ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #157 : วิวาทะของกรรมกรกระทู้ที่มีต่อเด็กวัย14ว่าด้วยเรื่องของชีวิตชาวนา

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 259
      0
      13 เม.ย. 54

     ต่อไปนี่เป็นเรียงความของเด็กวัย14ที่วิพากษ์บทความของคำผกา ซึ่งกรรมกรอ่านแล้วเห็นว่าน้องคนนี้ยังคงยึดติดกับภาพมายาความเพ้อฝันในความสวยหรูของคำว่าพอเพียงอย่างหัวปักหัวปำ กรรมกรจึงต้องขอเขียนโต้แย้งกลับไปแบบย่อหน้าต่อย่อหน้ากันเลย

    วิเคราะห์บทความ “คุณธรรมนำไทยให้ล่มจม” โดย ลฎาภา อินทรมหา ศิษย์เก่า รร. ทอสี ปัจจุบัน รร. ปัญญาประทีป

    จาก ที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ก็ไม่เห็นด้วยในหลายๆประเด็นเช่นกัน ซึ่งงานวิเคราะห์ชิ้นนี้จะไม่ใช่งานตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่เป็นการเขียนแสดงทรรศนะตามความเห็นของข้าพเจ้า ในฐานะเด็กคนหนึ่งและในฐานะผู้ที่เคยไปสัมผัสเครือข่ายคนกินข้าวแล้วเท่านั้น

    ในประเด็นแรก ข้าพเจ้ามีความเห็นโดยภาพรวมต่อบทความนี้ว่า เป็นบทความหนึ่งที่เหมือนบทความทั่วๆไป คือ แสดงทรรศนะความเห็นของตนต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งไม่ผิด คนเราไม่มีใครคิดได้เหมือนกันอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างก็มีความเห็นของตนและสามารถแสดงออกมาได้ภายใต้กรอบที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย คือ การเขียนแสดงความคิดของตนนั้น ไม่ควรใช้ถ้อยคำหยาบคายและรุนแรง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย เราสามารถเลือกใช้ถ้อยคำอื่นที่สามารถแสดงความคิดของตนได้ มากกว่าผสมคำที่ไม่เหมาะสมลงไปในบทความด้วย และเรามีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยได้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องว่าหรือตัดสินตามความคิดของตน


    กรรมกรเห็นว่าการใช้สำนวนการเขียนไม่ว่าจะหยาบคายหรือไพเราะสวยหรูแบบไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าคือเนื้อความที่สื่อให้เห็นข้อมูลข้อเท็จจริงและเชื่อมโยงตรรกะความเป็นไปได้ของข้อมูลข้อเท็จจริงที่เอามานำเสนอ กรรมกรกลับมองว่าการใช้สำนวนที่ไพเราะสวยหรูนั้นบางครั้งมันไม่ได้สื่อถึงอารมณ์ของผู้เขียนในช่วงที่กำลังเขียนชิ้นงานออกมาหลังจากที่ความคิดเห็นได้แล่นออกมาอย่างแท้จริง โดยไม่ได้อาศัยเวลามาทำจิตใจให้สงบแล้วจากนั้นค่อยดัดสำนวนให้อ่อนลงไป ซึ่งคนบางคนเมื่ออ่านชิ้นงานออกมาแล้วเห็นว่าเนื้อความนั้นมีความไม่สมเหตุสมผล เขาก็จะรู้สึกถึงความดัดจริตในจิตใจที่ซ่อนเร้นอยู่แทนที่จะทำให้อารมณ์ของผู้อ่านได้สงบลงไป
    คนบางคนเขาก็ชอบคนที่พูดจา แสดงความจริงใจและอารมณ์ส่วนตัวกันแบบตรงๆ ไม่มีการอ้อมค้อมดัดสำนวนดัดจริตเหมือนชนชั้นกลางและสูงหลายๆคนในสังคมปัจจุบัน

