ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Judge Games เกมล้างแค้นกรรมการ

    ลำดับตอนที่ #31 : {บทสับคืน} โดย ท่านเซ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 42
      0
      19 พ.ย. 56

     

     

    เขาบอกมีสับคืนด้วยแน่ะ

     

    ผมสตั๊นท์ไปแป๊บตอนรับรู้ แล้วก็เออออไป ด้วยยังจินตนาการไม่ถึงว่ามันจะซับซ้อนกว่าการสับปกติถึงเพียงนี้ อย่างไรก็ตาม ผมก็ค่อยๆ เรียบเรียง จนได้ออกมาเป็นเรื่องที่อยากบอกท่านกรรมการทุกท่าน แยกเป็นรายหัวข้อ ดังนี้

     

     

     

    1. ว่าด้วยโครงเรื่อง...ล่ะมั้ง

    1.1  คนเขียนกำลังสื่อสารด้วยวิธีไหน?

                เวลาเราอ่านเรื่องๆ หนึ่งสิ่งแรกที่มันจะทิ่มตาทิ่มใจเรา ไม่ใช่เรื่องภายนอกอย่างสำนวนภาษา แต่มันเป็นสิ่งที่เรื่องนั้นต้องการสื่อสาร ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารด้วยเรื่องตรงๆ เป็นสัจความจริงในโลก เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ (เช่น เรื่องที่ใช้สุนัขแทนตัวละครที่เป็นคน แต่สุนัขเหล่านั้นมีพฤติกรรมเหมือนคนหรือเหมือนเหตุการณ์จริงในบ้านเมือง) เป็นเรื่องฟุ้งๆ ที่เล่าไปเรื่อยอย่างหลวมๆ ให้คนอ่านจินตนาการเอง หรืออื่นใด ผมเชื่อว่าอ่านไปไม่เกิน 1 หน้า ท่านก็จะทราบแล้วว่าเรื่องนั้นต้องการจะสื่อสารด้วยวิธีการใด ดังนั้นขั้นแรกควรคิดก่อนว่าเรื่องนั้นเป็นหมวดไหน ให้รู้ว่าคนเขียนจะเล่าเรื่องอะไร ด้วยวิถีทางแบบไหน เพื่อที่คนวิจารณ์จะได้ปรับสมองเพื่อหาจุดอ้างอิงได้ถูก ไม่ใช่จะเล่าเรื่องตลก แล้วท่านไปนั่งไล่ถามว่าสาระอยู่ตรงไหน มันก็จะดูผิดประเด็น

    การสับก็เช่นนั้นแล หากเรื่องเป็นแนวสัญลักษณ์ การสับโดยมองโลกอิงจากความเป็นจริงก็ดูผิดที่ผิดทางพอสมควร หากนึกภาพไม่ออกก็อยากให้จินตนาการถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ผมเคยอ่านมา คนเขียนใช้สุนัขแทนมนุษย์ เนื้อหาค่อนข้างการเมือง เขียนโดยใช้สุนัขแทนสัญลักษณ์ สุนัขตีกัน คนอ่านจะยกมือถามว่า “ทำไมสุนัขมันถึงต้องมี ปราศรัยด้วยล่ะ” ก็ดูกระไร แม้มันจะเป็นคำถามที่ดี แต่ด้วยวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร ถือว่าท่านกำลังทำสิ่งไม่ควร

    เป็นเรื่องแนวไซไฟก็ว่าไปอย่างนะครับ เพราะไซไฟคืออิงวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์เชิงสมมติก็ควรมีเหตุผลรองรับ  จะเหตุผลสมมติหรือเหตุผลจริงก็ควรทำให้มันดู “สมจริง” ภายใต้บริบทของเรื่อง หากไม่เป็นดังนั้นแล้ว ท่านนักสับก็จงสับให้ยับเลย - -)/

     

    1.2  คนเขียนจะสื่ออัลไล!

