ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #116 : ไชยันต์ รัชชกูล:แผ่นดินนี้เป็นของคุณพวกเดียวหรือ?!

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 259
      0
      19 ม.ค. 53

    สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม
    6 พฤศจิกายน 2552

    * จากบทความของรศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ซึ่งพิมพ์ใน วิภาษา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ปี 2550 ใน เรื่องรัฐประหาร ‘19 กันยา’ กล่าวถึง รัฐประหารว่าได้รับการต้อนรับจากกลุ่มสื่อมวลชน ผมขอให้อาจารย์ช่วยขยายความ

    แม้ กระทั่งบางฉบับที่อ้างตัวว่า เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ เป็นเสียงของประชาชน ยึดถือจรรยาบรรณของสื่อ อะไรก็ว่าไปเรื่อย แต่สิ่งที่เขาทำ มันตรงกันข้ามกับที่อ้าง ตอนนั้นก็น่าประหลาดใจ

    แต่วันนี้ไม่ตกใจ แล้ว เพราะโลกทัศน์ของพวกนี้ ก็คือ ดูถูกดูแคลนราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าเขาจะไม่กล้าพูดว่า เขารังเกียจประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่จะถากถางบริภาษอ้อมไปว่า ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงบ้าง เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่งนาทีบ้าง หรือไม่ก็ทำตัวนั่งบัลลังก์ชี้นิ้วว่า ส.ส. กระเลวกระราด โกงกิน

    คำวิจารณ์ คำด่าทอพวกนี้มันคือมนตร์เดิมๆ ซึ่งเป็นทัศนะคติแบบเดียวกับพวกชนชั้นนำ (Elite) ถ้าจะว่าไปแล้วพวกนี้ ก็ได้รับการสั่งสอนมาจากระบบการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ มัน น่าเศร้า แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจ

    มาถึง วันนี้ ก็ไม่น่าบ่นแล้ว พวกนี้มีทัศนะคาบเกี่ยวกับพวกทำรัฐประหาร แต่เขาจะปฏิเสธ แน่นอน เขาต้องปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ แต่สิ่งที่อยากจะได้ฟังจากเขาตลอด 3 ปีมานี้ ก็คือ เขายังเห็นแบบเดิมหรือเปล่า เพราะมีเพื่อนผมบางคน เขารู้สึกเสียใจ ที่เขาไปตะโกนชุมนุมขับไล่ทักษิณก่อนรัฐประหาร ซ้ำร้ายเขายังเห็นชอบกับรัฐประหาร แต่ตอนนี้เขาเสียใจ เขาไม่ใช่ตัวแทนของเสื้อเหลืองอะไรทั้งสิ้น ล้วนเป็นเพียงปัจเจกชน

    แต่ที่อยากถามพวกหนังสือพิมพ์พวกนี้ก็คือ มันมองย้อนกลับไปไหม มีการสะท้อนความคิดของตนหรือไม่? หนังสือพิมพ์ที่อ้างว่าเป็นของปัญญาชน

    ผม ฝากบอกไปเลยก็ได้ว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหารผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เพราะผมไม่ใช่ปัญญาชน แต่ที่สำคัญกว่า คือ ปัญญาชนชอบแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้รู้ ชอบสั่งชอบสอน ผมอาจจะพูดตีขลุมไปหน่อย เพราะบางข้อเขียนก็พอทนอ่านได้อยู่ แต่โดยรวมๆก็ไม่น่าประหลาดใจ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ สมัยพฤษภาทมิฬ ตอนเริ่มต้นเข้าข้างสุจินดา นะครับ ผมท้าให้ไปอ่านดูเลย

    ก่อนรัฐประหารจากบทความของอาจารย์ กล่าวว่าสื่อมวลชนสนับสนุนทักษิณน้อยมาก

    ผม อยากจะมองว่า เป็นความบ้องตื้นต่อการตั้งคำถามและต่อการวิเคราะห์ทางการเมือง พวกนี้รู้ข่าวเยอะมาก รู้รายละเอียดมาก แต่ว่าจะเอาข้อมูลมาสังเคราะห์อย่างไร ผมสงสัยมากเลย แล้วก็อาจจะไปเชื่อพวก Elite (ชนชั้นนำ) พวกปัญญาชน นักวิชาการจำนวนมาก พวก Elite ก็เหมือนกันเป็นไปในแนวเดียวกันนี้หมดเลย

    จุดยืนของสื่อ หลังยุคทักษิณ ถูกรัฐประหารไปแล้วเปลี่ยนไปไหมครับ

    ผม ว่าไม่นะ ไม่เฉพาะแต่พวกเสื้อเหลือง รวมทั้งชนชั้นนำไม่เปลี่ยนไปเลย ถ้าเรามองย้อนไปตั้งแต่พวก กกต. รุ่นวาสนา เพิ่มลาภ ที่ถูกสั่งให้ลาออก แล้วถูกตัดสินจำคุก ตั้งแต่สมัยนั้น จนถึงรัฐประหาร 3 ปี ที่แล้ว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกอำมาตย์ ไม่ได้ระย่อเลยต่อความไม่ชอบมาพากล

