ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #32 : รวมแถลงการณ์ความเห็นที่มีต่อศาลของ5อาจาร์ยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 260
      0
      5 ม.ค. 53

    http://www.matichon.co.th/issue/judge/judge2.php

    บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กรณีการยุบพรรคการเมือง


    เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๓ – ๕ / ๒๕๕๐ เรื่อง อัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย โดยคณะตุลาการฯได้วินิจฉัยให้มีการยุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรค และมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของพรรคการ เมืองทั้งสามพรรคมีกำหนดเวลาห้าปี
    คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย ได้ศึกษาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว มีความเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสาธารณชนทั่วไป เป็นการสมควรที่จะเสนอบทวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อคำวินิจฉัย ของคณะตุลาการฯในเรื่องดังกล่าว
    อนึ่ง โดยเหตุที่บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคการ เมืองนั้นมีประเด็นอันควรแก่การพิเคราะห์อย่างยิ่งหลายกรณี และโดยเหตุที่กรณีเหล่านี้มีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียบเรียง ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงขอพิเคราะห์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่อาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อไปในระบบกฎหมาย ไทย คือ ปัญหาเกี่ยวกับ “ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ของบุคคลในเบื้องต้นเสียก่อน ดังนี้

    ๑ . คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
    ๑ . ๑ เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทยแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามความในประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ คณะตุลาการฯก็ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ของพรรคการเมืองทั้งสามพรรคเป็นเวลา ๕ ปี
    ๑ . ๒ เหตุผลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่อการนำประกาศ คปค.ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ มาใช้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองทั้งสาม พรรคมีเนื้อความโดยสรุปว่า แม้ประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าวจะได้รับประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ขณะที่การกระทำของพรรคการเมืองทั้งสามพรรคอันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาภายหลังพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ..ศ. ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับคือเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็ตาม แต่ประกาศ คปค.ฉบับข้างต้น ก็สามารถใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายต่อกรรมการบริหารพรรคการเมืองของ ทั้งสามพรรคได้ เนื่องจากว่าหลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังให้เป็นผลร้ายต่อบุคคล เมื่อพิจารณาจากหลักการที่ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมาย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตหลายฉบับ ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒ หลักการดังกล่าวข้างต้นจะใช้กับการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น เมื่อการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลมิใช่เป็นโทษทางอาญา หากเป็นแต่เพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบ พรรคการเมือง อีกทั้งการจะมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดควรมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ย่อมสามารถกระทำได้ ฉะนั้น ประกาศ คปค. ฉบับนี้ย่อมสามารถมีผลใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายต่อการกระทำอันเป็น เหตุแห่งการยุบพรรคได้
    ๑ . ๓ ก่อนจะพิเคราะห์ต่อไปถึงการวินิจฉัยให้ใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้าย ต่อบุคคลของคณะตุลาการฯ สมควรที่จะกล่าวถึงประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ ในฐานะที่เป็นกฎหมายซึ่งได้นำไปบังคับใช้กับคดีของคณะตุลาการฯ เสียก่อน

