ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #63 : วันที่สังคมไทยไร้มืออาชีพ วิกฤตฝังลึกอภิสิทธิ์ทำอะไรไม่ได้! ต้องกลับไปสู่หลักที่ถ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 225
      0
      8 ม.ค. 53

    ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

    27 เมษายน 2552

    ก่อน เหตุการณ์สงกรานต์จลาจล ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัว หน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ระวังรัฐธรรมนูญปี 2550 จะนำสังคมไทยไปสู่ทางตัน


    คำเตือน...มาถึงเร็วเกินคาด วันนี้สังคมไทยไร้ทางออกจากความขัดแย้ง
    ปลาย เมษายน "ประชาชาติธุรกิจ" นั่งสนทนากับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อีกครั้ง ในห้วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด เพราะแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันยังทะเลาะกันเรื่องการเมือง นี่คือบทวิพากษ์ที่เผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่ง...ก่อน ดร.วรเจตน์จะเดินทางไปพักผ่อนยาวที่ประเทศเยอรมนีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้


    - มองปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม นปช.อย่างไร

    ผม คิดว่าการมองกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องมองแบบแยกแยะหน่อย เพราะถ้าไปมองอย่างเหมารวม เราก็จะไม่เห็นประเด็นของการเคลื่อนไหว และจะไม่เข้าใจความเคลื่อนไหว แน่นอนว่าฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับคุณทักษิณก็ต้องมองว่ากลุ่ม นปช.เป็นพวกพ้องของคุณทักษิณ เคลื่อนไหวเพื่อตัวคุณทักษิณ

    แต่ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวของ นปช. คุณทักษิณได้ประโยชน์ แต่ผมไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.เป็นไปเพื่อคุณทักษิณเพียง อย่างเดียวเท่านั้น แต่ผมคิดว่ามีประเด็นในทางหลักการที่มีมากกว่านั้น ซึ่งน่าเสียดายว่าถูกละเลยโดยสื่อกระแสหลัก โดยนักวิชาการกระแสหลัก
    เหตุผล ที่ละเลยหรือพยายามไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมคิดว่าเข้าใจได้ไม่ยาก ก็คือมาจากความเกลียดชังคุณทักษิณนั่นเอง จึงไม่พยายามมองภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในเชิงหลักการ เพราะถ้าหันกลับมามองในเชิงหลักการเคลื่อนไหว ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีประเด็นเคลื่อนไหวน่าสนใจหลายประเด็น บางประเด็นถูกจุดขึ้นมาแล้วก็หายไป

    ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดกันคือ การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มอำนาจ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มอำนาจที่เป็นทางการในทางการเมือง หรือกลุ่มคนที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางความเป็นไปในทางการเมือง เดิมทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ เวลาผมมองประเด็นทางกฎหมาย ผมก็มีความรู้สึกว่ากระบวนการใช้กฎหมายที่เป็นมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับหลักการหรือหลักวิชาที่ควรจะเป็นในหลายเรื่อง

    และผมก็ ยืนยันความเห็นที่เคยให้ไปทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรากฎหมายย้อนหลัง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคล การที่บุคคล คนเดียวกระทำความผิดแล้วยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค หรือก่อนหน้านั้น ก็คือการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา ซึ่งผมบอกว่า จะไม่แก้ปัญหาอะไรเลย รวมถึงเรื่องการยุบพรรคครั้งล่าสุด การทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปด้วยการทำกับข้าว ออกอากาศ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะของการต่อสู้กันในเชิงของอำนาจระดับบน

    ผม คิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง มีประเด็นสำคัญคือ ชี้ไปซึ่งตัวบุคคลที่มีบทบาทในแง่ของการขับเคลื่อนในทางการเมือง ซึ่งเดิมทีเป็นคนในสังคมทั่วไปยกเอาไว้ ไม่แตะต้อง เช่น กลุ่มองคมนตรี หรือคนในองค์กรตุลาการ เช่น ประธานศาล

    แต่วันนี้เราปฏิเสธ ข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า มีการกินข้าวกันจริงที่บ้านคุณปีย์ มาลากุล คนที่ไปทานข้าวก็มีทั้ง องคมนตรีและประธานศาล ซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ผมว่าแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองนี้ มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นกันบนสื่อกระแสหลัก