    ไม่ สะเทือนเลยต่อสิ่งที่คนเขาระอากันทั่วเมืองว่า ใช้เหตุผลลักลั่น หรือแปลกันว่าเหตุผล 2 มาตรฐาน ไม่มีความละอายตลอดมาจนถึงวันนี้ ตั้งแต่เรื่องฟ้องการปราบ ‘7 ตุลา’ เรื่องดา ตอร์ปิโด เรื่องทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับฝ่ายพันธมิตรฯ

    คือเขาไม่ได้รู้สึกอะไร เลยว่า เรื่องเหล่านี้เป็นความวิปลาส พวกนี้ไม่มีหิริโอตตัปปะเลย แสดงว่า เขาคิดว่า เขาถือไพ่เหนือกว่า และคงคิดว่าไอ้พวกเสื้อแดงเนี่ย ไม่มีน้ำยาอะไรหรอก หรือว่าถึงมีน้ำยา เขาก็คิดว่า เขาจัดการได้ และไม่มีการอ่อนข้อ แม้แต่นิดเดียว ถึงทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็ไม่เกรงใจ

    ซึ่ง ผมคิดว่า คนที่สมเหตุสมผล คนที่มีสามัญสำนึกเบื้องต้น ก็เห็นแล้วว่า แบบนี้ มันเป็นเหมือนประเทศแอฟริกาใต้ คือ เป็นประเทศแบ่งแยกสีผิว ว่ากฎหมายหนึ่งใช้กับคนขาว กฎหมายหนึ่งใช้กับคนดำ นี่คือ ระบบ Apartheid เมืองไทยก็เป็นอย่างนั้น

    บังเอิญก็เป็นสงครามสีเหมือนกัน แต่ที่แอฟริกาใต้เมื่อก่อนเป็นระหว่างสีขาวกับสีดำ ระบบนี้ก็ใช้กับคนปาเลสไตน์ในอิสราเอล ถ้าไปถามว่า พวกอิสราเอลว่ารู้สึกไหม ผมว่ามันไม่รู้สึกหรอก รัฐบาลอิสราเอลมันก็ไม่รู้สึก และมันก็ปราบชาวปาเลสไตน์ต่อไป ผมก็คิดว่าเมืองไทยถึงขั้นนั้น พวกอำมาตย์เขาก็คิดว่า เขาถูกไง

    และ ถึงแม้ว่า เขาไม่คิดว่าเขาถูก เขาก็จะว่าอีกข้างหนึ่งเป็นพวกทักษิณ มันแดงไง หรือไปถามคนขาว ที่แอฟริกาใต้ ถามว่า ทำอย่างนี้มันถูกหรือ กูอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่มึงดำไง ถ้าไปถามรัฐบาลอิสราเอล ก็อาจจะบอกว่ากูอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่มึงเป็นพวกปาเลสไตน์ไง เป็นพวกก่อการร้ายไง

    การปฏิบัติ 2 มาตรฐาน มีในประเทศไหนบ้าง ผมว่ามันเหมือนกันล่ะครับ ประเทศไทยกับประเทศอิสราเอล แอฟริกาใต้ ประเทศเราเจริญทัดเทียมกับประเทศเหล่านี้แล้ว เอวัง


    เสื้อแดงกับเครื่องมือโฟนอินในฐานะการสื่อสารจากทักษิณ และจักรภพต่างๆ

    ก็ ดีนี่ครับ เขาก็มีสิทธิจะโฟนอิน เมื่อเขาอยู่ในประเทศเถื่อนๆ นี้ไม่ได้ เขาจะสื่อสารกับคนในประเทศโดยเทคโนโลยีก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่เห็นเป็นประเด็นอะไรเลย คนที่อยู่ต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารแสดงความคิดเห็น ก็เหมือนโทรศัพท์ธรรมดา ทำไมจะโทรศัพท์ไม่ได้เหรอ

    เพียงแต่ว่า โทรศัพท์อีกข้างหนึ่งพูดใช่ไหม อีกข้างหนึ่งคนฟังเยอะ ทำไมรัฐบาลไทยจะไม่ให้โทรศัพท์ เหรอ

    อย่าง จอม เพชรประดับ ก็ไปเซ็นเซอร์เขา ผมขอเตือนความจำว่าตอนสมัยทักษิณ เป็นนายกฯ มีคนด่าเขาเยอะมากเลยว่า คุกคามสื่อ ตอนนี้มีใครด่าบ้างไหม รวมทั้งนักวิชาการสื่อด้วย

    ไอ้ 2 มาตรฐาน นี่ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนะ ไม่ใช่เฉพาะพวกอำมาตย์นะ มันรวมทั้ง พวกนักวิชาการสื่อ รวมทั้งพวกสิทธิมนุษยชนด้วย ผมว่า พวกนี้ อย่าเรียกว่า 2 มาตรฐาน เลย อย่างนี้เรียกว่า หน้าไหว้หลังหลอก พวกตี 2 หน้า ผมอยากฝากถามพวกนักวิชาการสื่อ พวกที่เคยด่าทักษิณว่าตอนนี้ไปไหน

