หน้าที่ 1
 
ชื่อเรื่อง :  CUBIC (ตีพิมพ์แล้ว)
ใครแต่ง : B 13 s.t
2 พ.ย. 63
80 %
392 Votes  
#1 REVIEW
 
เห็นด้วย
21
จาก 23 คน 
 
 
ฉบับกวนบาทา

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 25 ส.ค. 53
ฤทัยนาค หนึ่งในคอเล็กชั่นนางเอกสายพันธุ์อึดลากไส้เช่นเดียวกับเลนยะ ที่ถ้าพี่แบงค์ไม่ได้เขียนให้เธอต้องเลือดตกยางออก รอดตายแบบเส้นยาแดงผ่าแปด หรือคิดแผนการสุดล้ำเลิศจนไมเกรนร้องถามหา ก็คงไม่ใช่สไตล์ของ B 13 s.t

ประหนึ่งว่าพี่แบงค์คงรู้สึกหรรษา ยามได้เห็นตัวละครเอกถูกทารุณกรรม แต่จะมีบ้างไหมที่ผู้เขียนจะให้ฤทัยนาคได้อยู่สุขสบาย (และได้รักกับพระเอกเสียที) อันนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนตัวข้าพเจ้าขอเป็นกำลังใจให้...
.
.
.
.
.
.
...หายตันสักทีเถอะคุณพี่ :D
     
 
ใครแต่ง : Labyss
20 ม.ค. 58
0 %
0 Votes  
#2 REVIEW
 
เห็นด้วย
15
จาก 22 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 20 ก.พ. 56
The witch ตำนานแม่มดลวงตา!

ผู้เขียน Abyss



เป็นชื่อเรื่องที่ค่อนข้างกว้างพอสมควร จับทิศทางพล็อตไม่ถูก แต่รู้ว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “แม่มด” แน่นอน ซึ่งหลังจากที่น้องอ่านมาหลายบท จึงรู้ว่าตำนานนี้ลวงตาผู้อ่านจริงๆ นะจ๊ะ ไม่เชื่อก็ลองดู



แนวคิด

ผู้เขียนบอกตั้งแต่ต้นเลยว่า “เรื่องนี้จับฉ่ายกว่าที่ท่านคิด” ซึ่งน้องเข้าใจว่าในความหมายของผู้เขียนคือนิยายเรื่องนี้เป็นการผสมผสานหลายอย่าง ทั้งแฟนตาซี แม่มด ภูติ เอลฟ์ คนแคระ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งแบ่งแยกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีนะจ๊ะ



โครงเรื่อง

ในเมื่อแนวคิดมันเป็นการจับยำรวมกันหลายอย่าง โครงเรื่องจึงต้องเป็นการแบ่งแยกระหว่างโลกของเวทมนต์ซึ่งก็คือป่าที่มีพวกแม่มด ภูติ เอลฟ์ คนแคระ นานาชาติพันธุ์อาศัยอยู่ กับโลกของเทคโนโลยีจะเป็นอาณาเขตหรือเมืองของมนุษย์แทน โดยแม่มดซีลียา ผู้ซึ่งตื่นขึ้นจากการเข้าฌานมาหลายพันปี เธอสำรวจป่าไปเรื่อยจนกระทั่งหลุดเข้าไปในเมืองมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากโลกที่เธอคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง โดยรวมแล้วเป็นโครงเรื่องที่ดีนะจ๊ะ แต่ยังขาดความแยบยลอยู่ นั่นคือปมหรือแรงจูงใจที่ทำให้ซีลียาอยากสำรวจป่า หรืออยากเข้าไปในเมืองมนุษย์ เหตุผลมันยังดูอ่อนๆ อยู่จ้า



ดำเนินเรื่อง

เปิดเรื่องคล้ายกับการเล่านิทาน แล้วชักนำสู่เรื่องราวของแม่มดซีลียา อย่างที่น้องบอกไปในประเด็นโครงเรื่องเลย คือวางโครงดีแล้ว ดำเนินเรื่องก็โอเค แต่ยังขาดปมขัดแย้ง ซึ่งสำคัญมาก มันทำให้เรื่องดูมีสีสันขึ้นเยอะ ปมขัดแย้งที่ทำให้ตัวละครกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เรื่องดูสมเหตุสมผล ซึ่งเรื่องนี้ขาดจุดสำคัญตรงนี้ไป จะเห็นได้ว่าผู้เขียนปล่อยให้ซีลียาทำอะไรตามอำเภอใจ อยากสำรวจป่าก็ไป อยากจะเข้าเมืองมนุษย์ก็เข้า ทั้งที่ตัวเองก็ไม่คุ้นเคยแท้ๆ ไม่มีปูมหลังของซีลียาปรากฏ ว่าทำไมเธอจึงต้องบำเพ็ญตบะเป็นพันๆ ปีขนาดนั้น มีเหตุผลอะไร?



และข้อสังเกตอีกข้อคือแม่มดซีลียาหลับใหลไปพันกว่าปีก็จริง แต่ทำไมเวอัสถึงแอบแซวว่าซีลียาแก่? เพราะเท่าที่อ่านดู เวอัส ซีริส แคริส เหมือนเป็นผู้รับใช้ที่ดูแลแม่มดซีลียามานาน ตั้งแต่ก่อนแม่มดซีลียาจะหลับใหลเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นมันต้องแก่พอๆ กันสิ? เพราะอยู่มาเป็นพันๆ ปีเหมือนกัน หรือเปล่า? ยังไงเดี๋ยวน้องจะรอผู้เขียนมาให้คำตอบทีหลังนะจ๊ะ



ตัวละคร

ซีลียา ตัวเอกดำเนินเรื่อง แม่มดผู้หลับใหลมานาน

เวอัส ผู้รับใช้จอมขรึมของซีลียา

ซีริส และ แคริส พี่น้องผู้รับใช้จอมจุ้นของซีลียา

ลาดอน ผู้รับใช้หนุ่มของซีลียาอีกคน

ไอเวส ผู้ชายจอมหยิ่งเอาแต่ใจ



ในภาพรวมแล้ว ตัวละครในเรื่องนี้ยังค่อนข้างมีบุคลิกนิสัยไม่แน่นอนอยู่ สังเกตจากซีลียา ตัวเอกของเรื่อง ผู้เขียนบอกว่าซีลียามีอายุ 20 ปี (ก่อนที่จะเข้าฌานไปอีกพันปี) แสดงว่าวุฒิภาวะทางความคิดของซีลียาควรเป็นหญิงสาวที่โตพอสมควร แต่จากการกระทำที่น้องเห็น ซีลียายังเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโต อารมณ์แปรปรวนง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ยังชอบคิดชอบทำอะไรเหมือนเด็กๆ อยู่เลย



บทสนทนา

น้องขอชื่นชมตรงที่ผู้เขียนรู้จักเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับตัวละคร “ข้า เจ้า ท่าน” พอไปเจอโลกสมัยใหม่จะก็มี “ฉัน เธอ นาย” คำศัพท์ตามสมัยของแต่ละท้องถิ่น แต่ตินิดหนึ่งตรงการจัดวางบทสนทนากับบทบรรยาย เพราะเวลาผู้เขียนใส่คำพูดตัวละครเสร็จ ก็ต่อท้ายด้วยการบรรยายเรื่องต่อเลย มักไม่บอกว่าใครพูด ซึ่งทำให้ผู้อ่านอาจงงได้ว่าประโยคนี้ใครพูด เช่น สมมติประโยคนี้ “แคสสส” แคริสยิ้มหวานให้แล้วตามหลังน้องสาวไปอย่างรวดเร็วฯ ถามว่าประโยคนี้ใครพูด? คนอ่านอาจเข้าใจได้ว่าแคริสพูดเพราะเห็นชื่อมันตามหลังมา แต่ความจริงแล้วประโยคนี้คือซีลียาต่างหากที่พูด แต่ผู้เขียนไม่ได้บอกไว้ กลับบรรยายเรื่องต่อเองไปเลย ให้ผู้อ่านต้องมาทำความเข้าใจเองทีหลังคนเดียว



“...เพียงแต่ต้องทำการขอเจ้าป่าเสียก่อน” ตรงคำว่า “ทำการ” ควรตัดออกนะจ๊ะ ถึงผู้เขียนจะเห็นว่าตามสื่อโทรทัศน์ก็ใช้คำว่า “ทำการ” กันเยอะแยะ แต่น้องขอบอกมันคือคำฟุ่มเฟือยจ๊ะ ตามหลักการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแล้ว ไม่ควรมีคำว่า “ทำการ”



ฉากและบรรยากาศ

การพร่ำพรรณนาฉากและบรรยากาศไม่ค่อยมีเท่าไหร่สำหรับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ผู้เขียนจะบรรยายฉากอย่างง่ายๆ เน้นรวดเร็วทันใจเสียมากกว่า ประมาณให้รู้ว่าตอนนี้ตัวละครอยู่ในป่านะ อยู่ในถ้ำนะ มาถึงเมืองมนุษย์แล้ว แต่เมืองมนุษย์ดีกว่าเยอะเพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา พวกเทคโนโลยี ตึกราบ้านช่อง ทำให้ผู้เขียนสามารถพรรณนาฉากเมืองมนุษย์ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนกว่า



ภาษา

การใช้ภาษาในการบรรยายของเรื่องนี้ อย่างที่น้องเคยเจอในเรื่องอื่นที่เคยวิจารณ์เลย นั่นคือใช้ภาษาพูดในการบรรยาย ซึ่งถามว่าทำได้ไหม? มันก็ทำได้ หากแต่ความสละสลวยมันจะน้อยลง เช่น “เดินมาได้เกือบสิบกิโล” จะเห็นว่า “กิโล” ตรงนี้เป็นคำย่อจาก “กิโลเมตร” ซึ่งเป็นภาษาพูด ควรเขียนเต็มไปเลยนะจ๊ะ แค่เขียนกิโลเมตรเต็มๆ ก็เป็นภาษาเขียนแล้วจ๊ะ แต่ถ้าผู้เขียนรู้สึกแปลกๆ เมื่อเขียนเต็ม จนอยากหลีกเลี่ยงคำพวกนี้ ก็แค่เปลี่ยนประโยคใหม่ อาจพูดถึงช่วงเวลาแทน เช่น “หลังจากเดินเล่นในป่าไปหลายชั่วโมง” แค่นี้ก็หลีกเลี่ยงคำว่ากิโลเมตรไปได้แล้วจ้า