    ๒. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ฉบับที่ ๒๗ ในฐานะกฎหมายที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนำไปบังคับใช้กับคดี
    ๒ . ๑ โดยข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกร้องในคดีนี้ไม่ได้หยิบยกประเด็นที่ว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่มาเป็นข้อต่อสู้ในทางคดี และคณะตุลาการฯเอง แม้จะมีอำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ ก็หาได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวมาวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนไม่
    ๒ . ๒ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ ถือเป็นกฎหมายที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนำไปใช้เป็นฐานในการเพิกถอนสิทธิเลือก ตั้งของผู้ถูกร้องเป็นเวลาห้าปี ฉะนั้น เพื่อให้การพิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการฯ ในเรื่องนี้เกิดความสมบูรณ์รอบด้าน เป็นการสมควรที่จะต้องพิจารณาและตั้งข้อสังเกตถึงสภาพทั้งปวงเกี่ยวกับ ประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว แม้จะไม่มีข้อเท็จจริงดังจะกล่าวต่อไปนี้ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของคณะ ตุลาการฯก็ตาม
    ๒ . ๓ ประการแรก ที่มาและการบังคับใช้ของประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ควรตั้งข้อสังเกตก่อนว่า ประกาศ คปค. ฉบับนี้ ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้นำมาบังคับใช้กับคดี มีที่มาจากคณะรัฐประหารซึ่งได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลซึ่งผู้ถูกร้องที่ ๑ จัดตั้งขึ้น มิใช่เป็นกฎหมายที่ได้ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้านี้ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศ อยู่ในสภาวะปกติ นอกจากนั้น การนำประกาศ คปค. ฉบับนี้มาใช้บังคับกับคดีของคณะตุลาการฯ ก็เป็นการบังคับใช้ในระหว่างระยะเวลาที่คณะรัฐประหารยังกุมอำนาจในการปกครอง ประเทศอยู่
    ๒ . ๔ ประการที่สอง ความมุ่งหมายในการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ แม้ประกาศ คปค. ฉบับนี้จะแสดงเหตุผลในการออกประกาศว่า“... เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ รวมทั้งกำหนดเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำการ ต้องห้ามตามกฎหมายนั้น” แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างกรรม ต่างวาระของหัวหน้า คปค. ซึ่งเป็นผู้ลงนามให้ประกาศใช้ประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว อาจมีข้อสงสัยต่อมูลเหตุจูงใจในการประกาศใช้ประกาศ คปค.ดังกล่าวได้ เช่น เมื่อมีคำถามว่าการออกประกาศ คปค .ฉบับนี้มีเป้าหมายอยู่ที่พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งหรือไม่ หัวหน้า คปค. กล่าวว่า “ ผมทำเพื่อชาติ ” ในอีกคราวหนึ่ง เมื่อต้องให้สัมภาษณ์กับผู้บริหารในเครือเนชั่น ต่อคำถามที่ว่า “ให้ยุบพรรคไทยรักไทย คงจะสลายตัวกันหมด” หัวหน้า คปค. ตอบว่า “ กำลังศึกษาอยู่ ให้คณะกฤษฎีกาไปดำเนินการ...” พฤติการณ์แวดล้อมเหล่านี้สมควรยิ่งที่คณะตุลาการฯจะต้องนำมาพิจารณาว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ โดยเฉพาะในข้อ ๓ นั้นถูกประกาศใช้โดยมีความมุ่งหมายเพื่อ“ ประโยชน์สาธารณะ” อันเป็นความมุ่งหมายในการออกกฎหมายของประเทศที่ยึดถือหลักนิติรัฐ หรือเพื่อ “ประโยชน์อย่างอื่น” อันมิชอบ
    ๒ . ๕ ประการที่สาม ลักษณะของประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ควรทราบว่าตามหลักการออกกฎหมายของนานาอารยะประเทศ ตามหลักทางนิติศาสตร์ และหลักการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กฎหมายที่จะออกมาเพื่อบังคับใช้กับราษฎร โดยเฉพาะ กฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับกับกรณีหนึ่งกรณีใด หรือกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
    ๒. ๖ เมื่อพิจารณาถึงประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ โดยเฉพาะเนื้อความตามข้อ ๓ แล้ว หากพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่ปรากฏทั้งโดยแจ้งชัด และโดยปริยายดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๒ . ๓ และข้อ ๒. ๔ แล้ว มีข้อที่ต้องตั้งไว้ให้สังเกตว่าประกาศ คปค. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่มีลักษณะเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป หรือมุ่งประสงค์จะให้ใช้บังคับกับกรณีหนึ่งกรณีใด หรือกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ อันถือเป็นกฎหมายที่มีลักษณะมิชอบทั้งตามหลักการในการตรากฎหมายของนานาอารยะ ประเทศ และหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป ซึ่งได้รับการยืนยันไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
    ๒ . ๗ จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ในฐานะของกฎหมายซึ่งได้ถูกนำไปบังคับใช้กับคดี แม้ทั้งผู้ถูกร้องหรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา ต่อสู้หรือวินิจฉัย แต่โดยสภาพทั้งปวงของประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว ก็พอจะตั้งข้อสังเกตให้เห็นได้ว่ามีหรือไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลัก รัฐธรรมนูญทั่วไปและหลักนิติรัฐ