    แต่ เดี๋ยวเขาจะมาด่าผมว่า แล้วมึงทำไมไม่ด่าเองล่ะ คำถามก็คือว่า คุณเสมอต้นเสมอปลายหรือไม่ ในฐานะที่คุณเป็นนักวิชาการสื่อ ที่เรียกร้องเสรีภาพสื่อ คุณทำอะไรคงเส้นคงวาไหม คุณจะทำตัว เหมือนอำมาตย์หรือ ผมก็ไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์จะละอายเลย แต่นี่ก็ไม่ต้องไปหวังอะไรมันอยู่แล้ว การเล่นลิ้น โป้ปด มดเท็จ พูดอย่างทำอย่างนะฮะ ในพรรคประชาธิปัตย์เป็นกันมาก สิ่งที่น่ากลัว ก็คือว่า คนอื่นๆรวมทั้งนักวิชาการสื่อ ก็จะมีลักษณะทำแบบนี้เหมือนกัน มิไปกันใหญ่ เหรอ

    พูดเรื่องนี้ก็ได้ คือ เขาบอกว่า สื่อต้องเป็นกลาง และ ‘2 ไม่เอา’ เป็นคำขวัญเก๋ๆ ดี เออ ความคิดแบบนี้ก็ไม่เลวนะ เหมือนกับยาม ที่ ESCAP (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific- ESCAP) เลย เขาอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เห็นการประท้วงตลอดมาหลายสิบปี

    คำสั่ง จากเหนือหัวของเขา คือว่า ต้องกั้นไม่ให้คนเข้าใกล้ตึก UN คุณไปสัมภาษณ์ยาม ที่ ESCAP ดูสิครับ เป็นกลางมากเลย พอสีเหลืองชุมนุมเขาก็ไม่ให้เข้า พอสีแดงชุมนุม เขาก็กั้น ก็against สีแดง เรียกว่ากั้นทั้ง 2 ฝ่าย คือ เขายืนอยู่บนฐานศีลธรรมที่สูงส่งมาก (Moral high ground)

    แต่นี่ ผมไม่ได้หมายความว่า คุณต้องเลือกข้างนะ เพียงแต่ผมขอตั้งคำถามว่า ไอ้การที่คุณบอกว่าเป็นกลาง มันหมายความว่าไง คุณ ตั้งตนอยู่บนตำแหน่งศีลธรรมสูงกว่าคนอื่นเหรอ สีเหลืองก็ลิงกะล่อน สีแดงก็ลูกกะโล่ทักษิณ เหลวไหลทั้งคู่ ถ้าผมนิยมคนวางตัวแบบนี้นะครับ มีอีกเยอะ ยามที่ ESCAP เขาไม่ได้คิดเอง มาจากหัวหน้าเขา พวกนั่งรถแอร์ ทำงานห้องแอร์ เขาไม่ชอบ ครับ การชุมนุม เขารำคาญ ไปทำงานไม่สะดวกรถติด และไม่สุภาพ

    จะทำให้คนเข้าใจเรื่องการสื่อสารประเด็นการชุมนุม ในเรื่องประชาธิปไตยบนท้องถนนอย่างไร

    ก็ ทำอย่างที่พูด มันมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่า ถามได้อย่างไรว่า พระควรรักษาศีลหรือไม่ ก็ทำตามกำหนดสิ ไม่ใช่ว่า แต่งตัวเป็นพระแล้ว ฉันข้าวเย็น ก็มีรัฐธรรมนูญอยู่อย่างนั้น คุณจะให้ทำอย่างไร จับสึกเหรอ

    ผมก็ไม่รู้ว่า จะให้พวกทำงานไม่มีเหงื่อเข้าใจได้อย่างไร พวกนี้น่ะครับ นิสัยสั่งสมมานาน จนเป็นนิสัยที่ตกตะกอน คือ ตัดสินคนอื่น ตำหนิคนอื่น อันนี้เป็นลักษณะของพวกที่คิดว่าตนอยู่เหนือสามัญชน เหนือมนุษย์ที่ทำงานเหงื่อตก

    ตอนนี้ผมดีใจมากเลยนะ ที่มีขบวนการเสื้อแดง เขาไม่ยอมให้ถูกตัดสินข้างเดียวแล้ว กูจะตัดสิน (Judge) มึงบ้าง ให้มึงมาเป็นจำเลยของกูบ้าง


    มุมมองต่อสื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ของคนเสื้อแดง

    วิทย ดีมากเลย ดีมากๆ มันต้องอย่างนี้ครับ มีวิทยุท้องถิ่น ผมอยากจะถามสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยว่า ทำไมต้องถ่ายทอดข่าวอย่างเดียวกันทั่วทุกสถานี

    วิทยุท้องถิ่นให้คน ชาวบ้าน Phone in ทำไมสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ไม่ทำอย่างนั้นบ้างล่ะ ไหนว่ารับฟังความคิดเห็นของประชาชนไง ประชาชน มีส่วนร่วมไง ทำไมต้องบังคับให้คนฟังเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แค่ข่าวราชการนะ แม้แต่ข่าวฟุตบอลอะไรของมัน ทำไมคนไทยทั้งประเทศต้องสมควรรู้เรื่องผลฟุตบอลหรือ

    ส่วนวิทยุท้อง ถิ่นวิเศษมาก ให้ทุกคนโฟนอินเข้ามาได้ ตอนนี้ได้ข่าวว่า หนังสือพิมพ์ นิตยสารข่าวของเสื้อแดงได้ข่าวว่าขายดีมาก บางฉบับถึงกับต้องพิมพ์ใหม่

