ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    โรงเรียนศาสตร์มืดแห่งดาร์คแลนด์ (เปิดเทอม)

    ลำดับตอนที่ #22 : ชั้นที่ 5 ชั้นจักรพรรดิ์ยิ่งยง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.04K
      0
      10 ธ.ค. 59

    ชั้นที่ 5 ชั้นจักรพรรดิ์ยืนยง

    สวัสดีเหล่า "จักรพรรดิ์ยืนยง"
    หากเจ้าต้องการเป็นชนชั้นสูงผู้สง่างามแล้วไซร้
    ที่ห้องเรียนนี้ เจ้าจะต้องเรียนรู้ การรักษาอำนาจไว้ในมือ
    การสร้างรังสีความน่ายำเกรง การเมือง และการปกครอง
    ในชั้นเรียนนี้ หากเจ้าไม่เข้าใจอันใด สามารถถามได้ที่กล่องคอมเม้นด้านล่าง











    ภารกิจ

    ภารกิจ คือ สถานการณ์จำลอง เพื่อทดสอบทักษะของท่าน
    ในชั้นนี้ มีภารกิจทั้งหมด 1 ภารกิจ ท่านจะภารกิจนี้หรือไม่ก็ได้
    และเลือกทำกี่ภารกิจก็ได้

    โดยคะเเนนจากภารกิจที่ท่านทำ จะช่วยในการสอบเพิ่มระดับของท่าน
    และเมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้น ท่านจะไ้ด้รับรางวัล

    ภารกิจที่ 1


    ข้อควรระวัง
    อนึ่ง ระว่างการเดินทางทำภารกิจของท่าน
    ท่านอาจจะต้องแวะตามสถานที่ต่างๆ และจำเป็นต้องโพสคอมเม้น
    เมื่อท่านโพสคอมเม้น  ไม่ว่าที่ใดก็ตามในดาร์คแลนด์
    ให้แนบบัตรประ
    นักเรียนศาสตร์มืดแห่งดาร์คแลนด์ด้้วยเสมอ
    และผลการทำภารกิจของท่าน จะปรากฏที่หอพักของท่าน ทุกวันศุกร์



    การสอบครั้งสุดท้าย

    หากท่านศึกษาบทเรียนในชั้นนี้จนถ่องแท้แล้ว กรุณาทำข้อสอบ
    เพื่อรับเหรียญตรา "ชนชั้นสูงสง่างาม"


    คลิกเพื่อทำข้อสอบ



    บทเรียนที่ 1 เมื่ออำนาจอยู่ในมือ

    การ "สร้างอาณาจักร" หรือ "การรักษาอาณาจักร" ยากกว่า
      ในวันนี้อาจารย์นำคัมภีร์จีนมาให้อ่าน
    ชื่อว่า  คัมภีร์ "หลักนโยบายการปกครองแบบเจินกวน"
    เขียนขึ้นภายหลัง "ถางไท่จงฮ่องเต้" เสด็จสวรรคตแล้วประมาณ ๕๐ ปี 
    การปกครองแบบเจินกวนเป็นการปกครองของจีน
    ในสมัยราชวงศ์ถางยุคที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ประเทศชาติมั่งคั่งและเข้มแข็งเกรียงไกร 
    ชนรุ่นหลังยกย่องว่าเป็นแม่แบบการปกครองของราชวงศ์ศักดินาในประวัติศาสตร์จีน

      "หลักนโยบายการปกครองแบบเจินกวน" เป็นผลึกแห่งปัญญา
    การปกครองของถางไท่จงฮ่องเต้ ...เป็นหลักปรัชญาอมตะ ที่ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน

    คัมภีร์เล่มนี้เป็น "คัมภีร์ล้ำค่า" ที่จักรพรรดิทุกองค์ของจีนในยุคหลังต้องศึกษา 
    ส่วนในญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นแบบเรียนที่องค์จักรพรรดิต้องเพียรศึกษาเช่นเดียวกัน

        โชกุน โตคุกาว่า เพียรศึกษา "หลักนโยบายการปกครองแบบเจินกวน" 
    อาจเป็นเพราะว่า จักรพรรดิทุกพระองค์ในอดีตแม้จะสร้างอาณาจักรขึ้นมาได้
    แต่ก็ไม่สามารถรักษาอาณาจักรไว้ได้.....