    ๓ . การวินิจฉัยให้ใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
    ๓ . ๑ ดังได้กล่าวแล้วว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลในการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้าย ต่อผู้ถูกร้องในคดีนี้เพียงว่า เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้องนั้นมิใช่เป็นโทษทางอาญาจึงย่อม สามารถใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษกับผู้ถูกร้องได้ จากเหตุผลของคณะตุลาการฯ ดังกล่าวนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาก่อนว่า ตามหลักทั่วไปกฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับในเวลาใด และจริงหรือไม่ที่หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังให้เป็นผลร้ายกับบุคคลจะนำไป ใช้บังคับเอาได้เฉพาะกับการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดอาญาเพียงประการเดียว
    ๓ . ๒ หลักในทางตำราความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กำหนดการบังคับใช้กฎหมายในแง่ของเวลาว่า กฎหมายจะเริ่มต้นมีผลบังคับเมื่อใดนั้น ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนั้นกำหนดไว้ หากไม่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศกฎหมายฉบับนั้น ในกรณีที่กฎหมายฉบับนั้นกำหนดให้ใช้บังคับย้อนหลัง ย่อมต้องพิเคราะห์ต่อไปว่าการกำหนดเช่นนั้นขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปที่ ห้ามตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคลหรือไม่ เมื่อประกาศ คปค.ฉบับที่ ๒๗ ได้รับการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และไม่มีความข้อใดบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในแง่ของเวลา จึงต้องถือว่าประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นไป คณะตุลาการฯไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ซึ่งเป็นเรื่องเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ กฎหมาย แต่ข้ามขั้นตอนไปพิจารณาประเด็นที่ว่าจะใช้ประกาศ คปค. ฉบับนี้ย้อนหลังได้หรือไม่ ทั้งๆที่ประกาศคปค.ดังกล่าวไม่ได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ ซึ่งหากถือว่าประกาศ คปค.ดังกล่าวใช้บังคับได้ ประกาศ คปค.ดังกล่าวย่อมเริ่มมีผลใช้บังคับกับการกระทำตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นไปเท่านั้น
    ๓. ๓ ภายใต้หลักการปกครองโดยกฎหมายบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือ หลักนิติรัฐ เป็นที่ยอมรับกันว่า เพื่อให้บุคคลผู้ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเกิดความไว้วางใจและเกิดความ เชื่อถือของต่อการใช้อำนาจของรัฐ โดยหลักแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้บังคับของหลักการห้ามมิให้มีการตราและ ใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล ดังนั้นหากการกระทำของบุคคลในวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย รัฐย่อมไม่อาจตรากฎหมายในวันรุ่งขึ้นกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด และนำมาใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายกับผู้กระทำได้ ในทำนองเดียวกันหาก การกระทำของบุคคลในวันนี้มีโทษที่มีความรุนแรงระดับหนึ่ง รัฐก็ย่อมไม่อาจตรากฎหมายในวันรุ่งขึ้นกำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้นให้รุนแรง ขึ้นและใช้บังคับย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลได้
    ๓ . ๔ หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลเช่นว่านี้ ย่อมถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความเคารพ หากรัฐวางตนละเลยหรือเพิกเฉยต่อหลักการดังกล่าวนี้ บุคคลย่อมไม่อาจเชื่อถือหรือไว้วางใจการใช้อำนาจของรัฐได้เลย เมื่อบุคคลไม่อาจเชื่อถือหรือไว้วางใจการใช้อำนาจรัฐได้แล้ว ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะก็เป็นอันเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดแล้วสันติสุขในระบบกฎหมายก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นในการปกครองตามหลักนิติรัฐ การห้ามตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขปราศจากความหวาดระแวงรัฐ และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล
    ๓ . ๕ ข้อที่ควรจะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลนั้น มีความมุ่งหมายให้ใช้บังคับเฉพาะกับกรณีการกระทำที่มีโทษในทางอาญาเพียง ประการเดียว หรือไม่
    ๓ . ๖ ต่อความข้อนี้ ในนานาอารยะประเทศ หลักการดังกล่าวนอกจากจะนำไปปรับใช้อย่างเคร่งครัดกับการกระทำที่เป็นโทษใน ทางอาญาแล้ว ยังได้นำไปปรับใช้อย่างเข้มข้นกับการกระทำที่ไม่ใช่โทษในทางอาญาอีกด้วย เช่น ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเคยมีคำวินิจฉัยลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ เกี่ยวกับกรณีโทษทางภาษีว่า หลักการไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลของกฎหมาย มิได้ใช้บังคับเฉพาะกับกฎหมายที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทางอาญาเท่านั้น หากต้องขยายไปใช้บังคับกับกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทุกประเภท สำหรับประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ได้วินิจฉัยไว้ว่า โดยหลักแล้วการตรากฎหมายย้อนหลังไปใช้บังคับกับข้อเท็จจริงที่จบลงแล้วให้ เป็นผลร้ายแก่บุคคลจะกระทำมิได้ ด้วยเช่นกัน
    ๓ . ๗ อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงว่า หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล โดยเฉพาะผลร้ายซึ่งมิได้เป็นโทษในทางอาญา องค์กรตรวจสอบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในแต่ละประเทศ จะนำไปปรับใช้อย่างเข้มข้นหรือไม่ อย่างไรนั้น ย่อมถือเป็นดุลพินิจขององค์กรนั้นเองที่จะวินิจฉัยตามความจำเป็นเหมาะสมแล้ว แต่สภาพการณ์ แต่ไม่ว่ากรณีใด หากจะต้องใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษต่อบุคคล แม้โทษนั้นจะมิใช่โทษในทางอาญา ก็จำเป็นจะต้องใช้ในลักษณะที่เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ทั้งยังต้องคำนึงถึงความหนักเบาของโทษและสภาพการณ์อย่างอื่นอย่างรัดกุม รอบคอบประกอบกันอีกด้วย มิอาจอ้างเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะลอยๆ ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว รัฐอาจตรากฎหมายให้มีผลร้ายย้อนหลังกลับไปใช้บังคับกับการกระทำที่จบสิ้นไป แล้วได้ทั้งสิ้น
    ๓ . ๘ ปัญหามีว่า การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อได้พิจารณาจากหลักการที่ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมาย ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตหลายฉบับ อีกทั้งเมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ แล้วมีความเห็นว่า หลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล จะนำไปใช้บังคับเฉพาะแต่เพียงกับการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดในทางอาญา นั้น ถือเป็นความเห็นที่ชอบด้วยเหตุผล อย่างสมเหตุสมผล หรือไม่
    ๓ . ๙ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย พิเคราะห์เหตุผลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบกับหลักในทางตำรา และหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศยอมรับนับถือแล้ว เห็นว่าการให้เหตุผลดังกล่าวเป็นการให้เหตุผลที่คลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ โดยหลักแล้ว การห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคล ถือเป็นหลักการที่มุ่งหมายให้ใช้บังคับกับโทษทั่วไปไม่เฉพาะแต่เพียงโทษใน ทางอาญาเท่านั้น แต่ด้วยเหตุว่าเมื่อโทษทางอาญามีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งในสายตาของกฎหมายนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมีการรับรองหลักการ “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมาย” ในส่วนของโทษทางอาญา ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้หลักการดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างชัดเจน และจะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด หาได้มีความหมายถึงขนาดว่า หากเป็นโทษอย่างอื่นซึ่งมิใช่โทษในทางอาญาแล้ว รัฐ ย่อมสามารถออกกฎหมายย้อนหลังไปให้เป็นผลร้ายอย่างไรก็ได้ โดยปราศจากเงื่อนไข ตามนัยแห่งการให้เหตุผลของคณะตุลาการ ฯไม่