อีกจุดหนึ่งที่น้องเจอบ่อยในนิยายหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องนี้ นั่นคือการใส่ความคิดผู้เขียนลงไปในการบรรยาย มันดูออกนะจ๊ะ ผู้เขียนลองย้อนกลับไปดูประโยคที่บรรยายต่อท้ายคำพูดของตัวละคร บางส่วนอ่านดูมันจะคล้ายๆ แซวตัวละครที่ตัวละครพูดออกไปแบบนั้น ซึ่งจุดนี้ควรแก้ไขนะจ๊ะ พยายามไม่ใส่ความคิดของผู้เขียนลงไป ควรใช้ภาษาบรรยายแบบเป็นกลางให้มากที่สุดเข้าไว้ ถ้าอยากจะแทรกจริงๆ ก็ต้องแทรกให้แนบเนียน แต่ไม่ใช่แทรกด้วยการยัดเยียดความคิดใส่ตัวละครให้มันคิดแบบนั้นนะจ๊ะ



สรุป

โดยรวมแล้วเรื่องนี้แนวคิดและโครงเรื่องดี การดำเนินเรื่องยังขาดปมขัดแย้งหรือแรงจูงใจให้ตัวละครกระทำสิ่งนั้นๆ อยู่ ตัวละครยังไม่เห็นเอกลักษณ์ที่แน่นอนในหลายๆ ตัว การจัดวางบทสนทนากับบรรยายยังสับสน ทำให้งงได้ง่ายอยู่ ฉากและบรรยากาศถ้าเป็นตัวเมืองผู้เขียนจะพรรณนาได้ดีกว่าฉากในป่า ภาษาควรใช้ภาษาเขียนในการบรรยาย และลดการใส่ความคิดของผู้เขียนลงไปนะจ๊ะ
     
 
ใครแต่ง : Chocolate Witch
3 พ.ย. 58
100 %
1 Votes  
#3 REVIEW
 
เห็นด้วย
11
จาก 11 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 23 ก.พ. 56
Evil Demon Café พนักงานร้านนี้มีแต่ปีศาจ

ผู้เขียน N.S.Bloody



ชื่อเรื่องแลดูไม่มีพิษภัยนะจ๊ะเรื่องนี้ เหมือนปีศาจที่มาเปิดร้านขายขนมทั่วไป แต่จริงๆ แล้วมันมีเงื่อนงำบางอย่างที่ไม่อาจเปิดเผย แนะนำสำหรับคนที่ชอบแนวแฟนตาซีไลท์โนเวล หรือชอบเรื่องที่เล่าโดยมุมมองของตัวละครเอกนะจ๊ะ



แนวคิด

เรื่องนี่น้องได้กลิ่นการ์ตูนญี่ปุ่นจ๋าออกมาเลย แม้น้องจะอ่านการ์ตูนไม่บ่อยนัก แต่ก็พอสัมผัสได้บ้าง จากพฤติกรรมของตัวละคร และการแสดงออกของตัวละครในบางครั้งก็เหมือนมาได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นมาเต็มๆ แม้ว่าตัวละครหลายๆ ตัวในเรื่องจะไม่ได้มีชื่อเป็นญี่ปุ่นก็ตาม



โครงเรื่อง

กล่าวถึงตัวเอกเซซิลที่ย้ายบ้านจากถิ่นฐานอื่น (ซึ่งยังคงเป็นปริศนา) มาอยู่ในเมืองๆ หนึ่งที่ห่างไกลจากเมืองหลวง และได้เข้าทำงานในร้าน Evil Demon Café ซึ่งเป็นร้านขนมหวานของพวกปีศาจ คำว่าปีศาจในความหมายของเรื่องนี้ คือ สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่ไม่ใช่มนุษย์จะถูกเรียกว่าปีศาจหมด เช่น แวมไพร์ ภูติหิมะ หรือพวกเผ่าพันธุ์ที่มีความสามารถแปลกๆ ทั้งหลายแหล่ รวมถึงตัวพระเอกของเรื่อง ด้วยความที่เรื่องนี้เพิ่งแต่งผ่านไปได้สิบตอนแรก น้องจึงยังไม่สามารถบอกโครงเรื่องหลักที่แท้จริงได้ เพราะเนื้อเรื่องยังอยู่ในช่วงผูกปมอยู่



ดำเนินเรื่อง

เป็นเรื่องที่ดำเนินผ่านมุมมองการเล่าของตัวเอก ดังนั้นเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องจึงเป็นเหตุการณ์ที่เซซิลไปประสบพบเจอเองทั้งสิ้น ซึ่งในตอนแรกเรื่องนี้เปิดมาได้น่าสนใจ มีจุดดึงดูดให้ผู้อ่านอยากติดตาม แต่เมื่อลองอ่านไปสักพักจะพบกับความน่าเบื่อได้ เพราะสิ่งที่ตัวเอกพบเจอทุกวันมีแต่เรื่องของการทำงานในร้านขนมหวาน และอย่างที่น้องบอกในประเด็นโครงเรื่องว่าเนื้อเรื่องมันยังอยู่ในช่วงผูกปมอยู่ จึงยังไม่พบกับความสนุกที่หวือหวาชวนให้ติดตามต่อนักเมื่อคนอ่านหลงอ่านมาได้ถึงกลางเรื่อง



ตัวละคร

เซซิล ตัวเอกของเรื่อง เป็นคนลึกลับที่เข้ามาอยู่ในร้านปีศาจ มีความลับเกี่ยวกับตัวเองเยอะ

มิเนอร์วา ผู้จัดการสาวจอมเหวี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกันเองกับลูกน้องมาก

วิกเตอร์ พนักงานแวมไพร์หนุ่ม เป็นคนเดียวที่ดูปกติธรรมดาที่สุดในเรื่อง

อากิระ เข้าใจว่าเป็นสาวดุ้น เพราะดูเป็นผู้ชายที่ชอบมิเนอร์วาอยู่ไม่น้อย แต่ชอบแต่งตัวเป็นหญิง

เอส เด็กชายตัวจ้อย พนักงานเสิร์ฟจอมซุ่มซ่ามประจำร้านที่ชอบล้มจนหัวหลุดออกจากคอ

โฮรุส ชายลึกลับผู้มีผ้าปิดหน้าปิดตาเป็นมัมมี่ ไม่พูดไม่จากับใคร



ตัวละครในเรื่องนี้เป็นแนวการ์ตูน จะเห็นได้ว่าการกระทำของตัวละครต่างๆ ผู้เขียนมักให้ภาพเป็นการ์ตูนมากกว่าคนจริงๆ เช่น หัวปูดเป็นลูกมะนาวสองสามลูกบนหัว ตัวละครหญิงยกเท้ายันหน้าตัวละครชายแล้วพูดๆ เสร็จก็ถีบหงายหลังออกไป ฯลฯ ซึ่งมองในแง่คนจริงๆ เหตุการณ์พวกนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ แสดงว่าผู้เขียนมีภาพตัวละครในใจเป็นการ์ตูนล้วนๆ คือสามารถทำเป็นไลท์โนเวลได้เลย ในกรณีนี้น้องจึงตัดเรื่องความสมจริงออกไปบ้าง แล้วมองในแง่ความโดดเด่น น่าติดตามของตัวละครแทน ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนก็ทำออกมาได้ดี ตัวละครของแต่ละตัวมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแล้วจ๊ะ



บทสนทนา

ในเมื่อตัวละครในเรื่องนี้เป็นแนวการ์ตูน บทสนทนาในเรื่องจึงต้องออกมาในรูปของการ์ตูนไปด้วย จะเห็นได้ว่าสรรพนามที่ตัวละครใช้เรียกแทนตัวเองนั้นจะอยู่ในระดับเดียวกัน เช่น “ฉัน” “นาย” “เธอ” ไม่มี “ผม” “คุณ” ซึ่งดูเป็นทางการและผู้ใหญ่มากกว่า รูปประโยคที่พูดก็มักเป็นประโยคคลาสสิคแบบที่เห็นในการ์ตูนทั่วไป สังเกตได้ชัดจากเวลาที่มิเนอร์วาแหวใส่พนักงานคนอื่นๆ “นี่นาย!” “ว่าไง ห๊ะ!” เป็นต้น



ฉากและบรรยากาศ

มีน้อย แต่ก็ยังถือว่าสมเหตุสมผลเพราะตัวละครในเรื่องไม่ค่อยได้ไปไหนนอกจากร้านขนมหวานของพวกปีศาจ แต่ถ้ามีผู้เขียนก็สามารถพรรณนาได้ดีตอนที่เซซิลเดินไปเจอร้านขนมหวานใหม่ๆ สามารถเล่าให้เห็นภาพได้ว่าหน้าตาร้านเป็นแบบใด มีประตูตรงไหนบ้าง



ภาษา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่าผ่านมุมมองของตัวละคร จึงสามารถใช้ภาษาพูดในบทบรรยายได้ ซึ่งในส่วนการใช้ภาษาผู้เขียนทำได้ดี เล่าเหตุการณ์ในมุมมองของตัวละครอย่างเข้าใจและลำดับเป็นเรื่องราว ไม่งง แต่ระวังเรื่องการใช้ไม้ยมก ผู้เขียนเป็นคนที่ใช้ไม้ยมกในการบรรยายเยอะมาก ตรงไหนลดได้ พยายามลดลงนะจ๊ะ และผู้เขียนมักพลาด ลืมเคาะเว้นวรรคหนึ่งเคาะหลังพิมพ์ไม้ยมกเสร็จ



“นอกจากจะไม่กรีดร้องแบบที่คนทั่วไปควรจะทำแล้ว ผมยังทรุดตัวลงนั่งข้างๆ ร่างของเด็กคนนั้นอีก” ตรงประโยคนี้เหมือนผู้เขียนพยายามให้รายละเอียดตัวละครมากเกินไป คือพยายามบอกว่าพระเอกมันไม่ขี้ตกใจนะ แต่ความจริงแล้วน้องแนะนำว่าไม่ต้องบอกก็ได้จ๊ะ เป็น “ผมทรุดตัวลงนั่งข้างๆ ร่างของเด็กคนนั้น” แล้วก็บรรยายไปตามปกติเลย แบบนี้น้องว่าดูพระเอกน่ากลัวขึ้นกว่าเดิมเยอะ การที่เราอยากให้ผู้อ่านรู้ว่าตัวละครเป็นคนแบบไหนนั้น แสดงให้เห็นเลย ดีกว่าบอกให้รู้นะจ๊ะ



