ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รู้รอบตัวแสนสนุก (นำความรู้มาแบ่งปันค่ะ)

    ลำดับตอนที่ #40 : รู้หรือไม่ว่าราชวงศ์จักกรีมีเชื้อสายจีน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.54K
      7
      25 ธ.ค. 58

    (พระเจ้าตากสินมีแส้เจิ้งค่ะ ซึ่งแส้เจิ้งนี้จะอ่านออกเสียงได้อีกแบบว่า แซ่แต้ และนามสกุลต่างๆของลูกหลานพระเจ้าตากคือ อินทรกำแหง มหาณรงค์ คชวงศ์ อินทโสฬส ชูกฤส เนียมสุริยะ เชิญธงไชย อินทนุชิต ศิริพร นิลนานนท์ สินศุข อินทรโยธิน พงษ์สิน ศิลานนท์ จันทโรจวงศ์ นพวงศ์  สุประดิษฐ์ อิศรเสนา รุ่งไพโรจน์ อิศรางกูร โกมารกุล ณ นคร ,ณ นคร และ จาตุรงคกุล ไว้เราจะลงเรื่องของพระเจ้าตากให้อีกทีนะคะ)

    "น่าประหลาดใจว่า รัชกาลที่ ๑ ทรงได้รับพระราชทานพระนามภาษาจีนว่าเจิ้ง หัว [C. 33] และเป็นโอรสของเจิ้ง เจา [พระเจ้าตากสิน] พระราชบัญญัติของพระจักรพรรดิจีน เกี่ยวกับสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๖ [พ.ศ. ๒๓๒๙] ระบุว่า "เราเห็นแล้วว่าประมุขของประเทศองค์ปัจจุบัน ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา กษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ส่งคณะทูตเพื่อมาถวายบรรณาการและความจริงใจของพระองค์ก็เป็นที่น่าสรรเสริญ" อาจเป็นไปได้ว่า พระราชสาสน์ของรัชกาลที่ ๑ นั้นมีความเท็จอยู่ก็ได้ หรืออาจเป็นได้ว่า ผู้แปลคำว่า "โอรส" ผิดพลาดมาจากคำว่า "บุตรเขย" ตามที่เจิ้ง จื่อ-หนาน กล่าวถึงคำเจิ้ง หัว เป็นการถอดความจากคำว่า "เจ้าฟ้า" ผิด ซึ่งหมายถึง "มกุฎราชกุมาร" อย่างไรก็ตามมีบันทึกที่ปักกิ่งว่า กษัตริย์ราชวงศ์จักรีมีพระนามว่าเจิ้ง ตามพระเจ้าตากสิน ตราบเท่าที่สยามยังคงส่งบรรณาการให้จีนอยู่" 

    (อย่างไรก็ตามบิดาของรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นคนไทยแท้ๆ แต่มารดาของ รัชกาลที่ ๑ นั้นได้มีการจดบันทึกไว้ว่าเป็นบุตรสาวชาวจีน)

    "จากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นภาษาอังกฤษ [ถึงเซอร์จอห์น เบาริ่ง] ที่ทรงบรรยายไว้อย่างเห็นภาพว่า พระราชบิดาของรัชกาลที่ ๑ "ได้สมรสกับธิดาสาวสวยของครอบครัวจีน ที่มั่งคั่งที่สุดในย่านจีน...ของอยุธยา" ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วสตรีผู้นี้ก็เป็นพระมารดาของรัชกาลที่ ๑ ฉะนั้นต้นราชวงศ์จักรีจึงเป็นลูกครึ่งจีน...แน่นอนทีเดียวรัชกาลที่ ๑ จะทรงมีพระสนมมากกว่าหนึ่งคนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน ก็พอจะสรุปได้ว่า พระมารดาของรัชกาลที่ ๒ เป็น "ไทยแท้" ในกรณีนี้รัชกาลที่ ๒ จึงทรงมีเชื้อจีนเศษหนึ่งส่วนสี่ และรัชกาลที่ ๓ ทรงมีเชื้อจีนเศษหนึ่งส่วนแปด

