ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #127 : หลักการประชาธิปไตยว่าด้วย พระราชอำนาจ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 739
      0
      5 ก.พ. 53

     หลักการประชาธิปไตยว่าด้วย พระราชอำนาจ



    พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
    นักศึกษาชั้นปริญญาตรี ปีที่2 
    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


    [บทความนี้ ผมปรับปรุงจากเดิมในทุกส่วน โดยพยายามเติมเต็มความสมบูรณ์ของเนื้อหาตามสมควร ผู้อ่านบทความนี้มาก่อนแล้ว จะเห็นได้ว่า บทความนี้มีเนื้อหาอย่างใหม่เสียมาก ผมเชื่อว่า บทความฉบับปรับปรุงนี้ น่าจะทำให้ผู้อ่านได้ประโยชน์กว่าเดิมมาก

    การปรับปรุงบทความนี้ ก็มีแรงจูงใจจากการที่จะเอาบทความลงวารสาร สนนท.(โดยคำชวนของเฮียfallingangels) ผมจึงมา "ทำบทความให้สมบูรณ์ขึ้น" และคงปรับปรุงบทความอื่น ๆ ของผมอีก ถ้าปรับปรุงไม่มากขนานใหญ่ ก็จะไม่ตั้งกระทู้ใหม่ครับ คือ เนื่องจากเวลาไม่อำนวยให้ทำบทความชิ้นใหม่ๆ ออกมา ซึ่งต้องใช้การค้นคว้าและศึกษามาก ตอนนี้จึงได้แต่เอาบทความเก่าของตัวเอง มาปรับปรุงให้สมบูรณ์ ใช้เวลาไม่มากก่อนนอน]


    คำชี้แจง : สาระสำคัญของบทความนี้ แบ่งเป็น 5 ตอน 

    ตอนที่1. ระบอบประชาธิปไตย ในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร
    ตอนที่2. ประเภทของประมุขแห่งรัฐแบบพระมหากษัตริย์
    ตอนที่3. สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญ
    ตอนที่4. หลักการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
    ตอนที่5. องคมนตรี ? พระมหากษัตริย์ ? คณะรัฐมนตรี


    หมายเหตุ : บทความนี้ ผู้เขียนอธิบายโดยยึดถือหลักการทางนิติศาสตร์ เป็นประธาน และหลักการทางสังคมศาสตร์ เป็นอุปกรณ์ ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นเกณฑ์หลัก 

    ทั้งนี้ ในส่วนที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนจะย้ำให้ผู้อ่านทราบทุกครั้งในบทความนี้ ผู้อ่านเชื่อมั่นได้ว่า เนื้อหาตามบทความนี้ พยายามให้สอดรับต่อหลักการอย่างถึงที่สุด โดยถ่วงดุลผลประโยชน์และอำนาจขององค์กรต่าง ๆ ด้วยมูลฐานในความไม่เชื่อในการมีอยู่ของ statesman หรือตัวบุคคล ซึ่งอยู่เหนือระบบแห่งกฎเกณฑ์

    อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านพึงตรวจสอบอคติ (ในฐานะมนุษย์) ของผู้เขียน และ พึงตรวจสอบอคติ(ฉันทาคติ หรืออื่น ๆ) ของตัวผู้อ่านเอง ด้วยดุจกัน 

    ---------------------------------------------



    ความนำ

    การอภิปรายเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ไทย มักอ้างอิงแต่เพียงบริบทที่มุ่งศึกษาถึงข้อเท็จจริง และปรากฏการณ์ทางการเมืองโดยลำพัง กล่าวคือ หันเหไปในทางรัฐศาสตร์ หรือบอกว่า ?นี่เป็นอะไร? ขณะที่การอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในทางนิติศาสตร์ มีวัตถุประสงค์แห่งการศึกษา คือ บทบัญญัติหรือบอกว่า ?ต้องทำอย่างไร? ซึ่งหลักนิติศาสตร์มีผลในทางจัดระเบียบชีวิตทางการเมืองให้เข้ารูป หลักการทางนิติศาสตร์ หรือ บทบัญญัติ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และ ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (หลักสากล หรือ พื้นฐาน) ย่อมไม่อาจถูกจัดให้ด้อยคุณค่าแก่การใส่ใจไปไม่ ในการรักษาดุลยภาพทางอำนาจ ของสถาบันทางการเมือง และหลักการขั้นพื้นฐาน ของระบอบการปกครองรัฐ


    ในเรื่องหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันทางการเมืองสำคัญ ๆ ของรัฐ เช่น สถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ในบรรดาบทบัญญัติเหล่านี้ (ทั้งที่เป็นอักษร และไม่เป็นอักษร) โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องสถาบันทางการเมือง มักปะปนระหว่าง ก.บทบัญญัติทางกฎหมายที่ได้กำหนดหรือสั่งให้ปฏิบัติตามโดยรัฐ กับ ข.เป็นเพียงสิ่งที่ใช้ปฏิบัติกันในสังคมโดยไม่คำนึง หรือ ให้ความสำคัญ ถึงระบอบการปกครองรัฐ หรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างน้อยสองประการ คือ

    ประการแรก บทบัญญัติที่มิใช่หลักในทางนิติศาสตร์จะเป็นส่วนใหญ่เสมอ
    ประการที่สอง บทบัญญัติในทางนิติศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้อย่างไม่สู้เคร่งครัดมาก ซึ่งผู้มีส่วนได้เสีย หรือ ผู้มีรากฐานทางอุดมการณ์ต่อสถาบันทางการเมืองนั้น ๆ ที่มีส่วนตั้งหรืออ้างในการตั้งบทบัญญัติเหล่านี้ ย่อมมีความสะดวกในการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติ หรือ หลักการ ทางนิติศาสตร์ (?ต้องทำอย่างไร?)ได้เสมอ



    สำหรับในรัฐทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1 ย่อมต้องได้รับการเคารพปฏิบัติตาม และถูกใช้ในการกำหนดกรอบ หรือวางระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางข้อเท็จจริง โดยหน้าที่ของรัฐศาสตร์ คือ การอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐศาสตร์ ก็อาจมีส่วนในการเข้าถึง หรือ แสดงอาการรับรู้ ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ตามนัยนี้เอง ที่รัฐศาสตร์จะถูกใช้ได้ต่อเมื่อไม่ตัดขาดจากสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ของนิติศาสตร์ ในฐานที่นิติศาสตร์เป็นตัววางระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางข้อเท็จจริงดังได้กล่าวแล้ว ทรรศนะคติกระแสหลักในสังคมไทย รัฐศาสตร์ถูกใช้เป็น วัตถุแห่งการนำมาใช้กล่าวอ้าง(ตามระบบประเพณี ฯลฯ) เพื่อละเลยสาระสำคัญของระบบแห่งการถ่วงดุล หรือบิดเบือนการจัดสรรอำนาจ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว หลักรัฐศาสตร์ดังที่ถูกหยิบกล่าวอ้างนั้น ต้องดำเนินตามระบบแห่งกฎเกณฑ์พื้นฐาน หรือรัฐธรรมนูญ เป็นสำคัญ อันจะธำรงสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้

    {เชิงอรรถที่1 ?กฎหมายรัฐธรรมนูญ?( Constitutional law ) เป็นคำกว้างซึ่งคลุมถึง ?รัฐธรรมนูญ?( Constitution ) ด้วย กล่าวคือ ?กฎหมายรัฐธรรมนูญ? หมายถึง บรรดากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการจัดการระบบการเมืองการปกครองภายในรัฐ สถาปนาองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ฯลฯ กฎเกณฑ์เหล่านี้ อาจอยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับเดียว หรือหลายฉบับก็ได้ หรืออยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้มีชื่อว่ารัฐธรรมนูญก็ได้ ?กฎหมายรัฐธรรมนูญ? ดังกล่าวนี้ อาจเรียกอีกชื่อว่าเป็น ?รัฐธรรมนูญตามเนื้อหา? (Constitution in material ) ก็ได้ 

    ส่วน?รัฐธรรมนูญ? มีความหมายอย่างแคบ หมายถึง ตัวบทรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ตามปกติได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นแบบพิธี (Constitution in formal) อยู่ในเอกสารที่เรียกว่า ?รัฐธรรมนูญ?เท่านั้น ซึ่งบทบัญญัติในส่วนนี้ ก็มีมูลบท หรือ รากทางความคิดมาจาก ?หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป? หรือ ?รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร? ในแต่ละระบอบการปกครองรัฐแต่ละระบอบ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร นั่นเอง 

    เห็นได้ว่า ?กฎหมายรัฐธรรมนูญ? หรือ ?รัฐธรรมนูญตามเนื้อหา? ย่อมต้องมีเสมอ แม้จะไม่มี ?รัฐธรรมนูญ? หรือ ?รัฐธรรมนูญตามแบบพิธี? ก็ตาม เพราะรัฐทุกรัฐย่อมต้องมีการจัดตั้งองค์ซึ่งใช้อำนาจรัฐต่าง ๆ แม้จะไม่มีการบัญญัติชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม เช่น ประเทศอังกฤษ 

