให้บริการกันอย่างมากมาย ทว่าสำนักวิจารณ์เหล่านั้นหลายต่อหลายสำนักก็ยังถือได้ว่าเป็นมือใหม่ที่ขาดทั้งความสามารถและหลักการที่ถูกในการวิจารณ์เป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นบทความนี้จะแนะถึงหลักในการวิจารณ์ผู้อื่นรวมไปถึงการรับฟังคำวิจารณ์ที่ดี โดยเริ่มแรกจะขอเสนอเกี่ยวกับหลักหรือข้อสังเกตเกี่ยวกับการวิจารณ์ที่ไม่ดีก่อน เพื่อที่จะได้ใช้เป็นแนวทางทั้งรับฟังและทำการวิจารณ์ได้อย่างเหมาะสม

    การวิจารณ์ที่ไม่เหมาะสมมีดังต่อไปนี้

    ใช้สำนวนหรือภาษาที่ผิดหลัก – การจะวิจารณ์ผู้อื่นแปลว่าจะต้องมีความเข้าใจและตั้งใจในสิ่งที่วิจารณ์ในระดับหนึ่ง การใช้สำนวนหรือภาษาที่ผิดหลักอาจแปลได้ว่าผู้วิจารณ์ขาดความรู้และความใส่ใจที่เพียงพอ

    ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมก้าวร้าวหยาบคาย – การวิจารณ์คือการแนะนำหรือแสดงความเห็น ไม่ใช่การไปหาเรื่องทะเลาะ การใช้คำที่ดูก้าวร้าวหยาบคายจึงสมควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

    ทำตัวเป็นผู้รู้หรือยกตัวเองให้สูงกว่า – เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ การวิจารณ์หาใช่การทำให้เชื่อด้วยคุณวุฒิหรือวัยวุฒิ หากเป็นการให้เชื่อด้วยข้อมูลที่พูด การที่ทำตัวเป็นผู้รู้หรือยกตัวเองให้สูงกว่าจะเป็นการชวนให้อีกฝ่ายเชื่อในตัวผู้วิจารณ์มากกว่าคำวิจารณ์ มันจึงไม่ใช่การวิจารณ์ที่ดี อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้อื่นหมั่นไส้เอาได้

    อวดรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจจริง – อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ในปัจจุบันมีการสืบทอดความรู้ที่ผิดมากันมาก และหลายครั้งก็ผ่านการแนะนำและการวิจารณ์ ดังนั้นหากจะแนะนำอะไรก็ให้ค้นคว้าจนมั่นใจว่าสิ่งนั้นถูกจริง ๆ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่ควรอวดรู้สิ่งนั้นเพื่อให้อีกฝ่ายเชื่อ หากสมควรจะเป็นการแนะนำให้อีกฝ่ายไปค้นหาข้อมูลต่อ ทว่าการโยนหน้าที่หาข้อมูลทั้งหมดให้กับผู้ถูกวิจารณ์ก็ไม่ใช่สิ่งสมควร หากจะพูดแล้วก็ควรจะแนะนำส่วนที่รู้ออกไปบ้าง ถ้าไม่เช่นนั้นหลีกเลี่ยงการพูดถึงให้น้อยที่สุดจะดีกว่า

    เปรียบเทียบกับผลงานของตนเอง – เรื่องนี้สามารถมองได้หลายแง่มุม อันดับแรกมันเหมือนกับการยกตัวเองให้สูงกว่าอีกฝ่าย หรือไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นไปได้ที่ผู้วิจารณ์จะไม่ตระหนักถึงข้อด้อยของผลงานตนเอง การเอาผลงานตนเองมาเปรียบเทียบจึงมีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดผลในเชิงลบมากกว่าผลในเชิงบวก

    มีอคติกับตัวคนแต่งหรือสิ่งที่เขียน – สิ่งนี้ก็เป็นปัญหาที่สำคัญ การมีอคติก็เหมือนกับการปักธงไว้แล้วว่าจุดจบของสิ่งที่กำลังจะทำจะต้องลงเอยในทางนั้น เช่นไม่ชอบหน้าคนแต่ง คนวิจารณ์ก็จะหาทางติอย่างเดียวโดยไม่มีคำชม เช่นกันกับผลงานที่วิจารณ์ หากมีอคติแล้วยังไงก็จะหาข้อเสียมากกว่าข้อดี หากรู้ตัวว่ามีอคติกับสิ่งที่จะวิจารณ์ก็ควรจะหลีกเลี่ยงเสีย

