ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

    ลำดับตอนที่ #6 : ทฤษฎีการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็น

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.63K
      0
      2 มิ.ย. 54

                ในทศวรรษที่ 1990 นั้นเป็นช่วงที่ถูกมองว่าเป็นวินาทีสำคัญของลัทธิเสรีนิยม (เนื่องมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991) และมโนทัศน์ (แนวคิด) ของ Francis Fukuyama ที่ว่าเป็น “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” นั้นกลายเป็นทฤษฎีทางเสรีนิยมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งพวกเสรีนิยม (liberal)

    มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับยุคหลังสงครามเย็นนั้น โดยตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ข้อ คือ
             1. ประเทศประชาธิปไตย จะไม่ทำสงครามระหว่างกัน 
             2. สถาบันต่างๆ เช่น องค์การระหว่างประเทศ สามารถอยู่เหนือว่าตรรกะของอนาธิปไตย (กล่าวคือ องค์การระหว่างจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดความวุ่นวายทั้งในรัฐต่างๆ และระหว่างรัฐได้
             3. ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ยุคสมัยใหม่จะผูกมัดรัฐต่างๆ ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

          อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกสัจนิยม (realist) ซึ่งไม่ได้เป็นพวกสัจนิยมเพราะว่าพวกเขามี “ความจริงจัง” (realistic) แต่เพราะพวกเขามีความเชื่อในสิ่งที่มีการวิเคราะห์จากรากฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับว่าแนวทางใดที่ระบบระหว่างประเทศเคยดำเนินมา (ในอดีต) และดำเนินอยู่ (ปัจจุบัน) เช่น 

             1.  ได้ตั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “การกลับไปสู่อนาคต” ซึ่งสร้างขึ้นมาบนข้อถกเถียงพื้นฐานของพวกสัจนิยมว่า ระบบสงครามเย็นของสองขั้วอำนาจแม้นว่าจะนำไปสู่ “สันติภาพที่ยาวนาน” แต่ความคิดนี้อาจจะถูกบั่นทอนในปัจจุบันเพราะสันติภาพค่อยๆ สลายหายไป

             2. นั้นได้มีแนวความคิด “การมาของอนาธิปไตย” (coming anarchy) ซึ่งสร้างบนประสบการณ์ของสิ่งที่เขาใช้คำว่า “ภูมิภาคที่กำลังจะตาย” (dying regions) ของโลก ดังเช่น บางส่วนของแอฟริกา และเขายืนยันความจริงที่ว่าตะวันตกเพิกเฉยต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้นั้นเป็นการเสี่ยง

             3. บทเสนอ (thesis) ของ Huntington เกี่ยวกับ “การปะทะกันทางอารยธรรม” (clash of civilizations) ได้เริ่มอธิบายประเด็นของความขัดแย้งที่ต้องเกิดขึ้นและมิอาจหลีกเลี่ยงได้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ในทางประวัติศาสตร์ และดำเนินต่อไปถึงข้อถกเถียงที่ว่า ความขัดแย้งที่สำคัญครั้งต่อไปในโลกจะไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจหรืออุดมการณ์แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรม

             นักคิดแนวคิดอื่นๆ ที่ฉีกแนวอย่างสิ้นเชิงและมีนัยสำคัญต่อทฤษฎีการเมืองโลกนั้น ได้พัฒนาความคิดออกไปจากหรือตรงข้ามกับแนวคิดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก เช่น

             1. Noam Chomsky นักเขียนที่มีหนังสือขายดีและมีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขามีข้อวิจารณ์ต่อสิ่งที่เขาใช้คำว่า “อาณาจักรอเมริกัน” (American Empire) ซึ่งมีประเด็นของนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าในระเบียบโลกใหม่นั้นได้เปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์แล้วคงจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย มีแต่สหรัฐเมริกาเท่านั้นที่จะเพิ่มความสามารถ (capacity) เพื่อไปในทางของตน

