ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #14 : ชนชั้นล่างในเมืองและชนบทคือทัพหลวงของประชาธิปไตย

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.15K
      3
      24 ม.ค. 50

    รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    การเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ และก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นผลงานของแนวร่วมอำนาจนิยมขวาจัด ที่มีกลุ่มจารีตนิยมเป็นผู้บงการตั้งแต่ต้นจนจบ มีกลไกราชการ-ทหารเป็นแขนขา และมีปัญญาชนในเมือง ประกอบด้วยนักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ราษฎรอาวุโส นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ ทำตัวเป็น “คนงานหามเสลี่ยงให้เผด็จการนั่ง” ช่วยสร้างวิกฤตปั่นป่วนให้เป็นเงื่อนไขรัฐประหาร

    ในด้านตรงข้าม คือกลุ่มทุนใหม่ที่มีรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทน ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมืองบางส่วน และที่สำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบททั่วประเทศ ได้แก่ ชุมชนแออัด แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจชุมชน เป็นต้น เพราะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมซึ่งโอนย้ายงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมหาศาลจากในเมืองไปสู่ชนชั้นล่างในเมืองและชนบททั่วประเทศลงไปถึงระดับล่างอย่างค่อนข้างทั่วถึง

    ประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบทมีวิถีชีวิตอยู่ในระดับต่ำสุดของสังคม ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์นำหน้าชื่อ ไม่มีปากมีเสียง ตลอดประวัติศาสตร์ จากฐานะไพร่และทาสในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น “ราษฎร” ในยุคหลัง 2475 ถึงปัจจุบัน ถูกปกครองในระบอบอำนาจนิยมที่มีเนื้อในเป็นอำนาจรัฐผูกขาดของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ ซึ่งบางช่วงก็เป็นเผด็จการทหารเต็มรูป และบางช่วงก็มีเปลือกนอกเป็นระบบเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีสภาและรัฐบาลพลเรือน แต่ปราศจากอำนาจจริง ไม่ว่ายุคสมัยใด ประชาชนชั้นล่างไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้รับดอกผลโดยตรงจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยกระดับขึ้นบ้างก็เป็นเศษเหลือจากผู้ปกครองและชนชั้นกลางในเมือง

    ชีวิตของประชาชนชั้นล่างมีลักษณะ “จนและเจ็บ” วนเวียนอยู่กับการทำมาหากินที่ยากเข็ญ แสวงหาช่องทางอาชีพถูกกฎหมายทุกประเภทเท่าที่จะคิดได้ หารายได้พอยังชีพ อาชีพที่ต้องใช้ทุนเป็นสิ่งยากยิ่งเพราะไม่มีช่องทางการกู้เงินในระบบ สถาบันการเงินไม่ต้อนรับ อาชีพหลักมีทั้งขายแรงงานรับจ้างรายวัน รับจ้างเบ็ดเตล็ดรายได้ไม่แน่นอน เช่าหรือผ่อนปัจจัยทุน เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือทำการค้าขนาดจิ๋วด้วยเงินทุนน้อยนิด แต่ละวันได้เงินเข้าบ้านสักร้อยสองร้อยบาท บางครอบครัวจำยอมให้ลูกผู้หญิงทำอาชีพอบายมุขเพื่อจุนเจือการศึกษาของพี่น้อง รักษาการเจ็บป่วยของพ่อแม่ และซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต การใช้จ่ายประจำวันต้องกระเบียดกระเสียร ข้าวแกงจานละ 15 บาทกับ 20 บาทคือความแตกต่างสำคัญ การพักผ่อนบันเทิงในชีวิตคือ วิทยุโทรทัศน์ราคาถูก ๆ ในบ้าน การฉลองทำบุญในโอกาสสำคัญของครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้าน งานเทศกาล รวมทั้งหวยใต้ดินและการพนันเบ็ดเตล็ดเพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ ในหลายพื้นยังมีปัญหาสังคมที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัว ทั้งยาเสพติดข้างบ้าน บ่อนพนันผิดกฎหมาย อาชญากรรมลักขโมยจี้ปล้นในชุมชน แล้วยังเผชิญการข่มเหงรังแกจากอิทธิพลเถื่อนและเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น

    ปัญหาร้ายแรงในชีวิตคือ ความเจ็บป่วยซึ่งคนจนมักจะอดทนไม่รักษาและฝืนทำกินไปก่อน กระทั่งเจ็บหนักเสียแล้วจึงจำใจพึ่งโรงพยาบาลของรัฐในระบบคนไข้อนาถาที่อัดแน่น ขาดแคลน ทุกข์ทรมาน และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง หรือต้องพึ่งคลินิกแพทย์ซึ่งหลายแห่งก็ตั้งหน้าสูบเลือดขูดเนื้อ นอกจากนี้ ยังอาจมีปัญหาขัดแย้งกับอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตในครอบครัว และส่วนใหญ่จำต้องแก้ปัญหาด้วยเงินก้อนใหญ่ ทั้งหมดนี้ ทำให้ “การกู้หนี้นอกระบบ” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนชั้นล่าง ซึ่งนอกจากจะกู้เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพแล้ว บางครั้งก็ต้องกู้มาจุนเจือการศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งใช้เงินก้อนรักษาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวและแก้ปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐและอิทธิพลเถื่อนดังกล่าว

