ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แหล่งรวมเรื่องราวของสยามประเทศ

    ลำดับตอนที่ #28 : ตำนาน "ปืนใหญ่นางพญาตานี"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 476
      0
      21 ต.ค. 51

    สัญลักษณ์ ประการหนึ่งของกระทรวงกลาโหม คือหมู่ปืนใหญ่ที่ตั้งเด่นอยู่บริเวณด้านหน้าของกระทรวง ปืนใหญ่เหล่านี้ล้วนมีประวัติความเป็นมาที่น่าศึกษา เพราะนอกจากจะเคยใช้เป็นอาวุธประจำกองทัพมาแต่โบราณแล้ว รายละเอียดเกี่ยวกับการสร้าง การใช้ในราชการ ตลอดจนลวดลายประจำปืนแต่ละกระบอก จัดว่าเป็นประติมากรรมที่มีความสวยงามยิ่ง


    ปืนพญาตานีเป็นหนึ่งในหมู่ปืนดังกล่าว ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ

    เมื่อมีการพูดถึงปืนใหญ่แล้ว มักจะพูดถึงปืนพญาตานีเสมอ ปืนกระบอกนี้จัดอยู่ในประเภทปืนทองซึ่งเป็นปืนที่มีค่ามากกว่าปืนเหล็ก ซึ่งปืนพญาตานีหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีห่วงใหญ่สำหรับจับยก ๔ ห่วง ตอนท้ายลำกล้องมีเครื่องประกอบยาวยื่นออกไป ทำเป็นรูปสังข์หรือเขางอน ที่เพลามีรูปราชสีห์สลักงดงาม เกลี้ยงไม่มีลวดลายประดับ


    ใหญ่และยาวที่สุดในบรรดาปืนใหญ่ที่ตั้งไว้หน้ากระทรวงกลาโหม กระบอกปืนจารึกว่า "พญาตานี" ดินบรรจุหนัก ๑๕ ชั่ง ตามหลักฐานเก่าแก่ ลำกล้องกว้าง ๑๑ นิ้ว ยาว ๓ วาศอกคืบ ๒ นิ้วกึ่ง กระสุน ๑๑ นิ้ว ที่สำรวจใหม่วัดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องได้ ๒๔ เซนติเมตร ยาวตลอด ๖.๘๒ เมตร ขอบปากลำกล้องหนา ๑๐ เซนติเมตร


    ปืน พญาตานีนี้มีอายุประมาณ ๔๐๐ ปี หล่อขึ้นที่จังหวัดปัตตานี นับเป็นมรดกล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของชาวปัตตานีมาแต่สมัยโบราณ (โดยปัจจุบันกำหนดเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดปัตตานี) กล่าวเช่นนี้แล้วหลายคนคงสงสัยว่า แล้วมาอยู่ตรงหน้ากระทรวงกลาโหมได้อย่างไร




    เนื่องมาจากปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้า เป็นแม่ทัพเสด็จยกทัพไปปราบศึกพม่าซึ่งยกมาตีหัวเมืองภาคใต้ของไทย ครั้นทรงชนะศึกแล้ว ได้ทรงปราบปรามหัวเมืองภาคใต้ ซึ่งมักกระด้างกระเดื่องคอยเอาใจออกห่างจากไทยไปเป็นอื่น จึงโปรดให้ยกทัพไปปราบปรามจนมีชัยชนะ ได้ปืนใหญ่จากเมืองปัตตานีกลับมาถวายสมเด็จพระเชษฐาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามว่า "พญาตานี"


    ประวัติความเป็นมาของปืน มีผู้เขียนไว้หลายฉบับ อาทิ หนังสือสยาเราะห์เมืองตานี ของนายหะยีหวันหะซัน กล่าวว่าปืนพญาตานีหล่อในสมัยรายาอินทิราเจ้าเมืองปัตตานี เหตุที่หล่อขึ้นเนื่องจากมีพ่อค้าชาวจีนได้นำปืนและกระสุนปืนมาถวาย ทำให้เจ้าเมืองเกิดความละอายที่ไม่มีอาวุธปืนไว้สำหรับป้องกันบ้านเมืองเลย หลังจากนั้นจึงเรียกมุขมนตรีให้จัดหาช่างและทองเหลืองมาหล่อปืนให้ได้ภายใน ระยะเวลา ๓ ปี