     “คนเขียนจะสื่ออัลไล!” เป็นคำถามที่ควรต้องถามตัวเองในขณะอ่าน ตั้งแต่ต้นจนจบ (ไม่ใช่คำอุทานเพราะผิดหวังเมื่ออ่านจบนะครับ แหม่) แล้วก็จงตอบตัวเองในใจไปรายทาง หากจุดใดถามแล้วไร้คำตอบ เมื่อนั้นคือตกหล่ม เรื่องนั้นกำลังอยู่ในภาวะไม่มีสิ่งที่จะสื่อ กำลังกลวง นั่นล่ะครับ ง้างมีดในมือขึ้นแล้วสับเลย อย่าปล่อยไว้ อย่าออมมือ

    เมื่ออ่านจบ อยากให้ลองนั่งคิดกับตัวเอง ประมวลผลทั้งหมดว่าท่านได้รับสิ่งที่คนอ่านกำลังสื่อสารมาหรือไม่ คิดแบบตามเนื้อผ้า ไม่ต้องมโนปั้นเติมเสริมแต่ง (แต่มโนต่อจากที่คนเขียนหยอดไว้อันนั้นโอเค) หากได้รับมาแล้วก็ตรวจดูว่าได้รับมาเต็มที่หรือไม่ มากแค่ไหน เพราะนั่นเองคือตัวตัดสินความสมบูรณ์ของโครงเรื่อง

     

    1.3  โลกที่คนเขียนสร้างขึ้นมา

    ผมอยากเล่าให้ฟัง

    ตอนผมเขียนเรื่องสั้นเรื่องที่ 1 ก็มานีนั่นล่ะครับ ผมนั่งคิดโครงเรื่องหัวแทบระเบิด ฮ่าๆๆ ผลท้ายได้ออกมา เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ยินเสียงของหนังสือ สิ่งที่ผมคิดไว้คือ พยัญชนะไทยมี 44 ตัว สระอีก 32 ตัว ผมลองนึกว่าหากมันเป็นคนจะต้องมีหลายคนแน่ๆ ตัวละคนก็ตัวละเสียงแล้ว ฉะนั้นหนังสือหนึ่งเล่มจึงไม่ควรมีเสียงเดียว ผมจึงให้ มานีซึ่งเป็นชื่อตัวแทนของหนังสือเล่มนั้นมีหลายเสียง (มานีคือชื่อแทนของหนังสือ ไม่ได้หมายถึงตัวละครชื่อมานีในหนังสือภาษาไทย ป.๑ สังเกตว่าผมจะย้ำแต่หนังสือ หนังสือ แล้วก็หนังสือ)

    ที่ผมเล่านี่ ไม่ได้อยากให้คิดตามนี้ แต่ผมอยากให้เห็นมุมอื่นๆ ที่ท่านอาจมองไปไม่ถึง คนเขียนพยายามสร้างปัจจัยขึ้นมา อาจต้องใช้ความช่างสังเกต (จะเป็นคนสับขอให้งดเว้นการอ่านกราด ไม่ได้ตำหนิเรื่องนี้นะครับ แต่ผมพูดรวมๆ โดยทั่วไป) ในเรื่องๆ หนึ่งคนเขียนอาจมีการทยอยหยอดไว้ เก็บไปให้หมด อย่ามโนล่วงหน้า แล้วพอคนเขียนหยอดมาก็รับไม่เข้าหัว เช่น การมโนล่วงหน้าว่าตัวอักษรพูดไม่ได้ แล้วพอคนเขียนบอกว่าตัวอักษรพูดได้ ท่านก็ไม่เชื่อเพราะจะยึดตามที่เข้าใจมาตลอดอยู่อย่างนั้น

    คนอ่านควรเดินเข้าไปในเรื่อง อินกับเรื่องในระดับหนึ่ง (อินมากแค่ไหน จะกล่าวในหัวข้อถัดไป) เชื่อโลกที่คนเขียนสร้างขึ้นมา ไม่ว่ามันจะเลวทรามขนาดไหนก็ตาม ให้อินกับโลกนั้น แล้วลองมองด้วยสายตาของคนที่อยู่ในโลกนั้น ว่ามันมีอะไรผิดปกติ ส่วนไหนไม่สมเหตุสมผล ทำตัวเป็นผู้สืบคดี มองให้ละเอียดรอบคอบ หากเจอก็จงคว้าคอมันไว้ แล้วสับให้ขาดเสียเดี๋ยวนั้น - -)/

    ขอนอกเรื่องแถมท้ายสำหรับหัวข้อนี้...

    ในหัวข้อแรก (รอบ “มานี”) เป็นการกำหนดโดยรูปภาพ รูปภาพก็คือรูปภาพ ไม่ใช่คำ สมมติว่าท่านอี้สแกนหน้าหนังสือพิมพ์มา 1 หน้า ผมกับท่านดะมิต้องเอา “คำ” ทุกคำในนั้นมาเขียนหรือ? อะ...หนังสือพิมพ์อาจดูเบี่ยงประเด็นได้ เอาเป็น...สมมติท่านอี้สแกนโฆษณาหน้าหนึ่งมา มีพรีเซ็นเตอร์ยืนแอคท่าถือผลิตภัณฑ์ มีสโลแกนเขียนว่า “คุณค่าที่คุณคู่ควร” แบบนั้นผมกับท่านดะมิต้องเอาสโลแกนมาเขียนหรือ? ผมกับท่านดะจำเป็นต้องยกสโลแกนมาแปะในเรื่องด้วยไหม? จะไม่มีทางตีความเป็นอื่นได้เลยหรือ?

