ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องถิ่นเมืองเหนือ

    ลำดับตอนที่ #45 : ครูบาชัยยะ วงศาพัฒนา อริยบุคคลในดงกะเหรี่ยง ภาคเกร็ดประวัติหลวงปู่ 3

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 457
      2
      30 ก.ย. 54


    เกร็ดประวัติหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา ๓

    วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

    โพสท์ใน เวบ PaLungJit.com โดย hero_ultra (ณพลเดช รักษ์บำรุง) เมื่อ 11-10-2007

    ประวัติพระบาทกบ

    จากหนังสือ ธรรมปกิณกะ เล่ม 1

    ...มีเรื่องของประวัติพระบาทกบ เกี่ยวเนื่องกับครูบาท่าน

    ในอดีตกาล ในยุคที่ พระพุทธตัณหังกะโร ได้มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    (ก่อนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ย้อนไป 28 พระองค์)

    มีเด็กชายพี่น้อง 4 คน เป็นคนยากจน กำพร้าพ่อแม่ ตั้งแต่ยังเล็กๆด้วยกัน จึงต้องหาอาชีพรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเลี้ยงปากท้องไปวันๆ บางวันก็ไม่ค่อยพอ กินไม่ค่อยอิ่ม

    เด็กชายพี่น้อง 4 คน ต่างก็รับจ้างเป็นคนเลี้ยงควาย ให้กับนายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้มีฐานะคนหนึ่งเป็นประจำ พวกเขาจะต้อนควายฝูงใหญ่ให้หากินหญ้าตามประสาที่กลางทุ่งแห่งหนึ่ง ส่วนพวกเขาก็จะไปหลบพักนั่งหลบแดดอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง คือ "ต้นทองกวาว"

    ในขณะที่นั่งพักก็จะเฝ้าดูควายไปด้วย พอตกเย็นก็ช่วยกันต้อนควายเหล่านั้นกลับเข้าคอก จะกระทำเช่นนี้อยู่ทุกวันเป็นประจำ

    วันหนึ่งประมาณเที่ยงวัน ขณะที่พวกเขา 4 คนพี่น้อง นั่งหลบแดดเฝ้าดูควายอยู่ภายใต้ร่มต้นทองกวาวอยู่นั้น ก็นั่งคุยกันเรื่อยเปื่อย

    ในที่สุดก็เลยถามกันเองว่า "พวกเรา 4 พี่น้องนี้ ใครปรารถนาอยากจะเป็น อยากจะได้อะไรบ้าง ใครนึกอยากจะมีอะไร ทำอะไรก็ให้บอกมา"

    โดยพวกพี่ทั้ง 3 คน ได้พูดถามกับน้องคนสุดท้องว่า "น้องล่า..จะเป็นอะไรอยากได้อะไร อยากจะเป็นเจ้านาย เศรษฐีร่ำรวยมีข้าวของ เงินทอง หรืออยากได้อะไรให้พูดมาเลย"

    น้องคนสุดท้อง ก็มานั่งคิดพิจารณาว่าจะเป็นอะไรดี จะเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองก็มีความทุกข์ ปัญหามาก เป็นคนมั่งมีข้าวของเงินทองก็ทุกข์ ต้องคอยระวังรักษา เป็นเจ้าลูก-เจ้าเมียก็ทุกข์ อันใดก็ทุกข์ทุกอย่าง ไม่เห็นดี ไม่เป็นสุขโดยตลอดเลย สู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าดีกว่า จะได้พ้นทุกข์ มีสุขอย่างแท้จริง

    จึงได้กล่าวตอบพวกพี่ๆ ไปว่า

    "พี่ของข้าทั้ง 3 เอ๋ย ตัวข้าปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว"

    แล้วน้องสุดท้องก็ถามกลับยังพี่ชายคนที่ 3 ว่า

    "แล้วอ้ายล่ะ ปรารถนาอะไร อยากเป็นอะไร อยากได้อะไร"

    พี่คนที่ 3 ก็ว่า "ถ้าน้องปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ตัวอ้ายก็ปรารถนาจะเอาขี้บูชา"

    น้องสุดท้องก็ตอบว่า "ดีแล้ว...ถ้าอ้ายปรารถนาอย่างนี้"

    หลังจากนั้นน้องสุดท้องก็ถามพี่ชายคนที่ 2 ว่า "อ้ายล่ะ ปรารถนาอยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ขอให้บอกแก่น้องด้วย"

    พี่คนที่ 2 ก็ตอบว่า "ถ้าน้องปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อ้ายก็ปรารถนาจะถอนขนที่ก้นบูชา"

    น้องก็ตอบว่า "ดีแล้ว อ้ายปรารถนาอย่างนั้นดีแล้ว"

    พี่ชายคนโตเมื่อได้ยินน้องรองทั้งสองกล่าวคำปรารถนาเช่นนั้นต่อน้องสุดท้อง ก็ไม่พอใจ

    จึงได้กล่าวดุด่าน้องทั้งสองว่า "พวกสูนี่โง่เง่าหรืออย่างไร น้องปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แต่สูทั้งสองกลับจะเอาของไม่ดีไปบูชา สูนี่แย่ โง่เง่าเต่าตุ่น ที่ถูก เราควรปรารถนาอย่างน้องล่าดีกว่า"

    พี่น้องทั้ง 4 พูดกันแค่นี้แล้วก็เลิกกันไป

    เวลาผ่านไป จนพี่คนโตถึงแก่กรรม ก็ได้ไปเกิดเป็น พญากบ เฝ้าดอกบัวอยู่

    น้องคนที่สอง เมื่อถึงแก่กรรมก็ไปเกิดเป็น พญานกยูง

    น้องคนที่สาม ถึงแก่กรรมตามอายุขัยก็ไปเกิดเป็น พญาผึ้ง

    ส่วนน้องคนสุดท้องปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อถึงแก่กรรมก็ไปเกิดเป็นผู้มีศีล มีสัตย์ มีเมตตาและได้เกิดเป็นหน่อพุทธางกูรมาทุกชาติ จนเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

    ส่วนพี่ๆ ทั้ง 3 คน ก็ได้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อ ๆ ไป ในอนาคตกาลตามวิถีแห่งความปรารถนาในภายหลัง

    ผลจากการตั้งจิตปรารถนาอะไร อย่างไรไว้ ก็ต้องเป็นไปตามผลแห่งความปรารถนา ตามนั้น

    น้องคนสุดท้องปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องมีความอุตสาหะ วิริยะ บำเพ็ญบารมี สร้างสมคุณงามความดี เป็นเวลาถึง 4 อสงไขยแสนกัป จึงได้เป็นพระพุทธเจ้าตามความปรารถนา