    การ ต่อสู้ทางการเมืองสมัยก่อนพิมพ์เป็นใบปลิวไว้แจก ถึงการเขียนข่าวดูแล้วจะเป็นมวยวัดอยู่บ้าง ผมก็ไม่ว่าไม่เป็นไรนี่ มาจาก website บ้าง เขียนแบบไม่ค่อยได้พิถีพิถันบ้าง นี่ก็ไม่เป็นไร ผมเข้าใจว่าคงมาจากทุนเล็กๆ ไม่ใช่เงินถุง เงินถังอะไร คงไม่มีสตางค์จ่ายค่าเรื่องให้นักเขียนดังอย่างพวก ด็อกเตอร์ โปรเฟสเซอร์มือโปร

    แต่ถ้าเกิดเรามองมาถึง Idea ความเป็นประชาธิปไตย นี่ครับ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง ฝากถามนักวิชาการที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่าเห็นด้วยไหม ที่อ่านหนังสือของ de Tocqueville ประชาธิปไตยในอเมริกา (แปลโดยสมบัติ จันทรวงศ์ – ผู้สัมภาษณ์) พวกนักวิชาการรัฐศาสตร์คงต้องได้อ่าน de Tocqueville กันมาแล้ว พวกเสื้อแดงกำลังทำทำนองนั้น น่ารังเกียจนักหรือ ขอถามหน่อย

    เสื้อ แดงจะชนะหรือไม่ชนะเป็นเรื่องของกาลข้างหน้า ไม่รู้ได้ แต่ที่รู้ได้ตอนนี้คือ สปิริตประชาธิปไตยที่เติบโตอยู่ขณะนี้น่ายินดีกว่านักมวยไทยได้เหรียญทอง โอลิมปิก และถ้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐประหาร ‘19กันยา’ พวกอำมาตย์ก็ไม่ได้ชนะฟรีๆเสียแล้ว เสียใจด้วย

    ผมอ่านบทสัมภาษณ์ ของ จอม เพชรประดับ ซึ่งผมสนใจที่ทักษิณ ตอบว่า พวกคนต่างประเทศ ก็รู้หมดแหละว่าไม่ยุติธรรม อาจารย์ไชยันต์ คิดเห็นอย่างไร

    เอา อย่างนี้หละกัน ไม่ต้องไปถึงต่างประเทศไกลๆ แค่ข้ามแม่น้ำโขงไปนี้น่ะครับ ผมพบคนลาวในที่ประชุมนานาชาติมาเมื่อเร็วๆนี้ คนลาวรู้หมด

    คนลาวรับ ข่าวสารเกี่ยวกับเมืองไทย และรับข่าวกระแสหลักด้วยนะครับ คนลาวเข้าใจดีเลยว่าอะไรเป็นอะไร อะไรไม่ยุติธรรม อะไรบิดเบือน นะฮะ แล้วจะมาบอกว่า คนไทย ที่เป็นพวกเสื้อแดงเป็นพวกเหยื่อของทักษิณ ได้ประโยชน์จากทักษิณ คนลาวได้ประโยชน์อะไรจากทักษิณหรือเปล่า?

    คน ลาว เขายังเห็นเหมือนเสื้อแดงเลยครับ เขารับสื่อข้างเดียวด้วยนะครับ สื่อของฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่ค่อยถึงเขา แม้ว่าเขาดูจะโทรทัศน์ จะอ่านหนังสือพิมพ์กระแสหลัก เขาก็รู้ได้ คิดได้ว่า อะไรชอบธรรม อะไรไม่ชอบธรรม

    นี่เป็นสามัญสำนึก สามัญสำนึกที่ไม่ได้พอกไว้ด้วยอคติ

    ผมว่าไม่ต้องไปอาศัยสติปัญญาอะไรลึกซึ้งนัก คือ สามัญสำนึกว่า ระหว่างทำกับข้าวกับยึดสนามบินน่ะ อะไรมันทำให้ประเทศฉิบหายกว่ากัน

    มัน มีที่ไหนล่ะครับ ในโลกนี้ที่ยึดสนามบิน แล้วจัดการไม่ได้ ยึดไม่ใช่แค่สนามบิน ยังยึดที่ทำงานรัฐบาลด้วย แต่ว่าอีกด้านหนึ่ง มันเป็นการเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เราเรียกว่า ธาตุแท้ของพวกอำมาตย์ ที่กูจะครองแผ่นดินอยู่อย่างนี้ มึงจะทำไม เราก็ต้องถามกลับบ้างว่า แผ่นดินนี้เป็นของมึงพวกเดียวหรือ?

    อำนาจของสื่อเสื้อแดง คิดว่าพอจะเพิ่มจำนวนคนเสื้อแดง รวมทั้งแนวทางการต่อสู้ของสื่อสำหรับคนเสื้อแดง

    แง่ นี้น่าดีใจมาก ภายในเวลาไม่กี่เดือน สื่อออกมาตั้งหลายฉบับ และวิทยุมีตั้งหลายสถานี แล้วแต่ละสถานี กระตือรือร้น (Active) ตลอดน่ะ ไม่ใช่เปิดเพลงคั่นเวลาน่ะครับ

    คือไม่ใช่ไม่รู้จะพูดอะไรแล้วเปิด เพลงคั่นเวลา และมีคนโฟนอินต่อเนื่อง เท่าที่ผมทราบ ผมก็ไม่ได้ฟังทุกสถานี ก็เปิดไปสถานีนั้นสถานีนี้ ก็รู้สึกได้ว่ามีคนสนใจมาก เมื่อวานนี้เอง ผมออกไปอำเภอรอบนอก เป็นตำบล หมู่บ้านเล็กๆ ยังมีลานชุมนุมเลย ซึ่งคนในหมู่บ้านนั้น เขาก็รู้ว่าใครเป็นใคร ใครคิดอย่างไร แต่ก็มีการชุมนุมกันในหมู่บ้าน เหมือนเป็นสนามหลวงของหมู่บ้าน