    อีกเรื่องที่อาจ จะเกี่ยวพันกันก็คือ เรื่องของสิทธิของบุคคล ผมว่าถ้าตัดเรื่องคุณทักษิณไปแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ด้านหนึ่งมีความชอบธรรมในระดับหนึ่งทีเดียวในทางการเมือง

    ถาม ว่าความชอบธรรมอยู่ตรงไหน ก็ตรงที่เขามาเรียกร้องสิทธิของเขา ในแง่ของการที่เขาตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลถูกล้มโดยกลุ่มบุคคลหรือชนชั้นกลางระดับหนึ่งในเมือง กลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งในเมือง ซึ่งรับไม่ได้กับการทำงานหรือพฤติกรรมของคุณทักษิณ

    แต่ปัญหา ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาอยู่ที่คุณไม่ชอบคุณทักษิณ ถามว่าจะมีความชอบธรรมมั้ยที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนเลือก อย่างที่ผมบอก เขาจะเลือกผิดเลือกถูก แต่เขาตัดสินใจเลือก
    ผมจึงรู้สึกว่า การที่เสื้อแดงเคลื่อนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเขาจะมา บอกว่า นี่คือรัฐบาลที่เขาตั้งขึ้น (นะ) คุณไม่มีสิทธิที่จะล้มไม่ว่าจะโดยกลไกในนามของอะไรก็ตาม เช่น ในนามของตุลาการภิวัตน์ ที่มีการพูดกันมา 3 ปีแล้ว แล้วทุกคนก็เห็นว่าทำให้ประเทศเข้ารกเข้าพง ทำให้ปัญหาแก้ยากยิ่งขึ้นลึกลงไปอีก

    แต่อย่างไรก็ตาม เสียงของคนเสื้อแดงที่ผมติดตามจากสื่อกระแสหลัก ไม่ได้ให้พื้นที่เขา ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สงกรานต์ การชุมนุมก่อนหน้านั้นมีพื้นที่ในสื่อค่อนข้างน้อย ฉะนั้น ผมจึงบอกว่าในแง่มุมนี้ หลักการหลายเรื่องถูกต้อง และเป็นสิทธิที่เขาจะเคลื่อนไหว แต่พ่วงไปกับ คุณทักษิณ
    แต่เท่าที่ผม ตามประเด็นในการเคลื่อนไหว ผมคิดว่ากลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวในเชิงหลักการ เขาไปไกลกว่าคุณทักษิณมากแล้ว แต่ว่าสื่อกระแสหลักก็ดี นักวิชาการกระแสหลักก็ดี ยังติดอยู่กับประเด็นของคุณทักษิณ


    - แต่ช่วงสงกรานต์จลาจล การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงรุนแรงไปหรือเปล่า ทำให้ภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป

    ใช่ ครับ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าพูดประเด็นนี้ก็อาจจะต้องแฟร์กับเขานิดหนึ่ง ผมคิดว่าคนที่ใส่เสื้อแดง คนที่หยิบเสื้อแดงมาสวมกับคนเสื้อแดง ต้องแยกกันให้ดี ไม่ใช่คนทุกคนซึ่งใส่เสื้อแดง เอาเสื้อแดงมาสวมจะเป็นคนเสื้อแดง เราอย่าเพิ่งไปสรุปแบบนั้น

    ในเชิง ของข้อเท็จจริง ยังต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไปอีกว่า ตกลงบุคคลซึ่งสวมเสื้อ สีแดง แล้วกระทำการก่อการจลาจล เป็นคนเสื้อแดง หรือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวของเสื้อแดงจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรอพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริง แต่ประเด็นวันนี้ได้เกิด การพิพากษาไปแล้วในสกู๊ปข่าวที่ทำทางโทรทัศน์ หรือในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่าคนที่สวมเสื้อแดงกับคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มเดียวกัน