    ส่วนพี่คนที่ 3 (ตัวครูบา) ที่ปรารถนาจะเอาขี้บูชา ก็ได้เป็นพญาผึ้ง ซึ่งคนทั้งหลายจะนำเอาขี้มาทำเป็นเทียน เพื่อจุดบูชาพระพุทธรูป หรือพระธาตุเจดีย์วิหาร เป็นปูชนียวัตถุแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ส่วนพี่คนที่ 2 ที่ปรารถนาจะเอาขนที่ก้นบูชาพระพุทธเจ้า ก็ได้มาเกิดเป็นพญานกยูง ซึ่งพุทธบริษัทได้นำเอาขนหางที่สวยงามมาทำเป็นพัดและเครื่องประดับ เพื่อใช้บูชาในพิธีทางศาสนาต่างๆ

    ส่วนผลกรรมของพี่ชายคนโตที่ว่า "น้อง 2 คน โง่เง่า" ทำให้มาเกิดเป็นพญากบ เฝ้าดอกบัวอยู่ โดยไม่รู้คุณค่าของดอกบัว และยังติดตามมาในชาติต่อๆมา แม้เมื่อมาเกิดเป็นกษัตริย์ บริวารของท่านก็ใช้คำพูดไม่ดีเป็นอาจิณกรรม คือชอบว่าผู้อื่น "โง่ เซ่อ" เป็นประจำ

    ฝ่ายพญานกยูง ซึ่งเป็นน้องคนที่ 2 เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ บริวารของท่านคือ พม่า และ ไทยใหญ่ ซึ่งมีนิสัยใช้ผ้าโสร่งที่ปกปิดก้น เอามาเช็ดหน้า เอามาหนุนนอน เช่นเดียวกับนกยูงซึ่งถือหางเป็นสำคัญ

    ส่วนพญาผึ้ง ซึ่งเป็นน้องคนที่ 3 เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์อีก บริวารของท่านคือ พวกกระเหรี่ยง พวกละว้า พวกชาวเขาเผ่าต่างๆ พวกนี้มีอาจิณกรรม คือ มีนิสัยนุ่งผ้าแล้วไม่ยอมซัก นุ่งจนผุจนขาด ถ้วยไหตะไลชามของใช้ก็ไม่ยอมล้าง ตัวก็ไม่ใคร่จะอาบน้ำ ขี้ไคลพอกอยู่หนา แทบจะเอามาปั้นเป็นก้อนเหมือนขี้ผึ้งได้ คล้ายๆ กับผึ้งที่สะสมขี้เอาไว้ฉะนั้น

    อาจจะกล่าวได้ว่า อุปนิสัยของแต่ละคน แต่ละเชื้อชาติ ย่อมสืบทอดสะสมกันมาเป็นอเนกชาติ ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ในชาติปัจจุบัน แม้แต่พระอัครสาวกก็ไม่เว้น จะมียกเว้นแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    ขอย้อนกล่าวถึงพี่ชายคนโต ซึ่งมาเกิดเป็นพญากบ ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระพุทธกัสสปะ (พระพุทธเจ้าองค์ก่อนพระสมณโคดม) ในระยะนั้นมีพระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่ง ธุดงค์มาที่วัดพระบาทห้วยต้ม มาหยุดพักอยู่พี่พระบาทกบในปัจจุบัน ท่านได้สวดพระอภิธรรมและมาติกา ณ ที่นั้น

    ขณะเดียวกันพญากบได้ออกจากฝั่งแม่น้ำและเข้ามาใกล้พระมหาเถระ พญากบก็ได้ยินเสียงมหาเถระเจ้าสวดอยู่ก็ยินดีนั่งฟัง เข้าใจว่าเสียงนี้เป็นเสียงของพระพุทธเจ้า

    พญากบตั้งสตินั่งฟังอยู่อย่างใจจดใจจ่อ ในขณะที่พระมหาเถระเจ้ายังสวดไม่จบ ก็มีหมอพรานปลาผู้หนึ่ง ซึ่งหากินด้วยการหาปลา นำเอาเหล็กแหลมสำหรับแทงตะพาบน้ำมาด้วย

    เมื่อเดินมาพบพระมหาเถระเจ้ากำลังสวดอยู่ แต่ไม่เห็นพญากบที่กำลังฟังธรรมอยู่นั้น หมอพรานปลาผู้นั้นก็เอาเหล็กแหลมที่ถือมานั้นทิ้ง (ปัก) ลงไปถูกพญากบโดยไม่ตั้งใจ

    ส่วนพญากบนั้นถูกเหล็กแหลมแทงตัวก็ยังไม่รู้สึกตัว เพระฟังพระสวดเพลินอยู่

    ส่วนพรานปลาผู้นั้นก็น้อมตัวเข้าไปใกล้พระมหาเถระเจ้า นั่งลงคุกเข่าไหว้ แล้วฟังเทศน์ที่นั่นจนพระมหาเถระเทศน์จบ

    เมื่อจบแล้วก็ไหว้พระมหาเถระ แล้วก็กลับหลังออกมาเอาเหล็กแหลมที่ปักไว้ ก็เห็นเหล็กแหลมแทงใส่พญากบก็ถอนออก แล้วร้องว่า "โอ้หนอ....เหล็กนี่แทงถูกกบตายเสียแล้ว"

    ส่วนพระมหาเถระได้ยินเสียงหมอพรานร้องอย่างนั้น ก็เข้ามาใกล้ที่หมอพรานแทงพญากบ และบอกว่า

    "อ้าว....หมอพรานทำไมแทงใส่กบ กบนี้ไม่ใช่กบธรรมดาสามัญ เป็นพญากบตัววิเศษ มันดักนิ่งฟังธรรมอยู่"

    หมอพรานก็บอกมหาเถระเจ้าว่า

    "ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ากบอยู่ที่นี่ ข้าก็เอาเหล็กแหลมนี่ทิ้งลงไปซ่อนไว้ที่นี่ เพื่อจะไปฟังธรรมที่ท่านเทศน์อยู่ เพราะจะเอาเหล็กแหลมนี่ไปด้วย ก็ไม่สมควรจะนำไปฟังเทศน์ ข้าพเจ้าก็เลยเอาทิ้งไว้นี่ เพราะไม่รู้ว่ากบอยู่ที่นี่"

    พระมหาเถระก็สงสารกบตัวนั้น จึงตั้งสัจจะอธิษฐานเอาเท้าเหยียบหลังกบ ให้เป็นรอยพระบาทไว้ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ต่อไปเบื้องหน้า

    ส่วนพญากบ ขณะที่ถูกแทงก็ไม่รู้ตัวว่าตาย เมื่อรู้ตัวก็กลายเป็นเทพบุตรอยู่ชั้นฟ้าดาวดึงส์ อยู่ปราสาทสูง 12โยชน์ กว้าง 12 โยชน์ มีเทพยดาทั้งหลายเป็นบริวารอยู่มากมายหลายโกฏิ

