ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Sweet Candy Company ; รับวิจารณ์นิยายรักหวานแหวว+แฟนฟิค

    ลำดับตอนที่ #5 : ☆ Sweet Candy : เทคนิคการวิจารณ์นิยาย [นักวิจารณ์ทุกท่านเข้ามาอ่านด้วยนะคะ]

    • อัปเดตล่าสุด 14 มี.ค. 53


    พื้นฐานการวิจารณ์นิยาย หรือที่วัยรุ่นสมัยนี้เรียกว่า "สับ" ที่ใครๆ ก็ทำได้

     

    การวิจารณ์หรือการสับนิยายนั้น มีหลายคนชื่นชอบการสับนิยายกัน แต่ส่วนใหญ่เท่าที่อ่านยังสับได้ไม่ถูกวิธี  หรือไม่ก็เข้าไปสับเพราะเกิดหมั่นไส้ จงใจเข้าไปด่า เข้าไปหาเรื่องทำให้เจ้าของนิยายเสียหายมากกว่า  และก็มีอีกหลายต่อหลายคนที่อยากสับนิยายบ้าง แต่ไม่รู้จะสับอย่างไรดี เพราะไม่มีพื้นฐาน หรือไม่กล้าสับ


                วันนี้มีวิธีการสับนิยายอย่างง่ายๆ ใครก็ทำได้มาสอนเล็กน้อย เพื่อให้เป็นประโยชน์กับนักวิจารณ์นิยายทุกท่าน

    อันดับแรก เรามาทำความเข้าใจก่อนว่า การสับ(วิจารณ์)นิยายนั้น สำคัญมากที่ผู้สับต้อง
              1. วิจารณ์อย่างไม่มีอคติเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ไม่ว่าจะเป็นฉันทคติ(ลำเอียงเพราะรักใคร่)  โมโหคติ(ด้วยความโกรธแค้น) อันเป็นไปในลักษณะการก่อเพื่อทำลาย
              2. ต้องไม่ยึดมั่นต่อสิ่งใดมากเกินไป ควรยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ
              3. วิจารณ์โดยไม่ใช้ภาษาที่โอ้อวด หยิ่งลำพอง
                4. พึงระลึกไว้ว่าการวิจารณ์คือการชี้จุดเด่นจุดด้อยของเจ้าของผลงาน เพื่อช่วยยกระดับนิยายให้มีคุณภาพมากขึ้น


    วิธีการสับ
                ก่อนอื่นต้องหัดอ่านนิยายอย่างละเอียดใคร่ครวญ สังเกต วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และตั้งคำถามกับเนื้อเรื่องได้  การวิจารณ์คือการเพิ่มเวลาในการอ่านอย่างมีวิจารณญานนั่นเอง  ที่สำคัญการอ่านต้องไม่ปล่อยตัวไปกับตัวบทวรรณกรรม จนถูกครอบงำหรือถูกชักจูงจากผู้แต่ง เคลิบเคลิ้มไปกับตัวบท คือเราการอ่านแบบถอยออกมาเพื่อเพ่งพินิจ (Perceptive) ไม่ให้ตกหลุมพรางแห่งความเวทนา (Pathelic Fallacy) คือการที่ผู้อ่านเอาตัวเองเข้าไปผูกพันกับตัวละครหรือเนื้อเรื่อง จนเกิดความหลงใหลและขาดความเป็นกลาง
                การสับที่ดีต้องรู้จักแยกนิยายออกเป็นส่วนๆ สำหรับการพินิจพิจารณา เพื่อให้ง่ายต่อการวิจารณ์และวิจารณ์อย่างมีหลักเกณฑ์

    องค์ประกอบของนิยายรวมถึงการวิจารณ์ในแต่ละส่วนนั้นมีดังนี้

    ชื่อเรื่อง (Name)
                ชื่อมีความสำคัญไม่แพ้เนื้อเรื่อง เพราะมันคือด่านแรกที่ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับนิยาย การสับนั้น เราต้องดูว่าชื่อเรื่องน่าสนใจ จำง่าย ชวนให้ติดตามอ่านเนื้อในหรือไม่ ชื่อเรื่องควรเป็นอะไรที่แปลก ท้าทาย มีปริศนาอยู่ในที ชื่อเรื่องจะมีความสัมพันธ์กับการเปิดเรื่องหรือปุริมบทและมีผลต่อเนื้อเรื่อง

    โครงเรื่อง (Plot)
                โครงเรื่องเปรียบเหมือนกระดูกสันหลัง คือเหตุการณ์ของการทำให้เกิดเรื่องขึ้นและดำเนินไปจนจบ การสับต้องสังเกตดูว่าผูกเรื่องได้ดีหรือไม่ สมเหตุสมผลไหม ที่ประกอบกันเป็นเนื้อหา เช่น เรื่องราว บรรยากาศ เวลา ปัญหาข้อขัดแย้ง และข้อคิดมีความน่าสนใจหรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องสอดคล้องมีไหม

    ฉาก (Setting)

                สิ่งแวดล้อม  เวลา และสถานที่ในเรื่อง เวลาสับดูว่าเกิดขึ้นที่ไหน ระยะเวลาฤดูกาลใด บรรยากาศพาให้เกิดความรู้สึกเช่นไร มีการพรรณนาฉากผู้แต่งบรรยายได้ชัดเจนหรือไม่ ฉากใดบ้างที่ทำได้ดี ประทับใจเพียงใด หรือการสร้างฉาก คนแต่งได้เตรียมอารมณ์ให้ผู้อ่านเข้ากับเหตุการณ์ที่ปรากฎขึ้นดีเพียงไหน