    อย่างไรก็ตามรัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นโอรสของรัชกาลที่ ๒ กับสมเด็จพระสุริเยนทรฯ ผู้ซึ่งเป็นพระธิดาของพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑ และบิดาที่เป็นเศรษฐีจีน ฉะนั้น เนื่องจากพระมารดามีเชื้อจีนเศษสามส่วนสี่ และพระบิดามีเชื้อจีนเศษหนึ่งส่วนสี่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ [รัชกาลที่ ๔] จึงทรงมีเชื้อจีนครึ่งหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๔ กับพระราชนัดดาของรัชกาลที่ ๒ ผู้ซึ่งจะต้องมีเชื้อจีนอย่างน้อยที่สุดก็เศษหนึ่งส่วนสิบห้า ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ [รัชกาลที่ ๕] จึ่งทรงมีเชื้อจีนมากกว่าเศษหนึ่งส่วนสี่...."

    อนึ่ง ขอแทรกไว้ว่าความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างราชสำนักไทยกับจีน ตามระบบการทูตบรรณาการหรือ "จิ้มก้อง" นี้นั้น ได้สะดุดหยุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงส่งบรรณาการไปจีนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ หรือ ค.ศ. ๑๘๕๓ อีก ๒ ปีต่อมาสยามก็ลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่ง ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ หรือ ค.ศ. ๑๘๕๕ หลุดออกจากวงจรอำนาจของ Pax Sinica เข้าสู่ Pax Britanica และก็น่าสนใจว่าในพระราชสาสน์ที่มีไปมาระหว่างราชสำนักจีนและไทยนั้น รัชกาลที่ ๔ จะใช้ "พระแซ่แต้" และพระนาม "เป๋ง" (แต้ เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งตรงกับ "เจิ้ง" ในภาษาจีนกลางนั่นเอง และแซ่แต้ ก็เป็นพระแซ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ด้วยเช่นกันกับราชวงศ์จักรีตอนต้น)

    พระราชลัญจกรตัวหนังสือจีนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงประทับในสารส่งให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ หรือ ค.ศ. ๑๘๕๕ อ่านได้ความว่า พระแซ่แต้ (เจิ้ง) พระนามเป๋ง (หมิง) ตัวอักษรบนและล่างตามลำดับ (จากหนังสือ The Kingdom and People of Siam : Sir John Bowring ฉบับพิมพ์ปี ๑๘๕๗)

    แน่นอนถ้าหากจะนำการวิเคราะห์ของสกินเนอร์ดังกล่าวข้างต้น ก็คงจะไม่เข้ากรอบของประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ ที่เป็นเรื่องของ "ราชา-เชื้อชาตินิยม" ของ "เผ่าไทย" (ของทั้งรัชกาลที่ ๖ ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม และทั้งหลวงวิจิตรวาทการ) แต่อย่างใด แต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่ต้องการความ "สมานฉันท์" และ "ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม" กลายเป็นมนตราท่องบ่นกัน ก็หวังว่าข้อมูลอดีตข้างต้นน่าจะนำมาเป็นประโยชน์สำหรับยามยากในปัจจุบันสมัยของเรา

    จุดเด่นของงานของสกินเนอร์คือ การให้ภาพของการอพยพโยกย้ายแรงงานจีนจำนวนมหึมาเข้าสู่สยามในช่วงต้นและกลางรัตนโกสินทร์ การจำแนกแจงแจกให้เห็น "ความหลากหลาย" ของกลุ่มสำเนียงภาษาถิ่นต่างๆ ของจีน (ไม่ว่าจะเป็นแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ ฯลฯ) การเข้าสู่อาชีพตามความถนัดและความจำเป็นของคนจีนเหล่านั้น และ "การผสมกลมกลืน" (assimilation) ประสานกันเข้ากับสังคมและชนชาติไทย/และหรือชาติอื่นๆ ตลอดจนการถูกเลือกปฏิบัติการกีดกันและการบีบบังคับ (นับแต่สมัยของรัชกาลที่ ๖ จนถึงสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ในเรื่องของชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมอันเป็นตัวอย่าง "คลาสสิค" แต่ค่อนข้าง "ประสบ" ความสำเร็จของรัฐบาลกลางของไทย 