        โตคุกาว่า มีภูมิหลังและภาวะแวดล้อมคล้ายคลึกกับถางไท่จงฮ่องเต้ 
    จึงพยายามศึกษาและเอาอย่างวิธีการปกครองของ ถางไท่จงฮ่องเต้  
    อำนาจรัฐโตคุกาว่าที่สถาปนาโดยโตคุกาว่า จึงมั่นคงและยืนยงถึง ๒๘๐ ปี
    ก็เพราะศึกษาวิธีการปกครองของ ถางไท่จงฮ่องเต้



    กับดักผู้มีอำนาจ
        ....อำนาจนี้โดยตัวมันเองมีบทบาทอยู่สองด้าน ถ้าใช้เกินขอบเขต
    ก็จะเกิดผลร้ายอันเนื่องมาจากความบ้าอำนาจ ถ้ามอบ
    หมายหรือกระจายอำนาจมากไป ก็จะเกิดปรากฎการณ์ปัดความรับผิดชอบ
    ความพอดีอยู่ตรงจุดไหน จะใช้อำนาจอย่างไร
    ชาวเมือง ผู้อยู่ในอำนาจทั้งหมดจึงจะยอมรับนับถือทั้งวาจาและใจ 
    ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความเข้าใจปรัชญาการนำของผู้นำ...

     
        ... ถ้าได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นทรราช
    ดังสุภาษิตของชาวตะวันตกที่ว่า "มีอำนาจสามปีก็กลายเป็นคนเขลา" นี่เป็นปรากฎการณ์ทั่วไป

        .....จงเก็บรับบทเรียนของผู้อื่น การถ่อมตัวน้อมรับฟังคำวิจารณ์ของผู้อื่น และสันทัดในการปกครองคนที่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาแบบ "เว่ยเจิง"  เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก....
       
    ....อำนาจนี้อาจเปรียบได้กับมารร้าย  สามารถทำให้จักรพรรดิในสมัยโบราณ
    เสื่อมทรามจนกระทั่งไม่สามารถแยกถูกผิดดีชั่ว

    "ประชาชน" เป็น "เจ้า"
        มรรควิถีของกษัตริยราช พึงคำนึงถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรเป็นที่ตั้ง
    หากเสริมอำนาจบารมีหรือปรนเปรอตนเอง โดยราษฎรต้องทุกข์ยากเดือดร้อนแล้วไซร้
    ก็อุปมาดั่ง เฉือนเนื้อแขนขาบำเรอท้อง ท้องอิ่มแต่มรณา...
        ....ไม่ว่าใคร ถ้าถูกความกระหายอำนาจเข้าบงการ ก็จะกลายเป็น "ทรราช" 
    แม้รู้ว่าจะนำผลร้ายมาสู่ตนเองและประเทศชาติ
    แต่ยังคง "เฉือนเนื้อแขนขา บำเรอท้อง" อย่างถอนตัวไม่ขึ้น...

        ...."อู๋จิง ผู้ซื่อตรง" บันทึกไว้ในจดหมายเหตุถึง ข้อดีเด่นของถางไท่จงฮ่องเต้ คือ
    "รู้จักใช้คน รู้ข้อบกพร่องของตนเอง และสันทัดในการรับฟังข้อคิดเห็นของเหล่าขุนนางข้าราชสำนัก
    สิ่งใดควรปรับปรุงแก้ไข พระองค์จะทรงดำเนินการโดยไม่ชักช้า
    และไม่ถือโทษโกรธเคืองขุนนางที่ถวายคำทักท้วงอย่างตรงไปตรงมา กลับตกรางวัลให้เป็นพิเศษ"



    ฟังความรอบด้าน - การรวบรวมข่าวกรอง

        ...ถางไท่จงฮ่องเต้ ทรงแต่งตั้งบริวารที่ซื่อสัตย์ที่สุด กล้าถวายความเห็นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
    ให้ดำรงตำแหน่งไต้ฟูมีหน้าที่ถวายคำปรึกษา....

