หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง - หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นิยาย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : Dek-D.com - Writer

    หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    ผู้เข้าชมรวม

    1,062

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    1.06K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    หมวด :  อื่นๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  11 ธ.ค. 52 / 13:08 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

      เศรษฐกิจพอเพียง คือ  ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พวกเราชาวไทยมานานกว่า30 ปี  และภายหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี พ.ศ.2540 พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำให้พวกเราใช้เป็นแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ประเทศไทยเรารอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกๆด้าน

      เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักที่เราคนไทยทุกคน ทุกระดับสามารถนำไปปฏิบัติได้ ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา อย่างที่หลายคนเข้าใจแต่หมายถึงทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกอาชีพ เราสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองได้ในทุกๆ เรื่องทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน  การศึกษาเล่าเรียน หรือทำงานในสาขาใดๆ

      เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม และไม่ได้บอกให้เราอยู่อย่างซอมซ่อ ไม่ได้ปฏิเสธความร่ำรวย ไม่ใช่การปิดประเทศเลิกค้าขาย ไม่ใช่ความเชยล้าหลัง  ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ แต่ เป็นแนวคิด เพื่อให้เราใช้ ปัญญาปรับตัวให้เข้ากับกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างพอเหมาะ พอดีเพื่อความก้าวหน้าที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน

      เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผน และการบริหารจัดการ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง รักษาความสมดุลของทุน และทรัพยากรในมิติต่างๆ เน้นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เรามีความแข็งแรง ให้เรารู้เท่าทัน ให้เรามีความพร้อมที่จะออกไปแข่งขัน ให้เราก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์

      ดังนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเน้นการปฏิบัติที่ไม่ประมาท นั่นคือ เน้นให้เราดำเนินชีวิตบนทางสายกลางก็คือ ความพอเหมาะพอดีไม่น้อยเกินไปไม่มากเกินไปไม่สุดโต่งไม่โลภมากไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินฐานะแต่ก็ไม่ใช่ตระหนี่ถี่เหนียวหรือประหยัดจนขาดแคลนถ้าเราจะนำหลักปรัชญานี้ไปใช้ เราอาจจะจำด้วยหลักง่ายๆ คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อันประกอบด้วย พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และมีความรู้ มีคุณธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ที่ก้าวหน้าอย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และจะนำไปสู่ ประโยชน์สุขของคนไทยในที่สุด

      ห่วงที่ ๑. ความพอประมาณ สำหรับเรานักธุรกิจนี่เป็น Paradigm shift ชนิดหนึ่งทีเดียว เป็นการออกนอกกรอบความคิดเดิมที่เราเรียนหรือถูกถ่ายทอดกันมาให้ Maximize Profit หรือทำกำไรสูงสุด โดยวิธีการต่างๆให้ได้มาซึ่ง bottom line กัน พอให้มาดูเรื่องพอประมาณ พวกเราบางคนอาจรับไม่ได้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมาพอประมาณ เราต้องทำให้เต็มที่ซิ เป็นธรรมดาที่คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างนั้น เพราะนั่นคือการเปลี่ยนแปลง “Change” ชนิดหนึ่งในจิตใจและชุดความเชื่อเดิมเดิมของเรา ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็มีการต่อต้าน (อย่างน้อยในจิตใจ) ตามมาเป็นเรื่องธรรมดา

      ความพอประมาณในที่นี้แม้ในแวบแรกของนักธุรกิจอาจรู้สึกขัดขัด ดูเหมือนเป็นการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือกั๊กความสามารถไว้ ไม่ทำงานให้เต็มประสิทธิภาพหรือเปล่า หรือเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่อยากทำงานให้ได้ดีเต็มที่หรือเปล่า เมื่อเรามาดูกันลึกลึก เราอาจพบว่าที่แท้หลักการความพอประมาณก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากการทำงานให้ได้ผลดีที่สุดอย่างที่พวกเราเชื่อกัน เพียงแต่มีจุดเน้นชัดในส่วนที่ อาจจะเกินพอยกตัวอย่างเช่น บริษัทบางแห่งที่มีสินค้าหลากหลายชนิด บางสินค้าทำกำไร บางสินค้าขายไปก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมาก แถมยังเป็นภาระในหลายๆด้าน เพราะไม่ได้เป็นงานที่เราถนัดหรือมีจุดแข็งมากเท่าสินค้าอื่น เมื่อเราพบแบบนี้การตัดสินใจพื้นฐานของนักบริหารคือลดการขายสินค้าที่ไม่ค่อยได้เรื่องนั่นเอง ซึ่งเมื่ออธิบายด้วยหลักความพอประมาณก็คือ พออยู่กับสินค้าหลักๆไม่ โลภหรือ อยากทำสินค้านั้นสินค้านี้ไปหมด 