    ตัวละคร (Character)
                ดูว่าในเรื่องนั้นมีตัวละครสำคัญๆ กี่ตัว ตัวประกอบกี่ตัว แต่ละตัวอยู่ในวัยไหน คนแต่งแสดงบุคลิกลักษณะของตัวละครออกมาได้เด่นชัดหรือไม่ มีลักษณะรูปร่างหน้าตาและอุปนิสัยอย่างไร สมจริงเหมือนคนทั่วๆ ไปหรือไม่ ตัวละครแต่ละตัวมีบทบาทต่อเนื้อเรื่องมากน้อยเพียงไหน

    บทสนทนา (Dialouge)
                บทพูดนั้นถูกวางน้ำหนักความสำคัญสำหรับการเคลื่อนหรือดำเนินเรื่องโดยผ่านกระแสสำนึก เราต้องพิจารณาว่าบทพูดคุยทำให้ผู้อ่านรู้สึกสมจริงสมจังเหมือนได้ร่วมฟังด้วยหรือไม่ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นความจริงหรือไม่ บทสนทนามีความน่าเบื่อหน่ายหรือไม่ การสนทนาได้ให้ข้อมูลทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต รวมถึง ทัศนคติ ความสนใจ รวมถึงปฏิกิริยาต่อเรื่องหรือเหตุการณ์ต่างๆ หรือไม่
                สรุปคือ บทพูดน่าสนใจ น่าติดตาม มีประโยชน์มีจุดประสงค์ชัดเจนหรือไม่ มิใช่นึกอะไรได้ก็ใส่ๆ ไป ทำให้ซ้ำซากวกวนจนเป็นขยะรุงรังในเนื้อเรื่อง

    การเปิดเรื่องหรือปุริมบท (Opening หรือ Exposition)
                การเปิดเรื่องเป็นสิ่งสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ดูว่าผู้แต่งใช้วิธีใดในการเปิดเรื่อง เช่น เปิดด้วยบทสนทนา เปิดด้วยการวางฉาก เปิดด้วยการบรรยายตัวละคร เปิดด้วยพฤติกรรมของตัวละคร
                ดูว่าเปิดเรื่องได้มีเสน่ห์หรือน่าสนใจชวนให้ติดตามหรือไม่ เกิดความกระหายที่จะอ่านต่อหรือไม่อย่างไร มีปมอะไรซ่อนอยู่หรือไม่

    การดำเนินเรื่อง (Movement of the Story)
                การสับต้องสังเกตดูว่าผู้แต่งใช้ตัวละครใดเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง มีการโยงเรื่องติดต่อไปเป็นลำดับๆ เร้าใจหรือไม่ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญรออยู่ข้างหน้าหรือไม่ อืดอาดยืดยาดหรือไม่ มีสัมพันธภาพไหม เหตุการณ์ที่ดำเนินมีความยาวเหมาะสมกับเนื้อหาที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอหรือไม่
                การดำเนินเรื่องต้องมีเงื่อนงำ ความขัดแย้ง และขัอขัดแย้งได้ทวีซับซ้อนมากขึ้นๆ จนดำเนินไปถึงจุดที่เขม็งเกลียวที่สุด จนกระทั้งแตกหัก เกิดความเปลี่ยนแปลก แล้วผ่านไปให้ได้ซึ่งเรียกว่า จุดไคลแม็กซ์ (Climax) ซึงจะเป็นช่วงน่าติดตามที่สุด ทำให้อยากรู้ว่าเรื่องราวจะจบอย่างไร
                ความสนุกของเรื่องอยู่ที่ วิธีหน่วงเหนียว (Suspense) อย่าเปิดให้ผู้อ่านรูปไปเสียหมด ต้องให้รู้สึกพิศวงว่าเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร เพื่อนำไปสู่ภาวะคลี่คลายของเรื่อง (Falling Action)


                ทั้งหมดที่กล่าวมาคือการสับนิยายอย่างง่ายๆ หรือก็คือพื้นฐานการวิจารณ์วรรณกรรม
    การสับนิยายแต่ละเรื่องอยู่ที่ลีลาของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องตายตัว การจบการสับที่ดีคือ สอดแทรกหรือเสนอแนะความคิดเห็นส่วนตัวลงไปด้วย
                งานเขียนไม่ใช่สิ่งที่ควรอ่านเพื่อฆ่าเวลาหรือหาความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว การอ่านแบบนั้นเป็นเสมือนเลือกกินแต่น้ำมะพร้าวเท่านั้น และทิ้งเนื้ออันอ่อนนุ่มและหวานละมุนไปเสีย..
                เรื่องที่อ่านทุกเรื่องไม่ว่าดีหรือแย่ ได้ให้ประโยชน์แก่ทุกคนไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม เรื่องแย่จะให้เราได้สังเกตเห็นข้อบกพร่อง เรื่องดีคือตัวอย่างที่ควรเอาเยี่ยงอย่าง



    ที่มาของข้อมูล ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก
    วรรณกรรมวิจารณ์         ธัญญา สังขพันธนานนท์
    ศิลปการประพันธ์           เปลื้อง ณ นคร
    การอ่านและการวิจารณ์  พัฒจิรา  จันทร์ดำ
    ศิลปการอ่านหนังสือ        ครรชิต  มาลัยวงศ์

    ----------------------------------------------------------------------------------------------------

                หวังว่าการเสนอแนะเทคนิคการสับนิยายในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักวิจารณ์ทั้งหลายไม่มากก็น้อยนะคะ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×