ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การนับเทียบศักราชและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #3 : การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ : สมัยประวัติศาสตร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.11K
      3
      10 ธ.ค. 54

     
    สมัยประวัติศาสตร์
    ยุคประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มนุษย์รู้จักคิดตัวอักษรขึ้น และจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรจารึกลงบน แผ่นหิน ดินเหนียว อิฐ หรือเขียนลงบนแผ่นผ้า แบ่งย่อยออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคโบราณ ยุคกลาง ยุคใหม่ และยุคปัจจุบัน
    ประวัติศาสตร์ตะวันออก
    การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ตะวันออก แบ่งเป็น การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีน
    และ การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อินเดีย
    การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีน
    จีนใช้พัฒนาการทางอารยธรรม และช่วงเวลาที่ราชวงศ์ต่างๆมีอำนาจในการปกครองประเทศเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีน ช่วงเวลาการเริ่มต้นรากฐานของอารยธรรมจีน
    สมัยก่อนประวัติศาสตร์
    ยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นเมื่อไร แต่จากการขุดพบวัตถุโบราณ
    ตามลุ่มแม่น้ำฉางเจียงและหวางเหอ แบ่งช่วงเวลานี้ออกได้เป็นสังคมสองแบบ คือช่วงวัฒนธรรมหยางเซา และช่วงวัฒนธรรมหลงซาน
    1.   วัฒนธรรมยางเชา (Yang Shao Culture) หรือ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห จัดอยู่ในสมัยหินใหม่ก่อนยุคราชวงศ์ โบราณคดีที่สำคัญคือ การทำภาชนะดินเผาเขียนสีแดง เป็นวัฒนธรรมของการใช้เครื่องมือหินขัด และเป็นสังคมเกษตรกรรมยุคแรกที่ค้นพบในประเทศจีน
     
     
    2.   วัฒนธรรมหลงชาน (Lung Shan Culture) หรือ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำแยงซี เป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่สังคมเกษตรกรรมที่มีความซับซ้อนซึ่งพบทางภาคกลางและภาคใต้ของประเทศจีน หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผาเป็นแบบสีดำขัดมัน
    และภาชนะดินเผาที่มี 3 ขา
     
    สมัยประวัติศาสตร์
    1. ประวัติศาสตร์จีนสมัยโบราณ เริ่มในสมัยราชวงศ์ชาง จีนเริ่มก่อตัวเป็นรัฐ วางรากฐานเศรษฐกิจด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม สมัยนี้มีการใช้ตัวอักษรจีนโบราณเขียนบนกระดองเต่า หลังจากนั้นเป็นสมัยราชวงศ์โจว และสิ้นสุดที่ราชวงศ์ฮั่น
      
