ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การแสดงสมัยใหม่

    ลำดับตอนที่ #2 : อุปรากร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.95K
      4
      22 ก.พ. 50

    อุปรากร

     

    คนส่วนมากเมื่อถูกถามว่า อุปรากรคืออะไร ก็คงจะตอบว่าคือการแสดงนาฏกรรมประกอบดนตรีอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่ผิด แต่ที่จริงแล้วอุปรากรเป็นนาฏกรรมชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยการแสดง การเจรจา การขับร้อง เพลง และฉาก เพลงดนตรีคือหัวใจสำคัญของอุปรากร อุปรากรตรงกับภาษาอังกฤษว่า โอเพอรา (opera) ฝรั่งเศสเรียกว่า โอเปรา (opera) เยอรมัน เรียกว่า โอเปอร์ (oper) และอิตาลีก็เรียกว่า โอเปรา (opera) ซึ่งมาจากคำเต็มว่า Opera in Musical หมายถึงการแสดงเกี่ยวกับดนตรี

    อุปรากรเป็นนาฏกรรมประกอบดนตรีที่ยอมรับนับถือว่าเป็นวิจิตรศิลป์ชั้นสูงเหนือกว่านาฏศิลป์สากลทั้งปวง อุปรากรเป็นแหล่งรวมของศิลปะหลายสาขา อาทิ ดนตรี บทกวีวรรณกรรมระบำ บทบาท ท่าทาง เครื่องแต่งกาย และฉาก ศิลปะเหล่านี้ต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยวิชาการและด้วยความสามารถอันสูง มีความประณีตวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ อุปรากรยังประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรมอีกหลายประการ เช่น สถานอุปรากร หรือสถานที่แสดง มารยาทและระเบียบของผู้ชม การเลือกเฟ้นผู้แสดงที่มีความสามารถเป็นเยี่ยม โดยเฉพาะในการขับร้อง ด้วยเหตุนี้ อุปรากรจึงเป็นศิลปะที่ประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วพากันสนใจและยอมรับในคุณค่ากันทั่วไป

    อุปรากรยุคแรกๆ

    การให้ความบันเทิงในรูปแบบของละครที่มีดนตรีประกอบนั้นเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณแล้ว แต่กลุ่มขุนนางชาวฟลอเรนไตน์กับผู้รักศิลปะทั้งหลาย อาทิ เคานท์บาร์ดี เปรี คาซซินี และคนอื่นๆที่พยายามจะพัฒนาการแสดงให้แปลกเปลี่ยนออกไปเมื่อใกล้สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปิดยุคอุปรากร ดนตรีในยุคนั้นถือตามหลักการผสมเสียงดนตรีหลายๆอย่างให้กลมกลืนกันอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นที่นิยมกันสำหรับเพลงในทางศาสนาหรือโบสถ์ แต่ไม่เหมาะนักที่จะนำมาใช้กับการแสดงละคร ดังนั้นกลุ่มขุนนางชาวฟาเรนไตน์และผู้รักศิลปะทั้งหลายในยุคฟื้นฟูจนถึงยุคอันรุ่งเรืองของกรีกและโรมในบรรพกาลก็ขวนขายที่จะหาทางริเริ่มสร้างรูปแบบของดนตรีที่คึกโครมขึ้น ความพยายามของกลุ่มศิลปินดังกล่าวนั้น ปรากฏให้เห็นได้จาก งานอุปรากรเรื่องแรก คือ เรื่อง ดาฟเน (Dafne) ซึ่งเปิดการแสดงครั้งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ ใน พ.. ๒๑๔๐ ผู้ประพันธ์บทร้องเป็น  จินตกวีชาวอิตาเลียนชื่อ ออตาวิโอ รินุชชินี (Ottavino Rinuccini) ส่วนดนตรีนั้น จาโคโป เปรี (Jacopo Peri) มักเป็นผู้ประพันธ์ เปรีเป็นนักดนตรีชาวอิตาเลียนที่สามารถผู้หนึ่งในสมัยนั้น แต่บางตอน จูลิโอ กัชชินี (Giulio Caccini) นักดนตรีร่วมชาติร่วมสมัยอีกผู้หนึ่งก็ร่วมประพันธ์ด้วย

