ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมสัตว์โลก และสัตว์ในตำนาน

    ลำดับตอนที่ #26 : นางเงือก (mermaid)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 7.39K
      4
      28 ส.ค. 51




                  ..นางเงือก..     
                  (mermaid)






    (ปล.รูปภาพประกอบดูข้างล่างนะคะ)



                  นางเงือก (mermaid)  เป็นสัตว์โลกอยู่ในทะเลในจินตนาการ มีศรีษะและลำตัวท่อนบนเป็นผู้หญิงสวย ท่อนล่างเป็นปลา ภาษาเยอรมันเรียกนางเงือกว่า meerfrau และเดนมาร์กคือ maremind 



                  mermaid แปลว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล    “Mer”หมายถึงทะเลส่วน “Maid”หมายถึงหญิงสาว    ทางฝั่งทะเลตะวันตกของอังกฤษเรียกว่า” Merry maid”หมายถึงสาวรื่นเริงที่จินตนาการกันว่าชอบว่ายน้ำเล่นคลื่น ยามเดือนหงาย ก็จะขึ้นมานั่งบนก้อนหินตามเกาะแก่งต่างๆหวีผมและร้องเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ





    นางเงือก เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงในตำนาน  ร่างกายครึ่งบนเป็นหญิงสาวครึ่งล่างเป็นปลา ส่วนพวกพ้องเธอที่เป็นชาย เรียก เมอร์แมน - merman ตำนานว่าเป็นเผ่าพันธุ์อมนุษย์สะเทินน้ำสะเทินบก  อาจมีถิ่นกำเนิดบนฝั่งบริตานี และว่ายข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังคอร์นวอลล์ เป็นที่มาของชื่อ เมอร์เมด-เมอร์แมน อันเป็นคำผสมแองโกล-ฝรั่งเศส 





               และจากคอร์นวอลล์เงือกก็แพร่พันธุ์ไปจนถึงฝั่งตะวันตกของเกาะอังกฤษ   ไปถึงรอบๆ สกอตแลนด์ตอนเหนือ สู่สแกนดิเนเวีย นอกจากนั้น ยังอาจพบเห็นเงือกในจุดต่างๆ ตลอดแนวฝั่งยุโรปด้วย   อาจเป็นเพราะเงือกชอบอากาศเย็นและแนวฝั่งแอตแลนติกของอังกฤษกับไอร์แลนด์   โดยที่ไอริชแห่งไอร์แลนด์เรียกเงือกว่า เมอร์โรว์ และ เมอรูชา 


    นางเงือก    เป็นความเชื่อในนิยายปรัมปราเกี่ยวกับน้ำ    หลายประเทศทั่วโลก     มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานเงือกมากมาย    บางคนเสนอว่า   บางทีอาจเป็นเพราะผู้คนในสมัยโบราณเข้าใจผิด คิดว่า พะยูน คือเงือกก็เป็นได้ 




          



    ลักษณะของนางเงือก








                   นางเงือกคือเทพธิดาแห่งทะเล   มักปรากฏตัวขึ้นเหนือผิวน้ำ มือหนึ่งถือหวีสางผม มือหนึ่งถือกระจก มีลักษณะคล้ายไซเรน (siren - ปีศาจทะเล ครึ่งมนุษย์ผู้หญิง ครึ่งนก  มีเสียงไพเราะมาก  ล่อลวงคนไปสู่ความตาย ในนิทานปรัมปราของกรีก) 


             บ้างก็เล่ากันว่า     เงือกนั้นมีหน้าเล็กกลมเท่างบน้ำอ้อย(ประมาณหน้าชะนี)ผมยาว   วันดีคืนดีกลางคืนเดือนหงายจะขึ้นบกมาหวีผมด้วยหวีทอง   บางทีก็ใช้กระจกทองส่องหน้าด้วย   ถ้ารู้สึกว่ามีใครเข้ามาใกล้ตัว จะโจนลงน้ำดำหนีไป ทิ้งหวีและกระจกทองไว้   ถ้ามีผู้พบเห็นกระจกทองแต่เก็บไว้ไม่ทิ้งลงน้ำคืนเงือก เงือกจะมาเข้าฝันทวงของคืน   ถ้าไม่ให้ก็จะถูกปลิดดวงวิญญาณไปหรืออาจถูกฉุดตัวจมน้ำไปขณะที่ลงไปอาบน้ำในที่แห่งนั้น 








    แต่เดิมนางเงือกอาจจะเป็นธิดาของพวกเคลต์ (ชาวไอริชโบราณ) นอกจากนี้ตำนานเกี่ยวกับนางเงือกมาจากเรื่องเล่าของพวกกะลาสีด้วย  ซึ่งเกี่ยวข้องกับความหายนะของมนุษย์ (Jobes 1961: 1093)   แต่โรสกล่าวว่า บางครั้งนางเงือกก็ให้คุณต่อมนุษย์   มนุษย์ที่ช่วยเหลือนางเงือกมักได้รับความรู้เรื่องสมุนไพรรักษาโรคซึ่งเยียวยาไม่ได้แล้ว ได้ของกำนัล   หรือนางเงือกช่วยเตือนให้ระวังพายุ (Rose 1998: 218) 