    ราชวงศ์ชาง
    - มีการปกครองแบบนครรัฐ
    - มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้เป็นครั้งแรก พบจารึกบนกระดองเต่า และกระดูกวัว
    เรื่องที่จารึกส่วนใหญ่เป็นการทำนายโชคชะตา จึงเรียกว่า “กระดูกเสี่ยงทาย”
    - มีความเชื่อเรื่องการบูชาบรรพบุรุษ
    ราชวงศ์โจว
    - กษัตริย์มอบให้เจ้านายเป็นตระกูลที่มีสิทธิในที่ดินและ
    มีฐานันดรเป็นเจ้านครปกครองแคว้น
    - มีการแต่งตั้งผู้แทนกษัตริย์ไปเป็นข้าหลวงประจำหัวเมือง
    - วางหลักจารีต และกำหนดสิทธิหน้าที่
    - ทฤษฎีการเมือง “เทียนหมิง” หรือ “อาณัติแห่งสวรรค์”
    - ปลายราชวงศ์โจวเกิดการจลาจลทางการเมือง เรียกยุคชุนชิว (ใบไม้ผลิใบไม้ร่วง)
    - เกิดนักคิดขงจื้อ เม่งจื้อ เล่าจื้อ ฟาเฉีย ถือว่าเป็นยุคทองแห่งภูมิปัญญา
    ราชวงศ์จิ๋น
    - เริ่มต้นยุคจักรวรรดิและยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แผ่นดินจีนรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมั่นคงโดยจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินซิหวางตี้)
    - กำเนิดระบบจักรพรรดิ หรือระบบฮ่องเต้
    - ปกครองประเทศด้วยระบบนิตินิยม (ฟาเฉีย) เน้นการใช้กฎหมายเป็นหลักปกครองประเทศอย่างเข้มงวดเป็นเผด็จการ
    - มีการเผาทำลายตำรับตำราของขงจื้อและเล่าจื้อ
    - สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น กำแพงหมื่นลี้และสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้
    ราชวงศ์ฮั่น
    - ลัทธิขงจื้อได้รับการฟื้นฟูและประกาศให้เป็นลัทธิแห่งชาติ
    - กำเนิดระบบข้าราชการหรือการสอบจอมหงวน
    - เริ่มติดต่อค้าขายกับอาหรับ ตะวันออกกลาง และยุโรป ผ่านเส้นทางสายไหม
    - พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแพร่เข้าสู่จีน
    2. ประวัติศาสตร์จีนสมัยกลาง
    เป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมมาก เป็นช่วงที่ชาวต่างชาติเข้ามายึดครองดินแดนจีน และแบ่งแยกดินแดน และรวมประเทศอีกครั้งในสมัยราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถังมีความเจริญทางพระพุทธศาสนามาก ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งมีความเจริญในด้านศิลปวัฒนธรรม แต่อ่อนแอด้านทหาร จึงถูกยึดครองโดยพวกมองโกล สถาปนาราชวงศ์หยวน
    ราชวงศ์ถัง
    - เป็นยุคทองแห่งศิลปวัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะวรรณกรรมและกวีนิพนธ์ เจริญรุ่งเรืองมาก
    กวีคนสำคัญ คือ เช่าหลี่ไป๋ (หรือลิโป) และตู้ฝู่
    - พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก
    - พระภิกษุถังเสวียนจาง(ถังซำจั๋ง) เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกในชมพูทวีป
    - การค้าขายกับตะวันออกกลางและยุโรปตาม
    เส้นทางสายไหมเฟื่องฟูมากในยุคราชวงศ์นี้
    ราชวงศ์ซ่ง
    - ฟื้นฟูและสนับสนุนลัทธิขงจื้อ
    - เกิดศิลปวิทยาการทันสมัยหลายอย่าง เช่น ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ตัวหนังสือ รักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ใช้เข็มทิศแม่เหล็กในการเดินเรือ
    - ยุคทองของจิตรกรรมจีนและเครื่องเคลือบดินเผาจีน
    - เกิดประเพณีรัดเท้าสตรี
    ราชวงศ์หยวน
    - ราชวงศ์แรกของชนต่างเผ่า (มองโกล)
    - ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ปักกิ่ง มีการวางผังเมืองอย่างดี
    - ชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายมาก เช่น มาร์คโค โปโล พ่อค้าชาวอิตาลี
    - ติดต่อค้าขายกับไทย ในสมัยสุโขทัย
    3. ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ได้ขับไล่พวกมองโกลออกไป แล้วสถาปนาราชวงศ์หมิง
    แล้วต่อด้วยราชวงศ์ชิงของพวกแมนจู
    ราชวงศ์หมิง
    - ขับไล่ชาวมองโกลออกไป
    - ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมจีน โดยลอกเลียนศิลปวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์ถัง
    - สร้างพระราชวังหลวงปักกิ่ง(วังต้องห้าม) เป็นยุคทองของสถาปัตยกรรม
    - การค้าในระบบบรรณาการเฟื่องฟูมาก (ระบบจิ้มก้อง)
    - เกิดนวนิยายสำคัญ สามก๊ก ไซอิ๋ว ตอกบัวทอง(จินผิงเหมย)
    - หลังจากนั้นไม่นานจีนก็ปิดประเทศ เพราะกลัวอิทธิพลชาติตะวันตก
    ราชวงศ์ชิง
    - ราชวงศ์สุดท้ายของจักรวรรดิจีน
    - เป็นราชวงศ์ของชนต่างเผ่า (แมนจู)
    - เป็นยุคที่กลับมาติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกอีกครั้ง
    - เริ่มถูกรุกรานจากชาติตะวันตก เช่น สงครามฝิ่น ซึ่งรบแพ้อังกฤษ ทำให้ต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิง
    - ปลายยุคราชวงศ์ชิง พระนางซูสีไทเฮามีอิทธิพลในการบริหารประเทศมาก
    4. ประวัติศาสตร์จีนสมัยปัจจุบัน จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบสาธารณรัฐ โดยดร. ซุน ยัตเซน ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ได้ปฎิวัติโดยการนำของเหมา เจ๋อตง จีนจึงเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ ค.ศ. 1949 จนถึงปัจจุบัน
    การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อินเดีย
              ใช้หลักเกณฑ์พัฒนาการของอารยธรรมอินเดีย และเหตุการณ์สำคัญเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ
    อารยธรรมอินเดียเริ่มตั้งแต่สมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุของพวกดราวิเดียนเมื่อปี 2500 ปีก่อนคริสศักราช
    จนกระทั่งอารยธรรมล่มสลายลง เมื่อ 1500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อชาวอารยันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
    ก่อตั้งอาณาจักร มีศาสนาเกิดขึ้นมากมาย เรียกว่า สมัยพระเวท
    สมัยพระเวท
              เป็นอารยธรรมชนเผ่าอารยัน ที่เข้ายึดครองดราวิเดียนหรือชาวทราวิฑที่ถูกขับไล่ให้ถอยร่นลงทางใต้ ชาวอารยันให้กำเนิดศาสนาพราหมณ์ และ ระบบวรรณะ 4 วรรณกรรมสำคัญในยุคนี้ ได้แก่
    - คัมภีร์พระเวท เป็นบทสวดของพวกพราหมณ์ ใช้วิธีท่องจำต่อๆกันมา ประกอบด้วย 4 คัมภีร์คือ ฤคเวท ยชุรเวท ไตรเวท และ อาถรรพเวท
    - มหากาพย์รามายณะ สันนิษฐานว่าแสดงถึง การต่อสู้ระหว่างชาวอารยัน (พระราม) กับชาวทราวิฑ (ทศกัณฑ์) แต่งโดยฤษีวาลมิกิ
    - มหากาพย์มหาภารตยุทธ ว่าด้วยการต่อสู้ของพี่น้องสองตระกูล (ปานฑพ-เการพ)
    - คัมภีร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งกฎหมาย ศาสนบัญญัติ จารีตประเพณี หลักศีลธรรม

