ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พรีเซ้น - พุทธปรัชญา

    ลำดับตอนที่ #32 : พุทธปรัชญา - ปัญหารักร่วมเพศ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 821
      1
      15 ก.พ. 54

    การอยู่กินแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

     

    ความเป็นมาและเหตุผล

    ในสังคมที่มีความซับซ้อนทางความคิด การแสวงหาพื้นที่เฉพาะ เกิดขึ้นอย่างมาก จะด้วยเหตุผลของความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์  หรือจะด้วยเหตุผลของความหลากหลายทางสังคม พร้อมทั้งมีการยอมรับกันอยู่กลาย ๆ ต่อเหตุผลทางสังคม อย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ย่อมเป็นตัวชี้และเป็นทัศนะเชิงบวก การแสวงหาความพึงใจผ่าน ภาวะลักษณ์ จึงเกิดขึ้นจนกลายเป็น ปรากฏการณ์ ของความปกติ  ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความแปลกแตกต่าง  ประหนึ่งยอมรับ  กลาย ๆ กับเหตุผลที่สิ่งที่เกิดขึ้น จึงย้อนกลับมาที่ว่า อะไรเป็นแรงขับจนก่อให้เกิดลักษณะเช่นนั้น? หรือสังคมเป็นตัวขับเคลื่อน ? หรือว่าเป็นเพราะกระบวนการหล่อหลอมในสังคม ? จึงทำให้เกิดพฤติกรรม ที่ประหนึ่งว่าเป็นความขัดแย้งในเชิงจริยธรรมของคนในสังคม

     

     เนื้อหาสาระ

    การอยู่กินแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  โดยเฉพาะกรณี ชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง ที่แต่งงานกันอย่างเปิดเผยหรืออาศัยอยู่ร่วมกันในแบบสามีภรรยา สังคมโลกานุวัตรพฤติกรรมเลียนแบบ หรือว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ทำให้คนกลุ่มนี้ที่แต่เดิมเคยมีพฤติกรรมเหมือนต้องสาป กระทำสิ่งใดหรือแสดงสิ่งใดต้องแอบหรือหลบซ่อน ได้ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทใหม่บนฐานของสิทธิเสรีภาพที่นอกเหนือจากการอยู่กินเช่นสามีภรรยาแล้ว เช่น มีการจัดตั้งเป็นสมาคมชมรมขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมตามความพึงพอใจในเพศรส ของชายรักชาย หญิงรักหญิง ขึ้น เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนสังสรรค์เป็นต้น

    บ่อยครั้งที่เราจะพบเห็นเรื่องดังที่กล่าวมาจนประหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ ในหลายประเทศมีการแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย เช่น แคนนาดา หรือเนเธอแลนด์ที่รัฐออกกฎหมายให้คู่รักร่วมเพศสามารถแต่งงานกันได้ มีการจัดพิธีสมรสเปิดเผย จนไม่มีความแตกต่างกับ คู่ชายจริงหญิงแท้ แต่อย่างใด เพื่อประกาศสาธารณชนต่อเจตนารมณ์ของ เพศรส ในแบบที่ตัวเองกำหนด ประหนึ่งข้ามเลย หรือขจัดเหตุผลทาง จริยธรรม ภายใต้จิตสำนึกที่เป็น กรอบ เดิมของสังคม นอกจากนี้ยังสัมพันธ์ไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้เข้ามามีส่วนกำหนด สรีระให้สามารถทำหน้าที่เป็นภรรยาหรือสามีได้ตามสรีระและเพศที่ถูกต้อง ( แม้ไม่จริง แต่จำลองแบบได้ตามเพศสภาพ )             โดยพฤติกรรมเหล่านี้ในสังคมไทยเราก็ปรากฏให้เห็นจนชินตา ประหนึ่งเป็นการยอมรับกลาย ๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็เกิดประเด็นโต้แย้งขึ้นมาอยู่บ่อย ๆ เช่น กับสื่อที่นำเสนอเกี่ยวกับการแต่งงานของคู่ชายไม่จริง หญิงไม่แท้ ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์บ้าง ถึงความเหมาะควรไม่ควรอย่างไร ซึ่งก็ยังไม่มีข้อสรุปเสียที่เดียวแต่ทัศนะเหล่านี้ยังมีกลุ่มหนึ่งเปิดกว้าง และก็มีไม่น้อยที่ยังมองว่าเป็นเรื่องขัดกับจริยธรรมหรือความดีงามตามแบบแผนเดิมอยู่