    ๓ . ๑๐ นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงในกรณีนี้ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิกถอนสิทธิเลือก ตั้งของบุคคล ในเมื่อสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกถึงความเป็นพลเมืองของ รัฐอย่างสมบูรณ์ในประเทศเสรีประชาธิปไตย ยิ่งกว่าสิทธิในทรัพย์สินหรือร่างกายบางประการ แม้การออกกฎหมายเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลจากเหตุทางกฎหมายในบาง กรณีนั้นสามารถกระทำได้จากการให้เหตุผลของคณะตุลาการ ฯ แต่กฎหมายเช่นว่านี้จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อเอาไปบังคับใช้กับข้อเท็จ จริงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้าเท่านั้น จะนำไปใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลซึ่งได้กระทำการอย่างหนึ่ง อย่างใดไปแล้ว ก่อนหน้าที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ ย่อมไมได้
    ๓ . ๑๑ อนึ่ง นอกจากเหตุผลทางกฎหมายเกี่ยวกับหลักการห้ามมิให้มีการใช้กฎหมายย้อนหลังใน ทางที่เป็นผลร้ายกับบุคคลแล้ว สิ่งที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญควรนำมาพิจารณาไว้ในใจในขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลก็คือ ข้อเท็จจริงทั้งหมดอันเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยคดี
    ๓ . ๑๒ เป็นที่รับรู้กันว่าขณะนี้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร และเป็นคณะรัฐประหารคณะนี้เองที่ได้ใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผู้ถูกร้องที่ ๑ ในคดีนี้ ในสภาวะการณ์ที่ผู้ออกกฎหมายอยู่ในฐานะที่เป็นปรปักษ์กับผู้ถูกร้อง ประกอบกับประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ นั้นได้มีการแสดงออกต่างกรรมต่างวาระจากผู้ออกกฎหมายฉบับนี้ว่ามีความ ประสงค์อย่างไร ในขณะที่กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นมิได้ออกโดยรัฐสภาซึ่งมีความชอบธรรมตามระบอบ ประชาธิปไตย ประกอบกับระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ ได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้นโดยมาตรา ๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เมื่อคณะตุลาการฯจะต้องนำประกาศ คปค.ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอย่างยิ่ง มาบังคับใช้กับคดี ก็ย่อมมีเพียงเฉพาะคณะตุลาการฯ เท่านั้นที่สามารถยืนยันได้ว่าจะวินิจฉัยคดีโดยยึดถือหลักการ “ อำนาจคือธรรม” หรือ “ ธรรมคืออำนาจ”
    ๓ . ๑๓ การให้เหตุผลของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพียงว่า ประกาศของ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ ย่อมสามารถนำมาใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายกับผู้ถูกร้องทั้งสามได้ เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ถือเป็นโทษในทางอาญานั้น นอกจากจะไม่เป็นเหตุผลที่สามารถยอมรับได้ดังที่ได้แสดงให้เห็นมาทั้งหมดในบท วิเคราะห์ฉบับนี้และการวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนกับการ เรียนการสอนในทางนิติศาสตร์อย่างรุนแรงแล้ว เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าแนวทางการวินิจฉัยเช่นว่านี้อาจจะถูกนำไปใช้ เป็นบรรทัดฐานต่อไปในการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร และเมื่อคณะตุลาการฯ มีคำวินิจฉัยโดยการให้เหตุผลเช่นนี้ นับจากนี้ไปราษฎรจะเชื่อมั่นและไว้วางใจการใช้อำนาจรัฐได้อีกหรือไม่ วิญญูชนย่อมตรึกตรองได้เอง อาศัยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น และด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย ขอแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยนี้ ทั้งในผลแห่งคดีและการให้เหตุผลของคดี


    รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
    รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
    อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
    อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
    อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร



    แถลงการณ์ 5 อจ.นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปค.คดีปราสาทพระวิหาร
    มติชน ออนไลน์ วันที่ 01 กรกฎาคม 2551 - เวลา 11:34:09 น.

    http://www.matichon.co.th/news_title.php?id=2394



    แถลงการณ์ 5 อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551
    รับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา
    เรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
    และกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

    ตาม ที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 ให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการเสนอร่าง แถลงการณ์ร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทา ทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปในคราวเดียวกัน

    ด้วยความเคารพต่อศาล ปกครองกลาง คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งห้าดังมีรายนามตอนท้าย ขอแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายตามระเบียบวิธีทางวิชาการต่อคำสั่งศาลปกครองกลาง ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

    1.หลักนิติรัฐ เรียกร้องให้การกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนทั้งหลายต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยมีองค์กรตุลาการทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีการกระทำบางประเภทที่โดยทั่วไปแล้วไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ องค์กรตุลาการ เช่น การกระทำที่มีลักษณะเป็นเรื่องในทางการเมือง หรือการกระทำในเรื่องนโยบายของฝ่ายบริหาร เป็นต้น วิชานิติศาสตร์เรียกการกระทำลักษณะนี้ว่า การกระทำทางรัฐบาล (Act of State; Acte de gouvernement; Regierungsakt) ซึ่งหากระบบกฎหมายต้องการให้มีการควบคุมตรวจสอบการกระทำดังกล่าวในทางกฎหมาย ก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเป็นเรื่องๆ ในรัฐธรรมนูญ และมอบหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดภายใต้เงื่อนไขที่รัฐ ธรรมนูญกำหนด กรณีใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ การตรวจสอบการกระทำทางรัฐบาลย่อมไม่อาจกระทำได้ในทางกฎหมาย แต่ต้องควบคุมตรวจสอบกันในทางการเมืองเท่านั้น

    2.เหตุที่การกระทำทางรัฐบาล ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยองค์กรตุลาการ นอกจากจะเป็นเพราะโดยปกติทั่วไป การกระทำดังกล่าวไม่กระทบสิทธิ หรือไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ แล้ว การกระทำทางรัฐบาลยังมีธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นปัญหาหรือประเด็นทางการเมือง ที่มีข้อจำกัดอย่างยิ่งในการใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์หรือเป็นเครื่องมือในการควบ คุมตรวจสอบ และหากให้องค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลปกครองเข้ามามีอำนาจควบคุมตรวจสอบได้ ผลก็จะกลายเป็นว่าศาลปกครองมีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องราวในทางบริหาร หรือนโยบายได้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อผู้ใดทั้งสิ้น

    3. การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำทางรัฐบาล ไม่อาจพิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ในทางองค์กรเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชน ดังเช่นคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ซึ่งใช้อำนาจกระทำการได้ทั้งการกระทำทางปกครอง และการกระทำทางรัฐบาล การพิจารณาว่าการกระทำขององค์กรเหล่านี้เป็นการกระทำทางปกครองหรือการกระทำ ทางรัฐบาล จึงต้องใช้ทั้งหลักเกณฑ์เรื่องที่มาของอำนาจ และหลักเกณฑ์ในทางเนื้อหาประกอบการพิจารณาด้วย

    4.ในส่วนของหลักเกณฑ์เรื่องที่มาของอำนาจ ต้องพิจารณาจากประเภทของกฎหมายที่ให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการ กล่าวคือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีนั้นย่อมกระทำการในฐานะ รัฐบาล ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ และการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางรัฐบาล เช่น นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็เป็นการกระทำทางรัฐบาลและไม่อยู่ภาย ใต้การควบคุมของศาลใด

    ในทางกลับกัน ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีนั้นย่อมกระทำการในฐานะเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ (คำตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) หรือเป็น ฝ่ายปกครอง (คำตามตำรา) ใช้อำนาจปกครอง และการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางปกครอง เช่น นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นก็เป็นการกระทำทางปกครองและอยู่ภายใต้การควบคุม ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลปกครอง

    5.ในส่วนของหลักเกณฑ์ในทาง เนื้อหา ต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำนั้นๆ ซึ่งการกระทำทางรัฐบาลอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรก คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร การตราพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภา การที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น กลุ่มที่สอง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การทำสนธิสัญญา (Conclusion of Treaty) การประกาศสงคราม การส่งทหารไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างแดน เป็นต้น