    ถ้า ถามผม ผมว่ามีทั้ง 2 ส่วน คือมีทั้งคนเสื้อแดงจริงๆ ที่ร่วมอยู่ในการเคลื่อนไหว ที่มีปฏิกิริยาแล้วก็โต้กลับไปด้วยความรุนแรง แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นทั้งหมดหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่ายังปรู๊ฟไม่ได้ การยิงกันตายที่นางเลิ้งก็ดี การเผามัสยิดก็ดี เหล่านี้ยังต้องการพิสูจน์ ยังต้องการข้อเท็จจริงที่หลากหลายกว่านี้

    แต่ว่าข้อเท็จจริง ที่ผ่านมาในโทรทัศน์หรือในหนังสือพิมพ์ก็ดี มันไปในทิศทางเดียว คือไม่เปิดพื้นที่อีกด้านหนึ่งให้มีโอกาสได้พูด แล้วคนในสังคมรับข้อเท็จจริงในกรอบแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เมื่อทำโพลสำรวจความคิดเห็น จึงออกมาแบบนั้น คือตำหนิการเคลื่อนไหว เพราะการรับรู้ข้อเท็จจริง รับรู้ผ่านทีวี ผ่านสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลัก ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเราไม่ได้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น

    ที่พูดอย่างนี้ ผมไม่ได้จะให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง แต่ผมคิดว่ามันต้องแยกแยะ และระหว่างที่เราพูดถึงเรื่องความรุนแรง อีกด้านหนึ่งจะต้องตั้งคำถามกลับไปด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปฏิกิริยาที่มีต่ออะไร แต่เราไม่ตั้งคำถามแบบนี้ เพราะฝ่ายอำนาจรัฐอ้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจรัฐ แต่ถามว่าหากมองย้อนกลับไปในอดีต มีอะไรมากไปกว่านั้นหรือไม่

    การทำ รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา คือการใช้กำลังในทางทหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย เป็นคนเลือกรัฐบาล แต่ล้มไปโดยการที่ทหารเอารถถังออกมายึดอำนาจ นี่เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง

    ตาม มาด้วยการใช้กลไกในทางกฎหมาย มีการตรากฎหมายโดยประกาศ คปค.ออกกฎหมายมา แล้วใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค การเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน เป็นความรุนแรงอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน
    ตามมาด้วยการล้มรัฐบาลคุณสมัคร (สุนทรเวช) และการยุบพรรคพลังประชาชน วันนั้นสภาพการคือ ความไม่พอใจมันฝังอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงสูงมาก นี่คือความรู้สึก ที่บอกว่าเกิดการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม
    แน่นอน...การเผารถเมล์หรืออะไร ต่างๆ ถ้าเป็นความรุนแรงที่มีความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่ต้องพูดในมาตรฐานเดียวกัน แต่วันนี้เราไม่ได้พูดในมาตรฐานเดียวกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าการยึดอำนาจมาใช้กฎหมายไปย้อนหลังยุบพรรค การปลดนายกฯโดยเรื่องคุณสมบัติ เราไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นความรุนแรง

    ผม คิดว่าความรุนแรงพูดได้หลายมิติ ความรุนแรงของคนเสื้อแดง อาจเป็นความรุนแรงแบบเลือดร้อน แต่ความรุนแรงอีกด้านหนึ่งอาจเป็นความรุนแรงแบบเลือดเย็น

    ฉะนั้นเวลา เราพูด คุณต้องแฟร์ ปัญหาก็คือ บ้านเมืองจะไม่จบเลย (ครับ) ถ้าไม่ยอมรับกัน ถ้าอีกด้านหนึ่งบอกว่าถูกอยู่อย่างเดียว ซึ่งสำหรับผม (นะ) ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรกับเขาด้วย ผมก็บอกว่าไม่ถูก 3 ปีแล้วมันผิด แล้วก็ผิดกันมาตลอด


    - แล้วจะออกจากวิกฤตที่ผิดมาตลอดจะต้องทำอย่างไร

    ก็ ต้องกลับเข้าสู่หลักที่ถูกต้อง แล้วให้ระบบเดินไป อะไรที่เบี่ยงไปจากความถูกต้องเราต้องกล้าบอกว่าผิด อย่าไปทำให้มันถูกเพียงเพราะว่าเกลียดหรือชังทักษิณ


    - หากย้อนกลับไปในหลักการที่ต้องเป็นรูปธรรมควรจะเป็นยังไงแก้รัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างนั้นหรือเปล่า