        ....ผู้นำ ควรใช้พวกตีสองหน้า พวกเหยียบเรือสองแคม
    และพวกที่เคยทรยศตนให้เป็นประโยชน์ ด้วยท่าทีอ่อนหยุ่น  แต่จะ
    เชื่อถือไว้วางใจไม่ได้เด็ดขาด 

    ส่วนบริวารที่ซื่อสัตย์สุจริตของศัตรูคู่อาฆาตนั้น ควรสร้างความสัมพันธ์ที่เชื่อถือต่อกันไว้...

    ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ จำเป็นต้องมีน้ำใจ และจิตใจกว้างขวางประดุจมหาสมุททรเยี่ยงนี้....
      ถางไท่จงฮ่องเต้ ตรัสเกี่ยวกับ "เว่ยเจิง" ไว้ว่า 
    "เว่ยเจิงเคยเป็นศัตรูคู่แค้นของข้าฯ ก็จริง แต่เขาทำงานอย่างซื่อสัตย์
    เป็นคนดีงาม ข้าฯ สามารถเอาตัวมารับใช้ข้าฯได้ ก็ไม่น้อยหน้าเมธีกษัตริย์ในโบราณกาล  
    เว่ยเจิงเป็นคนถวายความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปรารถนาเห็นข้าฯ กระทำผิด
    นี่คือสาเหตุที่ ข้าฯ ไว้วางใจให้รับผิดชอบงานสำคัญ"


        ผู้กุมอำนาจ โดยมากมักจะถูกปิดหูปิดตา หรือรับข่าวสารเฉพาะส่วนเพียงด้านเดียว
    จะโดยสำนึกหรือไม่ก็ตาม นานวันเข้า ก็ถลำไปสู่ความตกต่ำ ล้มเหลว และพินาศในที่สุด...
        ผู้นำจะต้องวินิจฉัยข้อมูลและข่าวกรองจากหลายๆ ด้าน  จะอาศัยข้อมูลเพียงด้านเดียวไม่ได้ 
    แต่ถ้าการรับฟังรอบด้านเป็นเพียงการรับฟังบริวารที่คอยล้อมหน้าล้อมหลัง เอาแต่ประจบ
    สอพลอแล้ว การฟังความรอบด้านนั้นก็ไม่แตกต่างกับการฟังความด้านเดียว....
        ... ถ้าน้อมใจรับฟังความเห็นทุกฝ่าย  ขุนนางที่ซื่อสัตย์จะไม่ถูกปิดปาก
    อารมณ์ความรู้สึกของข้าราชบริพารก็จะถึงพระเนตรพระกรรณ...

        ....พยายามเตือนสติตนเองให้ถ่อมใจรับฟังความเห็นของผู้อื่นโดยไม่เหนื่อยหน่าย
    นี่คือหลักสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ...



    คณะรัฐมนตรีในสมัยโบราณ - ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง

        ...มนุษย์มองเห็นแต่ฝุ่นผงในดวงตาผู้อื่น แต่มองไม่เห็นดุ้นไม้ในดวงตาของตนเอง....
        ....คนบางคนเอาแต่วิจารณ์ผู้อื่น  หารู้ไม่ว่าตนเองก็ไม่แตกต่างกัน....
        "อย่าหลงตัวเองว่า เป็นผู้มีความสามารถรอบด้าน"
        ...สิ่งมีค่าประเภทสันติภาพ ความมั่นคง และเสรีภาพ ก็เช่นเดียวกับอากาศธาตุ
    ขณะที่เรามีมันอยู่นั้น จะไม่รู้สึกว่ามันมีค่า....

        ผู้นำ จะมีจิตสำนึกเรียกร้องผู้อื่นให้ตอบแทนบุณคุณว่า "พวกเองต้องขอบคุณข้าฯ" ไม่ได้


    จะมองข้ามความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไม่ได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องทัดทาน

    นี่เป็นคำที่ขุนนางท่านหนึ่งเคยทัดทานกษัตริย์
    บางครั้งขุนนางทัดทาน...อย่ากล่าวหาว่าเขาแทรกแซง
    เพราะ "พันคนขอรับ ไม่เท่า หนึ่งคนโผงผาง"
        ขงจื๊อกล่าวว่า "กษัตริย์ใช้ขุนนางโดยให้เกียรติ ขุนนางรับใช้กษัตริย์ด้วยภักดี"





    บทเรียนที่ 2 ข้อใคร่ครวญสิบประการ คุณธรรมเก้าข้อ


        การบริหารบ้านเมือยากเข็ญ ก็เช่นเดียวกับการไต่เขา
    หลังจาก "สร้างอาณาจักร" ขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เราจะปกป้อง"รักษาอาณาจักร" ไว้ได้อย่างไร ?