    เนื่องจากผลบุญกุศลที่พญากบได้ตั้งใจฟังเทศน์อยู่นั้น ทำให้พญากบได้ไปเกิดชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพอยู่ชั้นฟ้า7 ชาติ ตายจากชั้นฟ้าก็มาเกิดเป็นมหาเศรษฐีอยู่ในมนุษยโลก ได้เป็นใหญ่ในบรรดาเศรษฐีทั่วไป มีนามว่า เมณฑกมหาเศรษฐี

    ต่อจากนั้นมาก็ได้มาเกิดเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์อีกหลายชาติ และท่านเมณฑกมหาเศรษฐีนี้ ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในภายหน้า

    ในขณะที่ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้านี้ ก็ยังเป็นหน่อพุทธางกูร บำเพ็ญบารมีอยู่ทุกชาติ จนกว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า

    ฉะนั้น พวกเราพุทธบริษัททั้งหลายจึงควรเอานิสัยพญากบที่ได้ฟังเทศน์อย่างตั้งใจจนได้เป็น เมณฑกเทวบุตร

    มณฑปที่สร้างครอบรูปกบ

    ส่วนพญาผึ้ง และพญานกยูง ท่านก็เป็นหน่อพุทธางกูร บำเพ็ญบารมี 30 ทัศน์ ไปทุกชาติ จนกว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลก อีกองค์หนึ่ง ในภายหน้า

    ในหนังสือพระชัยวงศาปูชนียาลัย กล่าวกันว่าพี่ชายคนที่สอง ในอดีตชาติ ได้เกิดเป็นพระภิกษุในประเทศพม่า มีพระนามว่า พระอนันตยา ซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียง และเป็นที่เคารพรักของชาวพม่าและมอญ รวมทั้งไทยใหญ่ โดยทั่วไป (ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว)

    หลวงพ่อองค์นี้ไม่เคยพบกันกับครูบา แต่ท่านทั้งสองก็รู้จักกันดี มีบันทึกยืนยันจากลูกศิษย์

    ส่วนพี่ชายคนที่สามนั้น (คือท่านครูบา) ต่อมาในสมัย พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ก็ได้เกิดเป็นพญากวาง ดังมีตำนานเล่ากันต่อมา

    หมายเหตุเพิ่มเติม

    ต่อมาพญากบตัวนั้นได้กลายเป็นหินเป็นรูปร่างกบ มีรอยพระบาทประทับอยู่ที่หลัง ปัจจุบันครูบาชัยวงศาท่านได้สร้างรูปกบครอบรอยจริงไว้ และสร้างมณฑปครอบอีกชั้นหนึ่ง


    เรื่อง พระอาจารย์อรัญตยา ที่พม่า....

    ที่เคยเขียนไว้ข้างต้น นำเอาบันทึกในการเดินทางของคุณพี่แน่งน้อยฯ ตอนไป อธิษฐานขอพระธาตุ จากเจดีย์ชเวดากอง ตามคำสั่งของครูบา มายืนยันเรื่องพระอาจารย์อรัญตยา

    ประเทศพม่า ครั้งที่1 วันที่ 3-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

    ....นอกจากนี้ หลวงพ่อยังบอกให้ไปที่วัดอรัญตยา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระสงฆ์องค์สำคัญของชาวพม่า ชื่อท่านอรัญตยา เช่นเดียวกับชื่อวัด ท่านรู้จัก คุ้นเคย กับหลวงพ่อ เป็นอย่างดี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ไปมาหาสู่กัน

    หลวงพ่อ เคยปั้นรูปเหมือนของท่าน ส่งไปให้ที่วัดอรัญตยา และบอกว่าท่านอรัญตยา ตกลงมาจากพระเจดีย์ขาหักอยู่ในขณะนี้ ให้เราออกเดินทางไปต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2538 มีเวลาเตรียมตัวเพียงเดือนเดียว....

    วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538

    ...." พวกเราที่เดินลงเอง ใช้เวลานานกว่านั่งคานหาม แถมยังแวะซื้อของตามทางอีก บางคนหายไปนานจนเพื่อนต้องวิ่งไปตามอีก กว่าจะพร้อมกันประมาณ 10.30 น. ลงมาถึงเชิงเขาใกล้เที่ยง เปลี่ยนขึ้นลง (รถ) โคช เดินทางต่อไปวัดอรัญตยา ที่ตำบลตะโพน เขตพวกมอญ

    กว่าจะไปถึงวัดประมาณ 15.00 น. เราได้ทราบว่า ท่านอรัญตยา เจ้าอาวาสวัดอรัญตยา ที่เราตั้งใจมากราบนมัสการ ตามที่หลวงพ่อบอก ได้มรณภาพ ก่อนที่เราจะมาถึงเพียง 3 วัน ทั่วบริเวณวัดมีผู้คนมามากมาย

    เราเห็นพระเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวที่ท่านสร้างขึ้นใกล้จะเสร็จเรียบร้อย แต่ยังมีนั่งร้านอยู่โดยรอบ ได้ทราบว่าท่านปีนขึ้นไป บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บนยอดพระเจดีย์ด้วยองค์เอง จนตกลงมา สูงประมาณ 192 เมตร ท่านเข้านิโรธสมาบัติอยู่ 20 วัน นอนเฉย ไม่ฉัน ไม่พูด ครบ 20 วัน จึงมรณภาพ และบรรจุพระศพไว้บนยอดเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งเราไม่มีเวลาจะขึ้นไปนมัสการได้ แต่แต่กราบนมัสการระลึกถึงท่านอยู่ที่พระเจดีย์

    ผมเคยถามคนทางฝั่งพม่า เค้าลือกันว่าพระอาจารย์อรัญตยา เหาะได้ ..

    ในหมู่ลูกศิษย์ ก็รู้กันว่า ท่านเคยเป็นพี่ชายครูบา ในอดีต เป็นหน่อพุทธางกูรเหมือนกัน

    ผมยังมีเหตุการณ์อีกครั้งนึง ที่เคยถามท่าน ถึงหลวงพ่อองค์อื่น ที่ท่านไม่เคยเจอกัน แต่รู้จักกัน


    คำสอนของพ่อ...