คำผิด

คำผิดจากการพิมพ์ตกหล่น เช่น อยู่ กลายเป็น อนู่ ในบทที่ 3 เป็นต้น



ผู้เขียนมักพลาดเรื่องวรรณยุกต์ ชอบใส่เสียงตรีในอักษรต่ำ ซึ่งความจริงแล้วอักษรต่ำ ไม่มีไม้ตรีนะจ๊ะ มีแต่ใส่ไม้โทเท่านั้น เช่น มั๊ง ต้องเป็น มั้ง และ ว๊าว ต้องเป็น ว้าว เป็นต้น



ชั้น - ฉัน (ในตอนที่ 4 ถ้าจำไม่ผิด)

ซักหน่อย - สักหน่อย



สรุป

เรื่องนี้แนวคิดและโครงเรื่องดี การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้าเพราะผู้เขียนค่อยๆ ผูกปมเรื่องขึ้นมา จึงทำให้ช่วงกลางเรื่องค่อนข้างน่าเบื่อ แต่เปิดเรื่องได้ดี ดึงดูดผู้อ่าน ตัวละครและบทสนทนาเป็นแบบการ์ตูน ทว่าแต่ละตัวก็มีความเป็นตัวของตัวเองดี ฉากและบรรยากาศยังน้อย เพราะตัวเรื่องมักอยู่แต่ในฉากเดิมๆ ภาษาระวังเรื่องการใช้ไม้ยมกพร่ำเพรื่อ คำผิดบางคำ และเสียงวรรณยุกต์ที่ผิดหลักนะจ๊ะ
     
 
ใครแต่ง : AZUMITA
9 พ.ค. 64
80 %
7 Votes  
#4 REVIEW
 
เห็นด้วย
7
จาก 7 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 16 ก.พ. 56
Scams Tales of Snow Girl เด็กหญิงสโนไวท์กับพี่ชายหมาป่าใจร้ายทั้ง 7
ผู้เขียน AZUMITA

ชื่อเรื่องมีความน่าสนใจ ดึงดูดผู้อ่าน ถ้าใครชอบแนวแฟนตาซีคลายเครียด เฮฮา ไม่คิดมาก ไม่ดราม่า น้องขอแนะนำเรื่องนี้เลยจ้า

แนวคิด
แนวคิดของเรื่องนี้ชัดเจนมากจ้า เพราะบอกตั้งแต่เห็นชื่อเรื่องเลย ว่าได้แนวคิดมาจากเรื่องสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ที่ถูกนำมาเขียนใหม่เป็นสไตล์ของผู้เขียน

โครงเรื่อง
เป็นนิยายซ้อนนิทาน โครงเรื่องใหญ่คือมีผู้ชายเล่านิทานให้เด็กฟัง โครงเรื่องย่อยคือนิทานที่ผู้ชายคนนั้นเล่าให้เด็กฟัง นั่นก็คือเรื่องราวของเด็กหญิงสโนไวท์กับพี่ชายหมาป่าใจร้ายทั้ง 7 ซึ่งทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน โดยพี่ชายทั้ง 7 นั้นได้รับเชื้อสายจากพ่อที่เป็นหมาป่ามา ส่วนสโนไวท์ได้รับเชื้อสายจากแม่ที่เป็นมนุษย์และมีผิวขาวราวหิมะ โครงเรื่องก็คือเอนดริเชี่ยน ผู้เป็นแม่พาสโนไวท์ซึ่งอายุแค่ 6 ขวบมาฝากไว้ให้พี่ชายทั้ง 7 ช่วยดูแล เรื่องวุ่นๆ จึงเกิดขึ้น

ดำเนินเรื่อง
เรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องที่ดีนะในความรู้สึกน้อง เพราะอ่านเพลินได้เรื่อยๆ แต่ แต่จุดอ่อนร้ายแรงข้อเดียวของเรื่องนี้คือ การเปิดเรื่องที่น่าเวียนหัว เพราะผู้เขียนดันเปิดเรื่องด้วยการเปิดตัวพี่ชายทั้งเจ็ดออกมาก่อน แทนที่จะเปิดตัวเป็นเด็กหญิงไวท์เป็นหลัก แล้วค่อยไปเจอพี่ชายทีละคน กับความรู้จักกับพี่ชายทีละคน แบบนั้นจะช่วยให้คนอ่านจดจำตัวละครได้มากกว่า แถมดึงดูดคนอ่านได้มากกว่าด้วย เพราะไม่ทำร้ายคนอ่านด้วยการยัดตัวละครเยอะๆ เข้าไปในตอนเปิดเรื่องจ้า

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนต้องรู้คือนักอ่านส่วนใหญ่มีขีดจำกัดในการจดจำตัวละครในตอนเริ่มเรื่องได้ไม่เกิน 3 คน พอคนที่สี่ ที่ห้า คนอ่านก็จะเริ่มมึนงง (เฉพาะตอนเริ่มเรื่องนะ) หนักหน่อยก็จะพาลไม่อ่านเรื่องของเราซะงั้น ถามว่า อ้าว แล้วอย่างนี้จะแก้อย่างไรล่ะ คำแนะนำน้องอาจจะร้ายแรงนิดหนึ่ง นั่นคือตัดตอนที่ 1 คน(ไม่)แคระทั้ง 7 ออก แค่นั้นเรื่องมันจะโอเคมาก เพราะตอนต่อไปสโนไวท์ก็จะขึ้นมาดำเนินเรื่องแทนทั้งหมดเองแล้ว แต่ถ้าผู้เขียนมีวิธีที่ดีกว่า หรือคิดว่าเนื้อเรื่องที่เป็นอยู่นั้นดีแล้ว ก็ไม่เป็นไรจ้า

ตัวละคร
สโนไวท์ เด็กหญิงหิมะวัย 6 ขวบ
ดรอย์ หนุ่มโหดเย็นชา
เมลฟ์ หนุ่มขี้อายและซุ่มซ่าม
แอลมายด์ หนุ่มเจ้าชู้
เซธต์ หนุ่มนักเลง
ฟลิบเปอร์ หนุ่มกระตือรือร้น
คล็อก หนุ่มบ้าแพะ
สนีพธ์ หนุ่มขี้เซา

เนื่องจากตัวละครเรื่องนี้เยอะ จึงทำให้ผู้เขียนต้องสร้างจุดเด่นของตัวละครให้โดดเด่นออกมามากที่สุด ฉะนั้นไม่แปลกถ้าจะเห็นตัวละครเรื่องนี้มีบุคลิกนิสัยหรือทำอะไรที่เกินมนุษย์มนาทั่วไป เช่น เจ้าชู้เกินไป ซุ่มซ่ามเกินไป โหดเกินไป เป็นต้น และเมื่อมีตัวละครเยอะ จึงเป็นการยากที่จะให้ตัวละครทั้ง 7-8 ตัวเด่นเท่าๆ กัน สุดท้ายมันก็ต้องมีตัวละครที่โดดเด่นออกมาเหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้น นั่นคือ สโนไวท์ กับ ดรอย์

บทสนทนา
บทสนทนาเรื่องนี้ทำหน้าที่สำคัญคือเป็นตัวช่วยดึงบุคลิกนิสัยโดดเด่นของแต่ละคนออกมา เช่น เมลฟ์ที่ชอบพูดติดอ่าง หรือดรอว์ที่ชอบพูดว่า “อยากตายรึไง” สำหรับกรณีนี้บทสนทนาถือว่ามีความเป็นธรรมชาติดี เหมาะสมกับบุคลิกนิสัยตัวละครนะจ๊ะ

ฉากและบรรยากาศ
อย่างที่น้องเคยบอกไปว่าเรื่องนี้ตัวละครเยอะ ดังนั้นตัวละครกับบทสนทนาจึงแย่งซีนจุดอื่นไปหมด ทำให้การพรรณนาฉากและบรรยากาศของเรื่องนี้มีค่อนข้างน้อย แต่เมื่อมีก็ทำได้ดีนะจ๊ะ อย่างเช่น ตอนเล่าอดีตของเอนดริเชี่ยนกับอานาเคร์ หรือตอนที่เปิดตัวสโนไวท์ใหม่ๆ เพราะช่วงนั้นตัวละครออกน้อย จึงทำให้ผู้เขียนมีเวลาพรรณนาฉากออกมาให้สละสลวยสวยงาม

ภาษา
ก่อนอื่นน้องขอแยกภาษาที่ผู้เขียนใช้ในการบรรยายออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือส่วนบรรยายทั่วไป กับส่วนผู้เล่านิทาน

1.ส่วนบรรยายทั่วไป เป็นการเล่าเรื่องแบบธรรมดา ซึ่งควรเป็นภาษาเขียนทั้งหมด แต่ในหลายจุดกลับพบว่ายังมีภาษาพูดหลุดมาบ้าง ทำให้ความสละสลวยน้อยลง บางครั้งผู้เขียนก็นำความคิดของตนเองมาใส่ไว้ในการบรรยาย ทำให้การเล่าเรื่องดูไม่เป็นกลาง อ่านดูแล้วรู้หมดเลยว่าผู้เขียนรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของตัวละคร

2.ส่วนผู้เล่านิทาน ในส่วนนี้ทำได้ดีแล้ว สังเกตได้จากประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ท่านเอย...” แล้วเล่าเรื่องราวได้อย่างน่าฟัง โดยส่วนใหญ่มักปรากฏเป็นบทสรุปในตอนท้ายของแต่ละตอน แต่ก็ต้องระวังเรื่องการใส่ความคิดของผู้เขียนลงไปเองอยู่ดีนะจ๊ะ เพราะบางครั้งมันดูเป็นการยัดเยียดความคิดให้คนอ่านมากไป

คำผิด
สรรพยางค์ - สรรพางค์

สรุป
เรื่องนี้แนวคิดและโครงเรื่องดี การดำเนินเรื่องเพลิดเพลินแต่ระวังการเปิดเรื่องที่อัดตัวละครเยอะๆ เข้ามาในคราวเดียว แม้ตัวละครจะเยอะแต่ที่เด่นจริงๆ มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น บทสนทนาเด่นมากในเรื่อง แต่ฉากและบรรยากาศน้อย ภาษาระวังเรื่องการใช้ภาษาพูดมาบรรยายและเผลอใส่ความคิดของผู้เขียนลงไปเองนะจ๊ะ
     
 
17 ก.ค. 56
100 %
2 Votes  
#5 REVIEW
 
เห็นด้วย
5
จาก 5 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 24 ก.พ. 56
Vampire & The Wolf ปิศาจแห่งรัตติกาล
ผู้เขียน คิ้-วท์เกิร์ล

