ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Enne House | เรียน(รู้)ภาษาเกาหลี ด้วยตัวเองง่ายๆ

    ลำดับตอนที่ #70 : (FAQ) คำถามที่พบบ่อย และ Guideline แนะนำการเรียนด้วยตนเองตามแบบฉบับ Lee Sung Eun

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 7.83K
      11
      23 มิ.ย. 57


    UPDATE: 2014-06-23
    - วิธีการเลือกซื้อหนังสือภาษาเกาหลี?
    - เหตุผลที่ไม่รับสอนภาษาเกาหลี


    Guideline ที่จะทำให้เรียนภาษาเกาหลีด้วยตัวเองตามแบบฉบับของซองอึนค่ะ
                      เราจะพยายามรวบรวมคำถามที่โดนถามบ่อยๆ มาไว้ในนี้นะคะ เพื่อที่จะได้เข้าใจตรงกัน และอาจจะเป็นไกด์ไลน์ให้หลายๆ คนเข้าใจในการเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น ซองอึนอัพเดทมันเรื่อยๆ นะคะ ใครอ่านแล้วปีหน้าอาจจะอัพเดทอีกก็ได้
                      

    Q : ไรเตอร์/แอดมิน/คุณครู/คนสอน/เจ้าของบล็อก บลาๆๆๆ (แต่ละคนเรียกต่างกันไป=_=;;) ชื่ออะไร? 
    A : ในบทความนี้เราจะแทนตัวเองว่า ซองอึน ค่ะ ซองอึนเป็นชื่อเกาหลีของเรา ที่เราใช้จริงๆ แต่ชื่อไทย(ชื่อเล่น) คือ เอ๊นซ์ ค่ะ พอใจจะเรียกชื่อไหน ตามสบายเลยค่ะ^^ (เพิ่มเติม : ซองอึนไม่ได้เป็นครูนะคะ แต่เป็นนักเรียนธรรมดาๆ คนนึง ที่เริ่มต้นจากอยากแบ่งปันความรู้จนกลายเป็นเริ่มเสาะหาความรู้มาสอนคนอื่น แต่ก็ขอบคุณมากถ้านับถือว่าเราเป็นครูคนหนึ่งของคุณเหมือนกัน)

    Q : ซองอึนเป็นพี่หรือน้อง จะได้เรียกถูก?
    A : เราเกิดปี 1994 ค่ะ ปัจจุบันอายุ 20 ปี เป็นพี่หรือน้องก็เรียกๆ กันได้เลยค่ะ^^


    Q : เรียนภาษาเกาหลีจากที่ไหน?
    A : เราเริ่มจากการเรียนด้วยตัวเองค่ะ ศึกษาจากหนังสือเป็นหลัก ต่อมาก็มาเรียนกับครูชาวเกาหลีที่โรงเรียน(เพิ่มเติม : ที่บอกว่าเรียนที่โรงเรียนเนี่ย ซองอึนไม่ได้เรียนสายภาษานะคะ แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้อยู่ชมรมเกาหลีด้วย แต่เราไปขอเค้าให้สอนเอง เรียนจนสนิทกันไปเลยค่ะ) แต่ก็ยังคงศึกษาเกาหลีด้วยตัวเองอยู่เรื่อยๆ ค่ะ ก็ต้องฝึกไปตลอดถ้าเริ่มห่างก็จะเริ่มลืม ถึงได้ตั้งชื่อบทความนี้ว่า "เรียน(รู้)ภาษาเกาหลี ด้วยตัวเองง่ายๆ"

    Q : พูดเกาหลีได้ไหม?
    A : พอได้นะคะ แต่ไม่ถึงกับคล่อง แต่พอจะฟังรู้เรื่องบ้างค่ะ


    Q : ใช้เวลานานเท่าไร กว่าจะพูดได้?
    A : สำหรับเรื่องเวลาคงไม่เป็นที่แน่นอน เพราะการจดจำ เอาใจใส่ หรือความสนใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน หากเรียนรู้ได้เร็ว และหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ โดยเฉพาะการพูดคุยกับเจ้าของภาษา ก็จะดีขึ้นเองค่ะ


