ละมุด - ละมุด นิยาย ละมุด : Dek-D.com - Writer

    ละมุด

    การปลูกและดูและรักษา

    ผู้เข้าชมรวม

    8,224

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    5

    ผู้เข้าชมรวม


    8.22K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  25 มิ.ย. 53 / 22:58 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    การปลูกละมุด
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ละมุด
      (Sapodilla)

      ชื่อสามัญ: Sapodilla plum, Sapota
      ชื่อพื้นเมือง: ละมุด
      ชื่อวิทยาศาสตร์  :   Achras sapote Linn.
      ชื่อวงศ์ : SAPOTACEAE
      ถิ่นกำเนิด : เขตร้อนแถว เม็กซิโก  อเมริกากลาง และอินเดียตะวันตก
      แหล่งปลูกในไทย : อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
       
       
      บทนำ
      ละมุดเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ผลกลมรีเหมือนไข่ไก่สีน้ำตาล มีรสหวาน รับประทานเมื่อผลสุก หลังจากปอกเปลือกแล้ว เนื้อของละมุดจะมีสีน้ำตาลแดง ผลละมุดมีสารอาหารหลากหลาย และมีสรรพคุณใช้เป็นยาสมุนไพร นอกจากนี้ยางละมุด(LATEX) ซึ่งมีสีขาวอยู่ทั่วทุกส่วนของลำต้น ยังมีประโยชน์สำหรับทำ CHICLE GUM และ CHEWING GUM นำไปใช้ทำหมากฝรั่งได้อีกด้วย   
      สรรพคุณทางยาสมุนไพร
      * เปลือกต้นละมุดฝรั่งนำมาต้มเป็นยาแก้บิด
      * ผลละมุดสุกนำมารับประทานเป็นผลไม้ หรือเตรียมผลไม้
      * ยางจากละมุดดิบใช้เป็นยาถ่ายพยาธิอย่างแรง
      * เมล็ดละมุดเป็นยาบำรุง
       
      คุณค่าทางโภชนาการและอาหารในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม
      พลังงาน             71     แคลอรี่               โปรตีน               77.3    กรัม
      ไขมัน                 0.8     กรัม                
      คาร์โบไฮเดร    15.6    กรัม
      เส้นใยอาหาร     5.6     กรัม     
      แคลเซียม          15      มิลลิกรัม
      ฟอสฟอรัส        6      มิลลิกรัม             
      เหล็ก                  0.6    มิลลิกรัม
      เบต้าแคโรทีน   22     ไมโครกรัม           
      วิตามีนบี 1           0.01   มิลลิกรัม
      ไนอะซีน         0.6     มิลลิกรัม             
      วิตามีนซี            47       มิลลิกรัม
       
       เคล็ดลับการเลือกซื้อละมุด
      วิธีเลือก : ให้ลองจับเบาๆ ถ้าผิวไม่นุ่มมากก็เลือกซื้อได้ ลักษณะผิวดูเกลี้ยงกลม ผิวสีน้ำตาลธรรมชาติ ขั้วไม่หัก จะได้ละมุดคุณภาพดี
        
      ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

      ต้น : เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15-20 เมตร ต้นแผ่กิ่งก้านสาขาแข็งแรง กิ่งเหนียวไม่หักง่าย เมื่อต้นยังไม่แก่ เปลือกจะเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อต้นแก่เปลือกจะแยกแตกออกจากกัน เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาล
      ใบ :  ใบมีสีเขียวเข้มค่อนข้างแข็ง หนา เรียบ รูปรี ปลายใบแหลมเล็กน้อย ยาว ประมาณ 10-15เซนติเมตร กว้าง ประมาณ 3-7 เซนติเมตร ด้านบนใบเป็นมัน ใต้ท้องใบสีเขียวอ่อน เกิดเป็นกระจุก แน่นตามปลายกิ่ง
      ดอก : เป็นดอกเดี่ยว เกิดตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นแตร มีสีเหลืองนวล
      ผล : รูปไข่ ยาวรีหรือกลม ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เปลือกผลบางมีสีน้ำตาลอ่อน ผลขณะยังดิบอยู่จะมียางสีขาว มีรสฝาด เนื้อแข็ง เมื่อสุกจะไม่มียาง เนื้อผลมีสีน้ำตาลปนแดง ผลมีรสหวานหอม เนื้อมีทั้งกรอบและนิ่ม
      เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะแข็งสีดำเป็นมัน  เปลือกแข็ง รูปร่างยาวเรียวประมาณ 4 เซนติเมตร ในผลหนึ่ง ๆ มีเมล็ดประมาณ 2 - 6 เมล็ด
       
       
      พันธุ์และการขยายพันธุ์
       
      พันธุ์
      ละมุดที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ
      1. ละมุดไทยหรือละมุดสีดา
      2. ละมุดฝรั่ง
      -
      การขยายพันธุ์
      1. เพาะเมล็ด  ให้ผลเมื่ออายุ 6 ปี
      2. ตอนกิ่ง  จะให้ผลเมื่ออายุครบ 3 ปี
      หมายเหตุ: หลังตัดกิ่งตอนจากต้นแม่ ควรชำไว้ในถุงเพาะชำ พักไว้ในโรงเรือน 1-2 เดือน ก่อนนำไปปลูกในแปลง
       
