ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #181 : ชาตินิยมกับชาติพันธุ์นิยม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 414
      1
      7 พ.ย. 55

    นิธิ เอียวศรีวงศ์

    "คนไทยไม่ทิ้งกัน" นี่คงเป็นคำขวัญที่สร้างความประทับใจมากสุดในน้ำท่วมคราวนี้ จึงมีผู้เอาไปแต่งเป็นเพลงหรือแทรกอยู่ในเนื้อเพลงปลุกปลอบใจ ที่มีการแต่งกันหลายเพลงในช่วงนี้

    ผมนึกถามตัวเองว่า แล้วใครเป็น "คนไทย" วะ ที่ชัดเจนแน่นอนอย่างหนึ่งคือ แรงงานพม่าไม่ใช่แน่ เพราะเขาถูกทิ้งให้เผชิญภัยพิบัติอย่างน่าเวทนาจำนวนมาก รายได้ก็ขาด อาหารก็ไม่มีใครเอาไปแจก พูดขอความช่วยเหลือกับใครก็ไม่มีใครรู้เรื่อง

    ทั้งนี้ เพราะเขาไม่ได้ถือสัญชาติไทย จึงไม่ใช่ "คนไทย" เท่านั้นหรือ แต่ก็ได้ยินเขาพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า คนเหล่านี้คือแรงงานที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจไทย (เพราะแรงงานที่ถือสัญชาติไทยมีไม่พอ) เขาคือคนที่มาช่วยพยุงให้อุตสาหกรรมของ "คนไทย" ดำเนินต่อไปได้ไม่ใช่หรือ

    แต่ในทางตรงกันข้าม ในบรรดา "คนไทย" ที่ไม่ถูกทิ้งนั้น มีคนเชื้อสายจีนอยู่มาก เพราะอะไร? เพราะเขาถือสัญชาติไทยตามกฎหมาย เขาจึงเป็น "คนไทย" กระนั้นหรือ

    อีกกลุ่มใหญ่เบ้อเริ่มคือคนเชื้อสายมลายูในภาคใต้ เขาเป็น "คนไทย" ด้วยหรือไม่ หรือเป็นเท่ากับ "คนไทย" ทั่วไปหรือไม่ เมื่อตอนที่เกิดกรณีตากใบซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วมร้อย ความเห็นในสื่อสังคมจำนวนมาก แสดงความสะใจอย่างเปิดเผย แถมอีกหลายคนยังเสนอว่า เมื่อเขาไม่พอใจประเทศไทย เขาก็ควรออกไปจากประเทศนี้

    ทำนองเดียวกับที่ดาราทีวีคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวสุนทร(?)พจน์ในคราวรับรางวัลอะไรสักอย่าง แล้วบอกว่า ใครที่ไม่ชอบ "พ่อ" ก็ควรออกไปจาก "บ้านของพ่อ"

    แล้วยังพวกเสื้อแดงอีก เขาเป็น "คนไทย" เหมือนและเท่ากับคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ หรือไม่ ความตายและความบาดเจ็บของเขาจึงได้รับการจดจำน้อยกว่าซากตึก


    คนไทยเป็นเจ้าของประเทศนี้ไม่เท่ากันหรอกครับ และมันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มปลุกความรัก "ชาติ" กันมาในสมัย ร.6 แล้ว ดังนั้น การเรียกร้องความเสมอภาคของเสื้อแดงจึงสั่นสะเทือนไปถึงรากฐานความเป็น "ชาติ" ของไทยทีเดียว

    อะไรคือ "ชาติ" ในพระราชมติของ ร.6 ท่านทรงเขียนไว้ชัดเจนว่า ชาติหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน มีวัฒนธรรมเช่นภาษาอันเดียวกัน ผ่านประสบการณ์ในอดีตมาร่วมกัน และมีระบบค่านิยมที่เหมือนกัน (นับถืออะไรคล้ายๆ กัน)

    ผมเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ในภาษาปัจจุบัน เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ว่า ชาติเกิดจากปัจจัย 4 ประการคือ ภูมิศาสตร์, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ และค่านิยม คือจากปัจจัยภายนอกไล่ไปจนถึงส่วนที่ลึกสุดในสำนึกของคน (และขอให้สังเกตด้วยว่า ความเป็นเจ้าของ "ชาติ" โดยเท่าเทียมกันนั้น ไม่มีอยู่ในนิยามนี้ อย่างน้อยก็ไม่มีอยู่อย่างชัดเจน)

    แต่ทั้ง 4 ปัจจัยนี้หาได้ตรงกับประเทศไทยในความเป็นจริงไม่ ทั้งในสมัยของพระองค์หรือสมัยปัจจุบัน

    ในทางภูมิศาสตร์ คนที่มาอยู่ร่วมกันในราชอาณาจักรสยาม-ไทย ไม่ได้สมัครใจมาอยู่ภายใต้ร่มธงเดียวกัน ก็ทั้งตัวพระราชอาณาจักรดังกล่าวก็เพิ่งเกิดขึ้น (หลังจากแก่งแย่งดินแดนกับฝรั่งจนในที่สุดฝรั่งก็ขีดเส้นเขตแดนให้เรารับไป) แม้แต่ธงก็เพิ่งคิดขึ้นไม่นาน

    ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของคนอีสานสมัยนั้นคือเวียงจัน ไม่ใช่กรุงเทพฯ ไม่นานก่อนหน้า ร.6 เจ้านายเมืองเชียงใหม่ยังแอบติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินพม่า และในส่วนต่างๆ ของประเทศ มีกลุ่มคนที่ปัจจุบันเรียกว่า "ชนส่วนน้อย" อาศัยอยู่กระจัดกระจายเต็มไปหมด เช่น ประชาชนบนที่สูง ต่างพากันอพยพลงมาตั้งทำกิน โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นราชอาณาจักรของใคร คนเชื้อสายเขมรในบุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษสมัยนั้นยังพูดไทยไม่ได้ ภาษาชองยังใช้กันในชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงชาวมลายูในภาคใต้ และชาวกะเหรี่ยงซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในภาคเหนือและภาคกลาง

    อันที่จริง ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยที่อ่อนสุดในความเป็น "ชาติ" ของทุกชาติในโลกนี้ เพราะเขตแดนของรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสำนึกร่วมกันของพลเมือง แต่เกิดขึ้นจากเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศเกือบทั้งนั้น

    เมื่อปัจจัยทางภูมิศาสตร์ไม่อาจให้หลักเกณฑ์อะไรแก่ความเป็น "ชาติ" ได้ ปัจจัยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ก็พังไปด้วย ส่วนใหญ่ของข้าราษฎรใน ร.6 พูดภาษากรุงเทพฯ ไม่เป็น และมักจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย จะอ้างว่าแม้กระนั้นพวกเขาก็ใช้ภาษาในตระกูลไท-กะไดด้วยกัน ก็จะยิ่งยุ่ง เพราะต้องรวมประชาชนที่อยู่นอกเขตภูมิศาสตร์ของราชอาณาจักรอีกมาก ไล่ไปถึงยูนนาน, กวางสี, ตังเกี๋ย, ลาว, พม่า, อินเดีย และบางส่วนในรัฐมลายูนอกสหพันธรัฐ

    (แม้กระนั้น ความคลุมเครือเรื่องภาษากับ "ชาติ" เช่นนี้ ยังทำให้นักเขียนรุ่นหลังหลายคน ขนลุกเกรียวๆ เมื่อได้มีโอกาสพูดกับคนไท-ไตในเมืองจีน, พม่า, และอินเดีย ขนของนักเขียนรุ่นหลังที่อาจลุกได้ง่ายๆ นี้ จะช่วยอธิบายความสับสนในเรื่อง "ชาติ" ของไทยได้ด้วย)

    เรื่องประสบการณ์ร่วมในอดีตหรือประวัติศาสตร์ไม่ต้องพูดถึง ประชาชนในประเทศไทยมีวีรบุรุษคนละคนกันมานานจนเมื่อการศึกษามวลชนแพร่หลายในสมัยหลังแล้ว และประวัติศาสตร์ไทยก็กลายเป็นยี่เกทั้งในจอหนังและตำราแล้ว

    เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ จึงต้องมาเน้นกันที่ส่วนลึกในจิตใจคือค่านิยม เกณฑ์ง่ายๆ ของ ร.6 ก็คือ "คนไทย" ต้องนับถือองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของตน "คนไทย" คือคนที่นับถือพระมหากษัตริย์ "ชาติ" ไทยคือ "บ้านพ่อ"

    ในทัศนะแบบนี้ "คนไทย" จึงไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่เกี่ยวกับความภักดีต่างหาก ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงเคยมีนโยบายต่อต้านจีนได้ โดยมีคนเชื้อสายจีนจำนวนมากได้อภิสิทธิ์ต่างๆ ทั้งทางการค้าและการเมือง เพราะคนจีนที่ถูกต่อต้านนั้น ไม่ได้หมายถึง "เจ๊ก" แต่หมายถึงคนที่ถูกสงสัยในความภักดี (ต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อผู้นำประเทศ)


    สํานึกชาตินิยมเช่นนี้ นับตั้งแต่เริ่มถือกำเนิดในสมัย ร.6 มาจนถึงปัจจุบัน ไม่อาจเรียกว่า "ชาตินิยม" ได้จริง แต่ควรเรียกว่า "ชาติพันธุ์นิยม" (ethnonationalism) ต่างหาก

    "ชาติพันธุ์" ไม่ได้หมายถึงคุณลักษณะในเม็ดเลือดนะครับ แต่หมายถึงการถือวัฒนธรรม (ในความหมายกว้าง นับตั้งแต่ภาษา, ความเชื่อ, ค่านิยม, หรือแม้แต่บุคลิกภาพ) อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตน คนต่างเผ่าพันธุ์กันหันมาอยู่ในชาติพันธุ์เดียวกัน จึงเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์

