คนไทยนั้นมีความสามารถเฉพาะตัวในแบบที่เรียกว่า เก่งคนเดียว ดังจะเห็นว่าใครก็ตามที่สร้างชื่อเสียงให้ไทยไม่ว่าจะอยู่ในสารบบไหนก็เก่งแบบ ข้ามาคนเดียว กันทั้งนั้น ดูอย่างภราดร ศรีชาพันธ์ แชมป์เทนนิสชายเดี่ยว (ขณะที่กองบรรณาธิการปิดต้นฉบับอยู่นี้ เขาเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นมือวางอันดับ 10 ของโลกประเภทชายเดี่ยวแล้ว) แต่ถ้าใครเคยชมการแข่งขันประเภทคู่ของภราดร ก็จะทราบว่าฟอร์มการเล่นนั้นออกจะแย่อยู่บ้าง หรือกีฬาที่ต้องเล่นคนเดียวอย่างมวยสากลสมัครเล่น ไทยก็คว้าแชมป์โลกไปครองแล้วหลายคน
แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ต้องเล่นร่วมกันเป็นทีม นี่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไทย ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะผ่านหูผ่านตากีฬาเจ๊ตสกีทีมไทยนำโดยนาคร ศิลาชัย คว้าแชมป์โลกมาแล้ว หรืออย่างเซปักตระกร้อนั่นก็ใช่ (แม้ทีมจะเล่นกันเพียง 3 คน) แต่ข่าวคราวเช่นนี้ไม่มีให้ชื่นใจกันบ่อยนัก
ที่พูดถึงทีมก็เพราะสมัยนี้การทำธุรกิจใดๆ ให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัย ทีม กันทั้งนั้น ที่สำคัญยิ่งกว่าการมีทีมก็คือ การทำงานเป็นทีม เพราะองคาพยพของหน่วยงาน ของโครงการ หรือแม้แต่การผลิตสินค้าแต่ละชนิดก็เกิดจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม หมายความว่า แต่ละคนในองค์กรนั้นคือเฟืองสำคัญเท่าๆ กันที่จะผลักดันให้การดำเนินงานใดๆ บรรลุผล ถ้าเผื่อว่าเฟืองตัวใดตัวหนึ่งเกิดขี้เกียจ เห็นว่าส่วนงานรับผิดชอบของตนเองนั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยที่ไม่น่าจะกระทบกับเฟืองอื่นในองค์กร การทำงานเป็นไปแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง อย่างนี้ย่อมเกิดความบกพร่องใน work flow ของงานแน่นอน
แล้วถ้าเฟืองที่คิดเช่นนั้นมีมากกว่า 1 หรือ 2 เฟือง แถมบางครั้งลามไปเป็นทั้งฝ่ายงานเล่า อะไรจะเกิดขึ้นกับองค์กรทั้งหมด !!!
การสร้างทีมของผู้นำองค์กรจึงมีความสำคัญมาก ถ้าเชื่อว่า หัวหน้าทีมเก่งก็ย่อมจะทำให้ทีมนั้นทำงานไปได้อย่างราบรื่น อย่างนี้แสดงว่าผู้นำองค์กรนั้นยังไม่ถ่องแท้ในเรื่องของการทำงานเป็นทีม เพราะแท้จริงในกระบวนวิธีการทำงานนั้น เฟืองในทีมทุกตัวจะต้องรู้บทบาท และรับผิดชอบทำหน้าที่ของตนเองอย่างขะมักเขม้น เพื่อผลักดันให้การทำงานใดๆ นั้นเดินหน้าไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ส่วนหัวหน้านั้นเป็นเพียงผู้ควบคุมการทำงานของทีมให้อยู่ในทิศทางที่จะไปสู่เป้าหมายขององค์กร
ดังนั้นความสามารถของเฟืองแต่ละตัวจึงเป็นเรื่องที่ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องทำความเข้าใจ รู้จักใช้ รู้จักรักษา เฟืองบางตัวมีสนิม ประสิทธิภาพการทำงานออกจะฝืดไปสักนิด ก็ต้องใช้กระดาษทรายและน้ำมันขัดสนิมออกเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ เฟืองบางตัวทำงานมาอย่างหนักก็ต้องหยอดน้ำมันสร้างความกระชุ่มกระชวยให้บ้าง หรือเฟืองบางตัวอาจหลุดจากตำแหน่งไปขัดหรือบั่นทอนการทำงานของเฟืองตัวอื่นๆ ผู้นำก็ต้องหยิบเฟืองนั้นออกมาประจำในที่ทางของมัน หรือบางกรณีอาจต้องตัดสินใจนำเฟืองสภาพดีบางตัวออกไปจากระบบงานด้วยซ้ำ ! หากพบว่าเฟืองนั้นกำลังทำตัวเป็นหนอนบ่อนไส้
ในทำนองเดียวกัน ใครที่อยู่สถานะของเฟืองก็ควรจะต้องรักษาบทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด และควรทราบว่างานที่ตนรับผิดชอบนั้นย่อมส่งผลกระทบไปถึงงานรับผิดชอบของเฟืองตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ความเข้าใจเช่นนี้ควรเกิดขึ้นกับทุกคนในทีมงานรวมทั้งหัวหน้างานและผู้นำองค์กร
CEO ใหญ่ 2 รายอย่างบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ และธนินท์ เจียรวนนท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ย้ำนักย้ำหนาว่า Team work นั้นสำคัญมากในการทำธุรกิจในสหัสวรรษนี้ ยิ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเดินรุดหน้าอย่างทุกวันนี้
คงไม่ใช่แค่องค์กรขนาดยักษ์เท่านั้นที่ต้องการ การทำงานเป็นทีม อย่างสมบูรณ์ที่สุด เพราะถ้าธุรกิจต้องวิ่งแข่งขัน ทีมงานก็ต้องวิ่งด้วยก้าวที่พร้อมเพรียงกัน ทีมงานกับการทำงานเป็นทีม มีความสำคัญกับธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด
ที่มา : จาก นิตยสาร MBA
เจ้าของบทความ : ศศรส พิมายกลาง
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น