การอ่าน \"อะกึ่งเสียง\" ในภาษาไทย - การอ่าน \"อะกึ่งเสียง\" ในภาษาไทย นิยาย การอ่าน \"อะกึ่งเสียง\" ในภาษาไทย : Dek-D.com - Writer

    การอ่าน \"อะกึ่งเสียง\" ในภาษาไทย

    เดี๋ยวนี้ ไม่อ่าน \"อะกึ่งเสียง\" กันแล้วหรือ ?

    ผู้เข้าชมรวม

    11,476

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    89

    ผู้เข้าชมรวม


    11.47K

    ความคิดเห็น


    4

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  11 ก.ค. 46 / 15:38 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      การอ่านออกเสียงอะกึ่งเสียงในภาษาไทยนั้น หมายถึง การอ่านออกเสียง “อะ” ไม่เต็มเสียงตามมาตราตัวสะกด ต่างจากการอ่านออกเสียงคำที่ประสมด้วยสระอะอย่างโดด ๆ เช่น จะ พระ ละ ปะ ฯลฯ แต่เมื่อมีพยางค์อื่นต่อท้ายศัพท์เหล่านั้นแล้ว ไม่ว่าศัพท์นั้นจะมีรูปสระอะปรากฏอยู่หรือไม่ก็ตาม ก็ให้อ่านออกเสียงเป็นอะกึ่งเสียงทั้งสิ้น เช่น ระหว่าง ระบบ ระเบียบ ทะลุ จะยกเว้นก็เฉพาะคำที่เป็นคำซ้อนเท่านั้น เช่น ละทิ้ง เป็นต้น

      หากเราศึกษาเอกสารไทยโบราณแล้ว เราจะพบว่าคนไทยในอดีตนั้นมีการเขียนที่เป็นไปตามเสียงของคำ มิได้เขียนตามพจนานุกรมที่เป็นรูปแบบตายตัว ดังนั้น เราจึงพบว่าการสะกดพยัญชนะหรืออักขรวิธีของคนไทยแต่เดิมนั้น ไม่ค่อยจะเป็นระเบียบแบบแผนที่แน่นอน จนทำให้คนไทยในปัจจุบันที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ได้กล่าวตำหนิบรรพบุรุษของเราเองว่าไม่ค่อยรู้หนังสือ ทำให้เขียนหนังสือไม่ค่อยถูก เพราะแม้แต่คำคำเดียวกัน เอกสารฉบับเดียวกัน ก็สะกดไม่ค่อยจะตรงกันนัก เช่น สอพลอ ก็อาจจะสะกดเป็น สอภลอ ศอพลอ ษอภฦอ ษอพลอ ษภลอ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เนื่องจากการสะกดไปตามเสียงเป็นสำคัญนั่นเอง

      จากที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้นว่า การสะกดตามเอกสารโบราณของไทยจะกดตามเสียงที่ปรากฏเป็นสำคัญ ผู้ที่ศึกษาอักขรวิธีของเอกสารโบราณ จึงมักจะคุ้นเคยการสะกดคำที่เป็น “อะกึ่งเสียง” เป็นอย่างดี เช่น พระยา ก็จะเขียนเป็น พร่ยา เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพยางค์ “พระ” ในคำนี้ให้ออกเสียงเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ยังเห็นได้จากคำ ร่บบ ร่เบียบ ร่หว่าง ร่มัดร่วัง ท่ลุ ฯลฯ อีกด้วย

      ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าการอ่านออกเสียงอะกึ่งเสียงในภาษาไทยเริ่มจะเลือนลงไปมาก โดยเฉพาะการอ่านออกเสียงที่ผ่านทางสื่อมวลชน เช่น นักข่าว พิธีกร ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ เอกชน ก็อ่านออกเสียงไปในแนวเดียวกันไปเสียหมด นั่นคือ เริ่มอ่านออกเสียงคำที่ต้องอ่านเป็นอะกึ่งเสียง กลายเป็น อะเต็มเสียง บ้างก็อ้างว่าควรอ่านอะกึ่งเสียงเฉพาะคำที่ไม่มีรูปสระอะปรากฏอยู่ จึงจะถูก บ้างก็อ้างว่าเพื่อให้ออกเสียงคำอย่างถูกต้องชัดเจน ตรงตามอักขรวิธีไทย

