ประวัตินักวิทยาศาสตร์ไทย - ประวัตินักวิทยาศาสตร์ไทย นิยาย ประวัตินักวิทยาศาสตร์ไทย : Dek-D.com - Writer

    ประวัตินักวิทยาศาสตร์ไทย

    ดาราศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตามที่สยามประเทศได้มีความขัดแย้งกับอังกฤษและฮอลันดา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศมหาอำนาจใน.....

    ผู้เข้าชมรวม

    1,742

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    1.74K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  31 พ.ค. 53 / 20:50 น.

    แท็กนิยาย

    นักวิทยาศาสตร์



    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้

      ดาราศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

     

    สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

    ตามที่สยามประเทศได้มีความขัดแย้งกับอังกฤษและฮอลันดา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น โดยมีมูลเหตุมาจากการค้าขายทางเรือ ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตระหนักถึงภัยดังกล่าว จึงได้ปรึกษาขุนนางผู้ใหญ่เพื่อพิจารณาหาพันธมิตรที่เข้มแข็งมาถ่วงดุลอำนาจของทั้งอังกฤษและฮอลันดา โดยในเวลานั้น ฝรั่งเศสเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงโปรดที่จะสร้างสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ [2] โดยฝ่ายสยามได้ส่งทูตไปฝรั่งเศสถึงสามชุดด้วยกัน โดยชุดแรกออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่ เรือที่โดยสารไปเกิดอับปางบริเวณเกาะมาดาคัสการ์ คณะทูตไทยชุดแรกนี้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตทั้งหมด ชุดที่สองออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๒๖ ชุดนี้เดินทางถึงฝรั่งเศส แต่เนื่องจากคณะนี้ไม่ไช่คณะทูตเจริญสัมพันธไมตรีโดยตรง รัฐบาลฝรั่งเศสให้การตอบรับ แต่ไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แต่อย่างน้อยฝรั่งเศสได้รับทราบว่า สยามได้เคยแต่งตั้งและส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ประสบอุบัติเหตุ

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
       

      ดาราศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

       

      สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

      ตามที่สยามประเทศได้มีความขัดแย้งกับอังกฤษและฮอลันดา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น โดยมีมูลเหตุมาจากการค้าขายทางเรือ ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตระหนักถึงภัยดังกล่าว จึงได้ปรึกษาขุนนางผู้ใหญ่เพื่อพิจารณาหาพันธมิตรที่เข้มแข็งมาถ่วงดุลอำนาจของทั้งอังกฤษและฮอลันดา โดยในเวลานั้น ฝรั่งเศสเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงโปรดที่จะสร้างสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ [2] โดยฝ่ายสยามได้ส่งทูตไปฝรั่งเศสถึงสามชุดด้วยกัน โดยชุดแรกออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่ เรือที่โดยสารไปเกิดอับปางบริเวณเกาะมาดาคัสการ์ คณะทูตไทยชุดแรกนี้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตทั้งหมด ชุดที่สองออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๒๖ ชุดนี้เดินทางถึงฝรั่งเศส แต่เนื่องจากคณะนี้ไม่ไช่คณะทูตเจริญสัมพันธไมตรีโดยตรง รัฐบาลฝรั่งเศสให้การตอบรับ แต่ไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แต่อย่างน้อยฝรั่งเศสได้รับทราบว่า สยามได้เคยแต่งตั้งและส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ประสบอุบัติเหตุ

      เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงทราบว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงแต่งตั้งและส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการแล้วแต่ประสบอุบัติเหตุ พระองค์จึงทรงเห็นสมควรแต่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอย่างเป็นทางการให้ถูกต้องตามประเพณี จึงทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นราชทูต พร้อมกับบาทหลวงคณะเจซูอิต

      คณะทูตฝรั่งเศสมาถึงสยามเมื่อ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ และในวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดกล้าให้มีการต้อนรับ โดยเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตได้อัญเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มาถวายแก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ตามบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ระบุว่า

      "พระเจ้าแผ่นดินสยามประทับ ณ สีหบัญชร ที่สูงมาก การจะยื่นพระราชสาสน์ถวายให้ถึงพระองค์ท่านนั้น จำเป็นต้องจับคันพานที่ปลายด้าม และชูแขนขึ้นสูงมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นว่าการถวายพระราชสาสน์ในระยะห่างมากนั้นเป็นการไม่สมเกียรติ โดยควรที่จะถวายให้ใกล้พระองค์มากที่สุด ราชทูตจึงจับพานที่ตอนบน และยื่นขึ้นไปเพียงครึ่งแขนแค่นั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงทราบความประสงค์เหตุใดราชทูตจึงกระทำเช่นนั้น จึงทรงลุกขึ้นยืนพร้อมกับแย้มพระสรวล และทรงก้มพระองค์ออกมานอกสีหบัญชรเพื่อรับพระราชสาสน์ตรงกึ่งกลางทาง แล้วทรงนำพระราชสาสน์นั้นจบเหนือเศียรเกล้า อันเป็นการถวายพระเกียรติให้เป็นพิเศษ"