       การปลูกและการดูแลรักษา
       
       การปลูกละมุด
       ปกติใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร
      ฤดูกาลปลูก ควรเริ่มปลูกตั้งแต่ฤดูฝนไปจนถึงกลางฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด
      วิธีการปลูก
      1. เตรียมหลุมขนาด 30×30× 30 เซนติเมตร โดยคลุกดินล่างกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1 ปุ้งกี๋ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเกลี่ยลงหลุม
      2. นำกิ่งพันธุ์ละมุดที่ได้จากการตอนหรือชำมาปลูก โดยนำต้นที่นำภาชนะปลูกออกแล้ววางลงในหลุมที่ขุดไว้ ตั้งให้ตรง กลบดินเสมอกับตุ้มของกิ่งตอน การกลบดินควรใช้ดินระเอียดกลบรากให้แน่น เพื่อให้รากจับดิน รากจะได้หาอาหารได้เร็วเสร็จ
      3. ปักหลักให้ชิดกับลำต้นให้หลักหยั่งลงไปในดินแล้วผูกกิ่งตอนให้ติดกับหลัก 2 เปลาะเพื่อกันลมโยก
      ควรทำที่บังลมให้ด้วยเพราะการทำเพิงกันแสงแดดให้ต้นละมุดตั้งตัวและเจริญเติบโตได้รวดเร็ว
      4. รดน้ำให้ชุ่ม ถ้าดินยุบควรกลบดินเสียให้เต็มอย่างเก่า
      5.ระยะที่รากเริ่มเจริญละมุดจะแตกใบอ่อน ในระยะนี้ควรฉีดยาดีลดริน 50% หรือเซพวิน 85% โดยใช้ยาดังกล่าว 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปีบ ฉีดเพื่อป้องกันแมลงที่จะมาทำลายใบและยอดอ่อนของละมุด หลังจากนั้นก็ดูแลรักษาตามปกติ
       
      การปลูกพื้นที่แซม
                  ละมุดเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลาง หลังจากปลูกใช้เวลา 3 ปีกว่าจะให้ผลผลิต และปลูกห่างกันพอสมควร ทำให้เหลือพื้นที่ว่างอีกมาก ในระหว่างที่ละมุดยังไม่ติดผลเราสามารถปลูกพืชแซมระหว่างแถวเป็นการเพิ่มรายได้ และช่วยบังลมให้แก่ต้นละมุดในช่วงปีแรกๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดจำนวนวัชพืชในสวนอีกมาก แต่ต้องเป็นช่วงที่ละมุดมีขนาดต้นที่เล็ก พืชที่ปลูกแซมระหว่างแถวละมุดควรเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น กล้วย มะละกอ พริก มะเขือ ฟักทอง หรือพืชล้มลุกที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่นั้น
      การปลูกกล้วยเป็นพืชแซม เมื่อกำหนดระยะปลูกของละมุดแล้ว เราต้องเตรียมหลุมเพื่อปลูกกล้วยทันที โดยมีระยะของหลุมปลูกกล้วยห่างจากโคนต้นละมุดประมาณ 1.5-2 เมตร แล้วทำการปลูกให้เร็วที่สุดก่อนที่จะทำการปลูกละมุดอย่าน้อย 1-2 เดือน เมื่อปลูกกล้วยแล้วจะต้องดูแลรักษาสวนละมุดให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้ามีวัชพืชเกิดขึ้นก็ให้กำจัดเสีย อาจใช้จอบถาง หรือใช้ยากำจัดวัชพืชฉีดพ่น เมื่อกล้วยเจริญเติบโตขึ้น สามารถตัดใบแก่ไปคลุมโคนต้นละมุดเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดิน และเป็นปุ๋ยแก่ละมุดอีกทางหนึ่ง เมื่อละมุดมีอายุ 1 ปี กล้วยก็จะเริ่มตัดเครือได้ ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้วให้นำมาทำปุ๋ย สำหรับหน่อกล้วยที่เกิดใกล้ต้นละมุด ให้ขุดหรือทำลายเพื่อไม่ให้ต้นกล้วยชิดต้นละมุดมากเกินไป ส่วนหน่อที่ต้องการเลี้ยงไว้ควรให้ห่างออกจากโคนต้นละมุด หลังจากปลูกกล้วยเป็นพืชแซมไปแล้วประมาณ 2 ปี ให้ขุดต้นกล้วยออกให้หมดเพื่อให้ต้นละมุดมีการเจริญเติบโตเต็มที
                  สำหรับการปฏิบัติต่อละมุดในช่วงระหว่างที่ปลูกพืชแซมอยู่ นอกจากจะทำการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ  ฉีดยาป้องกันโรคและแมลงแล้ว ในระหว่างนี้ต้นละมุดจะมีการแตกกิ่งก้านสาขา บางครั้งกิ่งล่างทึบไปต้องตัดทิ้งเสียบ้าง โดยตัดกิ่งที่อยู่เตี้ยๆ ติดกับดินออกให้หมด โดยเอากิ่งที่เอาไว้สูงจากพื้นดินประมาณ 70 เซนติเมตรเพื่อให้โคนต้นโปร่ง กิ่งข้างบนจะได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และอากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก
       
