ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #134 : ไม่มีสังคมใดที่ไม่มีชนชั้น! – แม้แต่สังคมไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 737
      0
      2 พ.ค. 53

     'เกษม เพ็ญภินันท์' จากอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดวิวาทะ'เขียน ธีระวิทย์'ในบทความ"สงครามชนชั้นในไทย:ของแท้หรือของเทียม"

    ความพยายามเข้าใจต่อประเด็นการเคลื่อนไหวของแกนนำนปช. หรือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาล ‘ยุบสภา’ ภายใน 15 วัน และการใช้ถ้อยคำแบ่งแยกกลุ่มคนในสังคมระหว่าง ‘ไพร่’ กับ ‘อำมาตย์’ และแนวทางต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้คือ ‘สงครามทางชนชั้น’ ถ้อยคำเหล่านี้สร้างความแสลงใจให้แก่บรรดาชนชั้นนำ รัฐบาล ข้าราชการ นักวิชาการ ปัญญาชนและปริญญาชนจำนวนหนึ่งของสังคมไทย 
    แม้ว่าจะมีข้อกล่าวหาและความไม่พอใจต่อบรรดาแกนนำ นปช. ที่หยิบยกการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมระหว่าง ‘ไพร่’ กับ ‘อำมาตย์’ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนทางการเมืองครั้งนี้ แต่เมื่อพิจารณาข้อวิจารณ์ในเชิงความคิดและทฤษฎีต่อเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นโดยบรรดานักวิชาการหรือผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงกลับไม่ปรากฏอย่างเด่นเจน จนกระทั่งบทความ “สงครามชนชั้นในไทย: ของแท้หรือของเทียม” ของอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ ‘ชนชั้น’ ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ ทั้งในระดับทฤษฎีและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังตีกรอบความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้อิทธิพลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร 

    ผมไม่แน่ใจว่า ทรรศนะทางทฤษฎีและมุมมองทางการเมืองของอาจารย์เขียนที่นำเสนอนั้น จะช่วยให้คนอย่างผมเข้าใจถึงสาเหตุที่บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองได้หรือไม่ รวมทั้งยังทำให้คนอย่างผม (อีกเช่นกัน) เกิดความคลางแคลงใจต่อข้อสรุปที่ว่า บรรดา กลุ่มคนเสื้อแดงคือ สิ่งที่อาจารย์เขียนเรียกว่า “ไพร่พันธุ์ทักษิณ[ที่]ใช้สิทธิ์ชุมนุมทางการเมืองเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” นอกจากนี้ ผมก็ยังสงสัยต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เหตุไฉนจึงกลายเป็นความรุนแรงทางการเมืองและพัฒนาต่อไปเป็น ‘ผู้ก่อการร้ายเพียงข้ามคืนวันที่ 10 เมษายน’ และ ‘ขบวนการแดงล้มเจ้า’ ในปัจจุบัน

    วิวาทะเรื่องชนชั้น – จากทฤษฎีสู่สังคมไทย

    อาจารย์เขียนเริ่มต้นบทความ “สงครามชนชั้นในไทย: ของแท้หรือของเทียม” ด้วยข้อคิดเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับชนชั้น ด้วยการอ้างอิงถึงเหมาเจ๋อตุง คาร์ล มาร์กซ์ และเองเกลส์ (Engels) เพื่อบ่งบอกว่าบรรดาแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้ที่ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเป็นพวกซ้ายเก่าและอดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 6 ตุลา 19 ซึ่งรับเอาแนวคิด ‘สงครามชนชั้น’ ของเหมาเจ๋อตุงมาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้: 

    “คนไทยที่ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร แกนนำม็อบเสื้อแดงหลายคนเป็นผู้นิยมลัทธิเหมา บางคนเคยใช้คำสอนของเหมาเป็นคัมภีร์ เพื่อปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลในช่วง 10 ปี หลัง 6 ตุลาฯ แต่ไม่สำเร็จ”