      เมื่อเราศึกษาหรือสังเกตการอ่านออกเสียงของพิธีกรหรือนักข่าวเหล่านั้นแล้ว เราก็จะเห็นว่าคำกล่าวอ้างเหล่านั้นไม่เป็นความจริงเลย เพราะแม้แต่คำที่ไม่มีรูปสระอะปรากฏอยู่ บุคคลเหล่านั้นก็อ่านออกเสียงให้เป็นอะเต็มเสียงได้อย่างชัดเจน ไม่น้อยไปกว่าคำที่มีรูปสระอะปรากฏอยู่เลย เช่น พิธีกรช่วงข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ก็อ่านคำ “รัฐสภา” ว่า รัด-ถะ-สะ-พา ซึ่งออกเสียงพยางค์ “ถะ” และ “สะ” อย่างชัดเจน มีน้ำหนักของคำเท่ากับคำ “ถะ” หรือ “สะ” โดด ๆ ที่ไม่มีพยางค์อื่นมาประกอบ ไม่มีการลดเสียงลงให้เหลือกึ่งหนึ่ง คือ รัด-ถ่ะ-ส่ะ-พา เลยแม้แต่น้อย

      นอกจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีแล้ว เราก็ยังสามารถได้ยินการอ่านออกเสียง “อะเต็มเสียง” ในคำที่ควรเป็นอะกึ่งเสียงจากสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง หรือจากสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกคลื่น โดยเฉพาะคำว่าระหว่าง ระบบ ระเบียบ ก็ไม่ได้เคยได้ยินพิธีกรหรือผู้สื่อข่าวที่วัยต่ำกว่า ๔๐ ปี ออกเสียงเป็น ร่หว่าง ร่บบ ร่เบียบ คงเหลือแต่การออกเสียงเป็นอะเต็มเสียงกันแล้วทั้งนั้น รวมไปถึงเยาวชนไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนา ณ กรุงเทพมหานครอยู่แล้ว หรือเป็นผู้ที่มาจากภูมิลำเนาอื่นก็ตาม ก็ดูจะลืมเลือนการอ่านออกเสียงของ “อะกึ่งเสียง” กันไปเสียหมดแล้ว

      เมื่อสังเกตการออกเสียงแล้ว อย่างน้อย ๆ เราก็ยังอาจจะพอใจชื้นอยู่ได้บ้างที่มักปรากฏปัญหาเฉพาะคำที่สะกดด้วย “ระ” หรือ “-ระ” (เช่น พระ โดยเฉพาะการอ่านชื่อแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ออกเสียงเป็นแม่น้ำ เจ้า “พระ” ยา กันหมดแล้ว) แต่คำที่สะกดด้วยพยัญชนะอื่น ๆ นั้นก็ยังคงอ่านออกเสียงเป็นอะกึ่งเสียงกันอยู่ เช่น ทะลุ (ท่ลุ) ประเภท (ปร่เภท) ประสบการณ์ (ปร่สบการณ์) หากว่าเมื่อใดที่เยาวชนไทยเริ่มอ่านออกเสียงคำ “ทะลุ” เป็น “ทะ” - “ลุ” แล้วล่ะก็ นั่นก็อาจกล่าวได้ว่คำอะกึ่งเสียงในภาษาไทยนั้นได้สูญหายไปจากชาติไทยแล้วโดยสิ้นเชิง

      ไม่แน่นักสักวันหนึ่ง ผู้ที่ทำงานวิจัยหรือทำวิทยานิพนธ์ด้านภาษาศาสตร์ภาษาไทย ก็อาจได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การแปรของเสียงคำอะกึ่งเสียงในภาษาไทย” และต้องไปเก็บข้อมูลภาษาจากผู้ที่มีอายุเกิน ๘๐ ปี เพราะผู้ที่อายุน้อยกว่านั้นไม่มีการอ่านออกเสียงอะกึ่งเสียงอีกแล้ว…ก็เป็นได้




      สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
      ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×