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

                ในการเข้าเฝ้าของราชทูตฝรั่งเศสครั้งนี้ นอกจากจะถวายพระราชสาสน์แก่สมเด็จพระ-นารายณ์มหาราชแล้ว ทางฝรั่งเศสได้จัดเครื่องราชบรรณาการมาถวายโดยมีมูลค่าถึงสี่แสนปอนด์ โดยหนึ่งในบรรดาเครื่องราชบรรณาการที่จัดมาถวายแก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช "แผนที่ดาราศาสตร์ เป็นลูกโลกทำด้วยทองแดงปิดทอง เส้นผ่าศูนย์กลางสองฟุตครึ่ง ฐานทำด้วยเงินอย่างงดงาม ตอนฟ้านั้นมีรอบตัว และมีสัตว์ 12 ตัวประจำฤดู มีดาว มีเดือนพร้อมทุกอย่าง ดาวและเดือนทำด้วยพลอยสีต่างๆ ใหญ่เล็กตามส่วน ใช้เครื่องจักรหมุนโลกอยู่ภายใน จะต้องการดูวัน เดือน ปี แลเวลาหรือจะดูเดือนดาวบนอากาศก็ตรงกับวันเดือนปีนั้นๆ แลบอกเวลาสุริยุปราคา แ ละจันทรุปราคา ในขณะโลกหมุนไปโดยชัดเจนแน่นอนกับแผนที่ภูมิศาสตร์ขนาดเท่ากัน บอกเวลาน้ำทะเลขึ้นลง พร้อมกับแสดงทวีปต่างๆไว้พร้อม" [3] ทั้งนี้ทางฝรั่งเศสจัดสิ่งนี้มาถวายเพราะทราบดีว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสนพระทัยวิชาดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์มาก

       

      ลูกโลกดาว (celestial globe) ที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องราชบรรณาการทางดาราศาสตร์

       

          เมื่อคณะทูตฝรั่งเศสจะเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะทูต (นับเป็นชุดที่ ๓) อัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ (หลังเหตุการณ์จันทรุปราคา) โดยมีออกพระวิสูทธสุนทร (หรือโกษาปาน) เป็นเอกอัครราชทูตสยาม โดยเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๒๙ และคณะทูตสยามได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๙

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

      จันทรุปราคา

      ในคณะราชทูตที่มาเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๒๒๘ ฝรั่งเศสได้ส่งบาทหลวงคณะเจซูอิตจำนวน ๖ ท่านเดินทางร่วมมาด้วย โดยคณะบาทหลวงดังกล่าวเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ด้านภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ โดยในช่วงเวลาที่อยู่ในราชอาณาจักรสยาม คณะบาทหลวงเจซูอิตได้สังเกตการณ์และบันทึกจันทรุปราคาไว้ถึง ๒ ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ และเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๒๒๙ ตามลำดับ[5]

      โดยในครั้งแรกนั้นมีภาพเขียนบันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวง ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ เวลา ๐๓:๐๐ นาฬิกา

      ภาพเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวง
      ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘

       

      โดยในครั้งนั้นบาทหลวงคณะเจซูอิตได้เตรียมกล้องโทรทรรศน์ยาว ๕ ฟุตไว้ให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทอดพระเนตรที่ช่องพระบัญชรที่เปิดออกสู่ลานพระระเบียง นอกจากนี้มีผู้คนราว ๔๖,๐๐๐ ถึง ๔๗,๐๐๐ คนซึ่งทำการล้อมป่าและภูเขาในการล่าช้าง ได้ชมจันทรุปราคาเต็มดวงด้วย โดยคราสจับเต็มดวงเมื่อเวลา ๔:๒๒:๔๕ นาฬิกา นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงได้ทอดพระเนตรด้วยกล้องส่องดาวขนาด ๑๒ ฟุตอีกด้วย [4] สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแสดงความพระราชหฤทัยเป็นพิเศษเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นจุดจ่างๆ บนดวงจันทร์จากกล้องส่องดาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประจักษ์ว่าแผนที่อุปราคาที่หอดูดาวที่กรุงปารีสทำขึ้นนั้นมีความถูกต้องตามที่เป็นจริงทุกประการ

       

       

       

       

       

      หอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย

      การเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสนั้น เกิดขึ้นในช่วงห้าปีสุดท้ายของการครองราชย์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดที่จะประทับที่เมืองลพบุรี โดยจะเสด็จประทับนาน ๘ ถึง ๙ เดือนต่อปี ดังนั้นในช่วงพ.ศ. ๒๒๒๘ ถึง ๒๒๓๐ ที่บาทคณะหลวงจซูอิตได้เข้ามาดำเนินกิจกรรมและเผยแพร่ศาสนาและความรู้ด้านดาราศาสตร์ในราชอาณาจักรสยาม พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าพระราชทานสร้างหอดูดาว (พร้อมกับโบสถ์และที่พัก) ให้แก่บาทคณะหลวงจซูอิต ณ วัดสันเปาโล เมืองลพบุรี ซึ่งถือได้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย

      ภาพสเกตของหอดูดาวทรง 8 เหลี่ยม ณ วัดสันเปาโล ลพบุรี

       

       