    ตามรากศัพท์นั้น รักร่วมเพศ (อังกฤษ: Homosexuality) หมายถึงพฤติกรรมทางเพศหรือความสนใจของคนในเพศเดียวกันหรือรสนิยมทางเพศ ในเรื่องรสนิยมทางเพศหมายถึง "มีเพศสัมพันธ์หรือความรักในทางโรแมนติกพิเศษกับบุคคลในเพศเดียวกัน" และยังหมายถึง "ความรู้สึกส่วนตัวและการแสดงออกทางสังคมโดยยึดจากความชอบ พฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออก และการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเดียวกันของพวกเขา" รักร่วมเพศ, ไบเซ็กชวล และรักต่างเพศ ถือเป็นกลุ่มคนหลัก 3 ประเภทของรสนิยมทางเพศ สัดส่วนของประชากรที่เป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกันค่อนข้างยากที่จะประเมินแต่ส่วนใหญ่จากการที่ศึกษาในปัจจุบันอัตราอยู่ที่ ๒ ๗%แต่อย่างไรก็ตามจากการสำรวจในกลุ่มคนชาวนอร์เวย์ พบว่ามีกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ๑๒%

    สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมรักเพศเดียวกันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ซึ่งจากการศึกษาพี่น้องฝาแฝดที่เป็นเกย์ทั้งคู่ โดย Dean Halmer นักพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล แห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา พบว่าอาจจะเกิดจากพันธุกรรมที่โครโมโซม ตำแหน่ง Xy28 อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังถกเถียงเกี่ยวกับยีนตัวนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งงานวิจัยใหม่นั้นพบว่าผลที่ออกมาขัดแย้งกับผลการศึกษาเดิม และไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน

     

    สถานะของผู้รักร่วมเพศตามกฎหมายไทย
              บทบัญญัติในมาตรา ๑๔๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ บัญญัติว่า การสมรส จะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว ....ถ้าพิจารณาเผินๆ เหมือนกับว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่าการสมรสจะมีได้ก็แต่ระหว่าง ชายกับ หญิงเท่านั้น กระนั้นก็ตาม ตัวบทมาตรา ๑๔๔๘ ยังเปิดช่องให้คิดต่อไปได้ว่า คำว่า ชายและ หญิงนั้นมีความหมายเพียงใด จะหมายความถึงเฉพาะ ชายจริง” “หญิงแท้หรือ รวมถึง ชายเทียม” “หญิงเทียมด้วยหรือไม่ เพราะบุคคลสองประเภทหลังนี้นอกจากสภาพจิตใจจะกลายเป็นเพศตรงข้ามแล้ว สภาพร่างกายก็กลายเป็นเพศตรงข้ามไปด้วยโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ซึ่งมิใช่เรื่องยุ่งยากแต่อย่างใด ในสมัยที่วิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างในปัจจุบัน

              อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างละเอียดจริงจัง แม้แต่ในตำรากฎหมายครอบครัวเองก็มิเคยกล่าวถึงปัญหานี้เลย และคดีทำนองเดียวกับที่เกิดในศาลอเมริกาก็ไม่เคยขึ้นสู่ศาลไทยมาก่อน แต่ถึงแม้จะมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย นักกฎหมายส่วนใหญ่ก็เชื่อกันว่าผลของการตัดสินคงเป็นทำนองเดียวกับศาลในอเมริกาคือยังไม่ยอมรับการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยอ้างจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาบ้าง อ้างคำจำกัดความตามพจนานุกรมต่างๆ บ้าง และถึงแม้ตัวบทกฎหมายจะเปิดโอกาสให้ศาลตีความได้กว้างขวางเพียงใดก็ตาม ศาลก็ไม่ต้องการตีความให้กว้างถึงขนาดยอมให้บุคคลเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้  ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เนื่องจากค่านิยมของสังคมไทยในเรื่องครอบครัวค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าในสังคมตะวันตกมาก เพราะขนบธรรมเนียมก็ดี การอบรมสั่งสอนก็ดี ต่างมีอิทธิผลมากต่อทัศนคติของคนในสังคมไทยอย่างมาก