    สมัยประวัติศาสตร์อินเดีย
    1.) ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยโบราณ เริ่มต้นในสมัยมหากาพย์ ซึ่งมีการใช้ตัวอักษรอินเดียโบราณในการบันทึกเรื่องราว ต่อมาอินเดียมีการรวมตัวครั้งแรกในสมัยมคธ จนถึงจักรวรรดิภายใต้การปกครองของราชวงศ์ เมารยะ     กุษาณะ และคุปตะ
    จักรวรรดิมคธ
              เกิดศาสนาพุทธ และมีการใช้ภาษาบาลี (มคธ) เกิดศาสนาเชน ผู้ก่อตั้งคือ วรรธมาน มหาวีระ
    ราชวงศ์เมาริยะ
              พระเจ้าจันทรคุปต์ ได้รวบรวมแว่นแคว้นในดินแดนชมพูทวีปให้เป็นปึกแผ่นเริ่มการปกครองโดยรวบอำนาจ
    ไว้ที่กษัตริย์ และเมืองหลวง พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแว่นแคว้นต่างๆหลังราชวงศ์เมารยะล่มสลาย เกิดการแตกแยกเป็นแว่นแคว้น
    ราชวงศ์กุษาณะ
              พวกกุษาณะเป็นชนต่างชาติที่เข้ามารุกราน และตั้งอาณาจักรปกครองอินเดียทางตอนเหนือ
    ด้านการแพทย์เจริญมากในสมัยพระเจ้ากนิษกะส่งสมทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนานิกายมหายานที่จีนและธิเบต
    ราชวงศ์คุปตะ
              พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 ทรงรวบรวมอินเดียให้เป็นจักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง เป็นยุคทองของอินเดีย
    ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม การเมือง ปรัชญา ศาสนา
    2.) ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยกลาง เป็นช่วงความวุ่นวายของการเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมุสลิม ตั้งสุลต่านแห่งเตลฮี
    จักรวรรดิโมกุล
              พระเจ้าบาบูร์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์โมกุล นับถือศาสนาอิสลาม เป็นราชวงศ์สุดท้ายของอินเดีย พระเจ้าอักบาร์มหาราช ทรงทำนุบำรุงอินเดียให้มีความเจริญรุ่งเรืองทุกด้าน และทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา สร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ พระเจ้าซาร์ เจฮัน ทรงเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดและศรัทธาในศาสนาอิสลาม เป็นผู้สร้าง ทัชมาฮาล ที่มีความงดงาม
    3.) ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่
              เมื่ออาณาจักรเตลฮี ล่มสลาย พวกมุคัลได้ตั้งราชวงศ์ ช่วงนี้อังกฤษได้เข้ามาปกครองอินเดียโดยตรง
    ในปี ค.ศ.1858 ถึง ค.ศ. 1947 จึงได้รับเอกราชจากอังกฤษ
    สมัยอาณานิคมอังกฤษ ปลายสมัยอาณาจักรโมกุล กษัตริย์ทรงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ต้องเพิ่มภาษีและเพิ่มการเกณฑ์แรงงาน ทำให้ราษฎรอดอยาก และยังกดขี่ทำลายล้างศาสนาฮินดูและชาวฮินดูอย่างรุนแรง เกิดความแตกแยกภายในชาติ เป็นเหตุให้อังกฤษค่อยๆเข้าแทรกแซงและครอบครองอินเดียทีละเล็กละน้อย ในที่สุดอังกฤษล้มราชวงศ์โมกุลและครอบครองอินเดียในฐานะ อาณานิคมอังกฤษ สิ่งที่อังกฤษวางไว้ให้กับอินเดียคือ รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา การศาล การศึกษา ยกเลิกประเพณีบางอย่าง เช่น พิธีสตี (การเผาตัวตายของหญิงฮินดูที่สามีตาย)
    4.) ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยปัจจุบัน
               ภายหลังได้รับเอกราช ถูกแบ่งแยกออกเป็นประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ
    สมัยเอกราช
               หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการชาตินิยมอินเดียนำโดย มหาตมะ คานธี และ เยาวราลห์ เนห์รู
    เป็นผู้นำเรียกร้องเอกราช มหาตมะ คานธี ใช้หลักอหิงสา (ความไม่เบียดเบียน ความสงบ) ในการเรียกร้องเอกราชจนประสบความสำเร็จ หลังจากได้รับเอกราชอินเดียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่จากความแตกแยกทางเชื้อชาติและศาสนาทำให้อินเดียต้องแตกแยกเป็นอีก 2 ประเทศ คือ ปากีสถาน(เดิมคือปากีสถานตะวันตก)และบังคลาเทศ (ปากีสถานตะวันออก)