       
      การดูแลรักษา   
       
                  1.การให้น้ำ
                 ต้นละมุดที่เพิ่งปลูกใหม่ๆ จะต้องให้น้ำทุกๆวันในตอนเย็นแต่ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาพความชุ่มชื้นของดินและสภาพแวดล้อมต่างๆ
      การให้น้ำละมุดที่ให้ผลผลิตแล้วจะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการออกดอกติดผลแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะว่าละมุดถึงแม้จะทนต่อความแห้งแล้งได้ แต่ละมุดก็เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ละมุดออกดอกและดอกกำลังบานถึงแม้จะมีฝนตกในปริมาณที่ไม่มากนักก็ไม่กระทบกระเทือนต่อการออกดอกติดผล และในช่วงที่ผลแก่และเริ่มจะสุก หากมีฝนตกจะทำให้ความหวานลดลงได้บ้างเล็กน้อยแต่ก็ยังจัดว่ายังหวาน เมื่อฝนเริ่มหายความหวานก็จะกลับเข้าสู่สภาพเดิม ส่วนช่วงฤดูแล้งจะได้ผลที่มีความหวานที่สุดและเนื้อจะกรอบกรอบดี แต่อย่างไรก็ตามในการบังคับน้ำหรือการอดน้ำ ควรกระทำในช่วงหน้าหนาวในระยะผลแก่ก่อนจะทำการเก็บผลประมาณ 20 วัน เพื่อเร่งให้มีความหวานมากขึ้นและเนื้อกรอบ ส่วนการให้น้ำหรือบังคับน้ำเพื่อเร่งการออกดอกจะไม่ความจำเป็น ทั้งนี้เนื่องจากละมุดมีนิสัยที่มีการติดดอกออกผลมากอยู่แล้ว ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลออกไปในแต่ละรุ่น ต้นก็จะมีการสะสมอาหารพร้อมที่จะออกดอกติดผลได้ในรุ่นต่อไป
      วิธีการให้น้ำ
       การให้น้ำในช่วงฤดูแล้งนั้นควรจะให้เป็นระยะๆอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง  และก่อนจะหมดฤดูฝน ผู้ปลูกควรเอาหญ้าที่ได้จากการพรวนดายหญ้ามาสุมโคนต้นเพื่อเป็นการช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดินไว้ให้นาน และช่วยไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นดินน้ำที่รดลงไปก็จะมีระเหยออกมานักซึ่งเป็นการช่วยประหยัดทั้งน้ำเวลาแลละแรงงานได้อีกทางหนึ่งด้วย
       
           2. การให้ปุ๋ย
      ในช่วงระยะการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของละมุดจะต้องการปุ๋ยและธาตุอาหารต่างๆเพื่อใช้ในการสร้างลำต้น ใบ กิ่งก้านสาขา ดอกและผลเหมือนพืชชนิดอื่นๆ อยู่ตลออดเวลา ดังนั้นหลังจากที่เราปลุกพืชแล้ว แม้ว่าธาตุอาหารที่มีอยู่แล้วในดินอย่างเพียงพอในพื้นที่บางแห่ง แต่พอนานๆไปธาตุอาหารต่างๆ โดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก อันได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมก็จะถูกพืชนำไปใช้อยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งขาดแคลนทำให้เราต้องใส่ปุ๋ยซึ่งธาตุอาหารหลักดังกล่าวจะอยู่ในรูปของปุ๋ยอินทรีย์หรือที่เกษตรกรรู้จักกันดีในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกต่างๆ ปุ๋ยหมัก เป็นต้น
      สำหรับการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ให้กับต้นละมุด ในปีหนึ่งๆ ควรจะใส่ให้ 2 ครั้งร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอเช่น 15-15-15 หรือ 13-13-13 หรือสูตรปุ๋ยสูตรอื่น ก็ได้ที่ใกล้เคียงกันนี้ ส่วนปริมาณที่จะใส่ก็ให้ขึ้นอยู่กับสภาพดินหรือความอุดมสมบรูณ์ของต้นละมุดว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้าดินดีหรือต้นละมุดอุดมสมบรูณ์ดีก็ใส่ไม่มากนัก
      วิธีการใส่มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ทำการพรวนดินรอบๆทรงพุ่มแล้วโรยปุ๋ยลงไป จากนั้นพรวนดินกลบอีกครั้งหนึ่ง หรือจะขุดเป็นร่องรอบๆทรงพุ่มของต้นแล้วใส่ปุ๋ยลงไปในร่องเอาดินที่ขุดขึ้นมากลับทับอีกทีหนึ่งก็ได้ ส่วนปุ๋ยคอกที่ใช้ใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีในปีแรกๆ ควรใส่ประมาณ 1 บุ้งกี๋และปีต่อๆไปควรใส่ 2 บุ้งกี๋ต่อต้น
          3.การกำจัดวัชพืช
      วัชพืชต่างๆ ที่เจริญเติบโตอยู่ภายในสวนละมุดจะมีเป็นปัญหามากโดยเฉพาะวัชพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณโคนต้นละมุดที่ยังมีขนนาดเล็กอยู่หรืออเพิ่งปลูกใหม่ๆ เพราะวาในระยะนี้ถ้าวัชพืชงออกขึ้นมาที่โคนต้นแล้วจะทำให้ต้นละมุดได้รับน้ำและธาตุอาหารไม่เพียงพอเป็นเหตุให้ต้นแคระแกรนได้ ทั้งนี้เนื่องจากวัชพืชจะคอยแย่งน้ำและอาหารอยู่ตลลอดเวลาดังนั้นในช่วงที่ต้นละมุดยังเล็กอยู่หากมีวัชพืชขึ้นให้ทำการกำจัดเสียโดยการใช้จอบถากหรือใช้มือถอนออกเสียให้หมด วัชพืชบริเวณโคนต้นที่กำจัดออกแล้วไม่ควรนำไปทิ้งที่อื่นควรจะนำไปคลุกโคนต้นละมุดเพื่อเป็นการรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดินบริเวณโคนต้นและเมื่อวัชพืชเน่าเปื่อยก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นละมุดอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันพวกวัชพืชต่างๆที่เกิดขึ้นมาในรุ่นหลังๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ส่วนวัชพืชที่เจริญอยู่ด้านนอกโคนต้นจะปล่อยทิ้งไว้ก็ได้ แต่ในทางที่ดีควรจะปลูกพืชล้มลุกชนิดอื่นๆแซมเป็นการเพิ่มรายได้และเป็นการกำจัดวัชพืชต่างๆ
       