     

    สาระสำคัญของการมีครอบครัว
              การพิจารณาถึงสาระสำคัญของการมีครอบครัว จะช่วยให้เข้าใจถึงธรรมชาติของการมีครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นสิ่งที่จะนำมาประกอบการตีความกฎหมายหรือสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดทั้งสามารถคุ้มครองสิทธิของบุคคลบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเหมือนคนอื่นๆ แต่ในการพิจารณาถึงสาระสำคัญของการมีครอบครัวยังมีปัญหาต่อไปอีกว่าแนวความคิดใดเป็นแนวความคิดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุดอันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยเสมอหน้ากัน

              สาระสำคัญประการแรก คือ จะถือหรือไม่ว่าสาระสำคัญของการมีครอบครัวอยู่ที่การสืบชาติพัน์มนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว จึงขัดต่อวัตถุประสงค์นี้ แต่สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันคือ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจทำให้แนวความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์วางแผนครอบครัว หรือโดยการที่รัฐออกกฎหมายสนับสนุนครอบครัวให้มีบุตรน้อย (ในบางประเทศ) เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การยอมรับสถานะของผู้รักร่วมเพศจะเป็นปัจจัยเสริมแนวโน้มใหม่ของสังคมหรือไม่ และในบางครั้ง การสมรสระหว่างชายและหญิงเองก็ไม่อาจตอบสนองสาระสำคัญในข้อนี้ได้ เช่น กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเป็นหมัน ซึ่งความไม่สามารถสืบชาติพันธุ์มนุษย์ได้เพราะเหตุนี้ก็หาได้ทำให้การสมรสเสื่อมเสสียแต่ประการใดไม่

              สาระสำคัญประการที่สอง หากสาระสำคัญของการมีครอบครัวเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการคุ้มครองบุคคลที่ต้องการผูกพันชีวิตอยู่ร่วมกัน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่กฎหมายจะไม่ยอมรับรองการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลที่เป็นเพศเดียวกัน เพราะบุคคลเหล่านี้บางครั้งสามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีความผูกพันที่ยั่งยืนมั่นคงไม่แพ้คู่สมรสต่างเพศเลย และอาจมั่นคงกว่าบางคู่ด้วยซ้ำไป

              ถึงแม้กฎหมายจะรับรองสิทธิของผู้รักร่วมเพศในอนาคตข้างหน้าก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าปัญหาต่างๆ จะหมดไป ตรงกันข้าง การแก้ไขกฎหมายให้ยอมรับสถานะของผู้รักร่วมเพศมากขึ้น กลับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นที่จะตามมา อย่างน้อยที่สุดกฎหมายครอบครัวในปัจจุบันเองจะได้รับความกระทบกระเทือนในหลายๆ ส่วน นอกจากนี้ กฎหมายอื่นๆ ก็จะได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย บางทีถึงกับกลัวไปว่าชายจะเปลี่ยนเพศเป็นหญิงเพื่อจะได้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดี การจะแก้ไขกฎหมายหรือไม่นั้น จำต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ขนบธรรมเนียมและแนวปฏิบัติของคนในสังคมทัศนคติโดยทั่วไปของคนในสังคมเกี่ยวกับการรักร่วมเพศ ตลอดทั้งผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายว่ามีผลต่อสังคมมากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจัยทางสังคมนับว่ามีความสำคัญมากต่อการแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายและสังคมเป็นของคู่กัน ไม่อาจจะแยกอันใดอันหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่ออีกอันหนึ่งได้