     

    ดนตรีและเพลงในยุคต้นๆ

    ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงอุปรากรเรื่องแรกๆ นั้นมีเพียง 4 ชนิด คือ

    1. ฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord) เป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่งที่ใช้ลิ่มนิ้วคล้ายปิอาโน

    2. พิณ หรือ ฮาร์ป (Harp) เป็นเครื่องดีดอีกชนิดหนึ่ง

    3. ซอวิโอล (Viol) เป็นเครื่องสี ลักษณะคล้ายซอวิโอลอนเชลโล (Violoncello)

    4. ลิวต์ (Lute) เป็นเครื่องดีดคล้ายแมนโดลินขนาดใหญ่

    อุปรากรเรื่องแรกๆนั้น ยังมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์นัก ยังไม่มีเพลงแบบอาเรียหรือทำนองเพลงที่ไพเราะขับร้อง บทเจรจาก็ใช้คำพูดธรรมดาไม่มีลีลาการขับร้องกึ่งเจรจา แบบเรซิเตตีฟ(Recitative) เช่นอุปรากรในปัจจุบัน หลังจากนั้นอีก 3 ปีก็ได้มีการปรับรูปอุปรากรให้มีลักษณะที่เหมาะสมยิ่งขึ้น จากเรื่อง ยูรีดีเซ (Euridice) ของเปรี และกัชชินี ผู้สร้างเรื่อง ดาฟเน นั่นเอง อุปรากรเรื่องนี้ได้เปิดแสดงครั้งแรกใน พ.. ๒๑๔๓

     

    แนวทางของอุปรากรในระยะต่อมา

    แม้ว่าอุปรากรในสมัยแรกๆจะยังไม่สู้ละเมียดละไมนัก แต่ก็เป็นการเปิดทางใหม่ให้แก่การประพันธ์เพลงอุปรากร ซึ่งในที่สุดนักดนตรีมือเยี่ยมๆ เช่น คาริสซินี (Carissini) มอนเตแวร์ดี(Monteverdi) และ อเลสชานโดร สการ์ลัตตี (Alessando Scarlatti) ก็เข้าร่วมด้วยใน พ.. ๒๑๕๐มอนเตแวร์ดี ได้สร้างอุปรากรชื่อ ออร์เฟโอ (Orfeo)ขึ้น มอนเตแวร์ดีเป็นชาวเมืองมิลานที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างอุปรากรที่สำคัญผู้หนึ่งของโลกยุคแรก เป็นผู้พัฒนาอุปรากรโดยการเพิ่มเครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ให้มากขึ้นจาก 4 เครื่อง เป็น 36 เครื่อง ในเรื่อง ออร์เฟโอ นอกจากนั้นยังได้แต่งเติมวิธีขับร้องกึ่งเจรจาแบบ เรซิเตตีฟ ให้แนบเนียนมีชีวิตชีวาขึ้น ต่อจากนั้นก็มี อเลสซานโดร สการ์ลัตตี ชาวเนเปิลส์ ผู้สร้างทำนองเพลงขับร้องในอุปรากรให้ไพเราะยิ่งกว่าเดิมและเป็นผู้หนึ่งในบรรดานักประพันธ์เพลงอุปรากรยุคแรกที่สร้างเพลงแบบอาเรียให้สอดประสานเข้ากับบทเจรจาของตัวละครได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุนี้อุปรากรจึงได้ผ่านออกจากวงการแคบๆ ของกลุ่มขุนนางฟลอเรนไตน์มาพบกับหน้าที่ใหม่ เมื่อมีการนำอุปรากรมาใช้แสดงเพื่อเทิดเกียรติเจ้าชายผู้ยิ่งใหญ่ของนครต่างๆในอิตาลี สการ์ลัตตีเป็นผู้ที่พาอุปรากรให้ก้าวไกลออกไปสู่ความนิยมชมชอบของมหาชน ดังนั้นต่อมาจึงมีการสร้างอุปรากรสถานขึ้นในที่ต่างๆเพื่อสนองรับกับศิลปะชนิดใหม่นี้ โรงอุปรากรแห่งแรกคือ เทียโตร ดิ ซาน คัสเซียโนในเวนิส เมื่อ พ.. ๒๑๘๐

