ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พรีเซ้น - พุทธปรัชญา

    ลำดับตอนที่ #13 : สำนักเสาตรานติกะ - อภิปรัชญา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 930
      5
      18 ก.พ. 54

    อภิปรัชญาสำนักเสาตรานติกะ

                สำนักเสาตรานติกะแตกออกมาจากสัพพัตถิกวาทิน ปรัชญานี้นับถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ ไม่ยอมรับพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก สำนักปรัชญานี้เป็นของนิกายสรวาสติวาท เช่นเดียวกับ สำนักไวภาษิกะ

     

    ใจความสำคัญของหลักปรัชญา

              ใจความสำคัญของสำนักนี้ คือ ยอมรับความแท้จริง ๒ อย่าง ได้แก่ ความจริงแท้ของวัตถุ หรือรูปธรรม กับความแท้จริงของจิต หรือนามธรรมเช่นเดียวกับไวภาษิกะ จึงจัดเป็นปรัชญาสัจนิยมเหมือนกัน แต่ต่างจากสำนักไวภาษิกะในทางญาณวิทยา กล่าวคือ ไวภาษิกะถือว่า ความแท้จริงของวัตถุหรือความแท้จริงภายนอก สามารถรับรู้ได้ด้วยประจักษประมาณ ความแท้จริงของจิตหรือความแท้จริงภายใน รู้ได้ด้วยอนุมานประมาณ หรือประจักษประมาณพิเศษ แต่สำนักเสาตรานติกะเห็นว่า ความแท้จริงทั้ง ๒ ประการนี้ รู้ได้ด้วยอนุมานประมาณเท่านั้น ความแท้จริงภายนอกที่ปรากฏทางประสาทสัมผัส ซึ่งไวภาษิกะถือว่า เป็นความแท้จริงตามความเป็นจริงนั้น เสาตรานติกะค้านว่า ที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงภาพปรากฏของความจริงแท้ที่ไม่ปรากฏ ถ้าจะให้รู้ความแท้จริงแท้ๆก็ต้องอนุมานเอาจากภาพปรากฏไปหาความแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังของภาพปรากฏนั้น พูดถึงการเน้นหนักของสำนักทั้ง ๒ นี้ก็ต่างกัน คือไวภาษิกะเน้นหนักความจริงภายนอก ส่วนเสาตรานติกะเน้นหนักความจริงภายใน และยอมรับหลักปฏิจสมุปบาทเช่นเดียวกับไวภาษิกะ ด้วยเหตุที่ถือความจริงทั้ง ๒ อย่างดังกล่าวนี้ สำนักเสาตรานติกะจึงเป็นปรัชญาพวกสัจนิยมดังกล่าวข้างต้น

     

    อภิปรัชญา

              หลักอภิปรัชญาของเสาตรานติกะโดยทั่วไปก็ตรงกับของไวภาษิกะ คือ ยอมรับความมีอยู่จริงของวัตถุภายนอกและของจิตกับอารมณ์ภายใน ต่างกันแต่ในทางญาณวิทยาดังกล่าวแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลักอภิปรัชญาที่จะนำมากล่าวต่อไปนี้แสดงให้เห็นทัศนะของสำนักพุทธปรัชญาทั้ง ๒ นี้ว่าเห็นแตกต่างกันอย่างไรบ้างหรือไม่

    ขณิกภังควาท

              ทฤษฎีทางอภิปรัชญา ที่ไวภาษิกะและเสาตรานติกะเห็นตรงกันมีชื่อว่า ขณิกภังควาท

    หรือเรียกสั้นๆว่า ขณิกวาท (The Theory of Momentariness) ทฤษฎีนี้ถือว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วดับไป ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ได้นานหรือคงทนถาวร บางท่านเรียกทฤษฎีนี้ว่า สันตติวาท (The Theory of Flux) เพราะถือว่า นามรูปเกิด-ดับ ๆ สืบต่อกันเป็นกระบวนการลูกโซ่ ไม่หยุดหย่อน และบางท่านเรียกทฤษฎีนี้ว่า สังฆาฏวาท (The Theory of Aggregate) เพราะถือว่าวิญญาณเป็นเพียงขันธ์ขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ เช่นเดียวกับ รูป  เวทนา  สัญญา  และสังขาร  ซึ่งแต่ละอย่างก็เป็นเพียงขันธ์หนึ่งๆ