    อัน นี้จะยากแล้ว พอพูดในทางที่เป็นรูปธรรมจะยาก คือ ถ้าพูดให้ถึงที่สุด จะต้องสมมติสถานการณ์ที่ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร 19 กันยาน่าจะดีที่สุด ซึ่งคนก็จะไม่ยอมรับ แต่ว่าในเชิงของการจำลองผมอาจจะหมายความว่า สิ่งที่ทำถัดจากนั้นมา ต้องใช้ไม่ได้หมดทุกฝ่าย แล้วกลับไปเริ่มต้นตรงจุดที่เป็นศูนย์ใหม่

    ทุกฝ่ายเริ่มต้น ในกติกากันใหม่ แล้วองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ก็ต้องออกไปให้หมด องค์กรอิสระต่างๆ ต้องไปกันหมด แล้วก็เริ่มต้นจากจุดจากศูนย์ใหม่ หมายความว่าก็ต้องมีการเลือกตั้ง รีฟอร์มรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ก็ต้องเริ่มอย่างนั้น ไม่มีทางอื่น

    ทาง ที่พอจะเป็นไปได้ ที่ผมเคยเสนอก็คือ ช่วงที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผมบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นปัญหากับสังคมของเราในวันข้างหน้าอย่าง แน่นอน ในหลายเรื่อง และวันนี้คนจำนวนไม่น้อยก็เริ่มเห็นว่าเป็นปัญหา คนที่ยังบอกว่าไม่เป็นปัญหาผมคิดว่าก็อาจจะเหลือสุดท้ายคือ ท่านที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ กับองค์กรที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกลุ่มพันธมิตรฯ

    แต่ในระยะถัดไป ผมคิดว่าคนจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาหมด ทั้งปัญหาเรื่องที่มา กระบวนการจัดทำ และทั้งภาพรวมในการจัดสถาบันในทางการเมืองและโครงสร้างขององค์กรในทางรัฐ ธรรมนูญทั้งหมด ฉะนั้นตอนนี้ถ้ามีใครบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพียงแค่การปะ ชุน มันจะไม่แก้ปัญหาหรอก (ครับ) แม้อาจจะทำให้เรื่องบางเรื่องหายไป สมประโยชน์ของบางฝ่าย แต่อีกหลายจุดก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ความไม่เป็นหลักเกณฑ์ของมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศก็ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ นี่เป็นตัวอย่าง


    - แต่การย้อนกลับไปก่อน 19 กันยาคง ไม่ง่าย เพราะตอนนี้บ้านเมืองขัดแย้งแบ่งฝ่ายกันมากเหลือเกินแล้ว

    ที่ สุดผมถึงบอกว่า...ผมไม่เห็นทาง ผมพูดอย่างคนจนปัญญาว่า ผมไม่เห็นทางจริงๆ เพราะสั่งสมเหตุปัจจัยกันมาเป็นลำดับ คือไม่รู้จะพูดยังไง ตอนนี้สถานการณ์ไปเร็วกว่าที่ผมคิด


    - อาจารย์มองบทบาทคุณอภิสิทธิ์ยังไง จะเข้ามาแก้วิกฤตรอบนี้ได้หรือไม่

    ผม คิดว่า คุณอภิสิทธิ์ทำไม่ได้ เพราะปัญหามันลึกและฝังรากเกินกว่าที่รัฐบาลจะทำได้ แล้วบางเรื่องในสังคมไทยยังมีเรื่องที่ต้องห้ามอยู่ ซึ่งเรื่องต้องห้ามบางเรื่องต้องพูดกันให้ชัดเจนบนโต๊ะ เพราะบางทีก็คือมูลเหตุของปัญหาอย่างหนึ่งเช่นกัน แต่หลายเรื่องถูกจำกัดในข้อกฎหมาย ในทางธรรมเนียมปฏิบัติหลายเรื่อง