    ประวัติศาสตร์ตะวันตก
    ประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยโบราณ
     
               สมัยโบราณในยุโรป หรือบางครั้งเรียกว่า “สมัยคลาสสิค” ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ 10
    (ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 5) เริ่มตั้งแต่เมื่อชนชาวสุเมเรียนประดิษฐ์ ตัวอักษรรูปลิ่ม หรือตัวอักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) ขึ้นใช้ เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตร์ศักราช “สมัยคลาสสิค” เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกสมัยของประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่มีศูนย์กลาง อยู่ในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งประกอบด้วยวัฒนธรรมของกรีก โบราณ และ โรมันโบราณที่เรียกรวมกันว่าโลกกรีก-โรมัน การสิ้นสุดของสมัยโบราณเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การล่มสลายจักรวรรดิโรมันอันเนื่องมาจาก การรุกราน ของอนารยชนเผ่าเยอรมันเมื่อ พ.ศ.1010 คือจุดสิ้นสุดของสมัยโบราณ
    อียิปต์
                ศูนย์กลางของอารยธรรมอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำไนล์ เป็นสังคมเกษตรกรรมที่พัฒนามาจนเป็นเมือง ( โมนิส )
    มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกและการสร้างเขื่อน กษัตริย์ที่ขึ้นปกครอง เรียกว่า ฟาโรห์ เป็นกึ่งกษัตริย์กึ่งเทพเจ้า
    โครงสร้างทางสังคมแบ่งเป็น 3 ชนชั้น
    1. เจริญรุ่งเรืองด้านอารยธรรม มีการประดิษฐ์อักษรภาพ เรียกว่า เฮียโรกริฟฟิค บันทึกลงแผ่นกระดาษปาปิรุส
    นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เทพเจ้าสูงสุด คือ รา หรือ เร ( สุริยเทพ ) เทพเจ้าที่สำคัญ คือ เทพโอซิรุส
    2. เชื่อเรื่องวิญญาณและเชื่อเรื่องโลกหน้า จึงทำให้มีการทำมัมมี่เพื่อรักษาร่างผู้ตายไม่ให้เน่าเปื่อย
    สร้างพีระมิดไว้เก็บศพฟาโรห์
    3. ศิลปะสะท้อนความคิดและความเชื่อของคนในสังคม เช่น การสร้างพีระมิด สฟิงซ์ วิหารเทพเจ้า
    เสาโอเบลิสก์ คัมภีร์มรณะ (Bock of the Dead)