    ขอฝากไว้ - -b

     

    1.4  ถอยออกมา แล้วจะรู้ว่าไม่มีเรื่องใดในโลกที่สับไม่เข้า!!!

    คนอ่านควรอิงจากโลกที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาตามที่บอกไปก่อนหน้านี้ (เว้นเสียแต่ว่าผู้เขียนสร้างโลกไม่สมบูรณ์ เว้าแหว่ง อันนั้นก็ค่อยวิจารณ์กันในส่วนของการดำเนินเรื่องต่อไป) ตอนอ่านให้อินในระดับหนึ่ง (อย่าอินหมดตัว เดี๋ยวถอนตัวไม่ขึ้น จะมองไม่เห็นภาพรวม) ให้รู้บรรยากาศเรื่อง วัตถุประสงค์ของเรื่อง และเมื่ออ่านจบจะได้รับโครงเรื่องมาไว้ในใจ จากนั้นในฐานะคนสับ ให้ท่านถอยออกมาหนึ่งก้าว ห่างออกมาจากเรื่อง มองเรื่องให้เล็กลง เห็นในมุมกว้างจากฐานะคนนอก เรื่องที่อ่านไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร ไม่ใช่เรื่องระดับหัตถ์เทวดาหรือมือทูตสวรรค์เจ้าของรางวัลยิ่งใหญ่ระดับประเทศเป็นคนเขียน เรื่องตรงหน้านั้นแค่เรื่องๆ หนึ่งเท่านั้น ยังมีข้อพลาดตามวิสัยมนุษย์

    ผมรู้สึกทึ่ง เมื่อราวสองปีก่อนผมเคยอ่านเรื่องสั้นที่ร่วมส่งประกวดกับกิจกรรมของบอร์ดแห่งหนึ่ง เมื่อปิดรับผลงาน เรื่องสั้นทุกเรื่องจะได้รับการสับจากกรรมการ มีเรื่องหนึ่งผมติดใจสำนวนเขาเป็นพิเศษ จึงจำชื่อเรื่องได้ ทว่าเขาก็โดนสับหนักไม่น้อย และเมื่อแพนกล้องกลับมาที่ปัจจุบัน ผมเดินไปร้านหนังสือ ได้พบหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัล ผมสนใจจึงเปิดสารบัญดู พบเรื่องนั้นครับ เรื่องที่ผมติดใจสำนวนและถูกสับหนัก เขาเข้ารอบสุดท้ายรางวัลนั้น... รางวัลระดับประเทศ

    ก็ตามนั้นครับ ใครก็ตามย่อมมีสิ่งให้สับ จงตั้งสติให้มัน ถอยออกมา แล้วมองให้ครอบ ให้คลุมทั้งเรื่อง ใครก็ถูกตำหนิได้ เพราะทุกคนมีข้อพลาด ไม่มีเรื่องใดไม่มีที่ติ เชื่อผม มันเป็นความจริง ไม่ใช่แค่เรื่อง “โครงเรื่อง” แต่เป็นทุกเรื่อง ทุกหัวข้อวิจารณ์ การดำเนินเรื่องก็ด้วย ภาษาก็ด้วย ความประทับใจก็ด้วย หรือหัวข้อวิจารณ์อื่นก็ด้วย - -v

     

    2. ว่าด้วยการดำเนินเรื่อง...ล่ะมั้ง

    หัวข้อนี้อาจกล่าวถึงเรื่องแนว Abstract เยอะหน่อย ต้องขออภัยหนักๆ ล่วงหน้า

    2.1  มันไม่ได้มีแค่ภาพ แต่มันมีเสียงของการเล่าเรื่องด้วย

    ว่ากันว่าเรื่องหนึ่งเรื่องจะมีท่วงทำนองเฉพาะ อาจเป็นเรื่อง Abstract แต่ผมก็อยากให้เข้าใจ ว่านอกจากการวิจารณ์เรื่องการลำดับภาพแบบละครและภาพยนตร์แล้ว (ทุกคนคงจะชินกับสิ่งที่มองเห็นมากกว่าสินะ) ยังมีเรื่องของท่วงทำนองเรื่องให้ท่านต้องมองอีก

