ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #182 : ไม่ apply หลักการสากลกับสถาบันกษัตริย์ ‘การเมืองที่มีจริยธรรม’ เป็นไปไม่ได้

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 180
      0
      7 พ.ย. 55

    สุรพศ ทวีศักดิ์

     

     

    เป็นเรื่องบังเอิญที่ประจวบเหมาะเหลือเกิน เมื่อผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเรื่อง "การสร้างความปรองดองแห่งชาติ" กับการแถลงข่าวของศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี ระบุตรงกันว่า “ทักษิณคือตัวปัญหา”

     

    ดังผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้าที่ว่า “...ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากมุมมองต่อระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ตรงกัน โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนกลางของความขัดแย้ง” (ดูมติชนออนไลน์ 16 มี.ค.55)

     

    ดังธีรยุทธสรุปว่า “...เท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น” (ดูมติชนออนไลน์ 18 มี.ค.55)

     

    แต่ทั้งผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้าและธีรยุทธต่างไม่ได้ระบุถึง “ความผิด” ของอำนาจนอกระบบหรืออำมาตย์ในการทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 นอกจากจะไม่พูดถึงความผิดแล้ว ผู้วิจัยยังเสนอว่า “ไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีต”

     

    ผลวิจัยยังระบุอีกว่า “...มีกลุ่มคน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเสียงข้างมากในสภาฯ อีกฝ่ายเห็นว่าประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรม เพราะเห็นว่าเสียงข้างมากไม่ได้ถูกต้องเสมอไป…” และว่า“...สังคมมีปัญหาความขัดแย้งสูง และพบว่า สังคมมีความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์...”

     

    ขณะที่ธีรยุทธแถลงตอนหนึ่งคล้ายกันว่า “อย่างไรก็ตาม พลังรากหญ้า เสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นคราวๆ ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด” และพูดเชิงอุปมาอุปมัยว่า “เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจ เมืองไทยยุค 2 ก๊ก ก๊ก “คนเลว” โจโฉ จะชนะก๊ก “คนดี” เล่าปี่-ขงเบ้ง”

     

    ซึ่งเราอาจเห็นภาพ “การเมืองคนเลว-คนดี” จากคำอธิบายเชิงสังคมวิทยาของธีรยุทธที่ว่า “ความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำ ตอกย้ำความไม่เข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านอยู่กับความยากจนมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย จึงชอบวัตถุจับต้องได้อย่างเห็นชัดๆ ชอบความไวทันใจแบบปาฏิหาริย์...ชนชั้นสูงชั้นกลางเน้นการพึ่งตนเองและระบบ เน้นวัตถุเหมือนชาวบ้านเช่นกันแต่พยายามมีคำอธิบาย พวกเขาเน้นนามธรรม และชอบเทศนาคุณธรรม ความดี จึงเป็นที่มาของความต่างระหว่างประชาธิปไตยกินได้ของชาวบ้านกับประชาธิปไตยดูได้ของชนชั้นสูง”

     

    “ประชาธิปไตยดูได้” ที่ธีรยุทธพูดถึงก็คือ “ประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรม” ตามผลวิจัยระบุนั่นเอง และ “ประชาธิปไตยกินได้” ของชาวบ้านจริงๆ แล้วก็คือ “ประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงข้างมาก” นั่นเอง เพราะการออกมาต่อสู้ของชาวบ้านก็คือการออกมาปฏิเสธรัฐประหาร ปฏิเสธอภิสิทธิ์ของเสียงส่วนน้อย และระบบอำมาตย์ พูดอีกอย่างว่า การต่อสู้ของชาวบ้านก็เพื่อยืนยันว่า เสียงข้างมากของพวกเขาต้องมีความหมาย ซึ่งที่จริงก็คือการยืนยันความเสมอภาคของ “1 คน = 1 เสียง” นั่นแหละ อย่างนี้จะเรียกว่าการต่อสู้ของชาวบ้านมีอุดมการณ์หรือไม่?

    (ผมขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง เวลาที่นักวิชาการวิจารณ์ทักษิณและเสื้อแดงรากหญ้าทำนองว่า “ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด” มันเหมือนกับเขากำลังชี้หน้าด่า “พวกสู้ไป กราบไป” ว่า “ไม่มีอุดมการณ์...” โดยที่คนวิจารณ์นั้นไม่ได้แตะอำนาจนอกระบบและฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบให้รักษา “โครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ให้คงอยู่ต่อไป ตกลงนักวิชาการที่กำลังวิจารณ์อะไรแบบนี้เขาคิดว่า ตนเองกำลังทำหน้าที่บนจุดยืนหรืออุดมการณ์อะไรกันแน่?)