    ใช้รสนิยมส่วนตัวมาเป็นตัวตัดสิน – เป็นปัญหาที่พบเจอมากในนักวิจารณ์มือใหม่จวบกระทั่งรุ่นเก๋า เพราะหลายคนแยกไม่ออกระหว่างรสนิยมกับข้อเท็จจริง ซึ่งรสนิยมนั้นคือความชื่นชอบที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้นการวิจารณ์โดยใช้รสนิยมส่วนตัวมาตัดสินจึงไม่มีวันถูก อย่างไรก็ตามหากจะใช้รสนิยมมาตัดสิน สิ่งนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง เช่นมีผลวิจัยเชิงสถิติว่าคนส่วนใหญ่ชอบแบบนี้มากกว่า นั่นจึงสามารถจะใช้รสนิยมมาแนะนำได้

    คาดคั้นให้ทำตาม – อีกสิ่งที่เจอบ่อย หลายคนคิดว่าผู้วิจารณ์คือพระเจ้า เมื่อวิจารณ์ไปแล้วผู้ถูกวิจารณ์ต้องทำตามอยู่เสมอ นั่นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะหลายอย่างไม่มีถูกผิด การไปคาดคั้นให้ทำตามจึงมีโอกาสที่ทั้งผิดและถูก ทั้งยังไม่ได้เป็นการฝึกให้ผู้เขียนมีวิจารณญาณ ดังนั้นการบังคับว่าให้ทำตามที่วิจารณ์จึงไม่สมควรเกิดขึ้น และควรที่จะแนะนำแล้วให้ผู้เขียนตัดสินใจต่อเองจะดีกว่า

    วิจารณ์ผิดประเด็นหรือผิดมาตรฐาน – นี่ก็เป็นสิ่งที่พบเจอได้เช่นกัน เพราะผลงานแต่ละชิ้นใช่ว่าจะมีแค่เพียงรูปแบบเดียว นิยายเองก็ยังมีหลายแนว และแต่ละแนวก็มีรูปแบบการเขียนที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นแนววัยรุ่นจะใช้คำบรรยายที่สั้นและกระชับ ส่วนแฟนตาซีจะยาวและดูอลังการกว่า ซึ่งหากจับแนวผิดจะกลายเป็นว่าให้คำแนะนำที่ผิดเพี้ยนไปในทันที ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้วิจารณ์ที่จะต้องตระหนักว่าผลงานของผู้เขียนนั้นกำลังใช้มาตรฐานไหนแนวใด และประเด็นที่ต้องการคำวิจารณ์คือสิ่งไหน หากไปวิจารณ์คนละเรื่องจะทำให้ผู้รับวิจารณ์มีแต่โทษโดยไม่มีประโยชน์

    ตำหนิโดยปราศจากการเสนอแนะ – อีกสิ่งที่ทำให้นักวิจารณ์ที่ดีแตกต่างจากนักวิจารณ์ทั่วไป เมื่อมีการติว่าสิ่งไหนไม่ดีแล้วก็ควรจะนำเสนอว่าหนทางที่แก้ไขข้อผิดพลาดนั้นควรเป็นอย่างไร เพราะหากไม่มีคนเขียนก็ยากที่จะแก้ไขในจุดนั้นได้ เพราะหากว่ารู้ว่ามีทางแก้ก็คงจะไม่ทำอย่างที่ให้ถูกวิจารณ์ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม การเสนอแนะนี้ต้องไม่ใช่การบีบบังคับหรือการจำกัดทางเลือก หากต้องเป็นการแนะนำในมุมเปิดที่สามารถให้ผู้เขียนสามารถหาทางแก้ไขได้ในหลายทาง

    สำหรับส่วนการวิจารณ์ที่ไม่เหมาะสมก็จบลงไป ต่อไปคือส่วนของนักเขียนที่จะใช้ในการเลือกได้ว่าคำวิจารณ์ไหนสมควรจะรับฟังหรือไม่อย่างไร