    พูด ง่ายๆ คือมีหลายเรื่องที่เราไม่สามารถพูดกันตรงไปตรงมาในสังคมบ้านเราได้ เมื่อพูดกันไม่ได้ก็จะไม่ตรงไปที่ตัวปัญหาจริงๆ หรือบางที บางคน ก็อาจจะรู้ แต่ไม่รู้จะพูดยังไง ที่เราเห็นอยู่ก็เป็นเพียงภาพข้างนอก
    หาก เราติดตามสถานการณ์แล้วไล่วิเคราะห์กันมาโดยตลอด ถ้าเกิดปัญหาเป็นแค่อย่างที่เราเห็นคงแก้ไม่ยากหรอก แต่คงจะมีอะไรมากไปกว่านั้น
    คำ ว่าอะไรมากไปกว่านั้น บางเรื่องผมก็ไม่รู้ บางเรื่องผมก็เพิ่งมารู้ เช่น เรื่องการรับประทานข้าว ซึ่งก็เพิ่งมา รู้ว่ามีสภาพอย่างนี้ จากปาก พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี แต่ก็ไม่มีการพูด ไม่มีการตั้งคำถามว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่


    - ที่สุดแล้วกระบวนการตุลาการภิวัตน์จะเดินไปทางไหน

    ตุ ลาการภิวัตน์ในแง่การเอาศาลมาแก้ปัญหาในการเมือง โดยคิดว่าศาลเป็นองค์กรที่มีความวิเศษในตัว แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง...มันผิด และมีข้อจำกัดหลายประการ แล้วผมก็เคยบอกว่าถ้าไม่ระวังข้อจำกัดนี้จะย้อนกลับมาเป็นบูมเมอแรงกลับมา ทำลายศาลในทุกระบบศาล
    ฉะนั้น วันนี้เมื่อมีคนจำนวนไม่น้อยเขาคลางแคลงใจจะทำยังไง เมื่อสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจไปแล้ว ก็ลึกมากและแก้ยากมาก เพราะจริงๆ องค์กรนี้อาจเป็นองค์กรสุดท้ายที่ชี้ให้อยู่ในทางกฎหมาย ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าวิกฤตรอบนี้จะถูกแก้โดยใครคนใดคนหนึ่งได้ เพราะมันลึกมาก


    - ที่อาจารย์กล่าวมา ดูเหมือนว่าสถาบันในบ้านเราเสื่อมกันไปหมด ไม่ว่าจะสถาบันศาล หรือสื่อ

    รวม ทั้งสถาบันองคมนตรีด้วย (ครับ) ซึ่งใกล้ชิดอย่างยิ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าจะบอกว่าไม่เสื่อมลงก็คงจะไม่ได้ ถ้าดูจากการโจมตีจากฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดง หรือการออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นอย่างนั้นจริง ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว คือ ผมสนใจน้อยมากว่าคุณไปวางแผนการทำรัฐประหารหรือไปทำอะไรหรือไม่ ผมว่าเราไปสนใจประเด็นนั้นมากไป แต่ประเด็นที่ว่าได้มานั่งพูดคุยกัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของตัว สำหรับผมคิดว่าก็เสียมากแล้ว


    - ถ้าย้อนไปก่อน 19 กันยาอย่างที่อาจารย์ว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ต้องสูญสลายไปด้วย

    ใน ทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด คำว่าย้อนกลับไปก่อน 19 กันยา เรากลับไปจินตนาการว่า ควรจะเป็นยังไง เพราะในทางความจริงย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว หมายความว่า คุณทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ รัฐบาลชุดก่อนต้องกลับฟื้นคืนมา นี่ไม่มีทางเป็นไปได้

    แต่ผมบอกว่า เราจำลองสถานการณ์ว่าไม่มีเหตุการณ์ 19 กันยา ตัวระบบกฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด กับตอนนั้นจะเป็นยังไง แล้วก็เป็นสภาพการณ์ชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในระยะอันใกล้ ผมจึงมองว่า ก็อาจจะต้องเลือกตั้งใหม่ แล้วหลังเลือกตั้งก็ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่
    แต่ ก็มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว แต่อย่างที่ผมบอก ก็กลับไปดูสิครับว่า กระบวนการและกลไกในการได้มาซึ่งตัวการยอมรับของประชาชนที่ออกเสียงประชามติ เป็นยังไง คนไม่ยอมรับเท่าไหร่ จึงอ้างความชอบธรรมเต็มที่ไม่ได้ เพราะเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร แต่วันนี้คนก็จะไม่พูดประเด็นพวกนี้แล้ว ก็จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้ว