    กอ.รม น. คงรู้แล้วมั้ง ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ควรรับเงินเดือนหรอก นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งมาก ดวงวิญญาณของคณะราษฎรคงจะยินดีอยู่บนสรวงสวรรค์

    ผมคิดอย่างนี้น่ะ ครับ แต่ก่อนขบวนการของประชาชน ส่วนมากเป็นเฉพาะกลุ่ม เช่น ขบวนการแรงงาน สมมติว่า สหภาพแรงงานสไตร๊ค์ เกษตรกร ก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของกู

    พอเวลาเกษตรกรประท้วงหอมแดงราคาต่ำ สหภาพแรงงานก็บอกว่า เรื่องของมึง

    หรือ ในแง่ทางถิ่นที่อยู่ก็ได้ สมมติเรื่องเขื่อนปากมูลที่อุบลฯ คนอุดรฯยังไม่ร่วมด้วยเลย อย่าว่าแต่คนลพบุรี แก่งเสือเต้นประท้วงไป คนระยองก็บอกว่าบอกไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้า

    แต่ปัจจุบันนี้ขบวนการเสื้อแดงรวมคนหลากหลายอาชีพ รวมคนจากถิ่นฐานกระจายทั้งประเทศ ถ้าใช้ศัพท์ฝ่ายซ้ายสมัยก่อน ก็เรียกว่าเป็น แนวร่วมมวลชนอันไพศาล จะมีประเด็นอะไรที่สามารถเป็นร่มให้ผู้คนนานาอาชีพ นานาภูมิหลัง จนกระทั่งนานาความฝันมารวม มาร่วมกันได้กว้างขวางขนาดนี้

    มัน เป็นการรวมของความทุกข์ ความคับข้องใจ ความรู้สึกต่อความพิลึกของสังคมไทย จนกระทั่งความปรารถนาที่อยากจะเห็นสังคมเราพ้นไปจากตมปลักศักดินา เพราะฉะนั้นขบวนการเสื้อแดงจึงไม่ใช่ขบวนการของกลุ่ม ‘Thaksinists’ (แม้จะไม่มีศัพท์นี้ในโลก แต่ถ้าจะมี ก็ไม่เห็นแปลก ก็ทีคำว่า Thaksinomics พวก นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่น้อยทั้งหลายก็ไม่เห็นว่าอะไร)

    พวก นิยมทักษิณทุกคนเป็นเสื้อแดงนั้นใช่ แต่สมการกลับกันนั้นไม่ใช่ คือ ไม่ใช่พวกเสื้อแดงทุกคนเป็นพวกนิยมทักษิณ ลำพังทักษิณไม่สามารถสร้างเสื้อแดงมาขนาดนี้ได้ ต้องมีตัวช่วย และตัวช่วยตัวสำคัญก็คือ รัฐประหาร ‘19 กันยา’ รวมทั้งอำนาจสนับสนุนอื่นๆ

    ผม คิดว่า เป็นการพัฒนาทางการเมืองที่น่าประทับใจมาก สรุปง่ายๆก็แล้วกันว่า ผมดีใจกับ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหาร ระบบอำมาตย์ถูกเขย่าเสาคลอน แม้จะไม่ล้มในตอนนี้ หรืออาจจะไม่ล้มในช่วงชีวิตผมก็ได้ การช่วยกันคนละไม้คนละมือเป็นพลังพังทำนบได้

    ขอฟังความเห็นต่อพลังคนเสื้อแดง

    กลัว จะพูดซ้ำกับที่เคย สัมภาษณ์มา ขอเพียงเสริมว่า ถ้าจะชุมนุมแต่ละจังหวัด ผมคาดว่า คงอาจจะมีคนมาเป็นหลักหมื่น หรืออย่างน้อยก็หลักพัน

    ถ้าจัด ที่ส่วนกลาง เราเห็นหลักแสนมาแล้ว นี่ไม่ใช่ธรรมดาๆ และ ที่น่านิยมอย่างยิ่งก็คือ การประท้วง เรียกร้องต่างๆนั้นยังอยู่ในรูปเสียงเพลงอีกด้วย แถมมีหลายเพลงเสียด้วย นี่คือสาเหตุที่ก็รู้กันทั่วไปว่า ทำไมฝ่ายโน้นถึงไม่ต้องการเลือกตั้ง แม้ว่าจะราวีกันภายในขนาดไหน

    พลังเสื้อแดงยังต้องพิจารณาสัมพันธ์กับฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายโน้นไม่มีความคิดเป็นพลัง เมื่อก่อนเขายังมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรเลย

    สมัย เสื้อเหลืองเรืองรอง ก็มีเรื่องทักษิณโกง แต่ตอนนี้เรื่องนี้ขายไม่ออกแล้ว อุตส่าห์ลงทุนทำรัฐประหารก็ยังหาเรื่องเอาผิดทักษิณไม่ได้ เรื่องที่ทักษิณถูกตัดสินจำคุก ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร และตอนนี้ก็ไม่มีใครพูดเรื่องการเมืองใหม่แล้ว