             2. Robert Cox มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างมากในด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (international political economy หรือ IPE) แต่เขาก็เหมือน Chomsky ที่เชื่อว่าโครงสร้างของความเป็นเจ้า (hegemony) จะถูกสร้างขึ้นมาในยุคหนึ่งซึ่งยังคงเป็นไปได้อยู่

             3. Naomi Klein เป็นนักคิดระบบซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าที่เธอเป็นนักกิจกรรมที่นิยามตัวเองว่าเป็นปากกระบอกเสียงของการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัฒน์ทั้งต่อลัทธิบริโภคนิยมและบรรษัทข้ามชาติ

    แปลและเรียบเรียงจาก: Baylis, John. “Chapter 6 From the Cold War to the war on terror” in The Globalization of world politics: an introduction to international relations. Oxford: Oxford University Press, c2005

    สัจนิยมและเสรีนิยม: 2 แนวคิดทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

    แนวคิดสัจนิยม 

    1. บทนำ: ความรู้ไร้กาลเวลาของแนวคิดสัจนิยม

             สัจนิยมนิยมเป็นทฤษฎีการเมืองโลกที่มีความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากด้านการศึกษานั้น สัจนิยมยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แนวคิดความสงสัย (Skepticism) เกี่ยวกับความสามารถของเหตุผลมนุษย์ที่จะที่ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าที่ดีงามถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ในงานของนักทฤษฎีทางการเมืองยุคคลาสสิก เช่น Thucydides, Machiavelli, Hobbes และ Rousseau ซึ่งแก่นคิดที่ตรงกันคือ รัฐจะค้นหาตัวเองในเงาของอนาธิปไตย เพื่อที่ความมั่นคงของตัวเองจะไม่ถูกเอาไป ในสถานการณ์เช่นนี้จึงมีความสมเหตุสมผลสำหรับรัฐที่จะแข่งขันเพื่ออำนาจและความมั่นคงเมื่อสิ้นสุดสหัสวรรษใหม่นั้น แนวคิดสัจนิยมยังคงดึงดูดนักวิชาการและส่งผลต่อผู้วางนโยบาย ในยุคนี้ตั้งแต่สิ้นสงครามเย็นเป็นต้นมาเราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของการวิจารณ์สมมติฐานของแนวคิดสัจนิยมบนหลักการที่ว่า แนวคิดสัจนิยมกำลังถูกละทิ้งความสำคัญในโลกยุคโลกาภิวัฒน์

    2. แนวคิดสัจนิยมมีเพียงหนึ่งเดียว หรือมีหลากหลาย

             ไม่มีฉันทามติในงานชิ้นต่างๆ ที่จะทำให้เราสามารถพูดได้ว่าแนวคิดสัจนิยมเป็นทฤษฎีหนึ่งเดียวอย่างแจ่มชัด มีเหตุผลต่างๆ ที่ดีสำหรับขยายรายละเอียดประเภทต่างๆ ของแนวคิดสัจนิยม ข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุด คือระหว่างแนวคิดที่หลักสำคัญทางทฤษฎีอยู่ที่ธรรมชาติของมนุษย์กับที่เน้นความสำคัญของความเป็นอนาธิปไตยระหว่างประเทศ และการแบ่งแยกอำนาจในระบบระหว่างประเทศ
             แนวคิดสัจนิยมเชิงโครงสร้าง (structural realism) แบ่งออกเป็น 2 ค่าย ได้แก่ ฝ่ายที่ถกเถียงว่ารัฐจะขยายความมั่นคงสูงสุด (defensive realism) และฝ่ายที่ถกเถียงว่ารัฐจะขยายอำนาจสูงสุด (offensive realism) อย่างไรก็ตาม ก็มีนักคิดสัจนิยมร่วมสมัยผู้ซึ่งแสดงความเห็นจากทั้งแนว defensive realism และ offensive realism จากแนวคิดสัจนิยมเชิงโครงสร้าง นักคิดสัจนิยมยุคคลาสสิกใหม่นำทั้งความแตกต่างของบุคคลและหน่วยต่างๆ กลับมาสู่ทฤษฎี ในขณะที่นักสัจนิยมแบบทางเลือกที่สมเหตุสมผล (rational choice realists) จะยอมรับความสำคัญของสถาบันระหว่างประเทศ