เป็นแนวแฟนตาซีพารานอลมอลตะวันตก สำหรับคอนิยายแปลเลยจ๊ะ ชื่อเรื่องบอกชัดเลยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับแวมไพร์และมนุษย์หมาป่า ปีศาจสองวายร้ายที่ไม่ว่าจะปรากฏในเรื่องใด มันก็ไม่เคยจะลงรอยกันสักเรื่อง ฮ่าๆ แต่น้องแนะนำนิดหนึ่งว่าธีมที่ผู้เขียนใส่ลงในเนื้อหานิยายนั้น มันลายเกินจ๊ะ ทำให้เวลาน้องอ่านแล้วทรมานตามากเลย ทางที่ดีตรงส่วนเนื้อหานิยายนั้นไม่ใส่ธีมตกแต่งเลยจะดีกว่า เพราะเราต้องเน้นให้คนอ่านอ่านงานของเราเป็นหลักใช่ไหมล่ะจ๊ะ

แนวคิด
เรื่องนี้น้องได้กลิ่นทไวไลท์ชัดออกมาเลยจ๊ะ ไม่ใช่เพราะมีแวมไพร์และมนุษย์หมาป่าหรอกนะ แต่เป็นการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวของพวกแวมไพร์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับทไวไลท์ รวมไปถึงการโดนแดดของพวกนางเอก (ที่เป็นแวมไพร์) ส่วนใหญ่เรื่องอื่นแวมไพร์โดนแดดแล้วจะแหลกเป็นจุณ แต่เรื่องนี้แวมไพร์โดนแดดแล้วจะแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปเท่านั้นเอง นั่นจึงทำให้น้องกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ได้แนวคิดมาจากทไวไลท์ล้วนๆ จ้า

โครงเรื่อง
แวมไพร์กับมนุษย์หมาป่าเป็นศัตรูคู่อริที่มีความแค้นกันมานาน ในปัจจุบันสองเผ่าพันธุ์จึงค่อนข้างแบ่งแยกกันอย่างเห็นได้ชัด ครอบครัวของฝั่งแวมไพร์ก็พวกหนึ่ง ครอบครัวของฝั่งมนุษย์หมาป่าก็พวกหนึ่ง จนกระทั่งวันหนึ่งสองครอบครัวส่งลูกหลานมาเรียนในโรงเรียนเดียวกัน นั่นคือเดไลลาห์ นางเอกของเรื่อง และเทอรอน หนุ่มหมาป่านิสัยดีที่หลงรักเดไลลาห์ สาวแวมไพร์ของเราตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น แต่เทอรอนจะนิสัยดีจริง หรือแท้จริงแล้วมีเงื่อนงำอะไรแอบแฝงหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาต่อไป เป็นโครงเรื่องที่ดูไม่ยาวเท่าไหร่ถ้าเทียบกับแฟนตาซีเรื่องอื่น (ซึ่งมักมีภาคต่อหลายภาค) เพราะถึงแม้เรื่องนี้จะยังมีไม่ถึงสิบตอน แต่น้องอ่านแล้วก็จับโครงเรื่องใหญ่ได้ทันทีจ้า

ดำเนินเรื่อง
ตอนเปิดเรื่อง (Intro) ผู้เขียนจะเล่าเรื่องแบบการบรรยายทั่วไปก่อน โดยใช้บุรุษสรรพนามที่สาม เพื่อบอกที่มาว่านางเอกมาเป็นแวมไพร์ได้อย่างไร จากนั้นในตอนที่ 1 จะใช้การเล่าด้วยมุมมองของตัวนางเอกเป็นต้นมา นั่นคือเดไลลาห์ ซึ่งเรื่องนี้ตอนแรกทำได้ดี คือมีการเล่ารายละเอียดความเป็นมาหลังจากที่นางเอกเป็นแวมไพร์แล้ว ว่าตอนนี้เธออาศัยอยู่ที่ไหน อยู่กับโรฮานแบบครอบครัวอย่างไร แต่หลังจากตอนที่ 1 ไป เรื่องจะเริ่มดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และบางครั้งก็เร็วมากจนน้องตามแทบไม่ทัน เช่น ตอนแรกน้องเห็นตัวละครคุยกันอยู่ในบ้าน สักพัก อ้าว ไปขึ้นรถแล้วหรอ เดไลลาห์คุยกับเทอรอน สักพัก เทอรอนโผล่ไปคุยกับพ่อแล้ว อ่านๆ ไปอีก เดไลลาห์มาคุยกับจอร์เจียแล้วจ้า ดำเนินเรื่องเร็วไป ฉากเปลี่ยนเร็วมากจนน้องไม่ทันตั้งตัว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นางเอกเป็นผู้เล่าเรื่อง แต่ผู้เขียนไม่ค่อยให้นางเอกคิดเลย มีแต่ปล่อยให้นางเอกเล่าไปแบบตรงๆ ฉะนั้นถ้าผู้เขียนเพิ่มความคิดของนางเอกลงไปบ้าง เช่น นางเอกคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นางเอกรู้สึกอย่างไรที่เทอรอนชวนไปโน่นไปนี่ สงสัยเรื่องโน่นเรื่องนี้บ้าง จะช่วยดึงเรื่องให้ชะลอลงได้ และก็เพิ่มในเรื่องของฉากและบรรยากาศให้ชัดขึ้นจะดีมาก (จะอธิบายในประเด็นฉากและบรรยากาศต่อไป)

ตัวละคร
เดไลลาห์ นางเอกของเรื่อง
เทอรอน พระเอกของเรื่อง (คาดว่า)
จอร์เจีย เพื่อนสนิทของเดไลลาห์
แองเจลิก้า เพื่อนสาวที่ตกหลุมรักเทอรอน
โรฮาน พ่อบุญธรรมของเดไลลาห์

สำหรับตัวละคร น้องยังเห็นเป็นแค่ภาพแบนๆ อยู่นะจ๊ะ คือยังไม่เห็นมิติของตัวละครที่ชัดเจนว่าใครเป็นคนแบบไหน นิสัยยังไง อารมณ์ของตัวละครยังขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนอยู่ แนะนำให้วางโครงตัวละครใหม่ให้ดีจ๊ะ ทำให้ตัวละครดูเป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา เหมือนคนมากกว่านี้ จะช่วยให้เรื่องดูน่าสนใจขึ้นเยอะเลย

บทสนทนา
เมื่อตัวละครยังขาดความเป็นธรรมชาติ ขาดความสมจริง จึงทำให้ด้านบทสนทนายังขาดจุดนี้ไปด้วย คำพูดของตัวละครนั้นยังคงดูแข็งๆ เหมือนนักแสดงที่ตีบทไม่แตก ไม่สามารถทำให้คนอ่านเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้ ว่าตัวละครนั้นโกรธ เสียใจ หรือมีความสุขดี แนะนำให้ผู้เขียนลองอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์แล้วสังเกตอารมณ์ของตัวละครที่แสดงหรือถ่ายทอดออกมาให้มากๆ และเวลาที่ผู้เขียนจะลงมือเขียนถ่ายทอดมัน ผู้เขียนต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นเสียเองก่อนนะจ๊ะ

ฉากและบรรยากาศ
น้อยมากเลย จากที่น้องเคยเกริ่นไปในประเด็นการดำเนินเรื่อง เรื่องนี้แทบไม่มีการพรรณนาฉาก ในตอนแรกๆ ยังมีกล่าวถึงบ้าง แต่หลังจากนั้นนางเอกแทบไม่บอกกล่าวถึงฉากอีกเลย บอกแค่ว่า ตอนนี้อยู่บ้าน ตอนนี้ถึงโรงเรียนแล้ว ไปหอสมุด อยู่ในห้องเรียน ฯลฯ คือบอกให้รู้ว่าตัวละครอยู่ที่ไหน แต่ไม่ได้ให้ภาพที่ชัดเจนลงไปอีกว่าฉากที่ตัวละครประสบพบเจอนั้นเป็นอย่างไร มีรายละเอียดเช่นไร ควรพูดถึงบ้าง โดยเฉพาะบรรยากาศ เรื่องนี้ควรมีบรรยากาศที่น่ากลัว ทะมึน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปีศาจแห่งรัตติกาล บรรยากาศคืออะไร? แตกต่างจากฉากตรงไหน? บรรยากาศคือรายละเอียด คือความรู้สึกที่ได้หลังจากอ่าน แต่เรื่องนี้น้องแทบสัมผัสไม่ได้เลย ยกเว้นธีมที่ให้ความทะมึน

ภาษา
เรื่องนี้ดำเนินด้วยบทสนทนาเป็นใหญ่ และการบรรยายที่น้อย จึงทำให้น้องแทบไม่เห็นความสละสลวยทางภาษาของเรื่องนี้เลย แต่เนื่องจากน้องเห็นว่าผู้เขียนเคยเขียนแนวรักหวานแหววมาก่อน จึงอยากแนะนำว่าแนวแฟนตาซีนั้น เรื่องภาษาสำคัญมาก ความสละสลวยทางภาษาจะช่วยให้เรื่องน่าอ่านขึ้น โดยผู้เขียนต้องมีคลังคำศัพท์อยู่ในหัวเยอะๆ เวลาจะหยิบมาใช้จะได้มีคำที่หลากหลาย อ่านแล้วเพลิดเพลินไม่น่าเบื่อ แต่เรื่องนี้ เท่าที่น้องเห็น ผู้เขียนจะบรรยายตรงๆ สั้นๆ โดยใช้คำที่ตนคุ้นเคยเป็นส่วนใหญ่

สรุป
เรื่องนี้แนวคิดและโครงเรื่องดี ดำเนินเรื่องเร็วไป ตัวละครและบทสนทนายังขาดความเป็นธรรมชาติ ความสมจริง และความมีชีวิตชีวา ควรเพิ่มฉากและบรรยากาศให้มากๆ เพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดของเรื่องมากขึ้นและช่วยชะลอเรื่องให้ช้าลงหน่อย ส่วนภาษายังขาดความสละสลวย ถ้าผู้เขียนเพิ่มในส่วนที่น้องบอกว่ายังขาดอยู่ จะช่วยให้ผู้เขียนแสดงทักษะด้านภาษาตรงนี้มากขึ้นไปเองจ้า
     
 
ชื่อเรื่อง :  (จบ) Soul ripper
ใครแต่ง : Echo9
4 ม.ค. 63
80 %
6 Votes  
#6 REVIEW
 
เห็นด้วย
5
จาก 5 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 25 มี.ค. 56
Soul Ripper
ผู้เขียน ZENPIA