      บาทหลวงเดอฟองเตอเนย์ได้เขียนบรรยายหอดูดาว ณ วัดสันเปาโล ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ ไว้ว่า "อาคารหลังนั้นมีความงดงามมากด้านสถาปัตกรรม สูงจากพื้นดินถึงแปดฟุต และชั้นบนของหอดูดาวนั้นก็สร้างเสร็จแล้ว"


       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

      สุริยุปราคา

      นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาถึงสองครั้งในรัชสมัยของพระองค์แล้ว ในปีค.ศ. 1688 (พ.ศ. ๒๒๓๑) ยังได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาขึ้นในวันที่ ๓๐ เมษายน สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนั้น สังเกตเห็นได้ในประเทศอินเดีย จีน ไซบีเรีย และทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเส้นทางเงามืด จึงสังเกตเห็นได้เป็นสุริยุปราคามืดบางส่วน

      ที่มา: สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th/royal/narai.html

       

      สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี โดยมีภาพวาดบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว โดยปัจจุบันภาพต้นฉบับนี้เก็บรักษาอยู่ในพิพพธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงปารีส โดยในภาพจะเห็นบาทหลวงใช้เทคนิครับภาพดวงอาทิตย์มาปรากฏบนฉากสีขาวนอกกล้อง เพื่อให้สังเกตภาพดวงอาทิตย์ได้ โดยไม่เป็นอันตรายแก่นัยน์ตา และจากภาพจะเห็นขุนางไทยที่นั่งในแถวซ้ายมือคนแรกนั้นกล่าวกันว่าเป็นพระเพทราชา และสันนิษฐานได้ว่าขุนนางไทยแต่งกายชุดขาวที่กำลังหมอบสังเกตคราสอย่างใกล้ชิดท่ามกลางคณะบาทหลวงฝรั่งเศสก็คือ ออกญาวิชาเยนต์

       

       

       

      สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประชวรในขณะประทับ ณ เมืองลพบุรี และได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ หลังจากทรงพระเนตรสุริยุปราคา (๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๒๓๑) ได้ประมาณสองเดือนเศษ

      ภาพเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา
      ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.
                            

                                                                                               ๒๒๓๑  

       

       

          ดาราศาสตร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

       

      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

       

      พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

      ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงคำนวณและพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้อย่างถูกต้องเป็นเวลาล่วงหน้าถึงสองปี จนเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวไทยและประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น เพื่อเป็นการยกย่องพระปรีชาของพระองค์ท่าน รัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความเห็นชอบอนุมัติให้ "วันที่ ๑๘ สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา และได้ประกาศยกย่องว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

      องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นบุคคลสำคัญของโลก

      วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่ง (วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ จนเป็นที่สรรเสริญของอารยประเทศ เป็นความภาคภูมิใจของปวง

      พสกนิกรชาวไทยทุกคนที่ได้มีกษัตริย์นักวิทยาศาสตร์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี

             องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นบุคคลสำคัญของโลก เพื่อเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ นับว่าเป็นคนไทยลำดับที่ ๑๕ ที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

      ดาวหางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ในสมัยโบราณ ชาวบ้านต่างมีความเชื่อว่าดาวหางเป็นลางบอกเหตุร้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นว่าดาวหางเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ตามหลักวิทยาศาสตร์

       

      พระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) ณ จังหวัดเพชรบุรี

      หอชัชวาลเวียงชัย หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

       

          พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอดูดาวไว้บนพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยพระราชทานนามว่า "หอชัชวาลเวียงชัย" หรือ "กระโจมแก้ว" โดยในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีปรากฏการณ์ดาวหางโคจรผ่านประเทศสยามถึง ๓ ดวง [8]

      ดาวหางฟลูเกอร์กูส์ เป็นดาวหางขนาดใหญ่ มีหาง ๒ หาง ปรากฏให้ชาวไทยได้เห็นในแผ่นดิน พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานนับปี ตั้งแต่ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๕๓ ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๕๔ โดยในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ทั้งนี้ดาวหางนี้พบโดยชาวฝรั่งเศสชื่อ ฟลูเกอร์กูส์ (Flaugerguess)

      ดาวหางโดนาติ เป็นดาวหางขนาดใหญ่สวยงานมาก ปรากฏขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ดาวหางนี้พบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ชื่อ โดนาติ (Donati)

      ดาวหางเทบบุท เป็นดาวหางขนาดใหญ่ และมีหางที่ยาวกว่าดาวหางโดนาติ โดยปรากฏขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ดาวหางดวงนี้พบโดยนักดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ชื่อ เทบบุท (Tebbutt)

      ดาวหางฟลูเกอร์กูส์

      ดาวหางโดนาติ

      ดาวหางเทบบุท

       

       

       

       

       

       

      ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐาน

             ในเชิงวิทยาการด้านดาราศาสตร์ ระบบเวลามาตรฐานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยเป็นหอนาฬิการักษาเวลามาตรฐานในประเทศสยาม ซึ่งเป็นหอตึกขนาด ๕ ชั้น โดยชั้นบนสุดติดนาฬิกาขนาดใหญ่สี่ด้าน