    ท่วงทำนองเรื่อง ผมอยากให้นึกถึงเสียงของคนเล่าเรื่อง หากเรียบเรื่อยมาได้ครึ่งเรื่อง แล้วจู่ๆ ก็กระพือพรึ่บๆ พ่นๆๆๆๆๆๆ ด่วนเล่าเพราะจะรีบไปตามควาย แบบนี้มันก็ไม่ไพเราะจริงไหม นั่นล่ะครับ เรื่องที่อ่านก็เหมือนกัน ท่วงทำนองเรื่องแต่ละเรื่องจะมีแบบเฉพาะของตน บางคนเล่าเรื่องด้วยท่วงทำนองหวือหวา บางคนเล่าเรื่องด้วยท่วงทำนองเรื่อยเฉื่อย บางคนเล่าเรื่องด้วยท่วงทำนองที่เห็นชัดว่าพยายามจะให้มันสนุกแต่เอาเข้าจริงกลับดูพยายามยัด นึกไม่ออกให้ฟังเพลง เพลงไหนก็อบทำนองเพลงอื่นมาผมว่าท่านก็พอจะรู้ เพลงไหนทำนองโหล เพลงไหนทำใหม่แหวกแนวแต่ดูยังไงก็ตะกุกตะกัก ฯลฯ คนฟังรู้หมด ขอแค่วิจารณ์ออกมาให้ได้ จงซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกนั้น เล่าออกมา ถึงท่วงทำนองเรื่องนั้น มีข้อขัดข้องใดในความรู้สึกก็เล่าออกมา

    การดำเนินเรื่องไม่ได้ดูแค่การลำดับภาพ

    เสียง (ท่วงทำนอง) ก็สำคัญเช่นกัน - -b

     

    2.2  คนเขียนมีวิธีเล่าเรื่องในแบบของเขา?

    ผมเคยอ่านเรื่องๆ หนึ่ง คนเขียนเขียนเหตุการณ์ไม่เรียงลำดับ ตัดฉากที พอได้อ่านฉากต่อไปก็ถึงกับมึน อุทานในใจ “นี่มันช่วงเวลาไหนกันแน่ฟระ!” แถมในเรื่องไม่มีตัวเลขบอกเส้นเวลาหรืออะไรทั้งนั้น สลับมั่วไปหมด แต่นั่นเองคือเสน่ห์ของเรื่องนี้ ที่แม้จะอ่านสลับกัน ผลสุดท้ายเมื่อเราตั้งสติแล้วประมวล เราก็จะพบว่า เราได้รับก้อนเหตุการณ์มาก้อนหนึ่ง ที่เชื่อมโยงกัน ทั้งชัดเจน (เนื้อหาของเรื่องชัดมากครับ ชัดจริงๆ ยิ่งกว่า full HD) และมึนมัว (เพราะการสลับฉากไปมา) แต่สุดท้ายเราก็ได้รับบางสิ่งมาจากคนเขียน เราสามารถเรียบเรียงเหตุการณ์ได้คร่าวๆ รู้ว่าใครกำลังทำอะไร และได้รับผลใดกลับมา คนอ่านเองก็ได้รับเช่นกัน วนลูปกลับไปสู่หัวข้อที่ 1.2 ด้านบน (โยงกลับมาได้นะ ฮ่าๆๆ)

    ที่เล่าให้ฟังเพราะผมอยากให้คนอ่านคิด ว่าคนเขียนอาจมีวิธีการเล่าเรื่องในแบบนั้น คราวนี้ถึงคราวคนอ่านมองซ้ำเพื่อตรวจดูอีกครั้ง ว่าวิธีการเล่าแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่? อย่างไรก็ตามก็ควรอยู่บนพื้นฐานของการคิดว่า “อะไรก็เป็นไปได้” การเขียนไม่ได้มีแค่การเล่าไปเรื่อยๆ เป็นเส้นตรง ไม่ได้มีแค่การวนลูปเอาตอนจบมาแปะตอนต้นเท่านั้น แต่มันมีอีกสารพัดวิธีการ นึกภาพว่าฉากในเรื่องมี 8 ฉาก (สมมติ) แล้วท่านจับฉากวางสลับกัน ก็ได้ 8 x 7 x 6 x 5 x 4 x 3 x 2 x 1 = 40,320 วิธีแล้วล่ะกระมัง