           4. การตัดแต่งกิ่ง
       การตัดแต่งกิ่งก็จะเริ่มกระทำเมื่อต้นยังเล็กซึ่งเป็นการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ได้ทรงพุ่มตามต้องการ โดยทำการตัดแต่งล่างๆ ที่อยู่ดินกับดินที่อยู่ต่ำกว่า70 เซนติเมตรออกทิ้ง หรือกิ่งที่ไม่ได้รูปทรง หลังจากนั้นก็คอยตัดแต่งกิ่งไปเรื่อยๆ โดยตัดแต่งกิ่งที่อ่อนแอ กิ่งที่แมลงเจาะทำลายเป็นต้น
       การตัดแต่งกิ่งควรตัดให้ชิดโคนต้นหรือโคนกิ่ง แต่ถ้าหากเป็นการตัดแต่งกิ่งตอนปลายควรตัดฝาบวบกันน้ำเข้าแล้วใช้ปูนแดงหรือยากันราทาบริเวณรอยแผลที่ตัดไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลายกิ่งทางบาดแผล การตัดแต่งกิ่งนี้ควรทำทุกครั้งหลังจากเก็บผลหมดแล้ว และหลังจากตัดเสร็จจะต้องทำการใส่ปุ๋ยและฉีดยาป้องกันกำจัดโรคและแมลงไว้ทุกๆครั้งด้วย 
      ศัตรูละมุดและการป้องกันกำจัด
       
      ละมุดเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีโรครบกวน แต่ก็พบว่ามีแมลงบางชนิดที่คอยทำลายละมุดทั้งส่วนของต้นละผลให้ได้รับความเสียหายอยู่เสมอ และเมื่อละมุดถูกแมลงเข้าทำลาย ถ้าปล่อยไว้โดยที่ไม่รีบทำการกำจัดก็จะทำให้ได้รับความเสียหายได้ ศัตรูละมุดมีดังนี้
       
