ประวิตร โรจนพฤกษ์
ถึงแม้สาธารณชนจำนวนมากโดยเฉพาะคนชั้นกลาง และชนชั้นนำเก่า จะขานรับการปฏิวัติยึดอำนาจโดยการใช้กำลังเมื่อคืนวันอังคาร (19 ก.ย.49) อย่างอบอุ่น แต่ก็ไม่มีหลักประกันอันใดว่า การทำรัฐประหารจะไม่สร้างปัญหามากกว่าแก้
ผู้นำรัฐประหารอ้างว่า ต้องการแก้ปัญหา ‘ระบอบทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า โกงกินและรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เปลี่ยนแปลงรัฐไทยเป็นรัฐตำรวจ แต่การแก้ปัญหาด้วยกระบอกปืนและรถถัง ย่อมเป็นการกระทำผิดซ้ำซ้อนที่น่าจะสร้างปัญหามากขึ้น
ในคืนวันอังคารที่ 19 กันยายน สังคมไทยได้ถูกผลักโดยกระบอกปืน จากสภาพสังคมที่กำลังกลายเป็นรัฐตำรวจที่ปกครองโดยกลุ่มธุรกิจการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จภายใต้ระบอบทักษิณ ไปสู่สภาพการกลายเป็น ‘รัฐทหาร’ ที่มีการบังคับผู้คนด้วยปากกระบอกปืนและรถถัง
ถึงแม้กลุ่มผู้นำรัฐประหารจะนำเอาคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ มาประกอบชื่อของกลุ่มตน โดยเรียกชื่อตนเองว่า ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ แต่ย่อมเห็นได้ว่า การกระทำรัฐประหารนั้น มิมีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะพวกเขาเลือกใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการที่จะแก้ปัญหาประเทศให้เป็นประชาธิปไตย
ณ วันนี้ สถานะสังคมไทยนั้น ชัดเจนแล้วว่า เป็นสังคมประชาธิปไตยที่ล้มเหลว (failed democracy) เพราะว่าสังคมส่วนใหญ่รวมทั้งสื่อส่วนใหญ่ ยอมรับและเชื่อว่า นี่คือการแก้ปัญหาทางเดียวที่ทำได้
สื่อไทยเกือบทั้งหมด นอกจากมิได้พยายามปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองแล้ว พวกเขากลับยอมรับ หรือแม้กระทั่งเห็นดีหรือสนับสนุนผู้กระทำการนอกกฎหมาย ล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยกระบอกปืน พวกเขากำลังเล่นบทบาทสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มปฏิวัติผู้กระทำการนอกกฏหมายโดยการใช้กำลังล้มล้างรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือว่าเป็นความล้มเหลวของสื่อมวลชนไทยโดยรวมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเกลียดชังทักษิณเสียจนเชื่อว่า ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ทักษิณออกไปก็พอ
มิหนำซ้ำพวกเขา ซึ่งรวมถึงนักหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ กำลังสวมบทบาทสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มปฏิวัติทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยบอกกับสาธารณชนว่า การกระทำรัฐประหารนั้น นอกจากเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ควรแก่การยอมรับและยกย่องว่าดีงาม
เพราะฉะนั้น คืนวันอังคารที่เกิดการยึดอำนาจ สื่อไทยได้ถูกผลักจากการอยู่ในสภาพที่ถูกคุกคามโดยรัฐธุรกิจ-ตำรวจของทักษิณโดยวิธีการแยบยลต่างๆ ไปสู่การถูกควบคุมโดยกระบอกปืนของทหารที่ยึดอำนาจและกำลังทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ผู้มีอาวุธและอำนาจไม่ต้องฟังเสียงอันแตกต่าง ดังเห็นได้จากคำสั่งของคณะปฏิรูปฯที่ควบคุมโทรทัศน์ อินเตอร์เนท การแสดงความเห็นทางเวบบอร์ด และปิดวิทยุชุมชนที่พวกเขาเชื่อว่า สนับสนุนนายทักษิณผู้เป็นทรราชย์ ข่าวจากต่างประเทศทางโทรทัศน์ เช่นบีบีซี และซีเอ็นเอ็น ก็ถูกปิดกั้นใน 3 วันแรก โดยที่ทางสถานียูบีซีที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดถูกบังคับให้ทำตาม
ทุกคนคงทราบดีว่า ทักษิณนั้นถือว่า สื่อใดก็ตามที่วิจารณ์พรรคไทยรักไทยและรัฐบาลไทยรักไทยนั้นไม่ต่างจากศัตรู และพยายามคุกคาม แทรกแซง ทำลายในทุกวิถีทาง มาวันนี้พวกผู้นำทหารและแม้กระทั่งนักข่าวและบรรณาธิการจำนวนไม่น้อยกลับมีความคิดมิต่างจากทักษิณ โดยเชื่อว่า ไม่ควรมีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทหารที่ยึดอำนาจ เมื่อใดก็ตามที่นักข่าว และบรรณาธิการเริ่มคิดเหมือนทหารหรือทักษิณในแง่ของการยอมรับความเห็นต่างไม่ได้ มันย่อมเป็นดรรชนีชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยที่เป็นสังคม ‘ประชาธิปไตยล้มเหลว’ พวกคนเหล่านี้เชื่อว่าสาธารณชนนั้นขาดซึ่งวุฒิภาวะในการคิดตัดสินใจด้วยตนเอง จึงพยายามปิดกั้นความคิดเห็นต่าง ไม่ยอมรับการถกเถียงอย่างเปิดเผยและเสรีในที่สาธารณะ
ดูเหมือนสื่อ (และแม้แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนไทยจำนวนไม่น้อย) กำลังให้เวลาฮันนีมูนกับกลุ่มเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการยอมรับความไม่ชอบธรรมของผู้ที่ใช้กำลังอาวุธเข้าตัดสินปัญหา
สำหรับสื่อแล้ว นี่ถือได้ว่าเป็นการกระทำอัตวิบาตกรรมทางวิชาชีพ ในขณะที่ประชาคมโลกกำลังตกตะลึงถึงความอ่อนด้อยทางวัฒนธรรมประชาธิปไตยของคนไทย สื่อได้เลือกที่จะแปลงตนเองกลายเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มทหารนอกกฎหมาย และถึงแม้ว่าเรามิอาจจะรู้ได้ว่า การควบคุมสื่ออย่างไร้ความชอบธรรมจะมีมากขึ้นหรือดำรงอยู่อีกต่อไปนานเพียงใด แต่ผลกระทบต่อคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีผลไปในทางการปลูกฝังความเชื่อที่ว่า การใช้อำนาจและกำลังอาวุธในการแก้ปัญหาเป็นวิธีที่เลิศสุดในการหาทางออกของสังคมกำลังเกิดขึ้นแล้ว
หนทางจากนี้ไป ย่อมนำไปสู่สังคมที่ศิโรราบต่อผู้ใดก็ตามที่มีกำลังมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ที่มา : isolate_pantip
เจ้าของบทความ : ประวิตร โรจนพฤกษ์
ความคิดเห็น