ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #25 : สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 633
      0
      9 ม.ค. 50



     
    สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
    Islamic Republic of Pakistan


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับจีน ทิศตะวันตกติดกับ อิหร่านและอัฟกานิสถาน ทิศตะวันออกติดกับอินเดีย และทิศใต้ติดกับทะเลอาหรับ
    พื้นที่ : 796,095 ตารางกิโลเมตร
    เมืองหลวง : กรุงอิสลามาบัด (Islamabad)
    เมืองสำคัญ : การาจี (Karachi) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทางใต้ของประเทศ
    : ละฮอร์ (Lahore) เป็นเมืองศูนย์กลางของธุรกิจอุตสาหกรรม ทางเหนือของประเทศ
    ภูมิอากาศ : บริเวณส่วนใหญ่ของประเทศอากาศร้อนและแห้งแล้ง ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่อากาศอบอุ่น และภาคเหนือมีอากาศเย็น
    ประชากร : ประมาณ 162 ล้านคน
    เชื้อชาติ : ปัญจาบร้อยละ 59 ปาทานร้อยละ 14 ซินด์ร้อยละ 12 บาลูชีร้อยละ 4 และมูฮาเจียร์ (Muhajir - ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอินเดีย) ร้อยละ 8 และอื่นๆ ร้อยละ 3
    ภาษา : ภาษาอูรดูเป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในรัฐบาลกลางและแวดวงธุรกิจ และมีภาษาท้องถิ่นอาทิ ปัญจาบี ซินดิ ปาทาน และบาลูชี
    ศาสนา : อิสลามร้อยละ 97 (ในจำนวนนี้ ร้อยละ 77 เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ 20 เป็นนิกายชีอะห์) คริสต์ ฮินดูและอื่นๆ รวมร้อยละ 3
    วันสำคัญ : วันชาติ (หรือเรียกว่า Pakistan Day) วันที่ 23 มีนาคม
    การศึกษา : ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปี ที่อ่านออกเขียนได้เฉลี่ยร้อยละ 45.7 (แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 59.8 เพศหญิง ร้อยละ 30.6)
    หน่วยเงินตรา : รูปีปากีสถาน (Pakistani Rupee)
    1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 59.68 รูปี (สิงหาคม 2548)
    GDP : ประมาณ 385.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ/ คน/ ปี (ปี 2548)
    อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ : 6.7% (ปี 2548)
    ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 10,828.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 9.3 (ปี 2548)
    ดุลการค้า : ขาดดุล 3,578.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2548)
    มูลค่าการส่งออก : 14,933.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    มูลค่าการนำเข้า : 21,217.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    สินค้าส่งออก : ฝ้าย สิ่งทอ เครื่องหนัง ข้าว พรม อุปกรณ์กีฬา สินค้าหัตถกรรม อุปกรณ์การแพทย์ ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา ผลไม้
    สินค้านำเข้า : ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร น้ำมันพืช เหล็ก และเหล็กกล้า
    ประเทศคู่ค้า : สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
    ตลาดนำเข้า : จีน สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น คูเวต เยอรมนี
    ระบอบการเมือง : ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี
    ระบบการปกครอง : สาธารณรัฐ (Republic) แบ่งเป็น 4 รัฐ 1 เขตปกครอง และแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งปากีสถานและอินเดียโต้แย้งเรื่องสิทธิที่จะปกครองแคว้นทั้งหมด ในทางปฏิบัติทั้งสองประเทศแบ่งดินแดนเป็น 2 ส่วน และแยกกันปกครอง
    ประมุขของรัฐ : พลเอก Pervez Musharraf ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
    ประธานวุฒิสภา : นาย Mohammedmian Soomro (Chairman, Senate of Pakistan)
    ประธานสภาผู้แทนราษฎร : นาย Chaudhry Amir Hussain (Speaker, National Assembly of Pakistan)
    คณะรัฐบาล : เข้าบริหารประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม 2547
    นาย Shaukat Aziz นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ
    นาย Khurshid Mahmud Kasuri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    นาย Humayoon Akhtar Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