    3. หลักสำคัญของแนวคิดสัจนิยม

             3.1 รัฐนิยม (statism) เป็นข้อสำคัญของแนวคิดสัจนิยม ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้ออ้าง 2 ประการ คือ ประการแรก สำหรับนักทฤษฎีรัฐเป็นตัวละครที่สำคัญมากที่สุด และตัวละครอื่นๆ ในการเมืองโลกมีนัยสำคัญน้อยกว่า อีกประการหนึ่ง รัฐ “อธิปไตย” มีนัยแสดงถึงการดำรงอยู่ของความเป็นประชาคมทางการเมืองที่เป็นเอกราชซึ่งมีอำนาจทางกฎหมายเหนือดินแดนของตนข้อวิจารณ์หลัก รัฐนิยมมีความผิดพลาดทั้งในเชิงประจักษ์ (ความท้าทายต่ออำนาจรัฐจาก “บน”และ “ล่าง”) และในเชิงมาตรฐานของพฤติกรรม (ความไร้สามารถของรัฐอธิปไตยที่จะตอบโต้ปัญหาระดับโลกร่วมกัน เช่น การขาดแคลนอาหาร, สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
             3.2 ความอยู่รอด (survival) เป้าหมายแรกของทุกรัฐคือความอยู่รอด ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติสูงสุดที่ผู้นำทางการเมืองทุกคนต้องยึดมั่น เป้าหมายอื่นๆ เช่น ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญรอดลงมา [หรือ “การเมืองระดับล่าง” (low politics)] เพื่อที่จะรักษาความมั่นคงของรัฐไว้ได้ ผู้นำต้องนำเอารหัสทางความเชื่อและหลัก (ethical code) ที่ตัดสินการกระทำจากผลลัพธ์ มากกว่าจะเป็นการตัดสินว่าการกระทำของบุคคลผิดหรือถูก ถ้ามีศีลธรรมใดๆ เกี่ยวข้องกับแนวคิดสัจนิยมทางการเมืองแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็คงเพียงสามารถยึดคิดแต่ในเฉพาะบางชุมชนเท่านั้น ข้อวิจารณ์หลัก ไม่มีขีดจำกัดการกระทำของของรัฐที่รัฐอ้างว่าเป็นความจำเป็นได้เลยหรือ
             3.3 การช่วยตัวเอง (self-help) ไม่มีรัฐหรือสถาบันอื่นใดที่รัฐหนึ่งจะสามารถไว้ใจในด้านความอยู่รอดของตนได้ ในการเมืองระหว่างประเทศ โครงสร้างของระบบไม่ได้ยอมให้มีความเป็นมิตร ความเชื่อใจ และเกียรติยศ เงื่อนไขของความไม่แน่นอนที่ยังคงเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากการขาดรัฐบาลโลก การอยู่ร่วมกันจะสำเร็จได้ต้องรักษาสมดุลแห่งอำนาจ (balance of power) และจำกัดความร่วมมือที่เป็นไปได้ในปฏิสัมพันธ์ที่ซึ่งรัฐที่มีแนวคิดสัจนิยม (realist state) จะสร้างกำลังมากขึ้นเหนือรัฐอื่น
    ข้อวิจารณ์หลัก หลักการช่วงตัวเองนั้นไม่ได้เป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการขาดรัฐบาลโลก การช่วยตัวเองเป็นตรรกะที่รัฐเลือกมาใช้ มากไปกว่านั้น ยังมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์และในปัจจุบันที่รัฐพอใจที่จะระบบความมั่นคงร่วมกัน(collective security systems) หรือสร้างประชาคมความมั่นคงแห่งภูมิภาค (regional security communities) มากกว่าที่จะใช้หลักการช่วยเหลือตัวเอง

    แนวคิดเสรีนิยม (Liberalism)