    ผมเชื่ออาจารย์เขียนว่า บรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 6 ตุลาส่วนใหญ่อ่านสรรนิพนธ์เหมา แต่นั่นมันน่าจะเป็น 30 กว่าปีที่แล้วนะครับที่พวกเขาเคยอ่าน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะยึดถือแนวคิดของเหมาเป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ และไม่มีอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า ‘พวกเขายังเป็นเหมาอิสต์อยู่’ ผมนับถืออาจารย์เขียนเป็นอย่างสูงที่หยิบยกสารนิพนธ์เหมามากล่าวถึงและยังอ้างอิงตัวบท เพื่อยืนยันในทรรศนะและความเห็นของตนเองว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น: 

    “ในสงครามชนชั้น การปฏิวัติและสงครามปฏิวัติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น หากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะบรรลุการก้าวกระโดดในการพัฒนาของสังคมไม่ได้ ก็จะโค่นชนชั้นปกครองปฏิกิริยาให้ประชาชนได้รับอำนาจรัฐไม่ได้ ชาวพรรคคอมมิวนิต์จะต้องเปิดโปงการโฆษณาชวนเชื่อของพวกปฏกิริยาที่ว่า การปฏิวัติสังคมเป็นสิ่งไม่จำเป็น และจะเป็นไปไม่ได้ . . .”

    ข้อความที่อาจารย์ยกมา เหมารวมเกินไปที่ว่า บรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 6 ตุลาที่ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร แกนนำ นปช.และบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงต้องการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล เพราะพวกเขามาชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน เนื่องจากแกนนำ นปช.ได้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่าก้าวขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่ชอบธรรม เพราะการสนับสนุนจากทางกองทัพและอำนาจเร้นรัฐ แม้ว่าจะมีการรับรองในกระบวนการทางรัฐสภาก็ตาม

    ถ้าผมเข้าใจข้อเรียกร้องของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงไม่ผิด ข้อเรียกร้องของ นปช. มีเพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ ไม่มีใครยอมรับการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลว่าเป็นทางออกทางการเมืองที่ดีอีกต่อไปแล้ว การแก้ไขปัญหาทางการเมืองต้องดำเนินการแก้ไขภายในกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ฉะนั้น ทางเลือกอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนั้นย่อมไม่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับหรือคบหาสมาคมด้วย ยิ่งในโลกหลังสงครามเย็น ในโลกแห่งการสิ้นสุดลงของอุดมการณ์ (the end of ideology) ด้วยแล้ว ทั่วโลกยอมรับว่ามีเพียงอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นเพียงอุดมการณ์ทางการเมืองอุดมการณ์เดียวที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแกนนำ นปช. นั้น ที่สำคัญก็คือ การหยิบยกเรื่องปัญหาทางชนชั้น ระหว่าง ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ มาเป็นประเด็นรูปธรรม เพื่อชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนมาจากข้าราชการชั้นสูงและชนชั้นนำในสังคมไทย พวกเขาเรียกกลุ่มคนพวกนี้ว่า ‘อำมาตย์’ และเรียกตนเองว่า ‘ไพร่’ ทั้งนี้ก็เพราะว่า อำมาตย์เป็นผู้ที่กำหนดว่า ใครคือรัฐบาล อีกทั้งลักษณะเชิงโครงสร้าง ก็ยังทำให้ชนชั้นนำสามารถกำหนดทิศทางของสังคมและการเมืองดังที่ต้องการได้ 

    ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นไพร่ในทางการเมือง ไม่มีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตกับทิศทางสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ และยังถูกทำให้เป็นผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และไร้ซึ่งความมั่นคงในการดำรงชีพ แถมรุมเร้าด้วยปัญหาความยากจน หนี้สินและความแร้นแค้นในชีวิตต่างๆนานา การหยิบยกประเด็นเรื่องชนชั้นในนาม ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ ของแกนนำ นปช.จึงเป็นถ้อยคำที่สามารถสื่อกับผู้คนในสังคมและบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด

    ที่ชัดเจนก็เพราะว่า นี่คือความเป็นจริงที่บรรดาผู้คนที่มาร่วมชุมนุมประสบอยู่ในชีวิตจริง 

