ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เคล็ดลับสุขภาพดี โดยวิธีง่ายๆ

    ลำดับตอนที่ #32 : การรับมือกับแผลเป็น

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.12K
      1
      23 ต.ค. 49

    โดย นายแพทย์ จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์

    แผลเป็น (scar) เกิดจากขบวนการรักษาแผลหรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อผิวหนังตามธรรมชาติ และมีการสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็น (fibrous collagen) มาทดแทนเนื้อเยื้อที่ถูกทำลายไป

    สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลเป็นเกิดจากบาดแผลชนิดต่างๆ เช่น แผลผ่าตัด แผลจากอุบัติเหตุ แผลไฟไหม้ แผลสิว แผลจากโรคสุกใส เป็นต้น
    แผลเป็นนี้ไม่ได้เกิดกับแผลที่หายดีแล้วของอวัยวะภายนอกเท่านั้น แต่แผลเป็นก็เกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในด้วย

    โอกาสเกิดแผลเป็นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผล การดูแลรักษาแผล และความยาวนานของการหายของแผล
    • ถ้าเกิดบาดแผลเพียงผิวๆเล็กๆน้อยๆ ในระดับของหนังกำพร้า (epidermis) ก็อาจทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆน้อยๆ หรือ ไม่ทำให้เกิดแผลเป็นเลย
    • แต่ถ้าบาดแผลลึกลงถึงชั้นหนังแท้ (dermis) หรือลึกกว่านั้น ก็อาจทิ้งให้เหลือเกิดรอยแผลเป็นได้ หลังจากที่แผลหายดีแล้ว

    ในเรื่องการดูแลรักษาแผลและความยาวนานของการหายของแผล เมื่อแผลหายเป็นปกติแล้ว มักจะทิ้งแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลและนูนขึ้น ด้วยขบวนการตามธรรมชาติแผลเป็นเหล่านี้มักจะจางลงพร้อมทั้งแบนราบลงได้เอง หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี เป็นต้นไป บางครั้งแผลเป็นอาจมีอาการคันและเจ็บปวดได้

    นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ โดยพบว่าในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้บ่อยกว่าในวัยอื่นๆ ในเพศหญิงจะมีโอกาสการเกิดแผลเป็นได้บ่อยและมากกว่าในเพศชาย

    ในคนผิวคล้ำจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนผิวขาว และผู้ที่มีประวัติเคยเกิดแผลเป็นและมีประวัติของครอบครัวเกิดแผลเป็นจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติดังกล่าว

    แผลเป็นของคุณเป็นแบบไหน
    1. Hypotrophic scar
    คือ รอยแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นหลุม เนื่องจากเนื้อเยื่อผิวถูกทำลายลึก จนไม่สามารถสร้างชั้นผิวได้เหมือนเดิม
    2. Hypertrophic scar คือ แผลเป็นที่มีสีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังปกติ แต่ยังอยู่ในขอบเขตของรอยแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของแผลเดิม
    3. Keloid คือ แผลเป็นที่มีอาการนูนและแดงคล้ายกับ Hypertrophic scar แต่มีความผิดปกติทำให้เกิดการขยายตัวกว้างขึ้นเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบๆรอยโรคของแผล กว้างแผลตอนแรกเริ่ม

    การป้องกันแผลเป็น
    สิ่งสำคัญอย่างแรกในการลดแผลเป็น คือ ควรลดสาเหตุและระดับความรุนแรงของการเกิดแผล แต่ในกรณีที่เกิดแผลขึ้นแล้ว ควรดูแลรักษาทำความสะอาดแผลอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้แผลหายเร็วที่สุด ยิ่งแผลหายเร็วเท่าใดโอกาสการเกิดแผลเป็นก็จะน้อยหรือเบาบางลงเท่านั้น

