ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #139 : ส่วนหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยลักขณา ปันวิชัย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.52K
      9
      20 ก.ค. 53

     ในภาพของเผด็จการ ก็มีภาพของผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปรากฏแทรกเข้ามา (การรัฐประหาร 2476 การปราบกบฏบวรเดช 2476 และการสร้างสัญลักษณ์และจารีตที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไฮปาร์ค) ในภาพของนักการเมืองที่ฉวยโอกาสการเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นในตอนต้น แต่พลิกผันจะเข้ากับสัมพันธมิตรในบั้นปลาย คำถามก็คือว่า บทบาทเช่นนี้มิใช่หรือที่ผู้นำชาติเล็กชาติน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องทำในฐานะนักชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็นซูการ์โนหรือออง ซาน (ที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในเบื้องต้น แต่กลับต่อต้านในบั้นปลาย) ในภาพของผู้แอนตี้กษัตริย์ ก็มีภาพของผู้ถวายความจงรักภักดีในกรอบของหลักการว่าด้วย constitutional monarchy โดยที่ต้องไม่ลืมว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เป็น 1 ใน 100 กว่าสมาชิกของ "คณะราษฎร" ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ที่จำกัดบทบาทและอำนาจของพระมหากษัตริย์


    ชีวิตและผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้ง (controversy) ได้ง่ายและมาก ดังนั้น แม้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะดำรงตำแหน่งอันยาวนาน ทิ้งมรดกและอิทธิพล ผลกระทบทางการเมืองไว้มากมายมหาศาล แต่ชีวิตและผลงานของท่านก็ถูก "การเมืองของอดีต" ทำให้เลือนราง จางหาย กลายเป็นบุคคลลึกลับ หรือไม่ก็ไร้ความหมาย ไร้ความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เหมือนๆ กับบุคคลอีกหลายๆ คน หรือเหตุการณ์อีกหลายๆ เหตุการณ์"


    ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บันทึกการสัมมนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ การเมืองไทยสมัยใหม่ กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมุนษยศาสตร์, 2540, หน้าคำนำ


    วัน 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตสมาชิกคณะราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยผู้มีสถานะทางประวัติศาสตร์ในแบบที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งมากที่สุดอย่างที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวเอาไว้ และเพื่อมิให้ "การเมืองของอดีต" ทำให้ชีวิตและผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เลือนรางจางหาย


    ผู้เขียนขอใช้วาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รำลึกถึงผลงานบางประการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทิ้งให้กับประเทศไทย


    อย่างที่ทราบกันว่า การปฏิวัติสยาม 2475 นั้น แม้จะถือเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยยังมีอายุไม่ครบศตวรรษเสียด้วยซ้ำ เหมือนว่า ประวัติศาสตร์ไทยในช่วง พ.ศ.2475-2500 นั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่กลับอัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่นับเป็น "วิกฤต" ของชาติอันเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ไม่นานวัน และยังมีสถานะที่กำกวม และเป็นปัญหาถกเถียงไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เองในสายตาของคนไทยในปัจจุบัน


    คนทั่วไปที่มิใช่นักเรียนประวัติศาสตร์ มักจะมีภาพของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าเป็นเผด็จการชาตินิยม เหมือนมุสโสลินีบ้าง เหมือนฮิตเลอร์บ้าง


    การปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มักจะถูกนำมาล้อเลียนอย่างขบขันว่าเป็นสิ่งไร้สาระ เบาปัญญา เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียน สะกดคำในภาษาไทย การยกเลิกการใช้พยัญชนะบางตัว การสวมหมวก การสวมกระโปรง ถุงน่อง (ซึ่งในปัจจุบันเป็นแฟชั่นทันสมัย รวมทั้งการสนับสนุนให้นุ่งกางเกง ใส่รองเท้า ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับเช่นกัน)


    ตลอดจนการให้สามีจูบภรรยาก่อนออกจากบ้าน


    นักเขียนบางท่าน เช่น มาลัย ชูพินิจ ถึงกับเลิกเขียนหนังสือโดยสิ้นเชิง เพื่อทำการประท้วงการเปลี่ยนแปลงภาษาไทยอันศักดิ์สิทธิ์ในความคิดของเขา


    อย่างไรก็ตาม นโยบายทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังต้องการการศึกษาและตีความอีกมาก โดยเฉพาะในแง่มุมของการสร้าง "ชาติ" และอุดมการณ์ใหม่ของชาติแบบใหม่ที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้น และมันย่อมเกี่ยวพันกับทัศนคติเรื่องความรัก ครอบครัว การแต่งกาย การควบคุมร่างกายของพลเมือง


    หรืออีกนัยหนึ่งการจัดระเบียบร่างกายของพลเมืองแบบใหม่ให้สอดคล้องกับโลกทรรศน์ทางการเมืองและระเบียบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมและภูมิศาสตร์การเมืองแบบใหม่


    อย่างไรก็ตาม ยังมีผลงานอันเรียบง่ายในระดับรากฐานประชาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คนในปัจจุบันอาจจะไม่ทราบหรือหลงลืมไปบ้างแล้ว ผู้เขียนจึงใช้โอกาสนี้รำลึกถึงบางผลงานเกี่ยวกับการศึกษาที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างเอาไว้ และมักมีคนกล่าวถึงผลงานด้านนี้ไว้ค่อนข้างน้อย