    การใช้คำว่า ?กฎหมายรัฐธรรมนูญ? หรือ ?หลักรัฐธรรมนูญ? ในบทความนี้ หรือ ในตำรามาตรฐานทั่วไป ให้เข้าใจว่า มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือ หลักการนั้น ๆ อาจไม่มีการอ้างอิงเลขมาตรา แห่ง รัฐธรรมนูญ ( Constitution ) ก็ย่อมได้ ในฐานที่เป็นมูลบททางความคิดแห่งรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งชัดแจ้งในตัวมันเอง ในฐานะ รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร(Unwritten Constitution ) อยู่แล้ว 

    อ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมที่ : ไพโรจน์ ชัยนาม , สถาบันการเมือง และกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาค1 ความนำทั่วไป ,(กรุงเทพฯ ; สารศึกษาการพิมพ์, 2524) , หน้า77-81. ; สมยศ เชื้อไทย , หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น , (กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์วิญญูชน ,2536) ,หน้า49-51.}



    เมื่อได้กล่าวพาดพิง ถึงมูลฐานความคิดของบทความนี้ต่อหลักการทางรัฐศาสตร์ ตามสมควรแล้ว ต่อไปนี้ จะเริ่มบรรยายถึง ระบบความคิดเกี่ยวกับ ระบอบการปกครอง รูปแบบแห่งรัฐ และประมุขแห่งรัฐ ให้กระจ่าง เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การขยายความในหัวข้อต่อไป 

    นับแต่เปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้อภิวัตน์ประเทศไทยจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ ระบอบประชาธิปไตย โดยใช้รูปแบบแห่งรัฐ คือ ราชอาณาจักร

    ข้อควรพิจารณา คือ ระบอบการปกครองรัฐ กับ รูปแบบแห่งรัฐ นั้นแยกขาดความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ รัฐใดมีรูปแบบแห่งรัฐ เป็น ราชอาณาจักร หรือ รูปแบบแห่งรัฐประเภทอื่น เช่น สาธารณรัฐ ฯลฯ ก็ไม่อาจตัดสินได้เลยว่า รัฐนั้นมีระบอบการปกครองแบบใด เช่น เผด็จการ หรือ ประชาธิปไตย

    เห็นได้ว่า ก่อนการอภิวัตน์โดยคณะราษฎร พ.ศ.2475 ?ประเทศไทย? หรือ ?สยาม? ได้มีรูปแบบแห่งรัฐ คือ ราชอาณาจักร ดุจเดียวกับปัจจุบัน โดยที่ขณะนั้น มีการปกครองระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

    หลักในการพิจารณา รูปแบบแห่งรัฐ (form of state) คือ ตัวประมุขแห่งรัฐ (head of state) เช่น พระมหากษัตริย์ (unelected head of state) หรือ ประธานาธิบดี (elected head of state) ตามแต่กรณี

    สำหรับรูปแบบแห่งรัฐ แบบราชอาณาจักร ?ประมุขแห่งรัฐ? ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ ซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยสายโลหิต ส่วนรัฐ ซึ่งมีรูปแบบแห่งรัฐ หนึ่ง ๆ จะมีระบอบการปกครองแบบใดนั้น เป็นอีกเรื่อง 2

    {เชิงอรรถที่2 ในรัฐที่มี ?ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย? บทบาท หน้าที่ ของ head of state ที่ ?มาจากการเลือกตั้ง? กับ ?มิได้ผ่านการเลือกตั้ง? ขีดจำกัดในการแสดงออกทางการเมืองจะแตกต่างกันไป โดยประเภทหลัง จะถูกสงวนสิทธิทางการเมืองทั้งปวง เพราะในรัฐสมัยใหม่ ผู้ที่จะมี อำนาจ (power) ต้องมีที่มาของ สถานะทางอำนาจ จากปวงชน และสามารถถูกตรวจสอบ หรือรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในบรรดาการกระทำใดๆ ได้ (accountability) ด้วยเหตุนี้ ในรัฐสมัยใหม่ กษัตริย์จะทรงเป็น ?ประมุขแห่งรัฐ? เท่านั้น รายละเอียดของหลักการส่วนนี้ โปรดดู หัวข้อ ?ตอนที่ 4? 

    หาก รัฐที่มี ?ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ? เช่น เผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประมุขแห่งรัฐ ย่อมปรากฏเฉพาะ ?unelected head of state? เพียงถ่ายเดียว ซึ่งมีอำนาจไม่จำกัด โดยจะทรงเป็นทั้ง ?ประมุขแห่งรัฐ? และ ?หัวหน้าฝ่ายบริหาร? โปรดดู หัวข้อ ?ตอนที่2? ในส่วน ประเภทที่1.}



    ถ้ารูปแบบแห่งรัฐ คือ สาธารณรัฐ ?ประมุขแห่งรัฐ? ย่อมหมายถึง ประธานาธิบดี โดยทั่วไป ประธานาธิบดี จะเป็นทั้ง ประมุขแห่งรัฐ และ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยกุมอำนาจบริหารไว้ทั้งหมด ในระบบประธานาธิบดี (presidential system) เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับระบบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidential system) ตัวประธานาธิบดี จะเป็น ประมุขแห่งรัฐ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยกุมอำนาจบริหารไว้บางส่วน 3 เช่น ฝรั่งเศส 

    {เชิงอรรถที่3ในระบบกึ่งประธานาธิบดี ประธานาธิบดียังคงมีอำนาจสูงสุด เพราะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีในระบอบนี้แตกต่างจากระบอบประธานาธิบดีคือประธานาธิบดีจะแบ่งสรรอำนาจในการบริหารให้แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลบางส่วน กล่าวได้ว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจในทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ และการลงนามในกฎหมายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี ซึ่งแตกต่างจากประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดีที่จะกุมอำนาจบริหารไว้หมดและจะไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบนี้ ; อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดู ชำนาญ จันทร์เรือง. ?ระบอบกึ่งประธานาธิบดี?.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttp://www.pub-law.n...?PublawIDs=1344 (วันที่ค้นข้อมูล 28 สิงหาคม 2552).}


    ซึ่งสถานะบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ?ประมุขแห่งรัฐ? จะเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาภายใต้กรอบตามระบอบการปกครองของรัฐนั้น ๆ เป็นเกณฑ์เท่านั้น


    ตอนที่1. ระบอบประชาธิปไตย ในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร

    ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ย่อมหมายถึง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 4 โดยการแสดงเจตนาของปวงชนต้องกระทำโดยผ่าน ผู้แทนปวงชน ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากปวงชน ดังกล่าวนี้ คือ วิถีทางเดียวแห่งการได้อำนาจรัฐอันชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตย จริงอยู่ ประชาธิปไตย มิใช่แค่ ?การเลือกตั้ง? ทว่า ?การเลือกตั้ง? เป็นสาระสำคัญของ ระบอบประชาธิปไตย ที่จะขาดไร้ ไปมิได้ 


    {เชิงอรรถที่4 ผู้เขียน หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ?ประชาชน ? หรือ ?ราษฎร? ซึ่งอาจมีความหมายเน้นลักษณะราย ๆ หรือเป็นหมู่ แต่ ?ปวงชน? มีความหมายเน้นในแง่ ?ทั้งหมดทุกคน? ซึ่งน่าจะสื่อความหมายได้ตรงกว่า.}


    รัฐที่มีรูปแบบแห่งรัฐ เป็นราชอาณาจักร และใช้ระบอบการปกครอง แบบประชาธิปไตย ย่อมต้องมี ?พระมหากษัตริย์? เป็นประมุขแห่งรัฐ ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการใช้อำนาจรัฐ (กษัตริย์ มิใช่ ผู้ทรงอำนาจรัฐ แต่เป็นสัญลักษณ์ แห่งการใช้) โดยถูกอนุญาตให้มีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวได้ว่า ?สถาบันพระมหากษัตริย์? ในระบอบประชาธิปไตย เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐธรรมนูญอนุญาตและรับรองให้มีขึ้น 

    นับแต่การอภิวัตน์ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระมหากษัตริย์ไทยย่อมมิใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป ประเทศไทยได้สถาปนาตนเข้าสู่โลกเสรีนิยมประชาธิปไตย บทบาทและพระราชอำนาจโดยพระองค์เอง ได้ถึงการดับสิ้นไปนับแต่บัดนั้น


    การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมิใช่การตั้งอยู่ในฐานะ ?ผู้ใช้อำนาจรัฐโดยพระองค์เอง? หากแต่เป็นการดำรงอยู่ในสถานะ ?สัญลักษณ์แห่งการใช้อำนาจรัฐ? ถ้าพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย กระทำการใด ๆ โดยพระองค์เอง กล่าวคือ ทรงกระทำการใด โดยไม่ผ่านผู้แทนปวงชน (ผู้ซึ่งมีอำนาจชัดตามรัฐธรรมนูญ ในการแสดงเจตนา ทูลเกล้าฯให้พระองค์ทรงรับทราบ และต้องทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น ๆ ) การดังกล่าวก็ย่อมไม่มีผลผูกพันใด ๆ ทางกฎหมายเลย หรือกล่าวโดยทั่วไปว่า ?เป็นโมฆะ?