     

    การแพร่กระจายของอุปรากร

    หลังจากนั้น อุปรากรก็ได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆอย่างรวดเร็วในอังกฤษ เพอร์เซล(Purcell) ก็สร้างอุปรากรขึ้นในลอนดอน รวมทั้งนาฏกรรมอื่นๆอีกหลายเรื่อง ฮันเดล (Handel) นักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันก็มาสร้างงานเด่นๆในอังกฤษไว้หลายเรื่องใน พ.. ๒๒๔๓ ได้มีการปฏิรูปอุปรากรครั้งใหญ่อีกระยะหนึ่ง กลูก (Gluck) นักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันคนสำคัญแห่งยุคนี้ได้ปรับปรุงแบบแผนอุปรากรใหม่อย่างสิ้นเชิง และกว่าวงการศิลปะจะยอมรับแนวทางของกลูกๆต้องต่อสู้อย่างหนัก ปัจจุบันอุปรากรของกลูกได้รับการยกย่องอย่างสูง และมีอิทธิพลต่องานของนักประพันธ์ เพลงชั้นนำของเยอรมันในสมัยติอมาอีกหลายคน เช่น โมซาร์ท เบโธเฟน สปอห์รา ชื่อเสียงของกลูกยังก้องอยู่คู่กับอุปรากรยิ่งใหญ่ของเขาหลายเรื่อง เช่น เรื่อง อิฟิเจนี อัง โอลิด (Iphigenie en Aulide) และเรื่อง ออร์ฟิอุส แอนด์ ยูรีดีเซ (Orpheus and Euridice)

     

    อุปรากรที่เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ อุปรากรอิตาเลียนได้เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยฝีมือของนักประพันธ์เพลงอุปรากรชั้นนำของโลก กล่าวคือ ในอิตาลีได้แก่ รอสซินี(Rossini) แวร์ดี (Verdi) ปุชชีนี (Puccini) และ มาสกานญี (Mascagni) ในเยอรมนีก็มี วากเนอร์(Wagner) วากเนอร์เป็นคนสำคัญยิ่งของวงการอุปรากรในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และมีความสามารถอันเลิศ เป็นผู้ประพันธ์ทั้งเนื้อเรื่อง บทร้อง ทำนองเพลง และยังเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีด้วยตนเองด้วย วากเนอร์ถือว่า ในอุปรากรนั้นศิลปะของดนตรี บทบาทผู้แสดงตามบทกวี ดนตรี และการจัดฉากต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ดังนั้นอุปรากรของวากเนอร์จึงเพียบพร้อมไปด้วยศิลปะอันสูงเยี่ยมเท่าที่อุปรากรจะพึงมี วากเนอร์ได้เติมแนวแปลกๆใหม่ๆ ให้แก่อุปรากรหลายประการ อาทิ ให้ดนตรีมีทำนองที่ไพเราะ มีการบรรยายภาพเหตุการณ์ด้วยดนตรีอย่างชัดเจน เสียงประสานของดนตรีหนักแน่น

    องค์ประกอบต่างๆ ของอุปรากรให้ก้าวหน้าตามแนวทางแห่งความสามารถของตนในทุกทิศทาง อาทิ ในเรื่อง ดนตรี บทร้อง เนื้อเรื่อง บทบาท ผู้แสดง เครื่องแต่งกาย และฉาก มีการเลือกเฟ้นและฝึกหัดผู้แสดงให้มีความวสามารถถึงขนาดการจัดเวทีและการกำกับการแสดงก็มีความสำคัญไม่น้อยและทุกสิ่งจะต้องสัมพันธ์กัน องค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่ช่วยเสริมสร้างให้อุปรากรเป็นวิจิตรศิลป์อันเพียบพร้อมสูงส่งจนยากที่จะหานาฏศิลป์สากลประเภทใดทัดเทียมได้

     