    รัฐบาลไทยนับตั้งแต่ ร.6 เป็นต้นมา ใช้นโยบายที่เป็นทั้งไม้นวมและไม้แข็ง เพื่อให้ประชาชนทั้งหมดยึดถือชาติพันธุ์ "คนไทย" ร่วมกันให้ได้

    และในวัฒนธรรมทางการเมือง คุณสมบัติซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของชาติพันธุ์ "คนไทย" ก็คือ สองมาตรฐานไงครับ พูดอีกอย่างหนึ่งคือการไม่ยอมรับความเสมอภาค การรู้จักที่ต่ำที่สูง (เช่น การนับถือพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของ ร.6) การกระจายสิทธิต่างๆ ที่ต้องลดหลั่นกันลงไปตามแต่ช่วงชั้นทางสังคม

    คุณจะเป็นเจ๊กเป็นจีน เป็นแขกเป็นมอญ เป็นฝรั่งมังค่า เป็นม้งเป็นเย้าอะไรก็ตาม คุณคือ "คนไทย" หากยอมรับว่าความไม่เสมอภาคคือหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยสงบ

    น่าสังเกตนะครับว่า พฤติกรรมที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" นั้น มักเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำต่างๆ เสมอ


    หลักการพื้นฐานของ "ชาตินิยม" นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก "ชาติพันธุ์นิยม" เพราะ "ชาตินิยม" คือความเสมอภาคของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเผ่าพันธุ์ใด ถือศาสนาใด พูดภาษาใดก็ตาม เขาย่อมเป็นเจ้าของ "ชาติ" เท่าเทียมกับคนอื่นทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยนะครับ แม้แต่ในรัฐเผด็จการ พลเมืองก็อาจเสมอภาคกันได้ ผู้เผด็จการได้อำนาจมาตามกระบวนการของกฎหมาย ฆ่าคนหรือขังคนตามกระบวนการของกฎหมาย ฉะนั้น ผู้เผด็จการก็อยู่ใต้กฎหมายเหมือนกัน (เช่น ฮิตเลอร์และสตาลิน เป็นต้น)

    หากทว่า กฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายนั้นๆ อาจไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เสมอภาคแน่ครับ

    ชีวิตและสวัสดิภาพของคนเสื้อแดงมีความสำคัญน้อย เพราะเขาแสดงตัวว่าเขาไม่ใช่ "คนไทย" ก็ไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำ (ทางการเมือง) นี่ครับ ชีวิตของชาวมลายูมุสลิมยิ่งด้อยความสำคัญลงไปใหญ่ เพราะเขาแข็งข้อ ไม่ใช่แข็งข้อต่อรัฐนะครับ แต่แข็งข้อต่อความเหลื่อมล้ำอยุติธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของ "ชาติพันธุ์นิยม" ไทยเลยทีเดียว ซ้ำวิถีชีวิตของเขายัง "แข็งข้อ" ต่อชาติพันธุ์ไทยตลอดมาเสียด้วย

    อุดมการณ์ของสลิ่มและเสื้อเหลือง (รวมผู้สนับสนุนเบื้องหลังด้วย) คืออุดมการณ์ของ "ชาติพันธุ์นิยม" อย่างชัดแจ้ง ส.ส. ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไป, อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น กองทัพเป็นรัฐอิสระ ซึ่งควรเข้ามาทำรัฐประหารเสียก่อนจะสายเกินไป เพราะกองทัพไม่ใช่หน่วยงานหนึ่งเหมือนกรมชลประทานนะครับ ฯลฯ

    ตราบเท่าที่ยังเป็น "คนไทย" ในความหมายของ "ชาติพันธุ์นิยม" เราก็จะไม่ทิ้งกัน

    แต่ "ชาติพันธุ์นิยม" กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากคนเสื้อแดง ในอีกมุมมองหนึ่ง ความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่เวลานี้คือการปะทะกันอย่างหนักเป็นครั้งแรกในประเทศนี้ ระหว่างพลังสองฝ่ายคือ "ชาตินิยม" กับ "ชาติพันธุ์นิยม"

    ในด้านอุดมการณ์ ผมเข้าใจว่าฝ่าย "ชาตินิยม" ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นมาให้ชัดเจน มากไปกว่าความเสมอภาค ซึ่งอาจนำไปสู่เผด็จการอีกชนิดหนึ่งก็ได้ (จึงพร้อมจะรับ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวง)

    ในทางตรงกันข้าม ฝ่าย "ชาติพันธุ์นิยม" สามารถใช้อุดมการณ์ที่ได้พัฒนาสั่งสมกันมาตั้งแต่ ร.6 ซึ่งมีความชัดเจนและครอบคลุมไปทั้งชีวิตคน ซ้ำเป็นอุดมการณ์ของ "ชาติ" ไทยที่เป็นฐานการศึกษาทุกชนิด (รวมสื่อด้วย) มานาน และด้วยเหตุดังนั้น จึงสามารถดึงดูดการสนับสนุนจากคนมีการศึกษาซึ่งกระจุกตัวในเขตเมืองได้มาก รวมทั้งที่ทำงานอยู่ในสื่อต่างๆ ด้วย

    ที่มา : มติชนออนไลน์
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×