น้องใหม่ครุศาสตร์" />
ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เปิดรั้วโรงเรียนครู "คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

    ลำดับตอนที่ #31 : ความทรงจำเมื่อฉันได้มาเป็น --> น้องใหม่ครุศาสตร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 4.86K
      5
      19 มิ.ย. 53


    ความทรงจำเมื่อตอนที่ฉันยังเป็น 
    "น้องใหม่ครุศาสตร์"



    คุณครูแถลง

    เห็นคนอื่นเค้าเขียนเล่าชีวิตตัวเองสนุกๆ ก็แอบอิจฉาอยากจะเขียนบ้าง แต่ก็กลับมาคิดมากอีกว่า "ใครมันจะมาอ่านเรื่องบ้าบอของเรา" อีกอย่างบทความเรามันก็ดูวิชาการจะตายไป กลัวเขียนไปแล้วแป่กมาก ไม่เข้า Theme อีกต่างหาก เลยแค่ได้คิดๆๆๆ แต่ก็ยังไม่กล้า 

    จนมาถึงช่วง Summer ที่จะขึ้นปี 4 นี้แหละ กลับไม่มีอะไรทำ คงจะแก่แล้วมั้งเนอะ ใกล้จะจบแล้วนี่เรา ก็ไม่มีอะไรจะทำเป็นเรื่องธรรมดา ประกอบกับได้ทำ Writer ขึ้นมาหลายเดือนแล้วด้วย มีน้องหลายคนมาถามประสบการณ์การเรียนบ้าง เรียนยากมั้ย ถามเรื่องกิจกรรมช่วงที่เป็นน้องใหม่เป็นยังไง เราก็ไม่รู้จะบรรยายยังไง อ่ะ!!! สนอง Need ตัวเองหน่อย ก็บรรยายชีวิตดราม่าของเราไปนี่แหละ

    คาดว่าคนที่ได้อ่านหลายคนคงจะต้องเรียกว่า "น้อง" หลายคนกำลังจะกลายมาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้านเดียวกันนี้ ขอนั่ง Time Machine ย้อนเวลาไปซักนิดนะ แค่ 3 ปีเอง ถือซะว่ากำลังอ่านชีวิตน้องใหม่ของคนๆ หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ "พี่กอล์ฟ" ละกันนะครับ และก็ไม่ขอแทนตัวเองว่า "พี่" ด้วย ไม่อยากแก่ไปมากกว่านี้แล้ว เพราะตอนนี้ได้นั่ง Time Machine มาอายุเท่าๆ กับเด็กที่จะแอดมิชชั่นส์แล้ว ถือว่าอายุเราเท่ากันนะ แล้วก็ขอย้อนไปช่วง ม.6 เล็กน้อยให้มันต่อเนื่องนิดหน่อยว่าทำไมถึงต้อง "ครุศาสตร์ จุฬาฯ" สุดท้ายที่จะขอคือ อย่าได้คาดหวังสาระอะไรมากในบทความนี้ เพราะคงเป็นบทความเดียวจากทั้งหมดที่ดูไร้สาระมากอยู่ ถือซะว่าเข้ามาอ่านเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่เพิ่งจบ ม.6 แล้วเข้ามาเป็นน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วกันนะครับ




    ตอนที่ 1 การศึกษาคือการลงทุน

    ภาษาไทย


    "พ่อ กอล์ฟขอเรียนคอร์ส Ent เคมี อ.อุ๊ 5,000 น๊า" ... คุณพ่อให้อย่างไม่เต็มใจมากนัก เพราะคอร์สนี้มันแพงกว่าคอร์สที่ผ่านมาน่ะสิ

    "พ่อ กอล์ฟขอเรียน Da'vance 4,000 น๊า" ... คุณพ่อให้แต่โดยดี เอ๊ะเริ่มแปลกใจ เลยถามว่าทำไมให้เรียนง่ายจัง ไม่บ่นด้วยคราวนี้ ที่แท้ก่อนหน้านี้พ่อบอกว่าได้คุยกับป้าที่รู้จักคนนึง ลูกเค้าเรียนมงฟอร์ตอายุเท่าเรา ป้าก็บอกว่าลูกเค้าเรียนสายศิลป์กลัวคะแนนไทย-สังคมไม่ดี เลยให้ไปเรียน แล้วก็มีถามกลับว่า "ลูกน้องเรียนพิเศษที่ไหนบ้าง" สงสัยกลัวน้อยหน้าเค้า 555 ยอมควักเงินโดยดี

    "พ่อ กอล์ฟจะเรียนชีวะที่นี่ต่ออ่ะ มีแต่เพื่อนเรียน 3,000 นะ" ... กลับมาหน้านิ่วคิ้วขมวดเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ก็ให้นะ ก็ชักแม่น้ำทั้งห้าพักใหญ่แหละ

    "พ่อ กอล์ฟโง่อังกฤษอ่ะ ว่าจะเรียน Enconcept อ่ะ 4,000" ... โดนย้อนถามครับว่า ความรู้ที่เรียน AUA ไปถึง Level 6 เอาไปทิ้งไหนหมด เราก็พล่ามไปว่า AUA มันฝึกพูดนะ นี่ทำข้อสอบ ดูเกรดอังกฤษกอล์ฟสิ ไม่ได้ 4 เหมือนวิชาอื่นนะ สุดท้ายก็ให้ เย้

    "พ่อ กอล์ฟว่าจะเรียน The Brain อ่ะ มันเป็นโปรโมชั่นลดราคา 3 วิชา มีฟิสิกส์ คณิต แล้วก็ชีวะ เหลือ 11,600" ... โอ้วววว บ้านจะแตก คุณพ่อกริ้วขึ้นมาทันที ข้าพเจ้าก็ได้แต่ทำหน้าตาที่น่าสงสารไป ให้พ่อเห็นว่า ข้านี้ยังโง่เขลานัก ต้องจ่ายเงินไปฝึกวิชา สุดท้ายพ่อก็ยอมจ่าย พร้อมทั้งพูดชัดเจนว่า "สุดท้ายละนะ" 

    นี่แหละครับที่เค้าว่า "การศึกษาคือการลงทุน" พ่อแม่เราก็หาเงินมาลงทุนทางการศึกษาหวังให้ลูกมีอนาคตที่ดี เราเป็นลูกก็เก็บเกี่ยวความรู้มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างเป็นผลผลิตที่งอกงามในอนาคต จากที่เกริ่นมาทั้งหมด บางคนคงนั่งบวกว่านี่คอร์สเอ็นทรานซ์มันหมดไปกี่บาทเนี่ย บวกให้เลยครับ เฉพาะคอร์สเอ็นทรานซ์ก็  28,600 บาท นี่ยังไม่รวมคอร์ส Turbo ของ Da'vance เทอม 2 อีก 1,800 นะ แพงยิ่งกว่าค่าเทอมโรงเรียนประจำจังหวัดที่เรียนมา 6 ปีซะอีก ค่าเทอมมัธยม 6 ปีเคยลองบวกดูมันก็แค่ประมาณ 25,000 บาทเองอ่ะ เด็กเตรียมแอดมิชชั่นส์มันต้องลงทุนขนาดนี้เชียวหรือ

    หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเรียนระห่ำแบบนี้ บ้าเรียนพิเศษจัง ทำไมไม่อ่านเอง เหตุผลเดียวคือ "ขี้เกียจ" ชีวิต ม.ปลาย เหมือนมีอะไรทำมากมายจนทำให้นิสัยหนึ่งของเราหายไป คือ "การคร่ำเคร่งอ่านหนังสือก่อนสอบ" ม.ปลาย เราแทบไม่เคยอ่านหนังสือสอบเลย ผิดกับ ม.ต้น ก่อนสอบ 5 วันจะอ่านหนังสือวันละ 12-15 ชั่วโมงเลย แล้วก็ไม่เคยเรียนพิเศษเลย พอขึ้น ม.ปลาย กลายเป็นเด็กกิจกรรม เริ่มขี้เกียจตัวเป็นขน เลยใช้วิธีลัด คือ การเรียนพิเศษนี่แหละ นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเลย การจะขอเงินพ่อไปโอนเงินให้กับบรรดาคุณครูติวเตอร์ทั้งหลายมันยากมาก ใจเรารู้สึกละอายและรู้สึกผิดที่ว่า ทำไมเราไม่อ่านหนังสือเองบ้าง ทำไมต้องเล่นเรียนไปซะทุกวิชา แล้วก็แพงๆ ทั้งนั้น แต่ก็เพราะเราเป็นคนรักความสบาย แล้วก็ขี้เกียจอ่าน เลยต้องลำบากพ่อหาเงินให้เรามาเรียน หลายวิชาที่แอบโดดเรียน แล้วหลายคนก็คงจะเป็น พอโดดครั้งแรกก็เริ่มต่อไม่ติดเลยโดดยาวติดต่อกันจนกว่าบทนั้นจะจบ เสียไปหลายบทอยู่เหมือนกัน ซึ่งจะเป็นเฉพาะวิชาที่แอบเกลียด คือ ฟิสิกส์ คณิต และอังกฤษ นอกนั้นครบจนคุ้ม แอบไปเรียนซ้ำอีกต่างหาก อย่าไปบอกใครนะ 555 

    มีวันหนึ่งพ่อถามเราว่า "หนังสือที่ซื้อมาอ่านเตรียมเอ็นทรานซ์อ่ะ อ่านบ้างมั้ย พ่อให้ไปซื้อตั้ง 2,000 นะ" ข้าวที่กินมาอิ่มๆ เหมือนหายไปในพริบตา ท้องเบาหวิวเลย ตอบไม่ถูก แล้วก็รู้สึกผิดด้วยที่โกหกไปว่า "เปิดๆ ดูบ้างแล้วนะ" แต่ที่จริงแล้วคือยังสะอาดอยู่เลย นี่มันก็เดือนกันยายนที่เรียน ม.6 แล้วด้วย แป๊บๆ ก็กลับมาอิ่มเหมือนเดิม เหมือน Don't care media (แปลตรงตัว)

    นั่ง Time Machine กลับมาถึงปัจจุบัน นี่เป็นปฐมบทที่พี่คิดว่าคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของบทความนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุของหลายๆ เหตุการณ์ที่ตามมาของชีวิตเด็ก ม.6 อย่างพี่จนกระทั่งเข้ามาเรียนในคณะนี้ กลับมาคิดตอนนี้แล้วพี่รู้สึกผิดมากที่ใช้ 28,600 บาทของพ่อเพื่อซื้อความสบายของเรา เพราะผลผลิตที่เราสร้างมามันไม่คุ้มกับที่ลงทุนไปซักนิด สู้ซื้อหนังสือราคาไม่กี่บาทมานั่งอ่านเองดีกว่า คุ้มทั้งเงินที่จ่ายและความรู้ที่ได้ เรามันนิสัยเสีย ถ้าย้อนกลับไปได้คงจะเริ่มอ่านเองตั้งแต่ขึ้น ม.6 โดยที่ไม่บ้าเรียนพิเศษแบบนี้ อ่านหนังสือมันเข้าหัว แต่เรียนพิเศษใช่ว่าจะเข้าหัว บางทีเกิดกระทู้ในใจขึ้นมา เลยตั้งกระทู้กับเพื่อนที่นั่งเรียนข้างๆ ในบัดดล ความรู้ก็หายไปละครับ หรือบางทีหายไปไม่มาเรียนเลย จ่ายเยอะแต่ก็ไม่คุ้มเท่าอ่านหนังสือเลย แต่อย่างที่เค้าว่าแหละ "อันเวลาและวารีเหมือนดั่งสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ" ชีวิตเราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว จึงอยากให้ปฐมบทนี้ได้เตือนน้องๆ หลายคนที่กำลังเรียน ม.6 ว่า "อ่านหนังสือได้แล้วนะ" แล้วก็อย่าเอาเงินพ่อแม่ไปซื้อความรู้มากเกินไปแบบพี่เลย เราควรจะเดินทางสายกลาง โดยอ่านหนังสือตั้งแต่เนิ่นๆ ให้แน่นๆ วิชาไหนที่อ่อนก็ไปเรียนพิเศษเสริมบ้าง วิชาไหนที่อ่านเองได้ก็อ่าน เพราะถ้าใครบางคนกำลังคิดเหมือนพี่ดังที่อ่านไปทั้งหมดก็จะได้รู้ต่อไปว่า ผลของการกระทำนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิตของพี่ต่อไป 

    ย้อนกลับมาที่ชื่อตอนอีกครั้ง หนทางสู่อนาคตที่สดใสของเด็ก ม.6 สำหรับคำว่า "การศึกษาคือการลงทุน" คงไม่ใช่การลงทุนเอาเงินไปเรียนพิเศษเพื่อให้ได้ความรู้หรอกครับ แต่เป็นการลงทุนเวลาเพื่อทุ่มเทกับการเตรียมตัวสอบ ใช้เวลากับการอ่านหนังสือดีกว่า ถึงจะเป็นการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุด




    ตอนที่ 2 อาจารย์ใหญ่ในโรงพยาบาล

    ถ้าชื่อตอนมีเพียง "อาจารย์ใหญ่" ก็คงคาดเดาได้ว่าต้องเป็นตำแหน่งผู้บริหารในโรงเรียนที่น่าเกรงขามแน่นอน แต่นี่เป็น "อาจารย์ใหญ่ในโรงพยาบาล" นี่ดิ จากความเกรงขามกลายเป็นความน่ากลัว เรื่องนี้มันเริ่มต้นที่ว่าขณะนั้นเข้ามาสู่ฤดูคร่ำเคร่งของเด็ก ม.6 แล้ว สิ่งที่เด็ก ม.6 อยากทำให้ได้ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเลย คือ "การอ่านหนังสือ" ทุกคนมักจะมีเหตุผลเป็นของตัวเองที่จะมาสนับสนุนการไม่เริ่มอ่านหนังสือ สำหรับเราแล้วอ่ะเหรอ เหตุผลมันก็อย่างที่บอกตั้งแต่ตอนที่ 1 แล้ว ก็เรียนที่โรงเรียนจันทร-ศุกร์ถึงเย็น แล้วก็ไปนั่งเรียนๆ หลับๆ ที่เรียนพิเศษถึงค่ำ กลับบ้านก็สลบแล้วจ้า พอเสาร์-อาทิตย์น์อนยังไม่อิ่มเลย แหกขี้ตาอาบน้ำขับรถไปเรียนพิเศษ เรียนเสร็จคอร์สนั้นไปต่อคอร์สนี้ถึงเย็น มันก็อ่อนล้าแล้วนะจริงมั้ย เรียนพิเศษจนหน้าจะเป็นจอสี่เหลี่ยม 29 นิ้วไปแล้ว บางคืนถึงกับฝันว่าไปเยาวราชแล้วเจออาจารย์ปิงอ่ะคิดดูดิ

    นี่ก็จะหมดภาคเรียนที่ 1 แล้ว เด็ก ม.6 ภาคเหนือก็คงจะเป็นที่รู้กันดีว่าใกล้จะสอบโควตาภาคเหนือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กันแล้ว สำหรับโควตา มช ไม่ว่าใครจะอยากเข้าหรือไม่อยากก็มักจะสมัครสอบทุกคนเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะเป็นทั้งเวทีของการอุ่นเครื่องและการผ่านเข้าไปศึกษาต่อในคณะต่างๆ ที่เราใฝ่ฝันจริงๆ ดังนั้นระยะนี้ก็จะเริ่มเห็นหนอนหนังสือปรากฏขึ้นทีละคนๆ โดยเฉพาะเพื่อนที่เค้าอยากเรียน มช แต่เราก็ยังเอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้ก็ทำตัวชิลๆ ต่อไป Don't care media แต่เราก็ใช่จะเป็นก๊าซเฉื่อยนะ เมื่อมีตัวเร่งรอบข้างสารประกอบโลหะอย่างเราจะนิ่งได้ฤา โดยเฉพาะคุณเพื่อนๆ ในห้องนี้แหละ จะแอบมีการอัพใส่กันเล็กๆ เช่น แบกหนังสือมาอ่านยามว่างบ้าง หรือแอบงับเพื่อนด้วยกันว่า "กอล์ฟอ่านจบไปหลายวิชาแล้วอ่ะสิ เรายังเพิ่งจบคณิตไปอยู่เลยอ่ะ ว่าจะกลับมาอ่านอีกรอบนึงทีหลัง" เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าตัวเองจะอ่านก็อ่านไปสิ ไอ่เราก็เริ่มทนไม่ได้ละ

    จุดเริ่มต้นของตอนนี้เริ่มที่ตรงนี้แหละครับ พล่ามไปซะยาว เด็ก ม.6 ในตัวเมืองเชียงใหม่มักจะหาที่สงบเงียบอ่านหนังสือกัน หลายคนอ่านที่บ้านไม่เคยสำเร็จ เพราะมีสิ่งยั่วยุมากมาย เช่น ละครหลังข่าว รายการโปรด MSN เกมออนไลน์ ที่สำคัญคือเตียงนอน จึงรวมกลุ่มกันมาอ่านหนังสือนอกสถานที่ สถานที่ยอดฮิตแห่งหนึ่งของเด็กแอดมิชชั่นส์สมัยนั้น คือ โถงใต้อาคารเรียนรวมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือโรง'บาลสวนดอก และคงเป็นที่ทราบกันดีว่าโรง'บาลสวนดอกเป็นศูนย์รวมการพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ คนก็มักจะพลุกพล่าน ประกอบกับอาคารเรียนรวม 10 กว่าชั้นนี้ก็มีนักศึกษาแพทย์เรียนกันมากมาย ดังนั้นกลางวันใต้อาคารก็ไม่ค่อยมีใครมากอ่านหนังสือกันหรอก เราจะมากันหลังจากที่เรียนพิเศษเสร็จแล้วอยู่ที่นั่นถึงดึกกันเลยล่ะ เป็นไงครับ บรรยากาศมันเริ่มหลอนๆ มาแล้วนะ