        "เมื่อไต่ถึงที่ราบบนยอดเขาแล้ว ก็หยุดพักสบายสมอารมณ์หมายบนนั้น ? 
    หรือว่าจะใช้ความพยายามดุจเดียวกับแรกเริ่มไต่เขา บากบั่นรุดหน้าต่อไป ?"

        "มือดีในการสร้างอาณาจักร ไม่แน่ว่าจะเป็นมือดีในการรักษาอาณาจักร"
        "มีความดีความชอบ ควรตกรางวัลให้  แต่ !  ไม่จำเป็นต้องให้รับผิดชอบงานสำคัญ"

       ...จักรพรรดิสุยเหวินตี้ กระทำผิดในสิ่งที่ "ผู้สร้างอาณาจักร" มักกระทำผิด คือ ทำตัวเป็น "เถ้าแก่เผด็จการ"
        ...ถ้าผู้บริหารจัดการปัญหาทุกอย่างด้วยตนเอง โดยไม่แยกเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก 
    ผลสุดท้าย ร่างกายจิตใจก็จะทรุดโทรมสมาธิไม่พอ 
    เพราะฉะนั้น นักบริหารต้องรู้จักกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม....

        ....."ความเหนือธรรมดา อยู่ที่วิตกในยามสงบ"  มนุษย์เราเมื่อมีชีวิตอย่างสุขสงบ
    จิตใจก็จะหย่อนคลายและเกียจคร้าน
    การระมัดระวังและเตรียมพร้อมในยามสุขสงบ เป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง

        .... เม่งจื๊อ กล่าวว่า "ไร้อริราชศัตรูจากภัยนอก อาณาจักรล่มสลาย" 
    คำคำนี้ฟังเหมือนขัดแย้งในตัว แต่ในทางบริหารนั้น ถ้าเรากล่าวว่า
    "ธุรกิจที่ไร้คู่แข่ง ย่อมล้มเหลว" เหตุผลจะชัดเจน

    ภัยของความเป็นหนึ่งเดียว
     "... มีปัญหาต้องปรึกษาหารือ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน
    จะเออออห่อหมกรักษาความเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้"
    มันเป็น "ความปรองดองจอมปลอม" ก็คือ การแก้ปัญหาแบบขอไปที หน้าไหว้ หลังหลอก
        สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ 
    "การเสนอข้อคิดเห็นอย่างจริงใจ ไม่ควรโอนอ่อนผ่อนตาม"
        "คนที่รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี  หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งปวง
    จะต้องประสบชะตากรรมอย่างอเนจอนาถที่สุด"
        ถ้าคนทั้งหลายตกอยู่ในภาวะอันตรายวิกฤต ยังรักษาความคิด "ปรองดอง" ไว้ในสมองแล้ว
    จะเป็นการพิสูจน์สัจธรรม  "ล่มสลายเพราะสงบ" โดยแท้

    ข้อใคร่ครวญสิบประการ และคุณธรรมเก้าข้อ
        เว่ยเจิง ได้สรุปหลักพื้นฐานการบริหารปกครองแผ่นดินเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆคือ
    ข้อใคร่ครวญ ๑๐ ประการ และ คุณธรรม ๙ ข้อ