    หลวงพ่อไม่ค่อยจะเอาอันใดมาให้ ดีที่สุดก็ที่ให้นี่ ให้โอวาทสั่งสอนให้รู้ช่องทางเดิน ทางปฏิบัติ ที่บอกให้เมื่อกี้นี้ เจตนาให้มีเจตนาให้บริสุทธิ์ที่สุด ทำบุญอย่าให้ใครมาบังคับ

    คน 3 ประเภท

    ประเภทหนึ่ง เจตนาเอง ศรัทธาเอง หาได้ด้วยตัวเอง ไปทำบุญเอง ประเคนเอง นี่จำพวกหนึ่ง ได้บุญมากที่สุด

    อีกพวกหนึ่งอยากทำบุญรอเขามาบอกก่อน ถ้าเขาไม่มาบอก็ไม่ไป ถ้ามาบอกก็จะไป บังคับให้ไปเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น คนที่มาบอกได้บุญไปครึ่งหนึ่ง เจ้าของทานได้ครึ่งหนึ่ง

    อีกพวกหนึ่ง บอกก็ไม่ไป ไม่บอกก็ไม่ไป

    ทำบุญ นี่ ทำบุญด้วยตนเอง สร้างด้วยตนเองโดยไม่บอกให้ใครรู้ เราก็ได้บุญเยอะจริง แต่ไม่มีบริวาร อยู่ด้วยตนเอง อย่างคนปัจจุบันบางคนทำบุญไม่บอกใคร อยู่ด้วยตนเองไม่มีเพื่อน

    ถ้าเราทำเองจริงหมด ก็ให้ประกาศ ว่า พี่น้องทั้งหลาย ทุกคน โมทนา ด้วยนะ ใครอยากทำบุญด้วย ก็ทำนะ ที่สุด มาก็ขอโมทนาด้วยกันนะ

    เราก็เป็นใหญ่บริวารก็มีเยอะ พูดไหนก็ได้นั่น ถ้าเขา "ไม่" ก็ไม่เป็นไร เราบอกแล้ว


    นิพพาน มหานิพพาน...

    มหานิพพาน นี่ นิพพานพร้อมพระพุทธเจ้า

    ส่วนนิพพานนี่..สร้างบารมีได้แล้ว ถ้ากิเลสหมดเร็ว ก็ไปนิพพาน ในกัปหนึ่งก็ได้ไป นิพพาน

    มหานิพพาน นี่ แสนมหากัป นิพพานพร้อมพระพุทธเจ้า

    คนที่ปฏิบัตินี่บางคนก็กรรมมีน้อย บางคนก็กรรมมาก ใครบารมีแก่แล้วขยันขันแข็งไม่รอใคร จะไปเองขอติดตามพระพุทธองค์ ท่านสั่งไว้ให้ติดตามตถาคต ตถาคตตั้งศาสนา 5,000 พระวัสสาไว้ให้พุทธบริษัทภายหลังได้ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติจริงๆ จังๆ ทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ บาปไม่ยอมทำเลย ขยันขันแข็งทำไปเรื่อยๆ ไม่ห่วงไม่ให้มีกิเลส โทษอันเก่าก็ไม่มี โทษใหม่ก็ไม่ให้เกิดขึ้น ขอสร้างบุญกุศลเรื่อยๆ ก็จะได้นิพพานในกัปนี้ หรือว่า ชาตินี้

    ถ้าจะได้ชาตินี้ คนผู้นั้นจะต้องแปลกจากคนอื่น โทษสักเม็ดงาหนึ่งไม่มี กรรมสักเม็ดงาหนึ่งไม่มี ถ้ามีสักเม็ดงาหนึ่ง อาจจะได้ต่อสักชาติหนึ่ง ถ้าไม่มีโทษกรรมสักเม็ดงาหนึ่ง สักผงธุลีหนึ่ง ก็จะไปในชาตินี้


    อย่าอวดตัว....

    ได้อะไรมาอย่าปีติจนเกินไป ให้ระวังไว้

    อย่าง ครูบาพรหมจักร (วัดพระบาทตากผ้า) ท่านรู้ท่านปฏิบัติได้อย่างไรก็เอามาสอนอย่างนั้น แต่ท่านไม่ได้บอกว่าท่านปฏิบัติได้เอง อ้างว่าได้ร่ำเรียนมา ได้ยินครูบาอาจารย์เก่าแก่พูดกันอย่างนั้น ที่จริงท่านปฏิบัติได้ท่านจึงบอกได้ ที่จริงก็เรียนรู้มา แต่จะแน่จริงก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติได้ตามนั้น

    โดยส่วนตัว ผมเคยถามครูบาว่า..

    "ครูบาเหยียบหินได้ยังไง"

    ท่านตอบ "ครูบาอาจารย์สอนมา"

    ครูบาวงศ์ฯ ท่านก็มักจะตอบแบบนี้ เหมือนกัน


    พระรอด

    อย่างหลวงพ่อดี ใครก็มาชม ว่า หลวงพ่อดี ใครก็มาเอา ดี อย่างหลวงพ่อ มาเอาก็ไม่ถูก ถูกไม่จริง... มาขอรดน้ำมนต์ เป่าหัว ขอพระห้อยคอ ขออันใดอันหนึ่งไป ขอเป็นของมงคลอย่างขอพระ ขอของไปไม่เท่าเอาคุณงามความดีไปใช้

    หลวงพ่อจะให้ ดี ก็มาเอาของอันดี หลวงพ่อก็ให้รักษาศีล ให้ได้ภาวนา ทำบุญ ทำตนทำตัวให้ดี อย่าเป็นคนเกเรนะ ให้เป็นคนดี ที่มีศีลมีสัตย์นะ ถ้ารับอันนี้ไปใช้ก็ดี เอาความดีไปดีกว่าเอา พระรอด พระคง

    พระรอด พระคง ยังอยู่นอกใจเรา

    เอา คุณงามความดี ไว้ มันประจำอยู่ในตัว


    การรดน้ำมนต์....

    พรมน้ำมนต์ ก็พรมลดเคราะห์ลดภัย เอาของไม่ดีออกไป อย่างนี้ก็ถูก แต่มันไม่ถูกที่มันลำบากครูบาเท่านั้น

    การพรมน้ำมนต์นั้น จะว่าไม่ดี ก็ดี อย่างเขามาเชื่อแล้ว ต้องอนุโลมตัดเคราะห์ ตัดภัย ให้มัน

    เหมือนมีเชื้อไฟให้มันดับไป มันจะไม่เกิด ถ้ามันมีอยู่มันจะลามออกไปก็ไม่ลาม ถ้าเชื้อไฟไว้ที่ไหน ก็ไหม้ที่นั่น เราไม่รดน้ำ มันก็ไหม้ อยู่ที่ไหนมันต้องไหม้ ที่มานี่ได้ เขาก็ยินดีว่ามากราบหลวงพ่อ ขอน้ำมนต์หลวงพ่อ ก็พรมน้ำมนต์ให้ มันก็สบายใจ มันเบาไปนิดหนึ่ง ถ้ามันไปแล้ว รู้จักสรรพคุณของหลวงพ่อดี ทีหน้ามันก็จะมาซ้ำต่อ ที่สร้างมาแล้ว ก็ไม่มีความกินแหนง (สงสัย) ที่ได้สร้าง ก็จะตั้งตัวดีขึ้นไป

    แต่กรรมเก่าที่หายก็หาย ที่ไม่หายก็ไม่หาย

    ที่หายเพราะมันหมดชุด

    ที่ไม่หาย เพราะมันยังอยู่แต่ละอย่าง 500 ชาติ เมื่อไรครบ 500 ชาติก็หมดไป อันใดไม่ครบ 500 ชาติ มันก็ไม่หมด