    การเมืองการปกครอง
    ปากีสถานเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ การกระจายอำนาจการปกครองเป็นในลักษณะสหพันธรัฐ (Federal System) แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ 4 รัฐ (State หรือแคว้น - Province) ได้แก่ ซินด์ (Sindh) ปัญจาบ (Punjab) บาโลจีสถาน (Balochistan) รัฐตะวันตกเฉียงเหนือ (North West Frontier Province) นอกจากนั้นปากีสถานมี 1 เขตปกครอง (territory) เรียกว่าเขตชนเผ่า (Tribal Area) ซึ่งปกครองตนเองแต่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลกลาง ส่วนแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) ซึ่งปากีสถานและอินเดียต่างอ้างสิทธิในการปกครองนั้น ในทางปฏิบัติได้แบ่งเขตปกครองเป็นสองส่วน คั่นกลางด้วยเส้นควบคุม (Line of Control) และแต่ละประเทศปกครองในเขตของตน
    ปากีสถานมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) และรัฐบาลระดับรัฐ (State Government หรือ Provincial Government) แบ่งการปกครองเป็นระดับประเทศและระดับรัฐ ทำให้แต่ละรัฐมีระบบการบริหารภายในของตนเองด้วย
    (1) การบริหารรัฐบาลกลาง
    ฝ่ายนิติบัญญัติ
    ประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ 1) วุฒิสภา (Senate) ประกอบด้วยสมาชิก 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านสภาระดับรัฐ (Provincial Assembly) ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) มีสมาชิก 342 คน สมาชิก 272 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี ส่วนสมาชิกอีก 60 คนเป็นตัวแทนของสตรี และ 10 คนเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย
    ฝ่ายบริหาร
    ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและได้รับเลือกตั้งจากประชาชน มีหน้าที่ดูแลการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล แม้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (พลเอก Pervez Musharraf) ขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการทำรัฐประหาร แต่ได้จัดให้มีการลงประชามติรับรองการดำรงตำแหน่งในภายหลัง
    นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำบริหารประเทศ ตามรัฐธรรมนูญของปากีสถาน นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบริหารงานรัฐบาลกลางร่วมกับคณะรัฐมนตรี (Federal Cabinet) เพื่อดูแลนโยบายในระดับประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ โดยต้องประสานและรายงานประธานาธิบดีด้วย
    ฝ่ายตุลาการ
    ปากีสถานมีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด ประธานศาลฎีกา (Chief Justice of Pakistan) ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ส่วนผู้พิพากษาศาลฎีกาคนอื่นๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดยการหารือกับประธานศาลฎีกาแล้ว และมีศาลสูง (High Court) ประจำในรัฐทั้งสี่ โดยมีหัวหน้าผู้พิพากษา (Chief Justice) และคณะผู้พิพากษา (Judge) ที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยหารือกับประธานศาลฎีกาเช่นกัน
    นอกจากนี้ ปากีสถานมีศาลที่เรียกว่า Federal Shariat Court ซึ่งมีสมาชิก 8 คน ประกอบด้วย 1) หัวหน้าผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีแต่งตั้ง 2) บุคลากรที่มีคุณสมบัติเพียงพอจะเป็น ผู้พิพากษาศาลสูง 4 คน และ 3) Ulema (ผู้ศึกษากฎหมายอิสลาม) 3 คน เป็นศาลที่คอยกำกับข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ให้ไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม รวมทั้งชี้ขาดกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างกฎหมายต่างๆ กับกฎหมายอิสลาม
    (2) การบริหารระดับรัฐ
    โครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละรัฐประกอบด้วยผู้ว่าการรัฐ (Govonor) ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดีให้บริหารระดับรัฐ (Provincial Government) ทั้งนี้ ผู้ว่าการรัฐจะบริหารโดยคัดเลือกคณะบริหาร (Council of Ministers) ซึ่งประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้า และมีคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (Provincial Cabinet, Provincial Minister) ช่วยกำกับงานด้านต่างๆ ภายในรัฐ อีกทั้งมีรัฐสภาระดับรัฐ (Provincial Assembly) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ร่วมกำกับการทำงานของคณะผู้บริหาร