เป็นเรื่องที่น้องใช้เวลาอ่านทวนซ้ำเป็นวัน ทั้งที่จำนวนตอนหรือเนื้อหาก็ไม่ได้เยอะอะไร แต่เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่ข้อมูลหนัก คือผู้เขียนมีจินตนาการในฉากแต่ละฉาก เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ชัดเจนมาก จึงบรรยายออกมาอย่างละเอียดลออทุกอย่าง ประมาณว่าเก็บทุกเม็ด ซึ่งข้อดีของมันก็คือผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนตามความคิดของผู้เขียนเป๊ะ แต่ข้อเสียคือบางทีข้อมูลรายละเอียดที่ใส่มามันก็ดูเยอะไป จึงทำให้เรื่องอืดลง และบางทีผู้อ่านอาจจะตั้งรับไม่ไหวก็เป็นได้ ซึ่งเดี๋ยวน้องจะอธิบายในประเด็นดำเนินเรื่องและภาษาอีกทีจ้า

แนวคิด
ไม่รู้ว่าน้องคิดไปเองหรือเปล่า แต่เรื่องนี้ตอนแรกๆ จะให้ความรู้สึกที่คล้ายกับโซเคนโย (นิยายเรื่องหนึ่งที่ตีพิมพ์ไปนานแล้ว) คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณ หมอผี ซึ่งเรื่องนี้จะเรียกอาชีพประเภทนี้ว่า โซลริปเปอร์ เป็นแนวแฟนตาซีสายดาร์ค มีโลกต้นแบบ โลกเสมือน (เข้าใจว่าเป็นโลกคู่ขนาน)

โครงเรื่อง
หรรษา เด็กสาวนักเรียนทุนผู้มีวิชาอาคมปราบวิญญาณ พยายามสอบเข้าเป็นโซลริปเปอร์ของสภา (ประมาณว่าเป็นหมอผีอย่างถูกกฎหมาย) เพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพตน นี่คือโครงที่น้องจับได้ เพราะเนื่องด้วยเรื่องที่เพิ่งดำเนินผ่านมาเพียงสิบสองตอนแรกจึงยังทำให้น้องไม่เห็นโครงเรื่องใหญ่ที่แท้จริงของเรื่องนี้เท่าไหร่นัก

ดำเนินเรื่อง
เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงโลกต้นแบบ โลกเสมือน จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องราวของเด็กสาวนักเรียนทุนผู้มีวิชาอาคมปราบวิญญาณอย่างหรรษา ที่ต้องเดินสายรับงานปราบวิญญาณไปเรื่อยเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพไปกับคู่หูที่เป็นวิญญาณอย่างมะลิ ก่อนจะเข้าไปสู่การสอบคัดเลือกเป็นโซลริปเปอร์อย่างจริงจัง เป็นเรื่องที่ดำเนินค่อนข้างช้าในความรู้สึกน้อง อย่างที่บอกในตอนแรกเลยว่าเรื่องมันอืดเพราะมีข้อมูลมากมายที่ผู้เขียนพยายามใส่ลงไป ซึ่งบางครั้งคนอ่านก็รับไม่ไหว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้น้องต้องอ่านทวนซ้ำหลายรอบเพื่อเก็บรายละเอียด แต่ก็ยังเก็บไม่หมดสักที

ตัวละคร
หรรษา เด็กสาวนักเรียนทุนสู้ชีวิต มีวิชาอาคมปราบวิญญาณ พยายามสอบเข้าเป็นโซลริปเปอร์
มะลิ วิญญาณสาวที่มาอยู่กับหรรษา มีหน้าตาและนิสัยน่ารักขัดกับหรรษาโดยสิ้นเชิง
ซิงลี่ สาวหมวยหน้าตาสะสวย น่ารัก เป็นโซลริปเปอร์ในหน่วยเอสอาร์
เดย์ไซน์ หนุ่มยุโรปผู้มีท่าทางและวาจาขวางโลก เป็นโซลริปเปอร์เช่นกัน

โดยรวมตัวละครเรื่องนี้ถือว่ามีมิติสมจริง ด้วยรายละเอียดที่ผู้เขียนพยายามใส่ลงไปนั่นเอง จึงทำให้ตัวละครดูมีเหตุมีผลในการกระทำต่างๆ การบรรยายหน้าตา บุคลิกชัดเจน แยกออกว่าใครเป็นอย่างไร จุดนี้ถือเป็นส่วนดีของการใส่รายละเอียดของผู้เขียนจ้า

บทสนทนา
บทสนทนาเรื่องนี้มีความเป็นธรรมชาติ ทันสมัย เหมาะสมกับท้องเรื่อง และบุคลิกนิสัยของตัวละครดี หากแต่บางครั้งผู้เขียนก็เผลอใส่ข้อมูลที่ไม่จำเป็นลงไปในบทสนทนา เช่น ตอนแรกที่เปิดตัวหรรษาออกมาเลย

“ถ้ารู้ว่าเป็นนักเรียนทุน แล้วโดนใช้เยี่ยงแรงงานต่างด้าว ลาออกไปทำก่อสร้างยังดีซะกว่า ใช้แรงงานเท่ากันและมีค่าตอบแทนค่าแรงขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนด ไม่มีอะไรคุ้มค่ามากกว่านี้อีกแล้วให้ตายเถอะ!”

ทำให้น้องรู้สึกว่าคนอะไรมันจะบ่นไฟแลบเป็นวิชาการขนาดนั้น รู้สึกว่ามันเวิ่นไปนิด รายละเอียดก็เป๊ะไปหน่อย น่าจะย่อให้มันสั้นๆ แต่ได้ใจความ แล้วค่อยไปอธิบายส่วนนี้ต่อในบทบรรยายน่าจะเข้าท่ากว่าจ้า

ฉากและบรรยากาศ
อันนี้ดีเลยจ้า ไม่มีที่ติ เพราะผู้เขียนใส่รายละเอียดทุกอย่างไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งนั่นรวมไปถึงฉากและบรรยากาศของเรื่องด้วย

ภาษา
เป็นเรื่องที่อ่านแล้วเหนื่อย เพราะตัวหนังสือที่ติดกันเป็นพรืด เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนชอบบรรยายแบบพร้ำพรรณนายาวเหยียด พร้อมทั้งใส่รายละเอียดที่ตนรู้หรือคิดได้เข้าไปในการบรรยายเยอะ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องราวปกติน้องก็ไม่ได้อะไร เพราะถือว่าสมเหตุสมผลดี และได้เห็นความรู้ความคิดของผู้เขียนด้วย แต่ยกเว้นฉากบางฉากที่ควรจะเน้นให้เรื่องมันเดินเร็วเข้าไว้ เช่น ฉากบู๊ น้องรู้สึกว่าการต่อสู้มันอืดไม่เร้าใจไปนิด เพราะต้องมาอ่านรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้เขียนใส่เข้ามา ถ้าตรงไหนลดได้พยายามลดนะจ๊ะ รวมทั้งในบทสนทนาด้วยจ๊ะ

จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือยังขาดการเล่าที่ตื่นเต้นเร้าใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่าแบบเอื่อยๆ จนเหมือนอ่านสารคดีวิชาการ เช่น เอ็มไอบี (MIB) ที่หรรษาพูดถึงย่อมาจากเมน อิน เบล็ก (men in black) หรือแมน อิน เดอะ มิดเดิ้ล (man in the middle) นั่นเป็นวิธีการแฮค (Hack) ระบบอย่างหนึ่ง เป็นต้น กรณีถ้าเป็นข้อมูลเงื่อนงำอะไรที่น่าสนใจ หรือจะเฉลยความจริง ควรจะเล่าแบบบอกไม่หมด แล้วยกข้อความทีเด็ดนั้นไปบอกในบรรทัดต่อไป เพื่อดึงจังหวะ อารมณ์ของเรื่องให้ตื่นเต้นบ้าง หรือให้คนอ่านรู้ว่าตรงนี้ที่เรากำลังเล่าอยู่ มันสำคัญนะ เช่น

(บรรยายๆ) ...ดูท่าทั้งคู่คงเป็นแฟนกัน
แต่น่าเสียดาย
เพราะฝ่ายหญิงเป็นสาวจีนที่สวยมากๆ... (บรรยายต่อ)

แบบนี้ ตัวหนังสือจะได้ไม่ติดกันเป็นพรืดเกินไป ให้คนอ่านได้พักสายตาด้วยจ้า

คำผิด
จึงไม่อยากให้เพื่อนพลาดโอกาสแรกการครั้งแรกของตน – โอกาสการสอบครั้งแรกของตน
กินอะไรที่ปลุกสุกใหม่ๆ – ปรุงสุกใหม่ๆ
กำลังง้วนอยู่กับ – ง่วน
“วันนี้บ่ายสี่โมง” – สี่โมงเย็น
ไม่หวั่นติ่ง – ไม่ไหวติง
ฯลฯ

แม้จะดูขัดกับภาพพจน์อันดี – ภาพลักษณ์ (เป็นคำที่มักใช้ผิด เพราะภาพพจน์คือถ้อยคำสำนวนโวหาร แต่ภาพลักษณ์คืออิมเมจ หรือลักษณะท่าทีของบุคคล องค์กร ที่ปรากฏแก่สาธารณชน ซึ่งที่ถูกคือต้องใช้คำนี้นะจ๊ะ)

สรุป
เรื่องนี้แนวคิดและโครงเรื่องดี การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้าเพราะผู้เขียนพยายามใส่รายละเอียดของเรื่องเข้าไปเยอะเพื่อให้ดูสมจริง ตัวละครและบทสนทนาเป็นธรรมชาติ คล้ายกับมีชีวิตจริงๆ พรรณนาฉากและบรรยากาศดี ด้านภาษาควรมีการทิ้งจังหวะให้ผู้อ่านตื่นเต้นบ้างจะทำให้เรื่องสนุกขึ้น และระวังเรื่องคำผิดตกหล่นนะจ๊ะ
     
 
1 ก.ค. 56
100 %
1 Votes  
#7 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 12 ก.พ. 56
Rabbit Ears หูกระต่ายไม่ได้มีไว้ฟังแม่มด
ผู้เขียน ชุตางค์