    กรรมดี ถ้าถือไว้ตลอด มีผลนับชาติไม่ได้ อยู่ตราบถึงพระนิพพาน

    กรรมร้ายนี่ มันมีชุด กรรมดี ก็มีชุดอย่างหนึ่ง

    มีชุดที่เขาไม่เชื่อ มันจะไปหมดกับที่เขาไม่เชื่อ

    สมมุติอย่าง (พวก) ลูกมานี่ ตั้งแต่ต้นมานี่นับถือว่าหลวงพ่อดี ก็มาทำบุญ ยินดีกับหลวงพ่อ ที่สุดที่นี้ ทำดีแล้ว ตอนนี้ในยุคนี้ก็ดีประจำอยู่

    สมมุติ ที่ทำแต่อดีตมาถึงวันนี้ ก็ดีอยู่อย่างนั้น

    ถ้าตั้งแต่วันนี้ไป วันพรุ่งนี้ได้ยินคนอื่นพูดผิดอันใดอันหนึ่งมาเข้าหู ว่าหลวงพ่อไม่ดี ไปหาทำไมกล่าวโทษหลวงพ่อ สมมุติมีคนอิจฉาว่าหลวงพ่อ เขาไม่พอใจหลวงพ่อ ก็จะหาเรื่องใส่ความหลวงพ่อ ลูกได้ยินแล้วหูเบาก็จะไปเชื่อ คิดว่าถ้ารู้อย่างนี้ไม่ไปแล้ว คิดว่าเป็นพระดีที่สุดถ้ารู้อย่างนี้ก็จะไม่เอาแล้ว

    ตั้งแต่นั้นกรรมดีก็จะหมดชุดไป

    ชาติหน้าก็มีอยู่นะ ชาติหน้าก็จะไปดีอีก มาถึงอายุขณะนี้ วันนี้ ตั้งแต่วันนี้ไปบุญอันนั้นจะเสียไปจะฉิบหาย

    อย่างบางคน เป็นคนดี พอพ่อแม่ตายไป กรรมที่ไม่ดีก็จะมาปรากฏมาบังคับจิตให้เสีย ให้ทำตัวไม่ดี ของก็ฉิบหายไป ตามนั้น เวลานั้นเวลาที่เราประมาทดีก็มี ร้ายก็มี กรรมขาวเป็นตอนๆ มันจะเสียไปหมดก็ไม่เสีย เสียเป็นตอนๆ สร้างไว้แล้วก็มีแต่เอาบาปมากุม บุญงอกไม่ทัน อยู่ทรงกรรมอยู่อย่างนั้น โอยๆ อยู่จนหมดยุค หมดเมื่อใดก็สิ้นกรรม แจ้งสว่างขึ้นเมื่อนั้น

    ถ้าทำไม่ดีจริงๆ ตลอดชีวิต มันก็จะพบเรื่องร้ายตลอดชีวิตไปตามกรรม

    ถ้าทำดีตลอดชีวิต คุณงามความดีก็จะอยู่กับเราตลอดชีวิต ทำให้เราอายุยืนนาน

    ฉะนั้นต้องทำดีทุกอย่าง ไม่ให้มีบาดมีแผล ไม่ให้มีโทษมีกรรม กรรมชั่วจะมาตัดกรรมดีเราไม่มี รอดไปรอดมาพ้นไปพ้นมา น่าจะตายก็ไม่ตาย

    สมมุติอย่างคนที่ยังมีวาสนา นาบุญยังมีอยู่ คนอื่นตายหมด คนผู้นั้นไม่ตาย


    ครูบาศรีวิชัย

    ทุกวันตอนเช้า-ตอนเย็นตอนครูบาวง ท่านจะนำพวกลูกศิษย์สวดมนต์ทำวัตรนั่งสมาธิ และนำพวกเราไหว้อาจารย์ทุกองค์ ไม่ว่าจะครูบาศรีวิชัย ครูบาขาว ครูบาชัยลังก๋า ครูบาพรหมจักร

    ตอนครูบาวงท่านยังอยู่ ถ้ามีโอกาสมักจะชอบให้ท่านเล่าเรื่องครูบาศรีวิชัยให้ฟัง เนื่องจากผมเกิดไม่ทัน และก็อยากทราบเรื่องราวของครูบาอาจารย์องค์อื่นบ้าง

    เคยถามท่านว่า "ครูบาศรีวิชัยสอนอะไรครูบาบ้างครับ"

    ครูบาวงท่านตอบ "ลูกศิษย์ติดตามครูบาศรีวิชัยเยอะ ห้อมล้อมเต็มไปหมด เข้าไปไม่ค่อยถึงตัวท่าน บางทีเห็นไกลๆลิบๆ ท่านอยากจะใช้งานอยากจะสอนอะไรครูบาท่านจะให้คนมาตาม"

    ในหนังสือของวัดห้วยต้มก็เขียนไว้เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยคล้ายๆ กับที่ครูบาวงเล่า....

    ในวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนทั้งไทยและกระเหรี่ยงนำโภชนาหารมาใส่บาตรอย่างมากมาย ครูบาศรีวิชัยท่านจะออกบิณฑบาตตั้งแต่ตี 4 กว่าจะใส่บาตรเสร็จก็ประมาณ 8 โมงเช้า พระเณรที่อยู่กับท่านมีจำนวนมาก บางครั้งมีถึง 500 กว่าองค์

    ผู้ที่มีโอกาสมาในงานทำบุญตานใช้ตานแทน ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้เห็นการทำบุญใส่บาตรของผู้ร่วมในพิธีมากเพียงไร ในสมัยครูบาศรีวิชัยก็เป็นเช่นนั้นทุกวัน

    สำหรับผู้ที่ทำอนันตริยกรรมแล้ว ครูบาศรีวิชัยท่านจะปิดฝาบาตร ไม่ยอมรับอาหารจากผู้นั้น และเมื่อเดินผ่านไปท่านจะเปิดฝาบาตรตามเดิม

    เคยเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำไมจึงไม่ทำอย่างครูบาศรีวิชัยท่านบ้าง

    หลวงพ่อท่านบอกว่า บารมีของหลวงพ่อยังไม่มากอย่างท่าน

    และอีกอย่างหนึ่งหลวงพ่ออยากให้ลูกศิษย์ทุกคนเป็นคนดี ถึงแม้หลวงพ่อเองจะทุกข์จะถูกผู้อื่นดูถูกอย่างไร หลวงพ่อทนได้ ขอให้ลูกศิษย์มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รักใคร่ปรองดองกันเหมือนอย่างที่หลวงพ่อรักและเมตตาต่อลูกๆ หลวงพ่อก็พอใจแล้ว

    ครูบาท่านเมตตาต่อลูกศิษย์เสมอ ส่วนเรื่องครูบาศรีวิชัยที่ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังยังมีอีก ต้องค่อยๆ ทยอยเขียน


    เรื่องธุดงค์..