      การตัดสินใจบนพื้นฐานความพอประมาณนี้ นอกจากเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลงน้ำหนักทรัพยากรถูกที่แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว ย้ำ ระยะยาว ไม่ใช่เพียงผลกำไรในระยะสั้นปีสองปีแรกแต่รากฐานของบริษัทสั่นคลอน สะสมปัญหาต่างๆเก็บไว้ เช่นความรู้ในการทำเรื่องนั้นๆไม่มากพอแต่ไม่ลงทุนเรียนรู้เพิ่ม อาศัยออกแรงกดดันกันไปเท่านั้นจนคนของบริษัททำงานจนป่วยทั้งกายและใจ หรือทำไปกระทบกับชุมชนสิ่งแวดล้อมในทางลบไป หรือทำกำไรเต็มที่โดยการลดต้นทุนให้มากที่สุด แม้ว่าสินค้าที่ผลิตออกมาสุดท้ายจะอันตรายต่อผู้บริโภค เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจาก ความไม่พอประมาณทั้งสิ้น ยังผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และในที่สุดก็มิได้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว

      ห่วงที่ ๒. ความมีเหตุผล ดูไปแล้วไม่ได้เป็นหลักการที่ขัดใจพวกเราแต่อย่างใดในการดำเนินธุรกิจทั้งหลายการใช้ข้อมูลจริงข้อมูลที่มากพอเป็นหลักพื้นฐานของเราอยู่แล้วในการตัดสินใจทั่วไปทางภาคธุรกิจเราเน้นเรื่องนี้กันมาโดยตลอดเราพบกันอยู่แล้วว่าผู้บริหารที่ตัดสินใจบนข้อมูลที่น้อยเกินไปหรือบนข้อมูลเพียงเขาเล่าว่าหรือไม่ได้มีวิจัยหรือเนื้อหาจริงสนับสนุนนั้นเสี่ยงภัยมากยิ่งใครชอบตัดสินใจบนอารมณ์ความรู้สึกด้วยแล้วบางครั้งอาจใช่แต่หลายครั้งก็พลาดได้นั่นก็อยู่บนข้อจำกัดต่างๆเช่นเงื่อนเวลา ความมีเหตุผลนี้ เช่นเดียวกับห่วงอื่นๆคืออยู่บนสองเงื่อน ได้แก่ เงื่อนความรู้ และเงื่อนคุณธรรม ความรู้มากจากแหล่งต่างๆที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะการวิจัย การหาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลปฐมภูมิเช่น สัมภาษณ์ แบบสอบถาม ฯลฯ หรือข้อมูลทุติยภูมิ เช่น การรวบรวมเอกสารที่ตีพิมพ์ การหาข้อมูลจากการเก็บรวบรวมอยู่แล้วในหน่วยต่างๆ งบการเงิน ฯลฯ แล้วแต่ว่าการตัดสินใจนั้นๆต้องการข้อมูลแบบใดเจาะลึกแค่ไหน ส่วนเรื่องคุณธรรมนี้เป็นพื้นฐานความคิดที่สำคัญและไม่ควรละเลย เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในระยะยาว เป็นต้นว่า เราลดต้นทุนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบบางตัวที่ถูกลงแต่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค แม้ว่าเราจะขายได้กำไรมากขึ้นในระยะสั้น แต่เมื่อผู้บริโภคเริ่มไม่สบายเจ็บไข้จากผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่เพียงแต่เราขายสินค้าประเภทนั้นไม่ได้อีก แต่พาลจะทำให้บริษัทเราขายสินค้าตัวอื่นไปไม่ได้ด้วย เพราะเขาเริ่มไม่เชื่อถือเราแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าเราระมัดระวังคิดแทนลูกค้าเป็นห่วงลูกค้าเป็นประจำ ลูกค้าก็มีความเชื่อถือเรามากยิ่งๆขึ้นในระยะยาว นี้ก็เป็นตัวอย่างของความมีเหตุผลบนรากฐานคุณธรรมไม่ใช่เหตุผลเข้าข้างตัวเองแต่อย่างเดียว

      ห่วงที่ ๓. การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี แนวความคิดนี้สอดคล้องกับการทำธุรกิจอีกเช่นกัน สมัยนี้เราคุยกันถึง Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงในเรื่องการเงิน หรือการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ตั้งแต่การบริหารไปจนถึงการจัดการกับชุมชนรอบองค์กร หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ วันนี้ในเมืองไทยมีกรณีศึกษาให้เห็นมากมายถึงองค์กรหรือบริษัทที่ไม่รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือประมาทที่จะจัดการกับผลกระทบจากภายนอก จนกระทั่งองค์กรอยู่ไม่ได้ต้องสลายตัวไป หรือไม่แข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับสภาวะวิกฤตต่างๆ

      เป็นต้นว่า องค์กรที่ใช้คนอย่างเดียว ไม่ได้มีการฝึกกองทัพหรือพัฒนาฝีมือและจิตใจคนของตน ทำไปสักพักก็อาจมีอาการ คนเข้าออกเป็นประจำ พนักงานไม่รักองค์กรเห็นองค์กรเราเป็นเพียงทางผ่านเป็นตราประทับอยู่ในประวัติการทำงานของเขาเท่านั้น หรือมีอาการทำงานในสภาวะปกติพอได้แต่พอพบสภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตอื่นๆในองค์กรพนักงานกลับไม่สามารถจัดการได้ หรืออาจเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง เหล่านี้ก็มีให้เห็นกันมากมายตั้งแต่ปี ๓๙ เป็นต้นมา 

      บางองค์กรก็ไม่มีภูมิคุ้มกันในเชิงการเงิน ทุ่มสุดตัว แบบ เกินพอดีกู้เงินจนไม่มีถุงสำรอง หมุนเงินเดือนชนเดือนทั้งที่ไม่จำเป็น แต่พอดีเขาให้เครดิตมา ก็ใช้กันอย่างวินัยหย่อนไปหน่อย ไม่ได้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพจริง ก่อให้เกิดหนี้ที่เกินตัว สภาวะแบบนี้ไม่ใช่เพียงระดับองค์กรที่มีมาก ระดับบุคคลจนถึงรากแก้วก็ไม่น้อย ที่กู้เงินส่วนบุคคลมาเกินตัว ชำระไม่ทันก็ได้ดอกเบี้ยท่วมท้น เครียดก็เครียด ทำงานก็ไม่มีความสุข กลับบ้านก็ชวนทะเลาะกับที่บ้าน ลูกหลานได้รับรังสีอำมหิตไปด้วย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆกระทบมาเป็นกระบวน ...เพียงเพราะ...ไม่พอ ...ไม่ได้เตรียมภูมิคุ้มกัน เป็นต้นว่าการออม การเก็บส่วนเกินไว้ยามฉุกเฉิน หรือกู้ในขอบเขตที่พอดี

      ทั้งสามห่วงที่เราคุยกันนี้อย่างที่เรียนแล้วคืออยู่บนพื้นฐานเงื่อนความรู้และเงื่อนคุณธรรม นั่นคือไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจว่าพอประมาณหรือไม่ มีเหตุผลพอหรือไม่ หรือภูมิคุ้มกันพอหรือไม่ควรทำอย่างไรนั้น อยู่บนพื้นฐานความรู้วิชาการเนื้อหาข้อเท็จจริง และพื้นฐานคุณธรรมทั้งสิ้น มีความรู้รอบ รอบคอบ ไม่ประมาท และการตัดสินใจไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน แต่กลับแบ่งปัน เอื้อเฟื้อกับผู้อื่น โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนความเพียร ความอดทนเพื่อให้บรรลุจุดหมาย นั่นคือการอยู่รอดรุ่งเรืองอย่างเป็นสุขขององค์กรหรือบริษัทของเรา ซึ่งประกอบไปด้วยพนักงานทั้งหลายและตัวเราด้วย

      เป้าหมายรวมของชาติในภาพรวมซึ่งประกอบไปด้วยเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่สมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเป้าหมายที่เน้นความยั่งยืนในระยะยาว การทำงานการตัดสินใจต่างๆตลอดจนการใช้ชีวิตจึงไม่สุดโต่งไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเกิดความไม่สมดุล เราไม่ได้คุยกันว่าต่อไปนี้รัดเข็มขัดประหยัดทุกอย่างจนเครียด เพราะนั่นก็ไม่ใช่ความพอดี แต่เป็นความไม่พอดีในอีกขั้วหนึ่ง เรากลับเน้นกันในเรื่อง สมดุลท่านอาจารย์สุเมธ เปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนการรับประทานอาหาร รับมากไปก็อิ่มเกิน ก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งสุขภาพเราก็ไม่ดี ก็ต้องไปหาหมอ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราอดอาหารไปเลย เราก็หิว ไม่สบายกายใจ ลำบากอีก ดังนั้นการยึดหลักสายกลาง หรือความพอดี คือรับประทานแต่พอควร พอดีหายหิว ให้เรามีแรงทำอะไรต่อได้ และไม่ก่อให้เกิดโรคต่างๆอีกในอนาคต

      หลักสำคัญในการปฏิบัติตนและครอบครัว ได้ดังนี้

      1.แสวงหารายได้ด้วยความสุจริต และเป็นอาชีพที่เอื้อประโยชน์แก่สังคม

      2.ขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่ความเจริญไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

      3.เรียนรู้ต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอก พัฒนาตนเองไม่หยุดนิ่ง

      4.พึ่งตนเองก่อน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

      5.ประหยัด รู้จักเก็บออม และสร้างหลักประกันให้แก่ชีวิต

      6.กินอยู่อย่างสมถะ ถือครองวัตถุโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นอันดับแรก

      7.ไม่ข้องแวะยาเสพติด เหล้า บุหรี่ อบายมุขทั้งปวง

      8.ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างนอบน้อม

      9.มีศีลธรรม ยึดมั่นในวิถีแห่งความถูกต้องดีงาม

      ..........

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×