    ดังนั้น พระมหากษัตริย์ ในรัฐประชาธิปไตย จึงปราศจากอำนาจใด ๆ โดยพระองค์เอง โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจและบัญญัติหน้าที่ไว้โดยชัดแจ้ง(Constitutional Monarchy )5

    {เชิงอรรถที่5 Constitutional Monarchy เป็นประเภทของประมุขแห่งรัฐ แบบพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประเภทเดียวเท่านั้นที่พระมหากษัตริย์สามารถดำรงอยู่ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โปรดดูรายละเอียดในหัวข้อ ?ตอนที่ 2? ในส่วน ประเภทที่ 3.}


    ตอนที่2. ประเภทของประมุขแห่งรัฐแบบพระมหากษัตริย์ 

    ประเภทของประมุขแห่งรัฐแบบพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกโดยอาศัยที่มาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลต่อพลังแห่งพระราชอำนาจ และอำนาจของปวงชน ทั้งนี้ ในทางตำราส่วนใหญ่จำแนกไว้ 3 ประเภท 6 ดังนี้

    {เชิงอรรถที่6 วิษณุ เครืองาม , กฎหมายรัฐธรรมนูญ ,(กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์,2523), หน้า 177 ; มานิตย์ จุมปา , คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ,(กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์นิติธรรม , 2541), หน้า 28.}


    ประเภทที่1. รูปแบบที่กษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ใช้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ [Absolute Monarchy] ในรูปแบบนี้ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด ล้นพ้นแต่พระองค์เดียว ทรงเป็นประมุขและองค์รัฐาธิปัตย์(sovereign) ทรงใช้อำนาจอธิปไตยได้โดยลำพัง พระบรมราชวินิจฉัยเป็นที่สุดในกิจการทั้งปวง รูปแบบนี้ประเทศไทยเคยใช้สมัยก่อนอภิวัตน์ 24757 

    {เชิงอรรถที่7 มานิตย์ จุมปา , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่6 , หน้า 27}

    ประเภทที่2. รูปแบบปรมิตาญาสิทธิราชย์ [Limited Monarchy หรือ Charte] ในลักษณะนี้คล้ายประเภทที่1. กล่าวคือ พระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ แต่ในรูปแบบนี้ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทุกอย่าง เว้นแต่ที่ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ เป็นการยินยอมลดทอนอำนาจของตน แต่สงวนพระราชอำนาจไว้มาก 8เพื่อป้องกันการปฏิวัติพระองค์ในภายหลัง อีกทางหนึ่งก็เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ราษฎร และในการออกกฎหมาย ถ้าประมุขแห่งรัฐไม่เห็นด้วย ก็ออกกฎหมายนั้นมิได้ 9 รัฐธรรมนูญที่มีประมุขแห่งรัฐเป็นกษัตริย์ในประเภทนี้ ประมุขแห่งรัฐเพียงถูกจำกัดพระราชอำนาจบางประการโดยรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประมุขแห่งรัฐยังทรงมีอำนาจดั้งเดิม(Prerogative) มาก

    {เชิงอรรถที่8 หยุด แสงอุทัย , หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป , (กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์วิญญูชน,2538) ,หน้า 50 ; วิษณุ เครืองาม , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่6 , หน้า 177.

    เชิงอรรถที่9 หยุด แสงอุทัย , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่8 , หน้า50.}



    พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ 10

    {เชิงอรรถที่10 วิษณุ เครืองาม , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่6 , หน้า177.}


    กล่าวได้ว่า เป็นรูปแบบของการผ่อนหนักผ่อนเบาระหว่างการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ยินยอมทอนอำนาจบางประการลงเท่านั้น เป็นการยังให้ระบอบราชาธิปไตยที่ทรงอำนาจจำกัดก็จะมั่นคงสืบไป 11และพระมหากษัตริย์สามารถถอนคืนความยินยอมในการถูกลดทอนอำนาจนั้นออกไปเมื่อใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม นักนิติศาสตร์บางท่าน มองว่า รูปแบบของรัฐธรรมนูญแบบนี้ ก็เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาเป็นประชาธิปไตยได้ในอนาคตได้เช่นกัน


    {เชิงอรรถที่11 ในประเทศจีน ก่อนที่จะสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นนั้น คือ เมื่อ ค.ศ.1902 รัฐบาลแห่งระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มองเห็นแล้วว่า ประชาชนชั้นที่มีการศึกษาต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ และเห็นว่าน่าจะยับยั้งไว้ไม่อยู่ จึงได้รีบประการพระราชกำหนด "หลักการปกครองตามรัฐธรรมนูญ" ให้ประชาชนทราบเมื่อเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เป็นเพียงเค้าโครงซึ่งเลียนแบบฉบับจากหลักรัฐธรรมนูญในญี่ปุ่นซึ่งมีมาก่อน(ค. ศ.1889) เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของประชาชนไม่ให้คิดก้าวหน้าไปถึงกับจะเป็นสาธารณรัฐ แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนก็เหนี่ยวหวงแหนไว้ ไม่ทำให้รัฐธรรมนูญสำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นแต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดปฏิวัติเมื่อปี ค.ศ.1911 เป็นผลให้ราชวงศ์แมนจูต้องล้มลงไปเพราะให้รัฐธรรมนูญช้าเกินไป : อ่านเพิ่มเติม ใน ไพโรจน์ ชัยนาม , สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาค1 ความนำทั่วไป ,(กรุงเทพฯ ; สารศึกษาการพิมพ์ , 2524), หน้า 137.

    ซึ่งเหตุการณ์ในประเทศจีนดังกล่าวคล้ายกับสมัยรัชกาลที่ 7.ซึ่งพยายามร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แต่โดยเนื้อหาที่ ร.7พยายามให้ที่ปรึกษาร่างนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่า เป็นรัฐธรรมนูญลักษณะ Absolute Monarchyเสียมากกว่า Limited Monarchy เมื่อครั้งปฏิวัติ 2475 พระองค์พยายามให้คณะราษฎรสร้างรัฐธรรมนูญให้มีรูปแบบ Limited Monarchy คือ พระองค์สามารถวีโต้กฎหมายได้อย่างเด็ดขาด เป็นตัวอย่าง ซึ่งข้อเรียกร้องนั้นไม่เป็นผล.}



    ประเภทที่3. รูปแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ [Constitutional Monarchy หรือ Pacte] ซึ่งมีในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข ลักษณะอำนาจของประมุขแห่งรัฐในรูปแบบนี้ ต่างจาก Limited Monarchy ดังนี้ 

    ก.รูปแบบนี้เกิดจากการปฏิวัติซึ่งเห็นความสำคัญ และอนุญาตให้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไป แต่พระราชอำนาจที่กษัตริย์ใช้ จะเป็นเพียงแบบพิธี ซึ่งเป็นไปเฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ใช้อำนาจนั้นในนามกษัตริย์ เท่านั้น 

    ข.กษัตริย์จะทรงเป็นประมุขแห่งรัฐเท่านั้น ไม่ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรีจากปวงชนเป็นหัวหน้าหรือประมุขอยู่แล้ว 12

    ค.ในรูปแบบนี้ กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองแต่ประการใด เพราะการใช้พระราชอำนาจจะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญเท่านั้น กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะใช้พระราชอำนาจได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (ผู้ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เช่น คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรี ตามแต่กรณี) เป็นผู้ถวายคำแนะนำให้กระทำการนั้นในนามกษัตริย์เท่านั้น โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าจะเป็นพระราชอำนาจหรือไม่ จะต้องถือว่าไม่ใช่เป็นพระราชอำนาจ 13ให้ถือเป็นอำนาจของปวงชนแสดงออกผ่านรัฐสภา หรือ คณะรัฐมนตรี ในการใช้อำนาจนั้นโดยเด็ดขาด ตามแต่กรณี

    {เชิงอรรถที่12 วิษณุ เครืองาม , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่6 , หน้า 178.

    เชิงอรรถที่13 หยุด แสงอุทัย , คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 (เรียงมาตรา) , (พระนคร ; โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์ , 2511) , หน้า 35.
    }


    จากข้อ ก. และ ค. เป็นการแสดงให้เห็นหลักการปกครองประเภทกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy )ต่างกับ ประเภทปริมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited monarchy) ชัดแจ้งยิ่งขึ้น กล่าวคือ ใน ระบบปริมิตาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทุกอย่างเว้นแต่จะถูกจำกัดพระราชอำนาจไว้โดยรัฐธรรมนูญ ส่วนในระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์จะไม่ทรงพระราชอำนาจใด ๆ ทั้งปวง แต่ทรงเป็น ?สัญลักษณ์ในการใช้อำนาจรัฐ? เท่านั้น ตามที่รัฐธรรมอนุญาตให้ใช้อำนาจรัฐนั้น ๆ ในนามกษัตริย์ 


    ตอนที่3. สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

    องค์กรพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ดำรงอยู่ในสถานะ ?ประมุขแห่งรัฐ? บรรดาการกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ ย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองประชาธิปไตย กล่าวคือ 

    ความเป็น ?รัฐ? กับ ?ประมุขแห่งรัฐ? ในระบอบประชาธิปไตย ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง มิได้หลอมรวมกันดั่งในระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ประมุขแห่งรัฐ ในระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียงองค์กร หรือสถาบันหน่วยหนึ่ง ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น กล่าวคือ สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ได้ ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญอนุญาตหรือรับรอง ให้มีองค์กรนี้ขึ้น กล่าวได้ว่า ตำแหน่ง ?พระมหากษัตริย์? (Crown King) ในรัฐสมัยใหม่ ก็คือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดย กษัตริย์ (King) เป็น ?บุคลากรของรัฐ? 