    ในประเด็นต่อมา ข้าพเจ้าคิดว่าปัญหาความยากจน ไม่ว่าจะเป็นของชาวนา หรือ ของใครก็ตาม ทางออกไม่ได้อยู่ที่การมี “เงิน” เยอะๆ แต่มันอยู่ที่ว่า เรามีความรู้จักพอหรือเปล่า เพราะตราบใดที่เรามีเงินเยอะแล้ว แต่เราไม่รู้จักคำว่าพอสักที เราก็ยังคงจนไม่รู้จบ เช่น เศรษฐีเงินล้าน เขามีเงินเยอะนะ แต่เขาไม่รู้จักพอ คนอื่นมองว่าเขารวย แต่เขาก็ยังคิดว่าเขาจนอยู่ดี เพราะเขาอยากๆๆๆๆๆๆๆ มีเท่าไหร่มันก็ไม่พอกับความต้องการของเขา

    อย่าได้หลงยึดติดยึดมั่นถือมั่นกับปรัชญานามธรรมสวยหรูแต่จับต้องจริงๆไม่ได้จะดีกว่าไหม หรือถ้าจะให้ดีน้องควรจะนำเสนอตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาประกอบการโต้แย้งด้วย เราพอเพียงจริงๆมันทำได้แต่กระแสโลกมันไม่ได้พอเพียงตามเราด้วย ถ้าเราคิดจะพอเพียงโดยที่ไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกแล้วปรับตัวไปตามมันละก็ สิ่งที่ตามมาก็คือเราก็จะถูกกระแสที่เปลี่ยนแปลงของโลกนั้นเล่นงานคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่เข้าให้อยู่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    และอีกประเด็นที่อยากจะชวน คิด คือ “เงิน” มันเป็นทุกอย่างของชีวิตจริงหรือ จริงอยู่ที่ทุกวันนี้เราขาดเงินไม่ได้แน่นอน เพราะวัตถุทุกอย่างมันก็ต้องใช้เงินซื้ออยู่แล้ว แต่มันมีอะไรรับประกันได้ละว่า ถ้าคุณมีเงินเพื่อมาซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว คุณจะมีความสุข?? เราไม่ได้ต้องการเงินหรอก แต่เราต้องการเงินเพื่อที่จะไปซื้อวัตถุมา เพื่อให้เกิด “ความสุข” ต่างหาก ลองคิดดูว่ามีอะไรบ้างที่เงินซื้อไม่ได้ มันซื้อความสุขได้ไหม มันซื้อเวลาที่ผ่านไปได้หรือเปล่า มันซื้อความรักได้ไหม ถ้าซื้อได้ มันอยู่กับเราไปตลอดรึเปล่า?? ถ้าเราคิดดีๆ เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ทำไมบางครอบครัว “ยากจน”(ในความหมายทั่วๆไป) แต่เขาก็ยังรักกัน มีความสุขดี แม้ว่าเขาจะจนเงินทองก็ตาม? ความจริงแล้วในโลกนี้มันยังมีอะไรที่สำคัญกว่าเงินมากมายนัก เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

    ในเมื่อเงินไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต ทุนนิยมก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราแข่งขันกับคนอื่น แต่ปลายทางหรือแม้แต่ระหว่างทางที่ทำ เรากลับไม่มีความสุขเลยแม้แต่น้อย


    ใช่ครัีบ เงินไม่ใช่ทุกอย่างแต่ทุนต่างหากเล่าที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง กิจกรรมใดๆก็ตามล้วนแล้วแต่ต้องใช้ทุนทั้งสิ้น ทุนในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงทุนที่เป็นเงินเท่านั้นแต่หมายถึงทุนทางปัญญา ทุนทางกำลังกาย ฯลฯ ทุนพวกนั้นสำคัญยิ่งกว่าทุนเป็นตัวเงินซะอีก ดังนั้นกรุณาแยกแยะให้ออกระหว่างคำว่า เิงิน กับ ทุน ให้ถ่องแท้นะครับ และต่อให้เราไม่คิดที่จะแข่งขันอะไรกับใครแต่กระแสโลกและมหาชนนั้นจะบีบให้เราต้องแข่งขันอยู่ดีนั้นเองครับ ถ้าเกิดคนอื่นๆเขาสามารถพัฒนากรรมวิธีเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ หรือแม้แต่ลดการใช้ต้นทุน เพื่อให้ราคาสินค้ามันถูกลงก็จะเป็นการชิงความได้เปรียบทางการตลาดในอนาคตได้