      ข้อใคร่ครวญ ๑๐ ประการ
            ๑. กษัตริยราช ยามปรารถนาสิ่งใด ต้องคิดถึง "ความรู้จักพอ" เพื่อเตือนสติตนเอง
            ๒. ยามกะเกณฑ์แรงงานก่อสร้างสิ่งใด ต้องรู้จักประมาณและคำนึงถึงความเหมาะสม
    เพื่อสงบใจอาณาประชาราษฎร์
            ๓. เมื่อรู้ว่าอยู่ในตำแหน่งสูงสุด เต็มไปด้วยภยันตราย
    ต้องคิดถึงความนอบน้อมถ่อมใจและความโอบอ้อมอารี เพื่อควบคุมตนเอง
            ๔. เมื่อกลัวความเย่อหยิ่งทะนงตน ฟังคำแนะนำที่ตรงไปตรงมาไม่ได้
    ก็ควรรู้ว่า "มหาสมุทร อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำลำคลองทุกสาย"
            ๕. เมื่อจะท่องเที่ยวหาล่าสัตว์ความสำราญ ควรคิดถึงกษัตริยราชสมัยโบราณ
    ไม่อนุญาตให้ตนเองออกล่าสัตว์เกิน ๓ ครั้งต่อปี
            ๖. เมื่อกังวลว่าราชกิจจะถูกปล่อยปละละเลย ก็ไม่ลืมว่า "จะทำการใดต้องทำให้ดีและทำถึงที่สุด"
            ๗. ถ้าเกรงว่าจะถูกปิดหูปิดตา "ต้องรับฟังความเห็นของข้าราชบริพารด้วยใจถ่อม"
            ๘. ถ้ากังวลว่าความชั่วช้าจะเข้าครอบงำราชสำนัก
    ต้องดำรงตนอยู่ในความถูกต้อง หลีกห่างจากความชั่วร้ายทั้งปวง
            ๙. เมื่อจะบำเหน็จรางวัล  "ต้องระวังไม่ตกรางวัลมากมายส่งเดช เพียงเพราะความพอใจชั่วขณะ"
            ๑๐. เมื่อจะลงโทษทัณฑ์ ก็ "ไม่ควรลงโทษทัณฑ์ส่งเดช เพราะอารมณ์โกรธชั่วครู่"

        ข้อใคร่ครวญ ๑๐ ประการนี้ ดูไปก็ธรรมดาสามัญยิ่ง
    แต่ในทางเป็นจริง แฝงหลักปรัชญาการปกครองไว้มากมาย......

      คุณธรรม ๙ ข้อ
    ๑. กว้างขวางมีวินัย
    ๒. อ่อนโยนและสามารถ
    ๓. เคร่งขรึม แต่ไม่หมางเมิน
    ๔. แก้ปัญหาโดยระมัดระวัง
    ๕. อ่อนหยุ่น แต่เข้มแข็ง
    ๖. ตรงไปตรงมา แต่อ่อนโยน
    ๗. ไม่จุกจิกจู้จี้ แต่ยืนบนความเป็นจริง
    ๘. เข้มแข็ง และมีความสามารถที่เป็นจริง
    ๙. กล้าหาญ และคลองธรรม

        เว่ยเจิง ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับ ข้อใคร่ครวญ ๑๐ ประการ และ คุณธรรม ๙ ข้อว่า  "ไยต้องเหนื่อยกาย เพลียใจลงไปทำงานแทนบริวารด้วยเล่า  ช่วงใช้คนดีมีฝีมือ  นี่แลมรรรควิถีแห่งการปกครองโดยไม่ปกครอง !"







    บทเรียนที่ 3 คนดีงามหกประเภท และคนเลวร้ายหกประเภท

    บรรทัดฐานในการคัดเลือกบุคคล

      "การแสดงความจริงใจอย่างถึงที่สุดเป็นเรื่องอันตราย เพราะเหตุนี้เอง
    กษัตริย์สมัยโบราณ เมื่อได้ยินคำทัดทานจากผู้ใด จะก้มลงกราบขอบคุณผู้นั้น....
    "ปัจจุบัน ข้าฯ เปิดใจกว้างน้อมรับฟังคำทัดทานและคำแนะนำทั้งปวง
    ท่านทั้งหลายไม่ควรหวาดกลัว จนไม่กล้าถวายความคิดเห็น"

        .....แต่ความเห็นที่ตรงไปตรงมา ไม่แน่ว่าจะถูกต้องเสมอไป  
    ปัญหาสลับซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับกุศโลบายระดับชาติ
    แม้จะมีคนเสนอข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จะถือว่าเป็นความคิดที่วิเศษ โดยไม่พินิจพิจารณาหาได้ไม่