    แม้ว่าโรง'บาลสวนดอกจะมีคนแน่นเอี๊ยดในตอนกลางวัน แต่สำหรับกลางคืนล่ะก็ เงียบวังเวงมากๆ ก็เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือมาก สำหรับพวกเราจะว่าไปก็อ่านหนังสือกันไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่ อ่านได้หน้านึงชวนกันไป Seven หน้าโรง'บาล เดี๋ยวก็มีคนตั้งกระทู้เบนความสำคัญไปอย่างสนุกสนาน แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ที่บ้าน เพราะไม่ถึงหน้าสติก็หายไปพริบตา ซึ่งการอ่านหนังสือของเราที่นี่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เว้นอยู่อย่างเดียวคือ "ห้องน้ำ" ใครปวดฉี่หรือใดๆ ก็ตามเป็นเรื่องใหญ่ทันที เพราะห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ด้านหลังอาคารนี้ ซึ่งเป็นอาคารแผนกนิติเวชวิทยาศาสตร์ หรือสถานที่ที่เค้าใช้ชันสูตรศพไงครับ แล้วห้องน้ำมันดันอยู่ตรงข้ามติดๆ กับห้องอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์เค้า ถึงว่าไงครับว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ถ้าใครคนนึงปวดฉี่ขึ้นมา บางวันหลายคนเกิดหลอนนิดๆ ก็เลี่ยงเดินไกลไปใช้ห้องน้ำในตึกสุจิณฺโณ ซึ่งเป็นตึกผู้ป่วยใหญ่ของโรงพยาบาล บรรยากาศก็วังเวงเป็นปกติ แต่ก็ไม่มีอาจารย์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม มันไกลอยู่ครับแม้จะเป็นตึกใกล้ๆ กัน

    ประสบการณ์การอ่านหนังสือเตรียมแอดมิชชั่นส์มันสุดสยองจนจำถึงทุกวันนี้ คือ การพากันไปเข้าห้องน้ำในตึกนิติเวชนี่แหละครับ พวกเราจะดีใจมากที่ไปตอนที่มีคนเดินอยู่ในตึก ทุกคนจะคิดว่าเป็นคน จะไม่มีใครคิดว่าเป็นเหนือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่คน ทางเดินไปห้องน้ำเราต้องผ่านบันใดที่อยู่กลางตึก อย่ามองขึ้นไปเชียวครับ เพราะน่าขนลุก แล้วก็ผ่านลิฟต์ 2 ตัวซึ่งไม่ไหวติงใดๆ แต่มันก็ยังทำงานอยู่ 24 ชั่วโมง ต่อมาให้เลี้ยวขวาเราจะเจอหน้าต่างห้องอาจารย์ใหญ่ด้านซ้าย และห้องน้ำก็จะอยู่ด้านขวาครับ

    วันหนึ่ง พวกเรามาเข้าห้องน้ำกันตอน 3 ทุ่มวันธรรมดา คุณนักศึกษาแพทย์ดันทำ Lab อาจารย์ใหญ่ไม่เสร็จ แล้วเวลาทำเนี่ยเค้าจะเปิดหน้าต่างระบายกลิ่นฟอร์มาลีน ทำเอาพวกเราช็อคกันไปเลย เห็นเค้าผ่าอาจารย์ใหญ่สดๆ โดยไม่ต้องไปดูในนิทรรศการวันมหิดลเลย ทำเอากินขาหมูไม่ลงไปช่วงหนึ่ง แต่นั่นยังดีครับที่นักศึกษาแพทย์เค้าอยู่กับอาจารย์ใหญ่ แต่วันที่กลิ่นฟอร์มาลีนมาฟุ้งเกิน พอเค้าทำ Lab เสร็จ เค้าจะเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ทั้งคืน หลอนละครับทีนี่ เราก็ปวดฉี่ ดันเดินมาเจอท่านอาจารย์ใหญ่อยู่ภายใต้พลาสติกคลุมนอนเรียงกันเลยอ่ะ ถ้าเดินเลี้ยวขวาไปก็ถึงห้องน้ำแล้ว อดทนหน่อยละกัน ใครฉี่เสร็จจะรอกันอยู่ในห้องน้ำนั่นแหละครับแล้วค่อยออกมาพร้อมกัน

    วันหนึ่ง
    "เมิงๆ ห้องอาจารย์ใหญ่เปิดหน้าต่างไว้อีกแล้วอ่ะ"
    "เมิงจะเข้ามะ กุปวดฉีเหอะๆ หันหลังแล้วเดินเข้าห้องน้ำไปเลยดิ"
    "เออๆ กูขอจับมือเมิงหน่อยดิ (เอิ่มมมม)"

    ซักพัก
    "เมิงได้กลิ่นฟอร์มาลีนมะ"
    "ไอ้*** ก็อยู่หลังห้องผ่าศพจะไม่ให้มีกลิ่นได้ไง"

    พลึบบบบ
    "เฮ้ย เสียงใครเดินผ่านอ่ะเมิง"
    "ไหน ไม่เห็นมีใครเลยว่ะ"
    "กุว่าเราไปกันเหอะนะ"

    เดินเลี้ยวซ้ายกำลังจะผ่านลิฟต์
    ติ๊งงง
    "*** ลิฟต์มาเปิดทำไมตอนนี้วะ"
    "ไม่ใช่เวลามาเล่นนะเมิง เมิงกดลิฟต์ทำไมวะ"
    "กูไม่ได้กดนะ มันเปิดเอง เมิงก็เดินมากับกูเนี่ย"

    ไม่ต้องคิดละครับตอนนั้น วิ่งกันออกจากตึกเลย ทำเอาอ่านหนังสือไม่ได้เลยวันนั้น บางวันเพื่อนก็มาเล่าว่าเหมือนมีใครมาแตะหลังบ้าง อยู่ดีๆ ก็ขนลุกบ้าง เราก็ทำได้แต่เพียงยกมือไหว้ก่อนเข้าห้องน้ำล่ะครับ แต่ประสบการณ์หลอนๆ ก็ไม่ทำให้เราเปลี่ยนสถานที่อ่านหนังสือแต่อย่างใด เพราะมันสะดวก มีทั้งโต๊ะอ่านหนังสือ มีร้านอาหาร มี Seven เพรียบพร้อมไปหมด (มีผีด้วยนะเออ หาง่ายซะที่ไหนสถานที่แบบนี้)




    ตอนที่ 3 ข้อสอบดับแววความเป็นครู

    14 ตุลาคม 2549 จะเป็นการสอบครั้งแรกเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย วิชาแรกนี้ตั้งใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นวิชาที่ต้องลองฝึกทำข้อสอบเก่าเอง หาเนื้อหาอ่านไม่ได้ ก็เลยตั้งใจได้ไงก็เพราะมันไม่ต้องอ่าน 55 การสอบครั้งนี้เรียกว่า "การสอบวิชาเฉพาะ" รหัส 39 วิชาวัดแววความเป็นครู ซึ่งเริ่มสอบมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 ในช่วงปี พ.ศ.2541-2548 ถือว่าเป็นโชคดีของพี่ๆ ที่มีการสอบ 2 ครั้งต่อปี คือ รอบตุลาคมและมีนาคม โดยเลือกคะแนนที่ได้สูงที่สุดมาใช้คัดเลือก แต่ช่วงปี พ.ศ.2549-2552 สอบครั้งเดียวต่อปี คือ รอบตุลาคม แล้วนำคะแนนมาใช้เลย ชีวิตมันน่าเศร้านักถ่าเราได้คะแนนที่ไม่น่าดู

    กลับมาดูเด็กสมัยนี้ ก็อย่าว่ากันถ้าพูดไม่ถูกใจใคร เรากลับมองว่าสอบ 3 ครั้งต่อปีอะไรจะโชคดีกว่าปีเรายิ่งนัก ครั้งนี้ได้น้อย ครั้งหน้าเอาใหม่ รูปแบบข้อสอบก็หลากหลาย อันนี้ก็น่าเซ็งสำหรับคนที่จะเตรียมตัวสอบ แต่มองกลับกันแล้วก็ดีสำหรับเด็กหลายๆ แบบนะ บางคนก็ทำได้ดีกับข้อสอบเชื่อมโยง บางคนทำได้ดีกับข้อสอบปรนัย ก็ว่ากันไป คะแนนเฉลี่ยก็สูงกว่าระบบเก่า ไม่เห็นเหมือนรุ่นเราเลยอ่ะ สอบพิฆาต 100 ข้อ กับ 2 ชั่วโมง ครั้งเดียวเท่านั้น

    การเตรียมตัวสอบเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกันยายนหลังจากที่ปิดภาคเรียนที่ 1 เราก็หาซื้อข้อสอบเก่ามาลองทำ ตั้งแต่ปี 2541 ทำมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2549 คราวนี้หาที่สงบๆ มานั่งทำ หลบความลัลล้าที่อาคารเรียนรวมแพทยศาสตร์ มาที่หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็นั่งทำเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เราพลาดที่สุดของการนั่งทำข้อสอบเก่า คือ ลืมจับเวลา ข้อสอบวัดแววความเป็นครูไม่ใช่ข้อสอบยากแต่อย่างใด ถ้าหลายๆ คนที่เข้ามาเรียนครูแล้ว ก็จะได้เรียนวิชาการวัดและประเมินผลทางการศึกษา ข้อสอบลักษณะเค้าเรียกว่า Speed Test คือ ข้อสอบง่าย มีจำนวนมาก แต่ให้เวลาน้อย ต้องบริหารเวลาและทำเร็ว ส่วนอีกแบบคือ Power Test คือ ข้อสอบค่อนข้างยาก จำนวนไม่มาก ให้เวลาค่อนข้างมาก จุดนี้จึงกลายเป็นจุดด้อยที่ส่งผลเสียในห้องสอบของเรา

    ว่าด้วยเรื่องคะแนนที่ทำข้อสอบเก่า ทำไมมันสวยหรูแบบนี้ได้อยู่ที่ 75-85 ตลอด บางปีทำได้เยอะกว่าคะแนนสูงสุดอีก ก็จะไม่ให้เยอะได้ไง เล่นทำแต่ละชุดใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง มันก็เลยทำให้เราชะล่าใจไง ข้อสอบวัดแววความเป็นครูจะประกอบด้วย 5 ส่วน คือ ทักษะการคำนวณ ทักษะการหาความสัมพันธ์ (อนุกรมหมุนรูป) ทักษะทางการให้เหตุผล ทักษะการเชื่อมโยง และทักษะความเป็นครู ส่วนละ 20 ข้อ ส่วนที่ชอบทำที่สุด คือ ทักษะการเชื่อมโยง เพราะเหมือนกับเราได้เล่นเกมอยู่แล้ว เค้าจะกำหนดโจทย์มาให้ สมมติว่า บ้านหลังหนึ่งมี 5 ห้อง มีคนนอนห้องละ 2 คน สมาชิกมี 10 คน คนนี้จะไม่นอนห้องนี้ คนนี้จะไม่นอนกับคนนี้ คนนี้นอนด้วยกัน สุดท้ายโจทย์จะถามว่าแต่ละคนนอนห้องไหนบ้าง นอนกับใครบ้าง สนุกสนานดีออก แต่ส่วนที่ไม่ชอบที่สุด คือ ทักษะการให้เหตุผล เพราะให้ไม่เคยจะถูกเลย ก็อย่างว่าแหละเหตุผลของคนเราเหมือนกันที่ไหนล่ะ บางทีแม่ก็อาจจะไม่ชอบสิ่งวันเกิดตัวเองก็ได้ ความแห่งความรักก็ไม่จำเป็นต้องแทนด้วยสีแดงก็ได้ ท้องโดยไม่ได้ตั้งใจก็มีหลายวิธีแก้ไข จริงมั้ยเด็กๆ

    และแล้วก็ถึงวันสอบ ซึ่งเป็นวันที่ดับแววความเป็นครูมาก เพราะนิสัยส่วนตัวเรานี่แหละ เราเป็นคนที่ทำอะไรแล้วไม่ชอบข้ามไปข้ามมา ชอบทำไปตาม Step แล้วข้อสอบวัดแววปีนี้มันช่างแกล้งอะไรเรานัก เอาส่วนทักษะการคำนวณไว้อันแรก ทักษะการหาความสัมพันธ์ไว้อันที่ 2 เราก็มั่นใจตัวเองซะ เรียนสายวิทย์-คณิตมา คำนวณจิ๊บๆ ก็นั่งคิดๆ ไป แม้ว่าจะมี 20 ข้อเท่านั้น เราใช้เวลาทำไป 1 ชั่วโมงเต็มๆ เหลืออีก 1 ชั่วโมงก็ยังโง่ต่อ มานั่งหมุนรูปใช้เวลาไป 40 นาที เอาล่ะสิเหลือเวลาอีก 20 นาที กับ 60 ข้อ เพิ่งจะฉลาดใน 20 นาทีสุดท้าย เพราะพบว่าตัวเองไม่น่าโง่ทำคำนวณกับหมุนรูปก่อน แต่มันก็สายไปแล้ว ทำได้ 75 ข้อก็หมดเวลา (มีเวลามั่วอีก 25 ข้อให้ทัน) 

    พอสอบเสร็จเรากลับไม่ได้รู้สึกว่ายกภูเขาออกจากอกเลย แต่เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เข็นผิดวิธีทำให้ครกมันมาวางทับออกเรา กลับเอามาคิดมาก ท้อ เซ็ง เครียด ต่างๆ นานา ประกาศผลวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เราจะรับได้แค่ไหน เพราะนี้เป็นวิชาที่ใช้คัดเลือกถึง 10% จากทั้งหมด คิดเต็ม 10,000 คะแนน ก็มีค่าถึง 1,000 ข้อ ตกข้อละ 10 คะแนน เราทำไม่ทันด้วย บางข้อก็มั่วเพราะไม่มีเวลาคิด เสียไปหลายร้อยเลย นี่แหละครับเด็กๆ ความเครียดของการสอบครั้งเดียว

    22 พฤศจิกายน 2549 วันนั้นนั่งกินยำหมูยออยู่ในโรงเรียนตอนเย็น ก็มี SMS ส่งมาจากเว็บ Eduzones ที่สมัครรับข่าวเพราะความวิตกจริต "วิชาเฉพาะประกาศผลแล้วเวลา 18.00 น." อ่าวเห้ย นี่มันยัง 22 อยู่นะ ประกาศก่อนเป็นอาทิตย์เลยเหรอ สกอ. ชีวิตไม่คิดอะไรแล้วตอนนั้น ขับรถกลับบ้านทันที เปิดคอม เข้าเว็บ สกอ. กรอกรหัสประจำตัวสอบ และรหัสบัตรประจำตัวประชาชน แล้วกด Enter พลึ่บบบบบ 52 คะแนน คอตกทันใด นี่แหละข้อสอบดับแววความเป็นครูของกรูชัดๆ เพราะความโง่ของตัวเองที่มั่นใจว่าจะทำเสร็จทัน ทั้งที่ตอนทำข้อสอบเก่าทำแต่ละชุดทีใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง และก็โง่ทำส่วนที่ใช้เวลามากก่อน นี่แหละครับบทเรียนราคาแพงของการไม่รู้จักบริหารจัดการในการสอบ แต่ก็ยังยิ้มได้บ้างที่คะแนนเฉลี่ยออกมาที่ 44 กว่าๆ ก็เกินมีนอยู่นะ

    ก็ยังไม่หายเจ็บ เพราะวิชานี้ไม่ใช่ให้เฉพาะคนที่จะเรียนครูสอบ ก็มีหลายๆ คนที่สอบเก็บคะแนนไว้ดูเล่นๆ บ้าง ลองสนามสอบบ้าง แต่ก็ไม่ได้จะเลือกเรียนครู เพื่อนที่ปัจจุบันเรียน IR ที่ญี่ปุ่นได้ 59 เพื่อนที่ปัจจุบันเรียนรัฐศาสตร์ได้ 56 เพื่อนที่ปัจจุบันเรียนนิเทศศาสตร์ได้ 65 ทุกคนไม่เสียเวลามานั่งทำข้อสอบเก่าย้อนหลังแบบเราเลย แล้วเราล่ะจะเรียนครุศาสตร์ ทำข้อสอบเก่าย้อนหลังเป็น 10 ปี คนอื่นที่เค้าจะเรียนอย่างอื่นได้คะแนนเยอะกว่าเราอีก แค่การสอบวิชาแรกก็บั่นทอนจิตใจซะขนาดนี้เลย แต่ "ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ" เรายังยังต้องเดินทางไป สู้ต่อไปนะทาเกชิ

    กลับมามองปัจจุบัน แม้ PAT5 ข้อสอบจะเน่าหนอนไม่มาตรฐานเพียงใดนะครับ แต่มีหลายครั้งเราก็สอบไปนะ คะแนนรุ่นน้องเฉลี่ยแล้วโอเคกว่ารุ่นพี่เยอะเลย ถ้าเทียบแล้วคะแนนพี่ได้แค่ 156/300 เอง น้อยนิดมากเด็กๆ




    ตอนที่ 4 โครงการเรียนดี

    ชีวิตเด็ก ม.6 จะผูกพันกับห้องแนะแนวเป็นพิเศษ ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นมั้ยนะ เพื่อนๆ รวมทั้งเรามักจะเจียดเวลาชีวิตในโรงเรียนเดินไปห้องแนะแนวบ่อยๆ ดูว่าเค้าเปิดรับตรงอะไรที่ไหนกันบ้าง แต่ระบบแอดมิชชั่นส์สมัยเรานั้นรับตรงยังไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่แอดมิชชั่นส์ครั้งเดียวจบเลย แต่รับตรงที่เด็กภาคเหนือให้ความสนใจมากที่สุด คือ โครงการเรียนดี มช กับโควตา มช สำหรับโครงการเรียนดีจะเป็นการยื่นผลงานวิชาการดีเด่นประกอบกับการสอบสัมภาษณ์ของเรา ซึ่งจะเปิดรับนักเรียนทั่วประเทศ ส่วนโควตา มช จะเป็นการสอบเข้า มช ของนักเรียน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งคล้ายกับแอดมิชชั่นส์ภาคเหนือเลยทีเดียว

    เมื่อมีโครงการเรียนดี เรารู้ก่อนแล้วว่าคณะศึกษาศาสตร์ มช ไม่เปิดรับในโครงการนี้ เราเลยไม่สนใจเท่าไหร่ แต่ไม่รู้คนอื่นจะเป็นเหมือนกันรึป่าวแบบว่าเห็นคนอื่นสมัครแล้วอยากลองบ้าง ลองสนามดูนะอะไรอย่างงี้ เริ่มซื้อระเบียบการมาดูละ เห็นแทบจะทุกคณะต้องทำแฟ้มสะสมงานไปพิจารณา เรานี่ Say No เลย ขี้เกียจทำแล้วก็ไม่ได้อยากเข้าคณะนั้นด้วย แต่สะดุดอยู่อันหนึ่ง ไม่ต้องทำแฟ้มสะสมงาน สอบข้อเขียนแล้วสอบสัมภาษณ์อย่างเดียว ซึ่งเป็นด้านที่เราสนใจด้วย คือ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ เอาวะลองดู สมัครไป