    คราวนี้ถ้าย้อนกลับมาดูชาวนาของเรา จริงอยู่ที่เราเห็นภาพชาวนาส่วนใหญ่ในประเทศยากจน เป็นหนี้ไม่จบสิ้น แล้วทำไมเขาถึงยากจนล่ะ?? เพราะราคาของต่างๆที่เขาซื้อมาเพื่อบำรุงนามันแพงใช่ไหม แล้วของเหล่านั้นมันจำเป็นจริงหรือเปล่า ทำไมเราต้องซื้อมันมา เมื่อก่อนเราต้องซื้อหรือเปล่า มันมีทางอื่นไหมที่เราทำได้นอกจากซื้อๆๆๆๆของเหล่านี้ เคยมีใครตั้งคำถามเหล่านี้ไหม? ความจริงของเหล่านี้มันไม่จำเป็นเลย ถ้าไม่ใช่ว่าเราเป็นชาวนาที่ต้องพึ่งตลาด คิดดูว่าเราปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวัน แต่ทำไมเราปลูกตามความต้องการของเราไม่ได้ล่ะ?? เราต้องปลูกตามตลาด ตลาดต้องการอย่างไร เราก็ปลูกไปตามนั้น ยิ่งตลาดต้องการมาก เราก็ยิ่งต้องปลูกมาก ใช้ปุ๋ยใช้เครื่องจักรอะไรต่างๆเพิ่มขึ้น เงินไม่พอต้องไปกู้ไม่จบสิ้น สุดท้ายไม่ใช่เสียแค่เรา แต่มันรวนทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ตัวชาวนาที่เป็นหนี้ ผู้บริโภคก็เสียไปด้วยเพราะกินข้าวที่โตด้วยสารพิษเพื่อเร่งผลิตให้ทัน สุดท้ายมันก็กระทบไปถึงระบบนิเวศ เราใส่ปุ๋ยใส่ยา ฆ่ากุ้งหอยปูปลามากเท่าไหร่ แทนที่ที่นั้นๆจะอุดมสมบูรณ์ขึ้น พื้นที่นั้นก็เสียไปด้วยเพราะได้รับสารเคมี ดินแห้ง พืชผักตายเกลี้ยง ฯลฯ แล้วจะทำนาได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่เป็นเช่นนี้