    องค์ประกอบของอุปรากร

    องค์ประกอบเบื้องต้น

    องค์ประกอบที่สำคัญเบื้องต้นของอุปรากรก็คือเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องในอุปรากรมีอยู่ 2 อย่างคือ บทขับร้อง และบทเพลงดนตรี บทขับร้องนั้นมักแต่งเป็นร้อยกรอง ดำเนินตามเนื้อเรื่องแบบเดียวกับบทเจรจาของละครพูด แต่ในอุปรากรใช้ขับร้องแทน ส่วนบทเพลงดนตรีนั้น มีทั้งเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการขับร้องและที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ผู้ประพันธ์บทเพลงดนตรีเรียกว่า คอมโพสเซอร์ ( Composer ) เนื้อเรื่องของอุปรากรก็ได้มาจากตำนาน เทวนิยาย นิทานโบราณ หรือนวนิยาย ดังนั้นบางครั้งจึงมีผู้ร่วมงานในเบื้องแรกนี้ช่วยด้วย เช่นผู้เรียบเรียงเนื้อเรื่องที่จะสร้างเป็นอุปรากร แบ่งออกเป็นองค์ และ เป็นฉาก ต่อจากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ประพันธ์บทขับร้องที่แต่งเป็นร้องกรองทั้งนี้เนื่องจากผู้ประพันธ์บางคนอาจมีความสามารถทางกวีนิพนธ์ แต่ไม่อาจแต่งเนื้อเรื่องได้ แต่ก็มีบางคนที่สามารถประพันธ์ได้ทั้งเนื้อเรื่อง บทขับร้องที่เป็นร้อยกรอง รวมทั้งบทเพลงดนตรีด้วย เช่น ริชาร์ด วากเนอร์ เป็นต้น

    ดนตรีกับอุปรากร

    การแสดงอุปรากรต่างกับการแสดงละครตรงที่ผู้แสดงใช้การเจรจากันด้วยการขับร้องตามบทร้อยกรองแทนการเจรจาด้วยคำพูดธรรมดาแบบละครพูด ดังนั้นดนตรีจึงมีความสำคัญยิ่งต่ออุปรากร ถ้าไร้ดนตรีอุปรากรก็สิ้นค่า ดนตรีจึงเป็นเสมือนเส้นโลหิตที่หล่อเลี้ยงให้อุปรากรมีชีวิตจิตใจ ด้วยเหตุนี้เอง อุปรากรจึงได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานของผู้ประพันธ์เพลง กล่าวคือ เรามักจะเรียกว่า อุปรากรเรื่องไอดา เป็นของแวร์ดี แทนที่จะถือว่าเป็นเรื่องของมาเรียตเบย์ผู้สร้างโครงเรื่อง หรือ อันโตนิโอ กิสลันโนซี ผู้แต่งบทคำร้อง หรือเรียกเรื่องคาร์เมนว่าเป็นของบิเซต์ แทนที่จะถือว่าเป็นของปรอสแปร์เมริเม ผู้แต่งนวนิยายต้นเรื่อง หรือของอังรี ไมล์ฮาก กับ ลิวโอวิก ฮาเลวี ผู้แต่งบท อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวของอุปรากรแต่ละเรื่องแล้ว ก็ไม่อาจที่จะเว้นกล่าวถึงผู้นิพนธ์เนื้อเรื่อง หรือผู้ประพันธ์บทขับร้องเสียได้

     

    ผู้แสดงอุปรากร

    บทบาทผู้แสดง

    เมื่ออุปรากรเริ่มเปิดฉากการแสดงแล้ว เรื่องก็จะดำเนินไป ผู้แสดงจึงมีบทบาทอันสำคัญใน อัน ที่จะต้องชูชุบให้ อุปรากรนั้น มีชีวิตวิญญาณ ซึ่งจะต้องใช้ความสามารถอันสูง ผู้แสดงอุปรากรจะต้องเป็นนักร้องที่มีเสียงไพเราะ ดังแจ่มใส กังวาน ทั้งยังจะต้องสามารถแสดงบทบาทให้สอดคล้องกลมกลืนกับเพลงที่ขับร้องด้วย ดังนั้นผู้แสดงจึงต้องผ่านการฝึกมาแล้วอย่างดี ผู้แสดงอุปรากรนี้เรียกว่า Operatic Singer นัยหนึ่งก็คือ นักร้องเพลงอุปรากรนั่นเอง