    ครูบาท่านเคยเล่าเรื่องตอนท่านธุดงค์ให้ผมฟังบางเรื่องก็มหัศจรรย์และตื่นเต้น เวลาว่างก็ชอบแอบถามท่านเรื่องที่ท่านไปธุดงค์ บางเรื่องฟังสนุกดี

    ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเรื่องสมัยที่ท่านไปธุดงค์ตามที่ต่างๆ ก่อน ในหนังสือของวัดมีเขียนไว้ ลอกเอามาประกอบเพื่อความเข้าใจ...

    ครูบาออกธุดงค์องค์เดียวตั้งแต่ อายุ 12-20 ปี เมื่อยังเป็นเณร กลับเข้ามาบวชเป็นพระแล้วออกธุดงค์ไปอีก ตั้งแต่อายุ 20-26 ปี ระหว่างอายุ 12-15 ปีก็ธุดงค์กับครูบาก๋า (ครูบาชัยลังก๋า) ครูบาพรหมจักร (วัดพระพุทธบาทตากผ้า) ติดตามครูบาอาจารย์ไป ท่านเล่าว่า....

    อยู่ป่าสนุกกว่าอยู่บ้าน ธุดงค์ไปบำเพ็ญองค์เดียว อยู่บ้านกลัวผี อยู่ป่าไม่กลัว ธุดงค์ไปองค์เดียว เข้าบ้านเข้าเมืองกลัวผีสะปะ (เยอะแยะ)  เวลากางกลดกางร่มก็อธิษฐานว่า "สัตตา อธิษฐามิ" อยู่ใต้ต้นไม้ก็ไปทักเทวดาต้นไม้ ในถ้ำก็พัก ป่าเปล่าๆ ก็พัก บ้านก็พัก อยู่ห้างอยู่หอก็อยู่ไป อยู่ร่มไม้เงิบผาเงิบหิน เวลาบิณฑบาตข้าวในป่าบางทีเขา(เทวดา) ก็มาส่งให้ บิณฑบาตตามต้นไม้ก็มี บางทีเอาบาตรห้อยไว้กับกิ่งไม้ ตี 4 ตี 5 กลับมานั่งภาวนา บางทีก็หลับยังไม่ตื่น เขาก็มาเรียก บางทีเขาก็มาใส่บาตร เทวดาใส่หรือคนใส่ก็ไม่รู้ ข้าวเทวดาหอมสีแดงๆ มีแต่ข้าวเปล่า อาหารไม่มีเหมือนกับข้าวคน แต่อร่อย บางทีก็กินลูกไม้ใบไม้แทนอาหาร ที่กินได้ก็รู้ ที่กินไม่ได้ก็รู้ เคยกินมาก่อน ส่วนใหญ่เอาบาตรแขวนไว้แล้วภาวนาไป ง่วงก็นอนหลับ ตื่นขึ้นมา เขาก็เอาข้าวมาใส่ให้แล้ว ทำสมาธิกลางคืนดี ใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รู้จะทำอะไร กลางวันคิดมากงานเกิดขึ้น แจ้งมาแอ่ว (เที่ยว) ดูโน่น ดูนี่พิจารณาไป ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกคนเป็นทุกข์ พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็น่าสนุกน่าดู


    บันทึกของ พระป่านิกร

    เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแก่งสร้อย

    เขียนเกี่ยวกับครูบา...

    ตอนสร้างบุญใหญ่หล่อพระพุทธรูปหน้าตัก 11 ศอก บุญกุศลที่ได้ทำในครั้งนี้ใครปรารถนาจะเป็นพระโปรดสัตว์ เป็นสาวกภูมิ เป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสอาสวะให้เข้าถึงพระนิพพานโดยเร็วในชาติปัจจุบันนี้ ก็ปรารถนาเป็นอธิษฐานบารมี

    อย่าไปปรารถนาเอากิเลสคืออยากเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ดี นี้คือคำสอนของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงษาได้สอนพวกเราที่เป็นศิษย์มาตลอดทุกครั้งที่ทำบุญใหญ่

    หลวงปู่พระครูบาเจ้าชัยยะวงศา ท่านอบรมอยู่บ่อยๆว่า ชีวิตเป็นของน้อย เกิดมาก็มีความตายครอบงำมาตลอด ขอให้อย่าประมาท ให้รีบทำบุญทำกุศล อย่าไปรอวันและเวลา ให้ทำอยู่เนืองๆ แล้วจิตจะเป็นกุศลจนถึงปรมัตถปารมี จะได้ไม่เบื่อหน่ายในทานบารมี เป็นเรือสำเภา จะได้ให้พวกเราขี่ข้ามมหาสมุทร คือวัฏฏะสงสารให้ถึงพระนิพพานโดยเร็ว

    ครูบาเจ้าสอนไม่ให้รอวัน รอเวลา เมื่อได้เกิดมาเป็นคนก็ถือได้ว่ามีโอกาสแล้ว เราไม่มีทรัพย์อยู่ที่บ้าน ก็ให้หมั่นขยันไหว้พระ สวดมนต์ภาวนา ถวายข้าวพระพุทธ ดอกไม้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธบาท พระธาตุเจดีย์ ต้นโพธิ์ ก็มีอานิสงส์อันประเสริฐแล้ว


    การสอนธรรมะของครูบา...

    งานที่ยากยิ่งแต่ทำได้สำเร็จอย่างหนึ่งของท่านคือ การอบรมสั่งสอนพวกชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้เข้าใจธรรมะ ให้ถือศีล 5 ให้ทำทานใส่บาตร รักษาศีล ให้ภาวนานับลูกประคำทุกวันๆ ละ 3 ครั้ง ให้ละเลิกการนับถือผี ซึ่งพวกชาวเขาเชื่อมาแต่เดิม ให้เคารพพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ให้เลิกฆ่าสัตว์ ให้เลิกกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นงานที่ยาก ยากกว่าที่จะมาสอนหมู่คนที่ปกติอย่างเราๆ เคยทำบุญหรือมีจิตใจน้อมนำในทางศาสนาอยู่แล้ว จนเปลี่ยนให้พวกชาวเขามาติดตามรับใช้ครูบาท่านได้ ท่านเองก็พยายามหัดพูด หัดเขียนภาษากระเหรี่ยง (เมื่อก่อนท่านพูดไม่ได้) เพื่อใช้สั่งสอนพวกกระเหรี่ยงได้คล่องแคล่ว ญาติโยมมาจากทิศไหน ท่านก็จะใช้ภาษานั้นสอนให้เหมาะสมเป็นหมู่คณะไป

    ครูบาท่านสอนธรรมะได้ทุกระดับ ให้ตรงกับจริตของแต่ละคนไป ส่วนใหญ่ท่านจะพูดน้อย แต่ถ้าสอนมาแต่ละครั้ง คำสอนของท่านจะลึกซึ้งมีความหมายให้มาขบคิด บางทีท่านก็จะให้เราตีความ หรือจะย้อมถามว่าเข้าใจไหม ไม่ให้เราฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ถ้าได้ฟังท่านสอนสักครั้งก็จะจำได้ตลอดไป