    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    อาณาเขตของประเทศปากีสถานในปัจจุบันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดียโบราณ ซึ่งเคยถูกปกครองโดยชาวอารยัน เปอร์เซีย มาเซโดเนีย กลุ่มชนจากเอเชียกลาง อาณาจักรออตโตมัน ชาวอาหรับ และจักรวรรดิ์โมกุลตามลำดับ จนถึงช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 จักรวรรดิ์อังกฤษได้ขยายอิทธิพลมายังอินเดียและดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้แทนที่จักรวรรดิ์โมกุลที่เสื่อมอำนาจลง และต่อมาอังกฤษสามารถปกครองอนุทวีปเอเชียใต้นี้ได้โดยสมบูรณ์
    ในยุคอาณานิคมนั้น ดินแดนปากีสถานในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และชาวมุสลิมในอินเดียได้ดำเนินการเผยแพร่ความคิดที่จะสถาปนาดินแดนอิสระของชาวมุสลิม (separate Muslim state) ขึ้นในอินเดีย ระหว่างปี 2480-2482 (ค.ศ. 1937-1939) กลุ่มชาวมุสลิมรวมตัวกันภายใต้ชื่อ All-India Muslim League และผลักดันข้อเสนอดังกล่าว จนฝ่ายปกครองต้องเห็นชอบกับข้อมติที่เรียกกันว่า Pakistan Resolution เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2483 (ค.ศ. 1940) จึงเกิดดินแดนที่มีชาวมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ขึ้นในอนุทวีปเอเชียใต้ ในนามดินแดนปากีสถาน
    ต่อมาอินเดียได้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จนประสบความสำเร็จในวันที่ 14 สิงหาคม 2490 (ค.ศ. 1947) และทำให้ปากีสถานมีสถานะเป็นประเทศอีกประเทศหนึ่งแยกจากอินเดีย โดยแบ่งดินแดนปากีสถานเป็น 2 ส่วน คือ ปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก โดยมี Quaid-i-Azam Muhammad Ali Jinnah เป็นผู้นำประเทศคนแรกในตำแหน่ง Governor General (ขณะนั้นยัง ไม่มีตำแหน่งประธานาธิบดี) และเป็นบุคคลที่ชาวปากีสถานยกย่องเป็นบิดาของประเทศ (Father of the Nation) ซึ่งต่อมาในปี 2514 (ค.ศ. 1971) ปากีสถานตะวันออกได้แยกตัวเป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน

    นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
    ด้านการเมือง
    1) สร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
    2) ดำเนินนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อสร้างความมั่นคงภายในประเทศ
    3) ให้พรรคการเมืองมีบทบาททางการเมืองผ่านรัฐสภา และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเพื่อร่วมบริหารประเทศกับประธานาธิบดี
    ด้านการต่างประเทศ
    1) แสดงบทบาทในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล เพื่อนำไปสู่ความยอมรับสถานะของปากีสถานในเวทีระหว่างประเทศ
    2) รักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศตะวันตก พร้อมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเอเชียมากขึ้น (Look East Policy) เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