    ทัศนะทางพุทธปรัชญา

    ในทางพุทธจริยศาสตร์จึงควรมีเกณฑ์พิจารณาประกอบ  กับหลักเหตุผลอื่น เพื่อชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้ หรือแนวคิดของ การแต่งงานของกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง พุทธจริยศาสตร์มีคำอธิบายอย่างไร เพื่ออาศัยเป็นเกณฑ์ในการให้เหตุผลอธิบายประกอบร่วมกับเกณฑ์วินิจฉัยอื่น ๆ โดยมีหลักการที่ว่า

     

    ๑.) หลักกรรม  หากนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามา จะเห็นได้ว่าการมีพฤติกรรมที่ผิดศีลข้อ กาเมสุมิจฉาจาร ทำให้เกิดมาในอีกภาพชาติหนึ่งได้กลายเป็นคนรักร่วมเพศ หรือเป็นคนผิดเพศ ดังปรากฏหลักฐานในอิสิทาสีเถรีคาถา  จึงย้อนกลับไปที่ว่าถ้าชาวพุทธยังเชื่อในหลักกรรมเหล่านี้ก็ต้องมาพิจารณาต่อไปประกอบว่าจะส่งเสริมหรือวางเฉย หรือยอมรับในสิทธิ์ของเขาเหล่านั้นในฐานะเป็นมนุษย์ที่ยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกรรมนั้น เพราะพระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรม (กม.มสท.ธา-เชื่อหลักกรรม)   และในเวลาเดียวกันที่เขาเหล่านั้นมีพฤติกรรมเช่นนั้นก็เพราะกรรมเก่าที่เคยทำไว้แต่เดิม ( ๑ ) เป็นการเสวยผลของกรรมเก่าในอดีตที่สัมพันธ์ข้ามภพข้ามชาติมา (๒) พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นการ ส่งต่อ กรรมตามแนวคิดทางพุทธจริยศาสตร์หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนคงต้องหาคำตอบมาอธิบายในประเด็นนี้ต่อไป

    ๒.) อุตุนิยาม (นิยาม ๕)

    กฎแห่งฤดู กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ หรือโลกแห่งวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น แนวคิดนี้ท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ  หลักของอุตุนิยาม ตามแนวพระพุทธศาสนามุ่งให้ผู้ที่เข้าใจเกี่ยวกับกฎธรรมที่ว่าด้วยวัตถุ ซึ่งก็คือเมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดหรือห้ามได้ เช่น การที่จะเกิดฝนตก ก็มีเหตุปัจจัยเพียงพอให้เกิดฝนตก เช่น การระเหยของน้ำบนดิน การรวมตัวของก้อนเมฆ การเกิดลมพัด การกระทบกับความเย็น ก่อให้เกิดฝนตก เป็นต้น หากเราเข้าใจธรรมชาติเช่นนี้ ก็จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข เช่น เมื่อเข้าใจว่ามีเหตุปัจจัยเพียงพอที่ทำให้รถติด เราก็ไม่เกิดความหงุดหงิดรำคาญ หาทางหลีกเลี่ยงหรือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ เราก็เกิดความสบายใจ อุบัติเหตุก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งจากประเด็นปัญหาดังกล่าว ถ้าเราเข้าใจในกฎแห่งฤดูนี้ เราก็จะสามารถทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยอมรับกับสิ่งท่จะเกิด และป้องกันปรับแก้ให้ถูกต้องทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

     

    ๓.) ใช้หลักเหตุและผล (ปฏิจสมุปปบาท)

    องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท

    เพราะการหมุนเวียนของวัฏชีวิตที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หมุนเวียนไปตามองค์ประกอบ ของการเกิด หาจุจบไม่ได้และไม่สามารถหาต้นเหตุได้ว่าอะไร คือ ต้นเหตุของการเกิด และอะไร คือ ปลายเหตุของการดับ เริ่มจากอดดีตสู่ปัจจุบัน ปัจจุบันสู่อนาตค อนาคตกลับมาเป็นอดีต อดีตมาเป็นปัจจุบัน ประดุจห่วงของลูกโซ่ที่ผูกต่อกันไปหาที่สุดมิได้ เรียกว่า เป็นวงจรของปฏิจจสมุปบาท หรือ บาทฐานการเกิดของกองทุกข์ ซึ่งประกอบด้วย :-