    อยากขอให้เปิดใจ แต่ทั้งนี้พอเปิดใจแล้วก็ต้องวิเคราะห์ความเหมาะสม ทั้ง 40,320 วิธีการย่อมไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเหมาะสม หากหาเหตุผลมารองรับได้นอกเหนือจากความใจแคบแล้ว ก็ให้วิจารณ์ออกไปตามที่คิดเถิด - -)/

     

    2.3  เรื่องหนึ่งเรื่องก็มีสีสันของมันเอง

    “โทนเรื่อง” เป็นเหมือนสีสันที่ปรากฏในการบรรยายเพื่อการดำเนินเรื่อง ที่ผมเอามากล่าวเป็นหัวที่ 2.3 ต่อจากการยอมรับวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ก็เพราะเมื่อท่านยอมรับเรื่องได้แล้ว ท่านจะพบว่า วิธีการเล่าจะส่งผลต่อโทนเรื่อง

    ผมเคยอ่านเรื่องๆ หนึ่ง คนเล่าเรื่อง (ตัวละครในเรื่อง) เป็นคนวิกลจริต (ไม่รู้จริงรึเปล่า ผมยังอ่านไม่จบ จึงยังไม่แน่ใจในบทสรุป แอบกลัวหักมุมอยู่ แต่ตอนนี้ยึดตามนี้ไปก่อนนะครับ ๕๕๕+) เขาจะเล่าเรื่องมึนๆ ไม่มีที่มาที่ไป ชอบดักทางถามหาเหตุผลในสิ่งที่ตัวเองเล่า แล้วก็ตอบตัวเองว่า เขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเพราะอะไร หลายครั้งมาก ทั้งยังชอบเล่าเรื่องให้คนอ่านตกใจ แจกแต่เครื่องหมายอัศเจรีย์ (‘!’) ผมอ่านไปก็ต้องคอย ตกใจตามเขาไปเรื่อย แล้วพอเข้าสู่ช่วงที่เขาเพ้อฝัน ถึงความสุขที่ตัวเองห่างหายไปนาน เขาก็จะเล่าเรื่องดูฟุ้งๆ ค่อนข้าง เพ้อมองโลกสวยงาม แน่นอนว่าอัศเจรีย์หายไปเรียบ ไม่เหลือสักตัว ทุกสิ่งเป็นสิ่งสวยงาม เขากล่าวเปรียบความสวยงามโดยใช้คำที่วิลิศมาหรามาก (จนคิดว่าคนบ้าใช้คำสวยขนาดนี้เชียวนะครับ แหม่) แต่ผมก็ถือว่าคนเขียนเลือกจะสนใจ “โทนเรื่อง” มากกว่า “ความสมเหตุสมผล” เพราะเรื่องนี้โทนเรื่องค่อนข้างสำคัญ คนเขียนโปรยมาให้เรื่องหนักตลอดเรื่อง พอบทจะเข้าเขตฟุ้งก็ต้องฟุ้งให้สุด ต้องยอมทิ้งสิ่งอื่นไป หันหน้าเข้าหาการรักษา “โทนเรื่อง” สถานเดียว

    ในฐานะคนสับอยากให้ตั้งคำถามว่า เรื่องนั้นๆ มีความจำเป็นต้องเทความสำคัญให้อะไรมากกว่ากัน “โทนเรื่อง” หรือ “ความสมเหตุสมผล” หรืออื่นใด จากนั้นเมื่อทราบแล้วขอให้อิงกับสิ่งนั้นแล้วยึดไว้ เมื่อคนเขียนออกนอกลู่ของ “ความจำเป็น” นั้นก็จงสับเสียให้สิ้นซาก อย่าให้เหลือ - -)/*

     

    3. ว่าด้วยภาษา...ล่ะมั้ง

    การวิจารณ์ด้านภาษา ไม่ได้มีแค่เรื่องใช้คำถูกหรือผิด แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น...