      1.หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง
      ตัวเต็มวัยขนาด 3-5 เซนติเมตร มีปีกสีดำ และสีเหลืองคาดผ่านกลางปีกทั้งสองข้าง  หัวสีดำ มีหนวดยาว หนวดครึ่งหนึ่งที่ติดกับหัวมีสีดำ และด้านปลายมีสีเหลืองส้ม หลังจากตัวแก่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ไว้ตามบริเวณง่ามกิ่งและตามลำต้นที่มีรอยแผล  โดยวางไข่ปีละหนึ่งครั้งในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน  ไข่เป็นฟองเดี่ยว รูปร่างกลมรี ขนาดเล็ก สีเขียวแก่ และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนจนไปถึงสีน้ำตาล ระยะการเป็นไข่ประมาณ 18 วัน ตัวหนอนมีขนาดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีสีขาว ปล้องมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนหัวมีสีดำ ปากมีเขี้ยว ตัวหนอนจะเข้าดักแด้บริเวณลำต้นหรือกิ่ง เจาะและเข้ากัดกินอยู่ภายในลำต้นหรือกิ่ง จากนั้นก็จะออกเป็นตัวแก่ ผสมพันธุ์และวางไข่ทำลายต้นละมุดในปีต่อไป
       การทำลายของหนอนชนิดนี้เมื่อฟักออกจากไข่แล้วตัวหนอนจะกัดกินบริเวณผิวเปลือกของลำต้นและกิ่งละมุดที่ตัวแก่วางไข่ไว้และจะเจาะข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นและกิ่งโดยที่ตัวหนอนจะเข้ากัดกินขึ้นไปทางส่วนยอดและเดินทางตามรอยที่เจาะไว้ลงมาก็กินเข้าสู่โคนต้นหรือโคนกิ่งเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าระยะดักแด้ สามารถสังเกตเห็นการทำลายของหนอนชนิดนี้ได้ง่ายคือ บริเวณลำต้นหรือกิ่งที่ถูกหนอนเจาะทำลายจะเป็นรูเป็นระยะๆและบางรูก็มีขี้หนอนอยู่ด้วย
      ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการแก้ไขจะทำให้ส่วนของลำต้นหรือกิ่งที่อยู่เหนือรอยเจาะเหี่ยวแห้งตาย หากเป็นต้นละมุดที่ให้ผลผลิตจะทำให้ผลผลิตลดลง แต่ถ้าเกิดกับต้นละมุดที่ยังไม่ให้ผลผลิตหรือมีอายุประมาณ 1-2 ปี หลังจากปลูกทำให้ต้นละมุดตายทั้งต้นเพราะตัวหนอนจะเจาะเข้าไปในลำต้นและจะกัดกินถึงโคนและราก
      การป้องกันกำจัด
      1.       หมั่นตรวจบริเวณโคนต้นละมุดบ่อยๆ ในเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม หากพบขี้หนอนตกอยู่ให้ทำการสำรวจกิ่งที่ถูกหนอนเจาะทันที ซึ่งเราจะเห็นเป็นรูเป็นระยะๆและบางรูก็มีตัวหนอนกัดกินอยู่ภายในให้ใช้มีดถากบริเวณที่พบรูนั้นเมื่อพบตัวหนอนก็นำมาทำลายเสียเพื่อไม่ให้เป็นตัวแก่มาวางไข่และเป็นตัวหนอนเจาะกินกิ่งและลำต้นต่อไป
      2.       กิ่งที่มีตัวหนอนเข้าทำลาย สังเกตกิ่งที่มีขี้หนอนใหม่ๆหากพบแล้วให้ใช้ยาดีลดรินผสมกับน้ำแล้วเอาสำลีมาชุบยาอัดเข้าไปในรูของกิ่งที่ถูกหนอนเข้าทำลายแล้วใช้ดินเหนียวหรือดินน้ำมันปิดปากรรูอีกสักทีหนึ่งหรืออาจใช้เข็มฉีดยาดูดน้ำยาแล้วฉีดเข้าไปในรูใช้ดินเหนียวหรือดินน้ำมันปิดปากรูเสียอีกทีหนึ่งก็ได้จะทำให้ตัวหนอนที่กัดกินอยู่ภายในลำต้นตายในเวลาต่อมา
      3.       ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงพวกมาซูดิน 60 %หรือพวกอโซดริน 50% โดยฉีดพ่นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ทุกๆๆ 15 วันต่อครั้งตามลำดับและกิ่งสามารถป้อองกันตัวแก่ที่จะมาวางไข่ได้
       
       2.หนอนเจาะผลละมุด
      ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลางมีปีกบนสีเทาปีกล่างสีเทาใส เมื่อกางปีกออกจะกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร หลังจากที่ตัวแก่ผสมพันธุ์และวางไข่แล้ว ไข่ก็จะฟักตัวหนอนมีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ตัวหนอนมีตั้งแต่ตัวสีแดงอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแดงหลังจากกัดกินผลละมุดแล้วระยะหนึ่งก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายในผลนั้นๆ หนอนชนิดนี้จะเข้าไปกัดกินภายในผลละมุดทำให้ผลละมุดเสียหายและไม่สามารถนำไปขายได้เพราะจะเกิดเป็นรอยตำนิ และจะมีตัวหนอนและขี้หนอนอยู่ภายใน ผลละมุดที่ถูกหนอนเจาะทำลายดังนั้นผลละมุดที่ถูกหนอนชนิดนี้เจาะกัดกินอยู่ภายใน เราสังเกตได้โดยเห็นรูบริเวณนั้นจะมีขี้หนอนติดอยู่ การทำลายนั้นตัวหนอนจะเริ่มเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผลได้ตั้งแต่ผลที่มีขนาดเล็กจนกระทั่งผลสุก และต้นละมุดที่ติดผลดกมากๆมักจะพบหนอนชนิดนี้เข้าทำลายมาก
      การป้องกันกำจัด
      1 . ตัดแต่งกิ่งละมุดให้ต้นโปร่งเพื่อไม่ให้ผลเบียดกันซึ่งเป็นสาเหตุให้หนอนเข้าทำลาย
      2 . เก็บผลละมุดที่ถูกหนอนชนิดนี้เข้าทำลายกัดกินอยู่ภายในไปทำลายโดยการเผาไฟ
      3 . ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงพวกมาลาไธออนป้องกันไว้ในระยะที่ต้นละมุดกำลังให้ผล โดยฉีดพ่นประมาณ 15 วันต่อครั้ง
       