    ประชาชนชั้นล่างมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับกลุ่มอิทธิพลและนักการเมืองท้องถิ่นก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนและครอบครัว เป็นอำนาจช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเอง หรือระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพล ในยามฉุกเฉิน ก็เป็นแหล่งกู้ยืมหรืออนุเคราะห์ทางการเงิน เช่น เจ็บป่วย ลูกเข้าโรงเรียน งานบวช งานแต่ง งานศพ ประชาชนชาวบ้านจึงมักจะมีความสัมพันธ์ที่ผูกพันยาวนานกับผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สามารถให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม และเป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองชีวิตทรัพย์สินของพวกเขาได้ แล้วยังกลับเป็นภัยคุกคามประชาชนเสียเอง การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อคนชั้นล่างเสมอมา เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อนักการเมืองในพื้นที่ และเป็นการเสริมหลักประกันที่มีอยู่น้อยนิดในชีวิตอันยากเข็ญของพวกเขา

    ชีวิตของประชาชนชั้นล่างเป็นความลึกลับที่ชนชั้นกลางในเมืองไม่สามารถเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาชน อาจารย์ นักวิชาการ ข้าราชการ ไปถึงราษฎรอาวุโสและองค์กรพัฒนาเอกชนที่อ้างตัวเสมอมาว่า “เข้าใจชาวบ้าน” และสมอ้างเป็น “ตัวแทนชาวบ้าน” คนพวกนี้ใช้ชีวิตพรั่งพร้อมไปด้วยความสุขสบาย การศึกษาถึงมหาวิทยาลัยและต่างประเทศ อาศัยทุนการศึกษาและเงินภาษีของประชาชน มีอาชีพตำแหน่งงานมั่นคง เจ็บป่วยมีเงินรักษา มีสวัสดิการในหน่วยงาน มีเงินซื้อบ้าน รถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกและความบันเทิงทุกชนิด มีแหล่งเงินกู้ในระบบมากมายให้เลือก ไม่มีปัญหายาเสพติดใกล้บ้าน ไม่ต้องกลัวอิทธิพลอำนาจเถื่อน เจ้าหน้าที่รัฐไม่มายุ่งเกี่ยวรังแก ไม่ต้องพึ่งพานักการเมือง ผลก็คือ ชนชั้นกลางในเมืองนั่นแหละที่มักไม่สนใจการเลือกตั้งและประชาธิปไตย กระทั่งรังเกียจการเลือกตั้งและนักการเมืองว่า “ทุจริต”

    ในยามที่มีการเลือกตั้ง ประชาชนชั้นล่างก็จะเลือกนักการเมืองเหล่านี้เข้าไปในสภาและรัฐบาลซึ่งมักจะมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนชั้นล่างก็จะถูกกล่าวหาจากปัญญาชนในเมืองทุกครั้งว่า “เห็นแก่เงิน ขายสิทธิ์ขายเสียงให้นักการเมืองเข้ามาทุจริตทำลายชาติ” ทั้งที่สาเหตุรากฐานที่แท้จริงคือการผูกขาดอำนาจรัฐโดยกลุ่มจารีตนิยม-ราชการที่รวมศูนย์โภคทรัพย์ความร่ำรวยและความสะดวกสบายทุกชนิดเอาไว้ที่พวกตนกลุ่มเล็ก ๆ ในเมืองหลวง โดยมีชนชั้นกลางในเมืองได้รับเศษผลประโยชน์ ไม่แบ่งปันทรัพยากรความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนชั้นล่าง ไม่พัฒนาบริการของรัฐให้ทั่วถึงเป็นธรรม ทั้งระบบราชการที่ทุจริต ข้าราชการสมคบกับกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนภูธร ทั้งหมดนี้กดทับอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชนชั้นล่างทั่วประเทศตลอดมา

    ชนชั้นล่างเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง ชนะเลือกตั้งเข้ามาสู่รัฐสภาและจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็ง สามารถดำเนินนโยบายที่มีทิศทางเป็นเอกภาพได้ พวกเขาเลือกพรรคไทยรักไทยเข้าสู่สภาและเป็นแกนกลางของรัฐบาลในต้นปี 2544 เพราะว่านักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากที่พวกเขาผูกพันอยู่ได้ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทย อีกทั้งพวกเขาต้องการทดสอบพรรคไทยรักไทยซึ่งหาเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยมว่า จะนำประโยชน์ดังกล่าวมาให้พวกเขาได้จริงหรือไม่
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×