    โครงการนี้ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆ เลย คั้นความสามารถล้วนๆ เพราะสอบข้อเขียนนั้นก็เป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่รู้หรอกว่าเนื้อหาประมาณไหน ก็ไม่เตรียมตัวอ่านไป เพราะกะไปลองความสามารถตัวเองดูเฉยๆ 

    4 ธันวาคม 2549 วันคัดเลือกก็มาถึง มีคนผ่านรอบสุดท้ายมาประมาณ 24 คน ซึ่งมาจากทั่วทุกสารทิศ เด็กภาคเหนือมีเยอะหน่อย การสอบข้อเขียนก็ทำให้เราอึ้งนิดๆ คือ มันข้อเขียนจริงๆ แจกสมุดเปล่า 1 เล่มแล้วให้เราตอบโจทย์คำถามประวัติศาสตร์ปลายเปิดมากๆ จำโจทย์ไม่ได้แล้ว เขียนไป 2 หน้าในเวลาครึ่งชั่วโมง แล้วเราก็ถูกพาขึ้นไปรอหน้าห้องสอบสัมภาษณ์ ระหว่างที่รอการสอบเราก็นั่งคุยทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ แต่ละคนเหมือนมาลองสอบดูทั้งนั้น เนื่องจากมันไม่ต้องใช้แฟ้มสะสมงาน แต่หลายคนก็เตรียมมา บางคนทำอย่างจริงจังมาก เราก็เริ่มตกใจในความอลังการ คนแล้วคนเล่าที่เข้าไป พอออกมามักจะบอกเหมือนกันว่า เจอคำถามว่า "ติดคณะนี้แล้วจะเรียนมั้ย" เราชักเริ่มกลัวกับการถูกถามมาก

    และแล้วก็ถูกเรียกชื่อ เข้าไปในห้องสัมภาษณ์ แหมนี่มันหน้าหนาวนะ เปิดแอร์หนาวยิ่งกว่าข้างนอกอีก คำแรกที่ถูกทักคือ "เด็กยุพราชเหรอนี่ ครู...เป็นไงบ้าง" สงสัยซี้กันเพราะครูท่านนั้นสอนประวัติศาสตร์ เจอคำถามแรกไปก็ยังรับได้ คือ ให้เล่าประวัติศาสตร์ล้านนาเท่าที่ทราบ เราก็เล่าๆๆ ตามที่เคยอ่านมา อาจารย์บอกว่า เราเป็นคนจำเก่ง รู้ พ.ศ. หมด แล้วก็เป็นไม่กี่คนในเด็กภาคเหนือที่รู้ประวัติศาสตร์ถิ่นฐานตัวเอง แล้วก็ถามว่าชอบเรียนประวัติศาสตร์มั้ย ทำไมถึงชอบ อะไรประมาณนี้ แล้วก็ได้ออกมาเลย งงเลยครับ พี่ที่เฝ้าหน้าห้องก็งงว่าเร็วจัง และที่แปลกคือ อาจารย์ไม่ถามคำถามนั้นด้วย "ติดคณะนี้แล้วจะเรียนมั้ย" ทั้งๆ ที่คนอื่นโดนถามทุกคน ซึ่งเด็ก สาธิต มช ออกจากห้องมาเราก็ถามว่าตอบอะไรไปบ้าง เค้าบอกว่า อาจารย์เหมือนรู้ว่าเด็กสาธิต มช แทบทุกคนไม่ชอบเรียนแบบนี้ คิดว่ามาสอบเล่นๆ เค้าก็ตอบได้ตรงๆ มาก คือ "ถ้าหนูติดหนูคงสละสิทธิ์ค่ะ เพราะมาลองความสามารถเฉยๆ"

    วันประกาศผลมาถึง เราติด แล้วที่แปลกใจไปอีก คือ เด็กสาธิต มช คนนั้นก็ได้ด้วย แต่บางคนที่อยากเรียนกลับไม่ได้ เริ่มรู้สึกผิดกับความคิดตัวเองแล้ว เรากำลังมากันที่และตัดโอกาสคนอื่นอยู่นะ การสอบครั้งนี้จึงทำให้คิดได้ว่า เราได้ทำบาป 1 ครั้งกับ 1 คนที่น่าจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ แต่เรากลับไปแย่งเค้ามาแล้วปล่อยมันทิ้ง สรุปคือ 12 คนที่ผ่านการคัดเลือก มีคนยืนยันสิทธิ์เพียง 7 คน เพราะเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจนว่า หากยืนยันสิทธิ์แล้วก็ไม่มีโอกาสยืนยันสิทธิ์ในโควตาภาคเหนืออีก เราจึงตัดสินใจสละสิทธิ์ไปอย่างที่ไม่เสียดาย เพราะอยากเรียนศึกษาศาสตร์ มช มากกว่า ที่หน้าที่ว่างนี้ก็ถูกนำไปเพิ่มในแอดมิชชั่นส์แทน




    ตอนที่ 5 โควตา มช

    เมื่อความหนาวเข้ามาเยือน เด็ก ม.6 เมืองเหนือต่างรับรู้เหมือนกันว่า การสอบโควตา มช ใกล้เข้ามาทุกที เกือบทุกสถาบันจะเริ่มปิดเรียนเพื่อให้นักเรียนมีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนสอบ อย่างที่เคยบอกตั้งแต่แรกว่า โควตา มช เหมือนเป็นการสอบ O-Net ของเด็กภาคเหนือ แม้ว่าจะไม่ได้อยากเรียน มช. แต่ทุกคนก็จะสมัครสอบหมด การสละสิทธิ์ในสนามสอบนี้จึงเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะ มช. ก็จะประกาศเพิ่มที่นั่งในแอดมิชชั่นส์สำหรับสาขาวิชาที่มีคนสละสิทธิ์ในโควตา มช. ไป ส่วนใหญ่แล้วใครได้คณะที่คะแนนสูงๆ ก็มักจะเอาไว้ก่อนทุกรายไป มีที่เรียนก็สบายใจอ่ะเนอะ เข้าเส้นชัยเร็วก็หมดความกังวล อย่างน้อยเค้าก็ได้เรียนในคณะที่เค้าอยากเรียน

    แต่สำหรับเราแล้ว ศึกษาศาสตร์ มช เราเคยฝันว่าอยากเรียนตั้งแต่ ม.ต้นแล้ว ครูสังคม ม.5 เคยถามเราตอนที่ช่วยครูยกของมาเก็บที่รถว่า "หนูคิดแล้วรึยังว่าจบมัธยมแล้วจะไปเรียนอ่ะ" เราตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า "ผมอยากเรียนครูครับ" ครูทำหน้าแปลกใจ แล้วพูดว่า "ถ้าอยากเรียนครู หนูเลือกครุศาสตร์ จุฬาฯ เลยนะ" เรากลับแปลกใจยิ่งกว่าก็ถามกลับไป "ผมอยากอยู่เชียงใหม่ครับครู ผมรักที่นี่ว่าจะเรียนศึกษาศาสตร์ มช นี่แหละครับ" ครูตอบกลับมาว่า "หนูเชื่อครูสิ หนูเป็นคนมีศักยภาพนะ ที่นั่นจะส่งเสริมศักยภาพหนูมากทีเดียว ครูเชื่ออย่างนั้น" แล้วเราก็สวัสดีลาครูคนนั้นไป ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าท่านจบ กศ.บ. สังคมศึกษา มศว เราก็แปลกใจว่าทำไมครูอยากให้เราเรียนที่จุฬาฯ ล่ะ งงไหม 55 แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ ขึ้นมา ทั้งที่ไม่รู้หรอกว่ามันดียังไง ก็แค่ ม.3 เองนะ

    โค้งสุดท้ายของโควตา มช ทุกคนต่างคร่ำเคร่งกับตำรามากขึ้น ซึ่งเราก็รวมตัวกันที่เดิม คือ อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มช เราต่างจากเพื่อนคนอื่นตรงที่เรากลับไม่อ่านหนังสือ ตั้งแต่ขึ้น ม.6 มานี่ก็เดือนพฤศจิกายนแล้วนะ กอล์ฟก็ยังไม่เริ่มอ่านหนังสือ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเริ่มต้นอะไรยากมาก แถมยังขี้เกียจอีก ที่สำคัญคือการเรียนพิเศษเยอะกลับทำให้เรามั่นใจแบบผิดๆ ว่าก็มีความรู้เก็บไว้ส่วนหนึ่งแล้ว การมานั่งอ่านหนังสือกับเพื่อนของเรา เรากลับมานั่งทำโจทย์ Entrance ย้อนหลังวิชาภาษาไทย-สังคมศึกษาแทน ทั้งๆ ที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาเลย อาศัยเรียนกับคุณครูปิงสุดสวยล้วนๆ

    1 สัปดาห์ก่อนสอบโควตา มช กอล์ฟก็ยังชิวๆ นั่นอาจเป็นเพราะเรากลับรู้สึกว่าโควตา มช ไม่ใช่เป้าหมายของเรา รู้ไหมว่าเราเรียนสายวิทย์-คณิต เป็นนักเรียนโครงการ พสวท.สมทบ ของ สสวท. แต่กลับเลือกสอบโควตา มช สายศิลป์ ทั้งๆ ที่ในห้องเลือกสอบสายวิทย์กันทั้งนั้น เลือกสอบสายศิลป์ในห้องนี่ไม่เกิน 5 คน ใครที่อยู่ภาคอื่นบางคนอาจไม่รู้ว่า เด็กภาคเหนือเรียนวิทย์หัวใจศิลป์มีน้อย ไม่เหมือนที่อื่นนะตรึมเลย โควตา มช เราก็เลยเลือก 2 คณะที่เราอยากเรียนใน มช มากที่สุด คือ ศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา กับสังคมศาสตร์ สาขาวิชาไทยศึกษา เชื่อได้เลยว่าคนเลือกศึกษาศาสตร์ไว้เป็นอันดับ 1 น้อยมาก โควตา มช มีแต่คนเล่นของสูงทั้งนั้น เพราะมันเป็นสนามสอบแรกอยู่ไง สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สายภาษา สายกฎหมาย แข่งขันกันสูงมากทีเดียว แต่เราเลือกที่จะทำตามที่เราถนัดดีกว่า นั่นมันทำให้เรารู้สึกว่าคนไม่ค่อยเลือกหรอก สอบๆ ไปก็ไม่น่าพลาดนะ โควตา มช ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งบวกกับตอนที่ 1 เรื่องการเรียนพิเศษ ถึงทำให้เราชะล่าใจ ไม่ยอมอ่านหนังสือซักที

    1 วันก่อนสอบ กอล์ฟเป็นแบบนี้ทุกที คือ เริ่มกลัวว่าพรุ่งนี้จะทำข้อสอบได้มั้ย ก็คิดในใจว่า เมิงควรรู้สึกแบบนี้มาก่อนหน้านี้แล้วนะ จะได้เริ่มอ่านหนังสือซักที เราเริ่มเปิดอ่านคณิตศาสตร์โอเน็ต วิทยาศาสตร์โอเน็ต ภาษาไทย ผ่านๆ สังคมกะหากินกับความรู้ที่ซ่อนในหัวตัวเอง ส่วนภาษาอังกฤษปล่อยเซอร์ไปเพราะกุโง่ 

    แล้ว 23-24 ธันวาคม 2549 ก็มาถึง วันสอบโควตา มช จะมีศูนย์สอบอยู่ 5 โรงเรียน แบ่งเป็นสอบสายวิทย์ 3 โรงเรียน สอบสายศิลป์ 2 โรงเรียน เราสอบโรงเรียนศรีธนาพณิชยการ เป็นโรงเรียนอาชีวะเอกชนชื่อดังของจังหวัด สายศิลป์จะสอบ 5 วิชา แต่สายวิทย์จะสอบ 7 วิชาแยกวิทย์ ข้อสอบไทย สังคม อังกฤษเราจะเหมือนกันทั้งวิทย์และศิลป์ รู้กันไหมว่าข้อสอบโควตา มช เนี่ย จะโวยวายเหมือนสอบโอเน็ตไม่ได้นะ เพราะอาจารย์ที่ออกนี่ ดร. ใน มช ทั้งนั้น เอาความรู้...พ่อ...แม่ที่ไหนมาออกไม่รู้ หลายข้อที่ไม่เคยเจอในเนื้อหา ม.ปลาย ใดๆ จะไปทักท้วงว่าออกเกินหลักสูตรไม่ได้เลยนะ แล้วเท่าที่ทราบมาภายใน ไม่ว่าจะโควตาที่ไหนเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ข้อสอบหาเพชรยอดมงกุฏกันรึไง ทั้ง มช มข มอ ออกข้อสอบควายงงจริงๆ

    เริ่มที่ภาษาไทย ข้อสอบนี้เอาไปถามครูโรงเรียนมัธยมหลายแห่งอาจต้องอึ้งกันเลยทีเดียว สทศ.ยังยอมครับ ต่อมาที่คณิตศาสตร์ อันนี้ปลื้มมากข้อสอบคณิตสายศิลป์ ก็ตัวเองเรียนสายวิทย์มานี่มันก็ทำได้เป็นธรรมดา ซึ่งเนื้อหาเหมือนคณิตโอเน็ตเลย แต่ออกง่ายกว่านะ ทำได้ลัลล้ามากเพราะกุไม่อ่านมา 55 แล้วก็ภาษาอังกฤษ แม้ว่าเราจะโง่ดักดานกับภาษาแต่ เห้ย พอทำได้อ่ะ ไม่ยากเลย เทียบกับโอเน็ตง่ายกว่าเห็นๆ บางข้อนึกว่าข้อสอบประถม วันที่สองสอบวิทยาศาสตร์ อันนี้ก็พอทำได้ทั้งที่ไม่อ่านเช่นกัน ก็เรียนสายวิทย์มานี่ ข้อสอบออกง่ายกว่าโอเน็ตเช่นเคย จบที่สังคมศึกษา อันนี้ปราบเซียนสุดๆ ขุดความรู้ก้นบึ้งมาออก ถามแม่กระทั่งชื่อสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของ USA คือวรนุสมาก แต่บางข้อก็ง่ายอย่างกะมีอาจารย์ปิงมากระซิบตอนสอบ แต่ส่วนใหญ่ยากโคตร

    เมื่อสอบเสร็จก็กลับมาที่โรงเรียนมาคุยแลกเปลี่ยนกัน เราสอบสายศิลป์ก็คุยกับเพื่อนไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ โดยเฉพาะคณิตกับวิทย์ ของสายวิทย์โหดมากจริงๆ ยากกว่าเอเน็ตเป็นไหนๆ เทียบเท่าข้อสอบโอลิมปิกวิชาการเลยทีเดียว ก็แอบดีใจที่ไม่เลือกสอบสายวิทย์ เพราะข้อสอบสายศิลป์ทำแล้วมีความสุขมากกว่าแม้ว่าจะไม่ได้แตกหนังสือเลย และแล้วการสอบสนามแรกก็สิ้นสุดลงไปพร้อมสิ้นสุด พ.ศ.2549




    ตอนที่ 6 อยากเป็นลูกช้าง

    10 มกราคม 2550 ณ ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 ชีวิตข้าพเจ้ากำลังจะเป็นไท หากผ่านการฝึกภาคสนาม รด. ครั้งนี้ไปได้ หลังจากที่มาอยู่จุฬาฯ ช่างแปลกใจนักที่เวลาเพื่อนๆ ตั้งกระทู้ขึ้นมาเรื่องค่าย รด. มันช่างโหดหฤหรรษ์อะไรเช่นนั้น โดยเฉพาะเขาชนไก่ที่เด็กภาคกลางเค้ามักจะได้ลิ้มลองกันถ้วนหน้า แต่เด็กดอยอย่างเราก็ได้เข้าที่ศูนย์ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ที่แสนจะสุขสบายยิ่งนัก นศท.ของศูนย์ มทบ.33 ก็คงจะรู้ดี 4 วันของการฝึกนั้น เช้าออกลาดตระเวน ถึงที่หมายก็นั่งพักคุยกัน เที่ยงกลับไปกินข้าว บ่ายเข้าป่าไปถึงที่หมายก็นั่งนอนพัก เย็นๆ ทำอาหารแล้วก็ฝึกซุ่มโจมตีครึ่งชั่วโมงแล้วก็นอนเล่นในป่า ดึกๆ ก็กลับมานอน สบายสุดๆ แล้วศูนย์ฝึกมันดันมาอยู่ใกล้สถานที่จัดงานประจำปีของเชียงใหม่ ทุกคืนเราจะนอนฟังคอนเสิร์ตที่ดังมาแต่ไกล ที่ฮามากคือการนอนฟังโปงลางสะออนโชว์ในงาน เฮฮามาก


    เช้าวันนั้นเรากำลังเดินเข้าป่า 2 กิโลเมตรไปฝึกซุ่มโจมตี มี SMS ส่งมา (ที่ค่ายไม่ยึดมือถือด้วยนะ) ...เมิงติดศึกษา สังคม นะกอล์ฟ... ระหว่างเดินไปทุกคนก็แตกตื่นกันมากเพราะผลโควตา มช ออก ครูฝึกก็แสนจะใจดีปล่อยส่งเสียงโวยวายขณะเดินลาดตระเวน แถมยังชวนคุยเรื่องผลสอบอีกต่างหาก บางคนถึงกับโทรศัพท์คุยเลย ก็คนมันลุ้นอ่ะนะ สำหรับเราก็ดีใจนะที่ติดคณะอันดับ 1 ที่เลือกไป ถามว่าก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองจะติดมั้ย เราก็ค่อนข้างมั่นใจว่าติด แต่ตอนนี้เรากลับไม่มั่นใจแล้วว่าจะสละสิทธิ์จริงๆ อย่างที่เคยคิดไว้ 

    การสอบโควตา มช ก็เหมือนกับการสอบแอดมิชชั่นส์เล็กๆ ของเด็ก 17 จังหวัดภาคเหนือ เราจะเลือกได้ 2 อันดับคณะใน มช แต่จะสอบและคัดเลือกแยกกันระหว่างคณะสายวิทย์และคณะสายศิลป์ หากใครผ่านการสอบข้อเขียนมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ก็ถือว่าติดแล้ว เพราะหากไปสัมภาษณ์ก็จะไม่คัดออกแล้ว