      3.หนอนไชเปลือกละมุด
      ต้นละมุดที่กำลังจะเริ่มให้ผลผลิตนั้นส่วนของลำต้นและเปลือกยังไม่แข็งแรงจะมีตัวหนอนขาวๆมองเห็นเป็นปล้อง ปากเป็นสีดำกัดกินต้นละมุดได้ หากเป็นต้นละมุดที่ใหญ่หรือให้ผลผลิตแล้วเปลือกลำต้นจะแข็งแรงมากขึ้นไม่ค่อยพบหนอนชนิดนี้เข้าทำลายมากนัก
       การป้องกันกำจัด
      1.       รักษาความสะอาดบริเวณโคนต้นละมุดอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของตัวหนอนและตัวแก่ของหนอนที่จะเข้าทำลายละมุด
      2.       ถ้าเกิดมีหนอนชนิดนี้ทำลายต้นละมุด เราจะสังเกตได้ง่าย คือจะมีขี้หนอนหล่นอยู่ตามพื้นดินและดูกิ่งที่มีขี้หนอนหล่นอยู่ก็จะพบรูให้ใช้เหล็กแหลมๆๆหรือลวดไชไปตามรูจนพบหนอนให้จับทำลายเสีย
      3.       ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงพวกมาลาไธออนตามลำต้นและกิ่งให้ทั่วถึงก็สามารถป้องกันตัวแก่ของหนอนที่จะมาวางไข่ได้
       
       4.  เพลี้ยแป้ง
      เป็นแมลงศัตรูละมุดที่ไม่ค่อยร้ายแรงนัก เป็นแมลงพวกปากดูดขนาดเล็กเคลื่อนไหวช้า ลำตัวมีปุยสีขาวปกคลุมอยู่สามารถมองเห็นได้ชัด
      เข้าทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน กิ่งอ่อน ทำให้ส่วนต่างๆที่ถูกเพลี้ยแป้งเกาะดูดกินอยู่นั้นไม่เจริญเติบโตตามปกติ แคระแกร็น
      การป้องกันกำจัด
      หากพบว่ามีเพลี้ยแป้งเกิดระบาดขึ้นให้ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง เช่น มาลาไธออน หรือ พาราไธออนอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนวิธีใช้ก็ให้ดูตามคำแนะนำของยาชนิดนั้นๆ เป็นประการสำคัญ
       
      5.หนอนชอนใบ
      เข้าทำลายโดยการกัดกินใต้ผิวใบอ่อนทำให้ใบที่ถูกทำลายนั้นเกิดเป็นรอยหรือเป็นทาง ซึ่งมีผลทำให้ใบไม่สมบรูณ์ แต่ก็ไม่ค่อยมีปัญหานัก
      การป้องกันกำจัด
      โดยการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ป้องกันไว้ทุกๆครั้งที่ละมุดแตกยอดอ่อนหรือใบอ่อน 
                  นอกจากแมลงศัตรูละมุดที่กล่าวมาแล้ว ยังมีศัตรูอีกจำพวกหนึ่งที่คอยกัดกินผลละมุดที่กำลังสุก ซึ่งเราเรียกว่า “สัตว์พืช” เช่น พวกกระรอก กระแต และค้างคาว เป็นต้น แต่ส่วนมากแล้วจะไม่มีปัญหาเพราะละมุดนั้นเราจะทำการเก็บเกี่ยวในขณะที่ผลแก่เต็มที่ 
      การออกดอกและการติดผล
       
      ดอกละมุดจะออกบริเวณปลายกิ่งโดยตายอดที่จะออกดอกของกิ่งแต่ละกิ่งนั้นอาจจะออกดอกเลยหรืออาจะมีการเจริญเติบโตเป็นยอดอ่อนหรือใบอ่อนก่อนแล้วแล้วค่อยออกดอกตามมาก็ได้ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาพความสมบรูณ์ของต้น ยอดและสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การออกดอกติดผลในช่วงที่ฝนตกมาก มักมีการออกดอกและติดผลดี
      ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการออกดอกของละมุดในรอบ 1 ปี จะมีการออกดอกได้ 4 ช่วงคือ
      ช่วงที่ 1. เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
      ช่วงที่ 2. เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
      ช่วงที่ 3. เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธุ์
      ช่วงที่ 4. เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
      ในรอบหนึ่งปีละมุดจะมีการออกดอก 4 ช่วง โดยที่แต่ละช่วงของการออกดอกจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 -35 วัน และจากช่วงเวลาออกดอกของละมุดจากช่วงหนึ่งไปยังอีกช่วงหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 -35 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณดอกในแต่ละช่วงว่ามีมากน้อยเพียงไรโดยที่การมีช่วงการออกดอกติดผลมากจะทำให้ช่วงการออกดอกถัดไปก็จะใช้เวลานานขึ้น
      การเจริญเติบโตของดอกละมุดจากดอกเริ่มตูมจนถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 20 - 24 วันและการเจริญเติบโตของผล จากดอกบานจนกระทั่งผลแก่เก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาประมาณ 7 – 8 เดือน
      ละมุดจะให้ผลผลิตระยะแรกน้อย และจะเพิ่มข้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก
      ต้นละมุดอายุ 3 ปี จะให้ผลปีละประมาณ 100-200 ผลต่อต้น
      ต้นละมุดอายุ 4-6 ปี จะให้ผลปีละประมาณ 300-500 ผลต่อต้น
      ต้นละมุดอายุ 7-10  ปี จะให้ผลปีละประมาณ 600-900 ผลต่อต้น
      ต้นละมุดที่ให้ผลผลิตเต็มที่อาจให้ผลถึง 2000-3000 ผลต่อต้นและสามารถให้ผลผลิตไปได้จนอายุ 70-80 ปี อย่างไรก็ตามจำนวนผลละมุดที่ให้ในแต่ละปีต่อต้นอาจขึ้นอยู่กับพันธุ์ละมุดที่ใช้ปลูกหรือการดูรักษาของผู้ปลูกเอง
       