เป็นชื่อเรื่องที่ฟังดูน่ารัก ผู้เขียนจัดให้เรื่องนี้อยู่ในหมวดวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งทีแรกน้องก็ว่าเหมาะสมอยู่ แต่อ่านถึงตอนหลังๆ เริ่มรู้สึกว่าเนื้อเรื่องจะออกไปทางสายแฟนตาซีมากขึ้นเรื่อยๆ (ผู้เขียนก็รู้สึกเช่นกันใช่ไหมจ๊ะ) แต่ก็ยังจัดในหมวดวรรณกรรมเยาวชนได้อยู่ ส่วนชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ rabbit ears ตัวอักษรแรกของคำต้องตัวใหญ่นะจ๊ะ เป็น Rabbit Ears และก็ควรเพิ่มการแนะนำเรื่องในหน้าบทความให้น่าสนใจมากกว่านี้จะดีมากจ่ะ เพราะตอนน้องเปิดเข้ามาใหม่ๆ น้องแทบไม่ทราบเลยว่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร การแนะนำเรื่องที่ดีและน่าสนใจนั้นจะช่วยดึงดูดนักอ่านหน้าใหม่ได้จ้า

แนวคิด
เมื่อแรกที่น้องอ่าน น้องรู้สึกถึงกลิ่น อลิส ในแดนมหัศจรรย์ขึ้นมาเบาๆ แต่บางทีน้องอาจจะคิดไปเอง แนวคิดตามชื่อเรื่องที่ว่า “หูกระต่ายไม่ได้มีไว้ฟังแม่มด” หมายถึงพระเอกซึ่งเป็นชายร่างเล็กมีหูกระต่ายต้องมาทำภารกิจอะไรสักอย่างร่วมกับแม่มดสาว โดยที่เขาต้องก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งเธอแม้ไม่เต็มใจนั่นเอง

โครงเรื่อง
เรื่องนี้วางโครงเรื่องดีนะ ในความรู้สึกของน้อง มีปริศนาอะไรวางอย่างดี แล้วค่อยๆ เผยปมออกมาทีละนิด ให้คนอ่านลุ้นว่าตัวละครจะตามแก้ไขปมพวกนี้อย่างไร ด้านโครงเรื่องน้องถือว่าอวยให้เลย แต่ แต่! โปรดดูด้านอื่นๆ ที่ค่อนข้างเป็นจุดอ่อนให้เรื่องนี้ดูดรอปลง

ดำเนินเรื่อง
อันนี้เลยจ้าที่เป็นตัวปัญหา เพราะการดำเนินเรื่องของเรื่องนี้นั้น ค่อนข้างน่าเบื่อ (และงง) เพราะผู้เขียนชอบนำเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็นมาใส่ไว้ในเรื่องค่อนข้างเยอะ เช่น ฉากกินโน่นกินนี่ซ้ำซาก ฉากตื่นนอนซ้ำซาก เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินด้วยบทสนทนาเป็นใหญ่ คือมีบทสนทนาเยอะ แต่บทบรรยายน้อย ถ้าน้องแนะนำว่าจะให้ผู้เขียนตัดฉากที่ไม่จำเป็นออก แล้วเพิ่มบทบรรยายเข้าไปในฉากที่สำคัญแทน จะดีไหม? เช่น ตัดฉากซ้ำซากอย่างที่น้องบอกตอนต้นออก แล้วเพิ่มการบรรยายปูมหลังเรื่องราวมากขึ้น เช่น สมมติผู้เขียนบอกว่าอุนกับบีสนิทกันมาก ก็บอกเพิ่มว่าสนิทกันได้อย่างไร จะเล่าภูมิหลังของบีด้วยก็ได้ หรือพูดถึงแม่มดในราชสำนัก ก็อธิบายว่าแม่มดในราชสำนักคืออะไร หรือพูดถึงเจ้าชายซาเซียรัสกับเจ้าชายซาเซียสขึ้นมา ผู้เขียนก็บรรยายว่าสองเจ้าชายนี้เป็นใคร ทำอะไร แล้วโยงมาว่าเกี่ยวข้องกับอุนหรือตัวละครเด่นๆ ได้อย่างไร ทำนองนี้ เพราะจะช่วยให้คนอ่านเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น ไม่งั้นคนอ่านจะงงมาก (น้องก็งง) เพราะผู้เขียนไม่บอกอะไรเลย ปล่อยให้ตัวละครคุยกันโดยไม่ให้รายละเอียด รวมทั้งควรเพิ่มการบรรยายลักษณะตัวละครเด่นๆ ด้วย (จะอธิบายเพิ่มในประเด็นตัวละคร)

ตัวละคร
อุน เป็นชายหูกระต่าย ตัวเอกของเรื่อง ที่มีปมบางอย่าง เหมือนเคยทำงานให้ราชสำนักในวังมาก่อน
บี เพื่อนสนิทของอุน ตัวละครนี้น้องรู้สึกงงที่สุด เพราะผู้เขียนไม่ค่อยให้รายละเอียดอะไรเลย
โมน่า แม่มดสาวที่จู่ๆ ก็ไปปรากฏในบ้านอุน และอุนก็ต้องตกเป็นทาสรับใช้เธอ
ซีปัน เพื่อนของบี เป็นตัวละครอีกตัวที่ปรากฏในบ้านของอุน

อย่างที่น้องเคยบอกว่าควรเพิ่มการบรรยายลักษณะตัวละครด้วย เพราะจากที่อ่านมาน้องแทบไม่ทราบเลยว่าใครมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะเป็นอย่างไร โมน่ากับซีปันยังบอกบ้าง อุน บอกแค่เป็นชายร่างเล็กหูกระต่าย แต่บี หนักสุดคือไม่บอกอะไรเลย รู้แค่ว่าเป็นหญิงสาว

อีกประเด็นคือ ลักษณะบุคลิกนิสัยของอุนมีความคลาดเคลื่อน ไม่แน่นอนอยู่บ้าง เช่น ตอนแรกอุนดูกลัวๆ แม่มดอย่างโมน่า แต่พอช่วงกลางๆ นิสัยกลับดูเปลี่ยนเป็นคนละคน กล้าแข็งใส่โมน่า แล้วสุดท้ายก็กลับมาเกรงๆ โมน่าตามเดิม

เรื่องนี้ตัวละครที่ทำได้ดีที่สุดคือ โมน่า เอาแต่ใจ ขี้วีน อย่างไรก็อย่างนั้น

บทสนทนา
บทสนทนาเด่นมากจ้า เรียกได้ว่าเรื่องนี้ดำเนินได้เพราะมีบทสนทนา ก็มีความเป็นธรรมชาติดีนะ เหมาะสมกับตัวละคร (โดยเฉพาะโมน่า) แต่บางครั้งบทสนทนาในเรื่องนี้ก็ดูพร่ำเพรื่อไป อย่างที่น้องบอกถ้าตัดฉากที่ไม่จำเป็นออกไปได้ บทสนทนาที่ไม่จำเป็นก็จะถูกตัดออกไปด้วยเช่นกัน

ฉากและบรรยากาศ
น้อยมากนะ ผู้เขียนไม่ค่อยพรรณนาถึงฉากและบรรยากาศเลย บอกแค่ว่าตอนนี้ตัวละครอยู่ที่ไหน สถานที่คร่าวๆ เป็นอย่างไร สำหรับฉากที่ไม่เด่นไม่เป็นไร แต่ฉากที่เด่นๆ ควรจะต้องพรรณนายิ่ง เช่น บ้านของอุน เพราะเป็นฉากสำคัญในเรื่อง แม้ว่าจะธรรมดา เรียบง่ายแค่ไหนก็ตาม ซึ่งความจริงผู้เขียนก็มีบรรยายไปบ้าง แต่มันก็ยังคร่าวๆ ไม่โดดเด่นจนเป็นที่จดจำเท่าไหร่

ภาษา
จุดอ่อนอีกเรื่องก็คือภาษาจ้า อ่านเผินๆ ก็เหมือนภาษาเรื่องนี้ดูดี แต่ความจริงแล้วผู้เขียนใช้ภาษาพูดในการบรรยายมากกว่าภาษาเขียน ซึ่งมันทำให้ความสละสลวยน้อยลงนะจ๊ะ เช่นมีคำว่า วิ่งปรู๊ด ครับผม อยู่ในบทบรรยาย น้องแนะนำให้เปลี่ยนการใช้ภาษาในบทบรรยายให้เป็นภาษาเขียนจะดีกว่า นอกจากสละสลวยแล้ว ยังทำให้คนอ่านเห็นความแตกต่างระหว่างบทบรรยายกับบทสนทนาด้วยนะจ๊ะ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังใส่ความคิดของตนลงในนิยายมากไปนะจ๊ะ คือน้องอ่านบทบรรยายแล้วรู้สึกว่าเหมือนผู้เขียนกำลังเล่าปากเปล่าให้คนอ่านฟังมากกว่าจะปล่อยให้เรื่องดำเนินไปเอง บางทีน้องก็แยกไม่ออกว่านี่ความคิดของตัวละครหรือความคิดของผู้เขียนกันแน่ เพราะมันผสมปนเปจนแยกไม่ออก บางทีผู้เขียนก็ยัดเยียดความคิดใส่ตัวละครมากไป ทำให้ตัวละครขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทางที่ดีผู้เขียนควรเล่าเรื่องราวอย่างเป็นกลาง ใส่ความคิดของตนลงไปให้น้อยที่สุดหรือเนียนที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำผิด
เอี๊ยดอ๊าย - เอี๊ยดอ๊าด
พึมพัม - พึมพำ
เวทย์มนต์ - เวทมนต์
ฯลฯ

สรุป
เรื่องนี้แนวคิดดี โครงเรื่องเยี่ยม มีการวางแผน แต่การดำเนินเรื่องควรลดฉากที่ไม่จำเป็นลง และบรรยายเพิ่ม หรืออธิบายให้รายละเอียดกับฉากที่จำเป็นมากขึ้น ตัวละครควรเพิ่มการบรรยายลักษณะเข้าไปให้คนอ่านเห็นภาพ เห็นมิติของตัวละครชัดขึ้น บทสนทนาเป็นธรรมชาติดีแล้ว ภาษาแก้บทบรรยายจากภาษาพูดให้เป็นภาษาเขียนเพื่อความสละสลวย ลดการใส่ความคิดของผู้เขียนลง และระวังคำผิดเป็นบางคำนะจ๊ะ
     
 
ใครแต่ง : Blue Bravenick
21 ม.ค. 61
100 %
8 Votes  
#8 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 11 มี.ค. 56
Chef's Story พ่อครัวแห่งเซนราคุ
ผู้เขียน Maewbin