             เหตุผลที่พระองค์ทรงโปรดให้สร้างหอนาฬิกาหลวงและสถาปนาระบบเวลามาตรฐานนั้น ก็เพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วิชาการ อันจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎร สมณชีพราหมณ์ในการกำหนดกิจพิธีกรรม และที่สำคัญระบบเวลามาตรฐานเป็นหัวใจในการดำเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ การเดินเรือในทะเล หรือการตำแหน่งเส้นละติจูด (เส้นรุ้ง) และเส้นลองจิจูด (เส้นแวง) ของเรือในทะเล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ฐานเวลาที่สอดคล้องและเดินเป็นจังหวะที่เท่ากันสำหรับหาความแตกต่างระหว่างเส้นลองทิจูดของตำแหน่งเรือและเส้นลองทิจูดที่นาฬิกาบนเรือใช้อ้างอิง โดยใช้กล้องวัดแดด (sextant) วัดมุมสูงของดวงอาทิตย์ในระหว่างเที่ยงวัน

             พระองค์ทรงมีความชำนาญในการใช้กล้องวัดแดด เพื่อหาตำแหน่งแลตติจูดและลองทิจูดของเรือกลไฟพระที่นั่งกลางทะเลและยังได้ทรงใช้วัดตำแหน่งที่ตั้งพลับพลาหาดหว้ากอ เพื่อการตรวจสอบก่อนเกิดคราสในวันจริงด้วยพระองค์เอง อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงศึกษาวิชาการชั้นสูงทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ตั้งแต่ครั้งเมื่อยังทรงผนวช

       

       

      กล้องวัดแดด (sextant) และแผนที่ดาวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ศึกษาดาราศาสตร์ตั้งแต่ครั้งทรงผนวชอยู่
      ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร

       

                นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ เนื่องจากพระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานในประเทศสยาม (ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐) ขึ้นก่อนหน้าที่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจของโลกในสมัยนั้นจะประกาศใช้ด้วยวิธีเดียวกันในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ [6] และในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ นักดาราศาสตร์ได้ตกลงกำหนดเส้นแวงผ่านเมืองกรีนิชเป็นเส้นศูนย์องศา เพื่อการเทียบเวลาโลก

                พระองค์ได้ทรงปฏิบัติการค้นคว้าและทรงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นเป็นหอนาฬิกาหลวง พระองค์ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานดังนี้ [1]

           ๑. ทรงตรวจวัดความสูงของดวงอาทิตย์ และทรงคำนวณทางดาราศาสตร์ทุกวัน

           ๒. ทรงกำหนดเส้นแวงให้ผ่านจุดหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเป็นเส้นแวง ๑๐๐ องศาตะวันออกเป็นเส้นแวงหลักของประเทศไทยในสมัยนั้น อันแสดงถึงพระอัจฉริยะของพระองค์ (ทั้งนี้ได้มีการวิจัยพบว่า หอนาฬิกาหลวงที่ทรงใช้สังเกตการณ์การเริ่มต้นแสงทองของวันใหม่ทางดาราศาสตร์นั้นจะอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ณ กรุงเทพ ซึ่งมีค่าเส้นแวงเป็น ๑๐๐ องศา ๒๙ ลิปดา ๕๐ พิลิปดาตะวันออก แต่พระองค์ได้ทรงแก้เวลากลับไปสู่ระบบของเส้นแวง ๑๐๐ องศาพร้อมกันไปในตัว เมื่อมีการตรวจสอบกับแผนที่ประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าพระราชวังนครคีรี ที่พระองค์ทรงโปรดให้สร้างขึ้นบนเขาวัง เมืองเพชรบุรีนั้น อยู่ในบริเวณเส้นแวง ๑๐๐ องศาผ่าน จึงมีข้อสันนิฐานได้ว่า เหตุที่โปรดให้สร้างพระราชวังนครคีรีขึ้นนั้น ก็เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้สถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นแล้ว และกำหนดให้เวลาท้องถิ่นของ "พระนครศีรี" เป็นเวลามาตรฐานของประเทศไทยในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งนี้ในปัจจุบัน เราใช้เวลาท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชานีเป็นเวลามาตรฐานของประเทศไทย) [9]

           ๓. ทรงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นหอตึกขนาด ๕ ชั้น โดยชั้นบนสุดติดนาฬิกาขนาดใหญ่สี่ด้าน ณ จุดที่เส้นแวง ๑๐๐ องศาตะวันออก เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐาน

           ๔. โปรดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ชุดแรกของไทย ในตำแหน่ง พันทิวาทิตย์ ทำหน้าที่เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์ พระองค์ทรงคำนวณเวลาการเกิดปรากฏการณ์ย่ำรุ่ง และย่ำค่ำ เป็นรายวันทุกวันนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยพระราชทานให้กับเจ้าหน้าที่หอนาฬิกาหลวง (ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย) ในพระบรมมหาราชวังสังเกตปรากฏการณ์นั้น แล้วดำเนินการตั้งเวลาให้นาฬิกาหลวงตามเวลาที่ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า และได้ทรงใช้ระบบเวลานี้เป็นหลักในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา

       

       

       

       

        กระดานปักขคณนา [8]