      การเก็บเกี่ยวและปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว
       
      การเก็บเกี่ยว
      วิธีการเก็บผลถ้าละมุดยังเตี้ยก็สามารถทำได้ง่าย โดยการใช้มือเก็บ แต่เมื่อต้นละมุดมีอายุมากขึ้นทรงพุ่มก็สูงตามอายุไปด้วยในการเก็บผลก็สามารถเก็บได้ด้วยมือเฉพาะผลที่อยู่ด้านล่างๆของต้นเท่านั้น แต่ผลที่อยู่สูงๆขึ้นไปการใช้มือเก็บก็ยังทำได้ยาก ชาวสวนมักนิยมใช้เครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลไม้ที่เรียนว่า “ตะกร้อ” สอยผลที่แก่จัดแทน
       
      การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวละมุด
      การล้างผล
      ละมุดที่เก็บออกจากสวนหรือต้นส่วนมากมีผิวที่สกปรกโดยเฉพาะยางที่ก้านผลหรือขั้วผลทำให้ผิวเปลือกสกปรกได้มาก การล้างผลทั่วๆไป หรือการล้างในปริมาณน้อยจะใช้สวิงซึ่งมีตาห่าง จากนั้นจะเทละมุดลงไปให้เต็มแล้วรวบปากสวิงให้อยู่ในระดับผิวน้ำเขย่าไปมา ผลละมุดที่อยู่ภายในเสียดสีกัน ทำให้ยางหรือขุยที่ติดอยู่บริเวณผิวผลหลุดออกไปทำให้ผิวสะอาด
      การล้างผลออีกวิธีหนึ่งซึ่งเหมาะในการล้างละมุดที่มีปริมาณมากๆโดยใช้การล้างด้วยเครื่องมือ ลักษณะเป็นถังโลหะทรงกลมยาวปิดหัวและท้ายมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตรยาวประมาณ 150 เซนติเมตร รอบนอกบุด้วยแผ่นเหล็กหรือสังกะสีที่มีความหนาพอสมควร ด้านในติดสายยาง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้วตามความยามของถังไว้ 2-3 อันเพื่อช่วยให้ผลสะอาดเร็วขึ้นตรงกลางถังมีช่องเปิดปิดสำหรับใส่ละมุด และหัวท้ายเป็นแกนออกมาเพื่อที่จะใช้แขวนกับคานที่ทำเป็นขาสูงขึ้น และสามารถเลื่อนถังขึ้นลงได้ ส่วนของแกนจากถังด้านหนึ่งต่อเชื่อมกับเพลาไปยังมอเตอร์เพื่อที่จะให้หมุนถัง เมื่อเวลาล้างก็นำละมุดลงใส่ในถัง โดยขนาดของถังดังกล่าวจะสามารถล้างได้ครั้งหนึ่งประมาณ 100-150 กิโลกรัมโดยจุ่มถังลงในน้ำให้ได้ระดับเท่ากับปริมาณของละมุดที่ใส่ในถังแล้วแล้วปิดฝา เปิดสวิตมอเตอร์ ถังก็จะหมุน จนกระทั่งผลสะอาด (10-15 นาที) แล้วนำขึ้นมาคัดขนาด แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง และเล็ก
      การย้อมสี
      จุดประสงค์การย้อมสีเพื่อให้ละมุดมีผิวสวยน่ารับประทาน ขายได้ราคาดี  การย้อมทำโดยย้อมด้วยปูนแดงกะให้น้ำปูนสีแดงพอจับผิว  ย้อมโดยการใช้สีใส่ขนม จะใช้สีเหลืองอ่อนปนกับสีเหลืองแก่ผสมลงในน้ำกะให้สีพอจับติดมือแล้วนำละมุดจุ่มน้ำทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีนำขึ้นมาวางบนตะแกรงเพื่อให้สะเด็ดน้ำแล้วนำไปผึ่งลมหรือใช้พัดลมเป่าให้แห้งก่อนนำไปบ่ม
       