    การแยกแยะทางชนชั้นระหว่าง ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ ได้ทำให้เกิดความหวั่นวิตกต่อกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย จนทำให้เชื่อต่อไปว่า การชุมนุมทางการเมืองของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงจะนำไปสู่สงครามระหว่างชนชั้น 

    ผมเข้าใจว่าอาจารย์เขียนเองก็คิดเช่นนั้น ส่วนเหตุผลลึกๆ ของอาจารย์ผมไม่อาจทราบได้ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเขียนของอาจารย์ ก็คงไม่พ้นจากกรอบคิดเรื่องการปฏิวัติตามลัทธิเหมาอิสต์ มาร์กซิสต์ เลนนิสต์ หรือคอมมิวนิสต์ที่อาจารย์เชื่อว่าบรรดาอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นสมองให้บรรดาแกนนำ นปช.ยังคงใช้เป็นยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ 

    เท่าที่ผมติดตามการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้มา ผมคิดว่า พวกเขาน่าจะหลุดและก้าวพ้นแนวคิดพวกนั้นไปนานแล้ว พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตยครับ ขอย้ำนะครับว่าพวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน 

    ยิ่งอ่านข้อเขียนของอาจารย์เขียนยิ่งทำให้ผมไม่แน่ใจว่า อะไรคือสงครามชนชั้น และ ชนชั้นในไทยมีจริงหรือ? บอกตรงๆ อย่างไม่อ้อมค้อมนะครับว่า ผมอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กล่าวถึง ‘ชนชั้น’ และ ‘การปฏิวัติทางชนชั้นในยุคสมัยที่เขาไม่เอาการปฏิวัติแล้ว’ 

    ฉะนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งตัวผมเองและรวมทั้งอาจารย์เขียนด้วย อันดับแรก ผมต้องกลับมาทำเข้าใจต่อสาระ ความหมาย และความรู้เกี่ยวกับการจำแนกประเภทกลุ่มคนด้วย ‘ชนชั้น’ เพื่อให้แน่ใจว่า ผมเข้าใจไม่ผิด 

    ผมเองก็ต้องแปลกใจไม่น้อยว่า บุคคลแรกๆ ที่กล่าวถึงและแบ่งประเภทกลุ่มคนต่างๆ ด้วยรูปแบบทางเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาทางศีลธรรมและเป็นผู้เขียนงานชิ้นสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ (ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเลิกอ่านแล้ว!) คือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (หรือรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อสั้นๆ ว่า The Wealth of Nations) นามว่า อดัม สมิธ (Adam Smith) 

    แม้ว่าในหนังสือเล่มนี้ สมิธจะไม่ได้กล่าวถึงชนชั้นทางสังคมโดยตรง แต่ก็แจกแจงเรื่องชนชั้นไว้กับผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจของการแบ่งงานกันทำในสังคมพาณิชยกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 ชนชั้น คือ เจ้าที่ดิน, นายทุน, และกรรมกร การจำแนกประเภทของกลุ่มคนของสมิธในที่นี้ เป็นผลมาจากกระบวนทางประวัติศาสตร์ที่ผลประโยชน์ของสังคมก่อตัวขึ้นและได้รับการครอบครองจากกลุ่มคนต่างๆ ตามกำลังความสามารถ โอกาส เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในกลไกทางเศรษฐกิจ และการสะสมทุนกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ 

    ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เข้าใจร่วมกันว่า การแบ่งแยกกลุ่มคนเกิดขึ้นและพัฒนาความเป็นชนชั้นต่างๆ ด้วยการมีสำนึกร่วมในเชิงเศรษฐกิจที่แต่ละคนแต่ละชนชั้นอิงอยู่กับชนชั้นไหนในสังคม 