               กระดานปักขคณนาเป็นกระดานไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับใช้เดินปักษ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชทรงคิดค้นวิธีคำนวณปักษ์ โดยอาศัยหลักตาราสารัมภ์มอญ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ ให้พุทธบริษัทรักษาอุโบสถศีลและพระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม ให้ถูกต้องตามคติของดวงจันทร์ คือ ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เพ็ญ จันทร์ครึ่งดวง และดวงจันทร์ดับพอดี ปฏิทินปักขคณนายังคงใช้กันอยู่ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายจนทุกวันนี้

      กระดานปักขคณนา

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

      จันทรุปราคา

               ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยได้เสด็จไปนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ ครั้นวันรุ่งขึ้นตรงกับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ก็เกิดจันทรุปราคา โดยพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตร ทั้งนี้ในเอกสารพระราชกพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จะมิได้ระบุว่าพระองค์ได้ทรงทำการคำนวณพยากรณ์การเกิดจันทรุปราคาในครั้งนั้นหรือไม่ แต่จากการที่พระองค์ท่านทรงเป็นนักดาราศาสตร์ย่อมที่จะทรงทราบล่วงหน้าว่าจะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้น

      กล้องโทรทรรศน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

       

       

      ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ล่วงหน้าถึง ๒ ปี

              พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและพยากรณ์ไว้ว่า ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ วันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคามืดหมดดวง โดยคราสจะเริ่มจับ ณ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๔ นาที และคราสจะจับเต็มดวงเมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๐ วินาที โดยคราสเต็มดวงเป็นเวลา ๖ นาที ๔๕ วินาที ซึ่งพระองค์พยากรณ์ว่าจะเห็นได้ชัดที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคิรีขันธ์ ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง โดยคำนวณและพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ถึง ๒ ปี

            ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา พระองค์ทรงคำนวณตำแหน่งของดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกภายใต้แรงรบกวนจากทั้งดวงอาทิตย์ และจากทั้งโลกและตัวดวงจันทร์เองเมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันทราบกันในชื่อ "ปัญหาสามวัตถุ" (three body problem) และเมื่อรวมผลรบกวนจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ จะเรียกว่า "ปัญหานานาวัตถุ" (n body problem) ซึ่งขั้นตอนการคำนวณของพระองค์ สามารถลำดับได้เป็น ๓ ขั้นตอน [

            ๑. การคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทุกวัน โดยใช้ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ (Theory of Lunar Motion) ซึ่งพระองค์ได้สั่งซื้อตำราดังกล่าวจากต่างประเทศ ทั้งนี้มีการสันนิฐานว่าพระองค์ทรงศึกษาในเรื่องทฤษีของดวงจันทร์ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นเวลา ๕ ปีล่วงหน้าก่อนการเกิดสุริยุปราคา

           ๒. หลังจากทรงทราบตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์แล้ว จะต้องทรงทำการคำนวณเพื่อตรวจสอบว่าจะมีโอกาสเกิดอุปราคาหรือไม่ ในปีใด

           ๓. เมื่อทรงทราบจากลำดับขั้นที่สองว่าจะเกิดอุปราคาขึ้น จะทรงคำนวณหารายละเอียดของการเกิดอุปราคาว่าจะมีลักษณ์คราสเต็มดวงหรือชนิดวงแหวนหรือคราสเพียงบางส่วน โดยจะรวมไปถึงสถานที่ที่จะสังเกตการณ์ และเวลาของการเกิดคราส

      ตำราทางดาราศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา
      (ภาพจากสำนักราชเรขาธิการในพระบรมมหาราชวัง )

       

             ความจริงแล้วการคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายที่เป็นตัวแปรต้นตามวิธีของไทยใช้กัน ที่เรียกว่า "คัมภีร์สุริยยาตร์" ซึ่งใช้ในทางโหราศาสตร์จนถึงปัจจุบัน แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ในการคำนวณทางดาราศาสตร์ได้ เพราะถึงแม้จะทำการคำนวณเป็นองศาลิปดา แต่ค่าดังกล่าวไม่ได้โดยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ตรีโกณมิติ เพื่อสะดวกต่อการคำนวณให้ได้ค่าตำแหน่งโดยประมาณสำหรับงานด้านโหราศาสตร์

             จากการที่พระองค์ทรงพระปรีชาในหลายด้านทั้งในด้านภาษา ศาสนา และโหราศาสตร์ เมื่อพระองค์ทรงคำนวณและพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้าถึง ๒ ปี ซึ่งผลก็เป็นไปตามที่พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ ซึ่งอาจทำให้มีความเข้าใจว่า พระองค์ท่านทรงใช้วิชาโหราศาสตร์เป็นหลักในการคำนวณนั้น ได้มีการวิเคราะห์และวิจัยแล้วว่า พระองค์ท่านทรงใช้วิชาการด้านดาราศาสตร์ในการคำนวณ โดยถึงแม้ว่าในทางโหราศาสตร์จะสามารถพยากรณ์การเกิดอุปราคาได้ แต่ไม่อาจบอกถึงรายละเอียดในเชิงลึกได้เท่ากับทางดาราศาสตร์ในสามประเด็น