    การรับฟังคำวิจารณ์ที่เหมาะสมมีดังต่อไปนี้

    อย่าดูที่ตัวคนหรือผลงาน ดูแค่คำวิจารณ์ – เรื่องนี้คืออคติและความหลงผิดประเภทหนึ่ง เพราะแต่ละคนล้วนแต่มีความถนัดเป็นของตนเอง บางคนอาจจะถนัดการเขียนแต่ไม่ถนัดการวิจารณ์ หรือไม่บางคนอาจจะสลับกัน ดังนั้นการที่ดูที่ตัวคนหรือผลงานของผู้วิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้เขียนหลงผิดในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ได้ ดังนั้นดูแค่สิ่งที่อีกฝ่ายวิจารณ์เพื่อตัดสินใจว่าสมควรเชื่อหรือไม่

    ความรู้ที่ได้มา นำไปตรวจสอบด้วยเสมอ – หลายครั้งความรู้ผิด ๆ ก็ถูกส่งต่อมาจากคำแนะนำของผู้หวังดี ดังนั้นก่อนที่จะเชื่อและนำความรู้ของใครไปใช้ต่อ ตรวจสอบมันก่อนเสมอ หากไม่เช่นนั้นแล้วก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้ตรงนั้นลงไปเสีย

    ดูว่าคำวิจารณ์นั้นมาจากอคติหรือรสนิยมส่วนตัวหรือไม่ – เรื่องอคติกับรสนิยมส่วนตัวเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบให้ดี เพราะสิ่งเหล่านี้ไร้เหตุผลอย่างร้ายกาจ การรับฟังคำวิจารณ์ในส่วนที่เกิดจากอคติกับรสนิยมส่วนตัวจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดที่แย่ลงกว่าเดิมเพียงเท่านั้น

    คำวิจารณ์นั้นแนะนำถูกประเด็นถูกมาตรฐานหรือเปล่า – คล้ายกับข้อบน ส่วนนี้ต้องพิจารณาให้ดีว่าอีกฝ่ายวิจารณ์ได้ถูกประเด็นและใช้มาตรฐานเดียวกับที่เราเขียนนิยายอยู่หรือเปล่า หากไม่ใช่แล้วก็ไม่ควรที่จะรับฟังหรือทำตาม ตัวอย่างเช่นคนเขียนต้องการวาดภาพด้วยสีขาวดำ แต่จู่ ๆ ก็มีคนวิจารณ์ว่าภาพที่วาดมันดูหม่นหมองไปควรจะเพิ่มสีสันลงไปหน่อย หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรจะไปเชื่อ

    จำเป็นต้องทำตามคำวิจารณ์นั้นแค่ไหน – สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการวิจารณ์ไม่มีถูกหรือผิด หากมีแต่ถูกต้องมากที่สุดในบริบทนั้นและช่วงเวลานั้นเพียงเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนเองที่ต้องเลือกว่าควรจะเชื่อสิ่งใดหรือไม่เชื่อสิ่งใด เพราะหากทำตามมาทั้งหมดก็อาจจะเกิดความเสียหายได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้การวิจารณ์จึงไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากผู้เขียนไม่พัฒนาฝีมือตนเองจนเข้าใจถึงความเหมาะสมในการรับฟังคำวิจารณ์นั้นได้อย่างเหมาะสมเสียก่อน

    สรุป: คำวิจารณ์มีทั้งเชื่อถือได้และไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับฟังต้องเลือกคำวิจารณ์ไปใช้ให้ถูก อย่างไรก็ตามแม้คำวิจารณ์จะเลิศเลอแค่ไหน แต่หากผู้รับฟังยังมีประสบการณ์ไม่มากพอก็อาจจะไม่เข้าใจคำวิจารณ์นั้นได้อยู่ดี ยังไม่รวมถึงไปบังคับให้คนอ่านมาวิจารณ์ และเมื่อไม่เต็มใจจะวิจารณ์ หรือไม่มีฝีมือการวิจารณ์แต่ต้องวิจารณ์ ดังนั้นคำวิจารณ์ที่ได้ก็ยิ่งไม่อาจชี้จุดเด่นจุดด้อยของเราได้ ดังนั้นอย่ามัวแต่รอคำวิจารณ์ พัฒนาฝีมือไปก่อนจึงจะดีที่สุด

    ................

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×