    เสียงร้องของผู้แสดง

    ผู้แสดงอุปรากรย่อมจะมีเสียงร้องสูงต่ำไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ก่อนเปิดฉากการแสดงอุปรากรที่เรียกว่า เพลงแบบโอเวอร์เชอร์ (Overture) ความประสงค์ของเพลงโอเวอร์เชอร์ก็คือ เพื่อเรียกร้องความสนใจ และเป็นสัญญาณจองการเริ่มเป็นการแสดง ตามความหมายของชื่อเพลงที่มาจากภาษาลาตินว่า โอเปริโอ (Operio) แปลว่าเปิด

    นอกจากเพลงโหมโรงแบบโอเวอร์เชอร์แล้ว ยังมีเพลงนำขนาดสั้นๆที่เรียกว่า เพลงแบบ พรีลูด (Prelude) อีกด้วย โดยเฉพาะ ริชาร์ด วากเนอร์ นิยมใช้เพลงแบบพรีลูด บรรเลงนำก่อนเปิดฉากการแสดงอุปรากรของเขาทุกองค์ องค์หนึ่งก็มีเพลงนำแบบพรีลูด ประจำโดยเฉพาะแทนที่จะใช้เพลงโอเวอร์เชอร์บรรเลงนำเพียงเมื่อตอนก่อนเปิกฉากแรกของอุปรากรเท่านั้น

     

     

     

    เพลงซีเล็กชั่นหรือแฟนตาเซีย

    เนื่องจากในอุปรากรเรื่องหนึ่งๆ จะมีบทเพลงที่ไฟเราะซึ้งใจหลายเพลง จึงได้มีการเลือกตัดตอนบทเพลงบางส่วนที่ไพเราะมากหรือสำคัญมากจากอุปรากรเรื่องนั้นๆมาเรียบเรียงใหม่ให้ต่อเนื่องกันขึ้น เพลงแบบนี้เรียกว่าเป็น เพลงแบบซีเล็กชั่น (Selection – แปลว่า การเลือกคัด ) หรือแฟนตาเซีย (Fantasia – แปลว่า ความคำนึงฝัน) เพลงแบบซีเล็กชั่น หรือแฟนตาเซียนี้แม้ว่าจะเรียกชื่อกันคนละอย่าง แต่ก็มีวิธีการเรียบเรียงเพลงอย่างเดียวกัน กล่าวคือ จะประกอบด้วยบทเพลงตอนที่สำคัญๆของหลายๆเพลงมาเรียงลำดับให้ติดต่อกับเป็นเพลงใหญ่บทเดียวตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ใดๆ ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเรียงลำดับเพลงใดก่อนหรือหลัง และไม่จำต้องเรียงเพลงตามลำดับองก์หรือฉากในอุปรากรเรื่องนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าผู้เรียบเรียงจะต้องคัดเลือกเพลงแต่ละตอนมาเชื่อมโยงกันนั้นให้มีลักษณะที่ตัดกัน เข่นทำนองเพลงตอนหนึ่งมีจังหวะช้า อ่อนโยน ก็จะต่อด้วยทำนองที่มีจังหวะเร็วเร้าใจ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ฟังได้เปลี่ยนอารมณ์ เนื่องจากในการดูอุปรากรนั้นย่อมจะได้เห็นตัวละครแสดงไปตามบทบาท แต่เมื่อนำมาเป็นบทเพลงที่ใช้ฟังแล้ว ฟังไม่มีโอกาสได้เห็นตัวละคร จึงต้องจัดลำดับแต่ละตอนของเพลงที่นำมาเชื่อมต่อกันนั้นให้มีลูกล้อลูกขัดกัน เพื่อให้เกิดรสชาติในการฟัง บทเพลงซีเล็กชั่นและแฟนตาเซียนี้นิยมกันทั่วไปในการเรียบเรียงเพลงจากอุปรากรโดยเฉพาะ และมักเรียกว่า โอเปราติก ซีเล็กชั่น (Operatic Selection)