     

    แต่ประเด็นสำคัญ หรือประเด็นปัญหาในเชิง “หลักการ อุดมการณ์” ที่ธีรยุทธและงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้าไม่ได้ตั้งคำถามคือ “ประชาธิปไตยดูได้” หรือ “ประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรม” ที่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเรียกร้องต้องการนั้นคืออะไร และมันใช่หรือไม่ว่าประชาธิปไตยในความหมายดังกล่าวจะเป็น “ประชาธิปไตยที่ดูได้” และ “มาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรม” ได้จริง

     

    เมื่อดูจากข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งที่เป็นมาและเป็นอยู่ จะเห็นว่า ฝ่ายที่ยืนยัน“ประชาธิปไตยดูได้” หรือ “ประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรม” คือฝ่ายตรงข้ามกับเสื้อแดง ได้แก่อำมาตย์ กองทัพ พันธมิตร ประชาธิปัตย์ และประชาธิปไตยในความหมายดังกล่าวของพวกเขาก็คือ “ประชาธิปไตยที่ไม่ apply หลักการสากลกับสถาบันกษัตริย์” นั่นเอง

     

    ได้แก่ ประชาธิปไตยที่ไม่ apply หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับบุคคลสาธารณะอื่นๆ

     

    ถามว่า ประชาธิปไตยที่ไม่ apply หลักการสากลกับสถาบันกษัตริย์จะเป็นประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรมได้หรือไม่? ตอบว่า “ไม่ได้แน่นอน” คือมันไม่ได้ทั้งคุณธรรมและจริยธรรมทางศาสนา และคุณธรรมจริยธรรมทางสังคม-การเมือง

     

    ประเด็นแรก จริยธรรมทางศาสนา เรามักจะบอกว่าสังคมไทยเป็น “สังคมพุทธ” ใช่ไหม และรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ก็บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” แต่ในจารีตพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้าถูกด่าได้ วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เมื่อไม่ apply หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ก็เท่ากับว่าชาวพุทธไทยไม่ได้ยึดถือแบบอย่างของพระพุทธเจ้า และดูเหมือนจะยกสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้เหนือกว่าสถานะของพระพุทธเจ้าหรือไม่?

     

    ยิ่งกว่านั้น หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนาคือ หลักกาลามสูตร และอริยสัจสี่ จะไม่สามารถ apply กับเรื่องสำคัญของของสถาบันกษัตริย์ได้เลย เช่น หลักกาลามสูตรนั้นถือว่า “เราจะยอมรับว่าอะไรจริง ก็ต่อเมื่อเราพิสูจน์ได้ว่ามันจริง” แต่ถามว่า เรายอมรับความเป็นจริงของทศพิธราชธรรม (เป็นต้น) ได้อย่างไร ถ้าเราไม่สามารถพิสูจน์โดยการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้

     

    และตามหลักอริยสัจสี่นั้น การรู้ความจริงของปัญหาและสาเหตุของปัญหาคือ “เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้” ของการแก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่เมื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเราจะรู้ความจริงของปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่มีการอ้างอิงสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง เช่น ในเหตุการณ์ 6 ตุลา, 19 กันยา, พฤษภา 53 เป็นต้นได้อย่างไร

     

    ประเด็นที่สอง จริยธรรมทางสังคม-การเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคย่อมไม่สามารถจะมีได้ภายใต้ “ระบบการเมืองที่ไม่ apply หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์” เพราะว่าหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคคือ “หลักจริยธรรมสากล” หมายถึงหลักจริยธรรมที่ต้อง applyกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

     

    เมื่อเราใช้หลักการนี้ในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมือง และบุคคลสาธารณะอื่นๆ แต่ไม่ apply ในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ก็หมายความว่า เราปฏิบัติผิดหลักจริยธรรมสากล เพราะเท่ากับ “เรากำลังทำของที่เป็นสากลให้เป็นของไม่สากล”

     

     

    ผลที่ตามมาจากการปฏิบัติผิดหลักจริยธรรมสากลดังกล่าว ก็คือ “ความอยุติธรรม” ที่เราเรียกกันว่า “สองมาตรฐาน” นั่นเอง ดังผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และคำแถลงของธีรยุทธ ที่ “ขับเน้น” ความผิดของนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวว่าเป็น “ศูนย์กลางของความขัดแย้ง”

     

    ฉะนั้น “ประชาธิปไตยดูได้” หรือ “ประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับคุณธรรมและจริยธรรม” ที่ผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้าและธีรยุทธพูดถึง จึงเป็นประชาธิปไตยที่โดยพื้นฐานแล้วขัดต่อทั้งหลักจริยธรรมสำคัญของพุทธศาสนา และหลักจริยธรรมสากล อันเป็นหลักจริยธรรมทางสังคม-การเมืองที่เป็น “แก่นสาร” ของความเป็นประชาธิปไตย

     

    มันจึงเป็นเรื่องน่าประหลาดอย่างเหลือเชื่อที่สถาบันวิชาการชั้นนำ และปัญญาชนชั้นนำขวัญใจชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของประเทศนี้ ไม่สามารถจะมองเห็น “ปัญหาระดับรากฐาน” หรือปัญหาใน “เชิงหลักการ” ว่า ภายใต้“ระบบประชาธิปไตยที่ไม่ apply หลักการสากลกับสถาบันกษัตริย์” นั้น “การเมืองที่มีจริยธรรม” ในความหมายของ "หลักจริยธรรมสากล" อันเป็นรากฐานประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ (หรือแม้แต่จริยธรรมแบบพุทธศาสนาเองก็มีปัญหาดังที่ยกตัวอย่างเป็นต้น)

     

    ตกลงว่าประชาธิปไตยเช่นนี้ เป็น “ประชาธิปไตยดูได้” อย่างไรไม่ทราบครับ ท่านศาสตราจารย์เสื้อกั๊กที่เคารพ!

     

    ที่มา : ประชาไท

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×