ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    =~คลังความรู้~=

    ลำดับตอนที่ #94 : มหาราช มหาปราชญ์~

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 178
      1
      14 พ.ค. 50

    มหาราช มหาปราชญ์  ┈━═☆
    A Philosopher King



    ในโลกนี้มีพระราชามากมาย
    แต่มีพระราชาเพียงพระองค์เดียว
    ที่เป็นทั้งมหาราช และ มหาปราชญ์
    เพราะทรงมี "ชีวิต" ที่ยิ่งใหญ่
    ชีวิตที่ต้องพบเผชิญ "อุปสรรค" นานัปการ
    ที่พระองค์ได้ทรงฟันผ่า และเอาชนะได้
    ด้วยพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงแบกรับไว้

    ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ท่ามกลางความทุกข์โสมนัสยิ่ง

    เพราะวันนั้นเป็นวันที่แผ่นดินร่ำให้ ประชาชนต่างโศกสลด เสียขวัญ และหมดกำลังใจ

    แต่ใครเล่าที่จะเป็นทุกข์เท่ากับพระองค์ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ในวันนั้นได้แต่ทรงพระกรรแสง ไม่ยอมเสวย ไม่บรรทม

    วันนั้นชาวไทยได้สูญเสียพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขา

    แต่พระองค์ได้ทรงสูญเสีย "พี่ชายที่พระองค์ทรงรักยิ่ง"

    หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พสกนิกรทั่วแผ่นดินไทยต่างห่วงใยความรู้สึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก

    ตลอดหลายเดือนปวงราษฎรจะแสดงความจงรักภักดีและให้กำลังใจพระองค์ทุกครั้งที่มีโอกาส

    ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนมายืนรอส่งเสด็จกันอย่างเนืองแน่น

    เมื่อเห็นรถพระที่นั่งที่เห็นมาแต่ไกลแล่นเข้ามาใกล้

    "ทรงพระเจริญ"
    "ทรงพระเจริญ"
    "ทรงพระเจริญ"
    "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" คนผู้หนึ่งตะโกนขึ้น
    เสียงนี้อาจถูกกลบกลืนด้วยเสียงอื่น แต่กลับดังกึกก้องอยู่ในพระทัยของพระองค์
    "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนไปได้อย่างไร"

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

    เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง ๑ พรรษา ๙ เดือน สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงประชวรและได้ทรงสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ เหลือเพียงสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ทรงอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสามพระองค์เพียงลำพังพระองค์เดียว

    อีก ๓ ปีต่อมา สยามประเทศก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

    การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

    ในสมัยนั้นประเด็นการเมืองที่เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องคอขาดบาดตายก็คือ เรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ที่เรียกขานกันว่าประชาธิปไตย

    ฝ่ายหนึ่งอยากให้คงมีอยู่

    อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการ

    ในช่วงที่บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผลด้าน "พระพลานามัย" ของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้สมเด็จพระราชชนนีทรงพาพระโอรสและพระราชธิดาไปยังเมืองโลซานต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

    ทรงได้ตัดสินพระทัยเช่าแฟลตเลขที่ ๑๖ ถนนทิสโซด์ให้เป็นที่ประทับและทรงพระอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างดียิ่ง ดังพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าความว่า

    "เป็นบุญของหลานที่มีแม่เลิศ ไม่มีใครมาดูถูกได้ว่าเลวทราม"

    สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงนิพนธ์จดหมายถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ใจความว่า

    "ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดีสำหรับจะได้ประโยชน์แก่ตนเอง ญาติ และบ้านเมือง ตัวหม่อมฉันเองทำประโยชน์ให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆให้ได้รับการอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็รู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน"

    ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สถานการณ์ในเมืองไทยเป็นไปด้วยความวุ่นวาย เกิดการปะทะกันระหว่างสองขั้วความคิดจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง หรือทีเรียกกันต่อมาว่า "กบฏบวรเดช" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชเลขา ทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗

    "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฏรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คนใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและไม่ยอมฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"


    ๖ มีนาคม ๒๔๗๗
    สภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ เนื่องจากพระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่หนึ่งแห่งกาสืบสันตติวงศ์ตามกฏมณเทียรบาล พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราไว้