    ต่อมาความคิดนี้ได้มีอิทธิพลต่อมาร์กซ์ในการวิพากษ์ระบบทุนนิยม 

    แน่นอนว่า ‘ชนชั้น’ เป็นแกนกลางสำคัญอันหนึ่งในทฤษฎีสังคมของมาร์กซ์ ชนชั้นถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับต่อการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ประหนึ่งว่าเป็นผลประโยชน์ทั่วไปในสังคม ส่วนความขัดแย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้นๆ คือ การขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ ในหนังสือ Communist Manifesto มาร์กซ์และเองเกลส์กล่าวถึงปัญหาระหว่างชนชั้นไว้ในข้อความแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมที่เป็นอยู่คือประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางชนชั้น” ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีชนชั้นของมาร์กซ์นอกจากจะเป็นแนวทางการวิเคราะห์ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในระบบทุนนิยม ความขัดแย้งทางชนชั้นยังเป็นสภาวการณ์ที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อชนชั้นผู้ครอบครองทุนคือผู้กดขี่ ในขณะที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ถูกกดขี่ 

    นอกจากนี้ ทฤษฎีชนชั้นของมาร์กซ์ยังนำเสนอแนวคิด ‘จิตสำนึกทางชนชั้น’ เพื่ออธิบายความตระหนักรู้ถึงตนเองในฐานะที่เป็นสมาชิกของชนชั้น โดยที่ชนชั้นจะแสดงจุดยืนของตนเองออกมาในฐานะที่เป็นชนชั้นหนึ่งด้วยการมีผลประโยชน์และมีเป้าหมายร่วมกัน มากกว่าการรวมกลุ่มของปัจเจกชนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น มาร์กซ์กล่าวว่า “ชนชั้นคือผู้กระทำที่แท้จริง พวกเขาเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยความแร้นแค้นที่เกิดขึ้นจากการกดขี่ขูดรีดแรงงาน” 

    นี่คือคำอธิบายเชิงทฤษฎีของแนวคิด ‘ชนชั้น’ อย่างคร่าวๆ ที่ผมกลับไปทบทวนดู และช่วยให้เข้าใจต่อไปว่า แนวคิดเรื่อง ‘ชนชั้น’ ทำให้เห็นถึงปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการจำแนกแยกกลุ่มคนต่างๆ ออกจากกัน และยังทำให้เห็นภาพความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อผลประโยชน์ ความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาหลักของสังคม รวมทั้งปัญหาการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางสังคมที่ผู้ที่ด้อยโอกาสย่อมเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา

    อาจารย์เขียนครับ ที่อาจารย์เชื่อว่า สังคมไทยไม่มีชนชั้น และยืนยันให้เห็นจากข้อเท็จจริงของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้างกับนายจ้าง เป็นต้น ว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล หรือ “เรื่องเฉพาะรายมากกว่าในเชิงชนชั้น” อันที่จริงปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือระหว่างกรรมกรกับผู้ประกอบการ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะราย แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ได้เปรียบและผู้เสียเปรียบ ที่ฝ่ายหลังลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างที่เป็นธรรม สวัสดิการที่พึงได้รับ เป็นต้น

    อาจารย์เขียนยืนยันอย่างมั่นใจว่า “โดยพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย คนไทยนิยมที่จะอยู่ร่วมกันแบบระบบอุปถัมป์มากกว่า วัฒนธรรมอุปถัมป์เป็นศัตรูสำคัญของการเกิดและพัฒนาของสังคมชนชั้น” 

    ด้วยความเคารพอาจารย์นะครับ อาจารย์ไม่เคยสงสัยเลยสักนิดหรือว่า ระบบอุปถัมภ์ก็คือระบบชนชั้นทางสังคมรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดหลัก แต่เป็นสายสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลต่อกันในรูปผลประโยชน์ที่ต่างฝายต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ลักษณะทางชนชั้นเช่นนี้ทำให้ไม่มีความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ทุกปัญหาย่อมไม่มีปัญหา ทุกอย่างพูดคุยกันได้ ภายใต้ร่มเงาของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือผลประโยชน์ และความเกรงใจต่อนายของอีกฝ่ายหนึ่ง 

    ในอีกด้านหนึ่ง ระบบอุปถัมป์เป็นมรดกตกทอดมาจากระบบศักดินา โครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างไพร่กับนายล้วนกำหนดสถานภาพของแต่ละบุคคลในสังคมและยังเป็นปัจจัยหนึ่งในที่มาของวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย 