    สถานการณ์ที่สำคัญ
    การเมืองภายใน
    รัฐบาลชุดปัจจุบันของปากีสถานมาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 โดยพลเอก Pervez Musharraf ซึ่งต่อมาได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีปากีสถานเมื่อเดือนมิถุนายน 2544 และได้จัดให้มีการลงประชามติรับรองการดำรงตำแหน่งดังกล่าวในภายหลังประธานาธิบดี Musharraf ได้เริ่มมอบอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน โดยจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม 2545 ส่งผลให้พรรค Pakistan Muslim League (PML) จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และบริหารประเทศร่วมกับประธานาธิบดี รัฐบาลพลเรือนชุดนี้อยู่ในตำแหน่งมาจนถึงปี 2547 จึงได้ผลักดันให้นาย Shaukat Aziz ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ประสบความ สำเร็จในแวดวงการธนาคารระหว่างประเทศ และเป็นคนที่ประธานาธิบดี Musharraf ต้องการให้เป็น ผู้ที่ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของปากีสถาน
    ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ประธานาธิบดี Musharraf ขึ้นบริหารประเทศนั้น สามารถกุมอำนาจสูงสุดและให้ความเห็นชอบกับการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของบุคลากรจากพรรครัฐบาล ภารกิจสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน คือ การสร้างความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความพอใจต่อรัฐบาล ซึ่งจะลดการต่อต้านรัฐบาลจากกลุ่มหัวรุนแรง และนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองต่อไป
    การก่อการร้าย
    ปากีสถานให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ระหว่างสงครามโค่นล้มรัฐบาลทาลิบันเมื่อปี 2544 นับจากนั้นจึงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของขบวนการก่อการร้ายต่างๆ ที่ไม่พอใจบทบาทดังกล่าว ขณะเดียวกัน ในปากีสถานมีโรงเรียนสอนศาสนาจำนวนมากที่เชื่อกันว่าเชื่อมโยงกับลัทธิ ก่อการร้ายและการปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรง ประเด็นนี้เป็นผลจากประวัติศาสตร์ด้วย กล่าวคือ ในสมัยของการต่อต้านอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อทศวรรษ 1980 มีนักศึกษาด้านการศาสนาจำนวนมากที่ได้รับแนวคิดและการฝึกฝนต่างๆ จากโรงเรียนสอนศาสนาในปากีสถาน เพื่อทำสงครามต่อต้านสหภาพโซเวียต แม้จนปัจจุบันภาพลักษณ์ของการเป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดในลักษณะดังกล่าวของปากีสถานก็ยังดำรงอยู่ ภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลทาลิบันในอัฟกานิสถานแล้ว มักมีข่าวว่ากลุ่ม ก่อการร้ายต่างๆ อาศัยชายแดนระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานเป็นแหล่งพักพิงและเป็นฐานปฏิบัติการ ดังนั้น กองทัพปากีสถานและกองกำลังของสหรัฐฯ จึงร่วมกันปฏิบัติการกวาดล้างบริเวณดังกล่าวอยู่เป็นระยะๆ
    แม้ปากีสถานจะให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐฯ แต่ในระยะหลังมักจะถูกวิจารณ์ว่า ปากีสถานไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจังนัก มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลปากีสถานพยายามบังคับใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาการก่อการร้าย คือ การควบคุมโรงเรียนสอนศาสนา เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ไม่ให้ถูกมองเป็นแหล่งเพาะความรุนแรง อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์วินาศกรรมในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ซึ่งตรวจสอบพบว่า ผู้ลงมือวางระเบิดมีความ เกี่ยวโยงกับปากีสถาน ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากขึ้นต่อความจริงจังในการต่อต้านการก่อการร้ายของปากีสถาน จนรัฐบาลปากีสถานต้องประกาศจะเพิ่มความกวดขันต่อโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นอีก โดยจะควบคุมโรงเรียนที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลอย่างเข้มงวด และจะให้นักศึกษาต่างชาติบางส่วนต้องเดินทางกลับประเทศด้วย
    กระบวนการปรับความสัมพันธ์กับอินเดีย
    อินเดียกับปากีสถานต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดนเคชเมียร์ เนื่องจากผู้ปกครองแคว้นเป็นชาวฮินดู และเลือกที่จะอยู่กับอินเดีย แต่ประชาชนส่วนมากเป็นชาวมุสลิมซึ่งมีความเหมาะสมกว่าที่จะอยู่กับปากีสถานซึ่งเป็นประเทศมุสลิม อินเดียยืนกรานว่าแคว้นแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และกรณีพิพาทจะต้องได้รับการแก้ไขในกรอบทวิภาคีเท่านั้น จึงปฏิเสธบทบาทของประเทศ / องค์การที่สามโดยเด็ดขาด ขณะที่ปากีสถานต้องการให้มีการลงประชามติ และต้องการจะ “Internationalize” ปัญหาแคชเมียร์ โดยประสงค์ให้นานาประเทศ / องค์การที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย
    ความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถานมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรี Atal Bihari Vajpayee และประธานาธิบดี Musharraf ได้ประกาศกระบวนการเจรจา Composite Dialogue เมื่อเดือนมกราคม 2547 ภายหลังการประชุม SAARC ที่กรุงอิสลามาบัด ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์การก่อการร้ายที่รัฐสภาอินเดียในปี 2544 โดยเป็นกระบวนการเจรจาที่มี roadmap ระบุประเด็นและเงื่อนเวลาอย่างชัดเจน แม้การเจรจาดำเนินมาประมาณปีเศษ และไม่มีผลสำเร็จที่เป็น breakthrough ก็ตาม แต่เป็นการแสดงถึง Political will ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดของทั้งสองประเทศ และสร้างบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อความร่วมมือในภูมิภาค และได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยนอกเหนือจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน

    เศรษฐกิจการค้า
    นโยบายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
    1) ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี ผ่อนคลายการควบคุมด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ส่งเสริมการส่งออก
    2) ผลักดันการจัดตั้ง FTA กับประเทศเป้าหมาย
    3) ผลักดันโครงการสร้างท่าเรือ Gwadar เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งและค้าขายบริเวณทะเลอาหรับ และลดระยะทางการส่งสินค้าไปยังจีน
    4) พยายามเป็นจุดผ่านทางการค้า (hub) เพื่อไปยังอัฟกานิสถานและเอเชียกลาง
    5) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เมืองตักศิลา เพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศ

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
    ด้านการทูต
    ไทยกับปากีสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2494 (ค.ศ.1951) ปัจจุบันไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด โดยมีนายพิษณุ จันทร์วิทัน เป็นเอกอัครราชทูต และมีสำนักงานทางการทูตในปากีสถานอีก 2 แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี และมีกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองละฮอร์ ส่วนปากีสถานมีสถานเอกอัครราชทูตปากีสถานที่กรุงเทพฯ โดยมีนาย Ameer Khurram Rathore เป็นอุปทูต

    ด้านการเมือง
    ไทยและปากีสถานเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน เพราะต่างเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asian Treaty Organization (SEATO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2497 (ค.ศ. 1954) โดยเป็นผลจาก Southeast Asia Collective Defence Treaty หรือ Manila Pact แม้ว่าในปัจจุบันการดำเนินงานในกรอบของ SEATO ได้ยุติแล้ว แต่มิติทางประวัติศาสตร์นี้ก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างไทยกับปากีสถาน
    ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ มีความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง และข่าวกรอง โดยมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งมีความใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร ส่วนในระดับพหุภาคี ปากีสถานให้ความร่วมมือในเวที ACD อย่างกระตือรือร้น และล่าสุดได้เป็นเจ้าภาพการประชุม ACD ครั้งที่ 4 ในเดือนเมษายน 2548 ณ กรุงอิสลามาบัด

    ด้านเศรษฐกิจ
    ไทยกับปากีสถานมีกลไกความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Commission - JEC) เป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และติดตามความคืบหน้า เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ

    ด้านการค้า
    การค้าไทย-ปากีสถานมีปริมาณไม่สูงนัก แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2547 มีมูลค่าการค้ารวม 496.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.4 จากปี 2546 และในปี 2548 มีมูลค่าการค้า 677.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 36.37 จากปี 2547 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับปากีสถานทุกปี
    สำหรับโอกาสทางการค้าของไทย คือ ปากีสถานเป็นตลาดรองรับสินค้าอุปโภคบริโภคระดับกลางที่ราคาไม่สูงนัก โดยเฉพาะในอนาคตปากีสถานจะเป็นทางผ่านของสินค้า (hub) เข้าสู่อัฟกานิสถานและภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งมีความต้องการบริโภคสินค้าจำนวนมาก ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภค และที่อยู่อาศัยกำลังขยายตัวอย่างมากในปากีสถาน ซึ่งเป็นผลจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นติดต่อกันหลายปี
    ก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านการค้าไทย-ปากีสถาน คือ การประกาศเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area - FTA) เมื่อปี 2547 และต่อมาระหว่างการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีปากีสถานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งรัดการจัดตั้ง FTA รวมทั้งเร่งลดภาษีแก่สินค้ากลุ่ม Early Harvest ด้วย ดังนั้น ไทยและปากีสถานจึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบและลู่ทางการจัดตั้ง FTA ดังกล่าว ตามข้อตกลงระหว่างผู้นำระดับสูง ขณะเดียวกันก็จะเริ่มเจรจาลดภาษีภายใต้กรอบ FTA เฉพาะสินค้าในกลุ่ม Early Harvest ก่อน เพื่อเป็นการบุกเบิกไปสู่ FTA ในกรอบใหญ่ต่อไป