    ดังกล่าวมาแล้ว ในตอนที่2. ว่า กษัตริย์ มิใช่ผู้ทรงอำนาจรัฐโดยพระองค์เองอีกต่อไป การดำรงอยู่ของกษัตริย์ เป็นไปในลักษณะ ซากทางประวัติศาสตร์ ของรัฐเท่านั้น ซึ่งรัฐนั้น ๆ ต้องการอนุรักษ์ไว้ในฐานะที่เป็นปูมหลังทางประวัติศาสตร์ โดยรัฐธรรมนูญในรัฐที่เป็น Constitutional monarchy จะอนุญาตให้กษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งการใช้อำนาจรัฐ 


    เป็นเหตุให้ พระมหากษัตริย์ จะทรงใช้อำนาจรัฐ 14 (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ)โดยพระองค์เองมิได้เพราะทรงเป็นเพียง ?สัญลักษณ์แห่งการใช้? อำนาจ กล่าวคือ การใช้อำนาจรัฐ ต้องกระทำในนามพระปรมาภิไธย โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ ในการให้ผู้รับสนองเป็นผู้เสนอให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเพื่อการนั้น โดยชัดแจ้ง การกระทำเชิงสัญลักษณ์ หรือ แบบพิธีดังกล่าว พระองค์หาใช่ผู้ทรงอำนาจแท้จริงไม่ เพราะอำนาจรัฐหรืออธิปไตย ย่อมเป็นของปวงชน ซึ่งแสดงเจตนาผ่านผู้แทน หากการกระทำใดเป็นการใช้พระราชอำนาจโดยตรง จากพระมหากษัตริย์ คือ ไม่ผ่านผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้นั้นไว้โดยชัดแจ้ง โดยหลักประชาธิปไตย และ หลักรัฐธรรมนูญ การกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์ในทางเข้ายุ่งเหยิงต่อการใช้อำนาจรัฐ ย่อมไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายเลย และเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในฐานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ซึ่งให้ความสำคัญต่อเชิงระบบยิ่งกว่าตัวบุคคล


    เชิงอรรถที่14 ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า ?อำนาจรัฐ? ไม่ใช้ คำว่า ?อำนาจอธิปไตย? เนื่องจาก ต้องการใช้ถ้อยคำที่รัดกุม ครอบคลุมทุกกรณีของรัฐทุกประเภท กล่าวคือ คำว่า ?อำนาจรัฐ? มีความหมายกว้างกว่า ?อธิปไตย? รัฐทุกรัฐมิใช่ว่าจะมีอำนาจอธิปไตยเสมอไป เพราะ ภายในอาณาเขตเดียวกันอาจมีอำนาจรัฐหลาย ๆ อำนาจอยู่ร่วมกัน ดังนั้น ในสหพันธรัฐ หรือ สหรัฐ อำนาจรัฐของ สหพันธรัฐ หรือ สหรัฐ จะอยู่เหนือรัฐสมาชิก(หรือ มลรัฐ) ทั้งหมด ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐหรือสหรัฐ 

    โปรดดูรายละเอียดที่ สมยศ เชื้อไทย , หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น , พิมพ์ครั้งที่1 , (กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์วิญญูชน , 2536) , หน้า122-124.}
     

    ปัจจุบัน ได้มีความพยายามของฝ่ายสนับสนุนศักดินา (royalist) ที่จะสถาปนาอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยอ้างอิง ?ความเป็นเทวะ? ของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการอ้างจารีตประเพณี/วัฒนธรรมแห่งสังคม ขึ้นมาหักล้างกลไกอำนาจแห่งระบอบการปกครองหลัก โดยไม่คำนึงถึงสาระสำคัญ หรือ ลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย(กลไกเชิงระบบ หรือ โครงสร้าง) กล่าวคือ ถ้าปราศจากสาระสำคัญดังกล่าวข้างต้น ย่อมไม่ใช่ ?ประชาธิปไตย? ถ้าการอ้างดังกล่าว เป็นไปเพื่อคืนพระราชอำนาจในการทรงอำนาจรัฐ ย่อมหมายถึง อำนาจของปวงชนถูกบั่นทอนหรือทำลายล้างลง ซึ่งมิใช่การใช้อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตย 


    การอ้างอิง ?จารีตประเพณีแบบไทย ๆ? หรือ ?จิตวิญญาณร่วมของประชาชน? มักเป็นข้ออ้างกระแสหลักในปัจจุบัน ซึ่งพยายามอธิบายว่า จารีตประเพณีเป็นเครื่องช่วยให้อำนาจนั้นเกิดความชอบธรรม นัยะนี้ มีปัญหาให้น่าขบคิดว่า "จารีตประเพณี" ดังกล่าว เป็นเจตน์จำนงที่ถูกสร้างสรรค์เรื่อยๆ โดยประชาชนจริงๆ หรือ? หรือว่า ?จารีตประเพณี? เป็นส่วนหนึ่งของ "เจตน์จำนง" ของชนชั้นปกครอง? 


    น่าขบคิดต่อไปว่า "จารีตประเพณี" เป็นของใคร เพื่อใคร และใครเป็นผู้กำหนด และถ้ายืนตามตรรกะข้างต้น ก็น่าชวนพิจารณาว่า ความเท่าเทียมกัน และ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (หากต้องเท้าความถึง จารีตประเพณี อย่างแน่นแฟ้นแล้ว) จะมีได้โดยการสถาปนาจารีตประเพณีหรือไม่ หรือ การสถาปนาความเท่าเทียมกัน และการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว -ซึ่งมีปูมหลังการกดขี่เช่นเดียวกับไทย (หมายถึงความไม่เสมอภาค)- มันเป็น ?ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์? กระนั้นหรือ

    สืบจากตรรกะดังกล่าว เป็นประเด็นให้ขบคิดต่อไปว่า "ชาวบ้าน" ในโบราณกาล หรือ แม้แต่ปัจจุบันก็ตาม สามารถเข้ามีส่วนร่วม หรือ บทบาทในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคม ได้หรือไม่ หรือว่า พลังของการบังคับใช้จารีตประเพณี มันอยู่ที่คนชั้นที่ทรงอำนาจหรือมีอิทธิพลในสังคมแต่ละยุคเท่านั้น ในการบงการกฎเกณฑ์ทางสังคม 

    หรือว่า...?? 

    การ "อ้างเจตน์จำนงของชาวบ้าน" เป็นเพียงข้ออ้าง ของชนชั้นผู้มีอำนาจในสังคมเท่านั้น ในรูปจารีตประเพณี หรือ วัฒนธรรมทางสังคม 

    การพิจารณาลักษณะเฉพาะของสังคมนั้น ต้องระลึกเสมอว่า รากเหง้าของมัน กำเนิดมาเพื่ออะไร หรือ เพื่อใคร และ เพื่อก่อให้เกิดอำนาจเหลื่อมล้ำกันหรือไม่ รวมถึงว่า จารีตประเพณีนั้น ๆ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมประการใด 


    ดังกล่าวนี้ เป็นประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความพยายาม ?อ้างอิงจารีตประเพณี เพื่อเพิ่มพระราชอำนาจ? หรือ อ้างลักษณะเฉพาะของรัฐหรือสังคม เหนือหลักการ power and accountability เพราะการอ้าง ?จารีตประเพณี? โดยมิได้มองย้อนไปยัง ที่มา หรือ วัตถุประสงค์ ของจารีตประเพณีนั้น ๆ ย่อมเป็นการอ้างจารีตประเพณีอย่างกำปั้นทุบดิน โดยมิได้มองพลวัตรทางสังคม ที่มิได้ราบเรียบเป็นเส้นตรง(เช่น ความเชื่อว่า จารีตประเพณีถูกปรุงแต่ง โดยชาวบ้าน อย่างเรื่อยๆ เป็นการมองสภาพสังคมอย่างโรแมนติกเกินจริง หรือเป็นการกล่าวเชิงอุดมคติ ยิ่งกว่าการมองสภาพสังคมแท้จริง) หากแต่ จารีตประเพณีก็คือ ผลิตผลหนึ่งของการแย่งชิงอำนาจทางสังคม ในสังคมแต่ละยุค อาจกล่าวได้ว่า การอ้างจารีตประเพณีเพื่อสร้างความชอบธรรม ให้แก่กลุ่มอิทธิพลเดิม ก็คือ ความพยายามกลับคืนสู่อำนาจทางสังคม ของกลุ่มอำนาจเก่า เท่านั้น ข้อที่ควรระลึกอย่างยิ่ง ควรเป็นในทางที่ว่า การสร้างความเป็นธรรมในรัฐสมัยใหม่ พึงเป็นอย่างไร ยิ่งกว่าการตกเป็นทาสของอดีตที่ต้องหันหลังมองอดีตเรื่อยไป ในการบั่นทอนการสร้างความเป็นธรรมในสังคม บนพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่