     

    เพลงแบบอื่นๆของอุปรากร

    นอกจากการเรียบเรียงเพลงแบบซีเล็กชั่น หรือแฟนตาเซียในอุปรากรแล้ว ยังมีการเรียบเรียงเพลงจากอุปรากรอื่นๆอีกหลายแบบ เช่น เพลงแบบโปต์ปูร์รี ( Potpourri – เป็นศัพท์ฝรั่งเศสแปลว่า ยำใหญ่ ) และ เพลงแบบเมดลี (Medley – เป็นศัพท์อังกฤษ แปลว่า การประสมประเสกัน )การเรียบเรียงเพลงแบบที่กล่าวนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ในการเรียบเรียงเช่นเดียวกัน บางครั้งก็มีการนำเพลงวอลท์ (Waltz) ต่างๆมาเรียบเรียงประสมกันเรียกว่า วอลท์ซ เมดลี ( Waltz Medley) บางทีก็เป็นเพลงมาร์ช (March) เรียกว่า มาร์ชเมดลี (March Medly) ถ้าเป็นเพลงโอเวอร์เชอร์ (Overture) ประสมต่อกันก็เรียกว่า โอเวอร์เชอร์เมดลี (Overture Medley) ข้อสำคัญก็คือในการเรียบเรียงเพลงที่นำมาประสมติดต่อกันนี้จะต้องมีลักษณะที่เป็นลูกล้อลูกขัดกันเพื่อมิให้ผู้ฟังเบื่อหู

     

    อุปรากรชนิดต่างๆ

    ปัจจุบันอุปรากรได้พัฒนาออกไปมากมาย จึงเกิดมีอุปรากรขึ้นหลายแบบหลายชนิด ซึ่งอาจ

    บ่งได้ ดังนี้

    1. แบลแลด โอเพอรา (Ballad Opera) เป็นอุปรากรเบาๆหรือชวนหัว บทเจรจาใช้คำพูดธรรมดา อาจเป็นบทร้อยกรองบ้าง มีดนตรีบรรเลงประกอบเพียงบางตอน อุปรากรแบบนี้นิยมกันในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18

    2. แชมเบอร์ โอเพอรา (Chamber Opera) เป็นอุปรากรขนาดสั้น ใช้เวลาแสดงไม่นาน วงดนตรีที่ใช้บรรเลงเป็นวงเล็กๆแบบจุลดุริยางค์ มีการขับร้องหมู่แบบคอรัสแต่ไม่ใหญ่โตหนัก ผู้แสดงอาจเป็นพวกสมัครเล่นไม่ใช่นักแสดงอาชีพ

    3. คอมิก โอเพอรา (Comic Opera) หรือ หัสอุปรากร เป็นอุปรากรชวนหัว คล้ายกับแบบของอิตาเลียนที่เรียกว่า โอเพอรา บูฟฟา (Opera Buffe) อุปรากรแบบนี้ถือว่าเป็นจุลอุปรากร หรืออุปรากรขนาดเบา มีบทเจรจาที่เป็นคำพูดธรรมดากับบทร้อยกรองที่ใช้ขับร้อง มีดนตรีบรรเลงประกอบตามสมควร บทเพลงขับร้องมีทั้งเพลงแบบอาเรีย เพลงตลก เพลงขับร้องคู่แบบดูเอต ขับร้อง3 แบบทรีโอ ขับร้องสี่คนแบบ ควอเตทหรือขับร้องหมู่แบบคอรัส มีเพลงจบที่โอ่อ่า ขับร้องเดี่ยวพร้อมกันหลายเสียง ผสมหมู่คอรัสตอนจบเรื่อง

    4. แกรนด์ โอเพอรา (Grand Opera) หรือ มหาอุปรากร เป็นมหาอุปรากรที่ยิ่งใหญ่ มีแบบแผนเคร่งครัด จริงจัง เนื้อเรื่องสะเทือนใจรุนแรง บทเจรจาใช้ขับร้องแบบเรซิเตตีฟและขับร้องเป็นบทเพลงตลอด มหาอุปรากรส่วนใหญ่เป็นแบบของฝรั่งเศส ที่ถือกำเนิดก่อตั้งขึ้นใน พ.. 2212 จนถึงปีที่มีการประกาศเสรีภาพแห่งการละคร” (Libertedes theatres) ใน พ.. 2334 ทางการผูกขาดการแสดงมหาอุปรากรแต่ผู้เดียวตามแนวทางของ กลูก และราโม