    ขณะนั้นพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ทางรัฐบาลจึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    ขณะนั้นเมื่อประชาชนชาวไทยได้ทราบข่าวพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็อยากจะเฝ้าชมพระบารมี และปรารถนาให้ทั้งสี่พระองค์เสด็จกลับ

    แต่ได้เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองขึ้นถึงขั้นที่ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงปลงพระชนม์ชีพของตนเอง ท่ามกลางข่าวลือว่า "ทนแรงบีบคั้นทางการเมืองไม่ไหว"

    กระทั่งมีข่างลือว่าพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะสละราชสมบัติ

    สมเด็จพระบรมราชชนนีเมื่อทรงได้ยินข่าวความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย ก็ทรงเป็นห่วงพสกนิกรของพระองค์ และทรงเป็นห่วงพระราชโอรสของพระองค์ด้วย

    ในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงดำรงพระยศเป็น "พระเจ้าน้องยาเธอ" ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเมียร์มองต์ และทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนนูเวล เดอลา โรมองต์

     

    พ.ศ. ๒๔๗๙ รัฐบาลทนแรงบีบคั้นจากประชาชนไม่ไหว จึงได้กราบบังคมทูลเชิญทั้งสี่พระองค์เสด็จนิวัตพระนคร

    แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงไม่แน่พระทัยในความปลอดภัยของพระราชโอรสและพระราชธิดา จึงตรัสตอบไปว่าขอให้พระองค์ได้นำความกราบทูลขอพระราชทานความเห็นชอบจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก่อน

    ในตอนแรกสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไม่ทรงเต็มพระทัย เพราะทรงห่วงพระราชนัดดา และทรงเกรงว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับมาแล้ว จะไม่มีโอกาสเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์อีก

    แต่ในท้ายที่สุดก็ได้พระราชทานความเห็นชอบ โดยทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นว่า

    "เรื่องการเชิญเสด็จกลับเมืองไทยชั่วคราวนั้น ถ้ารัฐบาลยังคงมีความประสงค์จะเชิญเสด็จกลับโดยความจงรักภักดี ฉันก็ไม่ขัดข้อง ขออย่าลืมว่า ถ้าหลานฉันกลับมาแล้ว จะต้องไห้กลับออกไปได้ตามที่ได้สัญญาไว้ เพื่อประโยชน์ที่จะได้ทั้งความสุขและความรู้ เวลานี้ยังไม่มีความรู้ ได้แต่ความสุขเพราะการเล่าเรียนยังเรียนอยู่ในชั้นเล็ก"

    ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๑

    เป็นเวลาร่วม ๕ ปีที่ประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ในแผ่นดิน
    ประชาชนเนืองแน่นต่างมารอรับเสด็จที่ท่าราชวรดิษฐ์
    เมื่อเห็นเรือทีแล่นเข้ามามี "ธงมหาราช" ใครบางคนก็ร้องขึ้น
    "พระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในนั้น"
    "ธงมหาราชจริงๆด้วย เราไม่ได้ฝันไปนะ"
    หลายคนถึงกับร่ำไห้ด้วยความปิติ
    "ดีใจมากเลยนะที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับเมืองไทยแล้ว"
    แม่คนหนึ่งกระซิบบอกลูกที่เธออุ้มมารอรับเสด็จว่า
    "พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาแล้วลูก ลูกจะได้โตขึ้นอย่างมีความสุขและปลอดภัยแล้วนะ"


    ในการเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็น "สมเด็จพระราชอนุชา" ได้ทรงตามเสด็จแทบจะไม่ห่างพระวรกายของสมเด็จพระบรมเชษฏาธิราช จนราษฏรเห็นส่าทั้งสองพระองค์เป็นประดุจฝาแฝด

    ขณะที่ทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทั้งสองพระองค์ได้ทรงจักรยานสองล้อออกมาจากพระตำหนักเพียงลำพังสองพระองค์ เหมือนครั้งที่ทรงประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากสมัยนั้นมีรถวิ่งอยู่น้อย บางวันทั้งสองพระองค์จะทรงจักรยานไปถึงเขาดินวนา ประชาชนที่ได้พบเห็นทั้งสองพระองค์ทรงจักรยานด้วยกันต่างปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้