    แม้กระทั่งตำราอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ที่เป็นภาษาไทย)จำนวนไม่น้อยที่ยังอ้างวัฒนธรรมไทยที่ขัดแย้งโดยชัดแจ้งในสาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย โดยพยายามชี้ให้เข้าใจว่า บทบาทของพระมหากษัตริย์พึงเป็นตามสิ่งที่เป็นแบบไทย ๆ หรือ จารีตประเพณีไทย หรือ รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ถวายพระราชอำนาจแก่กษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่ขัดแย้งโดยชัดแจ้งในสาระสำคัญของระบอบการปกครอง เช่น 


    ตัวอย่างที่1.ข้อเสนอกรณีนายกฯพระราชทาน ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นมิได้ ในรัฐที่ เป็น หรือ อยากเป็น ประชาธิปไตย เนื่องจาก มิได้มีที่มาจากปวงชน และ ประมุขแห่งรัฐ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ในการสถาปนาผู้ใช้อำนาจสาธารณะใด ๆ อีกทั้ง ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้งอีกโสดหนึ่ง การเสนอเช่นนี้ เป็นวาทกรรมที่ ทำลาย หรือ บั่นทอนสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และนำพารัฐเข้าสู่ระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง ซึ่งไม่พึงเกิดขึ้นได้เลยในรัฐสมัยใหม่ 


    ตัวอย่างที่2.การทรงสิทธิในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย ย่อมหมายความว่า กษัตริย์สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติได้โดยพระองค์เอง ในการแก้ไขเพิ่มกฎมณเฑียรบาลในส่วนนี้ ตามมาตรา 22 แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งโดยหลักการแล้ว กษัตริย์ต้องไม่ทรง(มี)พระราชอำนาจ ในอำนาจรัฐใด ๆ ทั้งปวง ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่พระองค์ทรงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจรัฐ หรือ การใช้อำนาจรัฐต้องกระทำในนามกษัตริย์ ก็เพียงนั้น การอนุญาตให้กษัตริย์ใช้พระราชอำนาจทางนิติบัญญัติในส่วนนี้ นับเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตย และ หลักรัฐธรรมนูญสากล โดยชัดแจ้ง


    ตัวอย่างที่3.กษัตริย์ทรงอำนาจในการวีโต้กฎหมาย หมายความว่า ทรงสิทธิในการยับยั้งอำนาจอธิปไตยของปวงชน ตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นเพียงการชั่วคราวก็ตาม

    ฯลฯ



    การใช้พระราชอำนาจดังกล่าวขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตยในสาระสำคัญ (Power and Accountability หรือ อำนาจ กับ ความรับผิดชอบ) 

    เรื่องที่เป็นปัญหาความเข้าใจสถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบัน ค่อนข้างคลาดเคลื่อน และสับสนระหว่างกษัตริย์ในระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับ กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

    กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย (ไม่ว่า รัฐ นั้นจะมีสายธารทางวัฒนธรรมลักษณะใด ดังที่กล่าวมาแล้ว) ย่อมมิใช่ ?สถาบันเบื้องสูง? หรือ เป็น ?เจ้าชีวิต? ที่ไม่อาจแตะต้องได้ เพราะ ความเป็นเทวะ ของพระองค์ ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว องค์กรหรือสถาบันนี้ ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ย่อมมีหน้าที่ในการเป็นประมุขแห่งรัฐ มิใช่เจ้าชีวิต การให้เกียรติพระองค์ในฐานะองค์ประมุขต้องไม่มีลักษณะบังคับ ประมุขแห่งรัฐในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องถูกตรวจสอบโดยการวิจารณ์ของประชาชน ในฐานะที่ทรงใช้อำนาจสาธารณะ 


    ปัจจุบัน มักมีการกล่าวอ้างว่า กษัตริย์ทำผิดไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน ความเข้าใจเช่นนี้คลาดเคลื่อน และสับสนอย่างยิ่ง กล่าวคือ 

    หลัก The king can do wrong กล่าวได้ว่า เป็นหลักการของตะวันออก ภายใต้กรอบคิดแบบ "ธรรมนิยม" ส่วน หลัก The king can do no wrong เป็นหลักการของตะวันตก ภายใต้กรอบคิด ระบบโครงสร้างอำนาจรัฐ (ดังจะขยายความต่อไป)15

    {เชิงอรรถที่15 การอธิบายหลักการ The king can do no wrong และ หลัก The king can do wrong อันสัมพันธ์สอดรับกัน ดังจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นชุดความคิดที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดจาก รศ.จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์ผู้สอนวิชานิติปรัชญาของผู้เขียน }

    โดยหลัก King can do no wrong สอดรับกับหลัก King can do wrong อย่างลงตัว กล่าวคือ "สองหลักนี้ แม้จะต่างกันโดยพยัญชนะ แต่ความหมายเดียวกัน"

    หลัก King can do wrong ยอมรับว่า กษัตริย์สามารถกระทำผิดได้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ (พิจารณาเชิงตัวบุคคล) เพราะว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งสูงสุด-สมบูรณ์ ภายใต้กรอบคิดแบบธรรมะนิยม (ตามคติแบบเอเชีย) กล่าวคือ ธรรมะ หรือ ความถูกต้อง อยู่สูงสุด (หรือกฎหมาย อยู่สูงสุด เช่น ธรรมศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ของกฎหมาย ในแง่นี้ อาจหมายความรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย) เมื่อมนุษย์ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ จึงกระทำผิดพลาดได้เสมอ 

    เมื่อมนุษย์กระทำผิดได้ ก็สมควรที่จะต้องถูกตรวจสอบ, วิพากษ์วิจารณ์, ลงโทษ หลักการดังกล่าว คือ process ที่มันตามมา กล่าวคือ เป็นการยืนยันว่า บุคคลกระทำความผิดได้ ไม่ว่าจะมีตำแหน่ง หรือ สถานภาพใด ก็ตาม ดังกล่าวนี้ คือ หลักคุณธรรมเชิงตัวบุคคล

    ส่วนหลัก King can do no wrong นั้น หลักนี้ต้องไปพร้อมกับหลักที่ว่า"กษัตริย์นั้นจะต้องไม่ทำอะไร" ด้วย(can do nothing) เนื่องจากว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทั้งทางตรง(ลงมือกระทำเอง) หรือ ทางอ้อม (บงการผู้อื่น) แต่ว่าทรงกระทำโดยมีผู้รับสนองฯ เสนอเด็ดขาดให้ทรงรับทราบ และลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น ผู้รับสนองฯ ก็คือคนที่รับผิดชอบ 16 ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ก็ไม่อาจกระทำความผิดได้ 


    {เชิงอรรถที่16 ให้เข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า ผู้รับสนองฯ มิใช่ ผู้ถูกบงการโดยกษัตริย์ให้กระทำการใด แล้วผู้รับสนองฯ เป็นผู้รับผิดแทน ฯ เพราะกษัตริย์ ไม่อาจบงการให้ ?ใคร? กระทำการใด ๆ ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม ดังจะอธิบายโดยละเอียดในหัวข้อ ?ตอนที่4?}

    หลักนี้ก็เป็นการตอกย้ำว่า ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ อำนาจของพระมหากษัตริย์จะต้องถูกกำกับ โดยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องของผู้รับสนองฯ 

    กษัตริย์จะมาใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือ ในการที่พระองค์คิดว่า ?ถูกต้อง? มิได้

    เหตุที่ทรงใช้พระราชอำนาจไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า จะปลดกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง หรือ จะฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ซึ่งเป็นการตัดขาด accountability ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง 

    ในหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ หากการ "ใช้อำนาจใด" ไม่อาจถูกตรวจสอบได้ การใช้อำนาจนั้น ก็ไม่พึงมี (หลักอำนาจ ผูกพันกับ ความรับผิดชอบ) กล่าวคือ ต้องมีกลไกในการควรคุมอำนาจได้ 

    ดังนั้น จึงเป็นที่มาของเรื่อง The king can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่อาจกระทำความผิด เพราะพระองค์ไม่อาจกระทำใด ๆ ได้ด้วยตนเอง เพราะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเรียบร้อยแล้ว (ผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ ในการเสนอให้กษัตริย์ทรงรับทราบในการนั้นๆ แล้วลงพระปรมาภิไธย เนื่องจาก ผู้รับสนองเป็นผู้ตัดสินใจ และรับผิดชอบในการนั้นๆ เองทั้งสิ้น)