    คิดจะปลูกอะไรไปตามความต้องการนะได้อยู่แล้วครับ โดยปกติแล้วเราอยากจะปลูกพืชที่ได้ผลผลิตจะเยอะแค่ไหนก็ได้ตามต้องการ แต่เงินที่ได้จากการขายผลิตผลนี่ถามหน่อยว่าเราสามารถตั้งกำหนดราคาเองได้หรือไม่? อันนี้โดยปกติจริงๆก็ต้องตอบกันตรงๆว่า ไม่เลย ดังนั้นน้องเองก็ได้ยินข่าวเรื่องของการตรึงราคาพืชผลทางการเกษตรหน้าสวนหน้าไร่ (ไม่ได้หมายความถึงราคาของผลิตผลแปรรูปที่ผ่านโรงงานหรือบรรจุภัณฑ์หรือผู้จัดจำหน่ายยี่ปั๊ว ซาปั๊วในตลาดนั้นละ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าจำนวนผู้ผลิตคือเกษตรกรนั้นมีมากกว่าจำนวนผู้ซื้อที่มาเฝ้ารออยู่หน้าไร่หน้าสวนซึ่งปกติเขาซื้อแบบเหมาเรียบหมด (คงไม่มีนักจ่ายตลาดทำกับข้าวคนไหนเขาถ่อไปซื้อของกันแถวๆหน้าไร่หน้าสวนหรอกนะ เพราะมันเสียทั้งเวลาและค่าเดินทางโดยไม่จำเป็น) ผู้ผลิตนั้นเขาต้องรีบเร่งระบายผลิตผลของตัวเองโดยจะเก็บเอาไว้กับตัวเ้พื่อขายในวันต่อไปก็ไม่ได้เพราะของมันมันมีอายุ มันเน่าเสียส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้าได้ซึ่งนั้นจะทำให้ราคาสินค้าตกลงไป นั้นจึงทำให้ผู้ซื้อแบบเหมาจ่ายนั้นสามารถตั้งราคาให้ถูกลงแค่ไหนก็ได้ตามใจชอบ เพราะผู้ซื้อมันมีอยู่ไม่กี่คน ผลก็คือเงินรายได้กำไรมูลค่ามหาศาลก็จะไปตกกับผู้ที่เหมาซื้อแล้วเอาไปขายปลีกต่อ
    และถ้าปลูกตามความต้องการตัวเองได้ผลผลิตน้อยๆลงไป ผู้ซื้อน้อยรายก็หันไปทุ่มกำลังซื้อกับฝ่ายที่สามารถทำผลิตผลได้มากกว่าและคุณภาพดีกว่าแทน
    นี่ต่างหากละครับน้อง เป็นสาเหตุที่เขาต้องปลูกอะไรตามตลาด จะปลูกตามที่ใจตัวเองชอบซะทีเดียวเลยมันทำได้ยากมาก นอกจากว่าเราจะเป็นคนไปขายเองทำตลาดเองนั้นก็แล้วแต่ความขยันเป็นรายคนไป ปัญหาการตลาดที่กระทบโดยตรงต่อชาวนาสำคัญไม่แพ้ผู้บริโภคที่ต้องซื้อของใช้สารพิษ และมากกว่าระบบนิเวศน์วิทยาที่เสียไปและส่งผลกระทบทางอ้อมนั้นเสียอีก

    เวลามองอะไรให้มองยาวๆ บางทีมองสั้นๆมันดูดี แต่ถ้ามองยาวๆ โอ้โห!! มันผิดกันลิบลับเลย

    แต่ สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ไปสัมผัสระหว่างไปเข้าค่ายของเครือข่ายคนกินข้าว ทั้งค่ายดำนาและค่ายเกี่ยวข้าว สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นคือ ชาวนาเหล่านั้นก็เหมือนชาวนาทั่วๆไป บ้านก็ไม่ได้ใหญ่โตโอ่อ่ามากนัก แต่ในพื้นที่นั้นที่เป็นนาข้าวกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ต้นข้าวทุกต้นดูมีชีวิตชีวาไม่เหี่ยวแห้ง ท่ามกลางพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางนิเวศ ที่สำคัญคือ เป็นพื้นที่ของ”ชาวนา”ที่เต็มไปด้วยความสุขจริงๆ เขาทำนาเพราะรักที่จะทำ ทำด้วยความสุข ไม่ได้ทำเพราะจำใจทำแต่อย่างใด ทั้งสองค่ายนี้อาตุ๊หล่างและพ่อถาจะเป็นผู้นำสอนพวกเราชาวค่ายให้เรียนรู้ วิถีชีวิตของชาวนา ทั้งดำนา รู้จักสมุนไพรต่างๆ ในค่ายแรก และในค่ายที่สอง พวกเราได้หัดเกี่ยวข้าวและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกด้วย


    น้องยกอะไรมาพูดมาอ้างกันแน่ครับ? ว่าเขามีความสุขอย่างที่น้องอ้างมา? น้องเคยสอบถามเขาถึงปัญหาที่พี่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้หรือไม่?