            บางครั้งนางเงือกก็ได้รับสมญานามว่าพรหมจารีแห่งทะเล มีลักษณะสวยงาม กระจกของนางเงือกคือสิ่งที่แทนวงพระจันทร์ และผมที่สยายยาวคือสาหร่ายทะเล หรือรังสีบนผิวน้ำ (Jobes 1961: 1093) แต่บางครั้งก็กล่าวว่ากะลาสีเรือเดินทางไปในเรือนานๆเข้า ไม่ได้เห็นผู้หญิงเลยก็เกิดภาพหลอนขึ้นมา นั่นคือนางเงือกไร้ตัวตนอย่างสิ้นเชิง แต่พวกเดินทางทางเรือเกิดจินตนาการเพราะว้าเหว่คิดถึงครอบครัว 









    คุณสมบัติของนางเงือก 





    บางตำนานกล่าวถึงนางเงือกว่าเสียงของนางเงือกจะใสกังวาลและชักนำพากลาสีเรือแตกลงสู่ห่วงน้ำวงใต้ทะเล 


    บางตำนานกว่าวว่า เสียงของนางเงือกไพเราะและขับร้องพาเรือลงสู่วังน้ำวน 


    บางตำนานกล่าวว่า นางเงือกเป็นแค่ปล่าพยูน แต่ข้อนี้ตัดทิ้งไปได้เพราเราคิดว่าคงไม่มีทางมองพยูนเป็นคนได้หรอก


    บางตำนานกล่าวว่า น้ำตาของนางเงือกจะเป็นไข่มุกแมพลังในการคุ้มครองจากปีศาจร้าย 


    บางตำนาน มงกุฏของนางเงือกทำมาจากใบไม้ใต้ท้องทะเลมีพลังในการฝื้นพลังและรักษา 


    นางเงือกสามารถว่ายรวมกันเพื่อสร้างน้ำวนได้ และยังสามารถทำให้เรือจมลงได้ 


    บางตำนานยังกล่าวว่านางเงือกเป็นธิดาของโพเซดอนอีกด้วย








    ตำนานเกี่ยวกับนางเงือก 






    ในอดีตการเล่าขานตำนานของเงือกส่วนมากจะคล้ายๆกันคือ   สาวน้อยที่โผล่พ้นน้ำด้วยท่อนบนเปลือยเปล่าแต่ท่อนล่างที่อยู่ใต้น้ำนั้นเป็นปลา    ในวรรณคดีไทยก็กล่าวถึงเงือกไว้ว่าเป็นสาวงามที่สวยสะอาด    ท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนร่างเป็นปลามีประทุมถันอวบและที่สำคัญเป็นเอกของเรื่องพระอภัยมณีเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ทั้งหมดและกำเนิดสุดสาครตัวเอกของเรื่อง





    เงือกเป็นปริศนาเล้นลับหลายศรรตวรรษ    ที่ผ่านมามีเรื่องเล่าขานกันว่าถ้าบนบกมีสัตว์ที่ครึ่งคนครึ่งม้า(เซนทอร์) ในน้ำก็ต้องมีครึ่งคนครึ่งปลา        ข้อสรุปนี้อาจเป็นสมมุติฐานที่เลื่อนลอยแต่เราเคยพบปลารูปร่างหน้าตาเหมือนหมู แต่ไม่ได้หมายความว่าในน้ำมีหมูอยู่จริงนี่..  





    ตามตำนานเกี่ยวกับเงือกนั้นกล่าวไว้ว่า......

         


    เทพโอนเน่ส์เทพเจ้าแห่งท้องน้ำเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและสติปัญญา   มีบุตรสาว และบุตรชาย ที่มีรูปร่างคล้ายปลา ให้ดูแลท้องน้ำในมหาสมุทรและปกครองทะเลทั้งหมด     เรื่องนึงที่น่าประหลาดเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1608 มีคนพบคนครึ่งปลากลุ่มใหญ่ออกมาปิดปากถ้ำที่เซ็นไอเว่ส์แถบชายฝั่งเบ็นโอเวอร์     เนื่องจากเรือหลายลำได้รับคำสั่งให้ไปจับคนนอกศาสนาหรือเหล่าเพแกนมาทำโทษและจัดการฆ่าทิ้งศพลงทะเล เหตุการณ์นี้ยังเป็นที่งุนงงมาถึงปัจจุบันว่าจริงหรือไม่ 





    บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า    เงือกคือปีศาจที่คอยทำให้นักเดินเรือหลงทางและเรืออัปปรางในที่สุดก็จมสู่ก้นมหาสมุทร   เธอจะอยู่บนผาหินคอยหวีผมและร้องเพลงทำให้นักเดินเรือเคลิ้มด้วยเสียงและท่าทางที่ยั่วยวนของเธอทำให้หลงทิศทางและพอเรือเข้ามาใกล้เสียงเพราะเพราะที่ได้ยินนั้นก็กลับกลายเป็นเสียงหวีดร้องที่โหยหวนน่ากลัวแล้วเงือกก็จะจมเรือเหล่านั้นลง 






    ตำนานจากนิทานพื้นบ้านโรมัน





     นิทานพื้นบ้าน  โรมันบอกว่าเศษไม้จากซากเรือรบที่ถูกเผาวอดในสงครามกรุงทรอย กลายสภาพเป็นเลือดเนื้อและเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตคือเงือก    ด้านชาวไอริชบอกว่าเงือกคือผู้หญิงนอกศาสนา
    ที่ถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน   ขณะที่อีกบางท้องถิ่นว่าเงือกคือลูกๆ ของฟาโรห์ที่จมน้ำในทะเลแดง 