    จากสองหลักการนี้ "กษัตริย์ทรงทำผิดได้" (กล่าวในเชิงตัวบุคคล) และหลัก"กษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้" (กล่าวในเชิงระบบ) ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกัน กล่าวคือ 

    หลักที่ว่า กษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมเชิงระบบ ที่เชื่อว่า "อำนาจสาธารณะ" มันต้องไปกับเรื่องของ "ความรับผิดชอบ"

    แต่สำหรับเรื่อง หลัก "กษัตริย์ทรงกระทำผิดได้" เพราะทรงเป็นมนุษย์ เมื่อมนุษย์กระทำผิดได้ ก็สมควรที่จะต้องถูกตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ ได้ 

    หลักเรื่อง King can do no wrong เป็นการพิจารณาใน sense ของการที่ "มีการจำกัดพระราชอำนาจ" ให้อยู่ใต้กรอบของประชาธิปไตย 

    ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีหลักเรื่อง The king can do wrong ด้วย ซึ่งในที่สุดคือ มันจะเป็นหลักที่จะนำไปสู่การตรวจสอบ หลักเชิงระบบว่า ในระบบที่เชื่อว่า กษัตริย์ can do no wrong นั้น จริง ๆ แล้วมันมีการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

    ถ้านับถือว่า กษัตริย์เป็นเทพ หรือ ทรงเป็นพระเจ้าที่กระทำความผิดไม่ได้ ประชาชนก็ไม่อาจไปตรวจสอบกษัตริย์ได้ แต่ถ้ามีหลักว่า King can do wrong กล่าวได้ว่า เป็นฐานความคิดเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การตรวจสอบ

    ซึ่งในปัจจุบัน กฎหมายไทย ยังไม่เปิดโอกาสให้กระทำได้โดยอิสระ การแสดงความคิดเห็นเชิง negative องค์กรกษัตริย์ มีโทษจำคุก สามถึงสิบห้าปี ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 8 บัญญัติว่า ?องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้? ในวรรคสอง ขยายความว่า ?ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้? ผู้เขียนเห็นว่า การเป็น ?ที่เคารพสักการะ? ของพระมหากษัตริย์ หมายถึง ต้องมีการถวายพระเกียรติแก่กษัตริย์ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินไป ณ สถานที่ใด ต้องมีการจัดการรับรองให้สมพระเกียรติ ตามสมควร ?การละเมิดมิได้? ตามมาตรา 8 วรรค1 ต้องพิเคราะห์ประกอบ วรรค2 ซึ่งเป็นบทขยายความด้วยหมายความว่า ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ในทางใด ๆ มิได้ ไม่ว่าทางแพ่ง ทางอาญา หรือในทางปกครอง แม้ว่าพระองค์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งปวง แต่พระองค์ทรงพระเกียรติเหนือการกระทำใด ๆ โดยพระองค์เองทั้งปวง ตามมาตรา 8 ดังนั้น พระองค์จึงอยู่เหนือความรับผิดชอบใด ๆ ทางกฎหมาย เพื่อดำรงไว้ซึ่ง ?ความเป็นที่เคารพสักการะ? เช่น ศาลจะออกหมายจับพระมหากษัตริย์มิได้ เป็นต้น 


    ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้แยกหลักการพิจารณา การละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้ ผู้เขียนขอยกเค้าโครงคำอธิบายมาใช้สำหรับการอธิบายขยายความ ดังนี้17

    {เชิงอรรถที่17 สกัดตวามจาก หยุด แสงอุทัย , คู่มือรัฐธรรมนูญ และ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร , พิมพ์ครั้งที่ 2 , (กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์), หน้า19-20.}

    (ก) ทางรัฐธรรมนูญ การอภิปรายอ้างพระปรมาภิไธย ย่อมกระทำมิได้ ผู้วิจารณ์ต้องวิจารณ์สภานิติบัญญัติ ในฐานะเป็นผู้ทรงอำนาจเต็มในการตรากฎหมาย จึงต้องมี accountability , ผู้ใดไม่พอใจพระราชดำรัส ต้องวิจารณ์คณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ร่างพระราชดำรัสทั้งปวงที่เผยแพร่สู่สาธารณะ กล่าวคือ พระองค์ไม่ทรงอำนาจ และต้องไม่กระทำการใด ๆ โดยพระองค์เอง ในทางที่มีผล หรือ อาจมีผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และ การเมือง โดยต้องทรงกระทำในกรอบที่รัฐธรรมนูญ หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในฐานะผู้รับสนองฯ การที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้( The king can do no wrong) เพราะไม่มีการใด ๆ ที่พระองค์จะทรงทำผิดโดยพระองค์เอง กล่าวคือ โดยไม่มีผู้รับสนองฯ เป็นผู้เสนอ ผู้ซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการที่เสนอนั้น ๆ 

    (ข) ทางอาญา เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ จะจับกุมพระมหากษัตริย์มิได้ และศาลย่อมไม่รับฟ้องคดีที่ฟ้องพระมหากษัตริย์เป็นจำเลย ซึ่งเป็นหลักความคุ้มกัน(ประโยชน์ที่ให้ไว้โดยปราศจากอำนาจ) องค์ประมุขแห่งรัฐ ตามกฎหมาย 

    (ค) ทางแพ่ง ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ดุจเดียวกับทางอาญา อย่างไรก็ดี ถ้าเกี่ยวพันกับ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ฟ้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะนิติบุคคลได้ ถ้าเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็สามารถฟ้องผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้โดยตรง ทั้งนี้ หาเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่



    ส่วนที่1 ตอนที่4. หลักการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

    ดังกล่าวมาแล้วในตอนที่2. ว่าการกระทำใด ๆ โดยพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ ต้องกระทำโดยผ่านผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ที่กฎหมายให้อำนาจแก่ผู้นั้นโดยชัดแจ้งตามแต่กรณี ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลทางหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปที่ว่า ?The king can do no wrong? พระมหากษัตริย์จะทรงกระทำความผิดใด ๆ มิได้ เพราะ ?The king can not act alone? พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ได้โดยพระองค์เอง (เมื่อปราศจากอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ก็ย่อมเป็นการตัดขาดความรับผิดชอบทั้งปวงต่อการนั้น ๆ)

    การใช้พระราชอำนาจทางนิติบัญญัติ


    กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยลงในร่างกฎหมายในฐานะประมุขแห่งรัฐ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 ) หรือ บางกรณีเป็นอันถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว(ตามมาตรา 151) แต่การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์มี เงื่อนไขเด็ดขาดดังนี้

    1.รัฐสภาเท่านั้น เป็นผู้ริเริ่มถวายคำแนะนำให้ทรงตราร่างพระราชบัญญัตินั้น โดยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 150 บุคคลอื่นหรือองค์กรอื่น เช่น คณะรัฐมนตรี , องค์กรอิสระอื่น ๆ หรือ คณะรัฐประหาร เป็นต้น จะถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงตราร่างกฎหมายชั้นพระราชบัญญัติ มิได้ หากฝ่าฝืน ตามหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(เช่น มาตรา 150 ฯลฯ) ถือว่า เป็นการผิดแบบทางพิธี ย่อมไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมาย

    2.การตราพระราชบัญญัติต้องได้รับความยินยอมของรัฐสภา พระมหากษัตริย์จะทรงแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำหรือเปลี่ยนแปลงประการใด ๆ มิได้ เพราะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ต้องตรากฎหมายภายใต้คำแนะนำและการรับรองจากรัฐสภาเท่านั้น ในฐานะที่รัฐสภา เป็นผู้แสดงเจตนาของปวงชน เพราะมาจากการเลือกตั้ง



    การใช้พระราชอำนาจทางบริหาร


    1.พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจบริหารโดยพระองค์เองมิได้ ต้องทรงใช้โดยทางคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ทรงอำนาจในฐานะผู้แทนปวงชน ซึ่งการกระทำของคณะรัฐมนตรีต้องกระทำในพระปรมาภิไธย(กระทำในเชิงสัญลักษณ์) ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์จะใช้พระราชอำนาจทางบริหาร ผ่านทางอื่นนอกจากคณะรัฐมนตรี เช่น จะใช้ผ่านศาลยุติธรรม หรือ คณะรัฐประหาร ย่อมกระทำมิได้

    2.พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจอันมีลักษณะในทางบริหารได้ต่อเมื่อ คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำและมีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเท่านั้น ตามหลักการนี้ ปรากฏในมาตรา 195 วรรคแรก ?บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ. ..?