    ซี่งประสบการณ์จากทั้งสองค่ายของข้าพเจ้านั้น เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าอาชีพชาวนาไม่ใช่อาชีพต่ำต้อย แต่เป็นอาชีพที่ควรคารวะ การทำนาไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นการทำนาเพื่อเอานา ทำเพราะรัก ทำเพราะอยากทำ ทำเพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าจริงๆ การทำนาคือความสุข คือชีวิต และผืนนาคือบ้าน

    ขอโทษทีนะครับ การทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอะไรก็ตาม ถือเป็นธุรกิจเพราะมันต้องแลกมาด้วยค่าตอบแทนทั้งนั้น อย่าอ้างค่าตอบแทนที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้นั้นละ อะไรที่ไม่มีค่าตอบแทนเขาจะไม่ทำ ให้มันเสียเวลาอันมีค่าไปเปล่าๆหรอกครับ

    ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ มั่งคั่งเรื่องเงินทอง แต่เขามั่งคั่งเรื่องอาหารซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องเงินทองเสียอีก ข้าวก็ได้จากนาของเขา พืชผัก ปลา ก็มาจากบริเวณบ้าน เขามีทุกอย่าง พึ่งตัวเองได้อย่างไม่เดือดร้อน และที่สำคัญคือ เขามีความสุข

    อาหารบางอย่างนะ มันเก็บสะสมไว้กินในวันต่อไปไม่ได้นะครับ เมื่อมันบูดเน่าเสียไปเราก็ต้องเอาไปใช้เป็นอาหารสัตว์ไป โดยเฉพาะอาหารสดๆที่ได้จากการปลูกมาของชาวนาชาวสวน มันไม่ใช่อาหารที่แปรรูปโดยโรงงานเพื่อเก็บไว้ให้คนกินได้นานหรอกๆนะ รู้ไว้ซะด้วย

    ดังนั้น ในความคิดของข้าพเจ้า วิถีของชาวนาที่นี่ไม่ได้จนเลยสักนิด แม้ว่าเขาจะจนเงินทองในสายตาของคนทั่วๆไป แต่สำหรับข้าพเจ้า เขาไม่จนเรื่องของความสุข เรื่องของคุณธรรม มันเป็นวิถีที่คนอยู่อย่างเคารพเกื้อกูลต่อธรรมชาติ เป็นวิถีที่แท้จริงของชาวนา วิถีที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคน

    เพราะอะไร? เพราะแท้จริงแล้วบ้านของมนุษย์คือธรรมชาตินั่นเอง (ข้อความนี้คัดลอกจากข้อความของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี)


    ใช่ครับ บ้านของมนุษย์จริงๆก็คือธรรมชาติ แต่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการตลาดนั้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับมัน เราปฏิเสธมันไม่ได้หรอกนะ ตราบใดที่เราต้องยังชีพโดยการเอาผลิตผลไปขายเพื่อแลกเอาค่าตอบแทนอย่างอื่นมา ก็เพื่อความสุขในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเขาเอง

    ที่สำคัญ คือ เรื่องของคุณธรรม ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยังไม่ต้องพูดถึงชาวนาแต่ลองมองสังคมในปัจจุบันกันก่อน ที่มันมีปัญหาเป็นวงจรซ้ำเดิมไม่จบไม่สิ้นเพราะอะไร?? สาเหตุตื้นๆคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ในตัวของคนเหล่านั้น แต่ลึกๆแล้วสาเหตุที่แท้จริงคือ “ขาดคุณธรรม” ต่อให้มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากมาย ตามจับโจรผู้ร้ายได้หมด สุดท้ายมันก็แก้ที่ปลายเหตุอยู่ดี คือเอาเขาไปขังคุก แต่นิสัยเขาหายไหม แล้วถ้าเอาคนๆนี้ไปขังคุก เรื่องมันจะจบแค่ตรงนั้นหรือเปล่า แล้วจะไม่มีคนทำผิดอีกแล้วใช่ไหม? มันไม่ใช่ เพราะต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด คือ “ขาดคุณธรรม” ลองยกตัวอย่างดูง่ายๆ ถ้าสมมติว่าเรากำลังอยากได้ของๆคนอื่น แต่เราห้ามการกระทำตัวเองไม่ให้ขโมยของๆเขาได้ นี่ก็ถือว่าเรามีคุณธรรมแล้วนะ แล้วคิดดู ถ้าเราห้ามตัวเองได้ไม่ให้คอรัปชั่นแม้ว่าคนอื่นจะทำก็เถอะ นี่ก็เป็นคุณธรรมเหมือนกัน

