ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องถิ่นเมืองเหนือ

    ลำดับตอนที่ #49 : หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร ผู้เยื่อกเย็นและอ่อนโยน ภาค น้ำตาหลั่งที่ศรีดอนไชย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 145
      0
      23 ต.ค. 54

     


    เกร็ดประวัติ

    น้ำตาหลั่งที่ศรีดอนไชย

    โดย พุทธวงศ์

    คัดลอกจากเวบ www.phuttawong.net

    อันพระ คุณาลังกาโรมหาเถระ หรือที่เรียกหากันรู้จักทั่วไปเป็นอย่างดีอีกนามหนึ่งในชื่อ  ครูบาคำแสนน้อย  แห่งวัดดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่  นั้น โดยแท้แล้ว ท่านเป็นพระอริยสงฆ์อาวุโส

    ฝ่ายมหานิกายของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  พระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานแห่งยุค อีกทั้งยังเป็นสหธรรมิกรุ่นราวคราวเดียวที่สนิทกับ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ  วัดดอยแม่ปั๋ง จ. เชียงใหม่ เป็นอย่างยิ่ง อีก

    สถานหนึ่งด้วยแต่โดยแท้จริงแล้ว  ท่านพระครูบาคำแสน วัดดอนมูลนี้  จะมีคำว่า น้อย ติดห้อยชื่อมาแต่เดิมนั้น หามิได้แต่เป็นด้วยเหตุที่เมืองเชียงใหม่ยุคนั้น  มีพระเถระสุปฏิปันโนชั้นผู้ใหญ่ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบชื่อ  คำแสน อยู่ 2 องค์ คือ

    1. พระครูสุคันธศีล (คำแสน  อินทจักโก) วัดสวนดอก อ. เมือง จ.เชียงใหม่

    2. ครูบาคำแสน  คุณาลังกาโร วัดดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 

    พระครูสุคันธศีล
    (คำแสน อินทจักโก)

     แต่ด้วยเหตุที่ท่านคำแสน ในเวียงนั้น ท่านมีอาวุโสพรรษาสูงกว่า  บรรดาชาวบ้านจึงเรียกขานท่านว่าครูบาคำแสนใหญ่”  และในขณะเดียวกัน ก็เรียกขานครูบาคำแสน สันกำแพงว่า ครูบาคำแสนน้อยไปโดยปริยายด้วยประการฉะนี้

    และเมื่อครั้งที่ครูบาคำแสน คุณาลังกาโร ยังเป็นพระภิกษุนวกะ อายุ 20 เศษ  โดยเพิ่งจะบวชในบวรพระพุทธศาสนาได้ไม่นาน   ท่านก็ได้ยินข่าวว่า ทางการได้จับตัวพระครูบาศรีวิชัยมากักขังไว้ที่วัดศรีดอนไชย   ซึ่งแต่เดิมนั้น ครูบาคำแสน เคยได้ยินกิตติศัพท์และมีความศรัทธาเลื่อมใสในบารมีธรรมแห่งท่านพระครูบาเจ้าฯมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  ต่อเมื่อได้ทราบข่าวร้ายดังกล่าว ก็ให้รู้สึกเสียใจและทนอยู่เฉยๆไม่ได้  พร้อมกับอยากจะไปกราบนมัสการแสดงความเห็นใจ

    เมื่อคิดได้ดังนั้น ครูบาคำแสนก็ได้ชักชวนพระสงฆ์และชาวบ้านจำนวนมากให้พากันไปเยี่ยมครูบาศรีวิชัยยาชนะ เจ้าตนบุญที่กำลังถูก มารผจญ อยู่ด้วยกัน  แต่ปรากฏว่าคนจำนวนมากกลัวจะได้รับราชภัย  มนุษยภัย หากไปเยี่ยมพระครูบาเจ้าฯ  จึงพากันหลีกหนีปฏิเสธไป มากกว่ามาก  ที่สุด ครูบาคำแสนจึงจำต้องเดินทางบุกป่าฝ่าดงมาเองกับเณรและลูกศิษย์เพียง 2-3 คนเท่านั้น

    จากปากคำของครูบาคำแสน ท่านได้เล่าให้ฟังว่า

    ท่านครูบาออกเดินเท้าจากวัดตั้งแต่เช้าด้วยระยะทาง 15-16  กิโลเมตร กว่าจะถึงวัดศรีดอนไชย  ก็ได้เวลาเพลแล้ว  โดยเมื่อไปถึง ก็เห็นตำรวจยืนเฝ้าอยู่ จึงขออนุญาตเข้าไปกราบไหว้สาครูบาเจ้าศรีวิชัยในทันทีอย่างไม่รีรอ