    27 มกราคม 2550 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราไปสัมภาษณ์ตั้งแต่เช้าเลย เวลา 08.00 น. พี่ๆ คณะก็เรียกน้องๆ ที่สอบผ่านมานั่งเข้าแถวเป็นสาขาวิชา สำหรับสาขาวิชาสังคมศึกษาผ่านการคัดเลือก 12 คน แต่มาสัมภาษณ์ 9 คน รุ่นพี่คณะนี้ถือว่าแรงตัวแม่ครับ เรารู้สึกว่าพี่เค้าดูแลเราอบอุ่นจัง มีการทำกิจกรรมสั้นๆ สนุกๆ ก่อนไปสอบสัมภาษณ์ เข้ามานั่งชวนคุย พูดแนะนำก่อนสอบสัมภาษณ์ ยิ่งไปกว่านั้นเราได้ทำความรู้จักว่าที่เพื่อนใหม่อีก 8 คน แรกๆ ก็ยังไม่คุ้นเคยกันก็คุยกันคำ 2 คำระหว่างรอเข้าไปสอบสัมภาษณ์ แต่ก็มีเพื่อนคนข้างๆ มาจากสันป่าตองวิทยาคมเค้าก็ขอเบอร์เราไป แล้วบอกว่า "เผื่อไว้เลือกหออยู่ห้องเดียวกันนะ เรียนด้วยกันจะได้ช่วยเหลือกัน" เราก็คิดว่าดีเหมือนกัน เพราะรุ่นพี่ก็แนะนำให้อยู่ด้วยกัน

    แล้วก็ถึงชื่อเรา เราเดินเข้าไปในห้องสอบสัมภาษณ์ เป็นห้องพักอาจารย์ประจำสาขาวิชานั้น อาจารย์สอบสัมภาษณ์มีเพียงท่านเดียว เข้ามาปุ๊บท่านก็ทักเลย 
    อาจารย์ : "สวัสดีค่ะคนเก่ง" 
    ตัวเรา    : เราก็ยิ้มคิดในใจว่าอาจารย์น่ารักจัง
    อาจารย์ : "อยากรู้คะแนนสอบมั้ยค่ะ"
    ตัวเรา    : "อยากรู้ครับ" แอบตื่นเต้นอ่ะ เข้ามายังไม่ทำอะไรเลยก็จะบอกคะแนนแล้ว การสอบโควตา มช จะมีการบอกคะแนนสอบด้วย ซึ่งอาจารย์กรรมการสอบสัมภาษณ์จะเป็นผู้แจ้งเอง ใครไม่ติดก็ไปถามได้ที่สำนักทะเบียน มช
    อาจารย์ : "จดนะคะ คะแนนเต็ม 500 คะแนน มี 5 วิชา วิชาละ 100 คะแนน"
    ตัวเรา    : "ครับ"
    อาจารย์ : "ภาษาไทย 47"
    ตัวเรา    : เฮ้ยโคตรน้อยเลยอ่ะ ก็บอกแล้วว่าข้อสอบภาษาไทยที่นี่เค้าจะหาเพชรยอดมงกุฏ
    อาจารย์ : "สังคมศึกษา 61 สูงมากเลยนะคะ"
    ตัวเรา    : "ครับ" แอบผิดหวัง ตอนแรกนึกว่าจะ 70 อ่ะ ว๊า
    อาจารย์ : "ภาษาอังกฤษ 40"
    ตัวเรา    : โอ้ว โง่จริงๆ วิชานี้
    อาจารย์ : "คณิตศาสตร์ 66"
    ตัวเรา    : เอ้ย ไม่ได้อ่านเลย ได้เยอะมากกกกก
    อาจารย์ : "วิทยาศาสตร์ 60"
    ตัวเรา    : นี่ก็เกินคาด ไม่ได้อ่านซักตัวเลย
    อาจารย์ : "รวมแล้วได้ 274 นะคะ ได้สูงสุดของสาขาวิชานี้ คะแนนหนูสูงมากๆ ค่ะ ปีที่ผ่านๆ มา คณะเราไม่ค่อยมีใครเกิน 250 เลย ที่ 2 ของสาขานี้ได้ 248 นะคะ ส่วนคนสุดท้าย คนที่ 12 ได้ 232 ค่ะ คะแนนหนูโดดมาคนเดียวเลย หนูอยากเป็นครูจริงๆ เหรอคะ เลือกมาอันดับ 1 เลย หนูรู้มั้ย 11 คนที่เหลือเค้าติดอันดับ 2 หมดเลยนะ"
    ตัวเรา    : "ผมชอบเรียนวิชาสังคมศึกษามากครับ ตอนเด็กผมชอบหาหนังสือเกี่ยวกับสังคมมาอ่านเล่นๆ แล้วผมก็ชอบบรรยากาศในโรงเรียน ชอบทำงานร่วมกับเด็กครับ"
    อาจารย์ : "ครูก็เชื่อว่าอย่างนั้นนะคะ เห็นจะคะแนนวิชาสังคมศึกษาของหนู แล้วก็เลือกมาอันดับ 1 ด้วย แต่ถ้าหนูเข้าปี 1 แล้วต้องขยันเรียนภาษาอังกฤษนะคะ"
    ตัวเรา    : "ครับผม"
    อาจารย์ : "ครูถามจริงๆ ว่าหนูอยากเรียนที่นี่จริงๆ หรือเปล่าค่ะ ครูเห็นคะแนนหนูแล้วก็ดีใจมากนะที่จะได้ลูกศิษย์ดีๆ เพิ่มอีก 1 คน ไม่สนใจที่อื่นเหรอ ครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ดีนะ"
    ตัวเรา    : อึ้งกับประโยคสุดท้าย แล้วก็ตอบตามที่คิดว่า "ความจริงผมอยากเรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ ครับ เพราะคุณครูที่โรงเรียนก็สนับสนุน แต่พอเห็นเพื่อนๆ จะเข้า มช กันเยอะ ผมก็เริ่มลังเลเพราะอยากอยู่บ้านครับ ผมชอบ มช ที่สุดแล้ว มช เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ บรรยากาศดี แล้วก็อบอุ่นมากๆ ครับ ตอนเช้ารุ่นพี่ก็ดูแลเป็นอย่างดี ผมคิดว่าผมจะเรียนที่นี่ครับ ใจหนึ่งผมก็ไม่อยากทิ้งเพื่อน ทิ้งพ่อแม่ไป กทม. เหมือนกันครับ พ่อผมก็อยากให้เรียนที่นี่ด้วย"
    อาจารย์ : "หวังว่าเราจะเจอกันตอนเปิดเทอมนะคะ ครูเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของพวกหนูรุ่นนี้ มีอะไรจะถามครูมั้ยคะ"
    ตัวเรา    : "อาจารย์พอจะทราบไหมครับว่า บัณฑิตที่จบจากสาขานี้ไปมีโอกาสไปทำงานด้านใดบ้างครับ"
    อาจารย์ : "รุ่นพี่ที่จบไปส่วนมากไปทำงานเอกชน บางคนเป็นเจ้าหน้าที่แบงค์ หรือไม่ก็เป็นครูโรงเรียนเอกชน"
    ตัวเรา    : "มีคนสอบบรรจุได้เป็นข้าราชการครูไหมครับ"
    อาจารย์ : "ตั้งแต่เปิดสาขานี้ยังไม่มีใครสอบบรรจุได้เลย ส่วนใหญ่คนที่สอบบรรจุได้ในคณะนี้ก็จะเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมทั้งนั้นเลยค่ะ แต่สาขานี้ไม่ค่อยมีใครได้เกียรตินิยมเลยนะคะ"
    ตัวเรา    : "ขอบคุณครับอาจารย์ สวัสดีครับ"
    อาจารย์ : "แล้วเจอกันตอนเปิดเทอมนะคะ"

    ออกห้องมาด้วยเนื้อตัวที่ชา มาถึงจุดนี้ใจเราลืมครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปแล้ว เรารักศึกษาศาสตร์ มช ทำไมที่นี่ดูอบอุ่นจัง ก่อนจะออกจากคณะพี่ๆ สาขาวิชาสังคมศึกษาก็พาไปซุ้มเมเจอร์ แล้วก็มีพี่ๆ ทุกชั้นปีรวมทั้งพี่บัณฑิตมาต้อนรับแล้วก็พูดคุย ยิ่งทำให้เรารู้สึกดีกับที่นี่มาก แต่คำถามที่เราถามกับอาจารย์ก็ทำให้เราคิดหนักมากๆ เพราะความฝันอันสูงสุดเราก็อยากสอบบรรจุได้เป็นข้าราชการครูเหมือนกันนะ แล้วเราจะทำยังไงดีกับชีวิต




    ตอนที่ 7 หมอดูหรือหมอเดา

    ทุกคนเคยถูกถามเหมือนเราไหม
    "อยากเรียนจุฬาฯ เหรอ"
    "ทำไมถึงอยากเป็นครู"
    "ยึดติดสถาบันหรือเปล่า เรียนที่นี่ก็ดีเหมือนกันไม่ใช่เหรอ"

    น่าจะเคยถูกคนรอบข้างถามบ้างล่ะ คำถามแบบนี้คิดว่าคนไม่น้อยที่รู้สึกไม่ดีกับคำถามเหล่านี้ ไม่ใช่ว่ามันเป็นคำถามที่ไม่ดีหรือไม่ควรถามหรอก แต่การที่จะถามเรื่องความคิดของคนเรานั้นมันช่างยากต่อการหยั่งถึง แม้แต่เราเป็นเจ้าของความรู้สึกเอง เราก็อาจจะตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น

    หากจะถามเราว่าเราอยากเรียนที่ไหนมากที่สุด ตอบได้อย่างไม่ลังเลนักว่า "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" มันไม่แปลกหรอกที่เด็กเชียงใหม่อย่างเราอยากเรียนสถาบันนี้ หากใครที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสบรรยากาศ มช บ่อยๆ ก็จะรู้ว่าสถาบันนี้น่าอยู่และอบอุ่นมาก ชีวิต ม.ปลายของเราได้แวะเวียนไปที่นั่นบ่อยมาก ทั้งหาข้อมูลที่หอสมุดกลาง อ่านหนังสือใต้อาคารเรียน หาอะไรกินที่ฝายหิน (สลัดอร่อยมาก) และหลังมอ มช เป็น สถาบันที่เราอยากอยู่มากที่สุด อีกทั้งเราเป็นคนติดเพื่อน เด็กเชียงใหม่กว่าร้อยละ 70 เลือกที่จะเรียนต่อในสถาบันใกล้บ้าน ดังนั้นเมื่อเราไปอยู่ในสถาบันในกรุงเทพฯ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพบเห็นคนเชียงใหม่น้อยจัง คนเชียงราย คนลำปาง คนแพร่ คนน่าน ยังเยอะกว่าอีก ไม่แปลกหรอกเพราะทุกคนมักจะเลือกอยู่บ้านแทบทั้งนั้น มช ก็เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงของประเทศ แต่จังหวัดใกล้เคียงจะเรียน มช หรือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ก็จากบ้าน จากเพื่อนอยู่ดี ก็ไม่แปลกจริงๆ ที่จะเห็นเด็กจังหวัดอื่นเลือกไปเรียนในเมืองหลวงมากกว่าเด็กเชียงใหม่ ดังนั้นถ้าถามว่าฉันอยากเรียนจุฬาฯ เหรอ ตอบว่า "ใช่" อยากเรียนอยู่นะ แต่ถ้าถามว่าอยากเรียนที่นี่มากที่สุดเหรอ ตอบว่า "ไม่" และฉันก็ไม่ใช่คนที่ยีดติดสถาบันด้วย เพราะตอนนี้ฉันเริ่มชอบ ศึกษาศาสตร์ มช แล้วล่ะสิ

    หลังจากที่สอบสัมภาษณ์โควตา มช เสร็จ ในหัวเราก็เริ่มปั่นป่วน เราเปลี่ยนใจได้ทุกๆ ชั่วโมง เพื่อนสนิทที่เรามักจะพร่ำบ่นก็เริ่มเบื่อที่เรามักจะเปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา อย่างที่บอก มช อบอุ่นมาก เพื่อนเราก็อยู่กันเยอะแยะ รับรองว่าเราไม่เหงาแน่นอน ใกล้บ้านด้วย แล้วบรรยากาศก็น่าอยู่ เป็นสถาบันที่เราคุ้นเคย แต่อีกใจก็นึกถึงคำถามที่เราถามอาจารย์สัมภาษณ์ไป ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของเรา คือ การได้เป็นข้าราชการครู มีตำแหน่งการงานที่มั่นคง ทำอาชีพที่เรารักและภูมิใจไปตลอด แต่คำตอบของอาจารย์กลับทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจเลย ดังนั้นถ้าเราวันนี้เราตอบว่า "เรียนที่นี่แหละ มช" แต่ถ้าถามพรุ่งนี้เราอาจจะตอบว่า "สละสิทธิ์ดีมั้ย"

    วันหนึ่งของต้นปี 2550 ที่แสนหนาวเย็น ฉันกับเพื่อนๆ ก็ชักชวนกันไปเดินถนนคนเดิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กโรงเรียนนี้ ซึ่งตั้งใกล้ถนนคนเดินมากที่สุด เราในช่วงชีวิตเด็ก ม.6 ก็มักจะหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หลายคนเริ่มชักชวนกันไป "ดูหมอ" เพื่อให้ได้ล่วงรู้อนาคตของตน หลายคนได้รับฟังในสิ่งที่ทำให้ดีใจ มีกำลังใจ แต่อีกหลายคนก็ได้รับฟังในสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจลงไปอีก ซึ่งเราก็ไม่เคยหรอกนะไปดูหมอเนี่ย แต่บังเอิญไง มากับคนที่เค้าชื่นชอบทางนี้ก็เลยชวนๆ กันไป อ่ะไหนเราก็อยู่ในระยะตัดสินใจ ลองไปให้เค้าทำนายทายทักดู แล้วเราก็เดินฝ่าผู้คนเข้าไปที่วัดพันอ้น 


    สงสัยเพื่อนเราคงเคยมาดูกับคุณแม่หมอท่านนี้แล้ว แนะนำนั่นนี่ใหญ่คงกลัวเราไม่ดู พร่ำบอกว่ามีแต่คนบอกว่าแม่นนะ แม่หมอคนนี้อายุคงใกล้ 60 แล้ว ผมยาว ใส่แว่น พาดผ้าแดง คงถือเคล็ด เข้าไปปุ๊บเราก็ให้เพื่อนดูก่อน ดูสีหน้าของเพื่อนเราแล้วก็คิดว่าน่าจะตรงกับเค้ามากเลยทีเดียวนะ แล้วก็ถือตาเรา เข้าไปนั่งก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง ให้เรายื่น 2 มือไปให้แม่หมอสัมผัส รู้สึกเหมือนกำลังโดนดูดพลังยังไงไม่รู้ หรือนี่จะเป็นคุณยายวรนาถ อย่ามาสืบทอดทายาทอสูรนะ 55 แล้วเค้าก็เริ่มบรรยายลักษณะนิสัยของเราก่อน

    แม่หมอ :"น้องเป็นคนเรียนเก่งทีเดียว ใฝ่รู้ รักเรียน อนาคตจะก้าวไกล เป็นคนพูดมีเหตุผล พูดชักจูงให้คนเชื่อได้ง่าย พูดตรงไม่ค่อยอ้อมค้อม หยิบไพ่ขึ้นมา 3 ใบ"
    ตัวเรา    : หยิบแล้วก็ส่งไป 
    แม่หมอ : "วันนี้จะถามเรื่องอะไร"
    ตัวเรา    : "ตอนนี้จะจบ ม.6 แล้วครับ อยากจะรู้ว่าเหมาะที่จะเรียนต่ออะไรดี เรียนอะไรจะรุ่ง"  
    แม่หมอ : เปิดไพ่แล้วก็พูดว่า "เรียนกฎหมาย นิติศาสตร์รุ่งแน่นอน น้องเป็นคนชอบเรียนทางด้านนี้ เป็นคนพูดเก่ง หัวไว พูดว่าความชนะทุกคนได้ไม่ยากแน่นอน"
    ตัวเรา    : "แต่ผมอยากเป็นครูนะครับ"
    แม่หมอ : "ไม่ๆๆ เชื่อแม่ ยังไงเราก็เป็นครูไม่ได้ อาชีพนี้ไม่เหมาะกับหนู ยังไงน้องก็ไม่ได้เป็นครูหรอก ถึงได้เป็นก็เป็นได้ไม่นาน น้องก็เบื่อ อาชีพครูสำหรับน้องไม่มีอะไรน่าค้นหามากนัก"
    ตัวเรา    : "ถ้าผมเลือกครุศาสตร์ จุฬาฯ ผมจะติดมั้ยครับ"
    แม่หมอ : "ไม่ได้หรอก ยังไงก็ไม่ได้เรียน คนนี้พ่อหวงนะ พ่ออยากให้อยู่ใกล้ๆ เป็นลูกคนแรกด้วยใช่มั้ย พ่อจะทำทุกวิถีทางให้อยู่ใกล้เค้า ยังไงแล้วน้องก็น่าจะเรียน มช โควตา มช น้องที่สอบไปก็ติดอันดับ 1 อยู่แล้วใช่มั้ย"
    ตัวเรา    : "แล้วหน้าที่การเงินผมในอนาคตจะดีหรือเปล่าครับ"
    แม่หมอ : "น้องเป็นคนขยัน ละเอียดรอบคอบ อนาคตรุ่งเรือง ได้ตำแหน่งใหญ่โตแน่นอน ผู้ใหญ่มักจะช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ได้ง่ายๆ นะ ต้องใช้เวลานานหน่อย"

    ความจริงแล้วมีอีกหลายเรื่องที่ถามแม่หมอ แล้วเค้าก็ทักมา แต่ก็เลือกมาเฉพาะที่เกี่ยวกับการเรียนละกันเนอะ เรื่องอื่นเดี๋ยวจะขำได้ เพื่อนที่ฟังต่างก็บอกว่าแม่นนะ กอล์ฟเป็นคนอย่างที่เค้าทักทุกอย่างเลย เราก็ไม่ปฏิเสธหรอก ลักษณะนิสัยเค้าสามารถบอกได้ทุกอย่าง คาดว่าราศี โหงเฮ้งเค้าคงดูจากหน้าตาเราไม่ยาก เพราะมักจะเห็นว่าเค้ามองจุดนั้นจุดนี้เราบ่อย เรื่องครอบครัวก็แม่นซะ เราเป็นลูกคนเดียว พ่อหวงมั้ยไม่รู้ครับ 555 แต่พ่อก็มักจะพูดบอกเราบ่อยๆ ว่าอยากให้เรียนที่นี่แหละ แล้วก็ได้อันดับ 1 โควตา มช อันนั้นแม่นจริง