    1. บทนำ
             แนวคิดเสรีนิยมเดิมนั้นอยู่ในความคิดทางการเมืองซึ่งย้อนไปถึงนักคิดอย่าง John Locke ในปลายศตวรรษที่ 17 ตั้งแต่นั้นมาความคิดแบบเสรีได้ก่อรูปขึ้นมาว่าเราคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเมืองอย่างไร เสรีนิยมเป็นทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐบาลภายในรัฐ และแนวคิดธรรมาภิบาลระหว่างรัฐกับประชาชนทั่วโลก แนวคิดเสรีนิยมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสัจนิยมที่มองว่าการเมืองระหว่างประเทศเป็นอนาธิปไตย แต่พวกเสรีนิยมมุ่งค้นหาค่านิยมของความเป็นระเบียบ เสรีภาพ ความยุติธรรม และความอดทนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ช่วงสำคัญของความคิดแบบเสรีนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างมาถึงในยุคระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จากงานของพวกเสรีนิยมที่เชื่อว่าการทำสงครามไม่มีความจำเป็นและและเป็นวิธีการที่ล้าสมัยที่ต้องมาระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ สถาบันในประเทศและระหว่างประเทศมีความจำเป็นเพื่อปกป้องและส่งเสริมค่านิยมเหล่านี้ แต่ต้องเข้าใจว่าค่านิยมเหล่านี้และสถาบันอาจทำให้มีความแตกต่างทางนัยยะ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ว่ามีการถกเถียงอย่างรุนแรงระหว่างพวกเสรีนิยม   เสรีนิยมไม่เห็นด้วยกับประเด็นสำคัญ เช่น สาเหตุของสงคราม และสถาบันประเภทไหนที่จำเป็นต่อการส่งเสริมค่านิยมแบบเสรีนิยมในระบบระหว่างประเภทพหุวัฒนธรรมแบบกระจายอำนาจ และข้อแตกต่างที่สำคัญภายในเสรีนิยม ซึ่งมีความชัดเจนขึ้นในโลกโลกาภิวัฒน์ของเรา คือ ระหว่างพวกที่ปฏิบัติด้วยแนวคิดเสรีนิยมด้านบวก ซึ่งสนับสนุนนโยบายต่างประเทศแบบแทรกแซง (interventionist foreign policies) และสถาบันระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง กับพวกที่ต่อต้านด้วยแนวคิดด้านลบซึ่งให้ความสำคัญกับการอดทนและไม่แทรกแซง

    2. แก่นความคิดหลักในแนวคิดเสรีนิยมบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

             ความคิดเสรีนิยมบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงต้นมีมุมมองว่าระเบียบในธรรมชาติถูกฉ้อฉลโดยผู้นำรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและนโยบายที่ล้าสมัย เช่น สมดุลแห่งอำนาจ นักคิดเสรีนิยมยุครู้แจ้งยังเชื่อว่าศีลธรรมที่เป็นสากลที่มีอยู่สามารถบรรลุผลโดยการใช้เหตุผลและผ่านการสร้างรัฐที่มีรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมไปมากกว่านี้การไม่ควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนและสินค้าสามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกิดสันติได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความต่อเนื่องที่สำคัญระหว่างความคิดเสรีนิยมยุครู้แจ้งและความคิดในศตวรรษที่ 20 เช่น ความเชื่อในอำนาจของความเห็นสาธารณะของโลกซึ่งสามารถควบคุมผลประโยชน์ของรัฐได้ง่ายขึ้น แต่จิตนิยมเสรีนิยม (liberal idealism) ก็เป็นที่ถือนิยมมากกว่า สำหรับพวกจิตนิยมแล้ว อิสรภาพของรัฐเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการเมืองระหว่างประเทศและไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทางออก ข้อบังคับ 2 ประการที่มาจากการวินิจฉัยนั้น ได้แก่ ประการแรกคือความจำเป็นสำหรับการคิดเกี่ยวกับมาตรฐานพฤติกรรมอย่างชัดแจ้ง เช่น จะส่งเสริมสันติภาพและสร้างโลกที่ดีกว่าอย่างไร ประการที่สอง รัฐจะต้องเป็นส่วนหนึ่งขององค์การระหว่างประเทศและผูกมัดด้วยกฎและแบบแผนพฤติกรรมขององค์การระหว่างประเทศนั้นใจกลางความคิดของจิตนิยมนั้นคือ รูปแบบขององค์การระหว่างประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางสันติ การลดการสะสมอาวุธ การระงับข้อพิพาท และ (ถ้าจำเป็น) การบังคับได้ง่ายขึ้น สันนิบาตชาติ (League of Nations) ก่อตั้งขึ้นในปี 1920 แต่ระบบความมั่นคงร่วมกันล้มเหลวที่จะป้องกันการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษที่ 1930 
             รัฐที่ชนะสงครามในฐานะพันธมิตรในช่วงสงครามต่อต้านนาซีเยอรมัน ได้ผลักดันสถาบันการเมืองระหว่างประเทศใหม่ซึ่งสร้างขึ้นมาจากกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) เซ็นกันเดือนมิถุนายนปี 1945 โดยรัฐ 50 รัฐ ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากสันนิบาตชาติ 2 ประการ คือ ประการแรกสมาชิกภาพจะมีทั่วโลก อีกประการหนึ่งมหาอำนาจสามารถป้องกันการบังคับใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นและอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจในยุคหลังปี 1945 นั้น (ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) พวกเสรีนิยมได้ขอให้สถาบันระหว่างประเทศช่วยทำหน้าที่ต่างๆ ที่รัฐไม่สามารถทำได้ นี้เป็นตัวเร่งสำหรับทฤษฎีบูรณาการในยุโรปและพหุนิยมในสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 พหุนิยมได้สร้างความท้าทายครั้งสำคัญให้แก่แนวคิดสัจนิยม พหุนิยมมุ่งเน้นตัวละครใหม่ (บรรษัทข้ามชาติ, NGO) และรูปแบบใหม่ของปฏิสัมพันธ์ (การพึ่งพาซึ่งกันและกัน, การบูรณาการ)
             เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) แสดงให้เห็นถึงความท้าทายเชิงทฤษฎีที่ซับซ้อนมากขึ้นต่อแนวคิดสัจนิยมร่วมสมัย โดยอธิบายความคงทนของสถาบันระหว่างประเทศถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในบริบท ตามที่พวกเสรีนิยมใหม่ว่านั้น สถาบันระหว่างประเทศมีอิทธิพลต่อการใช้กำลังกันอย่างไม่ระมัดระวังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐและผูกมัดไว้ในแผนความร่วมมือต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าเสรีนิยมสันติประชาธิปไตย (democratic peace liberalism) และเสรีนิยมใหม่นั้นเป็นความคิดหลักในแนวคิดเสรีนิยมในปัจจุบัน

    แปลและเรียบเรียงจาก: Baylis, John. “Chapter 7 Realism” and “Chapter 8 Liberalism” in The Globalization of world politics: an introduction to international relations. Oxford: Oxford University Press, c2005


    ทฤษฎีเกม (Game Theory)
      
                ทฤษฎีเกมเป็นแนวทางในการอธิบายถึงพฤติกรรมในการตัดสินใจในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะใช้ในการตัดสินใจในทางธุรกิจ ในทางส่วนตัว ตลอดจนการใช้กรอบของการดำเนินนโยบายอย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายถึง “การดำเนินนโยบายสาธารณะ” (Public Policy) ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วย ทฤษฎีเกมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Behaviorism) อันหมายถึงกรอบในการวิเคราะห์บนพื้นฐานของพฤติกรรมในการตัดสินใจ ทฤษฎีเกมนั้นอาจจะจำแนกออกเป็น 2 แนวทางย่อย คือ

             1. ทฤษฎีเกมที่เน้น “ตรรกะเชิงตัวเลข” (Logical Mathematic Approach) จะสร้างรูปแบบทางออกในการตัดสินใจเป็นตัวเลขและมีการวิเคราะห์ในเชิงเหตุผล (rational) เพื่อจะหาข้อสรุปว่าแนวทางไหนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ตัดสินใจบนฐานของตัวเลขที่เห็นได้ชัด