    สภาพที่ท่านครูบาคำแสนได้ประจักษ์ จนแทบไม่น่าเชื่อแก่สายตาของท่านนั้นก็คือ ทางคณะสงฆ์และทางราชการได้ใช้ เชือกมนิลา เส้นโต ผูกเสาภายใน “ศาลาบาตร” ไว้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือน “คอกหมู”  ก็ไม่ปาน และภายในคอกสี่เหลี่ยมนั้น ก็มีพระสงฆ์วัยกลางคนรูปหนึ่ง ห่มผ้าสีกลัก ในคอสวนประคำเส้นใหญ่ กำลังนั่งภาวนาอยู่ในอาการสงบ

    สามเณรคำแสน

    ครูบาคำแสนจึงได้แจ้งแก่ใจโดยมิต้องพักให้ใครตักเตือนว่า นี้แลคือ ”พระครูบาเจ้าศรีวิชัย” ยอดนักบุญแห่งล้านนาไทยแน่นอนแล้ว ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสอย่างลึกซึ้ง  ครูบาคำแสนจึงคลานเข้าไปกราบครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งกำลังนั่งภาวนาอยู่เบื้องหน้าในบัดนั้น   และในขณะเดียวกันที่ครูบาคำแสนกำลังกราบลงนั่นเอง   ครูบาคำแสนก็รู้สึกสะเทือนใจจนมิอาจจะอดกลั้นไว้ไหวได้  ท่านจึงได้เปล่งเสียงปริเวทนาการร่ำไห้ออกมาดังโฮใหญ่  ด้วยแสนสงสารในองค์พระครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ต้องมาถูกจองจำ และจะต้องถูกจับสึกที่กรุงเทพมหานครในอีกไม่ช้านาน นับแต่นี้ไปเมื่อหน้าอย่างยากที่จะคิดให้เป็นอื่นได้  

    “ฮือ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ”

    เสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นของครูบาคำแสนในตอนนั้น ชะรอยว่าคงจะไปกระทบกับจิตในองค์สมาธิของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าโดยตรง  ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถอยจิตออกจากองค์ภาวนามา  พร้อมกับเอื้อมมือมาตบที่ไหล่ของครูบาคำแสนน้อยก่อนที่จะ “ดุ” ด้วยความเมตตาอย่างยิ่งใหญ่ลึกซึ้งมากๆ ว่า

    “ท่าน...ท่านเป็นพระจะร้องไห้ไม่ได้นะ”

     เมื่อรู้สึกตัว  ครูบาคำแสนก็ได้แต่เงยขึ้นมามองครูบาเจ้าฯ ทั้งๆน้ำตายังอาบหน้าอยู่นั้น  ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้สั่งสอนต่อไปอีกด้วยว่า “พระนั้น ต้องเป็นผู้ตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง  จะต้องระงับอารมณ์มิให้มีการร้องไห้อย่างเด็ดขาด    การที่จะมานั่งร้องไห้เยี่ยงนี้ หาควรไม่เลยนะ ตุ๊เหย.....”

    จากถ้อยคำอันมั่นคงดั่งหินผาของท่านพระครูบาเจ้าฯ ดังกล่าว ก็เหมือนหนึ่งน้ำทิพย์หยาดลงมาชโลมใจให้คลายจากความโศก  ครูบาคำแสน ซึ่งในตอนนั้นยังเป็น “ตุ๊เจ้า” หนุ่มน้อยอยู่ จึงได้พยายามสะกดกลั้นปริเวทนาการทั้งปวงให้ระงับดับไป พร้อมนั้น “ตุ๊เจ้าต๋นบุญ” ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็เลย “จับ” ครูบาคำแสนน้อยหัด “นั่งกรรมฐาน” ในบัดเดี๋ยวนั้นเสียเลยทีเดียวว่า

    “ให้ตุ๊นั่งขัดสมาธิ แล้วเอามือประสานกันวางไว้ที่ตัก หลับตาพร้อมกับท่องคำ “พุทโธๆๆ” ไปเรื่อยๆ   จะหลายสิบหลายร้อยจบอย่างไร ก็ให้นึกภาวนาไปก่อนเต๊อะ............”