    ผมว่ารากปัญหาสำคัญอัน หนึ่งเกิดจากความกลัว ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนจำนวนไม่น้อย หลังจากที่เขาได้รับผลจากนโยบายประชานิยมในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ เราไปตัดสินว่าตกลงแล้วผิดหรือถูกโดยความรู้สึกนึกคิดของเราเอง

    สำหรับ ผม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายคุณทักษิณหลายเรื่อง แต่ถ้ามีการเลือกตั้ง มีการโหวตออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น และไม่ควรจะมาทำลายการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งโดยอำนาจ นอกระบบ แต่ปัญหาก็คือ คนกลุ่มหนึ่งเกรงว่ารัฐบาลทักษิณจะเข้มแข็งมากเกินไป


    - แต่ นักวิชาการจำนวนมากชี้ว่า มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูเรื่องการทุจริตซื้อเสียง คอร์รัปชั่น แทรกแซงองค์กรอิสระ ถึงจะเป็นประชาธิปไตย ?

    สมมติถ้ามองแบบนั้น คำถามก็คือ คุณจะใช้วิธีการอะไร อย่างที่ทำกันอยู่หรือครับ เอาทหารลากรถถังออกมายึดอำนาจ แล้วอำนาจกลับไปอยู่อีกขั้วหนึ่ง เสร็จแล้วก็กลับไปอยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างนั้นหรือ ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือในแง่ของการแก้ปัญหา

    ต่อให้เป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องแก้กันในทางระบบ ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเข้มแข็งยังไงก็ตาม เขาต้องกลับไปสู่ประชาชนในทุก 4 ปี แล้วผมก็เรียนว่าช่วงสมัยปลายคุณทักษิณ เสียงที่ออกมาทำให้ท่าทีของรัฐบาลคุณทักษิณเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนด้วยความเต็มใจหรอก แต่เปลี่ยนแปลงไปเพราะถูกบังคับ โดยพลังหรือการกดดันในทางสังคมในระดับหนึ่ง ที่ยอมรับว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นทิศทางอันหนึ่งที่จะทำให้แก้ปัญหาไปในทางระบบ

    แต่ว่าเรา ไม่ได้อดทนที่จะรอคอย เพราะทุกคนรู้สึกว่าจะสิ้นชาติ แล้วก็มาสร้างเป็นกระแสขึ้นมา แล้วหลายเรื่องทำให้รุนแรงกว่าความเป็นจริงมาก คือ ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่ได้มีมูลอะไรเลยนะ แต่หลายเรื่องเกินจากความเป็นจริง


    - มีคนบอกว่า ชนชั้นกลางไทย ใจร้อนและเห็นแก่ตัว

    ก็ คงเป็นส่วนหนึ่ง ชนชั้นสูงด้วย กลุ่มชนชั้นนำในสังคมของไทย ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงกลุ่มอำนาจเดิมด้วยนะครับ ที่ในอีกด้านหนึ่งยามเรืองอำนาจก็ใช้อำนาจมากไปในบางเรื่องก็ถูกโต้กลับจาก อีกกลุ่มหนึ่ง
    แต่การโต้กลับ เป็นการโต้กลับแบบชนิดที่เรียกว่า กัดเซาะตัวระบบทั้งหมด นี่คือปัญหา คือจะว่าไปก็ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใครหรอกในทางการเมือง แต่ในทางหลักการ เพื่อให้อยู่กันได้ ต้องกลับมาที่หลักก่อน แต่เรามักคิดว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ใครได้ใครเสีย ก็อาจจะเป็นนิสัยของมนุษย์ธรรมดา ปัญหาจึงไม่จบ ที่สุดก็จะนำไปสู่การปะทะกัน แล้วในความรู้สึกของผม ผมบอกได้เลยว่า การกดในน้ำหนักแบบนี้ กดได้ไม่นานหรอก


    - คนชั้นกลางก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง แล้วก็อยู่ร่วมกัน