    เกี่ยวข้องสถาบันอุดมศึกษา เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น 3 แห่งพร้อมกันในปี 2486 (และไม่ลืมว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันเป็นมหาวิทยาลัยเปิด และเป็นตลาดวิชาที่เปิดกว้างแก่คนทั่วไปนั้น ตั้งขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) คือ


    1.มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาและส่งเสริมทางด้านการแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชกรรมศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ กับวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย และได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2512


    2.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรกรรมที่บางเขน เข้ากับโรงเรียนวนศาสตร์ของกรมป่าไม้ที่จังหวัดแพร่ ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


    3.มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดขึ้นโดยยกฐานะโรงเรียนศิลปากร เพื่อส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยในระยะแรกตั้ง คือ จัดการศึกษาวิชาประติมากรรม จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วิชาโบราณคดี และวิช่างศิลปะอย่างอื่น


    4.ตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาในปี 2497 พัฒนาและเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปี 2517


    นอกจากนี้ ในบทบาทที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2496 ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะรัฐประศาสนาศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดการศึกษาค้นคว้าในทางรัฐประศาสนศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และให้วิชานี้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ


    ต่อมาในปี 2509 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ขึ้นเป็นสถาบันชั้นสูง โดยโอนคณะรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปขึ้นอยู่กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


    นอกจากนั้น ในปี 2497 ยังได้มีบทบาทในการริเริ่มสร้างหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวางศิลาฤกษ์ในวาระครบรอบ 20 ปีของการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือวันที่ 27 มิถุนายน 2497 และสร้างแล้วเสร็จในสมัยที่พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดี ในปี 2506 ซึ่งเป็นหอประชุมที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลานั้น


    สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ในปี 2482 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินในส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้เป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่า


    "ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน จังหวัดพระนคร 3 แปลง คือ แปลงที่ 1 ทิศเหนือจดถนนพระรามที่ 1 ทิศใต้จดถนนพระรามที่ 4 ทิศตะวันออกจดคลองอรชร ทิศตะวันตกจดถนนพญาไท แปลงที่ 2 ทิศเหนือจดถนนพระรามที่ 1 ทิศใต้จดถนนพระที่ 4 ทิศตะวันออกจดถนนพญาไท ทิศตะวันตกจดถนนพระรามที่ 6 แปลงที่ 3 ทิศเหนือจดถนนพระรามที่ 1 ทิศใต้จดถนนพระที่ 4 ทิศตะวันออกจดถนนพระรามที่ 6 ทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,196 ไร่ 32 ตารางวา ปรากฏแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"


    ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 1365-1366 วันที่ 30 ตุลาคม 2482


    ฉะนั้น คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเกือบพันสองร้อยไร่ อันกลายมาเป็นทรัพย์สินสำคัญในการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ได้ระบุเหตุผลไว้ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ว่า "เพื่อเป็นสถานศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่างๆ และเพื่อจะส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูงและทำนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติสืบไป" 


    นอกจากการส่งเสริมการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ยังปรากฏการขยายตัวของการศึกษาภาคบังคับอย่างจริงจัง ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ด้วยการประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามมาด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประถมศึกษาแห่งชาติปี 2475-2478


    ต่อมาได้ยกเลิกพระราชบัญญัติประถมศึกษาปี 2464 เพื่อประกาศใช้แผนการศึกษาปี 2479 และมีการปรับปรุงการศึกษาประชาบาล


    จนกระทั่งมีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติปี 2494 พบว่าปัญหาการเกณฑ์เด็กเข้าโรงเรียนน้อยลงเรื่อยๆ และพบว่าเมื่อถึงปี พ.ศ.2503 มีจำนวนเด็กได้เข้าโรงเรียนแล้วทั่วประเทศติดเป็นร้อยละ 96.70


    ทั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมีนโยบายส่งเสริมโรงเรียนราษฎร์ ด้วยเห็นว่าโรงเรียนเหล่านี้ได้รับภาระการจัดตั้งโรงเรียนของรัฐบาลไป จึงได้จัดงบประมาณอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์มาตั้งแต่ปี 2480


    ไม่เพียงแต่การศึกษาภาคบังคับ ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดการเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ ให้ได้เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 หลังจากปรากฏเป็นนโยบายตั้งแต่ครั้งรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุพเสนา และในช่วงปี 2483-2488 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาผู้ใหญ่อย่างเข้มข้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้พลเมืองไทยรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย


    ผลจากการส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่อย่างจริงจังในช่วง 6 ปีนี้ที่มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และการค้นคว้า ทำแบบเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้การอ่านเขียนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีจำนวนผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นถึง 1.4 ล้านคน


    สถานะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงความคลุมเครือ และมีประเด็นให้ถกเถียงกันได้อีกมากว่าเขาเป็นนักชาตินิยม หรือเผด็จการ เป็นผู้ต่อต้านกษัตริย์ หรืออยากปกป้องระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นนักฉวยโอกาสหรือเป็นผู้นำของประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก การศึกษาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกเป็นไปเพื่อขยายโอกาสทางสังคมให้กับประชาชนพลเมือง หรือเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหวังผลของการสร้างชาติและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำ หรือด้วยเหตุผลของความกดดันจากประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียในขณะนั้น คือ สหรัฐอเมริกา


    ทว่า ผลงานเล็กๆเกี่ยวกับรากฐานการศึกษาไทยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย ยังเป็นมรดกที่เราจำต้องตระหนัก และไม่อาจทำเป็นลืมไปได้

    ที่มา มติชน
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×