    6.ในบางกรณี การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อาจแยกส่วนออกจากกันเป็นหลายส่วนได้ และการกระทำส่วนหนึ่งที่แยกออกมา (Actes d?tachables) ไม่มีลักษณะเป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่เป็นการกระทำทางปกครอง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของศาลปกครอง การกระทำที่แยกออกได้จากการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดย ตรง ต้องเป็นการกระทำที่แม้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการกระทำที่เกี่ยวกับความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง แต่แยกออกโดยเด็ดขาดจากการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดย ตรง จนอาจกล่าวได้ว่าการกระทำแต่ละการกระทำสามารถดำรงอยู่ได้โดยตัวของตัวเอง เช่น คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งศูนย์ผู้อพยพในเขตชายแดนไทย-พม่า ตามพันธกรณีที่รัฐบาลไทยตกลงไว้กับสหประชาชาติ การลงนามของรัฐบาลไทยในข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่เกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง แต่มติคณะรัฐมนตรีอนุญาตให้จัดตั้งศูนย์อพยพในพื้นที่ใด ถือเป็นการกระทำที่แยกออกได้จากการลงนามของรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ และหากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น คดีอาจอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองได้

    7. ศาลปกครองไทยได้วางหลักในเรื่องการกระทำทางรัฐบาลไว้ในหลายคดี แม้ศาลปกครองจะไม่ได้ใช้คำว่า การกระทำทางรัฐบาล โดยตรงก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการนำทฤษฎีการกระทำทางรัฐบาลไปปรับใช้เพื่อมีคำสั่งไม่ รับคำฟ้อง เช่น พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 24-32/2549, คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 36/2549, คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 45/2549) หรือ มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่น (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550) เป็นต้น

    8. กรณีของคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้ายมีความเห็นว่า การเสนอแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรีก็ดี การที่คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ก็ดี เป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

    9. ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการกระทำ 3 การกระทำ ได้แก่ การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเพียงขั้นตอนเพื่อเตรียมการนำไปสู่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ เท่านั้น การกระทำทั้งสองนั้นยังไม่มีผลทางกฎหมายสู่ภายนอกและยังไม่ก่อให้เกิดนิติ สัมพันธ์ จึงไม่อาจถือเป็นวัตถุแห่งคดีได้ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางกลับนำการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มาใช้พิจารณาว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ดังปรากฏให้เห็นในหน้า 12-13 ของคำสั่งศาลปกครองกลาง

    10. ในส่วนของการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ อันก่อให้เกิดแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งมีผลทางกฎหมายสู่ภายนอก ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ และอาจเป็นวัตถุแห่งคดีได้นั้น เห็นว่า การลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาศัยอำนาจอันมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจอันมีที่มาจากกฎหมายปกครอง การกระทำดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง

    จากคุณ : medium rare - [ 1 ก.ค. 51 12:14:38 A:125.25.32.224 X: ]





    ความคิดเห็นที่ 2

    11. อาจกล่าวกันว่า ศาลปกครองกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่พิจารณาเฉพาะการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ความข้อนี้ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า กรณีดังกล่าว ไม่อาจแยกการกระทำออกเป็นส่วนๆ เพื่อพิจารณาได้ การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ถือเป็น การกระทำที่แยกออกได้ จากการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ การกระทำดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการเดียวกัน สืบเนื่องต่อกันไป เป็นขั้นตอนก่อนที่จะเกิดการลงนาม ไม่ได้เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากการลงนามซึ่งถือว่าแยกออกจากแถลงการณ์ฯ ที่มีการลงนามแล้วได้