      
    เมโสโปเตเมีย 
                 เมโสโปเตเมีย เป็นดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ ไทกริสและยูเฟรติส เป็นดินแดนที่อากาศร้อนและกันดารฝน น้ำที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นน้ำจากแม่น้ำที่มาจากหิมะละลาย ในภาคฤดูร้อน บนเทือกเขาในอาร์มิเนีย ซึ่งน้ำจะพัดพาเอาโคลนตมมาทับถมชายฝั่งทั้งสอง ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก
    ชาติแรกที่เข้ามา คือ สุเมเรียน (ประมาณ 3200-2800 ปีก่อนคริสตกาลตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ซูเมอร์ (Sumer) ทางใต้ของเมโสโปเตเมีย) ซึ่งมีความเจริญด้านการเกษตร และยังรู้จักการชลประทานและจัดการปกครองแบบนครรัฐได้เป็นครั้งแรก 
     
    กรีก
              กรีก เป็นเชื้อสายอินโด ยูโรเปี้ยน เรียกวัฒนธรรมตนเองว่า เฮเลนนีส (Hellenes) มีศูนย์กลางอยู่ที่เอเธนส์ มีการปกครองแบบนครรัฐ ศูนย์กลางของนครรัฐอยู่ที่ อะโครโปลิส มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาก การเดินทางไปค้าขายกับดินแดนต่างๆ ทำให้ชาวกรีกมีโลกทัศน์กว้างขวางและรับวัฒนธรรมจากดินแดนต่างๆทำให้ชาว กรีก เป็นคนอยากรู้อยากเห็น เชื่อมั่นในเหตุผล เชื่อในดุลพินิจของตน ส่งผลต่อแนวคิดมนุษย์นิยม (Humanism)
     
    โรมัน
              ถือว่าเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมกรีก เพราะผสมผสานระหว่าง วัฒนธรรมกรีกกับของอีทรัสกันเข้าด้วยกัน
    เช่น การวางผังเมือง การแกะสลักเครื่องปั้นดินเผา ท่อระบายน้ำ การใช้ประตูโค้ง
    โรมันปกครองแบบสาธารณรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ประมุขฝ่ายบริหาร 2 คน และ สภาเซานท์หรือสภาสูง 300 คน
    ประกอบด้วยชนชั้นสูงและเจ้าของที่ดิน (Patrician)
    ส่วนสภาราษฎรประกอบด้วยพลเมืองโรมัน ทั้งพาทริเชียนและพลีเบียน คือ ชนชั้นสามัญ
     
    ประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยกลาง
               ช่วงเวลาประมาณ 1,000 ปี ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 10 - กลางพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยกลางเป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างความเจริญของสมัยโบราณ ซึ่งเป็นบทบาทการสร้างสรรค์ของกรีกโรมันเป็นสำคัญ รวมทั้งการฟื้นฟู ความเจริญของกรีกโรมันขึ้นมาอีกครั้งในระยะเริ่มสมัยใหม่ ในสมัยกลางนี้ ช่วงแรกจะเป็นอาณาจักรย่อยๆ ของอนารยชนเยอรมันเผ่าต่างๆ ต่อมาพวกแฟรงค์ชนเผ่าเยอรมันเผ่าหนึ่งสามารถสถาปนา จักรวรรดิของตนขึ้นมาได้และยอมรับนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยโรมัน ที่ยังคงสืบทอดต่อมา จักรวรรดิของพวกแฟรงค์จึงมีชื่อว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดช่วงเวลาสมัยกลางของสากลโลกไว้ว่า การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก
     
    ประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่
                เริ่มตั้งแต่ปีที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส(Christopher Columbus) ค้นพบโลกใหม่ หรือทวีปอเมริกาสิ้นสุดลงในปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ยุโรปสมัยใหม่ เป็นสมัยแห่งการฟื้นฟูอารยธรรมกรีก-โรมัน มีการพัฒนาทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะวิทยาการ เป็นยุคที่มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก และแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ
     
    ประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยปัจจุบัน
                  เป็นช่วงเวลาของอารยธรรมหนึ่งๆ ซึ่งเป็นช่วงที่แต่ละอารยธรรม จะมีเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างแพร่หลายและมีการตระหนักถึง การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธี นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดช่วงเวลาที่เป็น "สมัยปัจจุบัน" ของสากลโลกไว้ให้ตรงกับ ค.ศ. 1945 จนถึงปัจจุบันนี้ โดยเริ่มนับจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นมา
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×