    . อวิชชา

    คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริงในความทุกข์ของจิต ไม่รู้ในเหตุให้เกิดแห่งความทุกข์ไม่รู้ในการดับ ทุกข์ไม่รู้ในปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อวิชชาเป็นจิตที่ไม่รู้จิตในจิต เพราะความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร

    . สังขาร

    คือ การปรุงแต่งของจิตให้เกิดหน้าที่

    ทางกาย - เรียกกายสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งร่างกายให้เกิดลมหายใจเข้าออก

    ทางวาจา - เรียกวจีสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งวาจาให้เกิดวิตกวิจาร

    ทางใจ - เรียกจิตสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญญา เวทนา สุข ทุกข์ทางใจ

    เพราะการปรุงแต่งของจิตหรือสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ                                                                             

             

    .  วิญญาณ

    คือ การรับรู้ในอารมณ์ที่มากระทบในทวารทั้ง 6 คือ

    ทางตา - จักขุวิญญาณ  ทางเสียง - โสตวิญญาณ  ทางจมูก - ฆานวิญญาณ

    ทางลิ้น - ชิวหาวิญญาณ  ทางกาย - กายวิญญาณ ทางใจ - มโนวิญญาณ                              

    เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

     

    .  นามรูป

    นาม คือ จิตหรือความนึกคิด ในรูปกายนี้ เป็นของละเอียดได้แก่

    เวทนา คือ ความรู้สึกเสวยในอารมณ์ต่างๆ

    สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ จดจำในเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วทั้งดีและไม่ดีดังแต่อดีต

    เจตนา คือ ความตั้งใจ การทำทุกอย่างทั้งดีและชั่ว

    ผัสสะ คือ การกระทบทางจิต

    มนสิการ คือ การน้อมจิตเข้าสู่การพิจารณา

    รูป คือ รูปร่างกายที่สัมผัสได้ทางตา เป็นของหยาบ ได้แก่ มหาภูตรูป 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม

    เพราะนามรูปเกิด จึงเป้นปัจจัยให้มีสฬายตนะ คือ ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ  

     .  สฬาตนะ
    คือ สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกันทางวิถีประสาทด้วยอายตนะทั้ง
    6 มี   ตา - จักขายตนะ หู - โสตายตนะ  จมูก - ฆานายตนะ  ลิ้น - ชิวหายตนะ   กาย - กายายตนะ  ใจ - มนายตนะ   เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

    . ผัสสะ

    คือ การกระทบกับสิ่งที่เห็นรู้ทุกทวารทั้งดีและไม่ดี เช่น

    จักขุผัสสะ - สัมผัสทางตา โสตผัสสะ - สัมผัสทางเสียง

    ฆานผัสสะ - สัมผัสทางจมูก ชิวหาผัสสะ - สัมผัสทางลิ้น

    กายผัสสะ - สัมผัสทางกาย มโนผัสสะ - สัมผัสทางใจ

    เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

    . เวทนา

    คือ ความรู้สึกเสวยอารมณ์พอใจ, ไม่พอใจและอารมณ์ที่เป็นกลางกับสิ่งที่มากระทบพบมาได้แก่

    จักขุสัมผัสสชาเวทนา - ตา โสตสัมผัสสชาเวทนา - เสียง

    ฆานสัมผัสสชาเวทนา - จมูก ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา - ลิ้น

    กายสัมผัสสชาเวทนา - กาย มโนสัมผัสสชาเวทนา - ใจ

    ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องรับของความรู้สึกต่างๆ

    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

    . ตัณหา

    คือ ความทะยานอยาก พอใจ และไม่พอใจในสิ่งที่เห็นรู้ใน

    รูป – รุปตัณหา   เสียง – สัททตัณหา   กลิ่น - คันธตัณหา    รส - รสตัณหา

    กาย - โผฎฐัพพตัณหา  ธรรมารมณ์ - ธัมมตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

