ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เคล็ดลับสุขภาพดี โดยวิธีง่ายๆ

    ลำดับตอนที่ #25 : คนไทย11ล้านคน เสี่ยงอัมพฤกษ์จากกินเค็ม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 579
      0
      21 ต.ค. 49

    สาธารณสุขเร่งรณรงค์ลดการกินเค็มของคนไทย ซึ่งขณะนี้ปริมาณบริโภคสูงกว่ามาตรฐานโลก 3 เท่าตัว กินเฉลี่ยมากกว่าวันละ 3 ช้อนชา ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบ 5 ปี ผลตรวจสุขภาพล่าสุดพบคนไทยวัย 15 ปีขึ้นไป ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ร้อยละ 22 หรือประมาณ 11 ล้านคน เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต

    นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการลดเค็ม ลดความดัน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต ปี 2549 แก่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เครือข่ายสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เกือบ 200 คน เพื่อรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคอาหารรสเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

    จากการวิเคราะห์ทางการแพทย์ และโภชนาการ พบว่าขณะนี้คนไทยนิยมบริโภคอาหารรสเค็ม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของอาหารรสแซ่บ เช่น อาหารประเภทยำ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ซึ่งจะต้องใส่เครื่องปรุงมากกว่าปกติ บางรายติดแม้ปรุงแล้วก็ปรุงเพิ่มเติมอีก รวมทั้งยังมีขนมขบเคี้ยว หรือที่วัยรุ่นเรียกว่าสแน็ก ทำให้ปริมาณเกลือมีมากกว่าความจำเป็นของร่างกายถึง 3 เท่าตัว โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ต่อวันควรได้รับเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา แต่ค่าเฉลี่ยอาหารที่คนไทยบริโภค มีเกลือสูงถึง 3 ช้อนชาต่อคน

    ขณะเดียวกันคนไทยกินผักน้อยลงเรื่อยๆ เฉลี่ยวันละ 3 ทับพี การกินเค็มดังกล่าว ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและไตวาย จากการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทย โดยการตรวจร่างกายปี 2547 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความดันโลหิตสูงผิดปกติ (เกิน140/90 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไป) เกือบ 11ล้านคน หรือร้อยละ 22 ของประชากร ในผู้ชายพบร้อยละ 23 และหญิงร้อยละ 21 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2540 กว่า 1 เท่าตัว ในจำนวนนี้เกือบ 6 ล้านคน ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ในกลุ่มที่รู้ตัวมีเพียงร้อยละ 30 ที่เข้ารักษาตัว และปฏิบัติตัวจนสามารถควบคุมความดันลดลงมาเหลือปกติ (ไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท) เพียงร้อยละ 16 เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์ ทั้งเรื่องการลดบริโภคอาหารรสเค็ม รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น และต้องออกกำลังกายเป็นประจำ

    หากปล่อยให้ปัญหาบานปลายอาการความดันโลหิตสูงกำเริบจนถึงขั้นเจ็บป่วย จะทำให้ประเทศไทยต้องลงทุนรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ ปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท

    ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ลักษณะการป่วยจากโรคความดันโลหิตสูง จะค่อยเป็นค่อยไป เรียกว่า “ฆาตกรเงียบ” โดยในระยะแรกไม่มีอาการผิดปกติ จะรู้ตัวเมื่อมีอาการแสดงสัญญาณอันตราย ที่บ่งบอกว่าจะเป็นความดันโลหิตสูงได้แก่ วิงเวียน ปวดศีรษะบ่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย ตาพร่ามัว บางรายอยู่เฉยๆก็วูบ จะต้องรีบพบแพทย์ เนื่องจากความดันโลหิตสูง เกิดจากเส้นเลือดตีบตัน ยังมีคนไทยบางรายเข้าใจว่า คนเป็นโรคนี้จะต้องอ้วนเท่านั้น คนผอมไม่เป็น

    ปัจจุบันพบได้ทั้งคนอ้วน คนผอม อันตรายทั้งคู่ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดจะต้องลดเกลือ เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็คความดันโลหิตทุก 6 เดือน รายใดที่ความดันสูงผิดปกติ ยังมีเวลารักษาทัน ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ 3 หลักการใหญ่ คือ กินยา ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร กินอาหารรสจืด กินผักให้ได้วันละ 5 ทับพี เป็นอย่างน้อย

    ทั้งนี้หากไม่รักษา โรคจะกำเริบ อันตรายที่สำคัญและน่ากลัวที่สุด คือโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ อุดตัน ซึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าว สูงกว่าคนที่มีความดันปกติ 3-17 เท่า โรคดังกล่าวมักพบกับคนวัยทำงาน เป็นเสาหลักของครอบครัวมีอายุ 45 ปีขึ้นไป
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×