    Q : ซองอึนใช้เวลานานแค่ไหน กว่าจะได้ขนาดนี้(?)
    A : ต้องบอกก่อนว่า บทความนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2009 ปัจจุบันก็เกือบ 5 ปีเต็มแล้ว เราก็เริ่มสนใจภาษาเกาหลีตั้งแต่ช่วงนั้นแหละค่ะ(นับถอยไปซองอึนก็อายุราวๆ 15 เด็กง่ะ) ก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ(เท่าที่พอจะทำได้) จริงๆ เราก็ไม่ได้ถึงกับเก่ง บางครั้งหลายอย่างเราก็ไม่รู้ค่ะ แต่จากสิ่งที่เราเคยเจอมาก็จะสอนให้เราได้รู้เอง หรือหากเราเจอสิ่งใหม่ที่เราไม่รู้มาก่อนจริงๆ เราจะรีบหาข้อข้องใจนั้นทันทีโดยการค้นหาใน Google ก่อนเลย เพราะสะดวกที่สุด และไม่ต้องรบกวนใคร ซึ่งส่วนใหญ่ต้องค้นหาเป็นภาษาอังกฤษค่ะ เพราะในเว็บไทยบางครั้ง(ส่วนมาก)จะไม่ค่อยเจอ หรือนอกจากนั้นเราจะเก็บไปถามคุณครูชาวเกาหลีของเราเองเลย^^


    Q : ภาษาเกาหลียาก จริงหรือไม่?
    A : แน่นอนค่ะ ว่ายาก เพราะไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่เรา และไม่ได้คลุกคลีมาแต่กำเนิด แต่หากเปรียบเทียบระหว่างภาษาเอเชียที่เป็นที่นิยมอย่าง จีน กับ ญี่ปุ่น ภาษาเกาหลีจัดว่าง่ายที่สุดค่ะ โดยส่วนตัวเราคิดว่าภาษาเกาหลีนั้นสามารถประสมคำได้ง่าย คล้ายกับภาษาไทย จึงไม่แปลกที่จะอ่านได้ แม้จะแปลไม่ออก^^


    Q : พยัญชนะ สระ ตัวเลข คำศัพท์ ไวยากรณ์ ต้องจำทั้งหมดนี่เลยหรอ?
    A : ถูกต้องค่ะ ต้องจำเอา แต่เราจะไม่เน้นให้ท่องจำอย่างเดียวนะคะ เพราะการเข้าใจและการค่อยเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะทำให้เราจำได้ดีที่สุด
         - พยัญชนะและสระ ไม่จำเป็นต้องท่องจำค่ะ มันไม่จำเป็นต้องจำชื่อเรียกเลยนะคะ เพราะในชีวิตจริงหรือการสอบไม่มีข้อไหนถามว่า ㄱ(คียอก) อ่านว่าอะไร ดังนั้นการใช้บ่อยๆ เขียนบ่อยๆ จะรู้ว่าตัวไหนคืออะไร
         - ตัวเลขอย่างน้อยๆ ควรจำ 1-10 ได้ หากเป็นตัวเลขแบบจีน จะสามารถเอามารวมกันได้ เช่น 30 มาจาก สาม(삼) + สิบ(십) = 삼십 = 30 ยกเว้นตัวเลขแบบเกาหลีแท้ ต้องจำเอาค่ะ
         - คำศัพท์ อันนี้ค่อนข้างสำคัญเลย ต้องจำให้ได้ค่ะ จะเริ่มจากเรื่องที่เราสนใจก่อนก็ได้
         - ไวยากรณ์ อันนี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป และหัดสังเกตในโครงสร้างประโยคต่างๆ ด้วยค่ะ