     

    . อุปาทาน

    คือ ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ และที่เกิดขึ้นในขัน 5 มี 4 เหล่า คือ

    กามุปาทาน – ความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุกาม ทิฎฐุปาทาน – ความยึดมั่นถือมั่นในการเห็นผิด

    สีลัพพตุปาทาน – ความยึดมั่นถือมั่นในการปฎิบัติผิด    อัตตวาทุปาทาน - ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนในขันธ์ 5   เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

     

    ๑๐. ภพ

    คือ จิตที่มีตัณหาปรุงแต่ง เกิดอยู่ในจิตปุถุชนผู้หนาแน่นในตัณหา 3 เจตจำนงในการเกิดใหม่ ความกระหายในความเป็น เพราะยึดติดในรูปในสิ่งที่ตนเองเคยเป็น มี 3 ภพ คือ

    กามภพ - ภพมนุษย์, สัตว์เดรัจฉาน, เทวดา    รูปภพ – พรหมที่มีรูป     อรูปภพ - พรหมที่ไม่มีรูป

    เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

     

    ๑๑. ชาติ

    คือ ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง ได้แก่ จิตที่ผูกพันกันมากๆจึงเกิดการสมสู่กัน อย่างสม่ำเสมอ จนปรากฎแห่งขันธ์ แห่งอายตนะในหมู่สัตว์   เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกปริเทวะทุกขโทมมัส อุปายาส มีความเศร้าโศก เสียใจ ร้องไห้อาลัย อาวรณ์

     

    ๑๒. ชรา มรณะ

    ชรา คือ ความแก่ ภาวะของผมหงอก ฟันหลุด หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่ของอินทรีย์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อยู่ในตัว

    มรณะ คือ ความเคลื่อน ความทำลาย ความตาย ความแตกแห่งขันธ์ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์

    บ่อเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ เกิดขึ้นมาได้เพราะอวิชา ดั่งพืชเมื่อเกิดเป็นต้นไม้แล้ว มีราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เป็นลำดับไป ไม่ปรากฎว่าเบื้องต้นเกิดมาแต่ครั้งไหน ดั่งรูปนาม ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ปรากฎว่าเบื้องต้นคือ " อวิชชา" เกิดมาตั้งแต่เมื่อไร เพราะ เกิดการผูกต่อกันมาเป็นลำดับ เกิดเป็นปฎิจจสมุปบาทขึ้นมา  ดังนั้นตามหลักนี้จึง พิจารณาประกอบโดยยอมรับอย่างที่เขาเป็นบนฐานของกรรมเก่าตามโลกทัศน์ในทางพระพุทธศาสนา เป็นเหตุ-เป็นผล และส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นตามหลักกัลยาณมิตร ประหนึ่ง แก้กรรม ให้หลุดจากวงจรกรรมเก่า ไม่เพิ่มกรรมใหม่ ด้วยการเพิ่มการกระทำในฝ่ายดีและไม่มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางของการผิดศีลอันว่าด้วยเรื่องเพศ เพื่อไปเพิ่มกรรมใหม่

     

    ๔.) ยอมรับในกระบวนการสิทธิ์ของเขาเหล่านั้นโดยอาศัยหลักพรหมวิหารธรรม (เมตตาธรรม)

    กล่าวคือ พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้มี 4 ประการได้แก่

    . เมตตา : ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
              . กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์  ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้       - ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์

    - ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
              . มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
              . อุเบกขา :การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

     

    ๕.) ยอมรับทั้งในสองส่วน ทั้งข้อ ๑-๓ แต่ในเวลาเดียวกันก็ประคับประคองเขาเหล่านั้นให้เดินไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไม่ส่งเสริมจนเลยเถิด หรือไม่ก็หวงห้ามจนกลายเป็นภาวะของการ

    ยัดเยียดบีบรัด จนก่อให้เกิดความรุนแรงต่อความคิดหรือพฤติกรรม และกลายเป็นปัญหาสังคมได้

     

    ๖.) มองพัฒนาการของความเป็นจริงตามหลักของการแปรเปลี่ยน (ไตรลักษณ์)  กล่าวคือ         ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่ :-

    ๑.อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่  และสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์.