    3.พระราชดำรัส หรือ พระราชดำริ ย่อมไม่มีความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะนำมาปฏิบัติหรือไม่ย่อมได้ หากคณะรัฐมนตรีเลือกที่จะกระทำตามพระราชดำรัสย่อมต้องกระทำโดยความรับผิดชอบของตน การอ้างว่ากระทำตามพระราชประสงค์ย่อมกระทำมิได้ เพราะพระราชดำรัสดังกล่าว หาผูกมัดให้องค์กรใด ๆ ปฏิบัติตามไม่ (is not involved in any political consideration) ด้วยเหตุที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อรัฐสภา

    4.โครงการในพระราชดำริ อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ในฐานะที่กษัตริย์ ไม่อาจรับผิดชอบในทางกฎหมายได้ทั้งปวง ทั้งทางแพ่งและทางอาญา (รัฐธรรมนูญ มาตรา8 วรรค2) พระองค์ไม่อาจตกอยู่ในฐานะ ?คู่กรณี?หรือ ?ผู้ซึ่งอาจถูกโต้แย้งสิทธิ? ในบรรดาผลกระทบจากการกระทำใด ๆ ของพระองค์ ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงตัดขาดจาก ?ความรับผิด? (accountability) แล้ว พระองค์จึงไม่อาจกระทำการใด ๆ ได้ แม้ว่า พระองค์จะมิได้ลงมือกระทำโดยพระองค์เอง เช่น ตั้งนิติบุคคลหนึ่งๆ ขึ้นดูแล ก็ยังเป็นผลแห่งอำนาจบงการโดยกษัตริย์โดยตรง บรรดาความเสียหายทั้งปวงจากโครงการฯ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นผลจากพระองค์ ทั้งนี้ ก็มิใช่หมายความว่า ?นิติบุคคล?นั้นๆ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ประการใด เพราะ ?ผู้รับสนองฯ? กำเนิดขึ้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้น และ การมีผู้รับสนองฯ ก็มิใช่มีไว้สำหรับให้รับผิดแทนกษัตริย์ ดังที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ อีกแง่หนึ่ง โดยหลักการ เพื่อรักษาความเป็นอิสระโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ในรัฐที่เป็น รัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) และ ปกครองระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่อาจมีโครงการในพระราชดำริ ได้ (หลักการแสดงออกของกษัตริย์ : the principles of confidentiality and non-reference) ดังจะกล่าวต่อไป


    อย่างไรก็ตามในทางหลักรัฐธรรมนูญ นายWalter Bagchot นักนิติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้อธิบายไว้ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับ classic ความว่า : ?To state the matter shortly, the Sovereign has, under a constitutional monarchy such as ours, three rights ? the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn. And a king of great sense and sagacity would want no others. He would find that his having no others would enable him to use these with singular effect.?18 แปลความว่า "เพื่อกล่าวอย่างสั้น ๆ ในระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ องค์รัฐาธิปัตย์ทรงมีสิทธิอยู่ 3 ประการ (ประการแรก) สิทธิที่จะทรงถูกรัฐบาลเข้าปรึกษา (ประการที่สอง) สิทธิที่จะทรงให้กำลังใจรัฐบาล (ประการที่สาม) สิทธิที่จะทรงตักเตือน และกษัตริย์ที่เปี่ยมไปด้วยเหตุผลและอัจฉริยภาพนั้น จะไม่ต้องการสิทธิอื่นใดอีก(นอกจากสามประการข้างต้น) พระองค์จะค้นพบว่า การไม่มีสิทธิอื่นใด(นอกเหนือจาก 3 ประการดังกล่าว) จะทำให้พระองค์สามารถใช้สิทธิที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" 

    {เชิงอรรถที่18 Walter Bagehot (Author), Paul Smith (Editor), The English Constitution (London: Cambridge) , 2001, p. 60.}

    หลักการเรื่องสิทธิ 3 ประการ ดังกล่าวของ นาย Walter Bagchot นี้ ต่อมา นาย Andre Mathiot เห็นว่า แท้จริงแล้ว สิทธิเหล่านี้ คือ สิทธิของกษัตริย์ที่จะได้รับการกราบบังคมทูลและการปรึกษานั่นเอง : ?The right to be informed and The right to be consulted? 19 การใช้สิทธิดังกล่าวพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ริเริ่ม หรือปฏิบัติโดยพระองค์เองโดยปราศจากผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มิได้

    [เชิงอรรถที่19 Andre Mathiot , The British Political System (California : Stanford University) , p.274-275. }


    ทั้งนี้ การใช้สิทธิ 3 ประการของกษัตริย์ ต้องเป็นไปตามหลักเรื่องในทางลับและการห้ามอ้างอิง (the principles of confidentiality and non-reference) มิเช่นนั้นพระมหากษัตริย์ก็จะไม่อาจพ้นในการการพัวพันกับการเมือง เพราะจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจสะท้อนว่า พระองค์แสดงออกซึ่งการฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใดฝ่ายการเมืองหนึ่ง เป็นเหตุให้กษัตริย์ตกอยู่ในสถานะที่ ?ไม่นอกเหนือ? การเมือง 



    อาจกล่าวได้ว่า พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ แบ่งได้เป็น 2 กรณี

    กรณีที่1. ทรงมีพระราชดำรัสภายในหมู่คณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์สามารถใช้สิทธิของพระองค์ได้โดยพระองค์เอง(ไม่ต้องผ่านการร่างโดย ครม. ก่อน) ทั้งนี้ ต้องเป็นการลับและห้ามอ้างอิง รวมถึงย่อมไม่ผูกมัดให้ต้องกระทำตาม เพราะเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของคณะรัฐมนตรี โดยหลักที่ต้องกระทำเป็นการลับ และห้ามอ้างอิง เห็นได้ว่า ?โครงการในพระราชดำริ? ทั้งปวง ย่อมไม่อาจมีขึ้นได้

    กรณีที่2. ทรงมีพระราชดำรัสโดยมีการโฆษณาการ พระราชดำรัสใด ๆ ของพระองค์ในส่วนนี้ จะผ่านพ้นรัฐมนตรีในฐานะผู้ร่างพระราชดำรัส ไปมิได้ เพราะ การแสดงความเห็นในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม โดยพระมหากษัตริย์เอง อาจเป็นการนำพระองค์เข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และโดยอำนาจทางสังคมของพระองค์ อาจทำให้พระราชดำรัสดังกล่าวบีบบังคับผู้แทนจากปวงชนให้จำต้องกระทำตาม และในฐานะที่พระองค์ไม่อาจรับผิดชอบใน ?ความเสียหายทั้งปวง? อันเกิดจากพระราชดำรัสใด ๆ ได้ (ไม่มี accountability ก็ไม่พึงมี อำนาจ) หรือ พระราชดำรัสอาจส่งผลให้ถูกอ้างอิงในกิจการต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อสาระสำคัญในความเป็นประชาธิปไตย


    การใช้พระราชอำนาจทางตุลาการ

    1.การใช้อำนาจตุลาการโดยผู้พิพากษา ต้องกระทำในพระปรมาภิไธย (ในเชิงสัญลักษณ์)
    2.จากหลักการที่ว่า ?อำนาจอธิปไตยทั้งปวง เป็นของปวงชน? ผู้พิพากษาย่อมมีความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด (เช่น กษัตริย์) ในการพิพากษาอรรถคดีในนามพระมหากษัตริย์ หรือ ในพระปรมาภิไธยหาใช่ ความแนบชิด ขององค์กรตุลาการ กับ พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าองค์กรอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญ ไม่ กล่าวคือ ไม่ว่า รัฐสภา หรือ คณะรัฐมนตรี ล้วนกระทำในนามกษัตริย์ ดุจเดียวกับศาล ในฐานะที่กษัตริย์ เป็น ?สัญลักษณ์แห่งการใช้อำนาจรัฐ?


    สาเหตุที่มี ?การตัดสินในพระปรมาภิไธย? เพราะ การใช้อำนาจตุลาการ ได้ผลิตคำพิพากษาออกมาทุกวัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง แบบฟอร์ม ขึ้นมารองรับ โดยมิต้องทูลเกล้าฯ ถวายร่างคำพิพากษา ซึ่งจะสร้างความยุ่งยาก ล่าช้ายิ่ง โดยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของรูปแบบคำพิพากษา ให้ ผู้พิพากษา ตัดสินอรรถคดี ในนามพระปรมาภิไธย หาใช่ เพราะเหตุที่องค์กรตุลาการ มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือ ใกล้ชิดองค์กรกษัตริย์ กว่าองค์กรอื่น ๆ อย่างใดไม่ 


    การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มีความจำเป็นดังนี้

    1.เพื่อสอดรับกับตัวระบอบการปกครองประชาธิปไตย ที่ปวงชนเป็นผู้ทรงอำนาจรัฐ โดยแสดงเจตนาผ่านผู้แทนปวงชน หรือผู้มีหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงอำนาจ และ/หรือ ใช้อำนาจใด ๆ โดยพระองค์เองได้ เพราะอำนาจรัฐมิใช่ของกษัตริย์ 

    2.เป็นการรับรองพระปรมาภิไธย กล่าวคือ ผู้รับสนองฯ ตามกฎหมายบัญญัติ เป็นผู้ยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยจริง

    3.ผู้รับสนองฯ เป็นผู้ถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย (ตามที่ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้องค์กรนั้นๆ หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ เป็นผู้รับสนองฯ ไว้โดยชัดแจ้งโดยความมุ่งหมายและโดยพยัญชนะ) และผู้รับสนองฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการที่รับสนองพระบรมราชโองการนั้น 