    อย่าว่าแต่จะมีคนฟัง เลย การที่ไม่มีความคิดเป็นพลัง ทำให้ฝ่ายอำมาตย์และฝ่ายเสื้อเหลืองทั้งฟ่ามทั้งกลวง ข้อเสนอเศรษฐกิจแนวพุทธ แบบชูมาร์คเคอร์ “Small is beautiful” ไทยเวอร์ชั่น เป็นธงรบไม่ได้ นี่คือสาเหตุว่าทำไมตอนนี้จึงไม่มี mass movement จึงต้องใช้ไม้อื่น เลยใช้วิธีติดบิลบอร์ดบ้าง พ่นลมเรื่องความสมานฉันท์บ้าง เอาคนมาร้องเพลงชาติตอนชักธงลงบ้าง

    ฝ่าย เสื้อแดงเหนือกว่าในแนวรบด้านพลังความคิด น่าเสียดายที่ฝ่ายอำมาตย์มีคนมีปริญญาเยอะมาก ถ้าเอาปริญญามาเรียงต่อกันแล้ว อาจจะยาวเท่าเส้นศูนย์สูตร แต่ไม่มี ideas อะไร มาเสนอ ขนาดคุมสื่อของรัฐ ก็ยังไม่มีเนื้อหาความคิดอะไรมาใส่ เขาถึงต้องใช้พลังอื่นๆมาสู้ นี่คือสาเหตุว่า ทำไมสัญลักษณ์ความยุติธรรมจึงกลายเป็นครกกระเดื่องไปแล้ว และทำไมถึงต้องใช้วิธีนักเลงข้างถนน


    อาจารย์ไชยันต์ คิดเห็นว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

    เรา มีรัฐประหาร 17 ครั้ง มาแล้ว แล้วทำไมจะมีครั้งที่ 18, 19 และ 20 ไม่ได้ ประเทศไทยจะดีวิเศษอะไรปานนั้น ทำไมพระศรีอาริย์จะมาโปรดเร็วขนาดนั้น แต่ถ้ามีอีก มันคงไม่ใช่กินรวบแบบครั้งก่อนๆ ส่วนจะเกิดเมื่อไหร่ เราไม่รู้ ไม่ใช่หมอดู

    สื่อของกลุ่มคนเสื้อแดงกับการเมืองท้องถิ่นในกรณีเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่

    การเมืองท้องถิ่นไปโยง ผูกกับการเมืองของชาติ ทั้งที่จริงๆ ประเด็นเทศบาลมันเป็นเรื่องเก็บขยะ

    แต่ ว่าการเมืองระดับชาติทำให้การเมืองท้องถิ่นทั่วไปเป็นไปอย่างนี้ กรณีเชียงใหม่ คนที่อยากได้รับเลือกตั้ง ก็พยายามที่จะอิงตัวเองกับเสื้อแดง

    พวก สมัครคนอื่นที่เคยอิงกับ ฝ่ายอำมาตย์ หรือว่า สนับสนุนเสื้อเหลือง หรือว่าไม่ได้เต็มใจกับเสื้อแดง เขาจะพยายามไม่ให้ปรากฏในการหาเสียง ผู้สมัครบางคน เมื่อก่อนใช้ยศทหารหาเสียง แต่ว่าตอนนี้ขายเฉพาะความเป็นดอกเตอร์ เพราะอะไรก็รู้กันอยู่แล้ว

    ผม คิดว่า การเลือกตั้งเทศบาลคราวนี้ ผู้สมัครที่อิงกับเสื้อแดงคงชนะ อันนี้คงจะเป็นการบอกถึงว่า ขบวนการเสื้อแดง รากหญ้า ไร้การศึกษาไม่ทันคนนั้นไม่เหมือนเดิม

    ดูสิว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ใครจะชนะ ชนะเท่าไร แล้วจะลบทฤษฎีของพวกหากินด้วยน้ำลาย กับน้ำหมึกที่ชอบดูแคลนคนหากินด้วยน้ำ เหงื่อหรือไม่ ผมขอกลับไปประเด็นเดิมอีกครั้ง คือ พวกปริญญายาวเหล่านี้แต่งตั้งวางตัวเองเป็นผู้พิพากษาเหล่านี้รับค่านิยมที่ เป็นนิสัยตกตะกอนของพวกฝ่ายอำมาตย์มา

    นิสัยถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ

    เพราะ เขาเป็นฝ่ายปกครอง เป็นฝ่ายที่คิดว่า ตัวเองอยู่เหนือคนอื่น เราอยู่เหนือคนอื่น เราอยู่เหนือทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางอำนาจทางการเมือง เราก็อยู่เหนือทางศีลธรรมด้วย ก็คิดไปเองน่ะ

    แต่ถ้าเกิดจะไปว่าเขา หรือวิจารณ์เขากลับ เขาจะจับเอาน่ะครับ เอางี้ ผมยกตัวอย่างให้ว่า กฎหมายหมิ่นประมาท คุณไปด่าว่า ชาวนาโง่ ศาลไม่ตัดสินว่าเป็นหมิ่นประมาทนะ แต่คุณลองไปด่าว่า อาจารย์โง่ซิฮะ เขาฟ้องตายเลยใช่ไหม แล้วศาลก็เห็นว่าผิด และไอ้การที่เรา มีข้อหาหมิ่นศาล คือ มึงอย่ามาตั้งคำถามกับคำพิพากษาของกูน่ะ มันมีกฎหมายเลย ห้ามเลย มึงอย่ามาตั้งคำถาม ส่วนกูจะตัดสินใครยังไงก็ได้