    ตำนานจากเทพปกรณัมของกรีก






    เทพปกรณัมของกรีกเล่าว่า    ต้นตระกูลเงือกคือ ไตรตอน โอรส โพเซดอน เทพแห่งท้องทะเล กับพรายน้ำสาว   ไตรตอนมีหางเป็นปลา ไว้หนวดเครายาว ทรงอำนาจในท้องทะเลเหมือนพ่อ   อาศัยอยู่ในปราสาททองคำที่ซ่อนตัวอยู่ก้นทะเล มีตรีศูล (ฉมวกสามง่าม) เป็นอาวุธ   และมีแตรหอยสังข์เป่าควบคุมทะเลให้สงบหรือบ้าคลั่ง ไตรตอนจึงมีสมญาหนึ่งว่า นักเป่าแตรแห่งท้องทะเล









             อีกเรื่องกล่าวว่าเงือกมาจาก โอนเนส เทพแห่งทะเลของบาบิโลน มีพลังอำนาจต่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์   ร่างกายเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นปลา ปรากฏกายขึ้นจากทะเลในยามเช้าและกลับลงทะเลตอนพลบค่ำ    ต่อมา เทพอียา ครึ่งคนครึ่งปลาเหมือนกัน ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่โอนเนส   ที่สุดก็เชื่อกันว่าอียาเป็นบรรพบุรุษเงือก เช่นเดียวกับอาทาร์การ์ติส   ที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลาเช่นกัน เหตุที่เทพเจ้าบาบิโลนมีลักษณะดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวันดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะกลับลงทะเล  เทพของอาทิตย์และจันทร์จึงควรมีรูปลักษณะที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก 






             นิยายปรัมปราอีกเรื่องพูดถึงเงือกแนวดุดัน ว่าเป็นลูกหลานของมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกเทพแห่งท้องทะเลสาปเอาไว้เนื่องจากได้ล่วงเกินท่าน  จากนั้นมาเขาได้กลายเป็นครึ่งคนครึ่งปลา   ต้องดื่มเลือดหรือกินเนื้อสดๆ ทุกวัน มีผิวสีเทา ซีด คล้ำ คล้ายกับศพที่ไร้เลือด มีฟันอันคมกริบหากแต่จำแลงไว้   ครึ่งท่อนล่างเป็นปลาเกล็ดสีน้ำตาลคล้ำ   ส่วนเกล็ดส่วนหางสามารถเปลี่ยนสีตามอารมณ์ได้










    ตำนานเงือกทางอัสซีเรีย







    ตำนานเงือกทางอัสซีเรียก็มี เล่าว่าเทพธิดาเซมิรามิสรักกับหนุ่มเลี้ยงแกะ และได้ทำให้เขาตาย ด้วยความละอายเธอได้กระโดดลงทะเลสาบไป   แต่เพราะเทวภาพทำให้ไม่จมน้ำ   เธอจึงแปลงร่างให้ครึ่งล่างเป็นปลาจนเป็นเงือก สำหรับเงือกที่เป็นนิทาน เล่าเรื่องอย่างเป็นระบบในหนังสือ เงือกน้อย และเรื่องอื่นๆ ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เป็นที่ชื่นชอบทั่วโลกถึงวันนี้กว่า 200 ปีแล้ว 




    ตำนานเงือกของญี่ปุ่น





    ในประเทศญี่ปุ่น มีความเชื่อเกี่ยวกับเงือกมากมายเช่นเดียวกัน    โดยความเชื่อหลักเกี่ยวกับการกินเนื้อเงือก คือ 




    เมื่อในอดีต มีสาวนางนึงได้ช่วยนางเงือกเอาไว้ที่ชายหาด นางเงือกทราบซึ่งบุญคุณของสาวนางนั้น   จึงให้กินเนื้อเงือกเป็นการตอบแทน   แต่ทว่า อาพรรณของเนื้อเงือก   จะทำให้ผู้ที่กินเข้าไปไม่แก่ไม่ตาย  สาวนางนั้นมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีวันแก่ตาย แล้วเห็นคนรอบข้างตายไปทีล่ะคนจนทนไม่ได้ จึงบวชเป็นชี ชื่อ แม่ชีเบคุนิ 






    ตำนานเงือกของเขมร





    ในนิทานเขมรเล่าถึงเงือกไว้ว่า ตากับยายให้หลานสาวแต่งงานกับงูโดยเชื่อตามที่ฝันว่าถ้าหลานสาวมีสามีเป็นงูจะร่ำรวยเป็นเศรษฐี  เมื่อส่งตัวหลานสาวเข้าห้องหอให้งูแล้วได้ยินหลานสาวร้องให้ช่วยว่าถูกงูรัดก็ตะโกนตอบไปว่า   ผัวเขากอดรัดนิดหน่อยก็ต้องร้องด้วย   หลานสาวก็ร้องอีกว่างูกินเข้ามาครึ่งตัวแล้ว แต่ตากับบายก็เฉยเสียเพราะคิดว่าหลานสาวร้องไปตามมารยาหญิง 