              ทฤษฎีขณิกภังควาท ตั้งขึ้นจากหลักไตรลักษณ์ของพุทธศาสนา และมีนัยเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิสัสตทิฐิ และอุจเฉททิฐิของสำนักปรัชญาอื่น

              ตามหลักทฤษฎีนี้มีรายละเอียดว่า ทุกสิ่งเป็นขณิกะ คือ ตั้งอยู่ชั่วขณะเดียวแล้วดับไป หมายความว่าไม่เที่ยงนั่นเอง  กล่าวคือ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  เป็นขณิกะ (ไม่เที่ยง)  ไม่อยู่ในอำนาจของตน (เป็นทุกข์)  ไม่มีทั้งภาวะ (being)  และอภาวะ (non-being)  สิ่งที่เป็นภาวะก็ดี อภาวะก็ดี ล้วนไม่ใช่ความแท้จริง อาการที่เปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายเท่านั้น คือ ความแท้จริง

    ทฤษฎีนี้ถือต่อไปว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่อื่นไกล ที่แท้ก็คืออนุกรมแห่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร มีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่มี  อนุกรมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมเป็นไปต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งต่อไปอีกเป็นวัฏจักร ในทางปฏิโลมนั้นก็ย่อมเป็นไปตามนี้ คือ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับด้วย ทั้งหมดนี้ตรงกับกฎปฏิจสมุปบาท

              สรุปว่า  สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ดับเพราะมีเหตุปัจจัย  ในโลกนี้จึงมีแต่การเกิดกับการดับ การผลิตกับการทำลาย หรือการสร้างกับการเสื่อมสลาย ไม่มีอะไรอื่นนอกจากนี้  ไม่มีมนุษย์และเทพองค์ใดที่สามารถอยู่ได้ยืนยงคงอยู่ชั่วนิรันดร

              พระพุทธองค์ทรงเปรียบชีวิตไว้ในที่หลายแห่งว่า เหมือนกับพยับแดดบ้าง เหมือนฟองน้ำบ้าง เหมือนเปลวไฟบ้าง เพราะเกิดและดับในระยะอันสั้น

     

    มโนภาพเรื่องนิพพาน

              ความหมายของนิพพาน

              เสาตรานติกะถือว่า นิพพานเป็นผลมาจากการปฏิบัติตาม มรรคมีองค์ ๘  นิพพานจึงมีเหตุปัจจัยเป็นแดนเกิด  ฉะนั้น นิพพานจึงไม่เที่ยง และไม่จัดเป็นอสังขตธรรมอย่างที่พวกไวภาษิกะเข้าใจ เสาตรานติกะอธิบายนิพพานไว้ว่า หมายถึงความไม่มีกิเลส หรือขั้นหนึ่งของจิตที่ดับกิเลสาสวะได้โดยสิ้นเชิงนั่นเอง  นิพพานเหมือนกันอากาศ คือไม่มีตัวตนอยู่จริงๆ  และเหมือนกับการดับมอดแห่งเปลวไฟ  การบรรลุนิพพาน จึงเป็นการเข้าขั้นขั้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีกิเลสาสวะใดๆ  ท่านพรรณนานิพพานไว้อีกอย่างหนึ่งว่า  ได้แก่ขั้นที่ธรรมทั้งหลายไม่มีการเกิดขึ้น  เสาตรานติกะถือว่า นิพพานเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในบรรดาสัจธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความแท้จริงสูงสุด

     

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×