    อาจารย์เขียนครับ ยอมรับความจริงเถอะครับว่า ไม่มีสังคมใดที่ไม่มีชนชั้น แม้แต่สังคมไทยก็ไม่มีข้อยกเว้น! สังคมไทยไม่ได้เป็นอะไรที่มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ จนไม่สามารถสรรหาแนวคิดใดๆ มาอธิบายไม่ได้ 

    ก้าวให้พ้นทักษิณ – แล้วจะเห็นประเด็นปัญหาอีกมากมาย

    ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้สร้างผีตนหนึ่งขึ้นมาหลอกหลอนตัวเอง ผีตนนั้นก็คือ ผีทักษิณ ผีตนนี้ได้หลอกหลอนปรปักษ์ทางการเมืองของเขา ผู้อำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน นายทุนเก่า คนชั้นกลางในเมือง มนุษย์เงินเดือน ข้าราชการ สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ครั้งหนึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์และเชื่อว่าตนเองรู้ทันทักษิณ 

    ผีตนนี้ยังคงเวียนว่ายอยู่รอบๆ การเมืองไทย แม้ว่าตัวจริงเสียงจริงของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย รวมทั้งยังไม่มีที่พำนักพักพิงอย่างถาวรในต่างประเทศอีกด้วย กระนั้นก็ตาม ความเป็นผีของผีตนนี้กลับเผยตัวตนผ่านแกนนำ นปช. และบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง 

    ความคิดความเชื่อเช่นนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งอาจารย์เขียนด้วยที่เชื่อว่า แกนนำ นปช. ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแทนของทักษิณในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน ในขณะที่บรรดา สส.ของพรรคเพื่อไทยคือผู้เคลื่อนไหวในเวทีรัฐสภา ฉะนั้น การชุมนุมทางการเมืองและข้อเรียกร้องต่างๆ ของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเพียงตัวแทนของทักษิณเท่านั้น

    ผมไม่เคยปฏิเสธว่า บรรดาแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทยนั้นมีสายสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แต่ผมไม่คิดว่า สายสัมพันธ์และการเชื่อมโยงดังกล่าวจะเป็นเหตุผลที่บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาร่วมชุมนุม ณ บริเวณผ่านฟ้าและแยกราชประสงค์ 

    ถ้าผมคิดว่า การเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงผูกโยงกับทักษิณ ชินวัตรอย่างแยกไม่ออก ผมจะมองความเป็นจริงของการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ต่างไปจากอาจารย์เขียนสักเท่าไหร่ และเชื่อตามอาจารย์ด้วยว่าพวกเขาคือ ‘ไพร่แดง’ หรือ ‘ไพร่พันธุ์ทักษิณ’ ตามที่อาจารย์เรียกพวกเขา แต่เมื่อผมมองข้ามหรือข้ามให้พ้นทักษิณ ผมได้แลเห็นอะไรมากมาย ที่อยู่ในสังคมไทยและผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเมืองล้วนมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง ประการแรก ก็คือ ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย นั่นคือ ความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่มีต้นเหตุมาจากเกิดจากความไม่สมดุลย์ในการจัดสรรทรัพยากรทางสังคม นโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาเมืองและเอาเปรียบชนบท ข้าราชการที่เป็นนายของประชาชน และระบบสองมาตรฐานในกระบวนการทางตุลาการภิวัตน์ 

    บรรดากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงคงไม่ได้พูดจาภาษาวิชาการได้ แต่เนื้อหาที่สื่อออกมาล้วนอยู่ภายใต้กรอบความคิดเหล่านี้ทั้งสิ้น 

    ประการที่สอง การละเมิดสิทธิทางการเมืองของบรรดาคนเสื้อแดง การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงรับไม่ได้ต่อความเป็นสองมาตรฐานของกระบวนการทางตุลาการมากที่สุด 

    นักวิชาการ ปัญญาชนและสื่อส่วนใหญ่ละเลยต่อเรื่องสิทธิทางการเมืองที่แสดงออกผ่านการสนับสนุนพรรคการเมือง โดยคิดเพียงว่า พรรคการเมืองเหล่านี้เป็นร่างทรงทางการเมืองของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แต่ความเป็นจริงทางการเมืองมิได้เป็นเช่นนั้น 

