ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ๓ ๒ ๑... >> ที่มาของสุภาษิต สำนวน คำพังเพยไทย

    ลำดับตอนที่ #17 : หมวด ท

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.96K
      0
      11 ธ.ค. 52

    ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป
         สำนวนนี้ หมายความว่า การทำคุณหรือการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเจตนาดี แต่กลับกลายเป็นได้รับโทษตอบแทนหรือเข้าทำนองที่ว่า ยุ่งไม่เข้าเรื่องอะไรทำนองนั้นสำนวนนี้นิยมใช้ประโยคแรกประโยคเดียวพูดก็เป็นที่เข้าใจกัน

    ทุบหม้อข้าวตัวเอง
         เป็นสำนวนที่หมายถึง การทำลายอาชีพหรืองานในหน้าที่ หรือผลประโยชน์ที่ตนกำลังได้รับอยู่ เช่นคิดทุจริตต่อนายจ้างของตนเองทำให้นายจ้างจับได้ถูกไล่ออกเรียกว่า “ทุบหม้อข้าว” ของตนเอง เพราะเมื่อหม้อข้าวแตกเสียแล้ว ก็อดกินข้าวหรือบางทีอาจจะไม่มีหม้อหุงข้าวไว้สำหรับหุงเองด้วย

    เทวดานิมนต์มาเกิด
         สำนวนในชั้นเดิม เข้าใจว่าคงจะหมายไปในทางดีหรือหมายถึง “คนดี” เพราะลงว่าเทวดาหรือสวรรค์ให้มาเกิดแล้ว ก็น่าจะเป็นคนมีบุญ และมีพรสวรรค์ให้เป็นคนเก่งยอดเยี่ยมกว่าคนธรรมดาอย่างแน่นอน แต่ตกมาระยะหลัง กลับมีผู้นำไปใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรย หรือประชดประชันเด็ก ๆ ที่เกกมะเหรกเกเรหรือซนเก่งเป็นยอดเยี่ยม ว่าเป็นเด็กที่ “เทวดานิมนต์มาเกิด” ไปเสีย

    s10

    ทำนาบนหลังคน
         หมายถึงคนที่คิดหาผลกำไรหรือหาผลประโยชน์ใส่ตน ด้วยวิธีเบียดเบียนหรือรีดนาทาเร้นเอาจากน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่น โดยขาดความเมตตา เช่น ให้กู้เงินแล้วเรียกดอกเบี้ยแพง ๆ หรือกว้านซื้อข้าวจากชาวนาในราคาถูก ๆ เพื่อเอามาค้าหากำไรโดยเหตุที่การทำนาของคนไทยในสมัยโบราณจัดว่า เป็นอาชีพหลักและสำคัญส่วนใหญ่โบราณจึงเอาเรื่อง “ทำนา” มาผูกเป็นสำนวนความหมายทำนองเดียวกับ “รีดเลือดกับปู” ก็ได้

    เทศน์ตามเนื้อผ้า
         แปลว่า จะพูดหรือสั่งสอนใครก็พูดเรื่อยไปตามตำราหรือแบบแผน ไม่มีการดัดแปลงให้เข้ากับคนฟังหรือให้เหมาะสมกับกาลเทศะจึงย่อมจะมีผู้ฟังบางคนไม่เข้าใจก็ได้

    ท้องยุ้งพุงกระสอบ
         สำนวนนี้เป็นคำพังเพยที่โบราณกล่าวขานถึงคนที่กินจุ “กินเหมือนยัดหมอน” เปรียบเหมือนคนที่กินไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอสำนวนอีกคำหนึ่งคือ “ชูชก” ซึ่งเป็นตัวละครเดินเรื่องสำคัญในพระเวสสันดรชาดก กล่าวว่า ชูชกนั้นกินอาหารอร่อยๆ ที่พระเจ้าสีพีเอามาให้จนถึงขั้นท้องแตกตาย

    ทำคุณบูชาโทษ
         คำพังเพยสำนวนนี้มีเพิ่มมาอีกคำหนึ่งว่า “โปรดสัตว์ได้บาป” เป็นคำพูดง่ายๆ เตือนใจคนว่า การทำคุณกลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย การอย่างนี้ยังมีในโลก เพราะมนุษย์นั้นมีจิตสูงต่ำไม่เหมือนกัน และมักจะมองกันในมุมตรงกันข้ามเสมอ

    ทาสในเรือนเบี้ย
         โบราณนำเรื่องราวของทาสมาสร้างเป็นคำพังเพยให้คนทั่วไปได้ทราบ และเอาไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของชีวิตได้ นั่นคือทาส ที่เรียกกันว่า ทาสในเรือนเบี้ย ซึ่งเป็นลูกของทาสที่นายเงินซื้อมา (อาจเรียกว่าทาสน้ำเงินก็ได้) ทาสพวกนี้จะถูกสั่งให้ทำงานโดยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นโบราณจึงเปรียบกับคนที่ต้องทำงานโดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้งว่าเป็นเหมือนทาสในเรือนเบี้ย

    ทอดสะพาน
         โบราณนำประเพณีบ้านที่อยู่ริมคลองจะต้องมีสะพานไว้สำหรับทอดรับแขกที่จะมาเยือนให้ข้ามคลองมา ถ้าไม่ใช้ก็จะชักสะพานเก็บไว้ ในคำพังเพยนี้โบราณต้องการให้พ่อแม่ได้เอาใจใส่ในความประพฤติของลูกสาวว่าจะมีทีท่าให้ท่าให้ทางกับผู้ชายหรือไม่ กิริยานั้นเรียกว่า “การทอดสะพาน” ผู้ชายเห็นก็จะเดินเข้ามาหาได้ง่ายๆ ซึ่งผิดลักษณะของกุลสตรี

    ทางเตียนเวียนลงนรก ทางรกวนขึ้นสวรรค์
         โบราณนำเรื่องของหนทางเดินมาเปรียบเทียบเป็นคำพังเพยเตือนใจคนว่า ทางเตียนนั้นราบเรียบสะดวกสบายเดินง่ายเหมือนความชั่วนั้นทำได้ง่าย ส่วนทางที่รกรุงรัง มีทั้งอุปสรรคขวากหนามสารพัดานั้นก็เหมือนความดีที่จะทำได้ยาก ต้องใช้ทั้งความพยายาม ความอดทน จึงจะบรรลุถึงความดีและไปสู่ทางสวรรค์

    ทองไม่รู้ร้อน
         โบราณนำเอา “ทองคำ” มาสร้างเป็นคำพังเพยเพื่อเตือนสติคนว่า ทองคำนั้นเมื่อนำไปหลอมละลาย ก็จะละลายกลายเป็นทองเหลว (น้ำทอง) โดยที่ทองคำเองก็ไม่ได้รู้ถึงความร้อนนั้น นำมาเปรียบเทียบกับคนที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวปล่อยตัวตามสบายเหมือนทองที่ไม่รู้จักความร้อน ทั้งๆ ที่ตัวเองถูกความร้อนหลอมละลายเป็นของเหลวไปแล้ว คนอย่างนี้โบราณไม่นิยมเชื่อถือ

    ขอบคุณที่มาข้อมูล
    salanluck.awardspace.com
    9bkk.com
    ขอบคุณที่มารูปภาพ
    siamtower.com

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×