    (3.1)ในเรื่องความรับผิดชอบความถูกต้องตามแบบพิธี ผู้รับสนองฯต้องทูลเกล้าฯในเรื่องที่ได้ผ่านแบบพิธีมาแล้วโดยถูกต้อง เช่น ถ้าเป็นพระราชบัญญัติ ต้องได้รับคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา มาแล้ว เป็นต้น หากฝ่าฝืนถือว่าการนั้น ๆ ไร้ผลบังคับในทางกฎหมาย แม้กษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ตาม

    (3.2)ผู้รับสนองฯต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อความในความตามเอกสารที่ตนรับสนองฯ เช่น ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติ ก็ต้องมีข้อความถูกต้องตรงตามที่ผ่านรัฐสภา , ถ้าเป็นการประกอบพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวกับทางบริหาร ก็ต้องมีข้อความตรงกับคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

    (3.3)ผู้รับสนองต้องเป็นผู้รับผิดชอบในสาระแห่งการที่รับสนองพระบรมราชโองการ ในฐานะเป็นผู้ถวายคำแนะนำ(ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง)ให้พระมหากษัตริย์ทรงประกอบกรณียกิจ เพราะ โดยที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงปฏิบัติโดยพระองค์เอง และพระองค์มิได้ทรงอำนาจใด ๆ ตามกฎหมายที่จะกระทำการใด ๆ ได้ โดยไม่ผ่านผู้รับสนองฯ



    ส่วนที่1 ตอนที่5. องคมนตรี ? พระมหากษัตริย์ ? คณะรัฐมนตรี 

    ภายหลังการอภิวัตน์การเมืองการปกครอง ปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้ยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ.2470 ซึ่งเป็นซากตกทอดของระบอบเดิมเสีย อย่างไรก็ตาม นับจากนั้นภายหลัง 15 ปี คือปี 2490 คณะรัฐประหารของ ผิน ชุณหะวัณ ได้รื้อฟื้นระบบองคมนตรีที่ใช้ในยุคเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาอีกครั้ง โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2490 แล้วตกทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับ พ.ศ.2550) ได้บัญญัติหน้าที่ขององคมนตรีไว้ ดังนี้

    1.คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้(มาตรา 12 วรรค2)

    2.คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งเองได้ (มาตรา19 วรรค1)

    3.ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีดำรงตำแหน่งนั้นพลางไปก่อน(มาตรา20 วรรค1)

    4.ในกรณีที่ราชบัลลังค์ว่างลงและพระมหากษัตริย์มิได้แต่งตั้งรัชทายาทไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ (มาตรา23 วรรค2)


    ในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงอยู่นอกเหนือกรณียกิจในการบริหารราชการแผ่นดิน และ ทรงสิ้นพระราชอำนาจในการใช้อำนาจรัฐโดยพระองค์เอง ในกรณีที่ มีองคมนตรี ในรัฐประชาธิปไตย สถานะและบทบาทขององคมนตรี จึงมีหน้าที่หลักในการเป็นที่ปรึกษาในเรื่องส่วนพระองค์ เท่านั้น ส่วนพระราชอำนาจ(ซึ่งอาจต้องได้รับคำปรึกษา)ในการพระราชทานอภัยโทษ เป็นเรื่องที่แปลกปลอมเข้ามาในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย พระองค์มิใช่เจ้าแห่งชีวิตอีกต่อไป ฉะนั้น พระองค์จะพระราชทานอภัยโทษแก่ใครมิได้ โดยหลักการพึงระลึกว่า พระมหากษัตริย์ก็ทรงอยู่ภายใต้กฎหมายดุจกันกับราษฎร การที่พระองค์มิต้องรับผิดทางกฎหมาย เป็นเพราะ รัฐธรรมนูญคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งเท่านั้น หากกษัตริย์กระทำผิด ผู้เขียนเห็นว่า โดยความเห็นชอบของรัฐสภา สามารถปลดพระมหากษัตริย์ออกจากตำแหน่ง เพื่อดำเนินคดีได้ ในกรณีที่ความผิดฉกรรจ์ และพิสูจน์ชัดแจ้ง ซึ่งในส่วนนี้ คงต้องขบคิดในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในอนาคต , การใช้สิทธิ veto กฎหมาย ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ให้พระราชอำนาจไว้ หมายความว่า กษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการยับยั้งอำนาจอธิปไตยของปวงชนได้ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ อันมีที่มาจากการสืบสายโลหิต และทรงตัดขาดจากความรับผิดชอบทั้งปวง ดังนั้น พระองค์จึงต้อง ?ไม่ทรงอำนาจใด ๆ? ตามหลัก Power and Accountability 


    คณะองคมนตรี ในระบอบประชาธิปไตย จึงมีหน้าที่เท่าที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่เพียงตามแบบพิธีอันเป็นสัญลักษณ์แห่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์เท่านั้น การถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจบางประการ ย่อมเป็นไปเฉพาะเรื่องส่วนพระองค์เท่านั้น เพราะตามหลักแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามคำแนะนำของ รัฐมนตรี

    เห็นได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ไม่จำต้องมีที่ปรึกษาราชการในพระองค์ เพราะพระองค์มิใช่ฝ่ายบริหาร (ไม่มีอำนาจหน้าที่อีกต่อไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ) พระองค์ทรงมี ?ที่ปรึกษา? โดยสภาพ คือ คณะรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเป็นผู้เสนอและถวายคำแนะนำ ให้ทรงกระทำการในกรณียกิจต่าง ๆ เพราะ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แทนปวงชน ในฐานะของผู้ทรงอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นผู้รับผิดชอบในการที่ถวายคำแนะนำทั้งปวง 

    น่าสนใจต่อข้อเขียนของ นาย Herbert Morrison อดีตประธานองคมนตรี แห่งสหราชอาณาจักร ในหนังสือParliamentary Affairsขอยกมาตอนหนึ่ง ความว่า 

    ?คณะองคมนตรีมีหน้าที่ของตนโดยเฉพาะแต่หน้าที่สำคัญก็คือ ดำเนินการเป็นองค์คณะที่ ?โดยและด้วย? การถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจบางประการ แต่ตามรัฐธรรมนูญนั้น พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามคำแนะนำของรัฐมนตรี คำวินิจฉัยของคณะองคมนตรีจึ่งจำต้องเป็นผลสะท้อนจากความเห็นและนโยบายของรัฐบาล ฉะนั้น ด้วยเหตุผลนี้จึ่งทำให้องคมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกของคณะพรรคการเมืองฝ่ายค้านมักจะไม่ถูกเรียกเข้าประชุมด้วย นอกจากว่า เรื่องที่จะปรึกษาหารือเป็นเรื่องพิเศษนอกเหนือ หรือ พ้นจากการขัดแย้งกันในทางการเมือง...? 20


    {เชิงอรรถที่20 Herbert Morrison , Parliamentary Affairs , p 10-17. อ้างใน ไพโรจน์ ชัยนาม , สถาบันการเมือง และรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ กับ ระบอบการปกครองไทย , (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์ , 2515) , หน้า 164.}

    ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ คณะองคมนตรีของอังกฤษ21 จึ่งไม่ใช่สภา หรือ องค์คณะซึ่งมีหน้าที่ทำนองรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรี คงมีหน้าที่สำคัญในการถวายความเห็นต่อกษัตริย์บางประการ และการถวายความเห็นนี้ก็จะต้องไม่ขัดกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการ ควรสังเกตด้วยว่า คณะองคมนตรีเป็นเพียงแต่ทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพราะคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อรัฐสภา 

    {เชิงอรรถที่21 คณะองมนตรี ของอังกฤษ ประกอบด้วย รัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง พระราชาคณะ ฯลฯ โดยทั่วไปก็คือ ผู้ที่รัฐบาลต้องการให้เกียรติเป็นพิเศษ โดยพวกเขาเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งตลอดชีวิต และมีคำนำหน้าว่า Right Honourable ; อ่านเพิ่มเติมที่ ไพโรจน์ ชัยนาม , สถาบันการเมือง และรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ กับ ระบอบการปกครองไทย , (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์ , 2515) , หน้า 162-167.}


    จากหลักการเรื่องบริบทขององคมนตรีในประเทศอังกฤษดังอธิบายแล้ว และโดยเหตุที่องคมนตรี เป็นบุคคลผู้ใกล้ชิดองค์ประมุขแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 14 ตอนท้าย ?องคมนตรี...ต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ? องคมนตรีต้องวางตัวเป็นกลางในทางการเมือง เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ เพราะอาจเป็นการระแวงการที่องคมนตรีไปพัวพันกับการเมือง อันอาจมีผลสะท้อนถึงพระมหากษัตริย์ได้ กล่าวคือ อาจทำให้เข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเป็นกลางทางการเมือง หรือ อยู่นอกเหนือการเมืองจริง และ ทรงใช้องคมนตรีผู้ใกล้ชิดเป็นเครื่องมือเพื่อเข้ายุ่งเหยิงกับการเมือง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการห้ามความนิยมและความเลื่อมใสลัทธิการเมืองใด ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวขององคมนตรี เป็นแต่ว่าจะต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดออกมาให้ปรากฏเท่านั้น.
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×