เป็นเรื่องที่ทำให้น้องรู้สึกเหนือความคาดหมาย เพราะปกตินิยายแฟนตาซีที่เกี่ยวกับพ่อครัว การทำอาหาร มักเป็นเรื่องที่ผ่อนคลาย เฮฮา สนุกสนาน แต่เรื่องนี้กลับเต็มไปด้วยปริศนาเงื่อนงำ เนื้อเรื่องดูจริงจัง มีอารมณ์ขันบ้างประปราย ออกแนวชีวิตๆ ของพ่อครัวแห่งเซนราคุตรงตามชื่อเรื่องเป๊ะ

แนวคิด
เป็นเรื่องแรกที่น้องเขียนแนวคิดไม่ถูก ไม่รู้ว่าผู้เขียนได้แนวคิดเรื่องนี้มาจากไหน อาจได้จากการผสมผสานโน่นนี่จนเกิดเป็นพล็อตเรื่องขึ้นมา รู้แต่ว่าเรื่องนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับการเดินทางและการต่อสู้ของพ่อครัวตระกูลหนึ่ง ไม่ใช่การต่อสู้แบบสู้รบ แต่เป็นต่อสู้ชีวิต ต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างที่มีค่าแก่พวกเขา

โครงเรื่อง
เป็นโครงเรื่องที่มีปมปริศนาสลับซับซ้อนแต่ไม่ยาวนัก เรื่องนี้จึงจบภายใน 25 ตอนได้ (รวมบทนำ 26) กล่าวถึงบุตรแห่งกษัตริย์ที่พลัดพราก ตระกูลอดีตพ่อครัวหลวงอย่างราอิลถูกโค่น หลายปีให้หลัง บรรดาลูกหลานที่สูญหายและถูกตามล่ามารวมตัวกันโดยบังเอิญ และร่วมเดินทางตามหาความจริงไปด้วยกัน เอ่อ...น้องพยายามไม่สปอยล์เรื่องสุดฤทธิ์แล้วนะเนี่ย

ดำเนินเรื่อง
ช่วงแรกๆ ที่น้องอ่านรู้สึกงงบ้างว่ามันเกี่ยวกับพ่อครัวแห่งเซนราคุยังไง แต่พออ่านไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าช่วงบทสองบทแรกเป็นการปูเรื่องปูพื้นฐานตัวละครก่อนด้วยการกล่าวถึงอดีตของตระกูลคาริส ให้ผู้อ่านทราบความเป็นมาว่ารูบี้มาอยู่กับเอนกิสได้อย่างไร จากนั้นเก้าปีต่อมาจึงเริ่มมีบทบาทของเรนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนใช้กลวิธีเดจาวู ซ้ำเหตุการณ์ให้เหมือนเมื่อเก้าปีก่อนตอนที่เอนกิสเจอรูบี้ใหม่ๆ นั่นคือช่วยเหลือเรน แล้วเดินทางมาหาชารีส จากนั้นเอนกิสก็เดินทางต่อโดยคราวนี้นอกจากรูบี้แล้วยังมีเรนร่วมเดินทางไปด้วย จากนั้นเรื่องก็ค่อยๆ เผยปมออกมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับตระกูลคาริสและตระกูลราอิล ก่อนความจริงจะเปิดเผยออกมาอย่างเหนือความคาดหมาย

ตัวละคร
รูบี้ เด็กหนุ่มปริศนา ไม่ทราบที่มา ตอนเด็กดูเศร้าหมอง แต่โตมาแล้วดูสดใสร่าเริงขึ้น
เรน เด็กสาวปริศนาอีกคน ชอบทะเลาะกับรูบี้ แต่เป็นคนทำอาหารเก่งมาก
เอนกิส ชายหนุ่มเงียบขรึมที่ออกเดินทางตามหาบางสิ่ง เย็นชากับทุกคน ยกเว้นชารีส
ชารีส พ่อครัวหญิงที่เปลี่ยนร้านบ่อย เพราะทำอาหารอร่อยขายดีจนเจ้าของไล่

ตัวละครมีมิติดีนะในความคิดของน้อง คือเห็นภาพชัดเลยว่าตัวละครแต่ละตัวมีหน้าตาและนิสัยอย่างไร เรื่องนี้น้องขอใช้คำว่า “กลุ่มตัวเอก” เพราะตัวละครเด่นๆ มีหลายตัว และเรื่องราวของแต่ละตัวก็เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันดี มีปมปริศนาชวนให้ติดตามเกี่ยวกับเบื้องหลังที่แท้จริงของตัวละคร และความสัมพันธ์ของตัวละครที่ค่อยๆ พัฒนาไป

บทสนทนา
เป็นภาษาโบราณ ใช้สรรพนาม “ข้า” กับ “เจ้า” ซึ่งก็เหมาะสมกับท้องเรื่องของตัวละครดี และผู้เขียนค่อนข้างระมัดระวังกับการสรรคำมาใช้ในบทสนทนาพอสมควร สังเกตได้จากรูปประโยคที่จัดวางอย่างสวยงาม ลงตัว แต่บางครั้งน้องก็รู้สึกว่าผู้เขียนระวังมากเกินไป จนทำให้บทสนทนาดูแข็งๆ ไปบ้าง และใช้คำเกินบ้าง เช่น ตัวละครมักติดคำว่า “ล่ะ” ลงท้ายเยอะไปหน่อย ทำให้บางประโยคดูเกินๆ แต่โดยรวมก็ไม่เป็นปัญหานัก

ฉากและบรรยากาศ
เรื่องนี้โดยบริบทฉากพื้นหลังจะไม่เด่นเท่าไหร่ แต่จะไปเน้นบรรยากาศและรายละเอียดของเรื่องมากกว่า เพราะจุดเด่นของเรื่องนี้คือการทำอาหาร สิ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องจึงมักเป็นอุปกรณ์ครัว เครื่องปรุง ส่วนผสมอาหารต่างๆ ซึ่งผู้เขียนจะบรรจงพรรณนารายละเอียดเหล่านี้ออกมาอย่างสละสลวย นับว่าเป็นจุดที่น้อยคนนักจะทำได้ดีในส่วนนี้

ภาษา
ภาษาสวย มีความเรียบแต่หรู ขยายความคือผู้เขียนรู้จักสรรคำมาใช้ให้สละสลวย แต่ขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจทันทีโดยไม่ต้องใช้คำอลังการให้ฟุ้งเฟ้อ โดยส่วนใหญ่ผู้เขียนจะพยายามใช้คำง่ายๆ มาเล่นให้ดูต่อเนื่องลื่นไหลเป็นทำนองเดียวกัน เช่น เลือดสีแดงสดไหลซึมผ่านท่อนแขนใต้หัวไหล่ข้างซ้ายของเด็กหนุ่มที่ยืนอยู่ตรงหน้า เป็นต้น

แต่พลาดนิดหนึ่ง...
ปัง!
เสียงปังดังขึ้น
ตรงนี้น้องรู้สึกว่ามันฟุ่มเฟือยไปนิด คือมีเสียงปังแล้ว ยังจะขยายความว่ามีเสียงปังดังขึ้นอีกทำไม แล้วบรรทัดต่อไปผู้เขียนก็บรรยายว่า “เสียงปืนดังขึ้น...” อีก

คำผิด
กระโดดน้ำข้าตัวตาย - ฆ่าตัวตาย (ตอนที่ 6)
หยุดหาเรื่องเรนสักทีจะได้ไหมสักทีได้ไหม (ตอนที่ 7)

สรุป
เรื่องนี้แนวคิดและโครงเรื่องดีเยี่ยม ดำเนินเรื่องในสองบทแรกอาจสร้างความสับสนแก่ผู้อ่านได้ง่าย แต่ถ้าอ่านไปเรื่อยๆ เรื่องราวจะเฉลยออกมาดี ตัวละครมีเอกลักษณ์ มีความเป็นธรรมชาติ แต่บทสนทนายังดูแข็งๆ ไปบ้าง ฉากไม่เด่นแต่บรรยากาศของเรื่องจะเด่นมาก ภาษาสวย และระวังคำผิดเพราะพิมพ์ตกหล่นนะจ๊ะ
     
 
ชื่อเรื่อง :  Undertaker ㄨ คน⌠ทำ⌡ศพ
31 ธ.ค. 63
100 %
13 Votes  
#9 REVIEW
 
เห็นด้วย
2
จาก 2 คน 
 
 
กาฝาก รับวิจารณ์นิยายแฟนตาซี

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 16 เม.ย. 56
Undertaker : คน[ทำ]ศพ
ผู้เขียน วาสิปป์ อัสวิญญ์

เป็นเรื่องที่น้องอ่านเข้าใจนะ แต่ไม่ทั้งหมด พยายามวิเคราะห์เท่าที่ทำได้ เรื่องนี้เป็นแฟนตาซีแนวดาร์ค แนะนำสำหรับคนที่ชอบอะไรดำมืด เกี่ยวข้องกับความตาย วิญญาณ และด้านมืดในจิตใจ

แนวคิด
แนวคิดหลักเรื่องนี้ต้องการจะฉายให้เห็นด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ ความตาย โดยแสดงผ่านความโหดเหี้ยม ทารุณ ความรัก ความอาลัย คนเป็น คนตาย ฯลฯ มีข้อคิดย่อยๆ ที่ผู้เขียนแทรกไว้เป็นระยะ ผ่านสำนวนภาษาที่เรียงร้อยถ้อยคำ สามารถหยิบไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย

โครงเรื่อง
ดูเหมือนว่าสัปเหร่อในเรื่องนี้จะไม่ธรรมดา เพราะสามารถปลุกชีพคนตายให้ฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อบรัศว์และเรเปียร์ พนักงานส่งของได้รับมอบหมายให้ไปรับพัสดุจากที่หนึ่งไปส่งอีกที่หนึ่ง โดยทั้งสองเพิ่งทราบทีหลังว่าพัสดุที่ตนต้องพาไปส่งนั้นคือสัปเหร่อหนุ่มที่ชื่อชิโอ ระหว่างการเดินทางก็เหมือนการผจญภัยที่ต้องพบกับอุปสรรคมากมายจนทั้งสามแทบเอาชีวิตไม่รอด ทว่าในที่สุดบรัศว์และเรเปียร์ก็สามารถส่งชิโอถึงที่หมาย