    ผมเคยเห็นบ่อยๆ ขอยกตัวอย่างนึง มีชายคนนึงมาจากระยอง (ถ้าจำไม่ผิด) มาที่วัด มาขอให้ครูบาสอนธรรมะ เค้าบอก

    "ครูบาเทศน์ให้พวกผมฟังหน่อย"

    ผมก็คอยฟังว่าท่านจะสอนอะไรให้คณะชายคนนั้น ครูบาท่านไม่เทศน์สอน แต่ท่านบอก

    "ให้เลิกเล่นพนัน เล่นม้าได้ก่อน ค่อยมาหาครูบา"

    ผู้ชายคนนั้นก็ก้มลงกราบที่เท้าท่านทันที เค้าบอก ครูบานี่พูดแทงใจดำจริงๆ แล้วพวกคณะนั้นก็หัวเราะชอบใจ เค้าบอกว่าพวกเค้าเป็นพวกเซียนพนัน


    คําสอนหลวงปู่

    ท่าน ได้กล่าวสอนบรรดาศิษย์ ไว้ว่า....

    เวลา เราก็มีไม่มาก

    เกิดมาชาติหนึ่ง

    เวลาสูญเปล่ามีมาก

    เวลาทำงานจริง ๆ มีไม่มาก

    เวลาสูญเปล่า มีตลอดชีวิต

    เวลาเหลือน้อย

    จะทำอะไร ให้รีบทำ

    หลวงปู่ฯ ท่านไม่เคยประมาทในชีวิต

    ตลอดชีวิตท่าน ทำงานแทบไม่มีวันหยุด

    แม้ในวัยที่ท่านชราภาพมากแล้ว ท่านก็ไม่หยุดหย่อน

    ทั้งกลางวัน ต้อนรับลูกหลาน ศรัทธาสานุศิษย์ และงานการก่อสร้าง

    กลางคืน งานขีดเขียน เอกสารในทางธรรม เวลาพักผ่อนโดยแท้ แทบไม่มี

    เมื่อมีบรรดาลูกหลาน และศิษย์ ถามหลวงปู่ฯ ด้วยเป็นห่วงกังวลว่า

    “..หลวงพ่อ เหนื่อยไหม

    ก็ได้รับคำตอบว่า “..เหนื่อยไม่ทัน บรรดาศิษย์ ก็อาจจะงง ในคำตอบ

    แต่เมื่อได้อยู่ใกล้ชิดท่าน ก็จะเข้าใจได้ ที่ท่านบอกว่า

    เหนื่อยไม่ทัน ก็คือ.. ไม่มีเวลาที่จะเหนื่อย

    ท่านทำงานติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ทั้งวัน ทั้งคืน

    เวลาพักผ่อนนับได้ว่า มีน้อยมาก

    ท่านเพียงตั้งความประสงค์ ไว้ว่า..

    ต้องการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่คนทั่วไป


    ครูบาสอนลูกศิษย์ ๑

    ลูกศิษย์คนไหน ที่เคยได้รับใช้ท่าน คงจะคุ้นเคย ครูบาท่านจะเอาเงินที่ญาติโยมถวายมาจัดเรียงอย่างดี บางแบงค์ที่ยับๆ หรือไม่สะอาด ท่านจะเอามาใส่ขันน้ำเพื่อล้าง และตากให้แห้งแล้วเอามารีดให้เรียบ

    พวกลูกศิษย์คงได้ช่วยท่านทำกันบ่อยๆ เคยถามท่านว่า...ทำไปทำไม

    ครูบาท่านว่า " คนไม่รู้จักค่าของเงิน คนไม่เคารพพระเจ้าอยู่หัว"

    ส่วนตัวผมก็จะติดนิสัยตามท่าน ต้องเอาธนบัตรที่ยับๆ มารีดให้เรียบเสมอ เดี๋ยวครูบาท่านจะตำหนิเราได้ว่า ไม่เคารพค่าของเงิน เดี๋ยวจะค้าขายไม่เจริญ 

     

    ครูบา สอน ลูกศิษย์ ๒

    จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อได้อยู่อุปัฏฐากท่าน มีโยมส่งพัสดุไปรษณีย์มาถวาย ท่านบอกให้เปิดกล่อง เราเองด้วยความคุ้นเคย มักง่ายจึงหยิบกรรไกรจะตัดเชือกที่มัดพัสดุ ท่านห้ามไว้โดยบอกว่า

    "อย่าตัด ค่อยๆ แก้...ถ้าไม่ตัด พอแก้เสร็จก็ใช้มัดอย่างอื่นได้อีก...คนไม่รู้จักแก้เชือก..ก็จะไม่รู้จักแก้ปัญหา"

    และเต่าสำลีที่ท่านพับ โดยบรรจุพระธาตุข้าวและเกศานั้นเป็น สำลีที่ท่านเช็ดตาเมื่อเปลี่ยนคอนแท็คเลนส์ หรือบางทีท่านนำมาฝั้นเป็นเชือกไว้มัดคัมภีร์ธรรมใบลาน ท่านจะสอนให้พวกเรามัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย


    ครูบา กับ ลูกศิษย์

    ขออนุญาต สจ.สุวิทย์ เอาเรื่องที่ท่านเล่ามาลงบ้าง นะครับ (ไม่ได้ขออนุญาต เจ้าของ) ......

    มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกหนึ่งเรื่องครับ

    เมื่อเดือนมีนาคม 2536 เป็นวันเสาร์ 5 ผม (สจ.สุวิทย์) ได้นั่งรถตู้จากวัดพระบาทห้วยต้มไปวัดมหาวันกับหลวงปู่ด้วย หลวงปู่ไปปลุกเสกพระรอดกับพระนางจามเทวี

    ในวันนั้นเมื่อหลวงปู่ปลุกเสกเสร็จ หลวงปู่ก็เดินออกจากโบสถ์ไปที่รถตู้ โดยหลวงปู่ถือไม้เท้าโดยใช้มือทั้งสองจับไม้เท้าทั้งสองข้างตามแบบฉบับของหลวงปู่ดังที่เราเห็นกันจนชินตา โดยมีลูกศิษย์ติดตามมาส่งหลวงปู่ถึงรถกันจำนวนหนึ่ง

    เมื่อหลวงปู่เข้าไปนั่งในรถก็ปล่อยมือที่ถือไม้เท้าทั้งสองข้างออกโดยเอาไม้เท้าวางไว้ข้าง ๆ ขณะนั้นลูกศิษย์ต่างก็กราบหลวงปู่กัน มีคนหนึ่งเอ่ยปากขอพระรอดกับหลวงปู่ หลวงปู่ก็ยื่นมาให้องค์หนึ่ง ทำให้ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างก็ขอพระรอดกับหลวงปู่บ้าง หลวงปู่ซึ่งขณะนั้นอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ก็ใช้มือไปเอาพระรอดที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายท่าน ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหลวงปู่ไปนำพระรอดมาได้อย่างไร เพราะที่ ๆ หลวงปู่เอามือไปแตะ ไม่น่าจะเก็บพระรอดได้ และหลวงปู่ก็ไม่ได้กำพระมาจากไหนแน่นอน เพราะหลวงปู่ท่านกำไม้เท้ามา บริเวณส่วนของร่างกายที่ท่านเอามือไปแตะก็ไม่มีที่ใส่ของ