    แต่อนาคตของเรานั้นก็ไม่รู้หรอกว่าเค้าจะแม่นมั้ย โชคชะตาไม่ได้กำหนดอนาคตของเราไว้ตายตัวหรอก แต่เราเองต่างหากที่กำหนดอนาคตของเราเองได้ เราเชื่ออย่างนั้น การไปดูหมอครั้งนี้ทำให้เราตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะสู้ต่อไป เพื่อครุศาสตร์ จุฬาฯ เหมือนเป็นการท้าทายคุณแม่หมอว่า ดูซิพ่อจะให้เราจริงมั้ย เราจะเป็นครู จะเรียนในด้านที่เรารักและใฝ่ฝันไม่รุ่งจริงๆ เหรอ หมอดูเค้าดูไม่ออก 1 อย่าง คือ เราเป็นคนรั้นซะด้วยสิ ท้าทายไปเลย

    เราคงปฏิเสธตัวเองไม่ได้หรอกว่า ถ้าให้เลือกก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต วิจารณญาณของแต่ละคนย่อมต่างกันไป ความทะเยอทะยานก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของแต่ละคน เรายอมรับว่าเป็นคนที่ทะเยอทะยานอยากที่จะพาตัวเองไปให้ถึงจุดสูงสุดที่เหมาะและดีกับเรา สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าจะสู้ต่อไปเพื่อครุศาสตร์ จุฬาฯ คุณค่าที่เราคู่ควร ส่วนโควตา มช ก็ยังไม่สละสิทธิ์หรอก เพราะตอนนั้นเค้าให้สละสิทธิ์ได้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2550 แต่ก็ดั่งสวรรค์กลั่นแกล้งนะ เอเน็ตประกาศวันที่ 31 มีนาคม 2550 ก็ไม่เป็นไรสู้เพื่อที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดดีกว่า ก้าวเดินต่อไปเถอะเรา




    ตอนที่ 8 เส้นตายในวันปิดเทอม

    ชีวิตการเรียน ม.ปลาย เรามีเป้าหมายหนึ่งเดียว คือ การสอบเข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ให้ได้ แต่เมื่อเวลาใกล้มาทุกทีๆ เรากลับไม่พยายามที่จะกระตือรือร้นมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายนั้น เราได้แต่รอเวลา รอๆๆๆ ไม่คิดจะทำอะไรสักอย่าง ความสำเร็จในการสอบเข้าเป็นที่ 1 ของคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา ซึ่งคะแนนเราสามารถเข้าคณะอันดับ 1 สายศิลป์ คือ มนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษได้ด้วยซ้ำ แต่เรากลับรู้สึกว่าเราได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจทุ่มเทอย่างเต็มที่ เราอยากที่มุ่งมั่นทำเป้าหมายของเราให้สำเร็จ ตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อทำคะแนนดีๆ เสียที เพื่อเป้าหมายอันสูงสุดของเรา ดังบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6

    อันของสูงแม้ปองต้องจิต
    ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤา
    มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ
    ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
    ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง
    คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม
    ดูแต่ภุมรินเที่ยมบินตอม
    จึ่งได้ออมอบกลิ่นสุมาลี

    เมื่อรู้ตัวว่าจะสู้จะตั้งใจ ชีวิต ม.6 ก็พ้นผ่านมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ก่อนหน้านั้นน่ะหรือ
    - มีนาคม 2549 เพิ่งจะปิดเทอมเอง ขอพักฟื้นเพื่อสู่ต่อใน ม.6
    - เมษายน 2549 อ.อุ๊ ใส่หนักทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง แต่แกก็มักจะ "ขออีกนิดนะนักเรียน" ทุกครั้ง
    - พฤษภาคม 2549 เอ้ย เปิดเทอมแล้ว คอร์ส เดอะเบรนด์แน่นเอี๊ยดเลยอ่ะ ไม่มีเวลาพักผ่อน
    - มิถุนายน 2549 อ.ปิง กระหน่ำยิง M79 ไม่ยั้ง ความรู้ป้อนสู่สมองไม่ทัน ไม่มีเวลาผักพ่อน
    - กรกฎาม 2549 โอ้ยถึงช่วงสรุปคะแนนเก็บกลางภาคแล้ว ปั่นงานๆ ไม่มีเวลาพักผ่อน
    - สิงหาคม 2549 คอร์สเอนทรานซ์ 3 วิชาของเดอะเบรนด์กำลังจะจบ ขยันไปเรียนมากขึ้น
    - กันยายน 2549 อ.ปิง เปิดขว้างระเบิดใส่หัว นัดเพิ่มกระจุยกระจาย เวลาฉันเหลือน้อยลงไปอีก
    - ตุลาคม 2549 ไฟท์ทำคะแนนวัดแววความเป็นครู แต่ก็พลาดไม่เป็นท่า น่าเศร้านัก
    - พฤศจิกายน 2549 ฟิตเรียนคอร์ส Turbo อ.ปิง เอาแต่นั่งทำโจทย์ไทย-สังคม ทุกวัน
    - ธันวาคม 2550 โอ้ยถึงช่วงสรุปคะแนนเก็บกลางภาคก่อนปิดให้อ่านหนังสือสอบโควตาอีกแล้ว
    - มกราคม 2550 โควตาเพิ่งผ่านไป ค่าย รด. ก็เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน พักซักนิด

    - กุมภาพันธ์ 2550 ????? เวลาเหลือน้อย หันย้อนมองดู 1 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่เคยอ่านหนังสือเตรียมสอบเลย ฉันเหลือเวลาอีกเท่าไหร่

    14 กุมภาพันธ์ 2550 วันแห่งความรักปีนี้ไม่เหลืออารมณ์รักใคร่ให้ใครทั้งนั้น เพราะเป็นวันปิดภาคเรียนสุดท้ายของชีวิตนักเรียนมัธยมศึกษา ต่อไปนี้เราจะไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนมาเรียนหนังสือ มาเรียนก่อน 8.00 น. มานั่งเรียนกับเพื่อนอีกแล้วนะ 10 วันที่เหลือก่อนการสอบโอเน็ตจะเริ่มขึ้น ควรสำเหนียกกับตัวเองได้แล้วว่า "ฉันต้องเริ่มอ่านหนังสือ" และวันนั้นคือจุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือเตรียมตัวแอดมิชชั่นส์สำหรับกอล์ฟ นั่นคือ 10 วันก่อนสอบโอเน็ตจะเริ่มขึ้น




    ตอนที่ 9 มนุษย์ค้างคาวใน มช

    14 กุมภา ก็ใช่ว่าจะได้เริ่มอ่าน พอดีที่โรงเรียนมีงานกีฬาฯ ประเพณียุพราช-เตรียมทหาร ปีสุดท้ายที่จะได้ร่วมงานแล้วนะ ขออีกซักวันนึงนะ 15 กุมภา นั่งวางแผนการอ่านหนังสือของเรา เตรียมหนังสือมาอ่าน ก็หมดไปอีกหนึ่งวัน 16 กุมภา เริ่มอ่านหนังสือจริงจังแล้วครับ เหลือเวลาอีก 8 วันกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ O-Net

    ช่วงเวลาการอ่านหนังสือที่เหมาะกับเรามากที่สุด คือ 23.00-04.00 น. แต่ถ้าเป็นช่วงโค้งสุดท้าย 3 วันก่อนสอบจะเป็น 10.00-01.00 น. แต่ระยะอันตรายก่อนสอบ O-Net นี้เราเริ่มอ่านตั้งแต่ 20.00-07.00 น. แล้วก็นอนกลางวันเป็นมนุษย์ค้างคาวเลยทีเดียว การเริ่มอ่านหนังสือครั้งนี้อ่านเองไม่ได้แน่นอนครับ เราต้องร่วมด้วยช่วยติว ก็หาคู่หูที่ยังไม่ได้เริ่มอ่านหนังสือซักกะตัวเหมือนเรา ก็จะเพื่อนที่รักทันที เราจึงชวนกันไปอ่านหนังสือใน มช ยามค่ำคืนครับ

    สถานที่ประจำของเราใน มช ยามค่ำคืนแบบนี้ คือ ใต้ตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ หากใครรู้จักก็น่าจะสัมผัสที่บรรยากาศที่สงบเงียบ เมื่อเราเดินทางเชื่อมที่ทอดยาวไปถึงชั้น 2 ภายในตึกที่มืดมิด แล้วเดินลงใต้ตึกที่เป็นโต๊ะเรียงราย ใต้ตึก Zone ซ้ายมีแต่เรา 2 คนที่นั่งอ่าน Zone ขวาก็จะมีรุ่นพี่เมเจอร์ฟิสิกส์มานั่งติวหนังสือก่อนสอบไฟนอลประมาณ 5 คนทุกวัน พอตี 3-4 พี่เค้าก็กลับ แต่เราอยู่นานก็นั้นนี่ดิ

    ปัญหาของการอ่านหนังสือคราวนี้อยู่ที่ห้องน้ำอีกแล้วครับ เราต้องพากันเดินไปอาคารคณะวิทยาศาสตร์ SCB2 ซึ่งไกลออกไปนิดนึง หลังตึกฟิสิกส์นั่นก็ช่างน่ามองมาก มันเป็นป่ากล้วยมืดๆ จะต้องเดินผ่าน แต่การอ่านหนังสือครั้งนี้ไม่มีความกลัวใดๆ เท่ากับการกลัวทำข้อสอบได้อีกแล้ว ถ้าอ่านที่บ้านก็หลับแน่ๆ อากาศหนาวๆ แบบนี้อ่ะ เราก็ยืนหยัดอ่านหนังสือต่อไป

    เรา 2 คนเริ่มอ่านวิชาสังคมศึกษาเหมือนกัน แต่ก็กลัวไม่จำทั้งคู่ เวลาเหลืออันน้อยนิด อ่านเนื้อหาล้วนๆ คงไม่จบเป็นแน่ ก็หยิบคัมภีร์คอร์ส Turbo มาอ่านประมาณ 60 หน้า โดยการอ่านของเราจะเริ่มนั่งอ่านที่ใต้ตึกฟิสิกส์ตั้งแต่ 2 ทุ่ม แต่พอเริ่มดึกๆ มันเริ่มมึนๆ ง่วงๆ ไม่เข้าสมองเท่าไหร่ ตี 2 เราเริ่มชวนกันออกไปอ่านหนังสือนอกสถานที่กันละครับ มันเป็นความทรงจำที่เราสองคนไม่เคยลืมเลยที่ดึกๆ กลาง มช เราเดินอ่านหนังสือให้กันฟัง เดินไปด้วย อ่านไปด้วย อีกคนอ่าน อีกคนฟัง ช่วยกันทวน ไฟถนนไม่มี เราก็ใช้มือถือ ซึ่งเรากลับไปหวนคิดว่าคงไม่มีใครเหมือนเราหรอกที่กล้าเดินทั่ว มช กลางค่ำกลางคืนแบบนั้น

    เด็ก มช จะทราบกันดีว่าบริเวณฝั่งสวนสักอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่วนใหญ่ หรือบริเวณเชิงดอยสุเทพนั้นเป็นอดีตสุสานเก่าในสมรภูมิสงครามมหาเอเชียบูรพาในช่วง พ.ศ.2484-2488 ภายไป 10 กว่าปี พื้นที่บริเวณนั้นรกร้างประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายที่จะขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเกิดขึ้นบนบริเวณที่มีเจ้าที่แรงมากๆ พิสูจน์ได้โดยการถามนักศึกษาปี 1 ที่ต้องอยู่หอพักในมหาวิทยาลัยได้ ตำนาน ป๊อก ป๊อก ครืบ หรือเคล็ดในการสร้างหอแปดเหลี่ยม หรือขบวนแห่เจ้านางในวันเข้าพรรษา หรือเรื่องเล่าประจำหอต่างๆ มีมากมายใน มช แต่เราก็กลับไม่คิดถึงความน่ากลัวเหล่านั้น กลัวว่าจะอ่านไม่ทันมากกว่า

    เราเริ่มเดินจากตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ที่มีเรื่องเล่ามากมาย เลี้ยวขวาเดินไปตามถนนผ่านคณะวิทยาศาสตร์ ถึงวนเวียน 3 แยกใกล้ศาลาธรรม เดินเลี้ยวซ้ายผ่านตึกวิทยาการคอมพิวเตอร์เลี้ยวซ้ายขึ้นเนินคณะมนุษยศาสตร์ซึ่งก็มีเรื่องเล่าของบริเวณนี้อยู่ไม่น้อย แล้วก็ไปถึงวนเวียน 4 แยกคณะมนุษยศาสตร์ เดินตรงไปผ่านหอสมุดกลางซึ่งเป็นจุดที่น่ากลัวแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะต้นโพธิ์ 2 ต้นที่มักจะมีคนเห็นหญิงสาวนางไม้ประจำ จึงไม่แปลกว่าเมื่อหอสมุดปิดก็จะไม่มีใครขับรถผ่านริเวณนี้ แต่เราก็เดินอ่านหนังสือผ่านไปอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราเดินลงเนินคณะเศรษฐศาสตร์เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าหอ 3 หญิงที่เคยมีรุ่นพี่มาเล่าเรื่องสยบสยองให้ฟัง แล้วเราก็ถึง 4 แยกใหญ่กลาง มช ซึ่งจะมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ขวามือ ตำนานเล่าขานวันเข้าพรรษาของเด็ก มช จะบอกตรงกันว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งขบวนแห่เจ้านางซึ่งจะแห่ขบวนสักการะโบราณขึ้นไปบนดอยสุเทพในคืนวันเข้าพรรษา ตำนานกล่าวว่าตี 2 ของคืนนั้นมีคนเคยพบขบวนแห่ประหลาดโดยบังเอิญ ซึ่งน่าแปลกใจมากและได้สบตากับผู้หญิงบนเสลี่ยงที่น่ากลัวและไม่นานเขาก็ตาย แต่นี่มันไม่ใช่วันเข้าพรรษนี่ เราจะไปกลัวทำไมก็เดินเลี้ยวขวาไปที่หอ 4 ชาย เรานั่งพักซื้อขนมในมินิมาร์ท Lemon Green ใกล้หอมากิน แล้วซักพักก็เริ่มเดินไปถึงหอนาฬิกา หอนาฬิกานี่ก็ใช่ย่อยมีร้อยเรื่องเล่าเลยทีเดียว เขาห้ามขับรถวนหอนาฬิกา 3 รอบไม่งั้นจะเกิดอุบัติเหตุเพราะเหมือนไปท้าทายเจ้าที่ ตรงนั้นเป็นสี่แพร่งเลยนะ บางคนเข้ารถมอเตอร์ไซต์ผ่านกลางคืนก็เคยเห็นผู้หญิงสวมชุดขาวนั่งซ้อนด้านหลัง โอ้ยน่ากลัวไม่เล่าละ แต่ตอนนั้นเราก็เดินผ่านเลี้ยวซ้ายโดยไม่ได้กลัวอะไรมากนัก แล้วก็เดินผ่านหน้าโรงเรียนสาธิต มช แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าโซนหอหญิง เราผ่านหอ 7 หญิงที่เขาเล่าขานว่าเกิดตำนาน ป๊อก ป๊อก ครืด ผ่านหอสีชมพู ซึ่งใกล้กับบริเวณที่เกิดคดีฆาตกรรมหญิงสาว โดยการเอาศพมามัดติดต้นไม้ใกล้บริเวณนั้น แต่เราก็เลือกที่จะไม่คิดถึง เราเดินเลี้ยวซ้ายตรงมาถึง 4 แยกใหญ่กลาง มช ที่เดิม แล้วก็เดินเลี้ยวขวาผ่านทางโค้งกลับไปที่ตึกฟิสิกส์ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง อ่านจบหน้าที่พลเมืองและภูมิศาสตร์ นี่ก็ตี 5 แล้วเราก็เริ่มอ่านเศรษฐศาสตร์ไปนิดหน่อยก็เช้าพอดี เราจึงขับรถไปกินข้าวที่ตึกหอ 4 ชาย ราคาถูกมากประมาณ 10-15 บาทเอง อิ่มแล้วเราก็กลับไปนอนกัน เป็นแบบนี้ทุกวันจนถึงวันสอบ O-Net เราอ่านสังคมศึกษาแบบสรุปย่อจบ อ่านภาษาไทยฉบับ Mini Thai Book ของอาจารย์ปิงจบ อ่านคณิตศาสตร์แบบผ่านมากๆ เปิดดูวิทยาศาสตร์โอเน็ตแบบไม่คิดมาก เน้นเคมีมากหน่อยอุตส่าห์เรียนมาหลายคอร์ส แต่วิชาที่เราไม่ได้จับต้องเลยก็คือ ภาษาอังกฤษ



    อาคารภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ (PB1)


    หอนาฬิกามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


    หอ 4 ชาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


    8 วันที่ผ่านไปอ่านแบบลวกๆ ผ่านๆ มากๆ ภาวนาไว้อย่างเดียวว่าที่ผ่านตาขอให้จำ และขอให้เจอในข้อสอบ ฝากถึงเด็กๆ ม.6 ที่กำลังเตรียมสอบอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อยากให้ทุกคนรู้ไว้นะว่า นี่ไม่ใช่ตัวอย่างที่หรอกนะครับ การเรียนพิเศษมากมายก็ไม่ช่วยเท่ากับเราอ่านหนังสือนะ เรียนพิเศษก็ใช่ว่าจะจำได้ เราเรียนผ่านไปกี่เดือนแล้ว หลายเรื่องก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา บางเรื่องไม่ได้เรียนหรอกก็แอบโดดไปเบาๆ มันไม่เท่ากับที่เรามานั่งอ่านหนังสืออย่างจริงจังจำขึ้นไปแน่นอน แล้วจะให้ดีอ่านหนังให้จบทุกวิชาอย่างน้อย 1 รอบ แล้วลองทำข้อสอบโอเน็ตย้อนหลังถึงปี 2549 ดูครับ พี่คิดจะทำแบบนี้ตลอด แต่ก็ได้แต่คิดๆๆ นิสัยขี้เกียจมันเกินเยียวยาจนกระทั่งเพิ่งรู้ตัวเมื่อเหลือเวลาแค่ 8 วันนี่แหละ มันช่างน่าอนาถยิ่งนัก