    ปัจจัยที่มีผลต่อการหายของแผล ได้แก่ อายุ คอร์ติโคสเตียรอยด์ การขาดอาหาร การสูบบุหรี่ อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดด่าง (pH) และอ็อกซิเจน โดยพบว่า แผลจะหายได้ดีขึ้นในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิที่อบอุ่นได้ดีกว่าอากาศเย็น ความชื้น pH 7.4 และปริมาณ อ็อกซิเจนที่เหมาะสมจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นเช่นกัน


    ทำอย่างไรให้แผลหายเร็ว?
    • ในการรักษาแผลจึงควรรักษาสภาวะแวดล้อมและความสะอาดของแผลให้เหมาะสม มีอุณหภูมิที่อบอุ่น มีความชื้นเพียงพอ ความเป็นกรดด่าง และอ๊อกซิเจน เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น

    • สำหรับการดูแลแผลเล็กๆน้อยๆ เบื้องต้น เริ่มต้นการล้างหรือเช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ตามด้วยการปิดทำแผลโดยปราศจากเชื้อ ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ หรือ ยาฆ่าเชื้อ เช่น Providone iodine เพราะส่งผลเสียต่อการทำงานของเซลล์ชนิด fibroblast ซึ่งมีหน้าที่ในการซ่อมแซมบาดแผล ทำให้แผลหายช้า

    • ส่วนชนิดของแผลที่ควรแนะนำไปพบแพทย์ ได้แก่ แผลที่เลือดไหลไม่หยุด แผลขนาดใหญ่หรือแผลลึกมาก แผลที่เกิดจากแมลงพิษกัด แผลบริเวณข้อต่อหรือข้อพับ และแผลที่แดง อักเสบ และปวดรุนแรงหรือเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้

    • ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลร้ายต่อการหายของแผล คือ การสูบบุหรี่ การขาดวิตามิน ซี และธาตุสังกะสี ซึ่งควรรักษาระดับวิตามิน ซี และสังกะสีให้อยู่ในระดับปกติ ในทางตรงกันข้ามการได้รับวิตามินซีและสังกะสีในขนาดสูงหรือปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายก็ไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

    • นอกจากนี้การเกิดแผลเป็นอาจลดลง ถ้าให้ปากแผลแนบสนิทกันพร้อมทั้งลดแรงตึงต่อแผลลง

    การรักษาแผลเป็น
    ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่นำมาเพื่อใช้รักษาหรือลดขนาดของแผลเป็นให้ลดน้อยลง เช่น การผ่าตัด การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การฉายรังสี การใช้ความเย็น การรักษาด้วยเจลซิลิโคน (silicone gel) ยาครีมบางชนิดหรือปล่อยให้ดีขึ้นเอง เป็นต้น

    แผ่นเจลซิลิโคน (silicone gel sheet) เป็นแผ่นซิลิโคนใสที่เหมาะสำหรับแผลเป็นที่มีสีแดงหรือสีคล้ำหรือนูน ซึ่งมีรายงานว่าเมื่อใช้แผ่นเจลซิลิโคนแล้วจะช่วยให้สีของแผลจากลงและแผลแบนราบลงได้
    แผ่นเจลซิลิโคนนี้ไม่ควรจะใช้ในขณะแผลเปิด ควรเริ่มใช้ทันทีที่แผลปิดสนิทหรือหลังตัดไหมสำหรับแผลเย็บ โดยปิดแผ่นเจลซิลิโคนนี้ทับแผลเป็นหรือคีลอยด์เป็นระยะเวลา

    นานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน (อาจเริ่มต้นด้วยระยะเวลาน้อยๆ และเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน) จะช่วยให้แผลเป็นนี้ยุบลงได้ โดยที่ไม่เจ็บ แต่ใช้เวลาอาจจะประมาณ 4-6 เดือน

    ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ แต่เชื่อว่า คุณสมบัติ semi-occlussive (ที่ไม่ยอมให้น้ำผ่าน แต่ไอน้ำ ความชุ่มชื้น และอ๊อกซิเจนผ่านได้) และแรงกดอยู่ตลอดเวลาบนแผลเป็น ช่วยให้ลักษณะของแผลเป็นดีขึ้นได้
    แผ่นซิลิโคนใสนี้ สามารถนำมาล้างทำความสะอาด ใช้สบู่ฟอก ใช้น้ำสะอาดล้าง แล้วผึ่งให้แห้ง นำมาใช้ปิดแผลเป็นได้จนกว่าจะปิดไม่อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถใช้ได้นาน 14-28 วัน

    การฉีดยาคอรติโคสเตียรอยด์ การฉีดยาสเตียรอยด์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง (plastic surgeon) โดยใช้ยา triamcinolone acetonide เข้าใต้ตำแหน่งของแผลเป็น จะช่วยให้แผลเป็นนั้นนุ่มลงและแบนราบลงได้ โดยยานี้จะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของ fibroblast และส่งเสริมการทำลายคอลลาเจนที่แผลเป็น ทำให้แผลเป็นยุบตัวลง

    ยานี้ควรใช้เมื่อใช้แผ่นซิลิโคนใสแล้วยังไม่หายดี ขนาดของยาที่ใช้อยู่ระหว่าง 10-120 มก. ต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็น ควรให้ทุก 4-6 สัปดาห์ ซึ่งได้ผลพอใช้ได้ แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บขณะที่ฉีดยา และต้องมาฉีดเป็นระยะ ตามที่แพทย์นัด นอกจากนี้ในบางรายอาจทำให้ แผลยุบตัว และสีผิวเปลี่ยนได้

    นอกจากนั้นการใช้ทายาสเตียรอยด์ทาบริเวณแผลเป็น จะช่วยบรรเทาอาการคัน ตึง ปวด เพื่อที่จะได้ ไม่ลุกลามขึ้น แต่ไม่ช่วยให้แผลเป็นหรือคีลอยด์ยุบลงได้


    การผ่าตัด การผ่าตัด จะช่วยจัดตำแหน่งร่องรอยแผลเป็นให้ดูดีขึ้นได้ แต่ทุกครั้งที่มีการผ่าตัดก็จะเกิดเกิดแผลเป็นใหม่แทนที่แผลเป็นเก่าเสมอ การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ ได้ผลดีพอสมควร แต่ยังขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็นด้วย


    การทาด้วยยาที่มีส่วนประกอบของ MPS (Mucopolysaccharide polysulphate) โดยทั่วไป MPS เป็นสารที่ช่วยอุ้มน้ำในชั้นผิว และจัดเป็น Heparinoid เนื่องจากออกฤทธิ์คล้าย Heparin ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ได้มีการพัฒนา MPS เพื่อใช้ในยาสำหรับรักษาแผลเป็น และมีรายงานซึ่งวิจัยโดยทีมศัลยแพทย์ ที่กล่าวถึงผลของ MPS ที่ช่วยทำให้แผลเป็นที่แข็งนุ่มลงได้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับยาหลอก

    นอกจาก MPS แล้วยังมีสารอื่นๆที่ทำให้แผลเป็นดูดีขึ้นได้ เช่น สารสกัดจาก Allium cepa, วิตามินอี, วิตามินบี3 เป็นต้น



    การปล่อยให้แผลเป็นจางลงเองตามธรรมชาติ แผลเป็นอาจหดและจางลงได้เองในระดับหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นศัลยแพทย์ตกแต่งจำนวนมากจะแนะนำให้ทิ้งไว้เฉยๆ สัก 1 ปี จนแผลจางลงเต็มที่ก่อนให้การรักษา

    นอกจากนี้ การใช้แสงเลเซอร์ ก็ได้ผลปานกลาง ขึ้นอยู่กับขนาดคีลอยด์ การใช้เครื่องสำอางตกแต่งแผลเป็น ฯลฯ

    ผมก๊อปมาอีกทีนะครับ เห็นมันน่าสนใจเลยเอามาให้เพื่อนๆอ่านกัน
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×