    เพื่อไม่ให้เสียโอกาสผมก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน จำภาพได้ติดตาว่าเห็นมือหลวงปู่อยู่ตรงหน้า ผมมองหน้าหลวงปู่ หลวงปู่ก็ยิ้มแล้วแบมือออกปรากฏว่ามีพระรอดหล่นมาจากมือหลวงปู่หนึ่งองค์

    วันนั้นหลวงปู่คงต้องเรียกพระรอดมาหลายองค์เลยครับ เรื่องแบบนี้ศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่ทราบกันดีครับ

    สุวิทย์


    ไม้เท้า ครูบา

    เวลา ไป วัดห้วยต้ม ถ้าใครเคยไป ภาพที่จะเห็นชินตา ก็จะเห็น ญาติโยมศรัทธาทั้งหลาย ไปทำบุญ ถวายทานท่าน บางคณะ ก็ขอให้ ครูบา ท่านเคาะหัวให้ ครูบาจะมีไม้เท้า อยู่ หลาย ด้าม ระยะหลังช่วงปลายชีวิต ของท่าน ลูกศิษย์ ขอร้องไม่ให้ท่านเคาะหัวให้ญาติโยม เพราะเกรงท่านจะเหนื่อยเกินไป แต่ครูบา ก็เมตตาทำให้ลูกศิษย์เสมอ

     มีเรื่องเล่า เรื่อง ครูบาเคาะหัวนี้ หลายปีก่อน ท่าน รับนิมนต์ไปบ้านลูกศิษย์ ท่านหนึ่ง ที่พิจิตร (ขอสงวนชื่อ) ลูกศิษย์เจ้าของบ้าน ขอครูบา เมตตา เคาะหัวให้คนที่มา ทำบุญ ได้ถ่ายภาพ ติด ไม้เท้า ของครูบาตอนเคาะหัว มีแสง พุ่งออกมา น่าประหลาดใจ มีภาพถ่ายให้เห็น ตั้งแต่สมัย กล้องยังโบราณอยู่ ที่บางครั้งเคยสงสัย ว่า เคาะหัว คนละที สองที จะขลังหรือไม่ ก็ คลายสงสัยไป

     ไม้เท้า ด้ามนี้ ปัจจุบัน ทางวัด เก็บไว้ ในห้องของท่าน รักษาไว้อย่างดี


    พระธาตุข้าวบิณฑ์

    โพสท์โดย มหาหิน เมื่อ 08-03-2009

    ความเป็นมา

    หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เล่าไว้ว่า..

    ท่านเห็นในนิมิตว่า มีถ้ำแห่งหนึ่งในเขตอำเภอดอยเต่า มีพระธาตุสำคัญเกิดขึ้น

    สืบเนื่องจากในอดีต ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เทข้าวที่เหลือจากการฉัน ไว้ ณ บริเวณนั้น

    ด้วยพุทธานุภาพ ข้าว ดังกล่าวได้กลายเป็น พระธาตุข้าวบิณฑ์

     หลวงปู่ฯ จึงอธิบายถึงบริเวณ และลักษณะ พระธาตุข้าวบิณฑ์ ให้ชาวเขาไปค้นหา

    และก็เป็นไปตามที่ท่านได้บอกกล่าวจริง ๆ ท่านจึงอธิษฐานจิต และ แจกจ่ายให้แก่ลูกหลานเก็บไว้ สักการะ

    อานุภาพพระธาตุข้าวบิณฑ์

    ท่านบอกไว้ว่า สามารถอาราธนาใส่น้ำเป็นน้ำมนต์ รักษาโรคภัยที่ไม่เหนือวิสัยได้

    ใครที่มีไว้บูชา จะมีความคล่องตัว ไม่อดอยาก

     พระธาตุข้าวบิณฑ์ มีผลต่อผู้ที่เป็น สัมมาทิฐิบุคคล

    จะเสด็จมาเพิ่มเติม และลดจำนวนลงได้ รวมทั้งจะแตกหักเสียได้ เช่นกัน


    พระอุปคุตชนะมาร

    พระอุปคุตจกบาตร

    ขออนุญาต เล่าเรื่องพระอุปคุต กับ พระพิมพ์นี้

    ช่วงสายๆ ของประมาณเดือน มีนา หรือ เมษา จำ พ.ศ.ไม่ได้ หลังครูบาว่างจากรับแขก ก็นั่งคุยกับครูบา รับใช้ท่านตามปกติ ถามท่านเรื่องพระอุปคุต ท่านก็บอกว่าพระอุปคุต จะคอยระวังภัยในพระพุทธศาสนา ครูบาท่านทำท่า อุปคุตจกบาตรให้ดูด้วย ท่านบอกว่า ขนาดฉันข้าว ยังต้องคอยมองท้องฟ้า ป้องกันไม่ให้พวกมารมาทำอะไรพระพุทธเจ้า (ครูบาท่านเอาพระอุปคุตไม้แกะของผมไปอธิษฐานให้หน้าที่บริเวณท่านสวดมนต์...ตอนหลังผมก็ลืม ทิ้งไว้นานเป็นสองปี ถึงไปเอาคืน)

    ใครไปวัดห้วยต้มจะเห็น ว่า ครูบาท่านจะตั้งศาลพระอุปคุตไว้ บริเวณศาลาพรหมจักรโก เวลามีงานพิธีอะไรต่างๆ ท่านจะเชิญพระอุปคุตทุกครั้ง ครูบาท่านให้ความสำคัญกับพระอุปคุตมาก

    ส่วนพระพิมพ์นี้ เคยถามท่านว่า..ครูบาอยากให้ทำพระพิมพ์ไหนอีกไหมครับ (ในช่วงนั้น) ท่านบอกให้ผม ถ้าจะทำให้ทำพิมพ์นี้ ท่านบอกให้ทำเป็นพิมพ์อุปคุต 1 พิมพ์ และ สังกัจจายน์ 1 พิมพ์ อีกด้านเป็นรูปครูบาท่าน ขนาดเท่าเล็บหัวแม่มือท่าน ตอนแรกตั้งใจจะทำ แต่โยมอีกคนที่รู้ข่าว ขอไปทำถวายท่านก่อน แต่สรุปว่าพระพิมพ์นี้ เป็นพระที่ทำตามแบบที่ท่านบอกนั่นเอง ส่วนการอธิษฐานครูบาท่านคงทำไว้อย่างดีแล้ว

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×