      ๑. ลักษณะของอุปราคาที่เกิดขึ้นเป็นแบบใด (คราสเต็มดวง หรือ คราสวงแหวน หรือ คราสบางส่วน)

      ๒. สถานที่สังเกตการณ์ ทั้งนี้ในการเกิดคราสนั้น สถานที่ของผู้สังเกตการณ์ที่แตกต่างกัน (ห่างไกลกันออกไป) อาจทำให้เห็นลักษณะของคราสนั้นๆ แตกต่างกันไปด้วย

      ๓. เวลาของการเกิดคราสที่ระยะขั้นตอนต่างๆ โดยการคำนวณการเกิดคราสนั้น จะต้องบอกได้ถึงพัฒนาการของการเกิดตามลำดับ โดยเป็นเวลาตั้งแต่เริ่มต้นสัมผัสจนกระทั่งเมื่อคลายหมดดวง เมื่อทำการสังเกตจากสถานที่สังเกตการณ์

              ทั้งนี้การคำนวณการเกิดคราสเพื่อให้ได้ผลถูกต้องทั้งสามประเด็นในข้างต้นนั้น ผู้คำนวณจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก

                อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์) ได้กล่าวไว้ดังนี้ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณไว้เมื่อปีขาลอัฐศก ว่า ในปีมะโรงสัมฤกธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวงเมื่อเดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ ซึ่งยากนักที่จะได้เห็นในพระราชอาณาจักร ด้วยวิธีโหราศาสตร์ได้ทรงสะสมมานานตามสารัมภ์ไทยสารัมภ์มอญ แต่ตำราอเมริกันฉบับเก่าและตำราอังกฤษเป็นหลายฉบับได้ทรงคำนวณสอบสวนต้องกัน" ซึ่งมีข้อสันนิฐานว่าพระองค์ทรงใช้ทั้งดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ตรวจทานซึ่งกันและกัน

       

       

      สุริยุปราคาเต็มดวง ณ หว้ากอ

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและพยากรณ์ไว้ว่า ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ วันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคามืดหมดดวง โดยจะเห็นได้ที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์

      บริเวณค่ายหลวง ที่ หว้ากอ พ.ศ. ๒๔๑๑ พระตำหนัก ๓ ชั้นที่ประทับสร้างด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก มุงจาก และใบตาลแห้ง รั้วทำด้วยกิ่งไม้

       

             ด้วยพระราชประสงค์ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณ จึงมีพระบรมราชโองการ นำขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคไปยังตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงเชิญแขกต่างประเทศ ได้แก่ เซอร์ แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ มิสเตอร์อาลาบาสเตอร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร.บรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน คณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คณะผู้โดยเสด็จฯ ฝ่ายไทยจำนวนมาก รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕) ขณะพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา

            พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ออกจากท่านิเวศวรดิษฐ์ เวลา ๔:๕๐ นาฬิกา วันศุกร์ที่ ๗ สิงหาคม โดยแวะที่เมืองสมุทรปราการ และเสด็จถึงค่ายหลวงที่หว้ากอ ในเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา ของวันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม ในการเสด็จครั้งนี้มีเรือที่ตามเสด็จพระราชดำเนินได้แก่ เรืออรรคเรศรัตนาสน์ เรือสยามูปรัสดัมภ์ เรือยงยศอโยชณิยา และเรือเขจรชลคดี นอกจากนี้ยังมีเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ ได้แก่ เรือเฟรลอง และเรือซาร์เตอร์ที่มาจอดร่วมอ่าวกับขบวนเรือพระที่นั่งในวันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม โดยในวันดังกล่าว เซอร์ แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์และคณะ เดินทางโดยเรือไปโหมาถึงหว้ากอ พร้อมเรือรบของอังกฤษ ๒ ลำ คือ เรือกราสฮอปเปอร์และเรือซาเทลไลท์

       

       

       

       

                วันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม พระองค์เสด็จออกทรงกล้อง ณ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓ นาที แต่ท้องฟ้าเป็นเมฆฝนปกคลุมไปในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลย จนเวลาล่วงมาถึงเวลา ๑๐ นาฬิกา ๑๖ นาที กลุ่มเมฆจึงจางสว่างออกไปเห็นดวงอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าคราสเริ่มจับแล้ว จึงประโคม เสด็จสรงมุรธาภิเษก ครั้นเวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๐ นาที แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย จนเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๐ วินาที คราสจับสิ้นดวง เวลานั้นมืดเป็นเหมือนกลางคืนเวลาพลบค่ำ คนที่นั่งใกล้ๆ ก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน อุปราคาจับหมดดวงในเวลานี้กินเวลาได้ ๖ นาที ๔๕ วินาทีแล้ว ทันใดนั้นก็มีแสงสว่างจัดพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์เหมือนแสงสว่างเรืองอย่างจัด รัศมีที่อยู่รอบดวงและรัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาก็อันตรธานไปทันที

       

       

      สุริยุปราคาเต็มดวงในวันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑
      ณ บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภาพโดย ขุนสาทิศลักษณ์)

       

            ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและพยากรณ์การเกิดสุริยุปราชาได้ถูกต้องและแม่นยำ โดยจากบันทึกรายงานสุริยุปราคาเต็มดวงจากทั้งของฝ่ายไทย จดหมายเหตุของเซอร์ แฮรี ออด และรายงานของคณะนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสได้ระบุดังนี้ จากบันทึกพระราชกระแสของพระองค์ สุริยุปราคาเต็มดวงแท้จริงเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๒ วินาที จากจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ คือ ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๐ วินาที และจากจดหมายเหตุของเซอร์ แฮรี ออด ระบุเวลาประมาณ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๕ นาที สำหรับรายงานของนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส ระบุเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๙ นาที ๒๓ วินาที ส่วนเวลาที่อุปราคาจับหมดดวงเป็นระยะเวลาที่ทรงพยากรณ์ไว้ว่าจะมีระยะเวลา ๖ นาที ๔๕ วินาทีนั้น ก็ตรงตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ โดยไม่คาดเคลื่อน และค่าเวลาดังกล่าวก็ตรงกับบันทึกของเซอร์ แฮรี ออด และตรงกับรายงานของคณะนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส

          ทั้งนี้พระองค์ท่านเสด็จลงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ประมาณบ่ายสามโมง วันพุธที่ ๑๙ สิงหาคม กลับกรุงเทพ โดยเสด็จถึงกรุงเทพ ในวันศุกร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๑๑

      อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปัจจุบัน

       

       

       

       

       

       

       

       

        ดาราศาสตร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

       

              รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงถึง ๒ ครั้ง (ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๔ และ ครั้งที่ ๕ ตามลำดับ ที่ปรากฏขึ้นในอาณาจักรสยาม) โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ (หรือ ค.ศ. 1955) และครั้งที่สองในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ (หรือ ค.ศ. 1995) ตามลำดับ

       

       

       

       

       

       

       

       

      สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ (หรือ ค.ศ. 1955)

          จากการที่ได้มีการคำนวณและพยากรณ์โดยหมู่นักดาราศาสตร์ว่าสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้จะกินเวลานานถึง ๗ นาที ซึ่งนับว่านานมากและนานกว่าเมื่อครั้ง ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ (หรือ ค.ศ. 1929) ที่ปัตตานี (โดยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทอดพระเนตรปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยพระองค์เอง)

       

      ตารางแสดงคาบเวลาของสุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 681 ถึง 2204

       

            สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้สังเกตได้หลายแห่ง อาทิ ประเทศศรีลังกา บางส่วนของประเทศพม่า ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาคกลางของประเทศเวียตนาม และบางส่วนของประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้คราสเริ่มต้นเมื่อเวลา 8:33 นาฬิกา ที่ในมหาสมุทรอินเดียบริเวณทางทิศตะวันออกของทวีปแอฟริกา และทางตะวันตกของเกาะลังกา (ประเทศศรีลังกา) และไปสิ้นสุด ณ เวลา 13:47 นาฬิกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของเกาะโซโลมอน

       

       

             สำหรับประเทศไทย สุริยุปราคาเต็มดวง เริ่มปรากฏจากทางตะวันตก ณ เวลา 10 นาฬิกา 17 นาที และไปหมดทางตะวันออก ณ เวลา 10 นาฬิกา 37 นาที นาน 6 นาที จังหวัดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

            อนึ่งในครั้งนี้มีคณะนักดาราศาสตร์ต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทย เพื่อสังเกตการณ์และบันทึกการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง โดยมีศาสตราจารย์ชาร์ล เอช สไมลี่ (Charles H. Smiley) จากมหาวิทยาลัยเบราน์ ในโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้คณะนักดาราศาสตร์ได้ตั้งสถานที่สังเกตการณ์ ณ บริเวณพระราชวังบางปะอิน ซึ่งอยู่เหนือแนวกลางสุริยุปราคาเล็กน้อย

       

      ศาสตราจารย์ชาร์ล เอช สไมลี่ หัวหน้าคณะนักดาราศาสตร์

       

            ศาสตราจารย์ชาร์ล เอช สไมลี่ เป็นศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และหัวหน้าแผนกดาราศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเบราน์ (Brown University) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอดูดาวแลด ทั้งนี้ศาสตราจารย์ชาร์ล เอช สไมลี่ เป็นหัวหน้าคณะสำรวจและสังเกตการณ์สุริยุปราคาถึง 14 ครั้ง ในประเทศต่างๆ อาทิ เปรู แคนาดา บราซิล ไทย ปากีสถาน และในสหรัฐอเมริกา

           ทั้งนี้คณะนักดาราศาสตร์ชุดนี้ได้ติดต่อประสานงานกับกองทัพเรือ เรื่องสถานที่สังเกตการณ์ เนื่องจากมีนายทหารเรือไทยเคยไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเบราน์ นอกจากนี้ยัง เพื่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไทย เพื่อสนับสนุนการสังเกตการณ์ในกรณีที่ท้องฟ้ามีเมฆฝน

          โอกาสนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา เสด็จราชดำเนินทอดพระเนตรอาทิตย์ดับที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

       

       

      สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ (หรือ ค.ศ. 1995)