    รุ่งเช้าตายายไม่เห็นหลานสาวออกมาจากห้องนานผิดสังเกตจึงเข้าไปดู พบแต่งูชดตัวพองอยู่ จึงรู้ว่างูกินหลานเสียแล้ว จึงช่วยกันฆ่างูผ่าเอาตัวหลานสาวออกมา หลานยังไม่ตายแต่มีกลิ่นงูติดกายอยู่   ชำระล้างอย่างไรก็ไม่หมดกลิ่น จึงไปล้างด้วยน้ำทะเละ   แต่ปรากฏว่าหลานสาวกระโจนลงน้ำกลายเป็นร่างนางเงือกดำหายไป


     






    ตำนานเงือกในประเทศไทย






    เงือกในประเทศไทย ถูกกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยอดีต ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ที่เห็นว่าจะเป็นเงือกที่ได้รับความนิยม และกล่าวขวัญกันมากที่สุดนั้นคือ 




    เงือกในวรรณคดีของ สุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี ที่นางเงือก (เงือกสาว) และเงือกตายาย ช่วยพาพระอภัยมณีหนีจาก ผีเสื้อสมุทรได้จนสำเร็จ และนางเงือกได้เป็นชายาของพระอภัยมณี จนมีโอรสด้วยกัน 1 องค์ ชื่อว่า สุดสาคร
     




    ในภาษาไทยโบราณ รวมทั้งในวรรณคดีสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ มีคำว่า เงือก มาแล้ว แต่มีความหมายแตกต่างกันไป พอจะสรุปได้ดังนี้ 




             งู : คำว่าเงือกในภาษาไทยโบราณ และภาษาตระกูลไตบางถิ่นนั้น มักจะหมายถึง งู ดังปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น" นั่นคือ เอางูมาพันรอบกาย, "เสียงเงือกงูว้าง ขึ้นลง" หมายถึง เสียงงู เหล่านี้เป็นภาษาเก่าที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน 



             สัตว์ร้าย จำพวกผี หรือปิศาจ : ปรากฏในลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยอยุธยาเช่นกัน 



             สัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา : เชื่อกันว่าเงือกในลักษณะนี้ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพระอภัยมณีดังกล่าวมาข้างต้น แต่อาจมีค้นเค้าจากเรื่องอื่นก็เป็นได้ 



             มังกร : คนไทบ้างกลุ่มในประเทศจีนและเวียดนาม จะเรียกมังกรว่า "เงือก" เช่น ไทปายี ไทเมือง และกะเบียว ในเวียดนาม




    ความเชื่อเรื่องนางเงือกในสมัยต่างๆของไทย





    ในสมัยอยุธยาตอนต้น ลองไปถามชาวกรุงศรีฯถึงเงือกละก็ เขาจะรู้จักดี แต่ถ้าถามถึงครึ่งคนครึ่งปลา ชาวอยุธยาก็อาจจะส่ายหน้าว่าไม่ใช่ เพราะเงือกในความหมายของเขา คืองูค่ะไม่ใช่ mermaid ใน โองการแช่งน้ำ ซึ่งใช้อ่านประกอบในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พราหมณ์ราชครูผู้ทำพิธีได้อัญเชิญเทพเจ้าสำคัญๆ หลายองค์ ในจำนวนนี้คือพระอิศวรหรือพระศิวะ มีคำบรรยายลักษณะประกอบว่า ประทับมาบนหลังวัวเผือก คือโคอุสุภราช และทรงคล้องสร้อยสังวาลทำด้วยงู(เป็นๆ?)





    ... ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง






    งู กับ เงือก คือคำเดียวกัน คำนี้ใช้มาเรื่อยจนกระทั่งเวลาผ่านมานับร้อยปี ถึงยุค ลิลิตพระลอ นักวรรณคดียังถกเถียงกันไม่จบว่าแต่งในแผ่นดินกษัตริย์องค์ใดกันแน่ แต่ก็ลงความเห็นตรงกันว่าเป็นยุคก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 








    ในเรื่องนี้ เงือกกลายเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่งูอีกต่อไป อ่านแล้วคิดว่าเป็นผีน้ำประเภทหนึ่ง คล้ายๆคนเช่นมีผมยาว มีดวงตาโตกลอกไปมาได้ดูน่ากลัว เมื่อใครลงเล่นน้ำเงือกก็เอาผมพันรัดคอแล้วฉุดลงไปใต้น้ำจนจมน้ำตาย เพื่อเอาไปกินหรือแค่ทำให้ตายอย่างเดียว เรื่องนี้ไม่ได้แจกแจง มีอยู่ในตอนนางรื่นนางโรยไปหาปู่เจ้าสมิงพรายที่ภูเขาซึ่งปู่เจ้าสถิตย์อยู่ ผ่านป่าเชิงเขาเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย นางก็ขวัญหนีดีฝ่อตามประสาชาววังไม่เคยเห็นป่า






    เอ็นดูสองนางตกใจกลัว ระรัวหัวอกสั่น ลั่นทะทึกทะทาว สราวตามหมอผะผ้ำ เห็นแนวน้ำบางบึง ชรทึงธารห้วยหนอง จระเข้มองแฝงฝั่ง สระพรั่งหัวขึ้นขวักไขว่ ช้างน้ำไล่แทงเงา
    เงือกเอาคนใต้น้ำ กระล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตาย








    จากอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คำว่า "เงือก" ที่แปลว่างูก็ยังใช้กันอยู่ อย่างใน รำพันพิลาป )ของ สุนทรภู่ แต่ก็เกิดความหมายขึ้นใหม่ในเรื่อง พระอภัยมณี ไม่อาจยืนยันได้ว่าสุนทรภู่เป็นกวีคนแรกหรือเปล่า ที่ใช้คำว่า "เงือก" ในความหมายของครึ่งคนครึ่งปลา แต่ก็เป็นคนที่ทำให้คำว่า "เงือก" ลงตัวในความหมายนี้จนกระทั่งถึงวันนี้ละค่ะ







     
           สาวครึ่งคนครึ่งปลามีอีกคำหนึ่ง คือ "นางมัจฉา" แต่ก็ไม่ติดปากคนเท่ากับคำว่าเงือก อย่างนางสุพรรณมัจฉาใน รามเกียรติ์ เป็นลูกสาวทศกัณฐ์ตอนแปลงกายเป็นปลา ไปสมสู่กับนางปลา เกิดลูกออกมาเป็นหญิงสาวครึ่งคนครึ่งปลา ชื่อนางสุพรรณมัจฉา ในที่สุดก็ได้กับหนุมาน แล้วมีลูกด้วยกันคนหนึ่งคือมัจฉานุ ตัวเป็นลิงแต่หางเป็นปลา หลังจากคลอดลูกแล้วบทบาทของนางก็หายไป








     ย้อนกลับมาถึงเงือกที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าจากฝีมือของสุนทรภู่ น่าจะมีเค้ามาจากเงือกใน ลิลิตพระลอ ต่างกันแต่ว่าไม่ได้อยู่ในบึง หากแต่อาศัยอยู่ในทะเลลึก เวลามีเรือผ่านไปมา เกิดเจอพายุเรือแตก บรรดานางเงือกก็ขึ้นมาฉุดเป็นมนุษย์ลงไปเป็นคู่ จึงเชื่อว่าพวกนี้เป็นครึ่งคนครึ่งปลา ไม่ใช่งู อย่างตอนที่สินสมุทรลูกชายพระอภัยมณีไปเล่นน้ำทะเล แล้วเจอเงือกน้ำเข้าไม่รู้ว่าตัวอะไรก็ไล่จับเอามาให้พ่อดู


    เห็นฝูงเงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล    คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา
    ครั้นถามไถ่ไม่พูดก็โผนจับ    ดูกลอกกลับกลางน้ำปล้ำมัจฉา
    ครั้นจับได้ให้ระแวงแคลงวิญญาณ์    เช่นนี้ปลาหรืออะไรจะใคร่รู้











     เงือกที่ถูกจับตัวนี้เป็นชาย สืบทอดรูปร่างมาจากบรรพชนเงือก แต่ว่ารู้ภาษามนุษย์ เพราะบรรพชนอีกส่วนหนึ่งเป็นคน ก็อาสาพาพระอภัยมณี พาเมียและลูกสาวมาช่วยอีกสองแรง จึงเห็นเหตุให้นางเงือกสาวได้ปรากฏโฉมเป็นครั้งแรก สวยน่ารักมากแค่ไหน อ่านคำบรรยายดูนะคะ


    พงศ์กษัตริย์ทัศนาดูเงือกน้อย    ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม
    ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม    ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง
    ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด    ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง
    พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง    แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป





            พ่อแม่เงือกถูกนางผีเสื้อจับกินทั้งคู่ตอนพาพระอภัยมณีหนี เหลือลูกสาวหนีรอดไปขึ้นเกาะแก้วพิสดารได้ พระอภัยหลังจากเล็งๆนางไว้ตั้งแต่แรกพบ ก็ได้เงือกน้อยมาเป็นนางสนมสมใจ มีลูกชายด้วยกันคือสุดสาคร คลอดออกมาเป็นมนุษย์เหมือนพ่อ ไม่ยักมีหางปลาอย่างแม่ แต่มีเรี่ยวแรงดำผุดดำว่ายลงน้ำเก่งตั้งแต่เกิด พอโตขึ้นก็ได้เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในวรรณคดีเรื่องนี้









    ถ้าจะถามว่าเงือกเป็นเผ่าพันธ์อะไร ในเรื่องนี้สุนทรภู่บอกเอาไว้ชัดว่าเป็นสัตว์ ตระกูลเดียวกับปลา ไม่ใช่อมนุษย์อย่างยักษ์ จะเห็นได้จากนางเงือกพอคลอดสุดสาครแล้วก็ไม่เลี้ยงดูเอง แต่ส่งให้พระโยคีบนเกาะแก้วพิสดารเป็นคนเลี้ยงให้แทน บอกว่า


    นางเงือกน้ำคำรพอภิวาท    ข้าเป็นชาติเชื้อสัตว์เหมือนมัจฉา
    จะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมนุษย์สุดปัญญา    ขอฝากฝ่าบาทบงส์พระทรงธรรม์
    ช่วยเลี้ยงดูกุมารเหมือนหลานเถิด    เสียแรงเกิดกายมาจะอาสัญ
    อันข้านี้วิสัยอยู่ไกลกัน    เช้ากลางวันเย็นลงจะส่งนม











            ถ้าแบ่งตามวิทยาศาสตร์ยุคนี้ เงือกน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่าเป็นปลา เพราะถึงจะส่งลูกชายให้พระโยคีเลี้ยง ก็ยังให้กลับมากินนมแม่ทุกวัน 