    นี่แหละนิสัยเราแก้ไม่ค่อยหายหรอก กว่าจะอ่านหนังสือก็ไม่กี่วันก่อนสอบ แต่คะแนนที่ออกมามันก็น่าแปลกนะ เหมือนกับเราอ่านมาเป็นเดือนๆ อิอิ ถึงตรงนี้แล้วก็ขอแนะนำเด็กๆ คนขี้เกียจที่อยากจะอ่านหนังสือในโค้งสุดท้ายให้สัมฤทธิ์ผลเหมือนพี่ นั่นคือ เลือกอ่านสรุปให้เข้าใจ อย่าอ่านผ่านๆ เด็กขาด ได้เท่าไหร่เท่านั้น แต่ถ้ามันคืนเดียวก่อนสอบก็คงต้องเปิดผ่านๆ ลองโฟกัสเรื่องที่สำคัญ หากเป็นการสอบใหญ่ๆ เช่น โอเน็ต หรือ GAT&PAT ถ้าอ่านไม่ทันแล้วหยิบคลังข้อสอบย้อนหลังมาทำเลย แล้วเวลาเฉลยให้เปิดหนังสืออ่านคู่กันไปด้วย ตอนนั้นพี่ก็ทำแบบนี้แหละ เพราะมันไม่ทันจริงๆ แล้ว


    ปล. อ๊า เด็กๆ เพิ่ง Search รูปใน google แล้วเจอเรื่องนี้ อึ้งไปเลยอ่ะ มันคือเรื่องผีตึกฟิสิกส์ที่เพิ่งเล่าไป นี่ก็ไม่เคยรู้หรอกนะ อ่านดูนะจ๊ะ

    "เรื่องนี้โด่งดังมากในเรื่องความเย็น แต่ไม่เคยเจอกับตัวซักที เรื่องมีอยู่ว่า ที่ใต้ถุนตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มช จะมีม้านั่งมีที่ให้อ่านหนังสือ ตอนกลางวันเย็นสบาย แต่ตอนกลางคืนจะเย็นยะเยือก เล่ากันว่ามีนักศึกษาหญิงที่ถูกแฟนบอกเลิก ไปผูกคอตายที่นั่น ประมาณว่าตอนคบกันไปนั่งอ่านหนังสือที่นั่นกันบ่อยๆ พอคิดสั้นเลยใช้ที่นั่นเป็นที่สุดท้าย นับแต่นั้น มาเล่ากันว่านักศึกษาคู่ไหนที่เป็นแฟนกัน แล้วไปนั่งอ่านหนังสือที่นั่น มักจะไม่ได้อ่าน จะโดนกวนตลอด ถ้านั่งคู่กัน จะรู้สึกว่ามีคนมองข้างหลัง ถ้านั่งตรงกันข้ามกัน ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง มักจะเห็นอะไรแปลกๆ"




    ตอนที่ 10 โอเน็ต-เอเน็ตเสร็จทุกราย

    24 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ววันนี้ก็มาถึง ฉันยังไม่พร้อมเลย เช้าตรู่ตอนตี 5 เราเพิ่งได้นอน หลังจากเปิดดูเนื้อหา 3 วิชาแรกแบบผ่านๆ ให้เอาไปตอบไปได้บ้าง ต่อไป 7.00 น. ก็ตื่นขึ้นมาอย่างตื้อๆ เดินทางไปสนามสอบ ณ อาคารเรือนวิเชียร โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อิอิ สนามสอบโรงเรียนเรา ครูคุมสอบเป็นครูที่ปรึกษาตอน ม.5 ด้วย มีเด็กยุพราชในห้องสอบ 3 คน และเด็กทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนามสอบมีไม่กี่แห่งล้วนแล้วแต่เป็นโรงเรียนกลางใจเมือง

    สังคมศึกษา วิชาแรกของโอเน็ต ยอมรับเลยว่ามันยากขึ้นกว่าปีที่แล้วมากๆ ถ้าใครเคยทำข้อสอบโอเน็ตสังคมศึกษา ปี 2549 ง่ายมากๆ เชื่อว่าคนที่อ่านมาทำข้อสอบปีนั้นได้เกิน 70 คะแนนแน่นอน แต่มาตรฐานความยากของวิชาสังคมศึกษามันเริ่มในปี 2550 ปีที่เราสอบนี่ล่ะ จนทั้งตอนนี้ข้อสอบสังคมก็ยังยากไม่เปลี่ยนแปลง มีนอยู่ประมาณ 30 กว่าๆ ตลอด ทั้งที่ปีแรกอยู่ที่ 50 กว่า ยอมรับว่าถ้าเราเต็มที่กับวิชานี้น่าจะตอบได้เยอะกว่านี้ หลายข้อที่จำได้ว่าเรียนมาแล้ว ครูที่โรงเรียนก็สอน อาจารย์ปิงก็เคยพูด แอบจำไม่ได้ บางข้อมั่วถูก บางข้อคือว่าถูกแน่นอนกลับจำผิด หลายคนของจะเป็นแบบเราบ้างที่อุตส่าห์ตัดชอยส์ได้เหลือ 2 ข้อ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะตอบข้อไหนดี จากที่ประเมินในห้องสอบ 80 ข้อ เรามั่นใจว่าถูก 48 ข้อ ที่เหลือมั่วถูกกับตอบผิด

    ภาษาอังกฤษ วิชาต่อมาของโอเน็ต คิดว่าไม่ยากเกินไป ง่ายกว่าปี 2553 แน่นอน แต่มัวแต่พิถีพิถันในคำตอบ กลัวเดาผิด ก็ย้อนไปเช็คคำตอบอยู่นั่นล่ะ Conversation ค่อนข้างง่าย Reading แปลได้บ้าง ไม่ได้อีกเยอะ Vocabulary คำศัพท์ขุดจากสุสานมาออกจริงๆ แปลไม่ออก Error มั่วได้บ้าง ทำไปถึง 90 ข้อ "หมดเวลานักเรียนทุกคนวางดินสอ" วางให้โง่สิ อีก 10 ข้อขอมั่วก่อน เปิด Reading เรื่องสุดท้ายไม่ทัน ถึงแปลทันก็คงแปลไม่ค่อยออกหรอก ไม่ต่างจากมั่วเลย ค่าเท่ากัน จากที่ประเมินไม่ได้นับข้อ เพราะไม่มั่นใจซักข้อ เดาว่าน่าจะได้ประมาณ 40 คะแนน

    คณิตศาสตร์ วิชาสุดท้ายของวันนี้ เพิ่งดูสูตรที่สรุปไว้เมื่อคืนแบบสดๆ ร้อนๆ แล้วไปสอบ ก็จำได้บ้าง ดูแล้วค่อนข้างง่าย แต่ยากกว่าข้อสอบคณิตศาสตร์สายศิลป์ โควตา มช นะ แต่ละข้อใช้เวลาทำนานอยู่ การเรียนสายวิทย์ทำให้ทำข้อสอบวิชานี้สบายนิดนึง ข้อสอบไม่มีอัตนัยจ้า สบายหน่อย มีข้อละ 2 คะแนน 20 ข้อ ข้อละ 3 คะแนน 20 ข้อ เราทำได้ + ความน่าจะเป็นบางข้อ ได้ประมาณ 32 ข้อ เวลาก็หมดลง ไม่ทันเวลาอีกละ ก็มั่วไปอีก 8 ข้อ แอบลุ้นนิดๆ ว่าวิชานี้ขอ 60 นะ ไม่รู้จะถึงมั้ย

    วิทยาศาสตร์ เป็นวิชาแรกของวันต่อมา เมื่อคืนก็เปิดๆ ดูดาราศาสตร์ที่ไม่ได้อ่านเลย ส่วนฟิสิกส์นี่ดูแต่สูตรการเคลื่อนที่ไปสอบ เคมีเอาเน้นหน่อยหยิบหนังสือ อ.อุ๊ คอร์สโอเน็ตมากวาดตาผ่านๆ ชีววิทยาไม่ทันละขอเข้าไปมั่ว เข้าไปสอบจริงฟิสิกส์โอเน็ตเหรอนี้ ระดับนี้เราตอบยังไม่ค่อยจะได้ ชีววิทยากะมามั่วก็ได้มั่วสมใจ จำได้บ้างบางเรื่อง เคมีทำได้เยอะหน่อย โดยเฉพาะตารางธาตุ กอล์ฟเทพอยู่แล้ว ส่วนดาราศาสตร์จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ประเมินว่าน่าจะเกินครึ่งอยู่นะ

     ภาษาไทย เป็นวิชาสุดท้ายของการสอบโอเน็ต รักครูที่ออกข้อสอบภาษาไทยสุดๆ เลยอ่ะ 5 ข้อแรกถึงกับงง นี่ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือข้อสอบเข้า ม.1 มีใบปลิวโฆษณาแล้วถามว่าไม่พบส่วนใด 80 ข้อของภาษาไทยทำแล้วมีความสุขมาก ซึ่งเป็นวิชาเดียวที่รักษาความง่ายตั้งแต่เริ่มการสอบโอเน็ตมาจนถึงปัจจุบัน ปีเราเหมือนจะง่ายเป็นพิเศษด้วยนะ เป็นวิชาปิดท้ายที่ทำให้ยิ้มออก จากที่ประเมินข้อที่มั่นใจมีอยู่เกือบ 60 ข้อ และก็มีข้อคิดว่าน่าจะ (มั่ว) ถูกอีกส่วนหนึ่ง

    สิ้นสุดแล้วกับโอเน็ตครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แทนที่เราจะเริ่มอ่านเตรียมสอบเอเน็ตต่อกลับสาลวนตามอ่านบอร์ดเด็กดีดูเค้าเฉลยโอเน็ตให้ดู วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ก็เป็นวันปัจฉิมนิเทศของโรงเรียน ดูเค้าเลือกวันดิ วันอ่านหนังสือเราหายไปอีก 1 วัน เป็นวันที่ทำให้เด็ก ม.6 ปลายๆ ของเราได้รับรู้ว่า หมดเวลาของการเป็นนักเรียนมัธยมแล้วนะ คิดแล้วก็เสียดาย ถ้าย้อนเวลาไปเราจะมาเข้าเรียนทุกวัน ไม่โดดอย่างที่เป็นมา ไม่เป็นนักเรียนภาคบ่าย ตอนกลางคืนเล่นเน็ต ตอนเช้านอน ตื่นเที่ยงซื้อข้าวข้างนอกไปกินกับเพื่อน ตอนบ่ายเรียน ตอนเย็นเข้ากวดวิชา ชีวิตนี้ไม่มีอีกแล้วนะ












    กว่าจะได้เริ่มอ่านเตรียมเอเน็ตก็เกือบสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ สอบ 3-4 มีนาคม 2550 ชิวๆ 555 ก็ชวนคู่หูคนเดิมไปอ่านที่เดิม สถานที่สยองใน มช ก็ยังเดินอ่านเหมือนเดิม เป้าหมายของเรา คือ รหัส 0040 คณะครุศาสตร์ รูปแบบ 2 เลือกสอบวิชาสังคมศึกษา ซึ่งต้องใช้ A-NET 2 วิชา คือ สังคมศึกษาและภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษนั้นอ่านยังไงก็ยังโง่เหมือนเดิม ไม่รู้จะเริ่มอ่านตรงไหนด้วย เลยมุ่งแต่สังคมศึกษา เนื้อหาอ่านสรุปตอนโอเน็ตแล้ว ไม่คิดว่าอ่านเนื้อหาเต็มแล้ว ก็ทำโจทย์เลยละกัน ซื้อหนังสือรวมข้อสอบสังคมศึกษา 1,000 ข้อของอาจารย์ปิงมานั่งทำ แต่ก็ทำได้เกินครึ่งมานิดนึงนะก็ถึงวันที่ 3 มีนาคม วันสอบเอเน็ตของเรา นอนตี 5 ตื่น 7 โมงตามเดิม แต่คราวนี้ต้องไปสอบที่อาคารเรียนรวม 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    สังคมศึกษา เป็นวิชาแรกของเอเน็ตเลย โอเน็ตที่ว่ายากแล้วนะ เอเน็ตยิ่งกว่าอีก ถามลึกได้อีก วิเคราะห์จนหัวจะระเบิด คลังข้อสอบปีก่อนๆ ที่ทำมานี่เน้นแต่ความจำไม่เห็นออกเหมือนซักข้อเลย ภาวนาให้เกินครึ่งเป็นพอ อุตส่าห์ทุ่มวิชาเดียวก่อนสอบเลยนะ ถึงกับท้อ ทำวิชาหากินไม่ค่อยได้

    ภาษาอังกฤษ วิชาต่อมาของเอเน็ต ไม่ต้องพูดถึงเลย ยากกว่าโอเน็ตอีกแล้ว ยากจริงๆ หาคำศัพท์ที่แปลออกแทบไม่มีเลยอ่ะ Conversation ยังยากเลย แล้วก็ตามเคยทำ Reading ไม่ทันก็หมดเวลา ทำไมวิชานี้ต้องใช้ยื่นด้วยนะ ก็คนมันโง่ภาษาอ่ะ

    คณิตศาสตร์ วิชาสุดท้ายในวันนี้ หลายคนเคยเป็นไหมในวิชานี้ ตอนนี้ก็เหมือน PAT1 ที่เปิดหาข้อที่ทำได้เป็นร้อยๆ รอบ พลิกไปก็พลิกมาก็หาข้อที่จะกาได้ไม่เจอเลย 3 ชั่วโมงที่สอบก็พลิกไปพลิกมาจนหมดเวลา แอบทำเป็นเขียนเลขในข้อสอบ แกล้งทำเป็นคิดเลขตอนที่กรรมการดู ไม่งั้นเค้าจะว่าเราโง่ 555 แกล้งทำเป็นทำได้ ถ้ามาดูจริงๆ ก็คงงง เด็กนี่เขียนอะไร ไม่เห็นเหมือนโจทย์ถามเลย ข้อสอบมีปรนัย 25 ข้อ อัตนัย 10 ข้อ กอล์ฟทำได้ 2 ข้อ ดีนะที่ไม่ได้ใช้ยื่น นี่แหละหนาไม่เคยอ่านคณิตศาสตร์มาสอบเลย ได้เท่านี้ก็เอา 

    วิทยาศาสตร์ วิชาแรกของเอเน็ตวันต่อมา เมื่อคืนเรามัวแต่อ่าน Mini Thai Book เผื่อคะแนนภาษาไทยจะดีกว่าสังคมศึกษา จะได้ยื่นไทยแทน วิทยาศาสตร์ไม่ได้แตะเลย ชีววิทยาชั่วโมงแรกแทบจะอวกเป็นเซลล์พืช เครื่องในสัตว์ ช้อยส์ก็อุบาทว์นะ ก.ข้อ 1 ถูก ข.ข้อ 2 ถูก ค.ข้อ 1 และ ข้อ 2 ถูก ง.ข้อ 1 และข้อ 2 ผิด แล้วก็กำกวมซะเหลือเกิน ชีวะหากินไม่ได้ก็ปล่อยเซอร์ ต่อมาเคมี อาหารโปรด ไม่ได้อ่านซักตัวกลับทำได้นะ ทำจนหมดเวลาเลย ขอบพระคุณ 5,000 คอร์สเอ็น อ.อุ๊ ที่ทำให้เราทำได้ทั้งที่ไม่อ่าน ส่วนวิชาสุดท้ายฟิสิกส์ นี่เป็นวิชาฆ่าตัวตายได้เลยถ้าคิดจะทำ ไม่ต้องพยายามชีวิตเราก็ไม่รอด นั่งทำครึ่งชั่วโมงออกเลย มั่วสุดๆ เตรียมสอบภาษาไทยดีกว่า

    ภาษาไทย วิชาสุดท้ายของเอเน็ตและของการสอบ เมื่อคืนก็กะทำคะแนนวิชานี้ เผื่อใช้ยื่นแทนสังคมศึกษา เพราะข้อสอบเมื่อเกินเยียวยา โอ้วววว ยิ่งกว่าสังคมยิ่ง ภาษาไทยเอเน็ตนี่ยากสุดๆ เทียบกับโอเน็ตก็ต่างกันราวเหนือสวรรค์กับใต้นรก จบได้แย่มากๆ และแล้วข้อสอบ 10 ชุดครั้งเดียวภายใน 1 สัปดาห์ก็สิ้นสุดลง




    ตอนที่ 11 คะแนนที่แสนโหดร้าย

    ช่วงระยะเวลาแห่งการรอคอยมันช่างทรมานอะไรเช่นนี้ มันจะทรมานยิ่งขึ้นหากเป็นวันที่เราไม่มีอะไรให้ทำเหมือนเคยอีกเลย ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้เจอเพื่อนทุกวัน ไม่ได้ลนลานกับการเรียนพิเศษ เรานั่งอยู่กับบ้าน 24 ชั่วโมงรอคะแนนออก หลังจากสอบโอเน็ตเสร็จเราโทรไปบ่นกับครูสังคมศึกษา บังเอิญสวรรค์ทรงโปรด ครูเค้าอยู่ฝ่ายวิชาการ อยู่ดีๆ ท่านก็เอ่ยขึ้นว่า "อยากได้ข้อสอบโอเน็ตที่เพิ่งสอบไปมั้ย โรงเรียนเก็บไว้ 10 ชุด" เรารีบตอบทันที "ขอบคุณครับครู แล้วเอเน็ตไม่มีเหรอครับ" ครูตอบมาว่า "โรงเรียนเป็นศูนย์สอบเฉพาะโอเน็ต ลองไปนั่งเฉลยเล่นๆ ดูนะ" แล้วเราก็ได้ข้อสอบโอเน็ตฉบับจริง 5 วิชาหลังจากสอบเสร็จไปแล้วไม่ถึงสัปดาห์ หลังจากนั้นเราก็มานั่งเปิดหนังสือเฉลยเองบ้าง ไปไล่เปิดบอร์ดเด็กดีที่เค้ามาโพสต์บอกคำตอบบ้าง ข้อไหนที่ไม่แน่ใจก็เปิดหนังสือดูอีกที และแล้วเราก็รู้คะแนนโอเน็ตคร่าวๆ ก่อนวันที่ 10 มีนาคมด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องรอถึง 10 เมษายน
     
    ภาษาไทย 76.25 ทำไมมันน้อยกว่าที่คิดนะ แอบหวังสูงถึง 85
    สังคมศึกษา 61.25 แอบหวังถึง 70 เลยนะ ไม่มีปาฏิหาริย์มาช่วยฉันจริงๆ
    ภาษาอังกฤษ 47 เท่านี้ก็ดีใจแล้ว แต่ทำไมยังไม่เกินครึ่ง
    คณิตศาสตร์ 57 หวังลึกๆ ว่า 60 นะ นิดเดียวเอง
    วิทยาศาสตร์ 56.25 นี่ก็หวังไว้ลึกๆ ว่า 60 เช่นกัน