    Q : อ่านออก เขียนได้ แต่แปลไม่ได้ทำอย่างไร?
    A : การที่เราอ่านออก เขียนได้ มาจากการที่เราฝึกอ่าน ฝึกเขียน ฝึกพูด และจำได้ในที่สุด ดังนั้นการแปลได้ ก็ต้องเริ่มจากการฝึกจำศัพท์(สำคัญมาก) โดยเริ่มจากแปลวลีหรือประโยคง่ายๆ ก่อน หากเป็นประโยคยาวๆ ก็ต้องเริ่มจับใจความสำคัญให้เจอ(หาคำศัพท์) เพราะอย่างน้อยเราก็จะรู้ว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไรอยู่


    Q : พิมพ์ภาษาเกาหลีไม่ได้ ทำอย่างไร?
    A : ถ้าเป็นเรื่องของคอมไม่มีภาษาเกาหลีล่ะก็.. ซองอึนช่วยไม่ได้จริงๆ ค่ะ


    Q : การลิ้งค์เสียงคืออะไร?
    A : การลิ้งค์เสียงก็คือ การที่เสียงของตัวสะกดถูกย้ายไปแทนที่พยัญชนะคำถัดไป โดยจำเป็นต้องรู้ว่า
         - ㅇ เป็นตัวอักษรที่ไม่มีเสียงแน่นอน หรือจะบอกว่าไม่มีเสียงเลยก็ได้ กล่าวคือ หากทำหน้าที่เป็นพยัญชนะ จะออกเสียง อ แต่หากเป็นตัวสะกดจะออกเสียง ง และไม่เสมอไปสำหรับทำหน้าที่เป็นพยัญชนะจะต้องออกเสียง อ แต่อาจจะถูกเสียงของตัวสะกดของคำหน้า เข้ามาแทนที่ได้ เช่น 울어 = อุ-รอ , 고 싶어 = โก ชิ-พอ เ็ป็นต้น และทำหน้าที่เป็นตัวสะกด(เสียง ง) เช่น 엉 = ออง , 강 = คัง เป็นต้น
         - ㅎ เป็นอีกตัวหนึ่งที่สามารถถูกแทนที่ของเสียงด้วยตัวสะกดของคำแรกเช่นกัน แต่จะไม่เสมอไป หากอ่านคำนั้นชัดๆ เช่น 잘했다 = ชา-แร๊ด-ดา เป็นต้น


    Q : ตัวสะกดซ้อนคืออะไร อ่านยังไง?
    A : เราจะเจอบางคำที่มีตัวสะกดซ้อน ให้สังเกตดีๆ นะคะ ว่ามันซ้อนกันด้วยตัวอะไรกับอะไร โดยที่เราจะอ่านเสียงของตัวสะกด(ซ้อน)ตัวแรกเท่านั้น เช่น 읽다 ซ้อนกันระหว่าง ㄹ กับ ㄱ แต่จะเราจะอ่านเฉพาะ ㄹ เท่านั้น ดังนั้น 읽다 = อิล-ดา นอกจากนั้นจะยกคำที่เป็นตัวสะกดซ้อนและถูกลิ้งค์เสียงด้วย เช่น 없어 คำนี้ตัวสะกดซ้อนกันระหว่าง ㅂ กับ ㅅ เลือกเสียงเฉพาะ ㅂ ส่วน ㅅ จะถูกลิ้งค์ขึ้นไปแทนที่เสียงของ ㅇ ดังนั้น 없어 = ออบ-ซอ เป็นต้น


    Q : 난,전,날,넌,널,오빤,오빨, . . . คืออะไร? ซึ่งมักจะเห็นบ่อยในเพลง
    A : คำเหล่านี้คือการผสมกันระหว่างประธาน/กรรม กับ ตัวชี้ประธาน/กรรม หรือที่เราเรียกว่า การลดรูป เพื่อให้คำสั้นและกระชับขึ้น ใช้เฉพาะในภาษาพูดและไม่เป็นทางการค่ะ ยกตัวอย่างตามคำถามเลยนะคะ
              - 난 = 나+는 (ฉัน-ประธาน)
              - 전 = 저+는 
    (ฉัน-ประธาน)
              - 날 = 나+를 (ฉัน-กรรม)
              - 넌 = 너+는 (เธอ-ประธาน)
              - 널 = 너+를 (เธอ-กรรม)
              - 오빤 = 오빠+는 (พี่ชาย-ประธาน)
              - 오빨 = 오빠+를 (พี่ชาย-กรรม)