    แต่คราวนี้ก็ดีนะ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเขาก็ได้เห็นธาตุแท้หลายอย่าง เช่น นักวิชาการบางคน สมัยเสื้อเหลืองเฟื่องฟู ทำป่าๆ เถื่อนๆ ก็บอกว่าเขาจะไม่เขียนอะไรที่ทำให้เสื้อเหลืองอ่อนแอ โอ้ย ตลกมาก แล้วก็ยังมีพวก ‘2 ไม่เอา’ รวมทั้งพวกอีแอบสีเหลืองด้วย What kind of position is this? อย่างนี้เนี่ย แย่กว่ายาม ESCAP

    สมัย หลัง ‘14 ตุลา’ นัก วิชาการเห็นไปในทำนองเดียวกันกับรัฐบุรุษอาวุโส สมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้นอยู่ สำหรับนักวิชาการบางคน แต่ที่ต่างกันมาก คือ มันเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนละเบอร์ สมัยนี้บางคนเขาเห็นเหมือนคนเบอร์สองเลยที่ว่าอภิสิทธิ์ควรเป็นนายกฯ

    อำนาจ ของนักวิชาการ ที่มีสัมพันธ์กับสื่อทำร้ายเสื้อแดง โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และนักวิชาการ ก็ออกสื่อต่างๆ และผลิตความรู้สำหรับครอบงำคนได้

    อาจจะมีส่วนกับบางกลุ่ม แต่ผมคิดว่า มันไม่ได้มีอำนาจมากมายอย่างที่เขาคิดหรอก ไม่มีอำนาจเหนือสามัญสำนึก เสมอไปหรอก ไม่ใช่ว่าพูดอะไรแล้วเขาจะเชื่อ

    ผม ประทับใจมากเลย กับคนลาว เขาก็ยังคิดได้ ทั้งที่เขารับแต่สื่อพวกนี้ เขาก็มีสามัญสำนึกว่าอะไรที่มันเกินเลย และการพูดอะไร แสดงความคิดเห็นอะไร มันต้องตัดสินกันข้ามเดือน ข้ามปี เราจะเห็นว่า มีคนพูดกลับไปกลับมา

    เอาแค่ 3-4 ปี คนพูดกลับไป-กลับมา คนพูดว่า รับร่างรัฐธรรมนูญปี ’50 ไปก่อน รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ ตอนนี้แล้วทำไมมึงไม่แก้

    มัน พูดว่า เราไปเสียรู้เรื่องเขาพระวิหาร นักวิชาการประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีมีอยู่ตั้งเยอะแยะ แหมเฉยเลย เหรอ แล้วตกลงเขาพระวิหารเป็นของไทย เหรอ ทำไมไม่ออกมาเถียงพวกเสื้อเหลืองบ้าง แต่ผมคิดว่า อำนาจของเขาไม่เกินสามัญสำนึกครับ

    คิดว่าการรับข้อมูลข่าวสาร คนตื่นตัวกันมากขึ้นในการรับรู้ข่าวสารมากไหม?

    ผมคิดว่า คนสนใจติดตามข่าวสารกันมาตั้งแต่รัฐประหาร 3 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้นำคนมาสนใจและเกี่ยวข้องกับการเมืองกันมากขึ้น

    แต่ ก่อนเขาก็ทำมาหากินของเขา ปลูกหอม ทำนา รับจ้างกันไปแต่ละวัน ไม่ใช่แค่สนใจการเมืองมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ (Distrust) ฝ่ายผู้มีอำนาจ ความรู้สึกนี้แพร่ไปทั่ว

    เมื่อก่อนเสื้อ เหลืองชุมนุม นักปราชญ์ฝ่ายนี้เขาเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยราชดำเนิน ถ้าเรายืมสำนวนนี้มาใช้ ก็พูดได้เลยว่า มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ดีมากๆ เขาฟังแล้ววิเคราะห์วิจารณ์ ชาวบ้านคิดเอง ทำให้เขาไม่เชื่อทางการ ยิ่งชาวบ้านจับโกหกได้ ก็ยิ่งเพิ่มภูมิต้านทานโฆษณาชวนเชื่อ

    การโกหกโป้ปดมดเท็จ มันมีผลดีได้ผลประโยชน์ระยะสั้น แล้วฝ่ายครองเมืองเขาก็ทำกันอย่างนี้ แต่บังเอิญว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3 ปี ทำให้คนไม่ลืม เลยเห็นคนโกหกเต็มไปหมด เห็นเด็กเลี้ยงแกะเต็มไปหมด ยิ่งเกิดความไม่ไว้วางใจ มันก็เป็นสามัญสำนึกชาวบ้าน ความจริงน่าจะเป็นบทเรียนของการชอบมุสา คนที่ไม่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ตั้งแต่สมัยปรีดี สมัยบรรหารหรอก เอาแค่ 3 ปีนี้ก็เห็นเยอะเลย