    ที่มา: http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0604011248&srcday=2005/12/01&search=no

    ***************************************************************
    แม้แต่พระมหากษัตริย์ไทยในพระราชวงศ์จักรีทุกรัชกาลนั้น หากลองสืบค้นต้นสายราชสกุลวงศ์ของแต่ละพระองค์แล้ว ก็ไม่ปรากฏพบว่าพระองค์ใดจะทรงมีสายพระโลหิตบริสุทธิ์ที่ปราศจากการผสมผสาน แต่อย่างใด และสายเลือดจีนถือว่าเป็นสายเลือดที่สำคัญและแรงที่สุดที่ปรากฏพบในทุกรัชกาล เริ่มต้นจากสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกทองดี ซึ่งเป็นพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 ผมขออนุญาตใช้คำสามัญในการเล่าก็แล้วกันนะครับว่า บิดาของรัชกาลที่ 1 มีนามว่า ทองดี ได้แต่งงานกับลูกสาวของคหบดีชาวจีนแท้ๆ ที่มีชื่อว่าดาวเรืองหรือหยก ดังนั้นรัชกาลที่ 1 จึงทรงมีสายเลือดจีนอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของพระองค์ท่านเอง เลยทีเดียว ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 แต่งงานกับคุณนาก ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้น ตัวคุณนากเองก็เป็นลูกครึ่งไทย-จีน มาจากทางอัมพวา ดังนั้นพระราชโอรสที่เกิดมาคือรัชกาลที่ 2 จึงต้องมีสายเลือดประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่...ถึงตอนนี้ท่านใดเก่งวิชาเลขหรือ คำนวณต้องรีบมาช่วยผมในเรื่องของการคำนวณเศษส่วนต่างๆ ด้วยครับ เพราะผมตกวิชาเลขมาตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมโดยตลอดครับ 


    ส่วนรัชกาลที่ 3 นั้น ทรงรับสายเลือดไทย-จีนมาจากพระราชบิดาคือรัชกาลที่ 2 แต่พระราชมารดาคือ เจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย ท่านนี้มีสายเลือดไทยมุสลิม ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีสายเลือดผสมหลายสาย และมีสายเลือดจีนประมาณเศษหนึ่งส่วนแปด 

    ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงรับสายเลือดจีนโดยตรงมาจากพระราชบิดาคือรัชกาลที่ 2 ซึ่งก็มีเชื้อจีนมาแล้วเศษหนึ่งส่วนสี่ ฝ่ายพระราชมารดาคือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีนั้น พระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดเป็นลูกสาวของพี่สาวของรัชกาลที่ 1 คือกรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งกรมพระศรีสุดารักษ์ท่านนี้ได้สามีเป็นคหบดีชาวจีนแท้ๆ มีชื่อเรียกขานยกย่องว่า ท่านขรัวเงิน ดังนั้นเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจึงทรงมีเชื้อจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะจากสายเลือดพ่อที่เป็นจีนเต็มร้อย กับสายเลือดแม่ที่มีตาเป็นไทย-ยายเป็นจีนหรือประมาณเศษสามส่วนสี่เลยทีเดียว จึงทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงมีเชื้อจีนครึ่งหนึ่งของพระองค์ 

    ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของรัชกาลที่ 2 จึงทรงมีเชื้อจีนสืบมาทางสายพระราชบิดาอย่างน้อยที่สุดคือเศษหนึ่งส่วนสิบหก เมื่อมารวมกับสายพระราชมารดาแล้ว ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีเชื้อจีนเพิ่มมากขึ้น และอาจมีมากกว่าเศษหนึ่งส่วนสี่เสียด้วยซ้ำ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระมเหสีหลายพระองค์ ในจำนวนนั้นมีอยู่ 3 พระองค์ที่เป็นพี่น้องเรียงกันคือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (คือสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงเป็นย่าแท้ๆ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (คือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรม ราชินีนาถ) ทรงเป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ 6 และ 7 พระมเหสีทั้ง 3 พระองค์นี้ทรงเป็นพระธิดาของรัชกาลที่ 4 (ร่วมพ่อเดียวกันกับรัชกาลที่ 5) และร่วมพระราชมารดาเดียวกันคือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ต่อมาสถาปนาเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) โดยที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีสายเลือดจีนอยู่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เมื่อได้มารวมกับสายเลือดผสมจีนของเจ้าจอมมารดาเปี่ยมที่เข้มข้น ทำให้พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ผู้ต่อมาได้เป็นพระมเหสีของรัชกาลที่ 5 และเป็นพระบรมราชบุพการีของรัชกาลที่ 6, 7, 8, 9 ต่อมา เจ้าจอมมารดาเปี่ยมผู้นี้เป็นธิดาคหบดีจีนแท้ๆ ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาสาสำแดง (แตง) กับมารดาที่เป็นไทยคือท้าวสุจริตธำรงค์ (นาค) ทำให้เจ้าจอมมารดาเปี่ยมนั้นเป็นลูกครึ่งไทยจีนอย่างแท้จริง ซึ่งได้ส่งผ่านสายเลือดผสมนี้ต่อมายังทุกรัชกาลที่สืบต่อ 

    จากพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 ที่พระราชทานไว้ในพิธีเปิดโรงเรียนจีน เมื่อพ.ศ. 2470 มีข้อความที่เป็นเครื่องยืนยันในสายเลือดผสมนี้เป็นอย่างดียิ่งคือ ....“....อันที่จริงไทยกับจีนนั้น ต้องถือว่าเป็นชาติที่เป็นพี่เป็นน้องกันโดยแท้ นอกจากนี้เลือดไทยกับจีนได้ผสมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนต้องนับว่าแยกไม่ออก ข้าราชการชั้นสูงๆ ที่เคยรับราชการหรือรับราชการอยู่ในเวลานี้ ที่เป็นเชื้อจีนก็มีอยู่เป็นอันมาก แม้ตัวข้าพเจ้าเองก็มีเชื้อจีนปนอยู่ด้วย โดยเหตุเหล่านี้ไทยและจีนจึงได้อยู่ด้วยกันได้อย่างสนิทสนมกลมเกลียวมาช้านาน...” 

    ส่วนพระราชโอรสธิดาทั้ง 4 พระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น ก็ต้องทรงมีเชื้อสายจีนผสมผสานอยู่ในพระองค์อย่างไม่น้อยเลย เพราะนอกจากเชื้อจีนทางฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังทรงมีเชื้อจีนทางฝ่ายสมเด็จพระนางเจ้าฯ อีกอย่างมาก โดยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯทรงสืบสายพระโลหิตจากรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ซึ่งทางฝ่ายเจ้าจอมมารดาอ่วมนั้น เป็นธิดาของอภิมหาเศรษฐีจีนแท้ๆ คือเจ้าสัวยิ้ม หรือพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ต้นตระกูลพิศัลยบุตร) เมื่อประสูติพระราชโอรสออกมาทรงพระนามว่าพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ทำให้ทรงมีเชื้อจีนที่ค่อนข้างเข้มข้น จนทรงถูกล้อเลียนด้วยความเอ็นดูจากบรรดาเจ้านายและชาววัง ในความหน้ารัก ผิวขาว ตาตี่ หางคิ้วหางตาตวัดเฉียง โดยเติมสร้อยคำหลังวัน เดือน ปี ที่ประสูติว่า “ปีจอ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก” คำว่าลูกเจ้าคือทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ส่วนหลานเจ๊กนั้นคือทรงเป็นหลานตาของเจ้าสัวยิ้มนั่นเอง ทรงเป็นต้นราชสกุลกิติยากรของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ทรงมีสายเลือดจีนรวมอยู่ในพระองค์อย่างชัดเจน  
     
    ที่มา >> http://www.thairath.co.th/content/231623

    เผ่าทอง ทองเจือ
    www.facebook.com/เผ่าทอง ทองเจือ
    paothong_pan@hotmail.com

     

    เผ่าทอง ทองเจือ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×