คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : เศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ
-1-
สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาขายอดฮิตของเศรษฐศาสตร์ก็ว่าได้ เนื่องจากว่าเป็นสาขาที่มีผู้เรียนค่อนข้างเยอะ บางแห่งมีผู้เรียนสาขานี้เกินกว่าครึ่งของนิสิตทั้งหมดด้วยซ้ำไป อีกทั้งยังเปิดการสอนในระดับปริญญาโททั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ ภาคอินเตอร์ในหลายๆมหาวิทยาลัยมากมายให้เลือกเรียนกันไม่หวาดไม่ไหว
ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากชื่อของสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจจึงเป็นอะไรที่ผู้เรียนมักจะคาดหวังไว้ว่าคงจะเป็นสาขาที่สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้ดีพอควร จึงทำให้ได้รับความสนใจจากนักเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างล้นหลาม
พี่เองตอนสมัยเรียนปริญญาตรีก็เรียนมาในสาขานี้ ซึ่งที่เลือกเรียนในตอนนั้นเพราะคิดว่าเป็นสาขาวิชาที่ค่อนข้างจะจับต้องได้ และตอนนั้นชอบวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงทำให้สนใจสาขานี้เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามน้องๆก็ลองอ่านดูก็แล้วกันนะครับ ชอบไม่ชอบอย่างไรมันขึ้นอยู่กับตัวเราครับไม่ใช่ใครอื่น จำเอาไว้.........
-2-
สำหรับสาขานี้จะเน้นการนำเอาวิชาเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจและองค์กรอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของวิชาเศรษฐศาสตร์การจัดการ (Managerial Economics) ที่เป็นภาคประยุกต์ของเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) นำไปวิเคราะห์พฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ในภาคธุรกิจในภาคปฏิบัติ รวมไปถึงวิชาเศรษฐศาสตร์องค์กรอุตสาหกรรม (Economics of Industrial Organization) ที่มุ่งการวิเคราะห์ในเรื่องราวของ โครงสร้าง พฤติกรรม ผลประกอบการ (structure-conduct-performance) ขององค์กรอุตสาหกรรมโดยใช้ตัวแบบเศรษฐศาสตร์ (economic model) เป็นหลัก อีกทั้งยังวิเคราะห์ผลกระทบและบทบาทของรัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมอีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ผู้ที่เรียนในสาขาวิชานี้อาจจะเจอวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประเมินโครงการ (Project Feasibility) รวมไปถึงอาจจะต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับทางฝั่งบริหารธุรกิจเช่นการเงินธุรกิจสำหรับเศรษฐศาสตร์ หรือวิชาจำพวกเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้มีความเข้าใจกรอบคิดของทางด้านบริหารธุรกิจ เพื่อทำให้การประสาน ประยุกต์หรือผนวกแนวคิดเศรษฐศาสตร์ไปสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อนึ่งบางครั้งเราสามารถเรียกสาขานี้ว่าเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม (Idustrial Economics) ได้เช่นกัน แม้ว่าจะชื่อเรียกไม่เหมือนกัน แต่ในรายละเอียดแล้ววิชาแกนของสองสาขานี้ไม่ได้ต่างกันเลย อาจจะมีวิชาปลีกย่อยในรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง เช่นในสาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมอาจจะมีวิชาจำพวกพัฒนาการทางความคิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมเข้ามาเสริม โดยนำเสนอกระบวนทัศน์หรือตัวแบบการพัฒนาอุตสาหกรรม ของเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นหากสนใจในเรื่องราวธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสามารถเลือกเรียนสองสาขานี้ได้เลย ไม่ต้องกังวลครับ
-3-
แต่สิ่งหนึ่งที่พี่อยากจะเสริมสำหรับการเรียนสาขานี้ก็คือเศรษฐศาสตร์ธุรกิจไม่ใช่การเรียนโดยที่แค่เอา เศรษฐศาสตร์ + บริหารธุรกิจ นะครับ หากแต่เป็นการนำองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ อธิบายพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์การในภาคธุรกิจ รวมไปถึงวิเคราะห์นัยเชิงนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรมด้วย ไม่ใช่แค่จับเอาวิชาเรียนเศรษฐศาสตร์มาผสมกับวิชาทางฝั่งบริหารธุรกิจแล้วก็จบกัน (เหมือนที่บางแห่งบางโปรแกรมทำ!!)
อย่างไรก็ตามการเรียนสาขานี้พี่คิดว่ามีประโยชน์หลากหลายครับ สำหรับน้องที่สนใจอยากประกอบธุรกิจคิดว่าสาขานี้คงจะสามารถช่วยน้องได้ไม่มากก็น้อย (แต่จริงๆแล้วไปเรียนบริหารธุรกิจเลยพี่คิดว่าจะดีกว่านะ ฮ่าๆ) หรือน้องๆที่สนใจอยากจะทำงานเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม หรืออยากเป็นเจ้าหน้าที่ประเมินโครงการอะไรต่างๆ คิดว่าองค์ความรู้ในสาขานี้คงสามารถสนับสนุนน้องได้เป็นอย่างดีแน่นอน
สำหรับสาขานี้คิดว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะมีเปิดสอนกันแทบจะทุกที่เลย ที่ไหนไม่เปิดคงจะแปลกน่าดู ดังนั้นสำหรับน้องๆที่สนใจคงจะหาเรียนกันได้ไม่อยากนัก
สุดท้ายนี้อยากจะย้ำเอาไว้อีกทีว่า........จงเลือกในสิ่งที่ชอบนะครับ!!
ความคิดเห็น