    พรรคการเมืองคือสถาบันทางการเมือง การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนจึงไม่ใช่ปัญหาระหว่างทักษิณกับการเมืองไทยเพียงอย่างเดียว หากยังร้อยรัดปัญหาและการละเมิดสิทธิทางการเมืองของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง เพราะว่ากระบวนการเลือกตั้งและการสนับสนุนพรรคการเมืองของทุกคนไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมทางการเมือง หากยังเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกของสิทธิทางการเมือง 

    ประการที่สาม ทัศนคติและความเข้าใจในสิทธิทางการเมืองของประชาชน ชาวบ้านหรือรากหญ้าเปลี่ยนแปลงไปมาก ในช่วงเวลาที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พวกเขาแลเห็นดอกผลทางนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย ในรูปแบบของนโยบายประชานิยม 

    นักวิชาการ ปัญญาชน คนชั้นกลางและสื่อบางคนเรียกประชาธิปไตยเช่นนี้ว่า ‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ และยังดูแคลนชาวบ้านว่าเห็นแก่อามิสสินจ้างเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลทักษิณในเวลานั้น แต่จะมีสักกี่คนที่จะคิดต่อไปว่า นี่คือครั้งแรกที่พวกเขาได้รับดอกผลทางนโยบายที่ควรได้รับจากระบบการเมือง นี่คือครั้งแรกที่พวกเขาได้จัดการทรัพยากรทางสังคม งบประมาณที่กระจายจ่ายแจกสู่ท้องถิ่นเพื่อสนองตอบต่อชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัยด้วยตนเอง 

    ดังนั้น การเข้าร่วมและเรียกร้องทางการเมืองในนามของคนเสื้อแดงจึงถือว่าเป็นการทวงสิทธิที่พึงได้รับในฐานะพลเมืองของรัฐและประชาชนของประเทศนี้รวมอยู่ด้วย

    ประการที่สี่ บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลายมาก นับตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่รักและสนับสนุนทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดงที่เห็นด้วยกับแนวทางในการบริหารประเทศของทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม กลุ่มคนเสื้อแดงที่มาจากการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเป็นแนวร่วมของกลุ่มพันธมิตรฯ มาก่อนแต่เปลี่ยนความคิดมาสนับสนุน นปช. หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่แกนนำในท้องถิ่นต่างๆ จัดตั้งมา เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่มีใครสรุปแบบเหมารวมถึงความเป็นเอกภาพของคนเสื้อแดงได้

    นอกจากนี้ บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ล้วนมาด้วยเป้าประสงค์ที่แตกต่างกัน บางคนมาเพื่อเรียกร้องปัญหาปากท้องของพวกเขา บางคนมาเพื่อหวังผลในทางการเมืองในอนาคตเพราะตนเองเป็นแกนนำจากท้องถิ่นต่างๆ บางคนมาเพราะไม่พอใจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งบางคนมาก็เพราะรักทักษิณอย่างไม่เปลี่ยนแปลง 

    ไม่ว่าเหตุผลและการเข้าร่วมของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงจะเป็นเช่นใดก็ตาม ทุกคนควรเคารพในความคิดและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา ไม่มีใครสามารถตัดสินสิ่งที่พวกเขาคิด สิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น ถูกหรือผิด ดีหรือด้อยกว่าความคิดเห็นของคนอื่น 

    ในสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก ความแตกต่างทางทรรศนะและจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา เพียงทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพต่อความคิดความเห็นที่ไม่เหมือนหรือแตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

    เป็นทั้งความบังเอิญและความโชคร้ายที่ปัญหาการยึดติดกับความคิดความเชื่อของตนเองโดยไม่เคารพความคิดความเห็นของคนอื่นๆนั้น เกิดขึ้นในสังคมไทย ผ่านการบ่มเพาะลักษณะทางวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม และครอบงำความเข้าใจต่อโลกด้วยความเชื่อในความเป็นเอกภาพ จนนำไปสู่การปิดกั้นความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเห็น และยังทำให้กลายเป็นอื่นหรือสิ่งที่แปลกแยกทางสังคมอีกด้วย