    Q : ทำไมต้องใส่ตัวชี้ประธานและตัวชี้กรรม(은/는/이/가/을/를) ใส่เพื่ออะไร? ไม่ใส่ได้ไหม? (คำตอบยาวมาก อ่านให้จบนะคะ)
    A : มีหลายๆ คนเคยถามมาว่าจะใส่ไปเพื่ออะไร? ไม่ใส่ได้ไหม? เมื่อก่อนตอนเห็นคำถามก็งงๆ ว่าจะถามเพื่อ? ก็ในเมื่อมันเป็นหลักภาษาของเค้า เราก็ต้องใส่สิ ก็เลยมักจะตอบไปว่ามันจำเป็นต้องใส่เพื่อให้รู้ว่าอันไหนคือประธาน อันไหนคือกรรม (และหน้าที่อื่นๆ ของมัน ดูเพิ่มเติมจากตอนที่ 
    27 กับ 28) แต่แล้ววันนึงเราก็นึกขึ้นมาได้ว่า เออ บางทีเราก็ไม่ได้ใส่เหมือนกันนี่หว่า('')? แล้วก็ไม่ใช่เราคนเดียวด้วย แต่คนเกาหลีก็มีมากมายที่เขาไม่ใส่กัน อ้าว แล้วสรุปว่ามันจำเป็นต้องใส่ไหมเนี่ย? งั้นวันนี้เราจะมาตอบในแบบที่เราเข้าใจนะคะ
              เนื่องจากวัยรุ่นเกาหลีไม่ชอบพูดประโยคยาวๆ (เด็กไทยก็เหมือนกันแหละ) โดยเฉพาะการพูดแบบไม่เป็นทางการ การที่จะมาใส่ตัวชี้ตลอดนั้น มันออกจะดูน่ารำคาญไปบ้างและไม่รวดเร็วทันใจ ในเมื่อเราเรียงประโยคเป็น "ประธาน กรรม กริยา" อย่างที่รู้โดยทั่วกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากละตัวชี้ไปก็ไม่ส่งผลให้ประโยคผิด เพียงแต่บางครั้งการละตัวชี้ก็อาจทำให้ประโยคเพี้ยนได้ ดังนั้นเราต้องรู้ว่าประโยคไหนละได้ ประโยคไหนละไม่ได้ เช่น หากเราบอกว่า "ฉันชอบเธอ" ปกติแล้วหากเราพูดกับอีกคนว่า '좋아해요' มันก็แปลว่าฉันชอบเธอแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้พูดเจาะจงว่าเป็นเธอ เป็นฉันนะ ที่ชอบเธอ แต่ตัวคนพูดเองจะถือว่าเป็นประธานไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับคนที่เราพูดด้วยก็จะเป็นกรรมไป ทีนี้ซองอึนจะยกตัวอย่างให้ดูนะคะว่าเราจะพูดแบบอื่นได้อีก ทั้งละและไม่ละตัวชี้ แบบที่ละไม่ได้เพราะประโยคจะผิดเพี้ยน เช่น
                   - 내가 널 좋아해요 = ฉันชอบเธอ (ประโยคนี้ลดรูปคำว่า 너를 = 널 แต่ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ องค์รวมครบ)
                   - 내가 너를 좋아해요 
    = ฉันชอบเธอ (ประโยคนี้สมบูรณ์ เป๊ะ)
                   - 내가 좋아해요 = ฉันชอบเธอ (ปยนี้ละกรรมทั้งหมดเลย แต่ยังสามารถแปลได้ใจความสมบูรณ์ เพราะอย่างที่บอกว่าคนที่เราพูดด้วย ถึงเราไม่เอ่ยถึงเขาแต่มันก็หมายถึงเขาอยู่ดี แต่การพูดคำว่า 내가 ด้วยมันก็เหมือนย้ำให้มั่นใจว่าเป็น ฉัน )
                   - 널 좋아해요 = (ฉัน)ชอบเธอ (ปยนี้ละประธาน เพราะคนพูด/เขียนก็คือประธานนั่นเอง และบ่งบอกว่า คุณ เป็นกรรมได้จากตัวชี้กรรม)
                   - 나는 너를 좋아해요 = ฉันชอบเธอ (ปยนี้สมบูรณ์เป๊ะ เพียงแต่ใช้ 나는 ปยแรกใช้ 나+가 = 내가)
                   - 나 너 좋아해요 = ฉันชอบเธอ (ปยนี้ละตัวชี้โดยสมบูรณ์แบบ แต่ความหมายยังไม่เพี้ยน เพราะเรียงปยเป็น ประธาน กรรม กริยา)
                   - 나 좋아해요/저 좋아해요 = ชอบฉันไหม 
    (ปยนี้กลายเป็นปยคำถามไปเลย การพูดคำนามหน้ากริยา จะถือว่าคำนามนั้นเป็นกรรมทันที โดยไม่ต้องมีตัวชี้แต่อย่างใด และอีกอย่างอย่าแปลว่า ฉันชอบฉันนะ เพราะซองอึนบอกว่าละประธานได้ คนพูดเป็นประธานอยู่แล้วดังนั้น 나 좋아해요 ก็คงแปลว่า ฉันชอบฉัน เอ่อ...คงไม่มีใครเค้าพูดแบบนั้นกัน=_=;)
                   - 너 좋아해요 = (ฉัน)ชอบเธอ (ละประธาน และละตัวชี้กรรม)
                   - 난 니가 좋다 = ฉันชอบเธอ (ปยนี้ไม่ต้องสนว่า เอ๊ะ ชี้ประธานทั้งสองเลย แล้วไหนกรรม? คือมันเป็นพันมัล{ภาษาไม่เป็นทางการ}ค่ะ คือยังไงก็เรียงปยเป็น ประธาน กรรม กริยา เข้าใจไหมคะ และอีกอย่างคำว่า 좋다 จริงๆ แล้วแปลว่า ดี แต่ในบางบริบทมันก็แปลว่า ชอบ ได้ คือเค้าลดรูปด้วยแหละค่ะ สั้นดี=_= กริยาไม่ผันด้วยนะคะ ไม่เป็นทางการสุดๆ แต่ไม่ผิดและไม่ถือว่าหยาบนะคะ อันนี้เอามาจากเพลง 니가 좋다 ของ 인피니트)
                   - 난 너가 좋아 = ฉันชอบเธอ (ปยนี้เหตุผลเหมือนข้างบนเลย ตรง 너가 ถ้าไม่พิมผิด ก็ตั้งใจไม่เปลี่ยนอะไรทั้งนั้นเลย ใช้มันตรงๆ คือบอกก่อนว่า 너+가 = 네가 แต่นี่ใช้เป็น 너가 อาจจะพิมผิดจาก 니가 ก็ได้ แต่ปยนี้ผันกริยาแล้วค่ะ ส่วนอันนี้เอามาจากทวิตเตอร์ซองยอลลี่ที่เมนชั่นหามยองซูนะ>//< #บอกทำไม=_=! แต่ที่สำคัญมันเป็นพันมัลค่ะ)
                  - 난 네가 좋다/난 네가 좋아 = ฉันชอบเธอ (เหตุผลเหมือนปยข้างบนส้มกับชมพู แต่อันนี้มีคนใช้กันค่ะ เพราะมันถูกหลักหน่อย)
             ประโยคข้างบนเป็นประโยคที่เจอได้จริงๆ นะคะ มักใช้ในกลุ่มวัยรุ่น จะเห็นได้ว่าประโยคมันไม่ตายตัว เราสามารถพูดได้หลายแบบแต่ความหมายก็เหมือนเดิม จะใช้แบบไหนมันก็ขึ้นอยู่กับผู้พูดทั้งนั้น ว่าอารมณ์เราอยู่ในระดับไหน พูดแบบสุภาพ หรือพูดแบบห้วนๆ ยังไงก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันนะ แล้วต้องจำไว้เสมอว่าภ.เกาหลีเรียงประโยคเป็น ประธาน กรรม กริยา


