ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    =~คลังความรู้~=

    ลำดับตอนที่ #167 : วันราชาภิเษกสมรสของพระเจ้าอยู่หัวกับราชินี~

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 149
      0
      29 มิ.ย. 50

    วันราชาภิเษกสมรสของพระเจ้าอยู่หัวกับราชินี ┈━═☆



    วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493


         วันราชาภิเษกสมรสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ กับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งในขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร

         นับตั้งแต่สำนักพระราชวังประกาศข่าวการหมั้นด้วยพระธำมรงค์ที่สมเด็จพระบรมราชชนกประทานแก่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระธำมรงค์นี้พระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และอีก 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 12 สิงหาคม ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานเลี้ยงฉลองการหมั้นเป็นลักษณะงานเล็กๆ ขึ้น ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

         พสกนิกรได้รับทราบข่าวนี้ทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ด้วยความชื่นชมโสมนัส และจากนั้นมา ต่างก็ตั้งตารอคอยรับเสด็จในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครพร้อมด้วยพระคู่หมั้น

         สองฟากถนนจากท่าราชวรดิษฐ์มายังถนนราชดำเนินเนืองแน่นไปด้วยผู้คนล้นหลามอย่างที่กล่าวได้ว่า "มืดฟ้ามัวดิน" เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ศีรษะคนเบียดเสียดกันเต็มไปหมดจนแทบจะไม่มีช่องว่างให้ยืนและเดินก็ว่าได้ ในขณะที่รถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่าน แต่ละคนเฝ้าแต่ชะเง้อเพื่อที่จะขอชมพระบารมีให้เป็นบุญตา

         และจากนั้นมา กิจวัตรของชาวกรุงเทพฯ ก็คือเมื่อทราบข่าวการเสด็จพระราชดำเนินที่ไหน เมื่อใดก็จะพากันไปรอเฝ้าฯสองข้างทางที่เสด็จฯผ่านอย่างเนืองแน่น หลายต่อหลายคนถึงกับเตรียมผ้าและดาษไปปูรองนั่ง จองที่ตามริมถนนกันไว้ก่อนเวลาเสด็จฯเป็นชั่วโมง ที่พิเศษกว่านั้นก็คือ เมื่อมีข่าวพูดกันต่อๆ มาว่า ในเวลาบ่ายเกือบเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักทรงขับรถพระที่นั่งไปยังวังเทเวศร์เพื่อเสวยพระสุธารสชากับพระคู่หมั้นประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงตามแถบนั้น ก็จะพากันไปเฝ้ารอคอยด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี แม้คนที่อยู่ไกลก็ยังอุตส่าห์นั่งรถรางหรือไม่ก็รถเมล์ไปลงยังเทเวศร์เพื่อที่จะรอเฝ้าฯ ตามริมถนนริมคลองบ้างและบริเวณใกล้เคียงวังเทเวศร์บ้าง โดยไม่คำนึงว่าเวลาจะผ่านไปจนเย็นค่ำเพียงใด

         บางคนที่โชคดีก็อาจได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์แบบลำลอง คือทรงกางเกงยาวสีขาวและฉลองพระองค์เชิ้ตสีขาว ประทับ ณ พระเก้าอี้สนามหน้าพระตำหนักริมแม่น้ำเจ้าพระยากับพระคู่หมั้นซึ่งทรงฉลองพระองค์เสื้อปักลูกไม้และซิ่นไหมยาวแบบไทยเรียบร้อยงดงาม แต่ส่วนใหญ่มักได้ชื่นชมภาพประทับใจเช่นนี้ทางหนังสือพิมพ์

         ในช่วงเวลานั้น ข่าวสารที่ประชาชนทั้งหลายเฝ้าติดตามรับทราบกันได้ก็มีแต่วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วิทยุ 1 ปณ. และหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งมีเพียงไม่กี่ฉบับ ทั้งยังไม่มีหน้าพิมพ์สีเช่นในทุกวันนี้ด้วย ฉะนั้นความตื่นเต้นกระตือรือร้นของผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯก็คือ ต่างพยายามมุ่งหน้าไปรอเฝ้าฯชมพระบารมีด้วยตาของตนเอง

         วันที่ 28 เมษายน 2493 ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุด จึงมีประชาชนล้นหลามตามสองฟากทางที่เสด็จฯผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่บริเวณหน้าวังสระปทุม ซึ่งพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสได้จัดขึ้นที่พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ตอนเช้า

         ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ฯ บันทึกเหตุการณ์มหามงคลนี้ อันเป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของชาติไทยไว้ในเรื่อง "เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ว่า

         " หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งแต่งกายชุดสีงาช้าง เสื้อแพรแขนยาวปักลาย กระหนกทอง สร้อยคอเพชร สร้อยข้อมือเพชรของเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และต่างหูเพชรของเก่าฝีมือทำขึ้นใหม่ สายสะพายปฐมจุลจอมเกล้า ไปยังวังสระปทุมประทับรอในห้องรับแขก

         เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงสวมสายสะพายจุลจอมเกล้าประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จเข้าสู่วังสมเด็จพระราชบิดา เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกพระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลโทมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าฯถวายสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว ลงพระนามและลงนาม ตามลำดับ

         จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลงนามด้วย เนื่องจากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

         เสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นประทับยังห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ถวายดอกไม้ ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระพันวัสสาฯ สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ และทรงเจิมแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ ทรงเจิมแก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี

         สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งมีพระชนม์มากแล้ว และทรงมีความทรงจำไม่แม่นยำ แต่ขณะทรงอยู่ในพระราชพิธี ความทรงจำกลับคืนดีมาอีก มีรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ว่า "เอ้า! หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็มๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย" ยังความแปลกพระทัยและปลื้มปีติยินดียิ่งให้เกิดขึ้นกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทุกคนในที่นั้น"

         การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายหีบบุหรี่ถมเงิน ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภอ. กับ พระนามาภิไธยย่อ สก. มีเครื่องหมายจักรกับตรีอยู่บนฝากล่อง

         หลังจากนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินี คำประกาศสถาปนามีความตอนหนึ่งว่า

         " สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้แก่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

         ในบ่ายวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯออกมหาสมาคมในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานพระราชวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทูตานุทูตและข้าราชการ ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรกราบบังคมทูลถวายพระพรแทนพระบรมวงศานุวงศ์

         ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ฯ เขียนบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในหนังสือ "เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ว่า

    " มีความตอนหนึ่งแสดงความปลาบปลื้มปีติโสมนัสในการที่ทรงเลือกสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ มาเป็นสมเด็จพระภรรยาเจ้า ว่า

    '... ได้ทรงพิจารณาเลือกสรรประสบผู้ที่สมควรแก่การสนองพระยุคลบาท ร่วมทุกข์ ร่วมสุข แบ่งเบาพระภาระในภายภาคหน้า... '

         เสร็จพระราชพิธีพระบรมวงศานุวงศ์เฝ้าฯถวายพระพรแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยสถานอุตราภิมุข ชาวพนักงานประโคมแตรและมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริฐพระบารมี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ คณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

         เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเนื่องที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสให้ผู้มาเฝ้าฯทราบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาแสดงความชื่นชมยินดี และถวายพระพรชัยมงคล"

    และอีกตอนหนึ่งในบันทึกเรื่องเดียวกันนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ฯ เขียนไว้ว่า

         " ตอนค่ำวันนั้น มีพระราชทานเลี้ยงบนพระตำหนักเป็นการภายในระหว่างพระญาติสนิทและข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด มีพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และหม่อมเอลิซาเบธ รังสิต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว กิติยากร หม่อมเจ้ามุรธาภิเษก โสณกุล หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และหม่อมวิภา จักรพันธุ์ หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร พลเอก หลวงสุรณรงค์ และนางจรวย โชติกเสถียร นายแพทย์หม่อมหลวงจินดา และนางเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายสุรเทิน และหม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค

         นับเป็นการเลี้ยงในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่ง่าย เรียบ และสิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก

         หลังการเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยแล้ว มีการฉายหนังผีเรื่อง 'Return of Frankenstein' ให้แขกชม อาจจะนับได้ว่าเป็นพระราชพิธีแบบใหม่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบ เพื่อข่มพระขวัญเจ้าสาวให้ทรงหันเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และยึดพระองค์เป็นที่พึ่งในวันบรมราชาภิเษกสมรสก็เป็นได้ ไม่มีพิธีส่งตัวเจ้าสาวตามประเพณีทั่วไป

         ทั้งสองพระองค์เสด็จฯหัวหินเป็นการส่วนพระองค์โดยรถไฟพระที่นั่งในวันรุ่งขึ้น เสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล 3 วัน ตามประเพณี โปรดเกล้าฯให้ผู้ตามเสด็จฯน้อยมาก ทรงโปรดความเงียบสงบ ไม่ฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือยโดยไร้ประโยชน์


         ตลอดระยะทางที่รถไฟผ่าน จนถึงสถานีรถไฟหัวหิน ประชาชนต่างพากันมาเฝ้าฯ อย่างเนืองแน่น ทุกดวงหน้าเบิกบานแจ่มใส ทรงโบกพระหัตถ์ บางคนที่อยู่ใกล้ก็พระราชทานพระหัตถ์ เขาก็เอามาทูนหัวด้วยความบูชา และนี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯออกให้ประชาชนต่างจังหวัดได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด"


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×