    คนดีงาม ๖ ประเภท
            ๑. สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าโดยปราศจากลางบอกเหตุใดๆ 
    มองเห็นผลประโยชน์ได้เสียและวิกฤตแห่งการคงอยู่หรือเสื่อมสลาย
    จึงเตรียมป้องกันไว้แต่แรก.... นี่คือ "ขุนนางปราชญ์"
            ๒. จงรักภักดีอย่างสุดใจ ถวายคำแนะนำที่ดีเสมอ
    ให้กำลังใจกษัตริยราชดำเนินตามจารีตธรรม และคลองธรรม
    เสนอกุศโลบายที่ดีเยี่ยม.....  นี่คือ "ขุนนางมโนธรรม"
            ๓. ตื่นเช้า นอนดึก แนะนำคนดีมีความสามารถ เพื่อชาติบ้านเมือง..... นี่คือ "ขุนนางภักดี"
            ๔. มองเห็นความปราชัยและอัปราชัยล่วงหน้า
    พยายามหาทางป้องกันและกอบกู้สถานการณ์ ปิดป้องจุดอ่อน.... นี่คือ"ขุนนางที่มีสติปัญญา"
            ๕. รักษากฎหมาย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
    รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่รับสินบน......นี่คือ "ขุนนางสุจริต"
            ๖. ยามแผ่นดินวุ่นวายเป็นจลาจล ไม่ประจบสอพลอ
    กล้าทูลถวายความเห็นอย่างตรงไปตรงมา... นี่คือ "ขุนนางซื่อตรง"

    คนเลวร้าย ๖ ประเภท
            ๑. เห็นแก่อามิสสินจ้าง ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่.... นี่คือ "ขุนนางขี้ฉ้อ"
            ๒. ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ นายว่า ขี้ข้าพลอย
    แอบสืบเสาะว่ากษัตริยราชชอบสิ่งใด ก็หามาถวาย.... นี่คือ "ขุนนางสอพลอ"
            ๓. หน้าเนื้อใจเสือ ให้ร้ายขุนนางตงฉิน จะสนับสนุนใครก็รายงานแต่ความดี
    จะผลักใสใคร ก็รายงานแต่ความเลว.... นี่คือ "ขุนนางกังฉิน"
            ๔. มีเลศเล่ห์เพทุบาย สามารถกลับผิดเป็นถูก กลับถูกเป็นผิด ปั้นน้ำเป็นตัว.... นี่คือ "ขุนนางให้ร้าย"
            ๕. รวมอำนาจโดยพลการ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่.... นี่คือ "ขุนนางโจร"
            ๖. ปั้นเรื่องหยาบช้า ให้ร้ายกษัตริยราช คบคิดพรรคพวกปิดหูปิดตากษัตริยราช.... นี่คือ "ขุนนางสิ้นชาติ"

    หมั่นหาบุคลากรเพิ่มเติม
        ถางไท่จงฮ่องเต้ ทรงเห็นว่า
            "ถ้าพบเอตะทัคคะ หรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน ฝีมือยอดเยี่ยมโดดเด่นเหนือคนรุ่นเดียวกัน  ให้ตกรางวัลเป็นเงิน หรือแพรไหมก็พอ จะมอบตำแหน่งยศศักดิ์ข้ามขั้นเทียบเคียงกับขุนนางอำมาตย์ในราชสำนักไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับปัญหา ขวัญและกำลังใจ และการบริหารองค์กรโดยองค์รวม"
            "การเสาะหาคนดีมีฝีมือ จะพึ่งปาฏิหารย์ไม่ได้  เชื่อว่าทุกยุคทุกสมัยล้วนมีคนดีมีฝีมือ เสนาอำมาตย์ทุกคนต้องช่วยกัน เสาะหาบุคลากรที่ดีเยี่ยมมาใช้...."






    บทเรียนที่ 4 คลองธรรมและปณิธาน



        เว่ยเจิงกล่าวว่า "ปราชญ์หรือผู้เขลา ล้วนมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง" นี่คือความจริง
    แต่ที่มันต่างกันก็เพราะว่า "ปราชญ์สามารถควบคุมตนเอง ไม่แสดงออกมากเกินไป
    แต่ผู้เขลาปล่อยตัว ตามอารมณ์จนทำร้ายตนเอง" ปัญหาทั้งหมดอยู่ตรงนี้

        ....ฐานะและอำนาจเป็นมารร้ายล่อลวงคน หากไม่ระมัดระวัง มารร้ายก็จะเข้าสิงสู่.... 
      อำนาจเมื่อตกอยู่ในมือใครแล้ว ก็ยากที่จะ ไปจำกัดอำนาจนั้น......