    Q : ภาษาเกาหลีวิบัติมีจริงไหม?
    A : มันมีอยู่จริงค่ะ ใช้กันในหมู่วัยรุ่นทั่วไป เจอบ่อยๆ ตาม social network ต่างๆ ก็วิบัติกันเพื่อความน่ารัก ขิขุ อาโนเน๊ะ อะไรทำนองนั้น (มันวิบัติกันได้ทุกภาษาเลยมั้ย?) ซองอึนเจอบ่อยในทวิตเตอร์ค่ะ โดยเฉพาะพวกดารานี่แหละ เก็บมาได้หลายคำเหมือนกัน เพราะปกติเวลาเราเรียนคงไม่มีครูคนไหนสอนภาษาวิบัติกัน แต่เพื่อความรู้(?)ก็ต้องจดจำไว้บ้าง บางทีก็ใช้เองด้วย จะได้ไม่งงว่าเค้าพิมพ์อะไร แปลว่าอะไร ซองอึนจะขอยกตัวอย่างเดียวนะคะ เช่น 쪼아쪼아(โจอาโจอา) = 좋아좋아 คำนี้อีกแล้ว แปลว่า ดีๆ หรือ ชอบๆ ประมาณนั้น มันเกิดจากการที่ออกเสียงคล้ายกันน่ะค่ะ แต่เขียน 쪼아 ดูน่ารักกว่า เอาล่ะ ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ซองอึนจะลงเป็นตอนใหม่เลยค่ะ จะเป็นพวกคำแสลงด้วย คำวิบัติด้วย จริงๆ ซองอึนเคยพูดเรื่องนี้ไปแล้วในทวิตเตอร์แต่ถ้าคนที่ฟอลใหม่ก็คงไม่ทัน หรือคนฟอลเก่าก็คงจะลืมไปแล้ว ^^


