ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ใจฤดู - อยู่ในอารยธรรม

    ลำดับตอนที่ #1 : มิถุนายน ฤดูฝนของคนญี่ปุ่น

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 577
      0
      4 มิ.ย. 50

    มิถุนายน ฤดูฝนของคนญี่ปุ่น

    ขึ้นหัวเรื่องมาอย่างนี้อาจทำให้ใครหลายคนค้อนควับเอาได้ว่าจะมาปล่อยไก่ตัวใหญ่อะไรแถวนี้ ก็ประเทศญี่ปุ่นเขาอยู่ในเขตอบอุ่นเหนือเส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์ ต้องมีสี่ฤดู จะมามีฤดูร้อน ฝน หนาว เหมือนประเทศไทยได้กระไร

    ความจริงแล้วในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อนของประเทศเขตอบอุ่น ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดลมมรสุมพัดจากรอยต่อมหาสมุทรอินเดีย-ทะเลจีนใต้ พัดสอบเข้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออก ตั้งแต่เกาะฟอร์โมซา คือไต้หวัน ที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลของจีนแผ่นดินใหญ่จรดชายฝั่งด้านแปซิฟิกของญี่ปุ่น (ยกเว้นเขตฮอกไกโด ที่แนวมรสุมจะไปทานกับแนวลมสินค้า อันเกิดจากกระแสน้ำอุ่นเสียก่อน) ชาวจีนเรียกช่วงมรสุมนี้ว่า เหม่ยหยู(梅雨) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า ทสึยุ (โรมันจิ - tsuyu)หรือ ไบยุ (baiyu) ในตัวอักษรประกอบด้วยตัวอักษรดอกบ๊วย และฝน เหตุที่มีตัวอักษรบ๊วย หรืออุเมะ (Prunus mume.) เนื่องจากช่วงมรสุมนี้เป็นช่วงที่ผลบ๊วยสุกได้ที่พอดีกับฝนที่ร่วงหล่นลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ชาวญี่ปุ่นจึงถือโอกาสเก็บผลบ๊วยที่น้ำฝนได้ชะล้างจนสะอาดนี้มาดองเก็บเอาไว้(เรียกอุเมะโบชิ (梅干), หรือนำมาทำเหล้าบ๊วยสำหรับงานพิธี (เรียกอุเมะชู (梅酒)





    ผลบ๊วยและดอกบ๊วย

    ฤดูฝนบ๊วย หรือทสึยุนี้ กินเวลาช่วงสั้นๆราวเดือนครึ่ง ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม โดยวันแรกของฤดูฝนนี้เรียกว่า ทสึยุอิริเซนเก็น และวันสุดท้ายของฤดูฝนเรียกว่า ทสึยุอาเกะเซนเก็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่นที่คิวชู ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่กลางพฤษภาคม แต่ในภาคโตโฮคุกว่าฤดูฝนจะเริ่มก็ล่วงเข้าไปเกือบกลางเดือนมิถุนายนแล้ว สภาพอากาศในช่วงฤดูฝนบ๊วยนี้จะมีความชื้นสูง ร้อนอบอ้าวแต่ไม่เท่าเดือนสิงหาคม มีฝนตกทั่วไป ไม่ถึงขนาดพายุฝนฟ้าคะนองแต่ก็ตกพรำๆอยู่ตลอด ที่กรุงโตเกียวนั้นวัดค่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยได้ 176.0 มิลลิเมตร ในเดือนมิถุนายน

    ในเดือนนี้ไม่มีวันหยุดประจำปี ให้พักผ่อนสนุกสนานรื่นเริง ซ้ำฝนยังเทกระหน่ำนำความเฉอะแฉะมาให้ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองเดือดร้อนรำคาญ หากชาวญี่ปุ่นที่ยังดำรงประเพณีโบราณตามแบบชาติเกษตรกรรม ก็ยังอาจฉลองวันเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดฤดูใบไม้ผลิเป็นชุดฤดูร้อนอยู่ ทั้งยังเป็นเดือนที่มีการส่งโอะชูมง หรือของขวัญและจดหมายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกันในวันกึ่งกลางฤดูร้อน หรือวันที่กลางวันยาวนานที่สุด(ครีษมายัน) ส่วนคุณพ่อบ้านหรือพนักงานกินเงินเดือนทั้งหลายก็คงจะยิ้มออกได้บ้างเพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่บริษัทห้างร้านต่างๆจะแจกโบนัสครึ่งปีอีกด้วย