    ครูบาศรีวิชัย ถ่ายเมื่อครั้งถูกจองจำ
    อยู่ที่วัดศรีดอนไชย

    เมื่อครูบาคำแสนได้ฟัง ก็รีบปฏิบัติตามพระกรรมฐานที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ขึ้นให้ในโอกาสและสถานที่ที่ “ไม่เหมือนใคร” และ “ไม่มีใครเหมือน” อันหาได้ยากยิ่งนี้ด้วยความเคารพในทันที

    พุทโธ...

    พุทโธ.....

    พุทโธ......

    พุทโธ.......

    พุทโธ........

    พุทโธ.............

    ฯลฯ.......................

    และภายหลังจากที่ได้ “นึกพุทโธ” ไปไม่รู้ว่านานเท่าไร  จิตใจของครูบาคำแสนก็สงบจากนิวรณ์เครื่องเศร้าหมองทั้งปวง  อาการสะอื้นไห้และน้ำตาได้หายไปจนหมดสิ้น  คงมีแต่ความสันติและเป็นสุขอันเป็นอุเบกขาอย่างน่าประหลาด แตกต่างจากเมื่อสักครู่อย่างสิ้นเชิงราวฟ้ากับดิน

    จนเห็นว่า “พระน้อย” จิตใจสงบเย็นลงพอสมควรแล้ว   ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงสั่งให้ครูบาคำแสนลืมตาขึ้น แล้วสอบถามว่า

    “ท่านมาจากที่แห่งใดหรือ ตุ๊น้องเหย??”

    ครูบาคำแสนได้แต่กราบลงแทบเท้าพระครูบาเจ้าฯ ก่อนกราบเรียนไปว่า

     “ข้าเจ้ามาจากวัดดอนมูล  สันกำแพงขอรับ  ครูบา....”

    เมื่อได้ทราบที่มาพอควรแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้เมตตาเทศน์อบรมเรื่อง “ขันติ” (ความอดกลั้นทนทาน)ให้ครูบาคำแสนฟัง  พร้อมกับแนะนำสั่งสอนให้ศึกษาวิปัสสนาธุระ  โดยเริ่มต้นปฏิบัติดังที่ได้ทำมาแล้วเมื่อสักครู่  เสร็จแล้วครูบาเจ้าฯก็สั่งว่า

    “เอาเต๊อะ...เท่านี้ก็พอสมควรแล้วนะ....ท่านกลับได้แล้วละเน้อ”

    นี้คือความทารุณโหดร้ายอันปราศจากความเมตตาและสามัญสำนึกของ “ทางการ” และ “คณะสงฆ์” (บางกลุ่ม) ที่มีโมหะจริตปิดบังตาและความยุติธรรม ที่ได้มีต่อพระครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างยากที่ใครที่ไม่เห็นกับตา ยากจะเชื่อถือได้ และหากว่านี่  มิได้เป็นคำบอกเล่าจากประสบการณ์โดยตรงของ “พระอริยสงฆ์เจ้า” องค์สำคัญแห่งภาคเหนือและสายกรรมฐาน อย่างหลวงปู่ครูบาคำแสน คุณาลังกาโร  วัดดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่อย่างแท้แล้ว  หลายๆ คนอาจจะคิดได้ว่า นี่ย่อมเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อ “ให้ร้าย” กันจนเกินจริงเป็นแน่

    หรือว่า  ข้อมูลจากวงในที่เคยได้ยินมาว่า  สิ่งที่ “ทางการ” และ “คณะสงฆ์” ลำพูน เชียงใหม่ในเวลานั้นต้องการมากที่สุดนั้น หาใช่เป็นเพียงแค่“หาความ” ให้เดือดร้อนเล่นเปล่าๆ แต่อย่างใด  แต่ร้ายแรงถึงขั้นให้พระครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกทางกรุงเทพ “จับสึก” และ “ประหารชีวิต” ในฐาน “กบฏ” และ“ผีบุญ” จะเป็น “ความจริง”

    จริงๆ แล้ว   เมื่อพิจารณาจาก “ทารุณกรรม” ทั้งปวงที่ “ผู้มีอำนาจ” ต่างได้พาบีบคั้นแก่พระครูบาเจ้าฯอย่างหนักหนา ดุจดังที่ครูบาคำแสนได้เล่ามานี้??? ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็น “เรื่องจริง” แท้แล้วไซร้  ก็นับเป็น “กรรม” ของพระศาสนานี้แล้วโดยแท้......... หรือมิใช่..????? 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×