    วันที่ ๕ ธันวาคม ปีนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระชนมายุครบ ๑๑ พรรษากับพระบรมราชชนนี พระบรมเชษฐาธิราชและสมเด้จพระบรมเชษฐภคินี ณ. พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

    อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นช่วงที่ทรงเสด็จนิวัติพระนคร สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่สงบ รัฐบาลของพระยาพหลฯในขณะนั้นต้องลาออกและเปิดทางให้กับการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของหลวงพิบูลสงคราม

    ทั้งสี่พระองค์เสด็จนิวัติพระนครประมาณ ๒ เดือนก็ทรงเสด็จกลับ

    ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ ทุกพระองค์ได้เสด็จนิวัติพระนครครั้งที่ ๒

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ ๑๘ พรรษาพอดี

    ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเปลี่ยนจากยุวกษัตริย์เป็นพระมหากษัตริย์หนุมผู้ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา พระบารมี และทรงมีพระรูปโฉมงดงามยิ่ง

    หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวในวันนั้นว่า

    "ตั้งแต่สนามหลวงถึงประตูวิเศษไชยศรี ไม่มีอื่นนอกจากคนไทย จีน แขก ฝรั่ง วันนี้รู้สึกเป็นวันแรกนับด้วย ๑๐ ปีที่คนไทยในเมืองนี้มีหัวใจร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลไปทางไหนคนเต็มไปหมด ประชาชนยืนเป็นชั้นๆคอยรับเสด็จ มิไยแสงแดดจะเผา เราก็ไม่ย่นย่อ ท้อถอย ขอให้ได้เห็นพระพักตร์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเถิด แม้แวบเดียวก็เอา"

    ไม่มีใครรู้ว่าอีกเพียง ๗ เดือนต่อมาแผ่นดินไทยจะร่ำไห้ จากความสูญเสียอันมิอาจประมาณ

    หลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์ทรงทุกข์ระทม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ โดยทรงเปลี่ยนสาขาที่จะทรงศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์ที่ตั้งพระทัยไว้ก่อนที่จะเสด็จนิวัติพระนครครั้งที่ ๒ มาทรงศึกษาในสาขาประวัติศาสตร์ กฎหมาย และการปกครองแทน ซึงพระองค์ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในภายภาคหน้า

    ตอนนั้นผู้ที่พระองค์ทรงเป็นห่วงที่สุดก็คือสมเด็จพระบรมราชชนนี

    จึงทรงแนะนำว่าไม่ให้สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอยู่เฉย

    ถ้าไม่โปรดเสด็จลงสวนก็ทรงแนะว่าให้หาสิ่งที่ชอบทำ

    เพื่อจะได้ลืมความทุกข์ที่พระองค์กำลังประสบอยู่

    ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    นับเป็นเวลาเกือบ ๔ ปีที่ประชาชนคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน"
    ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน และทรงมีพระราชดำรัสว่า
    "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
    และไม่ทรงลืมคำกล่าวนี้เลย นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

    นับแต่ปี ๒๔๙๐ เป็นต้นมาประชาธิปไตยของไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ก็เข้าสู่ช่วงที่ตกต่ำที่สุด เมื่อขุนนางทหารได้ทยอยกันก้าวสู่อำนาจ ในช่วงเวลาดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสด็จออกเยี่ยมราษฏรทั่วทุกภาคโดยมิได้ว่างเว้น อย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย

    โดยมิไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองเลย

    แม้ในปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๔) จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและได้มีมติที่จะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง

    จอมพลถนอม กิตติขจรได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล

    แต่พระองค์ทรงไม่เห็นด้วย

    และทรงโปรดฯให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นแทน ด้วยทรงคาดการณ์ว่าปัญหาจราจรในอนาคตจะต้องถึงช่วงที่วิกฤติหนัก

    เรื่องนี้พระองค์ได้ทรงรับสั่งอีกครั้งในวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ความว่า