นี่คือโครงเรื่องแบบในมุมมองของที่เน้นบรัศว์และเรเปียร์เป็นตัวเอก แต่ถ้าเน้นไปที่มุมมองของชิโอเป็นตัวเอกก็คือ ชิโอเป็นสัปเหร่อที่เกิดและเติบโตมาจากหลุมศพ ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ให้กำเนิดชิโอกันแน่ ชิโอมีอาชีพสัปเหร่ออยู่กับศพมาโดยตลอด กระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบจดหมายที่เขียนถึงเขาว่าจะมีคนมารับเขาไปสืบทอดตำแหน่งอีกที่หนึ่ง จงตามพวกเขาไป เมื่อบรัศว์และเรเปียร์เดินทางมาพบ ชิโอจึงยอมเดินทางไปด้วยแต่โดยดี

โครงเรื่องเรื่องนี้เขียนได้สองแบบ อยู่ที่ว่าจะเน้นไปที่มุมมองของใคร แต่เนื้อเรื่องที่ดำเนินจริงๆ น้องกลับรู้สึกว่าผู้เขียนเน้นไปที่บรัศว์และเรเปียร์มากกว่า ทั้งที่จริงเรื่องนี้ชิโอน่าจะเป็นตัวเอกของเรื่องด้วยซ้ำ ดูจากชื่อเรื่อง

ดำเนินเรื่อง
บทนำเปิดด้วยอดีตของใครบางคน ซึ่งอย่างที่หลายคนว่า มันงงมาก น้องต้องย้อนอ่านอีกรอบถึงจะเข้าใจ เนื่องด้วยการเล่าที่บอกไม่หมด เก็บงำปริศนา ให้คนอ่านตีความ ตอนแรกจะเป็นมุมมองของนก/อีกา/แร้ง หรือสัตว์อะไรก็ตามที่มีปีก และต่อมาจะเป็นมุมมองของคนปริศนาที่นอนอยู่กับศพ ในส่วนบทนำ ถ้าคนอ่านอ่านเข้าใจ ก็จะบอกว่าดี ถ้าคนอ่านอ่านไม่เข้าใจ ก็จะบอกว่างง ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนต้องยอมรับด้านเสียของมัน

ต่อมาเมื่อเข้าสู่เนื้อเรื่องหลัก อย่างที่น้องบอกในโครงเรื่องว่าผู้เขียนจะเน้นไปที่เรื่องราวของบรัศว์และเรเปียร์มากกว่า ทำให้น้องรู้สึกว่าชิโอไม่เด่นเท่าที่ควร แต่ก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มตัวเอกสามตัวที่อยู่ในเรื่องตลอดจนจบเรื่องก็โอเค

ในส่วนดำเนินเรื่อง ตินิดหนึ่งตรงที่จู่ๆ ก็ให้บรัศว์หลงเข้าไปในถนนแห่งการต่อสู้ น้องรู้สึกว่ามันแปลกๆ รู้สึกขัดกัน ไม่เข้ากันอย่างแรงของเรื่องนี้ที่มีแต่การเดินทาง และคนอย่างบรัศว์ไม่น่าต่อสู้ได้เก่งขนาดนั้น มันทำให้ผิดบุคลิกที่วางไว้ว่าบรัศว์นั้นสุภาพและออกจะหน่อมแน้ม แต่กลับเล่นงานผู้หญิงซะ นอกเหนือจากนั้นฉากต่อสู้ยังทำให้น้องรู้สึกว่ามันไม่ต่อเนื่องกับฉากที่แล้วซึ่งบรัศว์เพิ่งจะฟื้นจากการจมน้ำอยู่เลย พอเปลี่ยนบทปุ๊บเหมือนเรื่องไม่ปะติดปะต่อ เหมือนหลุดไปคนละเรื่องเลยทีเดียว

อีกเรื่อง การตัดฉาก มีบางตอนที่การตัดฉากดูไม่ปะติดปะต่ออยู่ คือตอนตัดไปฉากอื่นโอเคอยู่ แต่พอจะตัดฉากเดิมกลับมา กลับดูไม่ต่อเนื่องจากฉากที่แล้วสักเท่าไหร่ เช่น ฉากบู๊ใน Street Battle

ตัวละคร
บรัศว์ เด็กหนุ่มสุภาพ ดูเหมือนจะหน่อมแน้ม แต่ในช่วงกลางเรื่องดันมีฉากให้ภาพลักษณ์ของบรัศว์หลุดจากความเป็นหน่อมแน้มไปไกล
เรเปียร์ ชายหนุ่มผู้มีผ้าปิดตาทั้งที่ตาไม่บอด เป็นคนขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมา และติดบุหรี่
ชิโอ สัปเหร่อหนุ่ม ผู้เป็นพัสดุที่บรัศว์และเรเปียร์ต้องนำไปส่ง เป็นคนพูดจาเย็นๆ แต่แอบกวนอยู่บ้าง และหมอนี่เป็นตัวเอกของเรื่องด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีตัวร้ายเด่น แต่มักมีตัวละครที่โผล่มาเป็นอุปสรรคการเดินทางของทั้งสามเฉยๆ ดังนั้นการปรากฏของตัวละครประกอบในเรื่องจึงมาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ คือบรรยายหน้าตาสรรพคุณพร้อมชื่อนามสกุลเสร็จสรรพ แต่ได้ทำอะไรแค่นิดหน่อยก็ตายหรือกลุ่มตัวเอกรอดพ้นมาก็ได้ก็จบ หมดหน้าที่พวกเขาแล้ว

โดยรวมตัวละครถือว่าสมจริงในแบบการ์ตูน เห็นภาพชัดว่าใครเป็นใคร แต่น่าเสียดายที่พลาดปล่อยให้บุคลิกของบรัศว์หลุดกรอบไปหน่อย ด้านเอกลักษณ์ผู้เขียนจะเน้นไปที่เอกลักษณ์ภายนอก คือ ลักษณะหน้าตา และบุคลิกที่แสดงออก แต่เอกลักษณ์ภายในจะคล้ายกัน คือตัวละครส่วนใหญ่ค่อนข้างมีอดีตดำมืด

บทสนทนา
ตรงนี้จะมีความเป็นการ์ตูนสูง เพราะคำพูดที่ตัวละครใช้โต้ตอบกัน ซึ่งบางครั้งก็จะมีเสียงร้องโหยหวนยาวเหยียดเสียจนดูไม่เหมือนนิยาย เช่น “ม่ายยยยยยยยยยยยย” แต่ก็แสดงเอกลักษณ์ประจำตัวดี เช่น บรัศว์พูดสุภาพครับๆ เรเปียร์จะขวานผ่าซากตรงๆ และชิโอจะพูดข้ากับเจ้าตลอด เป็นต้น

ฉากและบรรยากาศ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรณนาฉากอย่างกว้างๆ ฉากไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่บรรยากาศของเรื่องจะโดดเด่นออกมามากกว่า บรรยากาศคือความรู้สึกและรายละเอียดภายในเรื่อง ผู้เขียนจะบรรจงพร้ำพรรณนาอย่างดิบดี อ่านแล้วจะสัมผัสถึงความรู้สึกดำมืด ความตาย และด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ตลอดเวลา

ภาษา
สำนวนภาษาของผู้เขียนเป็นแบบเรียงร้อยถ้อยคำ มักประดิดประดอยอย่างสวยงาม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดดี แต่จุดด้อยที่น้องจะบอกต่อไปนี้คือ

1.บรรยายชัดเจนในส่วนที่ไม่ควรชัดเจน เช่น การย้ำถึงสีผมสีตาตัวละครซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนน่าเบื่อ นัยน์ตาสีดิน นัยน์ตาสีพสุธา สรรหาคำหลากหลายสุดแท้แต่จะหามาพรรณนาได้ ทว่าจุดประสงค์ก็คือจะบอกว่าหมอนี่มันมีผมสีนี้นะ ตาสีนี้นะ แค่นั้นแหละ

2.บรรยายคลุมเครือในส่วนที่ควรจะชัดเจน นั่นก็คือการเล่าเรื่องให้คนอ่านเข้าใจแจ่มแจ้งเนี่ยแหละจ้า บทนำยังพอให้อภัยเพราะตีความได้ แต่เนื้อเรื่องหลักมาเล่าแบบกั๊กๆ เยอะๆ เหมือนจะบอกก็บอกไม่หมด มันทำให้น้องรู้สึกค้างคาใจ แม้ว่าจะอ่านจนจบเรื่องแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องย้อนกลับไปอ่านใหม่เพื่อเก็บรายละเอียดเพิ่ม แต่ก็ไม่หมดเสียที เหมือนผู้เขียนกุมความลับไว้เยอะไปหน่อย

3.สรรหาคำเรียกแทนตัวละครที่หลากหลายเกินไป ตรงนี้อาจเป็นอคติของน้องเอง เพราะน้องไม่รู้ว่าคนอื่นอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า แต่น้องไม่ ส่วนหนึ่งเพราะน้องเป็นคนที่ชอบจำ ‘ชื่อ’ ตัวละครมากกว่าจำ ‘การกระทำ’ ของตัวละคร โดยเฉพาะการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ดังนั้น คำเรียกตัวละครที่ว่า “คนถูกใส่ร้าย” “คนหลงลืมความสามารถของเพื่อน” “คนง่วนอยู่กับการนับเหรียญ” ฯลฯ น้องจะไม่รู้ทันทีว่าคนๆ นั้นมันคือใคร เพราะน้องไม่ได้จำ แถมการบรรยายก่อนหน้าก็ไม่ได้บอกชื่อไว้ด้วย ยิ่งทำให้น้องไม่รู้เข้าไปอีกว่าไอคนเหล่านั้นมันคือใครหว่า สีผมสีตาก็จำไม่ค่อยได้ด้วย แต่ถ้าเรียกชื่อปุ๊บ เป็นอันจบจ๊ะ

คำผิด
ปลดเกษียร – เกษียณ (ตอนที่ 4)

สรุป
เรื่องนี้แนวคิดเยี่ยม โครงเรื่องดี การดำเนินเรื่องจะเน้นหนักไปทางคนส่งของมากกว่าตัวสัปเหร่อเสียเอง และฉากบางฉากก็ไม่ปะติดปะต่อเท่าที่ควร ตัวละครสมจริงในแบบการ์ตูน บทสนทนาแสดงเอกลักษณ์ตัวละครได้ดี พรรณนาฉากและบรรยากาศดี ให้ความรู้สึกทะมึน ภาษาสละสลวยเนื่องจากผู้เขียนเรียงร้อยถ้อยคำมาอย่างดี แต่ระวังเรื่องการบรรยายที่เหมาะสมกับสถานการณ์และคำเรียกตัวละครที่หลากหลายเกินไปนะจ๊ะ
     
 
หน้าที่ 1