    มนุษย์เรานั้นล้วนแต่เกิดมีตัณหา รักโลภโกรธหลงด้วยกันทั้งสิ้น มันเลี่ยงไม่ได้หรอกครับ ตราบใดที่สิ่งมีชีวิตยังต้องการอาหารเพื่อยังชีพ นี่ก็เรียกว่าตัณหาในขั้นต้นแล้วนะครับ ถ้าอยากเลี่ยงตัณหาประเภท มันก็มีแต่ต้องตัดอวิชชาแล้วไปนิพพานไม่ต้องมาเกิดอีกต่อไปเท่านั้นเองตามหลักสังสารวัฏ
    และสาเหตุที่แท้จริงในที่นี้ก็คือ ธรรมชาติความไม่สมดุลระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายทางการตลาด ต่างหากละครับ คุณธรรมในที่นี้ถือเป็นปัจจัยรองๆลงไป

    คุณธรรมจึงเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ปัญหาทุกๆ อย่างคลี่คลายลงไปได้ และเป็นสิ่งที่ทุกๆคนควรมี แม้กระทั่งชาวนา เพราะทุกๆอย่างล้วนเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่วงกว้างทั้งนั้น คุณธรรมของชาวนาก็เป็นจุดเล็กๆที่ว่านี้เช่นกัน

    การจะทำอะไรสักอย่างให้ออกมาดีและบริสุทธิ์ จำต้องประกอบด้วยคุณธรรม เริ่มตั้งแต่คุณธรรมในตัวผู้ผลิตเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าหากชาวนามัวแต่เอาเวลาไปกินเหล้า ไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของตัวเอง ไม่รู้ว่าอะไรถูกผิด ควรไม่ควร แน่ใจหรือว่าเขาจะใส่ใจคุณภาพข้าวด้วย คราวนี้ มันก็กระทบทั้งตัวชาวนาและผู้บริโภคใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะทำอะไรให้มันดี ให้มันบริสุทธิ์ มันก็ต้องเริ่มที่เราพยายามทำให้ใจเราบริสุทธิ์ก่อน...


    ตัวอย่างที่น้องยกมานี่ถือเป็นตัวอย่างที่ตื้นเขินเอามากๆ ซึ่งนั้นไม่ได้แก้ปัญหาที่หลักที่แท้จริงเลยแม้แต่นิดเดียวอย่างที่เคยพูดไปแล้ว

    นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมชาวนาต้องมีคุณธรรม และทำไมเราต้องมีคุณธรรม ซึ่งเป็นบทสรุปของทุกสิ่งทุกอย่าง

    อย่าง ที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าบทความนี้ไม่ได้ตัดสินว่าใครถูกผิด แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นตามทรรศนะของข้าพเจ้าเท่านั้น ซึ่งก็หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับประโยชน์จากบทความนี้บ้าง ไม่มากก็น้อย


    ผมไม่ขอตอบว่าใครถูกใครผิด แต่ใครกันแน่ที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงเหนือกว่าและมีความเป็นจริงมากกว่าที่สุด คนๆนั้นย่อมเป็นต่อเสมอ รู้เอาไว้ซะด้วยนะครับ เฮ้อ...

    ที่มาของต้นฉบับเรียงความ ยกมาจากFacebookของผู้เขียนอย่างคำผกาที่นำมาเผยแพร่ให้อ่านกัน
    FacebookของKiku Nohana
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×