        ...ขุนนางที่สามารถใช้จังหวะโอกาสและความสัมพันธ์แบบต่างๆ ได้อย่างเหมาะเจาะแนบเนียน
    ก็คือ "ขุนนางขี้ฉ้อสอพลอ" 
    ขุนนางขี้ฉ้อสอพลอส่วนใหญ่จะอ่านใจจักรพรรดิได้ถูกต้อง
    จึงรีบทูลถวายแนะนำด้วยวาทศิลป์ดีเยี่ยม ฟังดูสมเหตุสมผลและจับพิรุธไม่ได้
    กษัตริยราชหากถูกห้อมล้อมด้วยขุนนางประเภทนี้ ก็จะตกอยู่ในภาวะสุดเลวร้าย
    ประเทศชาติต้องประสบชะตากรรมอย่างไร ลองคิดดูก็รู้.....

    ดังนั้นกษัตริย์จึงต้อง คือ ตั้งมั่นใน "คลองธรรม" และ "ปณิธาน"



     เป็นตัวของตัวเอง - ไม่เห็นแก่ภูตผี ญาติสนิท มิตรสหาย

        ...ไม่งมงานในไสยศาสตร์....
        ...อย่าให้ครอบครัว เข้ามาวุ่นวายเรื่องส่วนรวม....
        ...มนุษย์เราต้องรู้จักควบคุมตนเอง    ต้องมองเห็นและยอมรับความจำเป็นเสียก่อน จะได้เตรียมใจ รับมือกับความอึดอัด มีแต่เช่นนี้เท่านั้น จิตใจจึงจะปกติสุข ไม่กลัวคำครหา...
        ...จงบริหารบุคลากร โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร...



      เมตตาธรรมและกตเวทิตา - คุณสมบัติของผู้รับช่วง

      ผู้ที่ประสบความรุ่งเรืองฝากชื่อไว้บนแผ่นดินโดยมากคือปฐมกษัตริย์หรือสามาตราชรุ่นแรก 
    ส่วนผู้ที่ทำให้อาณาจักรล่มสลาย ตนเองพลอยสิ้นชื่อ โดยมากก็คือ
    กษัตริย์หรือสามาตราชผู้รับช่วงต่อ นี่เพราะเหตุใด ?...

        ปฐมกษัตริย์ หรือสามาตราชรุ่นแรกๆ ในยุคสร้างอาณาจักร
    ด้องเผชิญความยากลำบากและภยันตรายนานัปการด้วยตนเอง รู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากของพ่อแม่พี่น้อง 
    เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด จึงไม่หยิ่งยโส ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม
    ใส่ใจราชกิจงานเมือง ไม่ละเลยหรือประมาทหย่อนคลายปณิธาน...

    .อย่าง "ฉู่หยวนหวาง" ในสมัยราชวงศ์ฮั่น พระองค์ "จัดเลี้ยงสุราเลิศรส"
    เพื่อร่วมวงสนทนากับปราชญ์ 
    หรืออย่าง "โจวกงต้าน"ในเวลาทานอาหาร ถ้ามีขุนนางมาขอพบ
    "จะถ่มข้าวออกจากปาก รีบออกมาต้อนรับ" ท่านเหล่านี้ "สามารถรับฟังคำตรงอันขัดหู"
    เป็นที่นิยมยกย่องของราษฎรโดยทั่วไป

    ยามมีชีวิต สร้างคุณธรรมอันสูงส่งเป็นแบบอย่างไว้ 
    ยามตายจาก เป็นที่อาลัยระลึกถึงของอาณาประชาราษฎร์ชั่วกาลนาน....