    คะแนนที่เปิดหนังสือเฉลยเอง ถามคำตอบจากครู และดูคำตอบจากบอร์ดเด็กดี รวมได้ 297.75/500 ยังไม่ถึง 300 เลยอ่ะ งี้ถ้าสมัคร กสพท. อนาคตหมดทันทีเลย เราก็หวังสูงนะทั้งที่ไม่ได้เต็มที่กับการสอบเลย คะแนนโอเน็ตรู้คร่าวๆ แล้ว แต่เอเน็ตนี่สิรอต่อไปถึง 31 มีนาคม

    24 มีนาคม 2550 เวลา 17.30 น. เปิดอ่านข่าวไทยรัฐออนไลน์เป็นปกติทุกวัน "เอเน็ตประกาศแล้ว เร็วกว่ากำหนด 7 วัน" โอ้วววว หัวใจลีบ มือสั่น ตาค้างทันใด ทำไม สกอ. ทำงานรวดเร็วเช่นนี้ วิชาเฉพาะก็ออกก่อนเป็นอาทิตย์ เอเน็ตอีกเหรอเนี่ย ก็เข้าไปเว็บ สกอ. กรอกรหัสประจำตัวสอบ รหัสประจำตัวประชาชน แต่ก่อนจะกด OK ก็ยิบกระดาษมาปิดหน้าคอม หลายคนคงเป็นเหมือนกันที่ค่อยๆ แง้มดูคะแนนสอบตัวเอง

    - ภาษาไทย 53.75 น้อยตามคาดเลย ข้อสอบยากมาก คะแนนเป็น 2 หมื่นคนแรกจากทั้งหมดแสนสองหมื่นคน
    - สังคมศึกษา 57.5 มืออ่อนทันที วิชาที่จะใช้ยื่นได้เท่านี้เอง แต่คะแนนเป็น 2 พันคนแรกจากทั้งหมดแสนสามหมื่น ค่อยใจชื้นหน่อย ข้อสอบยากจริง
    - ภาษาอังกฤษ 31 อุบาทว์มากก ใช้ยื่นด้วยอ่ะ น่าเกลียดสุดๆ ขนาดคนที่มั่วเหมือนเราได้ 30 ปลายๆ 40 ต้นๆ ทั้งหมด
    - คณิตศาสตร์ 25 นี่ก็อุบาทว์อีก แต่ก็สมควรแล้วนะ อ่านซะที่ไหนล่ะ ได้แต่เปิดข้อสอบพลิกไปพลิกมาเพราะหาข้อที่ทำได้ไม่มีเลย
    - วิทยาศาสตร์ 40 อึ้ง!!!! อาจจะดูน้อยนะ แต่มันยากกว่า PAT2 อีก คนได้เภสัชยังได้ 30 กว่าเลย บางคน 40 นิดๆ ติดทันตะเลยนะ เงินค่าเรียนพิเศษมากมายของฉันมีค่าทันที คะแนนเป็น 8 พันคนแรกจากทั้งหมดแสนหนึ่งหมื่น

    พอรู้คะแนนก็โลภทันที ได้เท่านี้ไม่พอใจเลย สังคมศึกษาหวัง 65 นะ ภาษาอังกฤษก็หวัง 40 อยู่ แต่มันได้เท่านี้อ่ะ ทำยังไงได้ ดีใจกับวิทยาศาสตร์ไม่หาย แต่ก็ไม่ได้ใช้ยื่นอ่ะ แย่จริง

    5 เมษายน 2550 เวลา 18.00 น. โอเน็ตก็ประกาศเสียที หลังจาก สทศ ให้ข่าวรายวันว่าจะประกาศก่อน แล้วก็ส่งผลไปให้โรงเรียนแล้ว บางวันรู้ตั้งแต่วันที่ 4 เช้า ไม่เป็นไรเราไม่พึ่งโรงเรียน เพราะครูทะเบียนไม่เป็นมิตร ดูซิคะแนนที่เฉลยไว้ก่อนกับของจริงมันจะเหมือนกันมั้ย

    - ภาษาไทย 81.25 เฮ้ย เพิ่มขึ้นตั้งเยอะเลย สูงมาก คะแนนเป็น 3 พันคนแรกจากทั้งหมดสามแสนคน
    - สังคมศึกษา 63.75 นี่ก็เพิ่มขึ้น แต่ก็หวังปาฏิหาริย์ให้ได้ 70 ฮ่าๆๆ คะแนนเป็น 16,000 คนแรกจากทั้งหมดสามแสนคน
    - ภาษาอังกฤษ 46 ลดจากที่ตรวจเอง 1 คะแนน แต่ไม่เป็นไรก็สูงแล้วสำหรับเรา แม้จะหวังให้เกินครึ่งก็ตาม
    - คณิตศาสตร์ 54 ลดจากที่ตรวจเอง 3 คะแนนเลย น่าจะเฉลยผิดข้อละ 3 คะแนนไปข้อหนึ่งแน่เลย ก็เกินครึ่งนะทั้งที่แทบไม่อ่าน
    - วิทยาศาสตร์ 57.5  เพิ่มจากที่ตรวจ 1.25 คะแนน ก็โอเคอยู่ นี่ก็แทบไม่อ่านเช่นกัน

    สรุปว่าโอเน็ตเราได้ 302.5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 500 เกิน 60% ด้วยอ่ะ สมัคร กสพท. ผ่านแบบฉิวเฉียด สูงสุดของโรงเรียนเรา คือ 430 คะแนน สูงมากๆ ไอ่นี่มันได้แพทยศาสตร์ จุฬาฯ คะแนนเราได้ที่ 7 ของห้องจาก 55 คน ก็อยู่ 6/2 ก็เป็นเรื่องธรรมดานะ สูงสุดห้องเราได้ 350 คนนี้ได้แพทยศาสตร์ นเรศวร แต่สละสิทธิ์เราวิศวะ มช เราก็ถือว่าคะแนนโอเน็ตสวยอยู่นะ อ่านอาทิตย์เดียวได้เกิน 60% พอใจมากๆ แล้ว แต่เอเน็ตขอไว้อาลัยครับ




    ตอนที่ 12 สี่อันดับคณะของฉัน

    เมื่อคะแนน O-Net มาพร้อม คะแนน A-Net มาพร้อม GPAx&GPA ก็พร้อมแล้ว ถึงเวลาของการตัดสินอนาคตตัวเองด้วยแล้วเลือก 4 อันดับคณะแล้ว ลำบากใจจริงๆ ไปหาซื้อระเบียบการแอดมิชชั่นส์มาจากสำนักทะเบียน มช มานั่งเปิดหาคณะที่พอจะเรียนได้ดู แล้ว list มันออกมา ตอนนี้มีคะแนนทั้งหมด คือ

    GPAx 3.82
    GPA ภาษาไทย 3.66 สังคมศึกษา 4.00 ภาษาอังกฤษ 3.78 คณิตศาสตร์ 3.75 วิทยาศาสตร์ 3.78
    O-Net รวม 302.5/500
    A-Net  ตามที่บอกไป

    ความคิดตอนนั้นก็กะจะเลือก จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มศว ศิลปากร และ มช แค่นี้ list ออกมาตอนนั้นได้ ดังนี้
    - ครุศาสตร์ รูปแบบ 1 จุฬาฯ 6442
    - ครุศาสตร์ รูปแบบ 2 จุฬาฯ 6677
    - รัฐศาสตร์ การปกครอง  จุฬาฯ 7015
    - นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 6958.75
    - กศ.บ. สังคมศึกษา มศว 6677
    - โบราณคดี ศิลปากร 6551.25
    - ศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มช 6592
    - นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 6958.75
    - สังคมศาสตร์ ไทยศึกษา มช 7088.75

    ที่ list ไว้มีตั้งแต่คณะใฝ่ฝัน คณะที่ชอบ และคณะที่เรียนได้ พอมาเข้าสูตรความน่าจะเป็นในการจัด 4 อันดับ โดยเปรียบเทียบจากคะแนนต่ำสุดของปี 2549 ก็ได้ 4 อันดับ ดังนี้
    อันดับ 1 ครุศาสตร์ รูปแบบ 2 จุฬาฯ
    อันดับ 2 ครุศาสตร์ รูปแบบ 1 จุฬาฯ
    อันดับ 3 กศ.บ. สังคมศึกษา มศว
    อันดับ 4 ศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มช

    ครู 4 อันดับเลยทีเดียว ก่อนจะเลือกก็ต้องโทรศัพท์ไปบอกคุณป้าที่อยู่ กทม. เพราะเมื่อเราสอบติดเราจะต้องไปพักบ้านป้า ลุงจะเป็นคนไปส่งตลอด แล้วก็โดยเบื้องบนสั่งห้ามให้เปลี่ยนอันดับ 3 ลุงบอกว่าถ้าจะมาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วจะเลือก มศว เรียน มช ที่บ้านก็ไม่ต่างกัน ดูท่าลุงจะยึดติดสถาบันกว่าเราอีกนะเนี้ย เราก็ไม่ซีเรียส ก็เปลี่ยนอันดับใหม่เป็น
    อันดับ 3 ศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มช
    อันดับ 4 สังคมศาสตร์ ไทยศึกษา มช

    แล้วก็ยื่นชำระเงินตามนี้ในวันสุดท้าย เวลา 18.00 น. แบบฉิวเฉียดมากๆ ใบสมัครเป็นคนที่แสนกว่าๆ แล้ว ทั้งที่ตอนที่สมัครครั้งแรกเป็นคนที่ 200 กว่า ช่างต่างกันลิบลับเพียง 10 วันแค่นั้นเอง

    ถามว่ากลัวไม่ติดมั้ย ตอนนั้นก็แอบกลัวมากๆ เพราะคะแนนครุศาสตร์ปีที่แล้วเทียบไม่ได้เลย ปีที่แล้วเราแยกสาขาวิชา แล้วปรากฏว่ามีคนแห่ไปเลือกมัธยมศึกษาเยอะมาก มัธยมศิลป์ต่ำสุด 6683.5 คะแนนสูงกว่าที่เราได้อีกอ่ะ แล้วพอมาปีเรามันยุบรับรวมแบ่งเป็นรูปแบบวิทย์ และรูปแบบศิลป์ โดยระเบียบการนั่นก็โชว์คะแนนต่ำสุดแบบต่ำมากๆ รูปแบบวิทย์ 3776.8 ซึ่งเป็นคะแนนต่ำสุดของการศึกษาปฐมวัย รูปแบบวิทย์ ปีที่แล้ว และรูปแบบศิลป์ 5551 ซึ่งเป็นคะแนนต่ำสุดของมัธยมศึกษา การศึกษาพิเศษ รูปแบบศิลป์ ปีที่แล้ว ดังนั้นคะแนนต่ำสุดก็เทียบไม่ได้หรอก แต่คนที่มันไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้อยากเรียนครูจริงๆ แล้วเห็นคะแนนต่ำๆ สวยๆ แบบนี้ก็แห่กันเลือกเพราะอยากเรียนจุฬาฯ จนปีนั้นครุศาสตร์ จุฬาฯ มีผู้ยื่นคัดเลือกสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5,647 คน 

    พอเห็นตัวเลขคนสมัครแล้วก็ตกใจแล้ว รูปแบบศิลป์รับ 125 คน มีคนสมัคร 1,478 คน อัตราการแข่งขัน 12:1 และรูปแบบวิทย์รับ 175 คน มีคนสมัคร 2,603 คน อัตราการแข่งขัน 15:1 พอเห็นสถิติเหล่านั้นแล้วก็เริ่มทำใจแล้วว่าเราคงไม่ได้เรียนวิชาเอกเดี่ยวสังคมศึกษาของมัธยมศิลป์แล้วแน่ๆ แต่ก็ทำยังไงได้ เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่ก็ไม่เป็นไรถ้าไม่ได้มัธยมศิลป์ เราก็เรียนเอกสังคมคู่ได้เหมือนกันนี่ ก็รอเวลาถึงวันที่ 15 พฤษภาคมต่อไป




    ตอนที่ 13 วันประกาศผลที่แสนโชคร้าย

    การรอคอยเป็นสิ่งที่ทรมานจิตใจที่สุด โดยเฉพาะการรอจุดเปลี่ยนของอนาคตข้างหน้าของเรา ปลายเดือนเมษายนผ่านไป เดือนใหม่เข้ามา เมื่อไหร่จะถึงกลางเดือนพฤษภาคมเสียที กำหนดการในระเบียบการ คือ 15 พฤษภาคม ทำไมมันนานจัง ประกาศซะทีเหอะ เครียดนะเนี้ย

    กิจวัตรประจำวันของเด็กรอผลแอดมิชชั่นส์ คือ กินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ บางวันกว่าจะหลับก็เช้า มีหลายวันที่อยากให้จิตใจสงบก็โทรเรียกเพื่อนตอนตี 5 ชวนกันไปใส่บาตรที่ตลาดแถวโรงเรียน แล้วค่อยกลับมานอน วันๆ เอาแต่เปิดคอมเช็คความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะบอร์ดแอดมิชชั่นส์ของ Dek-D ที่มักจะมีพวกเกรียนมาสร้างกระแสตลอดเวลา ทั้งสร้างข่าวเองว่าจะประกาศผลวันนี้บ้าง พรุ่งนี้บ้าง ข่าววงในมีเป็นสิบ บางคนถึงกับสร้างเลขต่ำสุดขึ้นมาเลยทีเดียว นอกจากนี้บอร์ด kucity ก็เป็นที่พึ่งของเด็กแอดมิชชั่นส์ได้ดีทีเดียว ข่าวของ อ.ปัญญา รวดเร็ว แน่นอน และใกล้ความเป็นจริงมากที่สุดแล้ว ชอบๆ 

    ความวิตกจริตของเราเริ่มมากขึ้นเรื่อย ใครเป็นบ้างที่ถึงกับไล่เปิดพวกกระทู้โพสต์คะแนนครุศาสตร์แล้วจดเรียงอันดับเองเลยทีเดียว เป็นเอามากนะเราอ่ะ รูปแบบ 2 รับ 125 คน กระทู้โพสต์คะแนนส่วนใหญ่ก็มีคนมาลงเยอะเหมือนกันนะ เป็นเพราะมันไม่มีเว็บที่ให้ดูกระแสคนเลือกเลยในตอนนั้น พวกเราก็ได้แต่มาโพสต์คะแนนให้หายเครียด หรือเครียดมากขึ้นก็ไม่รู้ ดูกระทู้โพสต์คะแนนเป็นสิบๆ ตัดคนที่มาโพสต์ซ้ำออกไป ตอนนี้มีคนได้เยอะกว่าเราเกือบ 60 แล้วนะ ภาวนาให้ส่วนหนึ่งที่เลือกอันดับ 2-4 ให้มันติดอันดับก่อนหน้าไปเหอะ

    ปีการศึกษา 2550 มีกรณีเด็กซิ่วที่สมัครแอดมิชชั่นส์ไม่ได้เพราะไม่มีคะแนนโอเน็ตกว่า 1,300 คน ฟ้องศาลปกครอง เดือนร้อนกูสิครับ เพราะ สกอ. ก็ประกาศผลซะช้ากว่าปีก่อนๆ เลย รอถึงวันที่ 15 เลย ข่าวแรกของเว็บ kucity ออกมาว่า คืนวันที่ 11 พฤษภาคม อาจเป็นวันประกาศผล ก็ลุ้นขึ้นมาแล้ว เร็วกว่าเดิม 4 วัน พอถึงวันที่ 6 พฤษภาคม ข่าวลือมาอีกแล้วครับว่าจะประกาศวันนี้ แต่ไล่วีแววที่ สกอ. จะให้ข่าว kucity ก็ออกมายืนยันว่าไม่ใช่วันนี้ เราเชื่อแหละแต่ก็ลุ้นว่าถ้ามี surprise เป็นไว้นี้ก็คงดี พอมาถึงวันที่ 8-9 พฤษภาคม สกอ. ประกาศปิดปรับปรุงระบบ โอ้วววว ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้วนะ นี่ก็ใกล้จะประกาศผลแล้ว สกอ. ไม่แถลงข่าวว่าจะเลื่อนประกาศซะที มาถึงวันที่ 10 พฤษภาคม สกอ. เริ่มให้ความหวังอีกแล้วด้วยการให้ข่าวว่าจะประกาศไม่เกินวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ และแล้วก็มาถึงวันที่ 11 พฤษภาคม ระยะ 48 ชั่วโมงที่อันตราย เช้าของวันที่ 11 ข่าวก็ออกว่า สกอ. จะประกาศผลวันที่ 12 พฤษภาคม เวลา 18.00 น. พอตอนบ่ายข่าวก็ออกอีกว่าเลื่อนเป็น 16.00 น.

