ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เพลง เนื้อเพลงและโน๊ตเพลงพระราชนิพนธ์

    ลำดับตอนที่ #5 : เนื้อเพลง+ประวัติ>>> เพลงสายฝน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 8.87K
      7
      20 ก.พ. 52

    สายฝน

      เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว
    เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป
    พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง
    น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม

       สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง
    รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา
    พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
    น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล



    ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
    แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม
    เพื่อประทังชีวิตมิทราม
    ทั่วเขตคามชุ่มธารา

    แดดทอรุ้งอร่ามตา
    ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล
    เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
    พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง


    เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” “FALLING RAIN”

    เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่ 3 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2489 ขณะที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงเป็นเพลงที่ 2 ต่อจากเพลง
    พระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ฯ ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
    เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” นี้ เป็นเพลงจังหวะวอลทซ์ มีลีลานุ่มนวล และอาจกล่าวได้ว่า เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พสกนิกรชื่นชอบมากที่สุดเพลงหนึ่ง
    เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยถึงที่มาของเพลง ซึ่งเป็น “ความลับ” ในการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ว่า
    “...คืนวันนั้นที่แต่งเพลงเพราะว่าเข้านอนแล้วฟังวิทยุ มันเกิดครึ้มใจ ก็ปิดวิทยุแล้วเอาเศษกระดาษมาขีดๆ แล้วก็จดไว้...แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปเคาะที่เปียโนซึ่งมีเปียโนหลังหนึ่งที่โปเก เสียงก๊องๆแก๊งๆ ไม่ได้เรื่อง แต่ก็เคาะไป แล้วก็เรียบเรียงไปสัก 2 ชั่วโมง ส่งไปให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ บอกว่าได้เพลงแล้ว... ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ก็ส่งไปให้ครูเอื้อ ครูเอื้อก็เรียบเรียง วันรุ่งขึ้นออกสวนอัมพรแล้ว”
    “ความลับของเพลง ‘สายฝน’ นั้นมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขียนไป 4 ช่วง... ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกกับช่วงที่ 2 กลับไปทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป ก็รู้สึกว่าดี ทีแรกก็เป็น 1,2,3,4 มาตอนนี้ก็เลยกลายเป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้...”
    จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ทรงเล่าถึงความปีติยินดี ในฐานะของผู้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อทรงทราบว่าเพลงนั้นๆ เป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากในหมู่ผู้ฟังว่า
    “...ครั้งโน้น เสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านไปด้วยในงานของสมาคมเลี้ยงไก่ ท่านหันมาพยักหน้า บอกว่าดี เราก็ปลื้มใจ คือเพลง “สายฝน” เป็นที่พอพระทัยของเสด็จในกรมชัยนาทฯ ก็เลยทำให้ปลื้มใจ เพราะว่าเสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นลุงองค์เดียวที่เหลือมาตอนหลัง และที่สนิทสนมเพราะเสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านเป็นลูกเลี้ยงของสมเด็จพระพันวัสสาฯ เมื่อท่านประสูติพระมารดาก็สิ้นไป สมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็มาเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะ สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถือว่าเสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้เป็นเหมือนลูกของท่านแท้ๆ จึงสนิทสนม และเมื่อไปที่ไหนท่านก็ไปด้วย ต่อมาท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการ ท่านนับว่ามีพระคุณอย่างยิ่ง แล้วก็ทราบว่า เสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้ท่านโปรดดนตรี แต่ท่านไม่โปรดดนตรีอย่างที่เขียนหรือที่เล่น ท่านโปรดดนตรีคลาสสิค... ดนตรีพวกโอเปร่า เมื่อท่านหันมาพยักหน้าว่าดี ก็ปลื้มใจมาก พูดถึงเพลง ‘สายฝน’ นี้เป็นเพลงที่มีความภูมิใจมากเพราะว่าท่านหันมาพยักหน้าว่าดี”
    นอกจากนั้น ก็คงทราบเรื่องที่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์ คือพระองค์เจ้าจักรพันธ์ฯ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านไปเชียงใหม่ ครั้งนั้นประมาณ 6 เดือน หลังจากที่เพลง ‘สายฝน’ ได้ออกมา ท่านเดินไปตามทาง เข้าไปในถนนเล็กๆ เป็นตรอก ท่านได้ยินคนผิวปากทำนองเพลง ‘สายฝน’ ท่านก็เดินเข้าไป ไปถึงเสียงของเพลงนั้นที่คนผิวปาก ปรากฏว่าเป็นชาวจีนที่กำลังซักผ้าอยู่และผิวปากเพลง ‘สายฝน’ อันนี้ท่านเล่าให้ฟังว่า เลยทำให้ปลื้มใจอีกอย่างหนึ่งว่าเพลง ‘สายฝน’ นี้ทุกคนชอบ แล้วก็จำทำนองได้ ก็หมายความว่าเป็นเพลงที่ใช้ได้ ต่อมา เมื่อกลับมาจากสวิสมาที่เมืองไทยนี่ มีงานที่วังสระปทุม เสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านก็อยู่ว่า วงดนตรีเล่นเพลง ‘สายฝน’ ท่านก็มาพูดอีกทีว่าเพลงนี้ไม่แพ้เพลงสรรเสริญพระบารมี คือไปที่ไหนก็มีเพลงนี้ ท่านก็รู้สึกปลื้มใจ เราก็ยิ่งปลื้มใจว่าท่านเห็นด้วย และเป็นเพลงที่ออกมาจากฝีมือของเราเอง ถือว่าเพลงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าทุกคน ผู้สำเร็จราชการก็โปรด ผู้ซักผ้าก็ชอบ ก็หมายความว่า เป็นชัยชนะอย่างสูงที่ได้ผลิตเพลงอย่างนี้...”
    คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” มีจุดเริ่มมาจากหม่อมวิภา (วิภา เก่งระดมยิง อดีตหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) โดยในขณะที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องในตำหนักที่ใกล้ประตูมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผอิญฝนเกิดตกลงมา หม่อมวิภาเดินไปปิดหน้าต่าง มองเห็นฝนกำลังตกจึงเดินกลับมา พร้อมด้วยคำอุทานจากแรงบันดาลใจว่า “สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง”
    เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ วงดนตรี N.Q. Tonkunstler Orchestra ได้อัญเชิญไปบรรเลง ณ Concert Hall กรุง Vienna เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2507 และสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลงนี้พร้อมเสนอข่าวไปทั่วประเทศอีกด้วย
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×