    Q : วิธีการเลือกซื้อหนังสือภาษาเกาหลี?
    A : คำถามนี้มีคนถามมาบ้างพอสมควรค่ะ (นานๆ ที) ซองอึนจะแนะนำเป็นวิธีเลือกซื้อนะคะ แต่จะไม่เจาะจงชื่อหนังสือ เพราะเราเองก็ไม่สามารถที่จะรู้จักหนังสือภาษาเกาหลีทุกเล่มดีจริงๆ ซึ่งวันนี้จะมาบอกวิธีเลือกละกันค่ะ เริ่มจากเราต้องถามตัวเองก่อนว่าเรามีความรู้ในระดับไหน? ต้องการซื้อหนังสือไปเพื่ออะไร? 
              หากเราเพิ่งเริ่มเรียนเกาหลีใหม่ๆ ยังไม่มีความรู้อะไรทั้งนั้น หนังสือที่เหมาะสมที่สุด ก็คือ พวกแบบฝึกหัดคัดตัวอักษรต่างๆ จะเป็นพวกสมุดแบบฝึกหัดเหมือนตอนอนุบาลเลย ให้เราคัดตามจุดไข่ปลา ให้โยงเส้นรูปภาพกับคำศัพท์ ฯลฯ จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับภาษาเกาหลีมากขึ้น และช่วยให้เรารู้จักการประสมคำ เขียนและ อ่านได้ค่ะ