         ดูๆบรรดาผู้หญิงที่มาเกี่ยวข้องกับพระอภัยมณี นางเงือกน้อยน่าสงสารมากกว่าเพื่อน เพราะนางดูซื่อไร้เดียงสา ไม่ใช่หญิงเจ้าเสน่ห์เต็มไปด้วยเล่ห์กลอย่างนางละเวง ไม่ใช่คนฉลาดแต่ขี้หึงอย่างนางสุวรรณมาลี ซ้ำแม่เงือกน้อยยังเป็นฝ่ายถูกมนุษย์ผู้ชาย คือพระอภัยมณีเอาเปรียบทางเพศมาตั้งแต่แรก ใช้คารมเกลี้ยกล่อมจนได้ตัวนางมาบำเรอ ในช่วงที่ตัวเองอยู่บนเกาะหาผู้หญิงอื่นไม่ได้ แล้วก็ทิ้งไปทั้งๆนางกำลังตั้งครรภ์ ไม่เคยคิดจะกลับมารับอย่างที่สัญญาไว้ 









    ลูกชายออกจากเกาะไปผจญภัยตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม ก็ไม่เคยกลับมาหาแม่ นางต้องอาศัยตามลำพังในวังน้ำท้ายเกาะแก้วอยู่หลายสิบปี จะกลับไปอยู่กับฝูงเงือกก็ไม่ได้ เพราะมีสามีมีลูกเป็นมนุษย์เสียแล้ว จนพระอภัยมณีแก่ชราบวชเป็นฤาษีสามารถเข้าฌาน เหาะมาเยี่ยมพระโยคี ก็เลยมาสอนให้นางเงือกรู้จักรักษาศีล ๕ ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะยากอะไรนัก ถ้าหากว่านางเว้นจับสัตว์น้ำเล็กๆน้อยๆกินเป็นอาหาร (ในเรื่องไม่ได้บอกว่าเงือกกินพืช หรือปลาเล็ก) เพราะอีก ๔ ข้อนางเงือกก็ไม่มีโอกาสจะผิดอยู่แล้ว  







    พระอภัยมณีเสียอีกตอนหนุ่มๆ ยังละเมิดครบหมดทุกข้อ คือฆ่านางผีเสื้อ พูดเท็จกับนางเงือกว่าจะมารับแล้วไม่คิดจะมา ละเมิดหญิงที่มีเจ้าของ คือนางสุวรรณมาลีคู่หมั้นอุศเรน ดื่มน้ำจัณฑ์เวลาอยู่ลังกา ส่วนเรื่องลักขโมยก็เอารูปวาดของนางละเวง ที่เป็นของเจ้าละมานมาเก็บเอาไว้เอง







      บั้นปลายของนางเงือกผู้น่าสงสารค่อยมีความสุขขึ้นหน่อยหลังจากรักษาศีล ๕ แล้ว พระอินทร์เห็นใจก็เลยลงมาตัดหางปลาให้กลายสัญชาติเป็นมนุษย์ แต่พอจะบวชตามพระอภัยมณีก็มีปัญหาอีกว่าพระอภัยไม่ยอมให้บวช อ้างว่ากำเนิดเป็นสัตว์เดียรฉานบวชไม่ได้ แต่สวรรค์ก็ยังเห็นใจนาง สุดสาครซึ่งครองเมืองลังกาอยู่ยังกตัญญูต่อแม่ จึงสถาปนาแม่ขึ้นเป็นพระนางจันทวดีพันปีหลวง นางเงือกได้อยู่เป็นคุณย่ากับลูกชายลูกสะใภ้และหลานๆ ก็คงจะมีความสุขไปตลอดอายุขัย 









    ตำนานผีล้านนาตอนผีเงือกน้ำ







    "ระวังเน้อ...หละอ่อนสูเขาไปเหล้นน้ำจะถูกผีเงือกเอาไปกิ๋นในวังน้ำใหญ่......."  นี่เป็นคำเตือนของผู้ใหญ่บอกให้ลูกหลานอย่าไปเล่นน้ำในที่อันตราย






    เกี่ยวกับเงือกมีตำนานมากมาย ไม่ว่าเงือกตามแม่น้ำ หรือทะเลหรือแม้แต่ต่างประเทศหากเราไปเที่ยวก็มักจะเห็นรูปปั้นนางเงือกตัวเป็นคนหางเป็นปลานั่งอยู่หน้าอ่าว  หรือแม้กระทั่งในเรื่องพระอภัยมณีก็มีเรื่องนางเงือกมาเกี่ยวข้อง  แสดงว่านางเงือกมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนอยู่ไม่น้อย





    อย่างไรก็ตามตัวจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครพบเห็น แต่ในตำนานล้านนาเอกสารหลายฉบับต่างบันทึกเรื่องเกี่ยวกับเงือกไว้ค่อนข้างตรงกันดังเช่นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงความดุร้ายของเงือกดังนี้





    "........พระญาฅำฟูได้ไพเมืองเชียงคำ  อุบายเล้าโลมอย่าหื้อสหายตนเคียดหั้นแล     พระญาฅำฟูจักขึ้นเมือเรีอน    เมียงั่วหงผู้ ๑  มีรูปโฉมงามนัก   มาชำระตีนพระญาฅำฟูแล้วจูงมือพระญาเมือเรือน   นางผู้นั้นกะทำมายาล่อพระญา    พระญาบังเกิดตัณหาคลาดจากสติ   มีใจใคร่กัตติอยู่นอนกับด้วยนางผู้นั้น   จิ่งหยักมือนางผู้นั้นหื้อสัญญา   ยามตัณหาเกิด  พระญาค็เอานางผู้นั้นมานอนด้วยฅืนรุ่ง  ท่านกฎุมพีค็บ่รู้สภาวะอันพระญาเอาเมียตนไพอยู่ไพนอน      หั้นแล       ได้ ๖  วัน   ๗  วัน   พระญาไปดำหัวสรงเกสในแม่น้ำเชียงฅำ  