    12. มีข้อสังเกตว่า ผู้ฟ้องคดีจงใจฟ้อง ขั้นตอน ต่างๆ ก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วมฯ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ที่ผู้ฟ้องคดีเล็งเห็นแล้วว่า หากฟ้องเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมฯ ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพราะกรณีเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกระทำทางรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์อันแท้จริงของผู้ฟ้องคดี คือความต้องการให้เพิกถอนแถลงการณ์ร่วมฯ หรือการทำให้แถลงการณ์ร่วมฯ ใช้ไม่ได้นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ต้องการให้ศาลปกครองมีคำสั่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมฯ การฟ้องให้เพิกถอนการกระทำอันเป็นขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วมฯ มีความประหลาดและไม่สมเหตุสมผลในทางกฎหมาย เพราะขั้นตอนก่อนการเกิดแถลงการณ์ เช่น การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นการกระทำในทางข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วในโลกของความเป็นจริง ไม่อาจถูกเพิกถอนได้ เพราะได้มีการกระทำนั้นๆ เสร็จสิ้นไปแล้วในความเป็นจริง การเพิกถอนการกระทำในทางกฎหมายปกครอง จึงต้องเป็นกรณีที่เป็นการเพิกถอนการกระทำที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายเท่านั้น เช่น เพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น เป็นต้น

    13. อนึ่ง ในประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ผู้แทนไปลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศ ถือเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่อยู่ ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ดังปรากฏให้เห็นในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ว่า โดยที่ในการมีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และผู้แทนการเจรจา รวมตลอดถึงคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่น ดำเนินการลงนามระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2550 นั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) ใช้อำนาจทางการบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญกระทำการในความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ มิใช่กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) ใช้อำนาจทางการบริหารของรัฐตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับเช่นพระราชบัญญัติ ออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดบรรลุผล คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

    14. คดีปราสาทพระวิหารตามคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 นี้ ศาลปกครองกลางใช้หลักเกณฑ์ทางองค์กรพิจารณาเท่านั้น โดยเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและมีอำนาจบริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศตาม มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 และคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองกลางเห็นว่ากรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอร่าง แถลงการณ์ร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรีก็ดี กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ก็ดี เป็นกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีกระทำการใน ฐานะเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ จึงอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง

    ความข้อนี้ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าแหล่งที่มาของอำนาจกระทำการของคณะรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการตกลงในทางระหว่างประเทศ ไม่ได้มีที่มาจากพระราชบัญญัติ แต่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ หากถือตามแนวทางของศาลปกครองกลางในคดีนี้ที่ว่าคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง และคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองจึงสามารถควบคุมตรวจสอบการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้แล้ว ผลก็คือ ศาลปกครองย่อมสามารถเข้าควบคุมตรวจสอบการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ ทุกกรณี ทำให้ศาลปกครองโดยองค์คณะ 3 คนกลายเป็นผู้บังคับบัญชาคณะรัฐมนตรี แม้ในงานที่เป็นเรื่องนโยบาย หรือเรื่องในทางระหว่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าการตีความกฎหมายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ย่อมขัดแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

    15. โดยอาศัยเหตุผลดังที่ได้แสดงให้เห็นทั้งหมดและด้วยความเคารพต่อศาลปกครอง กลาง คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการเสนอร่างแถลงการณ์ ร่วมฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน แถลงการณ์ร่วมฯ และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยุติความ ผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อประเทศกัมพูชาและยูเนสโกนั้น ไม่ถือเป็นคดีพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

    เมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว การกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ในกรณีดังกล่าว ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วยเช่นกัน ส่วนประเด็นที่ว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวจะมีสถานะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 อันจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย

    16. คณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งห้าดังมีรายนามตอนท้าย ตระหนักในความสำคัญของหลักการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของ ฝ่ายปกครองโดยองค์กรตุลาการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความห่วงใยในดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าอาจจะเสียไปโดยการที่ศาลปกครองกลางในคดีนี้เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจ ทางบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางในทาง ประชาธิปไตยอยู่แล้ว อีกทั้งคำสั่งในคดีนี้ยังขัดแย้งกับแนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวางไว้ใน คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ที่คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าสอดคล้องกับหลักนิติรัฐอีกด้วย จึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีนี้ผ่าน แถลงการณ์ฉบับนี้

    อนึ่ง ขอเรียนว่าการแสดงความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในเรื่องนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยอาศัยเสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการ รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 50 และเป็นการวิจารณ์การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทาง วิชาการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 65

    รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
    รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
    อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
    อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร
    อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล

    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×