    จากการที่รัฐบาลประกาศวันรักการอ่าน แล้วอาจารย์คิดเห็นอย่างไรบ้าง

    ถ้ามันเป็นเพียงแค่มี วันเฉยๆ มันก็งั้นๆ แหละ สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ เงื่อนไขทำให้คนอ่านหนังสือ

    มัน มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้คนอ่านหนังสือเพิ่ม เช่น หนังสือราคาถูก มีห้องสมุดทั่วไปให้คนอ่าน และเงื่อนไขของเวลาและโอกาส เป็นที่รู้กันว่า

    คน อ่านหนังสือในอังกฤษเคยมีมากกว่าปัจจุบัน แต่หลังจากที่มีโทรทัศน์แพร่หลายไปทุกบ้าน ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลง อันนี้มีข้อเท็จจริงที่ยืนยัน มีงานวิจัยที่พิสูจน์ประเด็นนี้

    ถ้า อยากให้การสร้างการรักการอ่านเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ก็ต้องสร้างเงื่อนไข ที่เริ่มต้นได้เดือนหน้าเลย คือ ลดเวลาละครโทรทัศน์ลง เลิกข่าวไร้สาระ และโฆษณาบ้าดีเดือด แล้วช่วยเอาเวลาเหล่านี้แทนที่ด้วยการอภิปรายเรื่องหนังสือ

    เลยอยากจะรู้ว่า นอกจากประกาศวันรักการอ่านแล้ว จะมีมาตรการอะไรบ้าง เช่น มีกองทุนสนับสนุนให้ราคาหนังสือถูกลงไหม ยกตัวอย่างกรณีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ทำ โลกหนังสือ ก็ขาดทุน

    และ ก็มีความคิดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คือ หมอสุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ที่จะสนับสนุนโครงการให้มีโลกหนังสืออีก แต่ก็ล้มไป แล้วมีบ้างไหม โครงการแบบนี้ ไม่ใช่บ้วนน้ำลายแล้วหายไป

    ผมได้ยินได้ฟังมาว่า สื่อเสื้อแดง เป็นพวกหัวรุนแรง ชอบใช้กำลังทำร้ายผู้คน และปลุกระดมมวลชน อาจารย์คิดว่าอย่างไร

    ผมได้ฟังวิทยุคนเสื้อแดงบางสถานี มีคนโฟนอินเข้าไป ก็ชวนให้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

    ซึ่ง มันก็เป็นที่เข้าใจได้ มันเป็นปรอทวัด ความเหลืออด ความโกรธแค้นจากการถูกย่ำยี ถูกข่มเหงรังแก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า จากความโกรธ ความไม่พอใจนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องปลุกระดมทำร้ายกัน มันไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลที่ต่อเนื่องกัน

    เพียง แต่ว่าทำให้เราทราบคนรู้สึกอย่างไร แต่ว่าการที่พูดเหมาว่า คนเสื้อแดงชอบปลุกระดมให้คนทำร้ายกัน เป็นการใส่ร้าย ผมเคยไปชุมนุมที่ข้างอาเขต (สถานีรถโดยสารที่เชียงใหม่ - ผู้สัมภาษณ์) ที่ กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้รู้สึกเป็นอย่างนั้น

    คน เป็นหมื่นเป็นแสน ก็มีคนที่อาจจะคิดอย่างนั้นบ้าง และผมคิดว่า ทางฝ่ายนำก็คงต้องจัดการดูแลไม่ให้เกินเหตุ เกินผลไป อย่าให้ไปถึงขั้นเลือดตกยางออก

    พูดไปพูดมาเหมือนพวกนักสันติวิธี พวกนักสันติวิธีนี่น่ารักมาก พูดจาสุภาพ ใครๆก็ต้องเห็นด้วย มีผู้นำสันติวิธีคนหนึ่งจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยการต่อต้านรัฐประหาร อุตส่าห์ตั้ง ครป. แต่นั่นมันสมัยสุจินดา แต่รัฐประหารคราวนี้ทำเป็นเฉย ซ้ำยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี่เสียอีก นักสันติวิธี ผู้น่ารัก ยังจะน่านับถือกันต่อไปไหมเนี่ย

    เราต้องระลึกถึงลุง นวมทอง ไพรวัลย์ เรา ต้องเชิดชูถึงความเด็ดเดี่ยวของท่าน เป็นคนที่ผมเคารพมากเลย

    ผม ยังไม่เห็นในเมืองไทยเลย ที่คิดว่า มีคนอย่างนี้ ผมไม่ได้หมายความนะครับว่า อยากให้ท่านเสียชีวิต แต่นี่คือ คนยอดคน นี่คือ คนจริง งานศพของท่านอยู่ในวัดเล็กๆ ที่เมืองนนทบุรี เข้าไปลึกหน่อยจากถนนใหญ่ เป็นงานศพของคนกระจอก แต่มีพวงหรีดของสุรยุทธ์ จุลานนท์ด้วย และมีตำรวจเต็มไปหมด ถ้าคนไม่บอก ก็นึกว่า งานศพนี้จัดที่วัดเทพศิรินทร์ ซะอีก

    ในอนาคตข้างหน้า น่าจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่าน สร้างที่ลานที่ท่านขับรถแท็กซี่ชนรถถังนั่นแหละ แต่ไม่ต้องออกแบบให้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวนะ เอาแบบขี่แท็กซี่ดีที่สุด เป็นเอกลักษณ์ดี ไม่เหมือนใคร
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×