             2. ทฤษฎีเกมที่เน้นในด้านของ “แนวทางประจักษนิยม” (Experimental Approach) จะเน้นการตัดสินใจบนพื้นฐานของประสบการณ์อันสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เคยมีการดำเนินการเป็นบรรทัดฐานความจริงนั้นทฤษฎีเกมทั้งสองแนวทางอาจจะไม่สามารถแบ่งแยกกันได้เด็ดขาด เพราะทั้งสองทฤษฎีนั้นมีตรรกะแห่งความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ในการตัดสินใจสิ่งที่ต้องพิจารณาประการแรก ก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยใจคอของผู้ตัดสินใจ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมตลอดจนระบบที่จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดลักษณะการตัดสินใจของบุคคล นิสัยใจคอของบุคคลแม้ว่าจะเป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวอธิบายทั้งหมด ทั้งนี้เป็นเพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะเป็นตัวกำหนด ยกตัวอย่างเช่นนาย ก. อาจจะเป็นคนเจ้าอารมณ์และอาจตัดสินใจด้วยความโมโห แต่เมื่อนาย ก. ได้กลายมาเป็นผู้นำในองค์กรหรือผู้บริหารระดับประเทศ การตัดสินใจของนาย ก. จึงมิใช่เป็นผลที่เกิดจากอารมณ์ แต่หากจะต้องมีองค์ประกอบของเหตุผลที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากองค์ประกอบของสภาพแวดล้อม อาทิเช่น ที่ปรึกษา รัฐสภา ตลอดจนความรู้สึกของประชาชน กรอบเหล่านี้จะทำให้แนวทางในการตัดสินใจของนาย ก. ณ สถานภาพหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสถานภาพหนึ่งในบริบทดังกล่าว

             ทฤษฎีเกมสามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 ลักษณะ  “แนวทางเกมศูนย์” (Zero Sum Game) และ “แนวทางเกมไม่ศูนย์” (Non-zero Sum Game) ซึ่งอาจจะจำแนกออกเป็น “เกมบวก” (Positive Sum Game) และ “เกมลบ” (Negative Sum Game)

             ทฤษฎีเกมศูนย์ (Zero Sum Game) หมายถึง แนวทางในการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่า ต้องมีผู้ได้ (Winner) และผู้เสีย (Loser) ถ้าจะว่ากันไปแล้วเกมศูนย์ก็คือเกมเล่นไพ่ ในวงไพ่ถ้ามีคนได้ 300 บาท จะต้องมีคนเสียรวมกันแล้วเท่ากับ 300 บาท ดังนั้น บวก 300 บาท ลบ 300 บาท จึงเท่ากับศูนย์ หรือเป็นเกมที่อธิบายว่า เมื่อมีผู้ได้ (Winner) ต้องมีผู้เสีย (Loser) เสมอไป ในการตัดสินใจบนพื้นฐานของเกมศูนย์นั้น ผู้ตัดสินใจที่จะเล่นเกมนี้จะต้องมีการประเมินอำนาจต่อรองและต้องมีความมั่นใจว่าตนเองนั้นมีอำนาจต่อรองสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จึงกล้าที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของเกมศูนย์ คือ ฉันได้และคุณเสีย พื้นฐานการตัดสินใจดังกล่าวนั้นย่อมอธิบายว่า ผู้ตัดสินใจได้คิดกรอบของตรรกะแห่งเหตุและผล (Rational) เป็นหลัก อย่างไรก็ตามในทางความเป็นจริง การตัดสินใจในกรอบนี้อาจจะจะมีความผิดพลาด ถ้าผู้ตัดสินใจแม้จะมีเหตุมีผลแต่ขาดข้อมูลที่เพียงพอหรือวิเคราะห์ผิดพลาด