    ผม คิดว่า ไม่ใช่เรื่องชนชั้นกลาง ผมคิดว่าสื่อมวลชนเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในด้านนี้ ผมพูดมานานแล้วเรื่องความเป็นมืออาชีพของสถาบัน ความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชน ความเป็นมืออาชีพของฝ่ายวิชาการ ซึ่งขาดหายไป พอขาดความเป็น มืออาชีพ ก็จะนำมาซึ่ง 2 มาตรฐานทันที

    ผม ถึงบอกว่าถ้ากลับมาสู่หลักการก็จะไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด แต่ผมไม่แน่ใจว่าในสังคมไทย คนที่เป็นคนชั้นนำในสังคม ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า ไม่รู้ได้ ถึงเกิดสภาพการณ์ในลักษณะแบบนี้ขึ้นมา คือมุ่งหวังจะเกาะกุมอำนาจ เอาไว้ที่ตัวเองเท่านั้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม แล้วในที่สุดประชาชนก็ถูกใช้เป็นเบี้ยมาสู้กัน


    - การสร้างความเป็นธรรมในสังคมระหว่างให้คนรากหญ้ากับชนชั้นนำให้อยู่ร่วมกันได้ แก้ไขด้วยรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

    คง แก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวหนึ่ง ผมเคยได้ยินรัฐบาลพูดเรื่องภาษีมรดก แต่ก็หายไป ภาษีที่ดินหายไปไหนแล้ว ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่ต้องโยนเข้าไปในสังคม เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องช่องว่างในทางสังคมว่าเป็นยังไง การเอารัดเอาเปรียบกัน ในเชิงโครงสร้างเป็นยังไง
    สำหรับผม คิดว่าในเชิงโครงสร้าง คนที่เป็นคนระดับล่างเขารู้สึกว่าเขาถูกเอาเปรียบอยู่มากแล้ว แค่เขามาเรียกร้องสิทธิของเขาว่าเขามีหนึ่งเสียงเหมือนกับคนอื่นๆ คุณยังปฏิเสธเขาเลย ซึ่งสะท้อนถึงวิธีคิด พื้นฐานในสังคมอุปถัมภ์แบบนี้ การมองคนอื่น ไม่ได้มองแบบที่เขาเป็นมนุษย์ เราเขียนเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นแค่ตัวหนังสือสวยหรู (ครับ) ก็แค่สิทธิเลือกตั้งที่เขาเลือกมา คุณยังยอมรับ ไม่ได้เลย


    - ทางออกสังคมในระยะอันใกล้ ถ้าพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ใครควรเข้ามามีส่วนร่วม

    ผม คิดว่าต้องทุกฝ่าย แต่ว่าในที่สุดต้องกลับไปเชื่อมกับประชาชน ซึ่งก็อาจจะเป็นปัญหาอีก โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้า ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าจะรับกันได้มั้ย ว่าคนพวกนี้เลือกมาทำรัฐธรรมนูญแล้วเนี่ย จะรับกันได้หรือเปล่า ที่สุดก็อาจจะเป็นคนจำนวนน้อยกว่า ที่เป็นคนชั้นกลางอาจจะรับไม่ได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาแบบงูกินหางแบบนี้ คำถามคือเรารับกันตรงนี้ได้หรือยัง

    ที่ ผมพูดแม้แต่ในครอบครัวก็พูด แล้วก็แตกกันไปหมด เพราะคิดกันคนละอย่าง ที่บ้านผมแม่ผมก็บอกว่ารับไม่ได้กับนักการเมือง ผมก็ถามว่าถ้ารับไม่ได้แล้วประโยชน์ทางการเมือง แม่คิดว่าจะอยู่กับใครล่ะ แม่ก็บอกว่าอยู่กับคนที่ดี ผมถามแม่ว่า ตกลงรู้ได้ยังไงว่าเขาดีจริง


    - ถ้าให้เวลาอีกสัก 2 การเลือกตั้งผ่านไป ตะกอนของความขุ่นเคืองจะค่อยดีขึ้นหรือไม่

    ถ้า ยังเป็นอยู่อย่างนี้ กติกาไม่มีการเปลี่ยน ไม่แก้หรอกครับ ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นำไปสู่ทางตันอย่างแน่นอน ผมก็ยังยืนยัน ถ้ายังเป็นอย่างนี้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×