    เมื่อได้ทองเหลืองพอที่จะหล่อปืนแล้ว รายาอินทิราได้ให้นายช่างชาวโรมันชื่อ อับดุลซามัค มาหล่อปืน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนรอมดอน ปีชวดนักษัตร์ ฮิจยาเราะห์ ๗๘ (ตัวเลขในต้นฉบับชำรุด) ได้ปืนใหญ่รวม ๓ กระบอก คือ สีรีนัครี โต๊ะโบะ และนางเลียว


     

     

    ส่วนหนังสือประชุมพงศาวดารภาคพงศาวดารเมืองตานี เรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) เป็นผู้เรียบเรียงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กล่าวว่า นางพญาปัตตานี ได้สั่งให้หล่อปืนทองเหลืองขึ้นมา ๓ กระบอก ช่างผู้หล่อปืนเป็นชาวจีน แซ่หลิม ชื่อเคี่ยม มีภรรยาเป็นชาวปัตตานีจึงเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม ชาวเมืองจึงเรียกว่าหลิมโต๊ะเคี่ยม

    ตาม พงศาวดารเล่าว่า การหล่อปืน ๒ กระบอกแรกผ่านไปได้ด้วยดี แต่ปืนกระบอกที่ ๓ เมื่อเร่งไฟสุมทองเหลืองแล้วกลับเทไม่ลงเบ้า หลิมโต๊ะเคี่ยมจึงตั้งพิธีบวงสรวงเทพยดาขอเอาร่างตนเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ในที่สุดหลิมโต๊ะเคี่ยมก็เททองเหลืองหล่อปืนใหญ่ได้สำเร็จ จึงอุทิศชีวิตของตนด้วยการเข้าไปยืนตรงปากกระบอกปืนดังกล่าวแล้ว สั่งให้คนยิง แรงระเบิดหอบเอาร่างหลิมโต๊ะเคี่ยมสูญหายไป


    ส่วนหนังสือสยาเราะห์กรียาอันมลายูปัตตานี ซึ่ง นายอิบรอฮิม ชุกรี ชาวกลันตันเป็นผู้เขียน ความว่า รายาบีรู หรือนางพญาบีรูเจ้าเมืองปัตตานีได้ปรึกษากับเสนาบดีผู้ใหญ่เพื่อหาอาวุธไว้ สำหรับปกป้องบ้านเมือง ในที่สุดรายาบีรูเห็นว่าควรหล่อปืน เพราะปืนที่เคยซื้อจากชาวยุโรปได้ย้ายสถานีการค้าออกไปจากปัตตานีทำให้หา ซื้ออาวุธปืนใหญ่ได้ยาก จากนั้นมีนายช่างหล่อปืนเป็นชาวจีนชื่อหลิมโต๊ะเคี่ยมรับอาสาหล่อปืนใหญ่

    ข้อมูล จากทุกตำราไม่ได้ระบุว่า ปืนพญาตานีหล่อขึ้นในปีใดแน่ แต่หากดูจากทั้งสามตำราแล้ว ช่วงเวลาในการหล่อปืนพญาตานีนั้นน่าจะอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๔๓-๒๑๖๗



    นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่า สถานที่ที่หล่อปืนใหญ่พญาตานี น่าจะอยู่บริเวณบ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี  ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ประมาณ ๘ กิโลเมตร (อยู่ฝั่งตรงข้ามไม่ไกลจากบริเวณมัสยิดกรือเซะ) เพราะบริเวณดังกล่าวยังปรากฏเป็นบริเวณที่เตียนโล่งเป็นเนินสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณ ๔ เมตร ไม่มีต้นไม้หรือหญ้าขึ้นบนนั้น เพราะดินบริเวณนั้นถูกเผาสุกกลายเป็นอิฐไปหมด และจะมีกร่อนตะกอนของเหล็กอยู่มาก รวมทั้งมีดินดำ ซึ่งมีลักษณะบ่งถึงลานกว้างที่หล่อปืนใหญ่


    ด้วยปืนพญาตานีนับว่าเป็นเอกลักษณ์ของ "ปาตานีดารุสลาม" (เช่นเดียวกับกริชนับเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรลังกาสุกะ) แต่ปืนใหญ่ถูกนำสู่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ นับมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี

    ดังนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดปัตตานีเพื่อเรียกร้องขอปืนพญาตานีกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด ภายใต้การนำของ ส.ส. พ.ต.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะมง ร่วมกับ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มดำเนินเรื่องขอปืนคืนกลับมายังปัตตานี มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ความเป็นจริงในสมัยหนึ่งเคยมีนโยบายจากรัฐบาลนำของมีค่าต่างๆ คืนถิ่น แต่นโยบายนี้ก็เงียบหายไป


    จากการสัมภาษณ์นายอิสมาอีล เบญจสมิทธิ์ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการดำเนินเรื่องขอคืนพญาตานี อุสต๊ะอิสมาอีล เล่าให้ฟังว่า คนปัตตานีอยากได้ปืนพญาตานีของจริงคืนมายังปัตตานี แต่ด้วยปืนพญาตานีขณะนี้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หากมีการเคลื่อนย้ายปืนพญาตานีกลับไปอาจจะเป็นการผิดพระราชประสงค์ได้


     

     

    เดือนตุลาคม ๒๕๔๕ คณะผู้ดำเนินเรื่องจึงประชุมหารือยื่นข้อเสนอขอพระบรมราชานุญาตหล่อจำลองปืน พญาตานีแทน (แม้ว่าสำนึกของประชาชนชาวปัตตานีก็ยังอยากได้ปืนพญาตานีของจริงคืนมา) กระทั่งเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้จำลองปืนใหญ่ได้

    แต่ปัญหาในเรื่องปืนพญาตานีก็ยังไม่จบแค่ตรงนี้


    จาก การสัมภาษณ์ความรู้สึกของชาวปัตตานีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นตรงกันว่าอยากให้ ปืนใหญ่พญาตานีที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมกลับมายังปัตตานี  แต่เมื่อไม่สามารถนำปืนใหญ่กลับมาได้ก็อยากให้หล่อปืนที่ปัตตานี  ด้วยอยากมีส่วนร่วมในการจำลองปืนนี้ ชาวบ้านคนอื่นต้องการที่จะนำทองเหลืองมาช่วยในการหลอมปืนใหญ่จำลองเหมือน ครั้งในอดีต แต่ไม่สามารถทำได้ ด้วย "ทางการ" บอกว่าหากนำปืนใหญ่มาหลอมที่ปัตตานีจะต้องลงทุนสูงมากซึ่ง "ทางการ" ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้


    ชาวปัตตานีต้องการให้หล่อปืนจำลองที่ ปัตตานีด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ ถ้าหากหล่อปืนที่กรุงเทพฯ อาจมีการประกอบพิธีกรรมบางอย่างที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ประการที่ ๒ คือชาวปัตตานีอยากมีส่วนร่วมในการหล่อปืน


    และยังคงมีปัญหาว่าเมื่อนำปืนกลับมาแล้วจะไปวางไว้ที่ไหน จากการประชุมครั้งแรกมีสถานที่ ๓ แห่งที่ได้รับการเสนอเข้าที่ประชุม คือ บริเวณใกล้มัสยิดกรือเซะ สถานที่หล่อปืนในอดีต และที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


    ใน ส่วนของเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดประชุมความคืบ หน้าแต่ละครั้ง ได้เล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าโดยสังเขปว่า ขณะนี้ทางจังหวัดกำลังระดมทุนและจัดทำคำสั่งต่างๆ เพื่อหล่อปืนใหญ่จำลอง การประชุมครั้งหลังสุดเมื่อต้นปี ๒๕๔๗  ได้ข้อสรุป ๓ เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ


     

     

    หนึ่ง ไม่ตั้งปืนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องที่ ๒ คือการหล่อปืนจะทำที่กรุงเทพฯ และเรื่องที่สาม ปืนที่จะนำมาตั้งที่ปัตตานีคือปืนใหญ่ที่จำลอง

    เพราะ ปัญหาที่สำคัญ คือไม่มีงบประมาณในการจัดสถานที่ตั้งปืนใหญ่ ซึ่งทางคณะทำงานอาจขอรับบริจาคจากประชาชนในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้ เคียง

    ศิลปวัฒนธรรม
    วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 10
    ท้องถิ่นของเรา/อรวรรณ ทับสกุล


    นำมาจาก

    http://www.artsmen.net/content/show.php?Ca...ard&No=3689




    ตามกระแสหนังปืนใหญ่จอมสลัดคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับปืนใหญ่พญาตานีครับ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×