    ๒.ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์.

    ๓.อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิงไม่มีอำนาจกำลังอะไรต้องอาศัยพึงพิงสิ่งอื่นๆมากมายจึงมีขึ้นได้.

    ลักษณะ ๓ อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดาหรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

    หากมองอย่างใจเป็นกลางสรรพสิ่งเกิดขึ้นอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งของชีวิตมนุษย์ และเมื่อถึงที่สุดก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์และเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดมั่นคงถาวรเมื่อไม่มั่นคงถาวร กระบวนสิทธิ์ ชายรักชาย หญิงรักหญิง มีอยู่ตามธรรมชาติก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด ตามเงื่อนไขของสมัยกาล เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายกลายไปเป็นอื่นในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา (ธรรมนิยาม) ไม่คงที่และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไม่มีที่สิ้นสุด
     

    สรุปและข้อเสนอแนะ

    เพศเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดขึ้นมา นับแต่อดีตกระบวนยอมรับทางสังคม แม้ปรากฏในพระไตรปิฎกก็ยอมรับเพศในการเข้ามาเป็นสมาชิกเพียง ๒ เพศ คือชายหญิง ส่วนเพศอื่นๆ หรือความชื่นชอบในเพศรสอื่นๆ ในทางพระพุทธศาสนายอมรับถึงการมีอยู่แต่ไม่ได้อนุญาตให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสังฆะ (ดังปรากฏในข้อห้ามบวชของบัณเฑาะก์-กะเทย) การแสดงออกของกลุ่มรักร่วมเพศต่อแต่งงานกันได้ ดังกรณีแคนาดา เนเธอแลนด์ ที่ออกกฎหมายให้กลุ่มรักร่วมเพศแต่งงานกันได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกนำมาสู่สังคมไทย ในบริบททางสังคมที่แตกต่าง จึงทำให้เกิดภาวะเชิงซ้อนทางสังคมกับการยอมรับความแตกต่างเหล่านี้

              กลุ่มหนึ่ง ๑ ยอมรับกลายๆต่อความหลากหลายนี้และมองที่การกระทำของบุคคลเหล่านั้นเป็นตัวเอง หรือมองว่าเขากระทำอะไรเป็นความดีงามต่อสังคม คนรอบข้าง ไม่ก่อปัญหา แต่ในเวลาเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ไม่แน่ใจว่า พฤติกรรมเหล่านี้จะมีปัญหาแฝงสะสมในระยะยาวหรือไม่ประการใด

              กลุ่มที่ ๒ ไม่ยอมรับโดยถือว่าเป็นความผิดธรรมชาติอย่างร้ายแรง และมองว่าเป็นความวิปริตเพศ ไม่สมควรเอาเยี่ยงอย่าง แล้วมองคนกลุ่มนี้เป็นส่วนเกินของสังคม และแสดงออกต่อเขาเหล่านั้นด้วยความก้าวร้าว หรือไม่เคารพสิทธิ์ของความเป็นปัจเจกในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

    ดังนั้นหากมองอย่างใจเป็นกลางอาจมองได้ในหลายมิติว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัญหา หรือว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่มุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นความล้มเหลวของสังคมในเชิงโครงสร้าง มุมหนึ่งอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีการแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย เราในฐานะเป็นชาวพุทธก็ต้องมองสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างเข้าใจ และมีสติในการพิจารณา และตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทพิจารณาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างใจเป็นกลางและวางท่าทีในแบบชาวพุทธได้อย่างเหมาะสม

    สิทธิที่สัมพันธ์กับการแสดงเรื่องเพศ

             

             

     ....จบ....

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×