                   
    หากเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานบ้างแล้ว ก็ควรเลือกหนังสือจำพวกที่มีทั้งประโยคสำเร็จรูป บทสนทนา และคำศัพท์ โดยปกติหนังสือแทบทุกเล่มจะมีตัวอักษรและตัวเลขไว้ให้อยู่แล้วค่ะ ควรจะเลือกหนังสือที่มีครบตามที่บอกค่ะ เพื่อความคุ้มค่าแก่การซื้อ และหากใครยังอ่านไม่คล่องก็ควรเลือกหนังสือที่มีคำอ่านกำกับไว้ด้วย ป้องกันการอ่านผิดพลาด
              สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแน่นแล้ว เรื่องที่จำเป็นที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ไวยากรณ์ ดังนั้นควรเลือกหนังสือที่เป็นไวยากรณ์เกาหลีโดยเฉพาะ หนังสืออาจจะแบ่งเป็นระดับให้เราอีก ยิ่งง่ายต่อการเลือก เราก็แค่ลองเปิดดูก่อนว่าภายในเล่มสอนไวยากรณ์เรื่องไหนบ้าง หากเป็นเรื่องที่เรารู้แล้ว ก็ลองเพิ่มระดับให้ยากขึ้นไปอีก หรือหากอยากได้แบบรวมๆ ตามร้านหนังสือทั่วไปก็มีเหมือนกันค่ะ
              และสำหรับผู้ที่ต้องการรู้ภาษาเกาหลีแบบเร่งด่วน อย่างเช่น การไปเที่ยวประเทศเกาหลี แล้วอยากจะพกหนังสือภาษาเกาหลีสักเล่มไว้ใช้ในชีวิตประจำวันตลอดการเดินทาง ก็ต้องเลือกหนังสือที่เหมาะสำหรับพกพาไปเที่ยวเลย หนังสือเหล่านี้มักจะมีขนาดกระทัดรัด เพื่อให้พกพาสะดวก ภายในเล่มควรประกอบไปด้วยประโยคสำเร็จรูปในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ประโยคที่มักใช้ในชีวิตประจำวัน ประโยคที่มักใช้ในด่านตรวจคนเข้าเมือง/การเดินทาง/การคมนาคม หรือประโยคที่มักใช้ในการซื้อของ/ในร้านทำผม/ในร้านเสริมสวย/สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และอย่างที่บอกว่าควรเป็นในรูปประโยคสำเร็จรูปมาเลย ไม่ต้องมีบทสนทนาก็ได้ คือแบบสามารถอ่านตามแล้วใช้ได้เลย ซึ่งสมัยนี้หนังสือพวกนี้ค่อนข้างหาง่ายมาก ไม่เหมือนกับหนังสือจำพวกข้างบนที่กล่าวมาทั้งหลาย และบางเล่มอาจจะมีแนะนำแหล่งท่องเที่ยว หรือประเพณีวัฒนธรรมเข้าไปด้วยอีก ก็ยิ่งดีเลยค่ะ


    Q : เหตุผลที่ไม่รับสอนภาษาเกาหลี
    A : อันนี้โดนถามเข้ามาพอสมควร เหตุผลที่ไม่รับสอนภาษาเกาหลี เนื่องจากเราไม่ได้เรียนด้านภาษาเกาหลีมาโดยตรง (ตอนนี้เป็นนักศึกษาพยาบาลอยู่ ถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับพยาบาลล่ะก็หลังไมค์มาได้ คิคิ) เพียงแต่เราฝึกฝนและศึกษาภาษาเกาหลีเป็นงานส่วนตัวที่ชอบเท่านั้น และอย่างที่เคยบอกไปแล้วในคำถามข้อข้างบนสุดว่า เราเองก็เป็นเพียงนักเรียนคนหนึ่งเช่นกัน ไม่ใช่คุณครูแต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงไม่มีหลักประกันใดๆ เพียงพอต่อการเสียเงินค่าเรียนของคุณ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วเราก็สามารถสอน(อย่างน้อยก็)พวกพื้นฐานให้ได้ (หรือเรื่องที่ลงในบทความนี้แหละ)ก็ตาม

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×