    ยามนั้นเงือกตัว  ๑    ใหย่นักลุกแต่เงื้อมผาออกมาชักเอา พระญา เข้าไพในเงื้อมผาที่หั้นแล        คนทั้งหลายเปนต้นว่าเสนาอามาจจ์  แสวงหาพระญาบ่พบไหนสักแห่ง  นานได้  ๗  วัน   ซากพระญาไหลออกมา  ฅนทั้งหลายจิ่งรู้ว่าพระญาฅำฟูตาย    หั้นแล......"








    (คำอ่านภาษาล้านนา
    ...."ผะญาคำฟูฮู้ว่าสหายของต๋นเกี้ยด จึ่งไปเมืองเจียงคำ อุบายเล้าโลมอย่าหื้อสหายเกี้ยดหั้นแล       ผะญาจักขึ้นเมือเฮือน  เมียงั่วหงผู้นึ่งมีฮูปโสมงามนัก  มาจำระตี๋นผะญา  แล้วจู๋งมือผะญาเมื่อเฮือน   นางผู้นั้นขะตำมายาล่อผะญา    ผะญาบังเกิดตั๋ณหาก้าดจากสติ้   มีใจ๋ไค่กัตติ(รัก/พอใจ)อยู่นอนกับด้วยนางผู้นั้น    จึ่งหยักมือนางผู้นั้นหื้อสัญญา   ยามตั๋นหาเกิดผะญาก็เอานางผู้นั้นมานอนด้วยคืนฮุ่ง        ต้านกะฎุมปีก็บ่ฮู้สภาวะอันผะญาเอาเมียต๋นไปอยู่ไปนอน  หั้นแล     ได้หกเจ็ดวัน  ผะญาไปดำหัวสะหรงเกสในแม่น้ำเจียงคำ  ยามนั้นเงือกตั๋วนึ่งใหญ่นักลุกแต่เงิ้มผาออกมาจั๊กเอาผะญาเข้าไปในเงิ้มผาตี้หั้นแล    คนตังหลายเป๋นต้นว่าเสนาอามาตย์  แสวงหาผะญาบ่ป๊บไหนสักแห่ง    นานได้เจ็ดวันซากผะญาไหลออกมา   คนตังหลายจึ่งฮู้ว่าผะญาคำฟูต๋าย   หั้นแล...."






    เท่าที่ยกตัวอย่างก็เป็นตำนานเงือกเอาชีวิตเจ้าเมืองคือพญาคำฟูเจ้าเมืองเชียงแสนในล้านนา



    ส่วนเรื่องเงือกที่เล่ากันทั่วไปมันเป็นผีรักษาแม่น้ำใหญ่คอยเอาชีวิตผู้คนที่กระทำขึ้ดทำลายแม่น้ำหรือเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรม






    ลักษณะเงือกผู้คนล้านนาก็มีเล่าหลายสาย แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นสายหนึ่งว่ากันดังนี้ 






    "...อันว่าผีเงือกมันตั๋วยาวเหมือนดั่งป๋าเหยี่ยน(ปลาไหล)ผิวหนังมีเมือกมื่น(ลื่น)หลืดๆหลาดๆจับยับมันบ่ได้เมือกไคลมันหนายับก็หลูด...ยับก็หลูด...ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   มันชอบอยู่ในเงิ้มถืบถ้ำวังน้ำเลิ้ก(ลึก)มันชอบกิ๋นคนที่ไปเปลี่ยนกระแสแม่น้ำ  เยี๊ยะขึ้ดจา(อาถรรพ์)กับแม่น้ำกว๊านใหญ่  ด้วยเหตุที่มันมีเมือกและอยู่ในเงิบนี้เองผู้คนจึงเอาลักษณะเมือกกับเงิบมาผสมกั๋นฮ้อง(เรียก)มันว่าเงือกบ่งบอกลักษณะผีร้ายที่มีเมือกอยู่ในเงิบฝั่งวังน้ำ





    วันเดือนดับเดือนเป็ง(วันแรม/วันเพ็ญ   ๑๔หรือ  ๑๕  ค่ำ)ผีเงือกจะออกมาหาเหยื่อตะแหลง(แปลงร่าง)เป็นปลาตัวใหญ่บ้าง  บางครั้งตะแหลงเป็นคนเดินตามหาดทรายบ้างตรวจตราท้องน้ำ  หากมันเกิดอารมณ์อยากเล่นน้ำมันจะเล่นน้ำดีดน้ำเสียงดัง..โต้มต้าม....โต้มต้าม..สายน้ำฟ้งกระจายดั่งถูกก้อนหินใหญ่ทุ่มลง   หากผู้คนได้ยินเสียงน้ำจะรีบขึ้นจากแม่น้ำทันทีพร้อมกับสงบปากเงี้ยบ..เงียบไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเพราะกลัวว่าผีเงือกจำเสียงได้หากกลับลงน้ำเมื่อใดผีเงือกก็จะมาลากเอาตัวไป