             ทฤษฎีเกมลบ (Negative Sum Game) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีเกมประเภทไม่ศูนย์ (Non-zero Sum Game) หมายถึง กรอบการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่า ถ้าเมื่อใดผลการตัดสินใจนั้นจะทำให้ผู้ตัดสินใจทุกฝ่ายเป็นผู้เสีย ผู้ตัดสินใจเหล่านั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงการตัดสินใจดังกล่าว ตัวอย่างก็คือในกรณีนาย ก. กับนาย ข. มีการเจรจาต่อรองกันและในที่สุดก็เกิดทะเลาะกัน ทำให้การเจรจาต่อรองล้มเหลว และด้วยความโกรธต่างฝ่ายต่างพูดในทำนองว่าจะไม่คบค้าซึ่งกันและกันต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป นาย ก. และนาย ข. ต่างก็ตระหนักว่าขืนไม่ติดต่อกัน ธุรกิจทั้งสองฝ่ายจะพังทั้งคู่ เพราะนาย ก. ซื้อวัตถุดิบจากนาย ข. ซึ่งมีราคาถูกและหาซื้อจากที่อื่นไม่ได้ ทำให้นาย ก. มีความได้เปรียบคู่แข่ง ในขณะที่ นาย ข. ต้องพึ่งพานาย ก. ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งถ้านาย ก. ไม่ซื้อวัตถุดิบ นาย ข. ก็จะขาดทุน ลักษณะดังกล่าวนั้น ในทฤษฎีเกมจะอธิบายพฤติกรรมของนาย ก. และนาย ข. ในอนาคตว่าจะต้องกลับเข้ามาเจรจากันใหม่ และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเจรจา การที่นาย ก. และนาย ข. กลับเข้ามาคบค้าและเจรจากันใหม่นั้น ก็ด้วยความจำเป็นของเหตุผลที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย หรือที่เราเรียกว่า “เกมลบ” (Negative Sum Game) นั่นเอง และโอกาสที่จะเจรจาประสบความสำเร็จจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองได้มีประสบการณ์จากปัญหาที่เป็นผลจากการไม่คบค้าซึ่งกันและกัน

             ทฤษฎีเกมบวก (Positive Sum Game) ก็เป็นแนวทางหนึ่งของทฤษฎีเกมไม่ศูนย์ (Non-zero Sum Game) ซึ่งมีหลักการสำคัญที่อธิบายการตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผลว่า ผู้ตัดสินใจจะต้องพยายามหาแนวทางที่ได้ทั้งคู่ (Win-Win) ทางออกในการตัดสินใจของทุกฝ่ายก็คือ การประเมินสถานการณ์ของตัวเองและของอีกฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่ายก็ได้ และหาแนวทางที่จะมีจุดพบกันของผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เราเรียกว่า “เกมบวก” (Positive Sum Game) จุดที่เป็นเกมบวกนั้นย่อมเป็นจุดรวมของการหักลบผลประโยชน์และต้นทุนของแต่ละฝ่าย โดยมีข้อสรุปว่าการหักลบของแต่ละฝ่ายมีผลบวก (Positive) มากกว่าผลลบ และแน่นอนในทางปฏิบัติ บางฝ่ายย่อมมีมากกว่าบางฝ่าย บางคนอาจจะมีอำนาจต่อรองน้อยแต่เข้าใจฝ่ายตรงข้ามและมีข้อมูลมากกว่า ก็อาจจะได้ผลประโยชน์สูงกว่าฝ่ายตรงข้ามซึ่งแม้จะมีอำนาจต่อรองในทางความเป็นจริงมากกว่าก็ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ย่อมไม่ได้หมายถึงอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสีย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะเข้าในกรอบของเกมศูนย์ (Zero Sum Game) แต่ในทฤษฎีเกมบวก ผลได้อาจจะไม่เท่ากัน แต่ทุกฝ่ายสรุปหักลบแล้วต้องเป็นผู้ได้
    ตัดตอนและเรียบเรียงจาก: สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, “ทฤษฎีเกมกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ” ใน จุลชีพ ชินวรรโณ (บรรณาธิการ), ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: แนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษา.

    กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2547. หน้า 2-5
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×