    5. โอเปรา โคมิก (Opera Comique) เป็นอุปรากรแบบฝรั่งเศส มีบทเจรจาเป็นคำพูดธรรมดาแทรกบ้าง อุปรากรแบบนี้เกิดขึ้นเนื่องจากทางการฝรั่งเศสห้ามเอกชนแสดงมหาอุปรากร แม้อุปรากรแบบนี้จะมีชื่อว่าโคมิกซึ่งแปลว่า ชวนหัว แต่ที่จริงแล้วมิใช่อุปรากรชวนหัวทุกเรื่อง บางเรื่องอาจเป็นโศกนาฏกรรมเกินใจ บทเจรจามีการขับร้องแบบเรซิเตตีฟแทรกคำพูดธรรมดา มิได้เป็นแบบเรซิเตีฟทั้งเรื่องเช่น มหาอุปรากร

    6. โอเปรา ซีเรีย (Opera Seria) เป็นอุปรากรที่ให้อารมณ์สะเทือนใจรุนแรงอาจเป็นเรื่องเศร้ารันทดใจ หรือองอาจกล้าหาญเช่นเดียวกับมหาอุปรากร แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากระนั้นก็มีลักษณะตรงกันข้ามกับ แบลเลด โอเพอรา และ โอเปรา บูฟฟา

    7. ซิงสปิล (Singspiel) เป็นอุปรากรที่มีบทเจรจาเป็นคำพูด ลักษณะคล้ายกับแบลแลด โอเพอราของอังกฤษ และ โอเปรา บูฟฟา ของอิตาเลียน

    อนึ่งยังมีนาฏกรรมอีกบางแบบที่มีลักษณะเช่นเดียวกับหรือคล้ายกับอุปรากรแต่มิได้เรียกว่า

    อุปรากร ซึ่งได้แก่เช่น

    1. มิวสิก ดรามา (Music Drama) นาฏกรรมแบบนี้มีลักษณะเหมือนอุปรากรทุกอย่าง แต่เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับเทวนิยาย หรือนิยายโบราณ เป็นเรื่องตื่นเต้น อาจเกี่ยวกับตำนานอันเกรียงไกรของเทพเจ้า อภินิหารต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ชีวิตจริงในโลกมนุษย์ แต่นาฏกรรมแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีผู้เรียกกันนักนอกจาก ริชาร์ด วากเนอร์เท่านั้น

    2. เมโล ดรามา (Melodrama) เป็นนาฏกรรมสะเทือนอารมณ์อีกแบบหนึ่ง ตัวละครเจรจาด้วยคำพูดธรรมดา มีดนตรีบรรเลงประกอบเหตุการณ์ในเรื่องเป็นบางตอน

    3. มิวสิคัล คอมเมดี (Musical Comedy) เป็นนาฏกรรมที่มีลักษณะเป็นเรื่องชวนหัวมีการแสดงระบำประกอบ ตัวละครใช้คำพูดธรรมดา มีการขับร้องประกอบบ้าง มีดนตรีบรรเลงประกอบในบางตอน

     

    อุปรากรสถาน

                ปัจจุบัน อุปรากรได้พัฒนาไปไกลมาก เนื่องจากได้แนวความคิดใหม่ในด้านการประพันธ์เพลง การออกแบบสร้างฉาก การเรียบเรียงเนื้อเรื่องและบทขับร้อง ทั้งนี้โดยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ดังนั้นอุปรากรในทุกวันนี้จึงมีความแปลกใหม่ยิ่งกว่าศตวรรษก่อนๆ ไม่น้อย ความนิยมในอุปรากรก็ได้แพร่กระจายไปทั่ว มีการสร้างอุปรากรสถานที่โอ่อ่างดงามด้วย สถาปัตยศิลป์ในอารยประเทศหลายแห่ง
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×