    ในการกระทำพิธีเกี่ยวกับสายน้ำพ่อปู่อาจารย์(พิธีกร)  จะต้องกล่าวโองการถึงเทพยดาทุกหมู่เหล่าและต้องกล่าวอัญเชิญวิญญาณผีเงือกมาร่วมด้วย  เช่นว่า "   โอก๋าสะ......นาคฅรุฑปรมัยไอศวรย์เงือกน้ำวังใหญ่ จุ่งมา...."  เป็นต้น







    ตำนานเงือกทำให้ผู้ใหญ่เล่าสู่ลูกหลาน เพื่อป้องกันลูกหลานไปเล่นน้ำลึกโดยเฉพาะช่วงที่มีการชักลากไม้ซุงปล่อยลงน้ำเพื่อส่งท่อนซุงเป็นสินค้าลงเจ้าพระยา ตามแม่น้ำสายต่างๆไม่ว่าปิง  วัง  ยม    น่าน ล้วนมีไม้ซุงนับหมื่นๆท่อนไหลตามน้ำยามนี้เองซุงบางท่อนติดรากไม้ใกล้ฝั่งกระแสน้ำดันด้านเหนือใต้สลับกันทำให้ไม้ซุงกระดกหัวท้ายเหมือนไม้กระดานหกตามสนามเด็กเล่น   เด็กๆที่เห็นไม้กระดกด้วยกระแสน้ำจึงพากันไปนั่งเล่น  ด้วยเกรงจะเกิดอันตรายผู้ใหญ่จะห้ามปรามว่า 




    "      ระวังเน้อผีเงือกไม้ทุงจะเอาไปกิ๋น" 






    ทำให้เด็กกลัวแม้แต่ผู้เขียนก็ต้องหยุดได้แต่พากันนั่งบนฝั่งมองและช่วยกันนับจำนวนที่มันหกขึ้นลงหัวไม้ซุงฟาดน้ำทุ่ม..ท่าม...ทุ่ม...ท่าม ด้วยความนุกสนาน ส่วนในหน้าแล้งแม้น้ำจะมีระดับตื้นอยู่บ้างแต่ตามวังน้ำยังลึก มีเงิบเงื้อมฝั่งน้ำเป็นโพรงถืบถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกปลาไหลไฟฟ้าหากไม่ระวังตัวจับหรือถูกตัวมันก็จะเกิดอาการเหมือนไฟฟ้าดูดเพราะพิษของมันนั่นเอง







    -ผีเงือกน้ำเถื่อนถ้ำถืบผา  อยู่เงิบฝั่งนา   จักจ๋าไขแจ้ง

    ผิวหนังมัน    มีเมือกบ่แห้ง ลื่นไหลหลูดหลุดลุ่ยหลุ้ย

    ตั๋วเหมือนเหยี่ยน ยาวไหว-วก-วุ้ย  ฮักษากว๊านอั้นคงคา

    เวลาลงน้ำ   อย่าเข้าไปหา    มันจักบีฑา  จีวาต๋ายอ้อง...ฮื้ย...กั๋วแต๊..แต๊










    พะยูน ที่มาของนางเงือก






    นอกจากจินตนาการแล้วมีผู้กล่าวว่าเงือกจริงในธรรมชาติก็มี เป็นสัตว์น้ำประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษว่า”Sea Cow” ในภาษาไทยมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น พะยูน วัวทะเละ หมูน้ำหรือหมูทะเล ส่วนภาษามลายูเรียกว่า “Duyong” และภาษาชวา “Duyung”





    กล่าวกันว่าเดิมพะยูนนี้เป็นสัตว์บกมาก่อนชอบหากินในน้ำ ขาและหางจึงกลายภาพเป็นครีบเพื่อให้ว่ายน้ำสะดวก แต่ต้องขึ้นมาหายใจบนน้ำทุกๆ5-8นาที รูปร่างคล้ายโลมาแต่หัวและคอใหญ่แบบหมู มีหนวดสั้นและมีชนตามตัว เมื่อจะให้นมลูกต้องยกตัวขึ้นให้ พ้นน้ำ ดูไกลๆคล้ายกับผู้หญิงอุ้มลูก ลักษณะเช่นนี้เองอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเงือก ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งคนครี่งปลาตามที่ได้เล่ามาแต่ต้น








    ที่มาของข้อมูล  





    http://horoscope.thaiza.com/detail_107189.html
    :   NIKHOM   @  http://gotoknow.org/blog/nhanphromma/150606
    : เทาชมพู @ http://www.vcharkarn.com/varticle/256
    : Whan-famous  @ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=zercon&date=18-09-2007&group=7&gblog=12
    http://www.matichon.co.th/khaosod/rupaimode/

    : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81
    : http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81
    : Lucus @ http://www.chibimonchronicle.net/webboard/show.php?Category=digimon&No=01587&page=3






    รูปของนางเงือกงับ  ไม่รู้ทำไมคาเรียโพสรูปแทรกไม่ได้  มันหล่นมาอยู่ข้างล่างเฉยเลย   ไม่รู้จะแก้ยังไงดี  ก็เลย  เหอๆ   เอามาไว้ข้างล่างแล้วกันนะ












                 







                   


                                                   (http://www.illusionsgallery.com/mermaid-pyle.html)
         

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×