        เมื่อถึงรุ่นลูก-หลานผู้สืบช่วง ซึ่งโดยมากอยู่ในช่วงแผ่นดินสงบ
    ประสูติในพระราชวังโอฬาร มีสตรีคอยประคบประหงม
    จนเติบโต อยู่ในฐานะสูงศักดิ์แต่ไม่รู้ภัยอันตราย
    ไม่เข้าใจความทุกข์ยากของชาวนาผู้หว่านไถทำกสิกรรม ชอบใกล้ชิดสนิทสนมคนถ่อยทราม
    หลีกห่างจากปราชญ์บัณฑิต ลุ่มหลงสุรานารี หยามหมิ่นคุณธรรมความดี ละเมิดจารีตคลองธรรม
    หมกมุ่นในกามราคะ ไม่เคารพราชศาสตร์กฎหมาย ชอบแอบอ้างอำนาจพระราชบิดา....

            "การเลือกทายาท" ในสังคมปัจจุบันซึ่งปราศจากการสืบทอดทางสายเลือดนั้น
    เป็นปัญหาที่จัดการยากยิ่งกว่า  หากเราลองย้อนคิดดู ปัญหาสำคัญอันดับแรกของทายาทคือ
    ความสามารถและคุณธรรม  ถ้าไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
    แต่ถ้ามีโครงสร้างที่มั่นคงสมบูรณ์ รากฐานก็จะไม่สั่นคลอนโดยง่าย....




    บทเรียนที่ 5 คุณธรรมผู้นำ

        "การเก็บเกี่ยวรักษาดอกผลหลังสร้างอาณาจักร" เป็นเรื่องยากลำบากกว่าการสร้างอาณาจักรมากนัก 
    ไม่ควรคิดว่า "ถ้าวางรากฐานได้อย่างดี ต่อไปจะทำอย่างไรก็ได้"
    หรือเห็นว่า "ถ้าสร้างอาณาจักรได้สำเร็จ ก็อยู่ไปได้เรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยสมองอีกต่อไป" 
    ความคิดเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออาณาจักรที่ได้สร้างขึ้นแล้ว
    เพราะหากประมาทเพียงเล็กน้อย เดินพลาดก้าวเดียว ก็มักจะไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์....

        "แสนยานุภาพทางทหาร สามรถสงบและปกป้องแผ่นดิน นี่คือหน้าที่ของกองทัพ..."
    หมายความว่า "กระหายสงครามไม่ได้  ไม่เตรียมทำสงครามก็ไม่ได้" 
    กองทัพจะถูกยุบเลิกทั้งหมดไม่ได้ แต่! จะถูกนำมาใช้บ่อยก็ไม่ได้

        ขงจื๊อกล่าวว่า "ไม่สอนราษฎรสู้รบ ก็เท่ากับทอดทิ้งราษฎร"
      ...เห็นได้ชัดว่า กำลังทหาร แสนยานุภาพทางทหารมีไว้เพื่อป้องกันและรักษาความสงบสุขของแผ่นดิน
    นี่คือ ปณิธานและภาระหน้าที่ของกองทัพ...
      ข้อความทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่า คือ
    "หลักยุทธศาสตร์ของกองทัพในการป้องกันประเทศ

        เล่าจื๊อ กล่าวว่า "รู้พอไม่อัปยศ รู้หยุดไม่พินาศ"
        ถางไท่จงฮ่องเต้ไม่ใช่กษัตริยราชที่ไร้จุดอ่อนข้อบกพร่องแม้แต่น้อย
    พระองค์เคยกระทำความผิดพลาดมากมาย แต่พระองค์ทรงถ่อมใจรับฟังคำทัดทาน คำแนะนำ
    และคำตำหนิของผู้อื่น ทั้งยังรีบปรับปรุงแก้ไขด้วย 
    ในโลกนี้จะหาใครไม่ผิดพลาดเลย เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
        เพียงแต่ว่า "คนผู้หนึ่งเมื่อได้กุมอำนาจ
    แม้ว่าจะเป็นอำนาจเพียงเล็กน้อยในขอบเขตหนึ่งๆ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็น ผู้วิเศษวิโส
    สมบูรณ์หาที่ติไม่ได้ขึ้นมาอย่างแปลกประหลาด
    เมื่อมีอำนาจมากขึ้น  ความรู้สึกดังกล่าวก็จะขยาย ออกไปเป็นเงาตามตัว..."










     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×