    3.1  ภาษาก็เป็นตัวบอกถึงโทนเรื่องได้เหมือนกัน

    ขอโยงกับหัวข้อ 2.3 ซึ่งค่อนข้างคาบเกี่ยวกัน ดังที่ยกตัวอย่างไป ว่าภาษาจะจะเป็นตัวบอกโทนเรื่อง มีความเหมาะสมที่จะใช้ในบริบทนั้นๆ ขอยกตัวอย่างการใช้ภาษาในเรื่อง “การสังเคราะห์ความว่างเปล่า” การใช้ภาษาโบราณแบบนั้น (ไม่ขอนับเรื่องข้อพลาดในการใช้คำเฟร่อร์เกินควร) อาจพาให้คิดว่าเรื่องนี้เกิดที่ไหน ยุคไหน แล้วในเรื่องไม่กล่าวถึง ย่อมแปลว่าอาจเป็นโลกไหนสักโลก แล้วพอเป็นแบบนี้คนอ่านส่วนมากก็จะตีความตามความเคยชิน ว่ามันเป็นโลกนี้ โลกที่เราๆเจอกันในชีวิตจริง ตีความไปว่าภาษาโบราณต้องเป็นสักราวยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหรือเก่ากว่านั้น บลาๆๆ ซึ่ง...มันจำเป็นต้องคิดแบบนั้นหรือเปล่าครับ?

    ส่วนตัวผม ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องจำเป็นนะ ตามข้อก่อนๆ ที่บอกให้อินกับโลกในเรื่อง ไม่จำเป็นอย่าเอามโนส่วนตัวใส่ลงไป เพราะส่วนมากพอเอามโนส่วนตัวใส่ลงไปแล้ว มันจะไม่ตรงกับที่คนเขียนต้องการสื่อ (ใครมันจะไปคิดเหมือนกันทุกกระเบียดล่ะครับแหม่)

    ขอวกเข้าเรื่องมาสรุป ภาษาก็เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินเรื่อง เป็นตัวกำหนดโทนเรื่อง อยากให้อิงเหมือนข้อ 2.3 ว่าให้ตั้งคำถาม “เรื่องนั้นๆ มีความจำเป็นต้องเทความสำคัญให้อะไรมากกว่ากัน?” ภาษาแบบนี้มันควรแล้วหรือไม่? (งดเว้นเอามโนส่วนตัวยัดนะครับ) หรือว่าคนสติไม่ดีจะสามารถใช้ภาษาสวยแบบนี้ได้ เพื่อให้โทนเรื่องมันยังชัดใส?

    “โทนเรื่อง” หรือ “ความสมเหตุสมผลด้านภาษา” อะไรสำคัญกว่ากัน และเมื่อทราบแล้วขอให้อิงกับสิ่งนั้นแล้วยึดไว้ เมื่อคนเขียนออกนอกลู่ของ “ความจำเป็น” ก็จงสับเสียให้สิ้นดุจเดียวกัน

    3.2  การตรวจคำผิด เรื่องเบสิคที่อยากบอกเพิ่ม

    การตรวจคำผิด หลายเสียงในสังคมบอกว่า เมื่อมีการ “บัญญัติ” ไว้ ก็จงคิดเสียว่ามันถูก ทุกคนพูดแบบนั้น คงเหมือนกฎหมาย หรือง่ายๆ อย่างกฎสมาคม ผมเขียนมันขึ้นมาเพื่อที่เวลามีคนทำผิดผมจะชี้ไปที่นั่น แล้วบอก “นั่นไง ระบุไว้แล้ว ท่านทำผิดนะ ต้องรับโทษ” อะไรแบบนั้น เมื่อผิดก็มีที่ไว้กล่าวโทษ ไว้โบ้ยได้ ๕๕๕๕๕

    พจนานุกรรมฉบับราชบัญฑิตฯ หรือมติชน หรืออะไรก็ไม่รู้อีกเยอะก็อาการเดียวกัน คำที่เราๆ เขียนกันทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เรามีขอบเขตแค่ไหนบอกว่าถูก? ผมจะเขียนคำว่า “การทำงาน” เป็น “กานทัมงัน” ได้ไหม? ก็นั่นเอง...พจนานุกรมมีขึ้นเพื่อการนั้น ให้คนไม่ฆ่ากันเพราะสะกดไปคนละเรื่อง ต้องการบรรทัดฐานอย่าง “คร่าว” ไว้ให้เข้าใจบนมาตรฐานเดียวกัน แม้ไม่ได้เรียบกริบเป็นพื้นขัดมัน มีตะปุ่มตะป่ำบ้าง ด้วยเพราะบางคำแต่ละเจ้าก็บัญญัติไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วก็พอให้มองเห็นขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า “ถูกต้องอย่างคร่าว” ได้อยู่

    ฉะนั้นผมจึงใคร่ใช้ประโยชน์ ด้วยการบอกว่า คำไหนไม่ชัวร์โปรดค้นที่ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp หรือหากใครมีพจนานุกรม ไม่ว่าจะฉบับราชบัณฑิตหรือฉบับมติชนติดบ้านก็เชิญเปิดเถิด อนึ่ง บางคำสองเจ้านี้อาจบัญญัติต่างกัน ขอให้ท่านยึดเอาสักอันเถิด นอกจากนี้ทางราชบัณฑิตฯก็ได้บัญญัติศัพท์ จำพวกคำทับศัพท์ไว้ (เช่น เซต ช็อก) คำที่แปลจากภาษาต่างประเทศก็มี หลากหลายหมวด ขอเชิญไปใช้บริการได้ที่ http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php

     

    4. ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด...ล่ะมั้ง

    4.1  “ผม/ฉัน เข้าใจว่า...”