               สุริยุปราคาเต็มดวง ครั้งที่ ๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปรากฏขึ้นในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยผ่านประเทศไทยในหลายจังหวัด โดยเริ่มต้นจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากจังหวัดตาก ผ่านกำแพงเพชร นครสวรรค์ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านนครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่จังหวัดสระแก้ว รวม 11 จังหวัด 34 อำเภอ ทั้งนี้คราสที่เกิดเริ่มต้น ณ เวลา 10 นาฬิกา 42 นาที ที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

       

       

       

       

      เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวงผ่านประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ (หรือ ค.ศ. 1995)

       

      ตารางแนวคราสเต็มดวง

      จังหวัด

      อำเภอ

      เริ่มมืดเต็มดวง ณ ที่ว่าการอำเภอ

      เต็มดวงนาน (นาที:วินาที)

      1.ตาก

      1.แม่ระมาด
      2.แม่สอด
      3.พบพระ

      10:42:36
      10:42:34
      10:43:16

      0:58
      1:46
      1:32

      2.กำแพงแสน

      4.คลองลาน
      5.คลองขลุง
      6.ขาณุวรลักษบุรี

      10:44:43
      10:45:49
      10:46:12

      1:51
      1:28
      1:41

      3.อุทัยธานี

      7.สว่างอารมณ์

      10:47:01

      0:59

      4.นครสวรรค์

      8.ลาดยาว
      9.บรรพตพิสัย
      10.โกรกพระ
      11.เก้าเลี้ยว
      12.นครสวรรค์
      13.พยุหะคีรี
      14.ชุมแสง
      15.ตาคลี
      16.ท่าตะโก
      17.ตากฟ้า
      18.ไพศาลี

      10:46:23
      10:46:33
      10:47:17
      10:46:51
      10:47:08
      10:47:42
      10:47:34
      10:47:42
      10:48:01
      10:48:27
      10:48:33

      1:36
      1:51
      1:31
      1:51
      1:52
      1:14
      1:24
      0:34
      1:50
      1:42
      1:43

      5.ลพบุรี

      19.โคกสำโรง
      20.สระโบสถ์
      21.ท่าหลวง
      22.ชัยบาดาล

      10:49:39
      10:49:23
      10:50:07
      10:49:58

      0:54
      1:48
      1:51
      1:55

      6.เพชรบูรณ์

      23.ศรีเทพ

      10:49:50

      1:22

      7.นครราชสีมา

      24.ปากช่อง
      25.สีคิ้ว
      26.สูงเนิน
      27.ปักธงชัย
      28.โชคชัย
      29.ครบุรี
      30.เสิงสาง

      10:51:32
      10:51:47
      10:52:05
      10;52:43
      10:53:08
      10:53:28
      10:54:20

      1:21
      1:54
      1:50
      1:54
      1:44
      1:58
      1:53

      8.บุรีรัมย์

      31.หนองกี่
      32.ปะคำ
      33.ละหานทราย

      10:54:34
      10:54:54
      10:55:22

      0:49
      1:39
      1:27

      9.สระแก้ว

      34.ตาพระยา

      10:55:32

      1:48

      10.พิจิตร

      35.โพทะเล

      เงามืดผ่านขอบท้องที่อำเภอ

      11.ชัยภูมิ

      36.เทพสถิต

      เงามืดผ่านขอบท้องที่อำเภอ

       

              ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยทรงนำคณะอาจารย์และนักเรียน โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิทยาเขตสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

              พระองค์ทรงเฝ้าสังเกตการณ์สุริยุปราคาอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.23 นาฬิกา และเสด็จกลับเวลาประมาณ 11.30 น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น และบังเกิดความปลาบปลื้มปิติแก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า

       

      สุริยุปราคาเต็มดวง ณ ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ถ่ายที่นครราชสีมา

       

       

       

       

       

       

       

       

      ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

       

                                ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

       

      เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

                ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทรงเข้าศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่างๆ ที่สนพระทัย อาทิ การเข้าอบรมระดับหลังปริญญาเอก(Post Doctoral Training) เรื่อง Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering จากมหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมัน ศึกษาด้านพิษวิทยา ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาด้านการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ ระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของ ประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทรงเป็นผู้ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างดียิ่ง องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสห ประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เหรียญเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางวิชาการ และการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นบุคคลที่ ๓ ของโลกและเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

                ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข และความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ เรื่องการ ขาดแคลนบุคคลากรด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขโดยเฉพาะ ความต้องการการสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัยทางวิชาการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข จึงทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย

                ต่อมาทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการที่มีศักยภาพและวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตลอดไป
       ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๘

                และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติ การเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง ประกอบกับทรงพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ

                นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ(Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการในการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ ที่สามารถให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ

                สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสร้างเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย และให้ความช่วยเหลือ ฝึกอบรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ

                จากผลของการทรงงานอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ คณะกรรมการรางวัลฮอลแลนเดอร์ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็งและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับรางวัล EMS Hollaender International Award ประจำ ปี ค.ศ. 2002 และในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (IUCN The World Conservation Union) สวิตเซอร์แลนด์ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×