    11 พฤษภาคม 2550 เวลา 21.00 น. เริ่มมีข่าวหนาหูว่าหลายคนรู้ผลแอดมิชชั่นส์แล้ว บอร์ดแอดมิชชั่นส์เว็บเด็กดีก็เหมือนโดนทิ้งระเบิด แต่เราคลิกลิงค์นั้นไม่ได้ซะที ก็คิดว่าคงเป็นพวกเกรียนเหมือนเดิม แล้วก็มีเพื่อนรักทักมา

    ต้น : กอล์ฟ เมิงรู้ผลแอดรึยัง

    กอล์ฟ : มันประกาศวันพรุ่งนี้ 4 โมงเย็น
    ต้น : คนอื่นรู้กันละเนี่ย
    กอล์ฟ : พูดเป็นเล่น เว็บไหนๆ 
    ต้น : เว็บนี้แหละ ... 
    กอล์ฟ : เว็บนี้เปิดไม่ได้
    ต้น : ตอนนี้กูดูได้ เมิงลองเอารหัสสมัครกับเลขประจำตัวประชาชนมา
    กอล์ฟ :
     7126132 กับ 1509900623xxx
    ต้น : อ่ะเห็นละ เมิงติด มนุษยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ม.ทักษิณ
    กอล์ฟ : here ไรเมิง กูไม่ได้เลือก อย่ามาทำเป็นเล่น
    ต้น : เอ้า ก็มันบอกมาแบบนี้ ชื่อเมิงเลยเนี่ย
    กอล์ฟ : ผลมั่วรึป่าววะ
    ต้น : คนอื่นได้ตามที่พวกมันเลือกนะ
    กอล์ฟ : รอพรุ่งนี้ดีกว่า เว็บอะไรไม่รู้ กูยังเปิดไม่ได้เลย
    ต้น : กูคนอื่นที่บอกกูมันบอกว่าได้ตรงที่เลือกหมดเลย
    กอล์ฟ : ต้นแป๊บนึง ยิมโทรมา
     
    กอล์ฟ : ว่าไงยิม
    ยิม : กอล์ฟ ฉันได้รัฐศาสตร์ มช
    เบญ : ฉันก็ได้ธรณี มหิดล ที่เธอเลือกให้น่ะ
    กอล์ฟ : เอ้า ทำไมรู้กันหมด แล้วฉันไม่รู้คนเดียวล่ะ
    เบญ : นัท ห้อง 7 ดูให้อ่ะ
    กอล์ฟ : ไอ่ต้นดูให้ บอกว่าติด มนุษย์ศาสตร์ ม.ทักษิณ ซึ่งไม่ได้เลือกนะ
    ยิม : มั่วละ ไปติดทำไมที่นั่น
    เบญ : ฉันว่าก็ยังไม่แน่นอนอ่ะ
    ยิม : เว็บที่ว่ามันบอกแค่ชื่อ นามสกุล รหัสสมัคร แล้วก็รหัสคณะที่ติดนะ ส่วนข้อมูลสัมภาษณ์มันไม่ตรงกัน คงเป็นข้อมูลสัมภาษณ์ของคนที่ได้รหัสนี้ปีที่แล้ว
    กอล์ฟ : อ่าวเหรอ งั้นเดียวขอถามไอ่ต้นให้รู้เรื่องก่อนนะ 
     
    กอล์ฟ : ต้น เมิงดูเว็บนั้นดิ๊ มันบอกรหัสคณะมั้ย
    ต้น : แป๊บนึง อ่ะ รหัสคณะ 0040 สัมภาษณ์ที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.ทักษิณ
    กอล์ฟ : here ไรเมิง รหัสคณะนั้นมันครุศาสตร์ จุฬาฯ ชัดๆ หรือว่ากูติดอ่ะ เฮ้ยๆ
    ต้น : สงสัยอันนี้แหละ กูดีใจด้วยนะนิสิตจุฬาฯ 
     
    เป็นคืนนี้หัวใจเต้นตุ๊บตุ๊บตุ๊บ ลิงค์นั้นเป็นลิงค์ประกาศผลปีการศึกษา 2549 ซึ่ง สกอ. แอบเอาข้อมูลปี 2550 ลงเพื่อจะลองเช็คระบบเพื่อประกาศผลวันพรุ่งนี้ แต่มันเกิดรั่ว hacker มือดีไปรู้เข้าเลยเอาลิงค์มาแจกจ่าย เปิดระบบตั้งแต่เกือบสองทุ่ม พอสี่ทุ่มนิดๆ ลิงค์นั้นก็เข้าไม่ได้อีก แม้ผลแอดมิชชั่นส์จะรั่วสั้นๆ แต่ทำให้ทั้งคืนนั้นมีแต่คนนอนไม่หลับ เพราะคนที่ไม่รู้ผลก็จะตั้งกระทู้ถามคนที่ติดคณะที่ตัวเองเลือกว่าได้คะแนนเท่าไหร่ มีใครได้ต่ำกว่าคนที่โพสต์มั้ย เพื่อหาคะแนนต่ำสุดกันเอง เพื่อนสนิทเราคนหนึ่งที่เลือกจุฬาฯ ก็นอนไม่หลับเช่นกัน เพราะยังไม่รู้ผล ไปเช็คตามบอร์ดต่างๆ ก็ไม่มีใครบอกข้อมูลรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เลย มีเพียงบอกว่า เราติดได้ 7,200 แต่มันได้แค่ 7,100 ก็ลุ้นต่อไป จนแยกย้ายกันไปนอนตอนตี 4 ซึ่งกว่าเราจะหลับก็ยากอยู่ คิดแล้วคิดอีกว่าติดจริงรึป่าว

    12 พฤษภาคม 2550 ช่วงเที่ยง สกอ. แถลงข่าวคะแนนสูงสุดของประเทศแต่ละคณะ โอ้ววว ครุศาสตร์ จุฬาฯ สูงสุด 8,254 คะแนน มันสูงมากๆ เราได้แค่ 6,677 คะแนนเองนะ ตกลงผลเมื่อคืนมันเชื่อได้รึป่าว ยังไม่มีใครแน่ใจเลย พอช่วงบ่ายฝนก็ตกมาอย่างหนัก ชนิดที่ว่าเทวดาประทานฝนอันชุ่มฉ่ำฉลองชัยให้แก่เด็กแอดมิชชั่นส์ ฟ้าร้องดังมากจนน่ากลัว

    กอล์ฟ : บ่ายสามแล้ว อีกชั่วโมงเดียวนะเมิง
    บิว : กูกลัวว่ะ ถ้าไม่ได้จุฬาฯ กูไปลาดกระบังเลยนะ
    ตู้มมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมม

    เสียงฟ้าร้องดังสนั่น และเสียงระเบิดดังขึ้นมาทันใด ปรากฏว่า "คอมระเบิด" โอ้ยยยย อะไรจะซวยขนาดนี้ คอมมาระเบิดก่อนประกาศผลแอดมิชชั่นส์ไม่ถึงชั่วโมง ความโกรธปะทุขึ้นมาในหัว อยากออกไปแก้ผ้าประท้วงเทวดายิ่งนัก ฝนจะมาตกฟ้าจะร้องอะไรตอนนี้ครับ ผลแอดผมกำลังจะออกเนี่ย

    บิว : เมิงออกเอ็มทำไมวะ
    กอล์ฟ : อยู่ดีๆ คอมกูก็ช็อต ระเบิดเฉยเลยเมิง
    บิว : สงสัยเป็นลางร้ายมั้ง 555 จะประกาศแล้วเนี่ย คอมมาระเบิด ลองถอดสายแล้วเสียบใหม่ดู
    กอล์ฟ : กูลองแล้ว ไม่ได้เลยเนี่ย ฝนก็ตก
    บิว : งั้นเดี๋ยวกูไปลุ้นต่อก่อน ถ้าไงเดี๋ยวกูโทรหาเมิง

    16.05 น.
    บิว : ไอ่กอล์ฟ กูติดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
    กอล์ฟ : เอ้ย กูดีใจด้วย คอมกูอาการแย่เลยเนี่ย ดูให้หน่อยดิ๊ อ่ะนี่รหัส
    บิว : เฮ้ย เว็บล่มไปแล้ว เมิงนี่โชคร้ายจริงๆ นะ เออเดี๋ยวกูลงไปบอกพ่อแม่ก่อนนะ เดี๋ยวยังไงจะลองเข้าเว็บดู ถ้าได้จะโทรหา
    16.35 น.
    บิว : เว็บดีละเมิง กูดูให้ละนะ
    กอล์ฟ : เฮ้ยเป็นไงบ้าง
    บิว : เดี๋ยวกูกับเมิงไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน
    กอล์ฟ เฮ้ย ติดรูปแบบไหนวะ
    บิว : รูปแบบ 2 เลือกสอบวิชาสังคมศึกษา
    กอล์ฟ : ตรงกับผลเมื่อคึนเลยว่ะ เฮ้ย เดี๋ยวแค่นี้ก่อน ชมพู่โทรมา

    ชมพู่ : กอล์ฟ ได้ข่าวว่าแกติดจุฬาฯ
    กอล์ฟ : ข่าวจะไหนเนี่ย นี่เพิ่งรู้เมื่อกี้ก่อนแกโทรมาเลย
    ชมพู่ : ก็ฉันถามอิเบญพวกนั้น
    กอล์ฟ : แล้วแกติดอะไร
    ชมพู่ : ติดอันดับ 4 เลยอ่ะ ที่เดียวกับเมิงเลย
    กอล์ฟ : จริงอ่ะ เมิงติดจุฬาฯ เหรอ กล้ามากถึงเมิงเลือกห้อย
    ชมพู่ : กูเลือก เภสัช มช 2 อันดับ อันดับ 3 วิทยาศาสตร์ อาหาร จุฬาฯ แต่กูได้อันสุดท้าย วิทยาศาสตร์ ชีวภาพ จุฬาฯ เขมได้ วิศวะ ม.เกษตร อ่ะ หลุดไปอันดับ 3 เลย 2 อันดับแรกเลือกจุฬาฯ
    กอล์ฟ : เสียดายแทนมัน แทนที่จะได้ไปด้วยกัน ไว้ค่อยคุยกันนะ ตอนนี้วุ่นวายมากมาย

    คอมมาระเบิดนี่ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากโทรศัพท์คุยกับคนนั้น ถามถึงคนนี้เค้าติดอะไรกัน เซ็งมากๆ คืนนั้นข่มตานอนไม่ลง จากที่เคยดีใจ ตอนนี้น้ำตาอยู่ดีๆ มันก็ไหลออกมาเฉยเลย คิดแล้วเลยก็ไม่อยากไปเรียนแล้วนะ ตลอดชีวิตไม่เคยอยู่ห่างบ้านเลย นี่เราต้องเก็บของไปเรียนที่อื่น แล้วเพื่อนเราล่ะ เรียนที่ มช กันทั้งนั้น น้ำตาไหลจนหมอนเปียกเลย ติดจุฬาฯ ความจริงก็กลับไม่ได้ดีใจจริงๆ ที่ต้องไปอยู่ห่างบ้านไกลๆ ไปหาเพื่อนใหม่ ไปเริ่มต้นชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่เราต้องปรับตัวอย่างหนักเลย เพื่ออนาคตนะก็ทำใจซะเหอะ




    ตอนที่ 14 นี่คือจุฬาฯ

    13 พฤษภาคม วันนี้มันช่างเหงาจริงๆ นี่เป็นคืนสุดท้ายที่จะได้นอนที่บ้านของเราก่อนที่จะออกไปเผชิญกับสังคมใหม่ที่เราต้องปรับตัวแล้วอยู่ที่นั่นให้ได้อย่างน้อย 5 ปี นอนยังไงก็นอนไม่หลับ ดูนาฬิกาก็ตี 2 แล้ว สิ่งผ่านมาตลอด 3 ปีของการใช้ชีวิต ม.ปลาย มันแล่นเข้ามาในหัวไม่หยุด วันนั้นเราเจอกันวันแรก นั่งเรียนกันแน่นตั้ง 55 คน 1 ปีกับเพื่อนๆ คณะกรรมการนักเรียน ทำค่ายด้วยกัน ขับรถไปกินข้าวด้วยกัน แอบคุยในห้องเรียนพิเศษ แกล้งกันในแถวเคารพธงชาติตอนเช้า ทุกอย่างกลายเป็นความทรงจำอันล้ำค่าในชีวิต เราคงไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตสนุกๆ กับเพื่อนของเราอีกแล้ว ก้าวเดินต่อไป ทางข้างหน้ายังคงมีอะไรสนุกๆ อีกเยอะมั้ง ตี 5 แล้ว ก็ผลอยหลับไปในขณะที่หมอนก็เปียกไปด้วยน้ำตา

    14 พฤษภาคม เป็นวันเคลียร์ชีวิตตัวเองวันสุดท้าย เก็บกวาดห้องนอน เก็บหนังสือลงกล่อง เก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ไว้ แล้วก็แบ่งส่วนหนึ่งขนไป กทม. ขับรถนำหนังสือส่วนหนึ่งไปให้น้องรหัสที่มีเป้าหมายจะสอบให้ติดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เราก็เอาใจช่วย ไปรออยู่ก่อน ตกเย็นแล้วก็เตรียมตัวเดินทางสู่กรุงเทพมหานคร ก่อนไปพ่อออกไปซื้อข้าวขาหมูมาให้ ตอนนี้ขนของลงมาพร้อมจะออกเดินทางแล้ว พ่อก็นั่งเป็นเพื่อนกินข้าว กินไปๆ น้ำตามันไหลออกมาอีกแล้ว ต่อหน้าพ่อด้วย ไม่เคยร้องไห้ต่อหน้าพ่อมานานมากๆ แล้วนะ พ่อก็คงตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ก็ชวนคุยนอกเรื่องไปเลย แล้วพ่อก็ขับรถไปส่งที่อาเขต เพื่อนๆ ทั้ง 6/2 แล้วก็กรรมการนักเรียนนั่งรอมาส่งกันเต็มเลย น้ำตามันจะไหลอีกแล้วอ่ะ แต่ก็แกล้งทำเป็นเฮฮา พูดเล่นๆ กับเพื่อนกันไป จนต้องขึ้นรถแล้ว ก็กลั้นใจลาเพื่อนๆ "แล้วเจอกันใหม่นะ พวกมึงอย่าลืมกูนะ โทรหากันบ้าง" แล้วก็ขึ้นรถไป รถออกแล้วพวกมันก็พากันโบกมือให้ หันหลบเลยครับ พรากๆ เลย ตลอด 9 ชั่วโมงที่นั่งรถจากเชียงใหม่ก็นอนไม่หลับเช่นเคย คิดนั่นคิดนี่ไม่หยุด ฟุ้งซ่านมาก ณ ตอนนั้น

    15 พฤษภาคม ถึงกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ พี่ชายมารับที่หมอชิต 2 แล้วก็เอาของไปเก็บที่บ้านป้า กินข้าวเที่ยงแล้วก็ให้พี่ชายพาไปทัวร์จุฬาฯ เพราะกลัวพรุ่งนี้มาเองแล้วจะหลง เราก็นัดไอ่บิวที่ติดรัฐศาสตร์ เรียนห้องเดียวกันไว้ที่นั่นด้วย ตอนนั้นฝนก็ตกปรอยๆ สักพักพี่ชายก็พูดว่า "กอล์ฟ เนี่ยถึงจุฬาฯ แล้ว" เราก็ประหลาดใจ นี่มันมหาวิทยาลัยหรือสวนสาธารณะ ต้นไม้เต็มเลย ร่มรื่นมากๆ เพื่อนบอกว่าอยู่หน้าคณะอักษรศาสตร์ ให้เลี้ยวซ้ายเข้ามา เราก็บอกพี่เลี้ยวไป เจอกับพระบรมรูป 2 รัชกาลตั้งตระหง่านอยู่หน้าอาคารที่เหมือนปราสาทพระราชวังสมัยก่อน เรายกมือไหว้สมเด็จพระปิยะมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราช ถนนในจุฬาฯ เป็น One-way ก็เพิ่งรู้พร้อมกับพี่ชาย เค้าก็แอบบ่น แล้วก็เจอเพื่อนนั่งรออยู่ เลยเรียกมันขึ้นรถมา

    ภารกิจของเราในจุฬาฯ คือ การดูทุกสถานที่ที่รถผ่าน แล้วตามหาศาลาพระเกี้ยว เพราะต้องไปซื้อเสื้อสีชมพูใส่ในวันรับน้องก้าวใหม่ เราไม่มีเสื้อสีชมพูซักคน เคยถามพี่ใน MSN เค้าให้มาซื้อที่ศาลาพระเกี้ยว ขับผ่านด้านหลังเทวาลัยที่สวยงามและยิ่งใหญ่ (แอบดูน่ากลัวๆ ด้วย) แล้วก็ผ่านคณะวิศวกรรมศาสตร์ จนถึงศูนย์หนังสือจุฬาฯ ตอนนั้นเริ่มงงๆ ละว่า ศาลาพระเกี้ยวมันอยู่ไหน เลยลงไปถามพี่คนหนึ่งที่ใส่ชุดนิสิต "พี่ครับ ศาลาพระเกี้ยวอยู่ตรงไหนครับ" พี่เค้าก็ชี้ขึ้นไปข้างบนอาคารทรงแปลกๆ เราก็เดินขึ้นไปดู ทำไมทำเงียบๆ ไม่เห็นมีอะไรขาย เลยนึกว่าอาคารถัดไปเลยกลับขึ้นรถขับไปต่อ อ้อมอาคารหลังนั้นก็ไม่เห็นมีอะไรเลย ตอนนี้เลี้ยวขวาผ่านคณะวิทยาศาสตร์ ก็ลงไปถามพี่อีกคนอยู่ที่โรงอาหารตึกจุลจักรพงษ์ ตึกที่ต่อกับตึกศูนย์หนังสือจุฬาฯ พี่เค้าก็ชี้ไปที่ตึกเดียวกัน อ่าวยังไงเนี่ย เรา 2 คนเลยตัดสินใจลงรถ แล้วให้พี่ชายรอ เดินตามหา

    สรุป คือ อาคารศาลาพระเกี้ยวก็คืออาคารเดียวกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ ซึ่งศูนย์หนังสืออยู่ชั้นล่างต้องเดินลงทางที่คล้ายอุโมงค์ไป แต่ตอนที่ไปดูตอนแรกมันเป็นชั้นบนของศาลาพระเกี้ยว โง่จริงๆ เลยเรา 2 คน อย่าไปบอกใครว่ามาจากเชียงใหม่ 55 พอได้เสื้อสีชมพู ซื้อเหมือนจะเป็นเสื้องานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 63 ก็กลับไปขึ้นรถ บอกพี่ให้พาไปดูคณะครุศาสตร์หน่อย กลัวมาสัมภาษณ์ไม่ถูก ขับมารอบจุฬาฯ ฝั่งนี้แล้วไม่ยักจะเจอคณะครุศาสตร์ พี่ก็เลยขับไปออกตรงทางเข้าแล้วถามลุงยาม ลุงเข้าบอกว่าอยู่ฝั่งโน่น พี่ก็เลยขับข้ามฝั่งมา เจอสำนักงานอธิการบดี แล้วก็นั่นไง ป้ายคณะครุศาสตร์ เจอแล้ว ตอนที่เห็นคณะแรกรู้ว่าคณะเรานี่ดูร่มรื่นมาก ออกไปทางแนวมืดๆ เพราะตอนนั้นต้นไม้หน้าคณะออกกิ่งแน่นมาก แต่ปัจจุบันกลายเป็นเขตก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ และส่วนหนึ่งของหน้าคณะก็สร้างเป็นทางเดินมีหลังคายาวตลอดฟุตบาท ต้นไม้ก็ถูกตัดๆ ไปบ้าง เสียดายจัง

    วันแรกของการใช้ชีวิตในรั้วจามจุรีในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้เราตื่นเต้นกับสถาบันใหม่ที่เราจะใช้ชีวิตไปอีก 5 ปี ภาพของจุฬาฯ ในความคิดของเราตอนแรกคิดว่าจะมีแต่ตึกอาคารเรียนที่สูงๆ ทันสมัย แต่กลับเหมือนสวนสาธารณะกลางเมืองใหญ่ มีอาคารที่สูงไม่กี่หลัง บรรยากาศร่มรื่นน่าอยู่มาก ถ้าเดินเรียนก็คงไม่ต้องกลัวแดดเผา 55 นี่ถือเป็นภาพความประทับใจเมื่อแรกเราพบกัน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




    ตอนที่ 15 CU First Date

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×