    การแสดงทัศนะของคนอ่าน โดยส่วนตัวผมว่ามันสำคัญ ปัญหาอยู่ที่ตรงไหนควรแสดงทัศนะ ตรงไหนควรเก็บงำไว้

    โดยปกติใครอ่านเวลาผมสับ ท่านจะพบประโยค “ผมเข้าใจว่า...” บ่อยมาก เพราะผมพยายามจะบอกคนเขียนไป ว่าผมอ่านแล้วเข้าใจอะไร ตรงกับที่เขาจะสื่อไหม หรือไม่ใกล้เลย พอได้รับความรู้สึกจากคนอ่านไปแล้ว คนเขียนจะได้รู้ตัวว่า ตัวเองสื่อสารออกมาดีหรือไม่ คนอ่านเข้าใจที่จะสื่อรึเปล่า สาส์นที่ส่งไปนั้นถึงมือผู้รับหรือไม่

    มันเหมือน feedback อย่างอ้อม ที่คนอ่านจะได้บอกคนเขียนตอนที่สับ แน่นอนว่าผมไม่เคยใช้ “ผมเข้าใจว่า...” ในเรื่องอื่นใดนอกจากการกล่าวถึงตัวเรื่องที่อ่าน การแสดงทัศนะควรมีต่อเรื่องที่อ่านเท่านั้น เรื่องคนเขียนขอให้ตัดไป คนเขียนจะเป็นใครก็ช่างหัวมันเซร่! เขาเขียนให้อ่าน เมื่อเราอ่านแล้ว สิ่งที่อยู่ในมือคือเรื่องหนึ่งเรื่อง หน้าที่คืออ่าน ทำความเข้าใจในฐานะคนใน แล้วถอยออกมามองด้วยสายตาของคนนอก สุดท้ายลงมือสับโดยปราศจากความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ใช่หรือไม่ใช่ ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ การชั่งน้ำหนักอาจยากง่ายขึ้นกับเรื่องที่อ่าน และวิธีการของทั้งคนเขียนและคนอ่าน ทั้งนี้เมื่อลงมือสับคือต้องตัดสินใจแล้ว จะมาครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ เช่นนั้นมีดท่านจะทื่อ แลฟันไม่เข้าโดยแท้ =v=b

     

    4.2  อย่าคาดหวัง

    บางทีคนอ่านไม่มีสิทธิคาดหวังในเรื่องที่อ่าน แม้ท่านซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่ม ท่านมโนไปว่ามันจะต้องเป็นงั้นงี้งู้นแน่ๆ ตอนอ่านคำโปรย แต่เมื่อกางออกอ่าน ท่านอาจรู้สึกผิดหวัง เพราะ “ผิดคาด” แต่สุดท้ายท่านจะเควี้ยงหนังสือเล่มนั้นทิ้งหรือไม่? เงินจ่ายไปแล้ว ถ้าฮาร์ดคอร์มาก จะเควี้ยงหรือเผาทิ้งก็เอาเลย! แต่ถ้ายังรู้สึกเสียดาย ท่านจะอ่านต่อไป อาจจบหรือไม่จบก็ไม่แน่ แต่หากเป็นไฟท์บังคับอย่างการเป็นกรรมการเช่นนี้ ท่านจะหนีงานได้หรือ?