    ประการสุดท้าย เหตุการณ์ 10 เมษายน ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง เหตุการณ์นี้ได้ทำให้การเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงพัฒนาข้อเรียกร้องจากการยุบสภาไปสู่ความชอบธรรมของรัฐบาลและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

    ยิ่งไม่มีคำขอโทษและความรับผิดชอบออกจากปากของอภิสิทธิ์ ยิ่งทำให้บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงชิงชังรัฐบาลมากขึ้น การบาดเจ็บ ความตาย ความโกรธแค้น ความสูญเสียของผู้ร่วมชุมนุมได้ทำให้พวกเขายื่นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น 

    ในขณะที่รัฐบาลก็ใช่ย่อย รัฐบาลได้กล่าวหาผู้ชุมนุมและกลุ่มคนชุดดำที่มาช่วยบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงที่ปะทะกับกำลังทหารว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ และเหมารวมถึงแกนนำ นปช.บางคน กับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็น ผู้ก่อการร้าย ตามมา 

    การป้ายสีเช่นนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อทุกภาคส่วนสังคม สิ่งนี้ยิ่งเพิ่มอุณหภูมิความรุนแรงทางการเมืองตามมา 

    การสลายการชุมนุม ณ บริเวณผ่านฟ้า (หรือถ้าจะเรียกให้ไพเราะตามรัฐบาล ก็คือ ‘การขอพื้นที่คืน’) การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล ณ บริเวณสี่แยกคอกวัวและถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จนก่อให้เกิดการเสียชีวิตทั้งคนเสื้อแดงและทหารจำนวน 25 คน เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาล ความรับผิดชอบของผู้สั่งการสลายการชุมนุมกฎหมาย มาตรการกับขั้นตอนการสลายการชุมนุมทางการเมือง และความปลอดภัยในชีวิตของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

    โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของแกนนำ นปช. ที่แยกราชประสงค์ แต่เมื่อการสลายการชุมนุมในบริเวณผ่านฟ้าเกิดขึ้น การรวมผู้ชุมนุมทั้งหมดให้มาอยู่ที่แยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงนั้น ก็ชอบธรรมบนพื้นฐานเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมขึ้นมาทันที

    แน่นอนว่า การโยกย้ายถิ่นฐานการชุมนุมได้สร้างความเดือดร้อนแก่คนกรุงเทพฯ ชนชั้นกลาง พ่อค้านักธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน ซึ่งไม่คุ้นชินกับการชุมนุม ประกอบกับพื้นที่นี้ยังเป็นใจกลางสำคัญทางธุรกิจการค้าย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ฉะนั้น จะเห็นว่าบรรดานักธุรกิจและผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนที่ชุมนุม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีการกล่าวถึงภายใต้การเรียกร้องของบรรดาสมาคมการค้า วิสาหกิจต่างๆ ก็คือ การยอมรับในการแสดงออกในเรื่องสิทธิทางการเมือง และความเข้าใจในปัญหากับข้อเรียกร้องของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง ที่ความเจริญของเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจของบรรดาสมาคมการค้าต่างๆ ได้รับประโยชน์ท่ามกลางการเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนส่วนใหญ่ของประเทศ

    รัฐบาลเองซึ่งเป็นทั้งคู่กรณีและผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง กลับทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่หวงห้ามในการชุมนุมทางการเมือง ด้วยการหยิบยกประเด็นทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก และปิดบังอำพรางปัญหาที่เรียกร้องโดยบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงไว้

    สิ่งนี้ได้พัฒนาความไม่พอใจของคนกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงคนเสื้อแดงจากกลุ่มคนต่างๆ การปะทะคารม ถ้อยคำผรุสวาท หรือแม้แต่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมในแต่ละฝ่าย จนนำไปสู่ความรุนแรงตามมา รัฐบาลดูเหมือนว่าจะพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นเหตุอันชอบธรรมในการสลายการชุมนุมของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงในท้ายที่สุด 

    สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย แม้ว่า ข้อเสนอเรื่องการเจรจาหาทางออกถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. ถูกยกเลิกกลางคันจากฝ่ายรัฐบาล ทุกอย่างเริ่มเลวร้ายลง เมื่อทั้งแกนนำนปช. และรัฐบาลก็ถ่าโถมโหมความรุนแรงเข้าหากัน เมื่อแกนนำ นปช. ก็ยกระดับการเคลื่อนไหวและวิธีการป้องกันตนเองจากการสลายการชุมนุมของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็เร่งความรุนแรงด้วยการหามาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและระดมกำลังทหารตำรวจจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสลายการชุมนุม

    ทั้งหมดนี้เป็นคำตอบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ แน่นอนว่า ทุกคนย่อมบอกว่า ‘ไม่’ 

    แต่ข้อเท็จจริงที่สังคมต้องเข้าใจก็คือ การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเป็นปรากฎการณ์ปกติในการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถเกิดขึ้นทั่วโลก และยอมรับกันได้ ถ้าไม่ได้พัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือการจราจลทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ 

    แต่บรรดากลุ่มคนต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายต่อบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงหรือเร่งสลายการชุมนุม บอกว่า การชุมนุมทางการเมืองคือการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศชาติอันเป็นที่หวงแหนของพวกท่าน 

    น่าสนใจว่าต่างชาติมิได้คิดเช่นนั้น สิ่งที่พวกเขาคิดก็คือ ภายใต้บรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เหตุใดจึงต้องมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมทั้งการมีกองกำลังทหารออกมาประจำการเพื่อควบคุมดูแลความสงบของกรุงเทพฯ การประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับและการมีทหารเดินตรวจการตามย่านต่างๆ และท้องถนน เป็นสภาวการณ์อันไม่ปกติในระบอบประชาธิปไตย

    สิ่งนี้ต่างหากครับ ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อความสงบสุขของประเทศและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์น้อยลง

    ข้อเสนอที่เป็นจริง – แต่ทำไม่ได้ 

    คุณอภิสิทธิ์ครับ ยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเถอะครับ 

    ในขณะเดียวกัน ผมก็เรียกร้องให้บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงย้ายสถานที่ชุมนุมจากแยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งเลิกการกระทำการใดๆ ที่นำไปสู่การกระทบกระทั่งกับผู้คนในสังคมที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองของ นปช. และเมื่อใดก็ตามที่ยกเลิกการชุมนุม ก็ขอให้มอบตัวเพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่หาว่าละเมิดกฎหมายหรือคดีความต่างๆ ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เพื่อเรียกความสงบสุขของสังคมให้กลับมา 

    ผมเชื่อว่าข้อเรียกร้องจะเป็นจริงได้ ถ้ารัฐบาลเริ่มต้นก่อน และแกนนำ นปช. จะยินดีปฏิบัติตาม

    อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ความฝัน ที่เป็นจริงไม่ได้ เพราะว่า มีปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจต่อกันและกันของทั้ง 2 ฝ่าย คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และความเข้าใจของรัฐบาลที่เชื่อว่า การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 หรือ 30 วันของฝ่าย นปช.นั้น มันมากกว่าการยุบสภา หากหมายถึง ‘สงครามทางชนชั้น’

    ผมไม่แน่ใจว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่าที่ว่า การเรียกร้องให้ยุบสภาจะนำไปสู่การเกิดขึ้นมาของสงครามชนชั้น ซึ่งอาจารย์เขียนกล่าวไว้ในบทความของท่าน แต่ที่ผมเห็นจริงๆ ก็คือ บรรดาคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้ ก็เพื่อนำการเมืองกลับสู่กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้สถาบันทางการเมือง รัฐสภาและรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การจัดสรรทรัพยากรทางสังคม และที่สำคัญที่สุดก็คือ – ความไม่เป็นธรรมในสังคม 

    อาจารย์เขียนครับ ผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ผมเชื่อว่า ถ้าทุกอย่างกลับสู่กระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว มันไม่มีหรอกครับ สิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามชนชั้น’ แม้ว่าจะมีชนชั้นในสังคมไทยก็ตาม

    ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×