    ช่วงหลังมานี้สาวๆชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังนิยมแต่งงานกันในเดือนมิถุนายน โดยเชื่อกันว่าเจ้าสาวที่แต่งงานในเดือนนี้จะโชคดีและมีชีวิตแต่งงานที่ยืนยาว นัยว่าความเชื่อนี้นำเข้ามาจากวัฒนธรรมยุโรปที่เชื่อว่า เจ้าสาวเดือนมิถุนายน (Bride June) นั้นจะมีเทพีจูโนมาอวยพรให้ชีวิตรักสดชื่น ซึ่งก็ดูพิลึกอยู่หากจะคิดว่าตัวเทพีจูโนเองในเทวตำนานกรีกนั้นคือเทพีเฮร่า ที่ต้องออกไปตามไล่บี้อนุภรรยาของสามีคือเทวบดีซุสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อนั้นจะทำให้สบายใจก็ลองเชื่อไปสักตั้งยังดีกว่า(รึเปล่า?)



    เขาโคยะในม่านฝน


    ฮาโกเน่ที่ชุ่มฉ่ำ

    ด้วยความเฉอะแฉะของฝนที่ตกชุก รวมถึงการไม่มีวันหยุดราชการ หรือเทศกาล ทำให้มิถุนายนเป็นเดือนที่อาภัพและมักจะถูกลืมไปในปฏิทินของคนที่ไม่ใช่พนักงานกินเงินเดือนหรือคนเคร่งธรรมเนียม ธุรกิจท่องเที่ยวเองก็ถือว่าเป็น low-season แต่หากจะหาที่เที่ยวที่เหมาะสมท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ก็คงต้องลองไปชมทัศนียภาพของวัดวาอารามท่ามกลางเขาเขียวขจี ที่เหล่าพรรณพฤกษชาติได้รับความชุ่มชื่นจากไอฝน หนังสือแนะนำการท่องเที่ยวได้แนะนำสถานที่ที่น่าชมไว้หลายแห่ง เช่น อารามพุทธศาสนานิกายชิงกนชูแห่งเขาโคยะ (ครับ อุราโคยะของอาริสึงาวะ โซราตะ ใน X1999 นั่นแหละ) ซึ่งจะเห็นพระอารามเด่นสง่าท่ามกลางม่านฝนที่ปรายลงมาจับยอดป่า หรือไปแช่น้ำแร่อนเซ็นที่ฮาโกเน่ ซึ่งท่านจะได้ยลโฉมทุ่งดอกอะจิไซ(hydrangea) ดอกไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นบริวารของอาเมะวาราชิ-ภูตพิรุณ แช่น้ำแร่ร้อนๆ จิบเหล้าบ๊วยไปพลางชมฝนที่ร่วงหล่นลงมาไม่ขาดสาย


    ดอกอะจิไซ หรือไฮเดรนเยีย

    เดือนมิถุนายนก็ผ่านพ้นไปพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไปแล้วครึ่งปี จะญี่ปุ่นหรือไทยก็ดูเหมือนว่าฝนจะโปรยลงมาอย่างไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าใดนัก บางปีก็แล้ง บางปีก็ท่วม สมดุลธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางวิบัติพร้อมกับโลกที่ร้อนขึ้นทุกที หากพิจารณาดูดีๆแล้ววัฒนธรรมประเพณีที่ขึ้นตรงกับฤดูกาลอาจต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนไปในสักวัน


    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

    จุลสาร DACO ฉบับที่ 44 วันที่ 20 พ.ค. – 20 มิ.ย. 2550
    http://en.wikipedia.org/wiki/Tsuyu
    http://en.wikipedia.org/wiki/Ume
    http://www.japan-guide.com/e/e2277.html

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×