    ท่านคงเข้าใจถึงความทรมานของการที่ต้องกล้ำกลืนอ่านสิ่งที่ “ผิดคาด” แล้วสินะครับ ผมแนะนำว่า เมื่อจะเริ่มต้นอ่านสิ่งใดอย่าคาดหวัง เพราะหากเรื่องที่เป็นดังหวัง มันก็มีความเป็นไปได้สูงว่าพล็อตนั้นอาจดาษๆ คนอ่านเดาได้แล้วจนจบเรื่อง มันต้องเหนือความคาดหมายสิถึงจะถูก คนอ่านเดาไม่ได้ หรือเดามาแล้วก็ผิด ทีนี้ก็ถึงเวลาต้องผจญภัยแล้ว อ่านต่อไป ต่อไป และต่อไป เรื่องนี้อาจมีจุดจบไม่ธรรมดา (ขอให้มโนไว้แบบนั้น) และเมื่อถึงตอนจบ ท่านจะได้ข้อสรุปเองว่าเรื่องนี้จะสับอย่างไร

    การคาดหวังจะทำให้ท่านรู้สึกทดท้อใจเมื่อพบความผิดหวัง กลายเป็นไม่รู้จะสับอะไร เพราะหมดใจอ่านไปตั้งแต่แรกแล้ว ฉะนั้น อย่าคาดหวังหรือมโนอะไรไว้ในใจมากไปเลย

     

    4.3  “ความประทับใจ” เอาไว้ซัลโวให้สุดติ่ง

    เวลาสับ ผมอยากให้สับด้วยใจเป็นกลาง รัก ชอบ เกลียด เอฟซี แอนตี้ อริ๊อร๊าง น่าจิ้นจุงเบย ฯลฯ ขอให้เก็บไปก่อนในช่วงที่ต้องสับด้านโครงเรื่อง การดำเนินเรื่อง ภาษา หรืออื่นๆที่มิใช่ “ความประทับใจ” อยากขอให้ท่านเก็บความรู้สึกทางโลกเหล่านั้นไว้ แล้วเอามาพ่นใส่การวิจารณ์ด้าน “ความประทับใจ” เถิด มุมนี้มันคือการโซโล่เต็มที่ในฐานะคนอ่าน จะพ่นอะไรก็ว่ามา อย่าเอาไปรวมกับสิ่งที่ต้องใช้เหตุผลตัดสนอย่างหัวข้ออื่นๆเลย มันจะพามั่วซั่วเสียหายเปล่า จริงๆ = =b

     

     

     

    มาจนถึงตรงนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าบอกอะไรไปหมดหรือยัง ไว้นึกได้อาจบอกเพิ่มภายหลังนะครับ เมมผมเต็มแล้ว ๕๕๕๕๕๕

    สุดท้ายอยากขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมสนุกด้วยกัน การสับเรื่องชาวบ้านอาจยากหรือง่ายผมไม่รู้ อยากให้พวกท่านตอบในใจ ไม่ต้องมาบอกผมก็ได้ แต่ในฐานะที่ผมเป็นผม ผมอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทุกเรื่องที่อ่าน เคารพคนเขียน เคารพเรื่องที่อ่าน เชื่อด้วยใจว่าคนเขียนมีวิธีการของเขาที่จะเล่าอะไรสักอย่างออกมา เรื่องที่ท่านอ่านก็มีวิธีการของมัน มีท่วงทำนองของมัน มีสีสันของมัน สุดแต่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ท่านในฐานะคนสับคือผู้พิจารณา

    คนสับคือคนอ่าน ที่ต้องกล้าบอกเล่าสิ่งที่คิดอันผ่านกระบวนการชั่งตวงวัดเหตุผลมาเป็นอย่างดีแล้ว และเพราะท่านอุตส่าห์คิดมาเป็นอย่างดีแล้วจึงควรบอกออกมาให้คนเขียนรู้ คนเขียนเหมือนคนเลี้ยงหมู เขาอาจขายหมู่ แต่อาจไม่เคยกินหมูกระทะที่ทำจากเนื้อหมูที่เขาเลี้ยง เขาอาจไม่รู้ว่ามันนุ่มหรือไม่ เขาจะรู้แค่ว่าหมูของเขาดื้อหรือไม่ เดินกระย่องกระแย่งหรือเดินหลังแอ่น ซึ่งจุดนี้คนกินก็ไม่รู้เหมือนกัน คนกินรู้แต่รสชาติ แถมไม่สนด้วยว่าหมูจะหลังแอ่น ขาเป๋ หรือหลังโก่ง

    เขียนและมีคนสับคือการร่วมมือกันระหว่างคนเลี้ยงหมูกับคนกินเนื้อหมู

     

    ทั้งหลายนี้คือความเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียว ทฤษฎีไม่มี ด้นล้วนๆ ใคร่ขอให้เก็บไว้พิจารณา แต่หากต้องการแย้งหรือสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใดก็เชิญได้ครับ =v=b

     

     

    -ท่านเซ ผู้ใช้สรรพาวุธ-

     

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×