    ด้านการท่องเที่ยว
    ปากีสถานมีแหล่งวัฒนธรรมและโบราณสถานทางพุทธศาสนาจำนวนมากทางตอนเหนือของประเทศ เช่น เมืองตักศิลา และประสงค์ให้ไทยช่วยเหลือและพัฒนาสถานที่ทางศาสนาเหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ดี และสามารถยกระดับขึ้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่อุปสรรคที่สำคัญ คือสถานที่ทางพุทธศาสนาในปากีสถานไม่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ซึ่งปากีสถานมีแผนจะเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว ไทยได้สนับสนุนเรื่องนี้ในรูปของความร่วมมือทางวิชาการ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างเมืองพุทธและอิสลาม ในการร่วมอนุรักษ์โบราณสถานทางพุทธศาสนา

    ด้านสังคมและวัฒนธรรม
    ไทยและปากีสถานมีความเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชน โดยมีชุมชนคนไทยในปากีสถาน และกลุ่มนักศึกษาไทยมุสลิมที่นิยมเดินทางไปศึกษาด้านการศาสนาในปากีสถาน สำหรับชาวปากีสถานได้มาตั้งหลักแหล่งในไทยถึง 2-3 ชั่วรุ่น และปัจจุบันชาวปากีสถานนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยปีละหลายหมื่นคน นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย - ปากีสถานในทั้งสองประเทศด้วย

    ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
    1. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ปี 2512)
    2. อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ปี 2523)
    3. ความตกลงทางการค้า (ปี 2527)
    4. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (ปี 2534)
    5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการส่งกำลังบำรุงทหาร (ปี 2545)
    6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว (ปี 2545)
    7. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง BOI ไทย-ปากีสถาน (ปี 2545)
    8. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 2547)
    9. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมเฉพาะเรื่องอื่นๆ (ปี 2547)
    10. พิธีสารว่าด้วยการปรึกษาและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-ปากีสถาน (ปี 2547)
    11. พิธีสารว่าด้วยแผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไทย-ปากีสถาน (ปี 2548)

    การเยือนของผู้นำระดับสูง
    ฝ่ายไทย
    พระราชวงศ์
    - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 11-22 มีนาคม 2505 (ค.ศ.1962) ในสมัยของประธานาธิบดี Ayub Khan
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง ได้แก่ ระหว่างวันที่ 9 -14 กรกฎาคม 2534 (ค.ศ.1991) ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2541 (ค.ศ.1998) และวันที่ 29 – 30 ธันวาคม 2548 เพื่อทรงมอบสิ่งของพระราชทานแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
    รัฐบาล
    - พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถาน เมื่อเดือนสิงหาคม 2526 (ค.ศ.1983)
    - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถาน และร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Commission – JEC) ไทย – ปากีสถาน ครั้งที่ 1 ที่กรุงอิสลามาบัด เมื่อวันที่ 16-18 มีนาคม 2542 (ค.ศ.1999)
    - นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2545 (ค.ศ. 2002)
    - พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ 1- 2 กรกฎาคม 2545 (ค.ศ. 2002)
    - นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี และนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue ครั้งที่ 4 ที่กรุงอิสลามาบัด เมื่อวันที่ 5-7 เมษายน 2548 (ค.ศ. 2005)
    - นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนการค้าไทยเยือนปากีสถาน เมื่อวันที่ 21-28 มิถุนายน 2548 (ค.ศ. 2005)

    ฝ่ายปากีสถาน
    - นาย Gohar Ayub Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน เยือนไทย เมื่อเดือนกันยายน 2540 (ค.ศ. 1997) และลงนามจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ (JEC) ไทย-ปากีสถาน
    - พลเอก Pervez Musharraf ผู้นำปากีสถาน เยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 2-3 เมษายน 2543 (ค.ศ. 2000)
    - นาย Shaukat Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปากีสถาน เข้าร่วมประชุม JEC ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2545 (ค.ศ. 2002)
    - Mir Zafarullah Khan Jamali นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28-30 เมษายน 2547 (ค.ศ. 2004)
    - นาย Shaukat Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปากีสถาน เยือนไทยโดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 (ค.ศ. 2004)
    - นาย Shaukat Aziz นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2548 (ค.ศ. 2005)
    - พลเอก Pervez Musharraf ประธานาธิบดีปากีสถาน แวะผ่านประเทศไทย (เดินทางกลับจากการเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) และได้พบหารือกับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2548 (ค.ศ. 2005)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×