      การบ่มละมุด
      เนื่องจากละมุดที่แก่หรือยังดิบ จะมียางสีขาวอยู่ในเนื้อของผลและจะมีรสฝาดไม่สามรถที่จะทำการรับประทานได้ซึ่งยางสีขาวและรสฝาดนี้จะหายไปเมื่อนำมาบ่มให้สุก ช่วงระยะที่การบ่มผลละมุดนั้นต้องเกี่ยวเนื่องด้วยความร้อนที่พอเหมาะคือ
        ฤดูร้อน   ( มีนาคม –พฤษภาคม ) ใช้เวลาบ่มประมาณ 2 เดือน
        ฤดูฝน     ( มิถุนายน-กันยายน )  ใช้เวลาบ่มประมาณ 2 เดือน
        ฤดูหนาว ( ตุลาคม-กุมภาพันธ์ ) ใช้เวลาบ่มประมาณ 3 เดือน
      จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาของการบ่มละมุดนั้นจึงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
      หลักการบ่มละมุดให้ได้ผลดี
      1.       ภาชนะที่ใช้บ่มต้องมิดชิด อากาศถ่ายเทไม่ได้
      2.       ภาชนะที่ใช้บ่ม ก่อนที่จะทำการบ่มจะต้องนำไปตากแดดให้นานพอสมควรและได้ผ่านการบ่มมานานปี การบ่มจึงจะได้ผลดี
      3.       อากาศภายนอกต้องเหมาะสมและความร้อนอบภายในห้องบ่มต้องพอดี
      4.       ในห้องบ่มจำเป็นต้องจุดไฟให้มีควันไฟพอสมควร
      วิธีการบ่ม มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการบ่มดังนี้
      1.       ตุ่มปูนซีเมนต์หรือตุ่มดิน ต้องแห้ง
      2.      ใช้ใบตองแห้งรองก้นตุ่ม
      3.       ธูปหรือแก๊ส (ใช้จุดตะเกียง)
      4.       ภาชนะที่ใช้ปิดปากตุ่ม ควรเป็นกระสอบ
      5.       วัสดุที่ใช้ในการปิดอัดกระสอบที่ปิดปากตุ่ม (ควรเป็นอ่างดิน)
      นำใบตองแห้งวางก้นตุ่มประมาณ 4-5 ทางและกรุข้างตุ่มรายให้รอบนำละมุดที่แห้งดีแล้วใส่ลงในตุ่มจนถึงขอบใบตองที่กรุไว้ข้างตุ่มแล้วเอาใบตองแห้งกรุเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ นำละมุดลงไปอีกจนกว่าละมุดใกล้เต็มตุ่ม ตุ่มที่ใช้ต้องไม่รั่ว ใช้ธูปประมาณ 10 ดอก จุดไฟแล้วปักลงไปในกระถางทรายที่เตรียมไว้ในตุ่มเอาผ้าคลุมละมุดอีกทีหนึ่งทิ้งไว้ 2 คืน
      วิธีการบ่มข้างต้นเป็นวิธีการบ่มสุก ถ้าเป็นการบ่มหวานกรอบก็มีวิธีเหมือนกันกับบ่มสุกเกือบทุกอย่างมีต่างกันบ้างเล็กน้อย คือ ละมุดที่จะใช้บ่มจะต้องไม่ใช่พันธุ์ไข่ห่าน ตุ่มที่ใช้ควรจะเป็นตุ่มซีเมนต์เมื่อเก็บละมุดออกจากต้นอย่าปล่อยให้ละมุดแห้ง
      ปัจจุบันผู้บ่มจะ ทำการบ่มไปในเข่งโดยนำกระดาษหนังสือพิมพ์รองก้นเข่งจากนั้นนำละมุดลง เข่งหนึ่งประมาณ 20-30 กิโลกรัม ห่อแก๊สที่จะใช้บ่มด้วยกระดาษวางปากเข่งแล้วปิดด้วยกระดาษอีกชั้น ผูกมัดโยงเชือกปากเข่งให้แน่น ก่อนนำออกขายหรือส่งไปยังตลาด ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน
       
      การดูแลรักษาหลังการเก็บเกี่ยว
      หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วควรตัดแต่งกิ่งที่แห้งและเป็นโรค เผาทำลายทิ้ง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูและปลายฤดูฝน พร้อมปุ๋ยคอกเก่าอีก 1-2 ปุ้งกี๋ ต่อต้น หากฝนไม่ตกต้องรดน้ำตามทันที ปีที่ 4-6 จะให้ 300-500 ผลต่อต้น และปีที่ 7-10 ให้ผล 600-900 ผลต่อต้น


      เอกสารอ้างอิง
       
      กลุ่มเกษตรสัญจร.2541การปลูกละมุด.พิมพ์ครั้งที่ 3 .สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม.นนทบุรี
      ธวัชชัย รัตน์ชเลศและคณะ .2542.พันธุ์ไม้ผลกาค้าในประเทศไทย.ลินคอร์นโปรโมชั่น.กรุงเทพ
      พิจิตร โชคพัฒนา .การปลูกไม้ผล.2545.สำนักพิมพ์เกษตรสาส์น.นนทบุรี
      พระจันทร์ กันยา .2544.ไม้พื้นบ้านไทย.สำนักพิมพ์มติชน.กรุงเทพ
      ละมุด (Sapodilla plum) http://lifestyle.kingsolder.com/health/%C5%D0%C1%D8%B4-%28Sapodilla-plum%29-herbs_640.asp?no=1(สืบค้นวันที่ 21 สิงหาคม 2552)
      (สืบค้นวันที่ 21 สิงหาคม 2552)
       (สืบค้นวันที่ 21 สิงหาคม 2552)
       

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×