    "...จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีมหาดไทยมาบอกว่ารัชดาภิเษกนี่ทางรัฐบาลขอมีการฉลองหน่อย ถามว่าฉลองอะไร ท่านจอมพลประพาสก็บอกว่า จะสร้างอนุสาวรีย์ ที่ไหน ไม่ทราบ จำไม่ได้ เลยบอกว่าขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ ๔๐ ปี อยากสร้างถนนวงแหวน"

    ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และแล้ว...ความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ
    ขั้วขัดแย้งที่ขมึงตึงมานานระหว่าง "เผด็จการทหาร" กับ "ประชาธิปไตย" ก็ถึงจุดระเบิด
    ในช่วงวิกฤติ ประชาชนและนักศึกษาหลายคนถูกไล่ต้อนด้วยแก๊สน้ำตา
    และเสียงปืน
    ต่างวิ่งหนีกันอย่างอลหม่าน คนจำนวนมากวิ่งมาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

    ด้วยความกลัวบางคนถึงกับพูดว่า "ต้องหนีไปตรงสวนจิตรฯ ไปพึ่งพระบารมีจากในหลวง"

    ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์

    ทรงตัดสินพระทัยรับสั่งให้ทหารรักษาการณ์ปลดแมกกาซีนออกจากปืนทุกกระบอก
    และทรงรับสั่งให้เปิดประตูรั้วของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าหลบภัย

    วันนั้น วังสวนจิตรฯคือ "ที่ปลอดภัย" โดยไม่เลือกว่าผู้นั้นจะเป็น "ผู้ก่อเหตุ" หรือ "ผู้หลบหนี" ก็ตามที

    คืนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสรับสั่งทางวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อเตือนสติให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการแก้ปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองที่กำลังเผชิญอยู่ (ดูล้อมกรอบ พระราชดำรัสวันที่ ๑๔ ตุลาคม)

    ในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประพาส จารุเสถียร ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง และเดินทางออกนอกประเทศ

    นายสัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งได้รับโปรดเกล้าให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า

    "รับตรงๆ ผมรู้สึกตกใจ เพราะมิได้คาดฝันมาเลย และมิได้เคยมุ่งมาทางด้านนี้แม้แต่ขณะหนึ่งขณะใดเลยโดยแท้จริง แต่เมื่อเป็นพระบรมราชโองการ ผมคิดว่าเราต้องรับใช้พระเจ้าอยู่หัวในพระราชประสงค์ทีจะขอระงับเหตุร้ายในชาติบ้านเมือง

    หลังจากได้ทรงประกาศในวิทยุแล้ว ก็มีใครไม่ทราบมาบอกผมว่าท่านจะเสด็จฯออกจากที่กระจายเสียง คือ ที่กรมราชองครักษ์ให้ผมไปเฝ้าใกล้ๆรถ ผมก็ไปยืนอยู่ข้างรถพระที่นั่ง พระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯลง เห็นผมก็กวักพระหัตถ์ให้ผมตามเข้าไปที่ในพระตำหนัก

    ผมรู้สึกโดยเที่ยงแท้แน่แก่ใจว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้เกิดความสงบในบ้านเมืองโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ไม่ได้ทรงมีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจากความสงบให้เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติโดยรวดเร็ว ผมจึงรับพระราชกระแสลงมาว่า หน้าที่ของผมคือต้องระงับควันปืน และคาวเลือดให้สงบโดยเร็วที่สุด

    ในคืนวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถึงรุ่งเช้าวันที่ ๑๕ ก็ยังมีการยิง มีการเผา มีโทรศัพท์ เสียงร้องไห้เข้ามาในวังไม่ได้ขาด ขอให้ช่วย

    พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้ผมระงับการฆ่าฟัน การใช้กำลังโดยเร้วที่สุดที่จะทำได้

    สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงมีพระดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายใช้ธรรมะ ตั้งสติกลับคืนเข้าสู่ความสงบ

    เดชะพระบารมีปกเกล้าฯ เช้าวันที่ ๑๖ ตุลาคม เหตุการณ์เบาบางลงจนกระทั่งกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ"

    อีก ๑๙ ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งในเตือนพฤษภาคม ๒๕๓๕

    ย้อนไปไม่นานนัก ตอนที่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้พลเอกสุจินดา เข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานถึงเหตุผลในการทำรัฐประหาร

    พระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง ซึ่งพลเอกสุจินดาได้กล่าวว่า

    "ในประเทศไทยนี้ผมว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะรอบรู้ในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่ากับพระองค์ท่าน พระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมากให้แก่การร่างรัฐธรรมนูญ ทรงจำกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่ประกาศใช้มาแล้วได้ทั้งหมด"

    แต่เหตุการณ์มิได้เป็นไปดังคำแนะนำที่ทรงพระราชทาน คณะนายทหารที่ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ ได้วางฐาน ปูทางให้พวกของตนเองก้าวขึ้นสืบทอดอำนาจโดยมี พลเอกสุจินดา คราประยูร แกนนำของ "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

    ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนทั้งสังคม

    ขณะที่เสียงปืน และการจลาจลกลางท้องถนนยังไม่สงบ
    และไม่มีทีท่าว่าจะสงบ

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลตรีจำลอง ศรีเมืองแกนนำประท้วง เข้าเฝ้าโดยได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสให้ทุกฝ่ายมีสติ และ นึกถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง (ดูล้อมกรอบ พระราชดำรัส พฤษภาคม ๒๕๓๕)

    ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ ซึ่งนำมาสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรี

    ความสงบพลันบังเกิดขึ้นอีกครั้ง

    พ.ศ. ๒๕๔๙ ครบรอบ ๖๐ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ

    ขั้วขัดแย้งในสังคมไทยบังเกิดขึ้นอีกครั้ง อย่างยืดเยื้อ ยาวนาน และส่อเค้าว่าจะลุกลามไปสู่เหตุรุนแรง

    ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวประเด็นเรื่อง "พระราชอำนาจ" เป็นหนึ่งในหลายๆประเด็นที่ถูกทั้งสองฝ่ายทำให้เป็นเงื่อนไขในการเผชิญหน้ากัน

    โดยต่างฝ่ายต่างอ้าง "ความจงรักภักดี" (ดูบทนำเรื่อง "ความจงรักภักดี")

    มีกระแสเรียกร้องขอ "นายกฯพระราชทาน" เพื่อสลายขั้วความขัดแย้งดังกล่าว

    กระแสนี้ได้รับการขานรับจาก นักวิชาการชั้นนำ และบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่สังคมนับถือ จำนวนไม่น้อย

    แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาโดย "ตุลาการภิวัฒน์" (ดูล้อมกรอบ พระราชดำรัส "ตุลาการภิวัฒน์")

    พวกเราเหล่าพสกนิกรไม่มีทางเข้าพระทัยในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ หากเราไม่เข้าใจ "หัวใจของพ่อ"

    หัวใจแห่งนักปราชญ์

    "ตุลาการภิวัฒน์" มิใช่ข้อเสนอของนักวิชาการที่ปราดเปรื่องเรื่องทฤษฏีประชาธิปไตย แต่เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานจาก "ประสบการณ์" ที่พระองค์ได้ทรงประสบในฐานะ "พระมหากษัตริย์""ระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ๖๐ ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์

    หัวใจแห่งนักประชาธิปไตย

    ผู้ได้ทรงทำเพื่อ "ประชาชน" มามากกว่าใครคนหนึ่งคนใดจะได้เคยทำไว้ในตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา

    ในปีที่ ๖๐ แห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

    พระองค์ได้ทรงพระราชทานแนวทาง "ตุลาการภิวัฒน์" เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยได้หยั่งราก ลึกและแข็งแรง ลงในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

    แต่อีกเพียง ๔ เดือนต่อมา

    ........................................
    ........................................
    ........................................
    ........................................






    ๑. ๘๐ เรื่องราวของในหลวงที่ยังอยู่ในใจชั่วนิรันดร์ โดย ศุภสิทธิ์ เสร็จประเสริฐ สนพ.ร่วมด้วยช่วยกัน กำลังจัดพิมพ์

    ๒. หนึ่งในโลก จอมกษัตริย์ มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ โดย อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ สนพ.ร่วมด้วยช่วยกัน ๒๕๔๙ (พิมพ์ครั้งที่ ๖)

    nu tang nu tang

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×